Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

คำว่านิสัยหรืออุปนิสัย เป็นคำที่คนทั่วไปใช้อธิบายพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ จนเป็นความเคยชิน เป็นสิ่งที่ได้มาจากการอบรมเลี้ยงดู นิสัยเป็นได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่ต้องใช้เวลานาน 

ในทำนองเดียวกัน นักทฤษฎีทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยานามว่า ปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) เป็นคนหนึ่งที่พูดถึงเรื่องอุปนิสัยเอาไว้พอสมควร โดยอธิบายผ่านแนวคิดที่เขาเรียกว่า ฮาบิทัส (habitus) กล่าวโดยย่นย่อฮาบิทัสเป็นโครงสร้างนามธรรมในตัวคนเรา ที่เกิดขึ้นจากการได้รับการอบรมเลี้ยงดูขัดเกลาทางสังคมทั้ง ฮาบิทัสเป็นทั้งผู้ถูกสร้างและเป็นผู้สร้าง กล่าวคือเป็นผู้ถูกสร้างขึ้นโดยโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อยู่ภายนอกตัวคนเรา แล้วหล่อหลอมเข้าไปอยู่ในตัวเราผ่านการกระทำ การปฏิบัติ การฝึกฝนในรูปแบบต่างๆ ในขณะเดียวกันฮาบิทัสที่ถูกหล่อหลอมสั่งสมอยู่ในตัวคนเป็นเวลายาวนานก็ได้กลายเป็นผู้สร้างพฤติกรรม อุปนิสัย ทัศนคติ ค่านิยม อารมณ์ความรู้สึก รสนิยม ฯลฯ ของคนเราขึ้นมา ในแง่นี้ฮาบิทัสจึงไม่ใช่แค่อุปนิสัย แต่เป็นผู้ก่อเกิดอุปนิสัย ตลอดจนพฤติกรรมอื่นๆ ของคนเรา ฮาบิทัสมีทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและระดับกลุ่ม ตัวอย่างเช่น ผู้หญิงอีสานคนหนึ่งอาจมีฮาบิทัสบางอย่างที่เป็นบุคลิกหรืออัตลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากคนอื่น ในขณะเดียวกัน ผู้หญิงอีสานคนเดียวกันนั้นก็อาจมีฮาบิทัสบางอย่างร่วมกันหรือเหมือนกันกับผู้หญิงอีสานคนอื่นๆ จนเรียกได้ว่าเป็นฮาบิทัสของผู้หญิงชาวอีสาน (ดูการอธิบายฮาบิทัสโดยละเอียดได้ใน สุนีย์, 2553)

จะเห็นได้ว่าบูร์ดิเยอไม่ได้มองว่าฮาบิทัสเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติในตัวคน ไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่เกิดขึ้นจากสังคม ซึ่งประเด็นนี้ถือว่ามีนัยสำคัญ เพราะหากฮาบิทัสเป็นธรรมชาติที่ฝังอยู่ในตัวคน โอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอาจมีน้อยมาก แต่การเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น นั่นหมายความว่าน่าจะสร้างใหม่ได้ เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ กล่าวคือถ้ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมภายนอก ก็จะทำให้ฮาบิทัสเดิมเปลี่ยนแปลงไปด้วย อย่างไรก็ตาม แม้จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ฮาบิทัสก็เกิดจากการที่เราทำซ้ำๆ รับรู้หรือเรียนรู้ซ้ำๆ สั่งสมมาเป็นเวลายาวนาน จนเกือบจะเป็นธรรมชาติในตัวเรา ดังที่บูร์ดิเยอเรียกว่าเป็น ภาวะกึ่งธรรมชาติ ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ยาก ต้องใช้เวลายาวนาน และบางครั้งก็ไม่อาจคาดหวังผลได้อย่างชัดเจนตายตัว 

ในกรณีผู้หญิงอีสานที่นิยมแต่งงานกับชายฝรั่งก็อาจเรียกได้ว่าเป็นฮาบิทัสอย่างหนึ่ง ถามว่าฮาบิทัสนี้มาจากไหน หากเราพิจารณาดูโครงสร้างสังคมอีสานก็จะพบว่าสังคมอีสานมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมระหว่างคนจนคนรวย เพศชายเพศหญิง และเพศอื่นๆ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจากสังคมชนบทแบบประเพณีไปสู่สังคมสมัยใหม่ ได้นำไปสู่ความล่มสลายของสถาบันครอบครัว และความไร้ประสิทธิภาพของสถาบันการศึกษาสมัยใหม่ ทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกที่จำกัด จึงเกิดเป็นค่านิยมการแต่งงานกับฝรั่งเพื่อเลื่อนฐานะของตน เพื่อความอยู่รอดในการดำรงชีวิต และก็ทำสืบทอดต่อๆ กันมาเป็นประเพณี อย่างไรก็ตาม ฮาบิทัสการนิยมแต่งงานกับฝรั่งหรือชายต่างชาติก็ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้หญิงอีสานเท่านั้น หากเกิดขึ้นทั่วไปในสังคมกำลังพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสมัยใหม่ ที่โครงสร้างสังคมมีความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากนัก

ดังได้กล่าวแล้วว่าฮาบิทัสเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ การจะเปลี่ยนแปลงฮาบิทัสของหญิงอีสาน จะต้องเริ่มจากการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ด้วยการลดทอนความเหลื่อมล้ำระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในความเห็นของผู้เขียนควรเริ่มจากการแก้ปัญหาในสถาบันครอบครัวของคนอีสาน เพราะเป็นที่ทราบกันดีในทางสังคมศาสตร์ว่าครอบครัวเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของสังคม ครอบครัวคนยากจนในอีสานเป็นอย่างไร มีงานวิจัยจำนวนมากและจากการเคยพูดคุยกับชาวบ้านในอีสานหลายจังหวัดแสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ในวัยหนุ่มสาวมักไปทำงานตามโรงงานในเมืองใหญ่ เช่นในกรุงเทพฯ ทิ้งลูกน้อยไว้ให้ผู้เฒ่าผู้แก่ดูแล ซึ่งย่อมดูแลได้ไม่ทั่วถึง เพราะผู้เฒ่าผู้แก่เองก็อยู่ในวัยที่ต้องการคนดูแลเช่นกัน เด็กจึงขาดการดูแลและการอบรมสั่งสอนที่เหมาะสมเพียงพอ ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีที่พ่อแม่ส่งเงินมาไม่เพียงพอเป็นค่าเลี้ยงดู ทำให้เด็กต้องทำงานก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ก็ยังมีการแทรกแซงของปัญหาเรื่องการพนันและยาเสพติดอีก ในท่ามกลางสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เด็กๆ จะเติบโตขึ้นมาอย่างไร โดยเฉพาะเด็กผู้หญิงเมื่อถึงวัยรุ่นวัยเรียนวัยทำงาน สถาบันการศึกษาและระบบการทำงานที่ไม่ยืดหยุ่นและเปิดกว้างเพียงพอ ก็ยิ่งเบียดขับให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ การจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมคงไม่มีสูตรตายตัว ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ และการทำความเข้าใจบริบทย่อยๆ ของสังคม แต่เราอาจเห็นตัวอย่างที่เริ่มเกิดขึ้นในสังคมไทย เช่น การส่งเสริมให้คนชนบทกลับมาทำงานในบ้านเกิด การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพื่อสร้างความสมานฉันท์กลมเกลียวภายในครอบครัวเครือญาติ การที่โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนหญิงที่ตั้งครรภ์ได้ศึกษาต่อ เพื่อให้มีโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ จะได้สามารถเลี้ยงดูบุตรที่กำลังจะลืมตามาดูโลกได้ การมีสถาบันการเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ สื่อดิจิทัล สื่อผสมประเภทต่างๆ ที่เด็กยากจนและคนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพูนศักยภาพยกระดับทางความรู้ให้ทัดเทียมเด็กคนอื่นที่มีโอกาสมากกว่า ทั้งยังขยายพื้นที่ให้ประชาชนคนทั่วไปได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ นอกห้องเรียนได้ตลอดชีวิต จะได้มีสติปัญญารับมือกับปัญหาใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้อย่างเท่าทันกัน ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างทางสังคมเหล่านี้ก็อาจเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้แก่ผู้หญิง นอกเหนือไปจากการเลือกแต่งงานกับฝรั่ง

นอกจากนี้ เรายังอาจใช้พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้เป็นพื้นที่การศึกษาสำหรับให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งในภูมิภาคอีสาน และในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะให้ผู้คนกลุ่มต่างๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน เพื่อปรับเปลี่ยนฮาบิทัสให้ลดทอนอคติที่มีต่อคนต่างกลุ่ม ต่างชาติพันธุ์ ต่างเพศสภาพ ต่างวัย ต่างศาสนา ฯลฯ เพื่อให้ผู้คนลดความเกลียดชัง รับฟังกันมากขึ้น และให้อภัยกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าในสังคมปัจจุบัน แม้แต่ผู้หญิงกลุ่มที่มีโอกาสมีทางเลือกในการศึกษาและอาชีพการงาน ก็มีแนวโน้มที่จะเลือกแต่งงานกับฝรั่งหรือชาวต่างชาติมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งหากมองในอีกแง่มุมหนึ่งก็จะเห็นได้ว่าผู้หญิงที่แต่งงานกับชายต่างชาติ ไม่ว่าจะด้วยความจำเป็นเพื่อเลื่อนฐานะหรือเพราะความรักใคร่ชอบพอ ผู้หญิงเหล่านี้ต่างก็มีบทบาทในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งการเรียนรู้ต่างๆ ทั้งที่เป็นวิชาการและไม่ใช่วิชาการจะเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้มีโอกาสปรากฏตัว เพื่อให้ผู้คนได้มองเห็น ได้ยินสุ้มเสียง ได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตข้ามพรมแดนข้ามชาติข้ามวัฒนธรรมของพวกเธอบ้าง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net