Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางกระแสลัทธิชังชาติ (Anti – patriotism) แบบไทย ๆ ที่ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งอย่างเข้มข้นในระยะสามเดือนที่ผ่านมานำโดยนายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตสส. พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สมาชิกพรรครวมประชาชาติไทยและแนวร่วม บทความนี้จะแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักกับความเป็นพลเมืองโลก (Cosmopolitanism) แนวคิดสำคัญแนวคิดหนึ่งที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ว่าทำไมคนรุ่นใหม่หรือคนเจนวายเริ่มมีความวิตกกังวลเรื่องสภาพภูมิอากาศโลก มีความรู้สึกร่วมกับเกรตา ทุนแบร์ย นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน กังวลเรื่องไฟป่าที่กำลังมอดไหม้รัฐวิคตอเรีย ในประเทศออสเตรเลีย ทั้งนี้ยังอาจสามารถอธิบายปรากฏการณ์ปลุกไม่ขึ้นของกระแสลัทธิชังชาติที่มีความพยายามอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 อีกด้วย

***หมายเหตุผู้เขียนเลือกใช้แนวคิดพลเมืองโลก (Cosmopolitanism) แทนที่จะใช้คำว่า พลเมืองโลก (global citizen) เนื่องจากคำว่า Cosmopolitanism มีความหมายที่ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการเสนอมากกว่า global citizen ที่หมายถึงคนที่มองปฏิบัติการในท้องถิ่นของตนว่ามีผลต่อ ทั้งโลกและยอมรับว่าพวกตนมีความรับผิดชอบในการร่วมกันกระทำการเพื่อสภาวะที่ดี ขึ้นของโลกและของผู้คนทั่วทั้งโลก (เชษฐา พวงหัตถ์, 2553)


Cosmopolitanism พลเมืองโลกหรือนักหลากหลายนิยม คืออะไร

ยุกติ มุกดาวิจิตร (2018) ได้เสนอไว้ในบทความ “อุษาคเนย์ในฐานะพลเมืองโลก” (https://www.the101.world/cosmopolitanism-in-sea/) ในบทความเขาได้ศึกษากรณีประเทศเวียดนามว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่มีความเป็นพลเมืองโลก แนวคิดพลเมืองโลกมีลักษณะสำคัญคือการเปิดตนเองสู่โลกกว้าง การเป็นส่วนหนึ่งของโลกกว้าง การยอมรับความเป็นอื่นเข้ามาสัมพันธ์กับตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องละเลิกความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งพลเมืองอันหลากหลายเหล่านี้ล้วนอาศัยและอยู่ร่วมในพื้นที่เดียวกัน

ความเป็นพลเมืองโลกไม่ใช่แนวคิดใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่เก่าแก่มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ สามารถไล่เรียงมาจนถึงยุครู้แจ้ง (Enlightenment) ถึงสมัยของนักปรัชญาเยอรมันอย่างอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) และนักเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างอดัม สมิธ (Adam Smith) ต่างก็มีส่วนสนับสนุนแนวคิดนี้ในยุคสมัยใหม่ทั้งสิ้น แนวความคิดนี้กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่งก็ในยุคหลังสมัยใหม่ เนื่องจากเป็นแนวคิดที่เปิดกว้างต่อความแตกต่างนั่นเอง

ยุกติเสนอว่าการคิดถึงพลเมืองโลกยุคสมัยใหม่นั้น ในมิติทางการเมือง หมายถึง การเป็นส่วนหนึ่งของโลกไปพร้อมๆ กับการอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐประชาชาติหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าเราจะต้องรับหลักการของประชาคมโลกได้พร้อมๆ กับการมีกฎหมายของแต่ละประเทศเองด้วย ไม่ใช่ยืนยันอยู่แต่ว่ากติกาของเราดีที่สุด ในทางเศรษฐกิจ หมายถึง การค้าเสรีหรือไม่ก็เศรษฐกิจทุนนิยมโลก ที่ทะลุทะลวงพื้นที่และสังคมต่างๆ ไปทั่วโลก ในทางศีลธรรม การเป็นพลเมืองโลก หมายถึง การเปิดรับความแตกต่างของคนจากต่างถิ่น ยอมรับความเป็นอื่น ยอมรับคุณค่าที่แตกต่างจากเราส่วนในทางสังคม หมายถึง สังคมพหุลักษณ์ หรือสังคมที่ประกอบด้วยประชากรที่ไม่จำเป็นต้องมีสังกัดของชุมชนเดียวกันเสมอ พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีอะไรร่วมกันเหมือนๆ กันทุกๆ เรื่อง มีบางเรื่องที่ทำให้พวกเขามาอยู่ร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน แล้วก็ติดต่อแลกเปลี่ยนกัน มีบางเรื่องที่พวกเขาแตกต่างกัน จึงไม่ได้ต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเสมอไป

ยุกติยังได้เสนอแนวคิดของอรชุน อัพปาดูราย (Arjun Appadurai) นักมานุษยวิทยา ที่เป็นคนแรกๆ ที่สร้างคำอธิบายทั่วไปว่าด้วยสังคมโลกาภิวัตน์ อัพปาดูรายอธิบายคำนี้ว่า “พลเมืองโลก หมายถึง คนพลัดถิ่น นักเดินทาง ผู้แสวงหาสิ่งใหม่ คนที่ไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ที่ติดตัวมา กับชีวประวัติของตนเอง และกับคุณค่าทางวัฒนธรรมตนเอง ในโลกปัจจุบัน ความเป็นพลเมืองโลกมักหมายถึงความคิดที่ก้าวพ้นรัฐประชาชาติ มีจริตของการเป็นส่วนหนึ่งของโลก เป็นการเมืองและระบบคุณค่าที่ยกย่องพหุวัฒนธรรม เปิดรับต่อการทดลองทางวัฒนธรรมอย่างใหม่ๆ เปิดรับต่ออัตลักษณ์ลูกผสม และยอมรับการถ่ายเทและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม”

ในขณะที่ป่าสาละ (http://www.salforest.com/glossary/cosmopolitanism)  ได้แปลสรุปแนวคิดของควาเม่ แอนโธนี อัปไปอาห์ (Kwame Anthony Appiah) ผู้เชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่สังคมเรียกร้องให้สมาชิกแสดงความภักดีต่ออัตลักษณ์ของกลุ่มโดยไร้ข้อกังขา และบังคับให้ดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่กำหนดอย่างเคร่งครัด อัตลักษณ์แบบนี้จะสุ่มเสี่ยงต่อการนำสังคมไปสู่ภาวะไร้ความยุติธรรมและความรุนแรง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการที่สุดในยุคนี้ไม่ใช่อัตลักษณ์ที่เคร่งครัด หากแต่เป็น “จริยธรรมสากล” (ethical universal) ที่ข้ามพ้นความแตกแยกทางสังคม และเชื่อมความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม จริยธรรมสากลตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุมีผล ที่ยอมรับว่าความเชื่อและพฤติกรรมของมนุษย์ย่อมแตกต่างกันได้ โดยไม่ทำให้ความแตกต่างหลากหลายกลายเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน อัปไปอาห์เชื่อว่า การยอมรับความแตกต่างจะนำมนุษยชาติไปสู่สังคมแบบ “มนุษยนิยม” ที่ยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ในขณะเดียวกันก็มีจุดยืนที่เด็ดเดี่ยวและแข็งแกร่งพอที่จะประณามความโหดร้ายทั้งหลายในโลก นอกจากนั้น เขาเชื่อว่ามนุษย์ควรวางตัวเป็น “นักหลากหลายนิยม” (ผู้เขียนขอใช้คำตามต้นฉบับของป่าสาละ) (Cosmopolitan) ผู้แสวงหาสมดุลระหว่างความเป็นมนุษย์เหมือนกัน กับความเคารพในความแตกต่างหลากหลาย

โดยอัปไปอาห์ได้เสนอแนวคิดเรื่อง Cosmopolitanism ไว้ในหนังสือสองเล่มคือ "The Ethics of Identity: A Rooted Cosmopolitanism” และ "Cosmopolitanism: Ethics in a World of Strangers” ซึ่งสฤณี อาชวานันทกุล (https://tu101.org/wp-content/uploads/2016/02/11-01.pdf) ได้แปลและสรุปความว่าอัปไปอาห์ได้ตั้งคำถามกับนิยามของคำว่า "พลเมือง" ในโลกที่แคบลงเรื่อยๆ ทุกวัน โลกที่เส้นแบ่งระหว่างอัตลักษณ์ต่าง ๆ นั้นเลือนราง  และให้เราสร้างอัตลักษณใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว เช่น การสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ อัปไปอาห์เสนอว่า ในโลกยุคนี้เราทุกคนควรวางตัวเป็นนักหลากหลายนิยมผู้แสวงหาสมดุลระหว่างความเหมือนระหว่างคนเราในฐานะมนุษย์ด้วยกันกับความเคารพในความแตกต่างทั้งหลาย อัปไปอาห์ชี้ว่าหลากหลายนิยมแตกต่างจากแนวคิดในอดีตที่มีความเป็นสากล เพราะ "ความเป็นสากล" ของแนวคิดเหล่านั้นคือความพยายามที่จะทำให้ทุกคนเชื่อเหมือนกันหมด เช่น กลุ่มคาทอลิกผู้เคร่งครัด หรือมาร์กซิสต์หัวรุนแรง ที่คิดว่าแบบคนมมีปมเด่นว่าใครที่ไม่คิดเหมือนกับตนแปลว่าเป็นคนโง่ คนเห็นแก่ตัว การเป็นนักหลากหลายนิยมจึงไม่ง่าย แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะเป็น เพราะเราทุกคนเป็นทั้งพลเมืองโลกและสมาชิกชุมชนย่อยระดับต่าง ๆ เช่น ครอบครัว โรงเรียน ละแวกบ้านและประเทศ ส่วนในงานอีกชิ้นของอัปไปอาห์เขาใช้ “ความมีเหตุผล” เพื่อตีกรอบลักษณะของจริยธรรมสากล และให้เหตุผลที่ชี้ให้เห็นว่าการผสมปนเประหว่างวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และยังน่าติดตามชื่นชมอีกด้วย

กล่าวโดยสรุปคือพลเมืองโลก เป็นแนวคิดที่ยอมรับ เปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลาย ยอมรับการผสมผสานของวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มีพื้นฐานอยู่บนจริยธรรมสากลร่วมกันนำไปสู่สังคมแบบมนุษยนิยม แนวคิดนี้ทำให้เราไม่ยึดติดกับความเป็นไทยหรืออัตลักษณ์ใด ๆ ที่ตายตัว ความเป็นไทย อัตลักษณ์ หรือวัฒนธรรมหนึ่ง ๆ ต้องมีความหลากหลายและเปิดกว้างให้คนเข้ามามากกว่าจะกีดกันคนออกไป


ความเป็นพลเมืองโลกกับลัทธิชังชาติ

ดังที่กล่าวไปเบื้องต้นว่านับแต่มีการรัฐประหารในปีพ.ศ. 2557 “ลัทธิชังชาติ” ได้กลายมาเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทย และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อนายแพทย์วรงค์ได้ประกาศลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ในวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้ไปเข้าร่วมกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยที่มีแกนนำพรรคเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เขาได้ประกาศชัดเจนว่าตนเองจะต่อต้านลัทธิชังชาติ(https://www.facebook.com/actpartyorg/videos/452239741982181/) ซึ่งลัทธิชังชาติของนายแพทย์วรงค์ นั้นคือ “ลัทธิชังชาติ(Anti-Patriotism) ซึ่งครอบคลุมการกระทำที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชาติในหลายกรณีดังนี้

1. ปฏิกษัตริย์นิยม พยายามจาบจ้วงเบื้องสูง

2. ไม่ส่งเสริมศาสนาทุกศาสนา ทั้งๆที่ศาสนาอยู่กับสังคมไทยมาหลายร้อยปี

3. ดูแคลนวัฒนธรรม ประเพณีว่าเป็นของโบราณ ไม่เอาการยิ้ม ไหว้ครู การเรียกลุง ป้า น้า อา ซึ่งถือว่าเป็นรากของสังคมไทย ตลอดจนดูถูกดูแคลนประเทศไทย

4. เมื่อมีปัญหาชอบพาต่างชาติเข้ามาวุ่นวายเรื่องภายใน ตลอดจนประจานประเทศให้ชาวต่างชาติมายุ่ง

5. มีพฤติกรรมทำลายความเชื่อมั่นและไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล
(https://www.facebook.com/therealwarong/photos/a.1635500953387616/2466622326942137/?type=3&theater


ซึ่งนายแพทย์วรงค์ยังคงแสดงความเห็นและเผยแพร่ลัทธิชังชาติอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรายการของเนชั่นทีวี (https://youtu.be/MOG_U32vYls) เฟซบุ๊กเพจส่วนตัวและการจัดเวทีสัญจรไปทั่วประเทศ ทว่าความพยายามของนายแพทย์วรงค์ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแต่อย่างใด เป้าหมายคือการแบ่งเขาและเรา นิยามว่าลักษณะแบบใดเป็นคนรักชาติ เป็นขั้วตรงข้ามกับคนชังชาติ

ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวของนายแพทย์วรงค์ก็มีการแสดงความเกลียดชังต่อคนที่วิจารณ์ชาติ/วิจารณ์ประเทศอยู่เป็นระยะ เช่น กรณีของนางสาวสุธิตา ชัยชนะสุวรรณ (อิมเมจ เดอะวอยซ์) ที่ทวิตวิจารณ์การคมนาคม และสวัสดิการของไทย (โควทเด็ดที่เป็นที่โจษจันกันมากในขณะนั้นคือ “ประเทศเฮงซวย จะอีก 50 ปี หรือ 1,000 ปีก็ไม่เจริญขึ้นหรอก ยิงกูดิ”) กรณีของนายปิยบุตร แสงกนกกุลที่โพสต์กรณีภรรยาชาวต่างชาติติดตม.สนามบินดอนเมืองนาน 5 ชั่วโมง ทั้งสองคนต่างโดนชาวเน็ตไล่ให้ไปอยู่นอกประเทศ เมื่อกลไกการทำงานของประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้กลับมาอีกครั้ง ก็ยังปรากฏข้อถกเถียงเรื่องชังชาติมากมาย เช่น การที่นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้วพรรคเพื่อไทยได้ออกมาทวิตว่า “รัฐบาลไม่ใช่ชาติ เป็นเพียงคณะบุคคลที่เข้ามาบริหารประเทศ บริหารดีคนรัก บริหารไม่ดีคนไม่ชอบ อย่ามโนหรือตั้งตรรกะวิบัติว่ารัฐบาลคือชาติ คนไม่พอใจรัฐบาลถือว่าเป็นพวกชังชาติ” รวมถึงนายศรีสุวรรณ จรรยา ที่ฟ้องร้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจโดยอ้างว่านายธนาธร “มีพฤติการณ์และคำให้สัมภาษณ์ต่างๆ อาจเข้าข่าย “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน” หรือ “การชังชาติ” ทำให้เอกราชของชาติเสื่อมเสียไป อันอาจต้องด้วยความผิดตาม ป.อ.มาตรา 119″ (https://www.matichonweekly.com/column/article_25197)

การเคลื่อนไหวของนายแพทย์วรงค์ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมาจึงเป็นการรับไม้ต่อเพื่อรักษาให้วาทกรรมชังชาติ ทำงานอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ และเป็นรูปธรรม มีทั้งภาคปฏิบัติและทฤษฎี ปลูกฝังให้ลัทธิชังชาติอยู่ในความคิดของคนไทย และพร้อมจะทำงานอย่างอัตโนมัติเมื่อเจอคนที่เข้าข่ายว่าชังชาติ การกล่าวว่าใครบางคนเป็นคนชังชาติก็เหมือนกับในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งที่เรากล่าวหาว่าใครบางคนไม่ใช่คนไทย หรือเป็นคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ตามการปลุกกระแสลัทธิชังชาติของนายแพทย์วรงค์ท่ามกลางการเกิดขึ้นของพลเมืองโลกในห้วงที่โลกได้เชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็ว เราสามารถรับชมภาพยนตร์เรื่องใหม่ล่าสุดไปพร้อมกับคนที่สหรัฐอเมริกา รับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีคไปพร้อมกับคนที่อังกฤษ สามารถเดินทางไปรอบโลก หาข้อมูลข้อเท็จจริงต่าง ๆ จากอินเตอร์เน็ตได้เพียงปลายนิ้วจนทำให้อัตลักษณ์ของคนในโลกปัจจุบันผูกติดกับความเป็นรัฐ – ชาติที่ตนเองสังกัดอยู่น้อยลง กระบวนการเดิมที่รัฐเคยใช้กล่อมเกลาประชาชนให้เป็นผูกติดกับรัฐ โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือทางวัฒนธรรมนั้นถูกลดทอนอำนาจลงไป เช่น สังเกตได้ว่าคนดูโทรทัศน์น้อยลง ช่องทีวีต่างๆ ต่างล้มหายตายจากขาดทุนและต้องผันตัวไปอยู่ในช่องทางออนไลน์แทน เพราะคนหันไปเลือกชมสิ่งที่ตรงกับความต้องการของตนเองผ่านทางโลกออนไลน์ หรือความพยายามของช่องทีวีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐที่จะใส่ “ความเป็นไทย” เข้าไปในรายการของตนให้มากที่สุด

การปลุกกระแสชังชาติในระยะหลังนี้จึงเปรียบเสมือนอาวุธสุดท้ายของกลุ่มขวาไทย (อนุรักษ์นิยมสุดโต่งแบบไทยๆ) ที่พยายามสร้างศัตรูด้วยวาทกรรมชังชาติ ที่น่าสนใจคือพรรคอนาคตใหม่กลับเป็นเป้าโจมตีหลักในการเคลื่อนไหวของนายแพทย์วรงค์และแนวร่วม ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองใหม่ที่เป็นพรรคทางเลือกของคนรุ่นใหม่ เป็นพรรคที่เสนออัตลักษณ์ความหลากหลายที่เป็นสากลตอบสนองกับความเป็นพลเมืองโลกของคนในยุคปัจจุบันมากที่สุด การที่ฝ่ายขวาไทยเลือกใช้ลัทธิชังชาติมาเป็นเครื่องมือในการกำจัดผู้ที่เห็นต่างจึงไม่ใช่เรื่องสร้างสรรค์ และจะประสบความสำเร็จแต่อย่างใด ทว่ากลับจะยิ่งกลายเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ทำให้คนรุ่นใหม่เจนวาย เจนซีที่มีลักษณะเป็นพลเมืองโลกเอือมระอา เสื่อมศรัทธาไปกับอนุรักษ์นิยมไทย และถ่างให้ช่องว่างระหว่างรุ่นยิ่งกว้างขึ้นไปเรื่อยๆ จนยากที่จะทำความเข้าใจกันเสียมากกว่า

ผู้เขียนยังเชื่อว่าแนวคิดพลเมืองโลกต่างหากที่ควรได้รับการสนับสนุน คนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศควรปลูกฝังจิตสำนึกสาธารณะที่เป็นสากลให้แก่คนรุ่นหลังมากกว่าจะสร้างลัทธิชังชาติ และนิยามความเป็นไทยที่คับแคบกีดกันผู้อื่น การทำสงครามทางความคิดของฝ่ายขวาไทยในครั้งนี้นับว่ายังมีข้อดีที่แสดงให้เห็นแนวคิดที่พวกเขาต้องการเสนอให้แก่สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถถกเถียงกันด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงได้ โดยต้องพึงระลึกเสมอว่าในปัจจุบันนี้ประชาชนไม่ได้โง่ที่จะเชื่ออะไรง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว

 

ที่มาภาพ: www.dreamstime.com/thailand-political-globe

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net