Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเกณฑ์ทหารมีอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งมาทุกยุคสมัย โดยเริ่มปรากฏอย่างชัดเจนในการทำสงครามของรัฐแบบโบราณในฐานะรูปแบบหนึ่งของการเกณฑ์แรงงานเพื่อรับใช้รัฐนั้นๆ ร่วมกันไปกับการเกณฑ์แรงงานสำหรับกิจการอื่นๆ เช่น การทำเกษตรกรรม ปศุสัตว์ การก่อสร้าง และการรับใช้ชนชั้นปกครองของสังคม ลักษณะของการเกณฑ์ทหารในรัฐแบบโบราณจึงเป็นไปในรูปแบบเฉพาะกิจ เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายทางการทหารหรือภักคุกคามเฉพาะหน้า

โดยกองทัพจึงเป็นกองทัพที่รวมการกันชั่วคราว มีระยะเวลาของการฝึกฝนไม่มาก ไม่มีความเชี่ยวชาญ กำลังพลเกือบทั้งหมดมาจากพลเมืองซึ่งเป็นชาวบ้าน ทั้งยังอาจต้องตระเตรียมยุทธโปกรณ์และยุทธอาภรณ์ด้วยทรัพยากรของตัวเอง เนื่องจากรัฐไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการจัดหาให้

การเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศฝรั่งเศส ภายหลังช่วงเวลาของการปฏิวัติฝรั่งเศสและการก้าวขึ้นมาสู่อำนาจของ นโปเลียน โบนาปาร์ต โดยมีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสังคมฝรั่งเศสในช่วงเวลาภายหลังการปฏิวัติระบอบการปกครอง จากบรรดาประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่รายล้อม ซึ่งต่างก็เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่ออุดมคติของการปฏิวัติ รวมทั้งเพื่อทำสงครามปฏิวัติ (Revolutionary War) สำหรับการเผยแพร่อุดมคติของการปฏิวัติไปสู่ประเทศอื่นๆในภาคพื้นทวีปยุโรป

กองทัพอันเกรียงไกร (Grande Armée) ของนโปเลียนซึ่งเกิดขึ้นมาได้โดยการเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่ได้เข้าบดขยี้กองกำลังของประเทศต่างๆอย่างประสบความสำเร็จ เหตุเพราะการเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่จากประชากรหมู่มากซึ่งมาจากทั่วประเทศ ทำให้กองทัพฝรั่งเศสจึงมีความเหนือกว่าด้านกำลังพลเป็นอย่างมาก ในยุคสมัยแห่งการรบพุ่งของสงครามตามแบบ ต่อประเทศสมบูรณาญาสิทธิราชย์อื่นๆ ซึ่งยังคงใช้ระบบการทหารแบบโบราณ

ต่อมากองทัพปรัสเซียซึ่งปราชัยต่อฝรั่งเศสจึงได้ริเริ่มการปรับปรุงระบบกองทัพของตนให้เป็นสมัยใหม่และริเริ่มการเกณฑ์ทหารตามแบบอย่างฝรั่งเศสขึ้นมา ส่งผลให้ประเทศอื่นๆในยุโรปดำเนินรอยตามในที่สุด รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่นซึ่งได้รับอิทธิพลจากการล่าอาณานิคมหรือได้ส่งตัวแทนมาศึกษากองทัพสมัยใหม่ในยุโรปเพื่อนำกลับไปพัฒนากองทัพของประเทศตนเอง

กล่าวได้ว่า ระบบการเกณฑ์ทหารสมัยใหม่เกิดขึ้นไม่ได้หากไม่กอปรไปกับการล่มสลายของระบบไพร่ทาสแบบรัฐโบราณ ระบบศักดินา (feudalism) หรือระบบทาสติดที่ดิน ในการที่ประชาชนจะถูกเกณฑ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพแห่งรัฐได้นั้น จะต้องทำการนิยามอย่างชัดเจนเสียก่อนว่า ใครบ้างที่เป็นประชากรของรัฐ ดังนั้นความจงรักภักดีและสำนึกของประชาชนจึงต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐประชาชาติมิใช่มูลนายที่ตนสังกัดอย่างเดิม

ระบบการเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่จึงเกิดขึ้นได้ด้วยเค้าลางแห่งการก่อตัวของมโนทัศน์ความเป็นรัฐประชาชาติและสำนึกของความเป็นชาตินิยม รวมทั้งเป็นการรวมศูนย์อำนาจและผูกขาดอำนาจการใช้ความรุนแรงเข้าสู่รัฐบาลส่วนกลาง แทนการกระจายตัวของอำนาจตามแหล่งต่างๆในระเบียบอำนาจเดิม

การปรับปรุงกองทัพเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ในประเทศไทยเองก็เกิดขึ้นในบริบทเช่นที่กล่าวข้างต้น เดิมก่อนการปฏิรูปราชการแผ่นดินในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ราษฏรมีสถานะเป็นไพร่ในระเบียบอำนาจของรัฐแบบโบราณ ซึ่งมีหน้าที่เข้ารับราชการหรือถูกรัฐเรียกเกณฑ์แรงงานในแต่ละปี โดยสังกัดอยู่ภายใต้การควบคุมและปกครองโดยขุนนาง ลักษณาการเช่นนี้ส่งผลให้รัฐไทยมีกำลังพลไม่เพียงพอต่อกิจการของกองทัพ ไม่สามารถเรียกระดมพลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากอำนาจทางการทหารกระจายตัวอยู่กับขุนนาง รวมทั้งไม่มีความเชี่ยวชาญในการทำสงครามและใช้อาวุธสมัยใหม่ กอปรกับภัยคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก และการกลับมาจากการเล่าเรียนศึกษาของเจ้านายชั้นสูงซึ่งได้รับการศึกษาในประเทศที่มีกองทัพสมัยใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงดำเนินการเลิกระบบไพรทาสเพื่อรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง และประกาศข้อบังคับการเกณฑ์ทหาร ร.ศ.112 ขึ้นบังคับใช้ในประเทศไทย เปลี่ยนประเทศไทยเข้าสู่กองทัพและระบบการเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่ในที่สุด

การเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่นั้นมีพัฒนาการเรื่อยมา โดยสอดคล้องไปกับพัฒนาการในวิทยาการหลาย
อย่างซึ่งสัมพันธ์กับการระดมกำลังทหารในปริมาณมาก การพัฒนาของวิทยาการเหล่านั้น เช่น ระบบคมนาคม ระบบการสื่อสาร ระบบการสำรวจประชากร ระบบการศึกษา ส่งผลให้ทหารที่ทำการระดมเข้าสู่กองทัพเป็นจำนวนมากสามารถปฏิบัติงานร่วมกัน สามารถสื่อสารบังคับบัญชากันระหว่างคนละพื้นที่ สามารถส่งกำลังบำรุงและขนย้ายกำลังพลในปริมาณมากเพื่อทำการสู้รบในพื้นที่ห่างไกลได้ โดยระบบการเกณฑ์ทหารแบบสมัยใหม่ขึ้นสู่จุดสูงสุดในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สองและเสื่อมความนิยมลงเป็นลำดับหลังจากนั้น

การล่มสลายของสหภาพโซเวียต การสิ้นสุดยุคสงครามเย็นอย่างเป็นทางการ การก่อตัวของระเบียบอำนาจระหว่างประเทศที่ชัดเจน ส่งผลให้หลายประเทศทำการปฏิรูประบบเกณฑ์ทหารของประเทศตัวเอง ด้วยการลดระยะเวลาประจำการลง เพิ่มการคำนึงถึงความคิดเห็นของกลุ่มต่างๆในสังคมมากขึ้น เช่น ผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารด้วยมโนธรรมสำนึก (conscientious objector) ผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารเพราะต่อต้านรัฐบาล ผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารเพราะเหตุผลของนโยบายในการทำสงครามนั้นๆ หรือผู้ต่อต้านการเกณฑ์ทหารด้วยเหตุผลเชิงอุดมการณ์ ด้วยการเพิ่มตัวเลือกในการเข้าประจำการนอกเหนือไปจากการทำหน้าที่ภายในกองทัพ ผ่านการรับใช้สังคมหรือชุมชนในรูปแบบอื่นๆ การเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในกองทัพของหลายประเทศทำให้การเกณฑ์ทหารมีความเท่าเทียมระหว่างเพศมากขึ้น รวมถึงการดำเนินการลดบทลงโทษของการหนีทหารลง หลายประเทศจึงได้ทำการทยอยยกเลิกการเกณฑ์ทหารเนื่องจากไม่มีภัยคุกคามโดยตรงที่เร่งด่วนเนื่องเพราะปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป 

ภัยความมั่นคง และการเปลี่ยนแปลงเชิงรูปแบบของสงคราม

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ลักษณะและรูปแบบของสงครามได้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นวัตกรรมทางการสงครามอย่างหนึ่งซึ่งมีผลอย่างมากต่อปรากฏการณ์นี้ก็คือ การถือกำเนิดของอาวุธนิวเคลียร์ การประจักษ์ต่ออานุภาพการทำลายล้างร้ายแรงของระเบิดปรมาณูที่สหรัฐอเมริกาใช้ต่อญีปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ประเทศมหาอำนาจตระหนักถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอาวุธชนิดนี้และเร่งทำการวิจัยเพื่อผลิตขึ้นภายในประเทศ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันสะสมหัวรบนิวเคลียร์อย่างรุนแรงในยุคสมัยของสงครามเย็น ความขัดแย้งกันระหว่างประเทศมหาอำนาจจึงอาจขยายตัวไปสู่การทำลายล้างของมนุษยชาติ (Global Annihilation) ได้อย่างรวดเร็ว

ลักษณะของความขัดแย้งระหว่างรัฐภายหลังยุคสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจึงมีความระมัดระวังและไม่มีลักษณะของความเป็นสงครามเบ็ดเสร็จ (Total War) ที่แต่ละผู้กระทำการโหมทรัพยากรทุกชนิดเข้าใส่เพื่อทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม หากแต่เป็นความขัดแย้งระดับความรุนแรงต่ำหรือสงครามแบบจำกัดวง (Low-Intensity Conflict) ในสัดส่วนที่มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยใช้เครื่องมือทางการทหาร การฑูต การเมือง เศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสาร อย่างผสมผสานกันเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์แห่งรัฐ ในความขัดแย้งหนึ่งๆซึ่งมีระดับความรุนแรงมากกว่าสภาวะสันติภาพ แต่ไม่ถึงระดับของสงครามตามแบบ (Conventional Warfare)

ภัยความมั่นคงที่เผชิญกับรัฐชาติในปัจจุบันจึงมีลักษณะของภัยความมั่นคงไม่ตามแบบ (Non-Traditional Threat) เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสงครามอสมมาตร (Asymmetric Warfare) สงครามจิตวิทยา (Psychological Warfare) สงครามไม่ตามแบบ (Unconventional Warefare) สงครามกองโจร (Guerrilla Warfare) การก่อการร้าย (Terrorism) สงครามไซเบอร์ (Cyber Warefare) ปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติ (Ethnic Conflict) ปัญหาเรื่องวิกฤติผู้ลี้ภัย ปัญหาภัยธรรมชาติ และภารกิจรักษาความสงบในพื้นที่ความขัดแย้ง (Peacekeeping Mission)

ภัยความมั่นคงเหล่านี้ทำให้นิยามของสงคราม เป้าหมายทางการทหาร เขตพื้นที่ในการปฏิบัติการมีความพร่าเลือนมากยิ่งขึ้น ประสบความยากลำบากในการยับยั้งป้องกันและความสามารถในการแยกผู้กระทำการออกจากประชาชน ส่งผลให้กองทัพต้องเข้าสู่กระบวนการความเป็นสมัยใหม่และปรับรูปแบบขององค์กรเพื่อให้ตอบสนองต่อภัยความมั่นคงเหล่านี้

เหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นนำไปสู่การเสนอทฤษฏีการลดลงของกองทัพขนาดใหญ่ (Decline of the Mass Army Theory) ของนักสังคมวิทยากองทัพและนักวิชาการทางการทหาร เพื่ออธิบายปรากฏการณ์การจัดองค์กรของกองทัพในโลกยุคใหม่เพื่อลดขนาดลงให้มีความเหมาะสมมากขึ้นในการปฏิบัติการตอบสนองต่อภัยความมั่นคง

การเกณฑ์ทหารอย่างกว้างขวางจึงไม่สามารถตอบสนองต่อภัยความมั่นคงเหล่านี้ได้ กองทัพในยุคสมัยใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะมีขนาดเล็กลง มีความคล่องตัวมากขึ้น มีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติการมากขึ้น มีความเชียวชาญในวิชาชีพเฉพาะมากขึ้น (Professional Specialization) มีความสามารถในการปฏิบัติการในพื้นที่อ่อนไหวทางการเมืองและวัฒนธรรม และมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยคอยสนับสนุน กองทัพจึงต้องการ กำลังพลที่มีการฝึกฝนในระดับสูง มีความเข้าอกเข้าใจในการงานและในหน่วยงาน มีความต่อเนื่องในการต่อยอดประสบการณ์ เพื่อรับมือกับภารกิจที่มีความซับซ้อนและคลุมเครือมากยิ่งขึ้น

กล่าวเฉพาะในกรณีของประเทศไทย สงครามตามแบบในลักษณะของการยกกำลังพลขนาดใหญ่เข้าประจันหน้ากันเพื่อทำสงครามยึดครองดินแดนนั้น เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อกว่า 40 ปีก่อน เมื่อกองทัพเวียดนามเหนือยกกำลังพลกว่า 20 กองพล เข้าประจำการในประเทศกัมพูชาและประชิดชายแดนไทย ในปี 2522 ในสมัยการดำรงตำแหน่งของนายกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทร์ รวมทั้งยังเสนอให้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำการยืมกำลังพลเพื่อทำสงครามปลดปล่อยแก่ 17 จังหวัดภาคอีสาน ทำให้ประเทศไทยต้องตัดสินใจดำเนินการทางการฑูตในเชิงปิดลับ เพื่อหว่านล้อมให้ประเทศสาธารณะรัฐประชาชนจีนดำเนินการทำสงครามสั่งสอนกองทัพเวียดนามเหนือซึ่งมีความใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต นอกเหนือไปจากนั้น การปะทะทางทหารในเวลาต่อมาของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นที่สมรภูมิบ้านร่มเกล้าหรือกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ล้วนเป็นในลักษณะของความขัดแย้งระดับต่ำ (Low-Intensity Conflict) ทั้งสิ้น

อีกทั้งตามที่สาธาณะชนได้รับรู้จากสื่อสารมวลชนอยู่เนืองๆ ถึงการผลิตซ้ำความผิดพลาดของกองทัพในการจัดการกับพื้นที่ซึ่งมีความละเอียดอ่อนทางวัฒนธรรมสูงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้กำลังพลทหารที่เท่าทันต่อวัฒนธรรมเฉพาะของพื้นที่ ทำให้เกิดการขยายความเข้าใจผิดและความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น รวมถึงอาจนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์

ภูมิรัฐศาสตร์และระเบียบระหว่างประเทศ

ปัจจัยด้านความเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิรัฐศาสตร์และระเบียบระหว่างประเทศมีความสำคัญต่อระดับการยกเลิกการเกณฑ์ทหารในประเทศต่างต่างอย่างมีนัยยะสำคัญมากที่สุดปัจจัยหนึ่ง การสิ้นสุดของการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ระหว่างฝ่ายโลกเสรีและลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมถึงการล่มสลายลงของสหภาพโซเวียตและกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอ (Warsaw Pact) ทำให้ความตึงเครียดระหว่างประเทศในทุกภูมิภาคลดลง ส่งผลให้เกิดการลดระดับของภัยคุกคามจากขบวนการปฏิวัติภายในประเทศเหล่านั้น อันนำไปสู่ระเบียบอำนาจระหว่างประเทศในยุคหลังสงครามเย็นซึ่งมุ่งเน้นหลักการของตลาดและการค้าเสรีเพื่อยังผลให้เกิดความรุ่งเรืองและสันติสุขของโลก

ระเบียบอำนาจระหว่างประเทศหลังยุคสงครามเย็นมีเสาหลักอยู่ที่การจัดตั้งหรือรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นองค์การระหว่างประเทศโดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศซึ่งมีบทบาทนำ มีการก่อตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) เพื่อสร้างมาตรฐานและบังคับใช้ข้อตกลงทางการค้าเสรี ก่อตั้งธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund) เพื่อให้เงินสนับสนุนหรือให้การกู้ยืมแก่ประเทศกำลังพัฒนา ประเทศในทวีปยุโรปได้รวมตัวกันก่อตั้งเป็นสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งต่อมาได้รวมเอาประเทศที่เคยอยู่ในอาณัติหรือเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตและสมาชิกองค์การสนธิสัญญาวอร์ซอเข้ามาเป็นสมาชิกร่วม ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการยกระดับความร่วมมือในองค์กรของภูมิภาคอย่าง ASEAN (Association of South East Asian Nations) ภายหลังการสิ้นสุดลงของความขัดแย้งในเอเชียอาคเนย์

กล่าวได้ว่า ประเทศต่างๆมีแรงจูงใจน้อยลงในการทำสงครามระหว่างกัน เนื่องจากผลประโยชน์ที่ได้จากความสัมพันธ์ต่างตอบแทนในระดับระหว่างประเทศมีมากกว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐ ความขัดแย้งระหว่างรัฐชาติจึงไม่ขยายตัวไปเป็นสงครามขนาดใหญ่และหลายครั้งสามารถไกล่เกลี่ยได้ด้วยเครื่องมือทางการฑูต นอกจากนั้นยังมีความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศจากการเป็นพันธมิตรทางการทหารหรือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ซึ่งกันและกัน

 

ลำดับ

ประเทศ

จำนวนประชากร (คน)

ระยะเวลาการเกณฑ์
  (เดือน)

1

ตุรกี

80,810,525 

6-12

2

กรีซ

10,816,286

9-12 

3

ฮังการี

9,771,000

4

เดนมาร์ก

5,806,015

4-12 

5

นอร์เวย์

5,323,933

12

6

ลิธัวเนีย

2,797,000

7

เอสโตเนีย

1,315,000

8-11 


องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือ (North Atlantic Treaty Organization) หรือนาโต ถูกก่อตั้งขึ้นโดยประเทศในยุโรปและอเมริกาเหนือเพื่อป้องปรามภัยคุกคามของสหภาพโซเวียตและเยอรมันตะวันออกภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง การล่มสลายทางอำนาจของประเทศในโลกคอมมิวนิสต์ทำให้ภัยคุกคามโดยตรงของประเทศสมาชิกนาโตลดลงไปอย่างมาก ส่งผลให้ประเทศสมาชิกนาโตรวมถึงประเทศยุโรปอื่นอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกนาโตทำการทยอยลดงบประมาณด้านความมั่นคงและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร

โดยเฉพาะประเทศสมาชิกนาโตซึ่งมีการคุ้มครองตามกฏบัตรข้อที่ 5 ของสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือที่ว่า “หากมีการโจมตีประเทศสมาชิกหนึ่งประเทศใดไม่ว่าในยุโรปหรืออเมริกาเหนือ ให้ถือว่าเป็นการโจมตีทุกประเทศซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของสนธิสัญญา” ทำให้ประเทศสมาชิกมั่นใจในความมั่นคงของประเทศตัวเองมากขึ้น

ปัจจุบันในบรรดาประเทศสมาชิกนาโต 25 ประเทศ คงเหลือเพียง 7 ประเทศที่ยังคงมีระบบการเกณฑ์ทหารอยู่  สังเกตุได้ว่า มีเพียงตุรกีเท่านั้นที่มีประชากรเกิน 11 ล้านคน ในขณะที่อีก 6 ประเทศที่เหลือเป็นประเทศที่มีประชากรต่ำกว่า 11 ล้านคนทั้งสิ้น หรือพูดอีกนัยหนึ่งได้ว่ามีจำนวนประชากรน้อยกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครฯ เพียงจังหวัดเดียวเสียอีก (10,810,912 คน) นอกจากนั้นทั้งหมดยังมีระยะเวลาการประจำการเพียง 1 ปี หรือต่ำกว่านั้น

สรุปได้ว่า จากภัยความมั่นคงที่ลดน้อยลงของประเทศสมาชิกนาโต ทำให้ประเทศสมาชิกสามารถคาดการณ์ระดับกำลังพลที่จะต้องประจำการในกองทัพและภัยคุกคามที่ต้องรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศที่ยังคงการเกณฑ์ทหารอยู่โดยส่วนใหญ่มีเพียงรัฐขนาดเล็กซึ่งเปราะบางและมีกำลังพลไม่เพียงพอต่อความต้องการในการป้องกันประเทศ

ความขัดแย้งเรื่องเขตแดนระหว่างตุรกีและกรีซ ระหว่างตุรกีกับชนกลุ่มน้อยเคิร์ด ระหว่างตุรกีกับอิหร่าน เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการอธิบายถึงเหตุผลในการคงอยู่ของการเกณฑ์ทหาร แต่ยังคงเป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอ ซึ่งจะอภิปรายต่อไปในหัวข้อว่าด้วยปัจจัยภายใน ถึงแม้จะมีความพยายามในการเสริมกำลังทหารในเขตพรมแดนของประเทศสมาชิกที่ได้รับอิทธิพลจากนโยบายแผ่อิทธิพลของรัสเซียในช่วงที่ผ่านมา ก็มีสมาชิกนาโตเพียงประเทศเดียวที่นำระบบการเกณฑ์ทหารกลับมาใช้คือ ลิธัวเนีย และประเทศนอกสมาชิกนาโต 1 ประเทศ คือ สวีเดน

 

ลำดับ

ประเทศ

จำนวนประชากร (คน)

ระยะเวลาการเกณฑ์
  (เดือน)

1

เวียดนาม

92,700,000

24-36

2

ไทย

65,339,612

6-24

3

กัมพูชา

15,626,444

18

4

ลาว

6,492,400

18

5

สิงคโปร์

5,535,000

24


อีกหนึ่งตัวอย่างของภัยความมั่นคงที่ลดลงอย่างชัดเจนจากยุคสมัยสงครามเย็นคือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในระยะเวลา 30 ปี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เปลี่ยนจากภูมิภาคที่มีการทำสงครามและความขัดแย้งในทุกพื้นที่ไปสู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในยุคหลังสงคราม และยกระดับไปสู่การรวมตัวเป็นประชาคมของประเทศในภูมิภาค โดยประกอบด้วย 3 เสาหลักคือ ประชาคมเศรษฐกิจ ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม ประชาคมความมั่นคงและการเมือง

ภายหลังสงครามเย็นความขัดแย้งเผชิญหน้าระหว่างรัฐในเอเชียตะวันออกใต้เฉียงใต้ลดระดับลงเหลือเพียงข้อพิพาททางเขตแดน ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งแบบจำกัดวงเท่านั้น (Low-Intensity Conflict) แม้แต่ในบริบทของความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ก็ยังไม่ปรากฏความเป็นไปได้มากนักในการเคลื่อนกำลังตามแบบเข้าห้ำหั่นกันแต่อย่างใด

ปัจจุบันในสมาชิกของประชาคมอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ ยังคงมีการเกณฑ์ทหารอยู่ถึง 5 ประเทศ โดยสิงคโปร์และลาวมีประชากรต่ำกว่า 11 ล้านคน ในขณะที่กัมพูชามีประชากรมากกว่าประชากรของกรุงเทพมหานครฯ เพียง 4.6 ล้านคนเท่านั้น ประเทศขนาดใหญ่ในภูมิภาคซึ่งยังคงมีการเกณฑ์ทหารคงเหลืออยู่เพียง 2 ประเทศ คือ ไทยและเวียดนาม ซึ่งทั้งคู่ต่างมีปัญหาด้านเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่นั่นยังคงเป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอแก่การอธิบาย เพราะประเทศในภูมิภาคขนาดใหญ่อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา มาเลเซีย เองก็ได้มีการยกเลิกการเกณฑ์ทหารไปแล้ว ส่วนนี้ต้องนำปัจจัยภายในเข้ามาร่วมอธิบาย ซึ่งจะอภิปรายในส่วนต่อไป

 

ลำดับ

ประเทศ

ประชากร (คน)

1

รัสเซีย

149,877,088

2

เวียดนาม

92,700,000

3

ตุรกี

82,003,882

4

อิหร่าน

82,000,000

5

ไทย

65,339,612

6

เกาหลีใต้

50,617,000

7

ยูเครน

42,220,824

8

อุซเบกิซสถาน

31,283,000

9

เกาหลีเหนือ

25,863,000

10

ไต้หวัน

24,455,000

11

คาซัคสถาน

18,356,900


เมื่อมองในภาพกว้างโดยควบรวมทั้งทวีปเอเชียและยุโรปจากทั้งหมด 97 ประเทศ ประเทศที่ยังคงมีระบบการเกณฑ์ทหารเหลืออยู่เพียง 38 ประเทศ คิดเป็น 36.89 เปอร์เซ็นต์ ใน 38 ประเทศที่ยังคงมีการเกณฑ์ทหารอยู่นั้น มีเพียง 11 ประเทศเท่านั้นที่มีประชากรเกิน 11 ล้านคน คิดเป็น 8.69 เปอร์เซ็นต์จากประเทศทั้งหมดของเอเชียและยุโรป

 โดยทุกประเทศมีปัญหาข้อพิพาททางทะเลหรือเขตแดนด้วยกันทั้งหมด และ ในจำนวน 11 ประเทศที่กล่าวถึง ตามดัชนีชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยของสถาบัน Economist Intelligence Unit ของประเทศสหราชอาณาจักร แบ่งประเทศเหล่านั้นออกได้เป็น ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม 6 ประเทศ ปกครองด้วยระบอบลูกผสม (Hybrid Regiem) 3 ประเทศ และปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์ 2 ประเทศ

 โดยประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้ง 2 ประเทศ ก็คือ เกาหลีใต้และไต้หวัน ต่างก็เป็นประเทศที่มีภัยความมั่นคงโดยตรงทั้งคู่ ข้อสังเกตุคือ ประเทศที่มีความขัดแย้งรุนแรงกับประเทศเพื่อนบ้านเช่น อินเดียและปากีสถานต่างก็ไม่มีการเกณฑ์ทหาร รวมทั้งแม้แต่ประเทศจีนซึ่งมีนโยบายยกระดับศักยภาพทางทหารเพื่อขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจเองก็ตาม ใน 11 ประเทศนี้มี 2 ประเทศที่มีความตั้งใจในการยกเลิกการเกณฑ์ทหารในอนาคตอันใกล้ คือ คาซัคสถานและรัสเซีย โดยรัสเซียคือประเทศมหาอำนาจประเทศล่าสุดที่กำลังดำเนินการยกเลิกการเกณฑ์ทหารภายในประเทศตามคำมั่นสัญญาต่อสาธารณะชนของประธานาธิบดีปูติน


ความเป็นประชาธิปไตย

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้าว่า ปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และระเบียบระหว่างประเทศนั้นไม่เพียงพอต่อการอธิบายประเทศที่ยังคงการมีอยู่ของระบบการเกณฑ์ทหารเอาไว้ ปัจจัยสำคัญประการต่อมาที่จะใช้ร่วมอธิบายปรากฏการณ์เหล่านั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ ปัจจัยของระเบียบอำนาจภายในประเทศ โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าความเป็นประชาธิปไตยของสังคมหนึ่งๆมีความสัมพันธ์กับการมีอยู่ของระบบการเกณฑ์ทหารในประเทศนั้นเป็นอย่างมาก

 

ลำดับ

ประเทศ

ประชากร (คน)

1

บราซิล

211,754,000

2

เม็กซิโก

122,273,473

3

อียิปต์

98,002,045

4

โคลอมเบีย

48,218,000

5

ซูดาน

40,235,000

6

อัลจีเรีย

40,100,000

7

โมร็อกโก

33,337,529

8

โมซัมบิค

28,013,000

9

แองโกลา

24,383,301

10

ไนเจอร์

17,138,707

11

กัวเตมาลา

16,176,000

12

มาลี

14,528,662

13

เซเนกัล

14,354,690


เมื่อพิจารณาจากประเทศในทวีปแอฟริกาและอเมริกาใต้ 87 ประเทศ มีประเทศซึ่งยังคงมีระบบการเกณฑ์อยู่ 24 ประเทศ คิดเป็น 20.88 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เมื่อนำปัจจัยของประชากรเข้ามาร่วมพิจารณา จะคงเหลือประเทศที่มีประชากรเกิน 11 ล้านคน ที่ยังมีระบบการเกณฑ์ทหารอยู่ 13 ประเทศ คิดเป็น 11.31 เปอร์เซ็นต์ แบ่งเป็นประเทศในทวีปอเมริกาใต้ 4 ประเทศ และประเทศในทวีปแอฟริกา 9 ประเทศ
 

เมื่อจัดประเภทตามดัชนีความเป็นประชาธิปไตยของสถาบัน Economist Intelligence Unit ของประเทศสหราชอาณาจักร ใน 13 ประเทศที่กล่าวไปข้างต้น มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ 5 ประเทศ ปกครองด้วยระบอบลูกผสม (Hybrid Regime) 2 ประเทศ ปกครองด้วยระบอบอำนาจนิยม 6 ประเทศ โดยไม่มีประเทศใดอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์เลย ทั้งนี้สอดคล้องไปกับปัจจัยทางประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในภาพกว้างของทั้งสองภูมิภาค ซึ่งประเทศในทั้งสองภูมิภาคเกือบทั้งหมดมีความเป็นมาทางการปกครองโดยจอมเผด็จการและระบอบทหาร 

พิจารณาจากแผนภาพทั้งสองชิ้น ทำให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ภูมิภาคอเมริกาใต้มีพัฒนาการของระดับประชาธิปไตยสูงกว่าภูมิภาคแอฟริกาอย่างมาก ซึ่งสอดคล้องไปกับจำนวนประเทศที่มีประชากรเกิน 11 ล้านคน ที่ยังคงมีระบบการเกณฑ์ทหาร ซึ่งประกอบด้วยประเทศจากอเมริกาใต้ 4 ประเทศ และประเทศแอฟริกา 9 ประเทศ

สาเหตุของความแตกต่างนี้มาจากการล่มสลายของระบบเผด็จการในละตินอเมริกาและปรากฏการณ์คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สามในทศวรรษ 1980 ทำให้ประเทศขนาดใหญ่ในละตินอเมริกาซึ่งถูกปกครองโดยเผด็จการทหารอย่างยาวนานเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนผ่านนี้ก็คือ การล่มสลายลงของขบวนการปฏิวัติภายในประเทศต่างๆจากการล่มสลายของความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์ระหว่างโลกคอมมิวนิสต์และโลกเสรี อันทำให้ระบอบเผด็จการทหารฝ่ายขวาหมดความชอบธรรมในการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงเพื่อยึดครองอำนาจต่อไป

เมื่อสถานะของระบอบเผด็จการและกองทัพตกต่ำลงภายหลังจากประเทศเหล่านี้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย ส่งผลให้รัฐบาลพลเรือนสบโอกาสในการปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณด้านความมั่นคง ยกเลิกหรือปฏิรูประบบการเกณฑ์ทหาร

 ทั้งนี้สังคมที่กลไกรัฐถูกปกครองโดยระบอบทหารมาอย่างยาวนาน อำนาจในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงจึงยังไม่ได้ถูกถ่ายโอนไปสู่รัฐบาลพลเรือนอย่างสมบูรณ์ อิทธิพลในการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่ยังคงอยู่กับกลไกด้านความมั่นคงของรัฐ (State Security Apparatus) และยังมีแรงต่อต้านจากกองทัพในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของกองทัพโดยรัฐบาลพลเรือน

 งานศึกษาบางชิ้นระบุถึงความเชื่อมโยงอย่างสูงระหว่างการประเมินภัยความมั่นคง (Threat Perception) ของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงและการมีอยู่ของการเกณฑ์ทหาร ดังนั้นระดับความสำเร็จของการปฏิรูปหรือยกเลิกการเกณฑ์ทหารจึงขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมในแต่ละประเทศในละตินอเมริกา ในหลายประเทศจึงเป็นความพยายามในการปฏิรูประบบมากกว่าความพยายามในการยกเลิก โดยในประเทศส่วนใหญ่การเกณฑ์ทหารถูกระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ ทำให้ในการยกเลิกหรือแก้ไขต้องมีเสียงในสภาเกิน 2 ใน 3 จึงจะสามารถผ่านร่างกฏหมายปฏิรูปหรือยกเลิกได้ ดังนั้นจึงต้องการองค์ประกอบของการมีมติมหาชนที่ชัดเจนของประชาชนและต้องเป้นแนวคิดที่มาจากนโยบายของพรรครัฐบาลที่มีความเข้มแข็ง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net