BBC Thai สรุปคำวินิจฉัยส่วนตน 7 ตุลาการศาล รธน. คดีหุ้นวีลัค ชี้ตายสถานะ ส.ส. ของธนาธร

3 ม.ค. 2563 BBC Thai รายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยกลาง และคำวินิจฉัยส่วนตัวของตุลาการทั้ง 9 คน ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98(3) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ว่านายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่เมื่อ 6 ก.พ. 2562 ซึ่งเป็นวันที่ อนค. ส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2562"

สำหรับตุลาการเสียงข้างน้อย 2 คน ที่เห็นว่านายธนาธรไม่มีความคิดในคดีหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ คือ นายชัช ชลวร และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ โดยเห็นว่าข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ ฟังได้ว่า นายธนาธรได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา ไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ขณะที่ตุลาการเสียงข้างมากทั้ง 7 คน เห็นตรงกันว่านายธนาธรยังเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท วี-ลัคฯ จำนวน 675,000 หุ้น ในวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชี และไม่เชื่อว่านายธนาธรได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพร ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 ตามที่กล่าวอ้าง

บีบีซีไทยขอสรุปคำวินิจฉัยส่วนตัวของ 7 ตุลาการไว้บางส่วน ดังนี้

นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานของนายธนาธร "มีข้อพิรุธหลายประการยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัคฯ ให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ 8 ม.ค. 2562"

  • บุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดทำเอกสารโอนหุ้นล้วนเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถูกร้องทั้งสิ้น
  • การจัดทำเอกสารอาจจะดำเนินการที่สถานที่แห่งใดหรือในวันเวลาใดในภายหลังก็ได้โดยไม่มีบุคคลภายนอกรับรู้เห็น"
  • กรณีผู้ถูกร้องอ้างว่าเดินทางกลับจากปราศรัย จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 เพื่อโอนหุ้นให้มารดา เห็นว่า "ไม่มีความจำเป็นใดที่ผู้ถูกร้องต้องรีบร้อนลำบากเดินทางด้วยรถยนต์ ทั้งที่มีเครื่องบินจาก จ.อุบลราชธานีในวันดังกล่าวไปกรุงเทพฯ"
  • กรณีใช้เวลา 128 วัน ก่อนที่ภริยาของผู้ถูกร้องจะนำเช็คที่นางสมพรสั่งจ่ายค่าหุ้น จำนวน 6.75 ล้านบาท ให้แก่ผู้ร้อง ไปขึ้นเงิน เห็นว่า "การเก็บเช็คที่มีการสั่งจ่ายเงินจำนวนมากไว้นานย่อมเป็นที่ผิดปกติวิสัยวิญญูชนทั่วไป"
  • กรณีนางสมพรโอนหุ้นให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานชาย ก่อนที่หลานจะโอนหุ้นกลับมายังนางสมพร โดยอ้างความสัมพันธ์ในทางเครือญาติจึงไม่มีค่าตอบแทน แต่การโอนหุ้นระหว่างนางสมพรกับผู้ร้อง ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดยิ่งกว่ากลับมีค่าตอบแทน ซึ่ง "การโอนหุ้นให้แก่กันโดยไม่มีค่าตอบแทน ย่อมทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการโอนหุ้นจริงหรือไม่ คงมีเพียงตราสารโอนหุ้น สมุดทะเบียน และใบหุ้น ซึ่งต่างเป็นเอกสารที่บริษัทสามารถจัดทำขึ้นเองได้ในภายหลัง"

นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ เห็นว่า "ข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานอันเป็นเรื่องภายในที่อยู่ในความรู้เห็นของผู้ถูกร้องและครอบครัว ตลอดจนผู้ใกล้ชิดนั้น ยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานซึ่งเป็นเอกสารราชการหรือของบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียรู้เห็นในคดี"

  • กรณีการจ่ายค่าตอบแทนการโอนหุ้นถึง 4 เดือนเศษ ทั้งที่ตามพยานเอกสารใบฝากเช็คเข้าบัญชีของผู้ถูกร้องในกรณีอื่น ๆ ปรากฏว่านางรวิพรรณใช้เวลา 1-3 เดือน ดังนั้น "ย่อมเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ต้องการเงินสดมาหมุนเวียน ดังนั้นเช็คฉบับดังกล่าวจึงยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังประกอบได้ว่ามีการโอนหุ้นกันจริงในวันที่ 8 ม.ค. 2562"
  • กรณีนางสมพรโอนหุ้นให้นายทวี และการจัดทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น "เป็นไปเพื่อให้เจือสมกับที่ปรากฎหลักฐานในสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ.5) ซึ่งบริษัท วี-ลัคฯ นำส่งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในวันที่ 21 มี.ค. 2562 ในข้อที่ว่านางสมพรรับโอนหุ้นจากนายธนาธร"

นายจรัญ ภักดีธนากุล เห็นว่า "มีข้อพิรุธหลายจุดหลายประการ ประกอบกับพยานหลักฐานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่สอดรับกันอย่างแน่นหนาแล้ว ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่าพยานเอกสารและคำเบิกความของพยานผู้ถูกร้อง ข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อมที่เป็นข้อพิรุธน่าสงสัยหลายประการประกอบกัน มีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องได้"

  • กรณีผู้ถูกร้องอ้างว่าได้โอนขายหุ้นให้นางสมพร ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 2562 แต่เพิ่งยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนบริษัท 21 มี.ค. ซึ่งนานถึง 72 วัน และยังปรากฏว่าเป็น 2 วันหลังจาก ส.ส.สกลนคร เขต 2 อนค. ถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งสั่งถอนชื่อออกจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง 2 วัน เนื่องจากเป็นเจ้าของกิจการสื่อ เมื่อพิจารณาประกอบกับตราสารการโอนหุ้นของผู้ถูกร้องที่มีทนายความรับรองลายมือชื่อ "อันเป็นการกระทำที่มากกว่าที่กฎหมายบัญญัติ แสดงให้เห็นถึงความจงใจของผู้ถูกร้อง เพื่อทำให้น่าเชื่อว่ามีการโอนหุ้นในวันดังกล่าวจริง" และเชื่อว่าเป็นการ "จัดทำเอกสารการโอนหุ้นย้อนหลังเพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติ"
  • กรณีผู้ร้องเบิกความอ้างว่าตั้งใจอย่างจริงจัง อยากจะทำงานการเมืองโดยที่ไม่มีข้อผลประโยชน์เหมือนที่คุณทักษิณ (ชินวัตร อดีตนายกฯ) โดนมาก่อน ไม่ได้ตั้งใจมาทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวนั้น ย่อมแสดงว่า "ผู้ถูกร้องต้องจัดการโอนหุ้นอย่างรอบคอบ เนื่องจากจะเข้าสู่การเลือกตั้ง เป็นนักการเมืองที่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่ถูกตรวจสอบได้" ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการนำหลักฐานการโอนหุ้นหรือบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นไปยื่นไว้ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยเร็วตามที่เคยปฏิบัติมา "ไม่มีเหตุที่ต้องปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 72 วัน"
  • กรณีนางสมพรโอนหุ้นให้หลานชายโดยอ้างว่าให้เข้ามาฟื้นฟูกิจการ ทั้ง ๆ ที่บริษัท วี-ลัคฯ ได้หยุดประกอบกิจการและเลิกจ้างพนักงานแล้ว "ขัดต่อเหตุผลและสภาพปกติธรรมดาของเหตุการณ์อย่างชัดแจ้ง" และการเป็นผู้ถือหุ้นไม่ได้ทำให้มีอำนาจในการบริหารจัดการบริษัท ติดตามหนี้สิน และบริหารเงินสด หากนางสมพรประสงค์จะให้หลานมีอำนาจจัดการก็ควรแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัทมากกว่าโอนหุ้นให้เป็นผู้ถือหุ้น

นายบุญส่ง กุลบุปผา เชื่อว่า "ผู้ร้องถือครองหุ้นในบริษัทฯ ตลอดมาจนถึงวันที่ 21 มี.ค. 2562 จึงได้มีการจดแจ้งการโอนหุ้นของผู้ร้องให้แก่นางสมพร"

  • กรณีนายธนาธรเปิดแถลงข่าวเมื่อ 23 มี.ค. โดยอ้างว่าได้โอนหุ้นให้มารดาตั้งแต่ 8 ม.ค. 2562 เพื่อแก้ข่าวไม่ให้สังคมเข้าใจผิด หลังสำนักข่าวอิศรานำเสนอข่าวนี้ เห็นว่า เช็คค่าหุ้นที่ผู้ร้องอ้างว่าได้รับเป็นค่าโอนหุ้นจากนางสมพรเพิ่งปรากฏเป็นหลักฐานขึ้นมาเป็นครั้งแรกในจังหวะช่วงเวลานั้น "จึงน่าเชื่อว่าเช็คที่ผู้ถูกร้องนำมาแสดงซึ่งได้ปรากฏต่อสาธารณะเป็นครั้งแรก เช็คธนาคารดังกล่าวนี้ไม่มีทางที่จะเรียกเก็บเงินได้ก่อน 23 มี.ค. 2562"
  • กรณีภริยาของผู้ถูกร้องอ้างว่าติดธุระไม่สะดวกนำเช็คไปขึ้นเงิน "เป็นการผิดปกติของวิญญูชนโดยทั่วไป"
  • ในชั้นไต่สวน "ผู้ถูกร้องเบิกความเป็นพิรุธหลายขั้นตอน" โดยเฉพาะรายละเอียดของเหตุการณ์ในวันที่ 8 ม.ค. 2562 ซึ่ง "ใช้คำตอบทำนองว่าไม่ทราบหลายคำถาม" ทั้งเรื่องกำหนดการเดินทาง และขั้นตอนการโอนหุ้น

นายปัญญา อุดชาชน เห็นว่า "เมื่อประมวลการวิเคราะห์การกระทำทั้งในวันที่ 8 ม.ค. 2562 และหลังวันที่ 8 ม.ค. 2562 ด้วยหลักการทางนิติศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์แล้ว เห็นว่าผู้ร้องยังคงเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัคฯ ในวันที่ 6 ก.พ. 2562"

  • กรณีผู้ถูกร้องตีรถจากบุรีรัมย์มาจัดการเรื่องหุ้นที่ กทม. จนถูกพนักงานจราจรออกใบสั่ง 2 ใบ ทั้งที่วันสุดท้ายที่จะโอนหุ้นออกไปได้คือ 1 เดือนก่อนถึงวันที่ 6 ก.พ. เห็นว่า "เป็นการรีบเร่งและเร่งรัด เพื่อแสดงให้เชื่อว่ามีการดำเนินการโอนหุ้นในครอบครัวของบริษัท วี-ลัคฯ ทั้ง ๆ ที่ยังมีเวลาเหลือมากที่จะโอนหุ้นดังกล่าวได้"
  • กรณีใช้ "ทนายความโนตารีพับลิค" เป็นผู้จัดทำตราสารการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ ซึ่งใช้กันมากในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในไทยยังไม่มีกฎหมายรับรองสถานะโดยตรง เห็นว่า "เป็นลักษณะการสร้างพยานเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้นให้เป็นสากลโด

นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ชี้ว่า "มีพิรุธให้สงสัยว่ามีการโอนหุ้นและชำระด้วยเช็คในวันดังกล่าวอ้างหรือไม่ เป็นกรณีไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการโอนหุ้นกันจริง"

  • กรณีนางรวิพรรณเบิกความว่าไม่สะดวกจะนำเช็คไปเรียกเก็บเงิน เนื่องจากต้องดูแลบุตรที่ เห็นว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผู้ทรงเช็คสามารถมอบอำนาจให้บุคคลใดไปดำเนินการแทนแทนได้ "นางรวิพรรณจึงไม่จำเป็นต้องนำเช็คไปเข้าบัญชีขึ้นเงินด้วยตนเองและไม่ต้องรอเวลาถึง 4 เดือนเศษ"
  • การนำเช็คไปขึ้นเงินในวันที่ 16 พ.ค. 2562 ที่เป็นวันเดียวกับ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ "จึงน่าเชื่อได้ว่าเมื่อได้ยินข่าวว่าไม่ได้มีการซื้อขายหุ้นกันจริงตั้งแต่ในช่วงเดือน มี.ค. 2562 แล้วมีการรวบรวมให้มีพยานหลักฐานขึ้น ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันที่ 6 ก.พ. 2562 อันเป็นวันที่ผู้ถูกร้องลงสมัครรับเลือกตั้ง"

นายวรวิทย์ กังศศิเทียม เห็นว่า "พยานหลักฐานยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะฟังได้ว่าในวันที่ 8 ม.ค. ผู้ถูกร้องโอนหุ้นของบริษัท วี-ลัคฯ ให้นางสมพรจริง"

  • กรณีการโอนหุ้นระหว่างผู้ถูกร้องกับมารดา ไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนตามที่เคยกระทำมา ส่วนที่อ้างว่าไม่มีนักบัญชีคอยจัดการทางเอกสารเพราะบริษัท วี-ลัคฯ เลิกจ้างพนักงานไปแล้วนั้น จากการเบิกความของ น.ส.ลาวัณย์ จันทรเกษม พยานศาล เบิกความว่าตนสามารถทำได้ถ้ามีคำสั่งให้ทำ เห็นว่า การยื่นแบบ บอจ.5 สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้ และไม่มีความยุ่งยาก "ข้อกล่าวอ้างว่า ไม่มีพนักงานดำเนินการจึงไม่อาจรับฟังได้"
  • กรณีนางรวิพรรณไม่นำเช็คไปขึ้นเงิน เห็นว่า "เป็นเรื่องผิดปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ประกอบกิจการค้าที่ต้องการเงินสดมาหมุนเวียน จึงมีเหตุน่าสงสัยว่ามีการชำระค่าหุ้นในวันที่ 8 ม.ค. 2562 จริงหรือไม่"
  • กรณีนางสมพรโอนหุ้นให้หลานชาย ก่อนที่หลานจะโอนหุ้นกลับมายังนางสมพร โดยอ้างความสัมพันธ์ในทางเครือญาติจึงไม่มีค่าตอบแทน ย่อมทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการโอนหุ้นจริงหรือไม่ คงมีเพียงตราสารโอนหุ้น สมุดทะเบียน และใบหุ้น ซึ่งต่างเป็นเอกสารที่บริษัทสามารถจัดทำขึ้นเองได้ในภายหลัง ทั้งนี้ถ้าผู้ถูกร้องโอนหุ้นของตนและภริยาให้มารดา จำนวนผู้ถือหุ้นก็จะเหลือ 8 คน แต่ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัคฯ วันที่ 19 มี.ค. 2562 ในรายงานกลับระบุว่ามีผู้ถือหุ้นเข้าประชุม 10 คน จึงจำเป็นต้องอ้างว่านางสมพรโอนหุ้นให้หลานชาย 2 คน วันที่ 14 ม.ค. 2562 เพื่อให้จำนวนผู้ถือหุ้นครบ 10 คนตามเดิม จึงไม่น่าเชื่อว่านางสมพรโอนหุ้นให้หลานชายตามที่กล่าวอ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท