Skip to main content
sharethis

เปิดมุมมองจากคนอื่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบาร์เซโลน่า ท่ามกลางการเคลื่อนไหวของชาวกาตาลันที่เรียกร้องเอกราชจากสเปน

ภาพการเดินเท้าของผู้ชุมนุม

ปี 62 ที่ผ่านมาหลายคนคงเคยเห็นข่าวการประท้วงของผู้ชุมนุมชาวกาตาลันที่ออกมาเรียกร้องเอกราชจากสเปน ณ ศูนย์กลางของแคว้นอย่างบาร์เซโลน่า และไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องการเมืองในรัฐสภาหรือประเด็นนักโทษการเมืองเท่านั้นที่อยู่ในเขตแดนของการเรียกร้องและความขัดแย้ง แต่ยังพ่วงรวมไปถึงพื้นที่การแข่งขันฟุตบอลนัดสำคัญ ระหว่าง บาร์เซโลน่า(บาร์ซ่า) - เรอัล มาดริด ในวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ทำสกอร์เสมอไป 0-0 โดยที่แข่งขันในศึก เอล กลาซีโก้ ของคู่ปรับตลอดกาลนี้ไม่ได้จัดได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากเกิดการชุมนุมประท้วงของแฟนบอลในบาร์เซโลน่าที่หมายจะหยุดการแข่งขันนัดนี้และอาจจะมีแนวโน้มก่อความรุนแรง โดยกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า Pro-Catalan 

ก่อนหน้านี้สหพันธ์ฟุตบอล กาตาลัน หรือ FCF ได้ออกมาประกาศว่าจะทำการระงับการแข่งขันเกมลูกหนังทุกประเภทในภูมิภาคของตัวเอง เนื่องจากกรณีที่ศาลฎีกาของสเปนสั่งจำคุกแกนนำเรียกร้องเอกราชทั้ง 9 คน โดยให้เหตุผลว่าการระงับแมตช์ทั้งหมดมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบรรดาแกนนำและครอบครัวของพวกเขา ในส่วนของสโมสรบาร์เซโลน่าเองก็ได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการสั่งจำคุกแกนนำครั้งนี้ว่าไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่ถูกต้อง และทั้งสองส่วนควรจะคลี่คลายปัญหาด้วยการเจรจาทางการเมืองเท่านั้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภายหลังการเจรจากับ เอล กลาซีโก้แล้วก็ได้มีการตกลงจัดการแข่งขันฟุตบอลแมตช์สำคัญ ระหว่าง บาร์ซ่า-มาดริด ที่กัมนอร์ (Camp Nou) สนามเหย้าของบาร์เซโลน่า

แม้ว่าภายนอกสนามการแข่งขันจะมีเหตุการณ์ที่ส่อไปในทางความรุนแรงทั้งการเผา การปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและการพยายามบุกเข้าไปในสนามฟุตบอลเพื่อหยุดการแข่งขันจนมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมหลังจบเกมส์การแข่งขันไปกว่า 20 คน แต่ภายในสนามฟุตบอล แฟนบอลต่างส่งข้อความเชิงสัญลักษณ์ในระหว่างที่เกมส์ยังดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นป้ายแบนเนอร์ “SPAIN SIT ANA TALK” “FREEDOM for POLITICAL PRISONER” และ “INDEPENDENCE” จนการแข่งขันจบลงอย่างสงบ

จากภาพข่าวที่เผยแพร่ออกไปทางสื่อต่างๆ ทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้น จำนวนผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมในการประท้วงแต่ละครั้งของบาร์เซโลน่า การเผาทำลายทรัพย์สินต่างๆ ที่อาจจะขัดกันกับการเดินเท้าอย่างสงบเข้ามาร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองของประชาชนชาวกาตาลัน เราจึงต้องเข้าไปหาคำตอบจากคนอื่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในบาร์เซโลน่า นครที่ไม่เคยหลับไหลและมีชีวิตชีวาอยู่ตลอดเวลา

Carlos Alberto Garzon (คาลอส) และ Valeria Dimate Campos (วาเลเรีย) เป็นคู่รักชาวโคลอมเบีย

Carlos Alberto Garzon (คาลอส) และ Valeria Dimate Campos (วาเลเรีย) เป็นคู่รักชาวโคลอมเบียที่มาพบรักกันในบาร์เซโลน่า เนื่องจากทั้งคู่เข้ามาศึกษาต่อปริญญาโทและแสวงหาโอกาสที่นี่ในฐานะครูสอนภาษาสเปน

คาลอส ย้ายมาอยู่ที่บาร์เซโลน่าสองปีก่อน(2560) ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับที่มีการทำประชามติขอแยกเป็นอิสระจากสเปนของชาวกาตาลัน ณ ขณะนั้นเขาเองมองสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพของปรากฏการณีทางการเมืองหนึ่งเท่านั้น และ ไม่คิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดการจับกุมแกนนำจนมาถึงขั้นตัดสินจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี

“โดยส่วนตัวแล้วฉันไม่เชื่อในอุดมการณ์อะไร คำว่า “อุดมการณ์” มันใช้แค่บิ้วคนขึ้นมาเฉยๆ ในโลกนี้มันมีคนคอยควบคุมอยู่ไม่กี่คน สำหรับอุดมการณ์ของคนมันใช้ได้กับผู้คนนั่นแหละ แต่กับคนที่คุมบังเหียนของโลกนี้อยู่ มันเป็นแค่จำนวนเท่านั้น” เขาเกริ่นนำหลังจากเราถามถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างกาตาลันและสเปนในระหว่างที่พนักงานเสริฟยื่นเมนูอาหารกาตาลันให้

“ฉันสนับสนุนพวกเขานะ แต่ อย่างไรก็ตามฉันรู้สึกว่ามันไร้เดียงสาเกินไปที่พวกเขาจะเรียกร้องเอกราชด้วยการประกาศความเป็นชาติ สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการสนับสนุนจากคนอื่นๆด้วย ไม่ใช่แค่การจำกัดพื้นที่การต่อสู้อยู่แค่ชาติของตัวเอง แบบนี้มันหาแนวร่วมได้ยาก ฉันพยายามบอกเรื่องนี้กับเพื่อนๆชาวกาตาลันที่ฉันรู้จัก แต่พวกเขาก็มีเหตุผลมากมายที่จะพิทักษ์ปกป้องความเป็นชาติ ความจริงแล้วสิ่งที่เราควรใช้เป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ในการต่อสู้ควรจะเป็นเรื่องมนุษยชาติ มากกว่าแค่เรื่องเชื้อชาติ ที่สำคัญคือบางคนมักคิดว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่นเลย พวกเขามีรายได้ด้วยตัวเอง พวกเขามีทรัพยากรเป็นของตัวเอง เลยไม่ต้องง้อคนอื่น ซึ่งมันเป็นความจริงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้น” คาลอสแสดงความเห็น

“แต่มันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ฉันว่าพวกเขามีเหตุผลมากพอที่จะเล่าเรื่องชาติของตัวเองเพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้นที่กำหนดให้พวกเขาออกมาเรียกร้องเอกราช แต่มันเกิดจากการกดทับทางเชื้อชาติด้วย ถ้าไม่พูดเรื่องชาติ เราจะให้พวกเขาพูดเรื่องอะไร ในเมื่อคนกาตาลันถูกกดทับมาตลอด” วาเลเรียค้านขึ้นมาทันทีที่คาลอสพูดจบ นับเป็นบทสนทนาที่เริ่มมีความน่าสนใจขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ วาเลเรียย้ายมาอยู่ที่บาร์เซโลน่าหลังจากการทำประชามติแล้วและสถานการณ์ในตอนนั้นครุกรุ่นจากการถูกประกาศว่าการทำประชามติครั้งนั้นผิดกฎหมาย

“แต่ฉันเข้าใจได้ ฉันเข้าใจพวกเขา แม้ว่าจะเคยเจอบางคนที่ราดิเคิลมากๆ พวกเขาไม่ชอบต่างชาติมากนัก แต่ฉันเข้าใจความแตกต่างและสิ้งที่พวกเขาทำอยู่  มันเลยทำให้ฉันไม่โกรธพวกเขา ฉันรับรู้ได้ถึงการถูกกดทับของพวกเขา และแน่นอนว่าคนกาตาลันส่วนใหญ่ไม่ได้ราดิเคิล พวกเขาสุภาพมากและใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหวมาตลอด” วาเลเรียเสริมขึ้นและคาลอสเองก็เห็นพ้องในเรื่องนี้ “สองปีที่แล้วไม่เคยมีอะไรแบบนี้เกิดขึ้น พวกเขาสงบและสันติเสมอมา แต่ปีนี้เหมือนทุกอย่างเริ่มถูกปลุกเร้าให้ลุกเป็นไฟได้ง่ายดายกว่าเดิมเพราะความโกรธจากคำตัดสินของศาล ฉันไม่แน่ใจว่าความโกรธนี้จะนำไปสู่การสร้างขบวนการเพื่อเอกราชได้จริงๆไหม”

และเมื่อเราค่อยๆถามถึงการรับรู้ข้อมูลต่างๆของการเคลื่อนไหวของชบวนการเรียกร้องเอกราชในสายตาของผู้ที่ถูกกันเป็นคนอื่นก็ทำให้เรารู้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของกาตาลันมีความซับซ้อนมากกว่าที่เผยแพร่ออกมาทางสื่อที่พวกเรารับรู้กัน และการเคลื่อนไหวของขบวนการเรียกร้องเอกราชของกาตาลันก็ไม่ใช่ขบวนการที่จะติดตามได้ง่ายดายนัก ครั้งหนึ่งที่มีการนัดชุมนุมกันกลางเมืองเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง เราเช็คข่าวสารเพื่อจะไปให้ถึงจุดนัดรวมพล เราเดินตามครอบครัวหนึ่งสี่คนพ่อแม่ลูก หนึ่งในลูกชายของพวกเขาผูกธงชาติกาตาลันไว้ด้านหลัง แม่สะพายกระเป๋าเป้ ส่วนพ่อแบกลูกชายอีกคนหนึ่งไว้บนหลัง เราไม่รู้ว่าเราต้องเดินทางไปที่ไหนกันแน่เพราะการสื่อสารหลายอย่างไม่ถูกส่งต่อให้กับคนข้างนอก แม้ว่าจะตามหาในทวิตเตอร์หรือจะมีการแจ้งจุดรมพลให้ผู้คนหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรก็ตาม แต่พื้นที่นั้นอาจจะไม่ใช่พื้นที่จริงสำหรับการนัดชุมนุมเลยก็ได้ เราอาจจะรับรู้ได้เพียงว่ามันกำลังมีการชุมนุมกันสักที่หนึ่ในแคว้น ในศูนย์กลางเมือง แต่เราจะไม่มีทางรู้ได้อย่างชัดเจนเลยว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหน สำนักข่าวต่างๆต้องใช้เฮลิคอปเตอร์เพื่อติดตามผู้คนเพราะข่าวที่ประกาศออกมาอาจจะไม่จริงเลยก็ได้ เท่ากับว่าเรารู้ว่ามันเกิดขึ้นแต่ก็อาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยก็ได้ ผู้คนอื่นๆยังใช้ชีวิตกันอย่างปกติสุข บาร์ข้างทางยังไม่ปิดบริการและมีคนที่ต้องการพักผ่อนหย่อนใจนั่งอยู่เต็มร้าน ฉันพยายามฟังเสียงเฮลิคอปเตอร์แล้วเดินตามเสียงนั้นไปจนได้เจอการชุมนุมที่เกือบจะจบลงไปแล้ว เหลือแต่เพียงเศษซากร่องรอยไหม้บนถนนและตำรวจที่จอดรถขอตรวจผู้คนที่ผ่านไปมารอบๆ

“เราไม่รู้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังขบวนการนี้เป็นใครจริงๆ และแน่นอนว่าเราจะไม่มีทางรู้ได้แน่ๆ พวกเขาใช้โซเชียลมีเดี่ยในการสื่อสารและมีการทำงานที่เป็นระบบ แต่ที่ฉันชอบคือการที่พวกเขาพยายามรักษาภาษาของตัวเองเอาไว้ ภาษากาตาลัน แม้ว่าจะมีแค่พวกเขาที่พูดภาษานี้ก็ตาม อย่างฉัน ในโคลอมเบีย ฉันถือว่าภาษาสเปนเป็นภาษาของฉันแม้ว่าในเมืองของฉันจะมีภาษาเป็นของตัวเอง แต่ฉันไม่ได้สนใจว่ามันเป็นภาษาที่มาจากการเป็นเมืองขึ้นของสเปนรึป่าว เพราะสุดท้ายแล้ว มันคือภาษาที่แม่ของฉันคุยกับฉัน ดังนั้นมันจึงเป็นภาษาของฉัน แต่คนที่นี่ภาษาเป็นมากกว่านั้น มันคือตัวตนของเขามันคือการต่อสู้ของพวกเขา ฉันศรัทธาเรื่องนี้มากๆ” วาเลเรียกล่าวด้วยความเปี่ยมปิติสายตาเธอทอดไปยังชายคนรักเพื่อสื่อสารถึงความปิตินั้นจนเรารับรู้ได้ถึงไอความรักที่วนอยู่รอบๆ

คาลอสบอกกับเราว่า ตอนนี้สถานการณ์การต่อสู้เพื่อเอกราชกำลังเปลี่ยนไป เพราะเริ่มมีการใช้ความรุนแรงมากกว่าเมื่อก่อนเพราะพวกเยาวชนไม่อยากใช้สันติวิธีอีกแล้ว

“เพราะพวกเขาไม่อาจจะรอได้ พวกเด็กๆวัยรุ่นรอไม่ได้อีกแล้ว พวกเขาต้องการสิ่งที่มากกว่านี้ พวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ออกมาเรียกร้องอย่างสันติอีกแล้ว เพราะมันไม่เคยได้รับการตอบรับ ผลที่ออกมาคือแกนนำโดนตัดสินจำคุก 9  คน นี่มันมากเกินกว่าคนรุ่นใหม่จะรับได้ พวกเขาเริ่มก่อตั้งขบวนการของตัวเอง ตัดสินใจกันเองและวางแผนกันเอง พวกเขาจึงเริ่มก่อความรุนแรงขึ้น เพื่อระบายความโกรธตามวัยของพวกเขา เด็กรุ่นใหม่แทบจะรอไม่ได้แล้วสำหรับเอกราช พวกเขาต้องการชัยชนะโดยเร็ว คุณจะเห็นว่าเด็กบางคนปฏิเสธภาษาสเปน และอังกฤษไปเลย เพราะพวกเขายึดมั่นในการต่อสู้ขนาดไหน” คาลอสอธิบายต่อ

“ในทุกประเทศที่ถูกยึดเป็นเมืองขึ้นมักจะเกิดเรื่องประมาณนี้ แม้แต่ในลาติอเมริกาเองก็เช่นกัน ที่โคลอเบียบ้านของฉันเราดูเหมือนจะมีความสุขกับทุกอย่าง เราไม่ได้มีสงครามแบบประเทศลาตินอื่นๆ แต่ เชื่อไหมว่าแท้จริงแล้วเราก็ต่อสู้อยู่ตลอดเวลา คล้ายๆกับคนที่นี่ และเมื่อมีโอกาส มีขังหวะให้แสดงออกและเรียกร้องพวกเราก็จะออกมาแสดงออกโดยสันติเช่นกัน” วาเลเรียเสริมพร้อมกับเปรียบเทียบก่อนจะส่งท้ายว่า

“และความจริงแกนนำที่โดนจับกุมอยู่ขณะนี้อาจจะไม่ใช่แกนนำจริงๆ พวกเขาอาจจะแค่เล่นการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ฉันคิดว่าประชาชนหรือขบวนการที่นี่แค่ต้องการใช้เรื่องนักโทษการเมือง เรื่อง นักการเมืองโดนจับ เป็นโอกาสในการพูดถึงสิ่งที่พวกเขาต้องการให้มันดังขึ้น แม้ว่าคนกาตาลันอาจจะไม่ได้ชอบนักการเมืองพวกนี้ แต่พวกเขาก็ต้องใช้จังหวะนี้ในการขับเคลื่อน มันไม่เหมือนในประเทศไทยหรือฮองกงที่คนที่ถูกจับเป็นคนทั่วไป เป็นตาสีตาสาด้วย”

ภาพนักโทษการเมืองที่ติดอยู่ในเมือง ตามร้านค้าที่คนเข้าถึงได้

Usman Ali (อุสมาน) ชายชาวปากีสถานที่เรานัดพบเพื่อแลกเปลี่ยนและพูดคุยนั้นเป็นคนอื่นอีกคนที่อยู่ที่บาร์เซโลน่า เขาอยู่ที่นี่ในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการร้านค้าขนาดเล็กของครอบครัวมา 15 ปี

“ครั้งแรกที่มาที่นี่เพราะลุงของฉันอยากให้มาช่วยงานท่าน ช่วงที่ท่านขาดคนงานและกำลังเริ่มต้นธุรกิจ พอฉันมาถึงที่นี่ ทำงาน ใช้ชีวิต ฉันก็รักที่นี่ทันที เหมือนกับคุณนั่นแหละ มันน่าหลงไหลแม้จะไม่ได้สงบสุขแต่มันสนุกสนาน หลังจากนั้นฉันก็ตัดสินใจอยู่ยาวที่นี่ เราขยายธุรกิจร้านค้าปลีกออกไปเป็น 7 สาขาในบาร์เซโลน่าตอนนี้ ฉันต้องช่วยลุงดูแลแต่ละสาขาทุกวัน มันเป้นงานที่ออกจะน่าเบื่อแต่ก็มีรายได้ที่ดี และฉันภูมิใจมากเพราะในฐานะคนเอเชียฉันทำได้ขนาดนี้” อุสมาน กล่าว

ในฐานะผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจที่นี่ เขาให้ความเห็นว่าไม่ว่าอย่างไรการประท้วงก็ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของบาร์เซโลน่ามากนัก “ผู้คนในบาร์เซโลน่าเองก็อยากให้มันมีการท่องเที่ยวและใช้เงิน เพราะนี่คือสิ่งสำคัญต่อชีวิตของพวกเขา ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวก็ไม่มีรายได้ ไม่มีรายได้ก็หมดความชอบธรรมในการต่อสู้ และคนกาตาลันเองก็ไม่ได้รุนแรงเท่าคนในฝรั่งเศส คุณจะเห็นเลยว่าวันหยุดพวกเขาจะกลับไปพักผ่อนอยู่ที่บ้านแล้วออกมาประท้วงในวันที่นัดเท่านั้น ม๊อบปักหลักยาวนานไม่ค่อยเกิดขึ้นที่นี่” อุสมานเล่า

“มันก็มีบ้างที่บางคนจะเกลียดต่างชาติ แต่ปัญหาคือพวกเขาเองก็ไม่ยอมพูดภาษาอื่น คำถามก็คือถ้าวันหนึ่งพวกเขาได้รับเอกราชขึ้นมาจริงๆ จะเอารายได้จากไหนถ้าไล่คนต่างชาติออกไปหมด เพราะท้องถิ่นเองก็ไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษ การจ้างงานจะเกิดขึ้นกับคนท้องถิ่นได้อย่างไรกันถ้าพวกเขาไม่ปรับตัว อีกอย่างฉันเองก็ไม่คิดว่าการได้รับเอกราชจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ด้วย อย่างน้อยก็อีก 5 ปี กว่าที่ผู้คนจะออกมาเรียกร้องร่วมกัน และหาแนวร่วมได้จากที่อื่น เพราะพวกเขาจะทำมันอย่างโดดเดี่ยวไม่ได้เด็ดขาด อย่างน้อยพวกเขาต้องสื่อสารให้คนอื่นรู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร ไม่ใช่แค่คนข้างนอกนะ พวกเขาควรจะต้องมีนโยบายที่ชัดเจนว่าหากได้รับเอกราชจริงๆแล้ว ใครจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง คนกาตาลันได้อะไร คนต่างชาติที่อยู่ที่นี่จะเป็นอย่างไร เพราะมันไม่ใช่แค่เอกราชแต่มันเป้นเรื่องของผู้คนด้วย ส่วนฉัน ฉันชอบที่นี่ชอบอิสระที่นี่และชอบที่มีผู้คนมากมายหลากหลายที่นี่ ถ้าที่นี่ถูกจำกัดไว้ให้แค่คนกาตาลันฉันคงจะเสียงใจน่าดูเลย แต่คงได้แค่เสียใจนั่นแหละเพราะอย่างไรฉันก็เป็นคนอื่นสำหรับพวกเขาอยู่ดี” อุสมานทิ้งท้ายก่อนเดินไปทำงาน

 

แผนที่ประเทศสเปนแสดงที่ตั้งแคว้นกาตาลุญญา (ที่มาภาพ วิกิพีเดีย)

สำหรับประเทศสเปนแบ่งการปกครองออกเป็น 17 แคว้น และ 2 นครปกครองตนเอง และมีจังหวัดแยกไปอีก 50 จังหวัด แคว้นกาตาลันเป็นแคว้นที่ใหญ่ที่สุด ดินแดนที่เคยเป็นกาตาลันในอดีตนั้นเคยถูกปกครองโดยชนหลายกลุ่มทั้งโรมัน มัวร์ แฟรงค์ และ วิสิโกธ จนเมื่อฝรั่งเศสสละอำนาจในดินแดนที่เรียกว่า Country of Barcelona ให้แก่อาณาจักรอารากอนซึ่งปกครองบริเวณนี้อย่างหลวมๆ แม้ใน พ.ศ.2012 ขณะที่อารากอร์นได้รวมตัวกันกับอาณาจักรคาสติญ Castile / Castillano เป็นคำที่ชาวกานาบันใช้เรียกคนสเปนหรือภาษาสเปน ซึ่งหมายถึงคนเมืองหลวง ภาษาของพวกเมืองหลวง เพื่อร่วมปกครองจักรวรรดิ์สเปน กาตาลุญญาก็ยังได้รับสถานะเดิม คือมีความเป็นเอกเทศของตนเอง แต่หลังจากที่อารากอนรวมทั้งกาตาลันพ่ายแพ้ในสงครามสืบราชบัลลังก์สเปนให้กับ ราชวงศ์บูร์บง ของฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2237 ทำให้สูญเสียสถานะการปกครองอย่างเป็นเอกเทศของตนเอง การเรียกร้องเอกราชจากสเปนมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ใน พ.ศ.2465 แต่ไม่ได้รับการยินยอมจากสเปน จนในปี พ.ศ.2469 สเปนจึงยินยอมให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในแคว้นกาตาลุญญา กลุ่มพรรคนิยมเอกราชได้เสียงข้างมากและประกาศเอกราชอีกครั้ง แต่หลังจากการเจรจารอมชอมกับสเปนกาตาลุญญาได้สถานะปกครองตนเองอย่างสมบูรณ์ในปี 2475

อย่างไรก็ตามเมื่อสงครามกลางเมืองสเปนที่เริ่มขึ้นใน พ.ศ.2481 นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสถานะของแคว้นกาตาลุญญาอีกครั้ง

เมื่อกาตาลุญญาเข้าร่วมรบในฝ่ายนิยมสาธารณรัฐพ่ายแพ้ต่อฝ่ายชาตินิยมสเปนซึ่งนำโดยนายพลเผด็จการ ฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) ทำให้กาตาลุญญาสูญเสียสถานะไป ขณะที่ผู้ต่อต้านกลุ่มหนึ่งกลายเป็นฝ่ายสังคมนิยม ส่วนอีกกลุ่มก็ลี้ภัยอยู่ในยุโรป

หลังจากการตายของนายพลฟรังโกใน พ.ศ. 2518 สเปนเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่ชาวกาตาลันลงมติยอมรับถึงกว่าร้อยละ 90 แคว้นกาตาลุญญาได้สถานะแคว้นที่ปกครองอย่างเอกเทศอีกครั้งตั้งแต่ปี 2522 และฝ่ายชาตินิยมกาตาลันหัวปานกลางได้รับการเลือกตั้งให้ปกครองแคว้นต่อไป บรรยากาศการค้าการลงทุนที่ดีขึ้นตามมาทำให้การเจริญเติบโตและเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามฝ่ายชาตินิยมยังมีการเรียกร้องอัตลักษณ์ของตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรมรวมถึงการเป็นชาติแต่หลังจากนั้นไม่นานพรรคชาตินิยมหัวปานกลางก็พ่ายแพ้การเลือกตั้งในปี 2546 ให้แก่แนวร่วมพักเรียกร้องเอกราชให้ฝ่ายเรียกร้องเอกราชยื่นคำร้องขอต่อศาลสูงขอเพิ่มการปกครองตนเองให้มากยิ่งขึ้นโดยให้เรียกแคว้นกาตาลุญญาว่ามีสถานะเป็นชาติ (Nation) ไม่ใช่แค่แคว้นอิสระของสเปนเท่านั้น และให้แคว้นบริหารการเงินและการศึกษาด้วยตัวเอง ศาลสเปนมีคำพิพากษาในปี พ.ศ.2554 ให้เป็นไปตามคำร้องขอนั้น

แต่การรณรงค์เพื่อสถานะการเป็นเอกราชที่เพิ่มขึ้นปลุกกระแสความเป็นชาติถูกจุดติดในหมู่ประชากรชาวกาตาลัน มีการทำประชามติเพื่อเรียกร้องเอกราชใน พ.ศ.2553 และ 2557 ผลคือมีผู้ลงมติถึงกว่าร้อยละ 80 ต้องการเอกราช แต่อย่างไรก็ตามมีผู้มาลงคะแนนเสียงเพียงประมาณร้อยละ 40 เท่านั้นซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าผู้ไม่มาลงคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยต้องการให้กาตาลุญญาอยู่ร่วมกับสเปนต่อไป

ผลจากการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ.2558 สภาแคว้นกาตาลันที่เต็มไปด้วยแนวร่วมเรียกร้องเอกราชคัดเลือก Charles Puigdemont จากพรรค Catalan European Democratic party ให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของแคว้นเมื่อเดือนมกราคม 2559 และได้แสดงท่าทีต่อต้านรัฐบาลสเปนอย่างต่อเนื่อง เช่นไม่ยอมสาบานตนเข้ารับตำแหน่งจากกษัตริย์สเปนต่อมาในเดือนมิถุนายน 2560 เขาได้ประกาศจัดการลงประชามติอีกครั้งเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช แม้ว่ารัฐบาลกลางของสเปนจะประกาศยับยั้งการลงประชามติในครั้งนี้แต่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 ก็มีชาวกาตาลันร้อยละ 43 ออกไปใช้เสียงและมีถึงร้อยละ 92 หรือประมาณ 2 ล้านคนจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งหมด 5 ล้าน 3 แสนคน ต้องการเอกราช มีผู้คัดค้านเพียงประมาณ หนึ่งแสนคนเท่านั้น ทำให้ในช่วงเดือนตุลาคมนั้นทั้งแคว้นกาตาลุญญามีผู้เดินขบวนเรียกร้องเอกราชนับล้านคน

ในที่สุดแคว้นกาตาลุญญาก็ได้ประกาศเอกราชแยกตัวออกจากสเปนจนได้เมื่อสภาแคว้นลงมติด้วยคะแนนเสียง 70-80 เสียงและมีผู้วอล์คเอาท์งดออกเสียง 53 เสียงเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560

ทันทีที่ฝ่ายเรียกร้องเอกราชประกาศความเป็นเอกราช นายMariano Rajoy นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลกลางสเปนได้ประกาศใช้มาตรา 155 ตามรัฐธรรมนูญโดยให้ยุบรัฐบาลแคว้นกาตาลุญญาทันทีและให้รัฐบาลกลางปกครองแคว้นกาตาลุญญาโดยตรงและสั่งให้มีการจับกุมและสอบสวนผู้บริหารแคว้นทั้ง 28 คนในฐานะกบฏ แต่ประธานาธิบดีของแคว้นกาตาลันและพวกอีก 5 คนได้หลบหนีไปลี้ภัยในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม นาย Oriol Junquera รองประธานาธิบดีกับพวกอีก 2 คนถูกจับกุมคุมขังในกรุงมาดริดจนถึงบัดนี้ร่วมกับปัญญาชนหลายคนที่ออกมาสนับสนุนการประกาศเอกราช และกลายเป็นชนวนให้เกิดการชุมนุมประท้วงและเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่นักโทษการเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ภาพการชุมนุมของผู้ที่ไม่สนับสนุนการแยกดินแดน

ป้ายเรียกร้องสันติภาพที่ฝ่ายต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนเอามาติดไว้

แต่แน่นอนว่าที่แคว้นกาตาลันไม่ได้มีแค่ผู้คนกาตาลันเท่านั้น คนสเปนที่มาตั้งถิ่นฐานหรือคนกาตาลันที่ไม่เห็นด้วยกับการเรียกร้องเอกราชเองก็มีพื้นที่และเวทีแสดงออกของตัวเองเช่นกัน ใน พ.ศ.2560 ในขณะที่มีผู้ชุมนุมออกไปเรียกร้องเอกราชให้แคว้นกาตาลุญญา ในกรุงมาดริดเมืองหลวงของสเปนก็มีชาวสเปนหรือที่ถูกชาวกาตาลันเรียกว่า ชาวคาซิญาโน่ร่วมกับชาวกาตาลันบางส่วนร่วมหลายแสนคนเดินขบวนเรียกร้องให้กาตาลุญญาอยู่ร่วมกันกับสเปนต่อไป และในปีที่ผ่านมาก็เช่นกัน มีชาวสเปนและชาวกาตาลันบางส่วนที่ออกมาตั้งซุ้มหรือริ้วขบวนในการต่อต้านการแยกตัวเป็นเอกราชของกาตาลุญญาให้เราเห็นอยู่ประปรายและถ้าเรามีโอกาสจะพาคุณไปดูแง่มุมของพวกเขา แต่ครั้งนี้เราขอย้อนกลับไปที่ร้านอาหารขณะคาลอสกำลังบอกลา

“พวกประเทศเจ้าอาณานิคมมักจะวางระเบิดเวลาไว้ในประเทศอาณานิคมด้วยการแบ่งเขตแดนเสมอนั่นแหละ ที่บาร์เซโลน่าก็เป็นระเบิดอีกลูกเท่านั้นเอง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net