สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 1-4 ม.ค. 2563

กระทรวงแรงงาน ตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 คน ในปี 2563 นี้

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในปี 2563 ตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 คน ในประเทศที่มีศักยภาพ มีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อนำกลับมาพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่มีความจำเป็น โดยประเทศที่ได้รับความนิยม 4 อันดับแรก คือ 1.ไต้หวัน จำนวน 34,100 คน 2.สาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 12,200 คน 3.ญี่ปุ่น จำนวน 7,300 คน 4.อิสราเอล จำนวน 5,000 คน และประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย, มาเก๊า ฯลฯ ซึ่งเป็นแนวทางในการส่งเสริมการมีงานทำที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้จำนวนมาก

ด้านนายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการจัดหางาน มีบริการลงทะเบียนหางาน แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง หรือ แจ้งการเดินทางกลับเข้าไปทำงานต่างประเทศ (Re-entry) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทางเว็บไซต์ http://toea.doe.go.th ซึ่ง สะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการติดต่อราชการ และใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยให้บริการครอบคลุม การลงทะเบียนแจ้งความประสงค์จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง แจ้งการเดินทางกลับไปทำงานต่างประเทศของคนหางานที่เดินทางกลับประเทศไทยเป็นการชั่วคราว (Re-entry) การขออนุญาตนายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานในต่างประเทศ การขออนุญาตส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ การขอคัดรายชื่อคนหางาน การขออนุญาตจัดส่งคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ การขอสมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศ และ การขอนำคนงานเข้ารับการอบรมกรณีบริษัทจัดหางานจัดส่ง

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 2/1/2562 

สปสช. รับแรงงานไทยป่วยเลือดคั่งในสมองที่เกาหลีต้องส่งกลับประเทศ ประสานใช้สิทธิบัตรทอง รพ.บางพลี

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 สปสช.ได้รับหนังสือประสานงานจากกระทรวงแรงงานที่ได้รับแจ้งจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล ในการส่งตัวแรงงานไทย 1 ราย ที่เดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลีกลับประเทศไทย เนื่องจากประสบภาวะเจ็บป่วยมีเลือดคั่งในสมอง ได้รับรักษาด้วยการผ่าตัดจากแพทย์แล้ว แต่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้และต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง โดยได้กลับถึงประเทศไทยในวันที่ 30 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สปสช.ได้ประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อจัดหาเตียงผู้ป่วยและโรงพยาบาลรองรับ รวมถึงการรับและส่งต่อผู้ป่วย โดย สธ.ประสาน รพ.บางพลีเตรียมความพร้อมในการรับผู้ป่วยเข้ารักษาแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลนั้น ผู้ป่วยใช้สิทธิเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับการดูแลต่อเนื่องระยะยาว ด้วยผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอำนาจเจริญ ที่ผ่านมาทางญาติได้ยื่นเรื่องเพื่อขอย้ายหน่วยบริการประจำให้กับผู้ป่วยเพื่อกลับไปรักษาต่อที่หน่วยบริการใกล้บ้านแล้ว

“แรงงานไทยที่ไปทำงานยังต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทย แต่มีส่วนหนึ่งที่ประสบปัญหาสุขภาพหรืออุบัติเหตุที่จำต้องส่งกลับประเทศเพื่อรักษาต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยมีสวัสดิการสุขภาพดูแลอยู่โดยกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นกองทุนด้านสุขภาพที่ดูแลคนไทยเพื่อเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็น เช่นเดียวกับแรงงานไทยรายนี้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/1/2562 

รองประธาน คสรท. ชี้ ไม่ใช่ทุกธุรกิจของต่างชาติที่จ้างงานคนไทย วอนรัฐเปิดเผยข้อมูลลงทุนจริง

นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย หรือ คสรท. เปิดเผยว่า สำหรับตัวเลขการจัดตั้งโรงงานและอุตสาหกรรมของเหล่านักลงทุนที่จะมาทำธุรกิจในไทย ซึ่งรัฐบาลพยายามเรียกความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศนั้น บางธุรกิจก็เกิดขึ้นจริงมีการลงทุนแล้ว ช่วยสร้างเม็ดเงินในระบบ แต่บางธุรกิจ เป็นแค่แผนเบื้องต้นและยังไม่ได้มีการยืนยัน โดยเรื่องเหล่านี้หากเป็นประชาชนทั่วไป อาจมองว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศที่ใครๆ ก็อยากจะมาลงทุน

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลพยายามบอกว่าต่างชาติสนใจมาลงทุนในประเทศ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยสร้างงานให้กับแรงงานไทยด้วยนั้น ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกธุรกิจของต่างชาติจะจ้างแรงงานไทย บางแห่งใช้พนักงานของตัวเอง เนื่องจากมีความชำนาญ ไม่ต้องการเสียเวลาฝึกฝน และต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ที่ต้องติดตามว่า เมื่อโครงการสมบูรณ์แล้วเสร็จจะเกิดการจ้างงานคนไทยจริงๆในอัตราเท่าไหร่

อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานออกมาเปิดเผยข้อมูลจริง เพื่อให้นักลงทุนหรือนักธุรกิจได้รู้สถานการณ์ว่าแนวโน้มทิศทางการลงทุนเป็นอย่างไร ในทั้งด้านบวกและด้านลบ

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 2/1/2563 

คาดธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2563 จะเติบโต โดยได้แรงหนุนจากการคนตกงานมาประกอบธุรกิจมากขึ้น

สื่อผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าสถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือว่าอยู่ในช่วงขาขึ้นมาตลอด เพราะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทย เมื่อ 36 ปี โดยคาดการณ์ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2563 นี้ ก็จะเติบโต เช่นเดียวกับปีทีผ่านมา โดยได้แรงหนุนจากการตกงานของแรงงานไทยที่ตั้งเป้าไว้สูงถึงหลักแสนคน จากการปิดตัวของโรงงาน บริษัท ห้างร้าน ฯลฯ

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ในปี 2562 ที่ผ่านมามีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์เปิดดำเนินกิจการทั้งสิ้น 584 กิจการ แบ่งออกเป็น แฟรนไชส์อาหาร 140 กิจการ เครื่องดื่มและไอศกรีม 135 กิจการ การศึกษา 104 กิจการ เบเกอรี่ 45 กิจการ บริการ 41 กิจการ ค้าปลีก 35 กิจการ โอกาสทางธุรกิจ 34 กิจการ ความงาม 25 กิจการ งานพิมพ์ 16 กิจการ อสังหาริมทรัพย์ 7 กิจการ และหนังสือ วิดีโอ 2 กิจการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2561มีจำนวน 536 กิจการ โดยภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์เกิดใหม่เฉลี่ยประมาณ 19%

นางสาวสมจิตร ลิขิตสถาพร นายกสมาคมเอสเอ็มอี และแฟรนไชส์ไทย กล่าวถึงแฟรนไชส์ไทย ว่า สำหรับในปี 2563 คาดการณ์ว่าสถานการณ์ของแฟรนไชส์ น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะ ความต้องการคนทำธุรกิจส่วนตัวมีมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนคนว่างงานที่เพิ่มขึ้น หันมาทำธุรกิจ โดยการซื้อแฟรนไชส์ ส่วนในมุมของเจ้าของแฟรนไชส์ หรือ แฟรนไชส์ซอร์ จะเพิ่มขึ้นตามความต้องการของแฟรนไชส์ซี

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มาแรงในปี 2563 “นายกสมาคมเอสเอ็มอี และแฟรนไชส์ไทย” มองว่า กลุ่มธุรกิจบริการน่าจะมาแรงและมีโอกาสทีดีกว่า เนื่องจากในตลาดยังมีอยู่น้อย และสอดรับกับการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้แฟรนไชส์ในกลุ่มธุรกิจบริการใหม่ เช่น ธุรกิจบริการขนส่ง ธุรกิจดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ บริการทำความสะอาด เพราะไลฟ์สไตล์คนเปลี่ยนไป ทำให้ธุรกิจบริการด้านนี้ได้รับการตอบรับที่ดี บริการนวดแผนไทย บริการด้านความงาม ธุรกิจบริการให้คำปรึกษา บริการด้านการศึกษาทางออนไลน์ บริการเครือข่าย เป็นต้น ซึ่งธุรกิจบริการที่กล่าวมาจะเน้นช่องทางตลาดออนไลน์ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มาแรงและรวดเร็วในปี 2563

ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ ถ้าไม่ปรับตัวก็โดนดิสรัปชั่นเหมือนกัน และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เจ้าของกิจการก็ต้องปรับตัวให้ทัน ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ ที่ได้รับการตอบรับดีในปี 2562 ที่ผ่านมา เริ่มได้เห็นธุรกิจบริการที่กล่าวมาข้างต้น เพิ่มมากขึ้น แต่แฟรนไชส์ที่นิยม ก็ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม เพราะทุกคนก็ยังต้องกินต้องใช้ อาหารคงยังเป็นตัวเลือกที่เหล่าแฟรนไชส์ซีให้ความสนใจ

ส่วนราคาแฟรนไชส์ ที่ได้รับความสนใจในปี 2562 แฟรนไชส์ที่มีราคาหลักแสนบาท เพราะด้วยภาวะเศรษฐกิจไม่ดีนัก ทำให้นักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ไม่กล้าเสี่ยงจะลงทุนสูงกับแฟรนไชส์ที่ราคาหลักล้านบาท ซึ่งในปี 2563 แฟรนไชส์ที่คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี น่าจะยังคงเป็นแฟรนไชส์ ราคาหลักแสนบาท ถึงไม่เกิน 3 ล้านบาท เพราะถ้าเกิน 3 ล้านบาท โอกาสเสี่ยงสูง ด้วยเศรษฐกิจในปีหน้ายังอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีนัก ศักยภาพการลงทุนไม่เกิน 3 ล้านบาท

สำหรับ 10 ปีที่ผ่านมา มีจำนวนธุรกิจแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20% ในปี 2562 มีมูลค่าตลาดของธุรกิจแฟรนไชส์อยู่ที่ประมาณกว่า 2.5 แสนล้านบาท โดยแฟรนไชส์ธุรกิจอาหารมีสัดส่วนการลงทุนหรือเปิดกิจการมากที่สุด ทั้งแบรนด์แฟรนไชส์ไทยและต่างชาติ และยังมี แฟรนไชส์ธุรกิจบริการ ธุรกิจด้านการศึกษา ธุรกิจเบเกอรี่ และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการเติบโตสูงเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2562 ผู้ประกอบการแบรนด์แฟรนไชส์ตลาดบน มีความพยายามนำธุรกิจแฟรนไชส์ไปเปิดตลาดในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ขณะที่แบรนด์แฟรนไชส์ขนาดกลาง ที่มีจำนวนสาขา 20-30 สาขา จะให้ความสำคัญกับการมองหาทำเล และให้ความสำคัญกับการพันธมิตรทางธุรกิจมากกว่าการมองตลาดต่างประเทศ ส่วนแบรนด์แฟรนไชส์รายเล็ก ที่มีการลงทุนต่ำตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่น ในปี 2562 เห็นการเปลี่ยนแปลงของแฟรนไชส์ในกลุ่มนี้ค่อนข้างเยอะ โดยจะเห็นการเข้าและออกจากระบบมากเป็นพิเศษ เพราะผู้ประกอบการบางรายเห็นคนอื่นทำแฟรนไชส์แล้วประสบความสำเร็จ เกิดการลอกเลียนแบบ แต่พอเข้ามาทำจริงๆ กลับไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องออกจากระบบ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ จะยังคงเติบโตได้ในปี 2563 ไม่ต่ำกว่า 10% ไม่ว่าเศรษฐกิจเป็นเช่นไร เพราะจำนวนคนที่ต้องการออกมาเป็นนายของตัวเอง หรือเป็นเจ้าของกิจการเล็ก มีมากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หรือ คนที่ต้องเผชิญภาวะตกงาน การเลือกทำธุรกิจแฟรนไชส์จะเป็นทางเลือก เพราะเชื่อว่าการลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์มีประโยชน์ เพราะไม่ต้องเสียเวลาสร้างธุรกิจขึ้นมาเอง

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 2/1/2563 

คสรท. เรียกร้องปรับขึ้นค่าจ้าง 400-425 บาท ตามที่หาเสียงไว้

1 ม.ค.2563 การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 ตามมติของคณะกรรมการค่าจ้าง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป โดยปรับขึ้นทุกจังหวัดอัตรา 5-6 บาท โดยปรับขึ้น 6 บาท จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และปราจีนบุรี

ส่วนอีก 68 จังหวัดปรับขึ้น 5 บาท ทำให้อัตราค่าจ้าง แบ่งออกเป็น 10 ระดับ ตั้งแต่ 313-336 บาท สูงสุด 336 บาท ได้แก่ ชลบุรีและภูเก็ต ต่ำสุด 313 บาท ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ส่วนกรุงเทพฯและปริมณฑล อยู่ที่ 331 บาท โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป

นายสมพร ขวัญเนตร ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ระบุว่าแม้จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 5-6 บาท แต่ยังไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ อีกทั้งยังสวนทางกับนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่หาเสียงไว้กับประชาชนว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400-425 บาท

ด้านนายนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับขึ้น 5-6 บาท ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบ จากการสำรวจค่าใช้จ่ายลูกจ้าง ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง โดยคำนึงถึงภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ

ที่มา: ThaiPBS, 1/1/2563 

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเผยขึ้นค่าแรงยังไม่กระทบ แถมทิศทางยังโตดีสวนกระแส

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลในวันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นวันแรก ขณะนี้ในส่วนของราคาวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ยังไม่ได้ปรับขึ้นตาม เพราะคงต้องรอดูในระยะถัดไป เนื่องจากตามปกติแล้ว เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สินค้าอุปโภคและบริโภคในตลาดจะปรับราคาขึ้นตาม ให้สินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตก็จะขึ้นราคา แต่ขณะนี้ยังไม่เห็นแนวโน้มอะไรที่ชัดเจน โดยปกติการขึ้นค่าแรงจะไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซในทางตรง เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ได้ใช้แรงงานเป็นจำนวนมากๆ เหมือนกับโรงงาน หรือธุรกิจขนาดใหญ่ และส่วนมากแรงงานในตลาดอีคอมเมิร์ซก็มีค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว

“ผลกระทบที่เกิดขึ้น จะมาในทางอ้อมแทนคือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้สินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาแพงขึ้น สวนทางกับกำลังซื้อที่ไม่ได้ปรับขึ้นตาม แม้จะขึ้นค่าแรงแต่ก็ต้องยอมรับว่า สินค้าที่ปรับราคาขึ้นส่วนใหญ่จะขึ้นมากกว่าค่าแรงหลายบาท โดยจากนี้จะต้องติดตามต่อว่า อะไรก็ขึ้นก่อน อะไรจะขึ้นตาม แล้วธุรกิจอะไรจะไปก่อนกัน เพราะเศรษฐกิจยังไม่ดีด้วย ผู้ประกอบการหลายรายจึงไม่กล้าขึ้นราคา เพราะกลัวจะส่งผลกระทบต่อยอดขาย จึงต้องรอดูต่อว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร” นายภาวุธกล่าว

นายภาวุธกล่าวว่าในปี 2563 ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีทิศทางชะลอตัว แต่ในส่วนของธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะหากธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้งธุรกิจทั่วไปดูมีทิศทางไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร คนส่วนใหญ่ก็จะหันมาสนใจในอีคอมเมิร์ซ ที่สะท้อนได้จากปี 2562 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตเร็วมาก ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งโลจิสติกส์เติบโตอย่างรวดเร็วตามไปด้วย นอกจากนี้ มองว่าการปรับขึ้นค่าแรงอาจทำให้อีคอมเมิร์ซได้รับอานิสงค์เชิงบวกมากขึ้น เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีประสิทธิภาพที่แข็งแกร่ง สินค้ามีคุณภาพ ราคาเข้าถึงได้ง่าย และที่สำคัญสามารถสั่งซื้อได้ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีความสะดวกสูงมาก

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/1/2563 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท