สุรพศ ทวีศักดิ์: เมื่อปัญญาชนพุทธไม่สามารถเข้าใจโลกจากมุมมองอื่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

คราวที่แล้วผมเขียนถึงเรื่อง “ความย้อนแย้งในวิถีคิดของปัญญาชนพุทธไทย” ซึ่งผมคิดว่ามาจากความคิดพื้นฐานแบบที่เรียกกันว่า “พุทธพ่อทุกสิ่ง” หรือพุทธศาสนาตอบปัญหาทุกเรื่องได้หมด ดังความเห็นของพระชื่อดังที่ว่า “ถ้าเมืองไทยไร้พระพุทธศาสนา ทุกอย่างล่มสลาย ไม่ว่าภาคการเมือง สังคม เศรษฐกิจ...”(ดู https://www.matichon.co.th/education/news_1859333)

น่าศึกษามากเลยว่า ความคิดที่ว่าพุทธศาสนาเป็นหลักประกันความมั่นคงของทุกสิ่ง แม้กระทั่งภาคการเมือง สังคม เศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร เอาเข้าจริงแล้วแม้แต่ในยุค “รัฐพุทธศาสนา” ตั้งแต่สุโขทัยจนรัตนโกสินทร์ก่อนปฏิวัติสยาม 2475 ก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่า ชนชั้นนำทั้งฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ยืนยันอย่างสุดโต่งว่าพุทธศาสนาเป็นหลักความมั่นคงของทุกสิ่ง

เช่น งานเขียนของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก็ยืนยันชัดเจนว่า ระบบอำนาจเด็ดขาด (despotism) ของกษัตริย์นั้นอิงคัมภีร์ธรรมศาสตร์ตามคติพราหมณ์ ขณะที่คุณธรรมกษัตริย์อิงคติพุทธ แปลว่า สถานะทางชนชั้น, อำนาจ และความอชบธรรมของผู้ปกครองคือส่วนผสมระหว่างพราหมณ์กับพุทธ ขณะเดียวกันสถานะและบทบาทของพระสงฆ์ก็มีส่วนผสมระหว่างพุทธกับพราหมณ์ด้วยเช่นกัน คือสถานะของพระสงฆ์อ้างอิงความชอบธรรมจากการยึดถือปฏิบัติตามธรรมวินัยพุทธศาสนา แต่ขณะเดียวกันพระสงฆ์ก็ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ที่เลียนแบบพราหมณ์

ดังนั้น จึงไม่มีอะไรที่เป็น “พุทธแท้” หรือ “พุทธเพียวๆ” อยู่จริง แม้แต่ในสถานะและบทบาทของพระสงฆ์เอง และจึงเหมารวมไม่ได้ว่าพุทธศาสนาหนึ่งเดียวเท่านั้นเป็นหลักประกันความมั่นคงของทุกสิ่ง

เมื่อพิจารณาในรายละเอียดก็จะเห็นชัดเจนยิ่งขึ้นอีกว่า กษัตริย์ใช้อำนาจเด็ดขาดปกครองทั้งอาณาจักรและพุทธจักร กลายเป็นว่าความมั่นคงของพุทธศาสนาขึ้นอยู่กับผู้ปกครองหรือรัฐ ในทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจยุคสังคมจารีตก็คงไม่ได้ขึ้นกับหลักคความเชื่อพุทธศาสนาเสมอไป เช่น ในทางเศรษฐกิจ กษัตริย์ผูกขาดทางการค้า ในฐานะ “เจ้าแผ่นดิน” ที่เป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่างในแผ่นดิน (ในความเป็นจริงก็คงเป็นเจ้าของได้เท่าที่ใช้กลไกอำนาจควบคุมได้) ชาวบ้านทั่วไปก็นำของป่า สัตว์ป่า และอื่นๆ มาขายให้คลังหลวง และคลังหลวงก็ทำการค้ากับชาวต่างชาติ เรื่องเศรษฐกิจโบราณเช่นนี้ก็ยังไม่เกี่ยวอะไรโดยตรงกับพุทธศาสนาเลย จึงแปลกประหลาดมาก ที่พระมีชื่อเสียงในศวรรษที่ 21 กล้าพูดว่า หากไร้พุทธศาสนาแล้วเศรษฐกิจและทุกอย่างจะล่มสลาย

อันที่จริง แม้แต่ที่พูดตามๆ กันว่า “พุทธศาสนาคือรากฐานของวัฒนธรรมไทย” ก็เป็น “มายา” อยู่มาก เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่า แม้แต่สถานะและอำนาจของผู้ปกครอง กับสถานะและบทบาทของพระสงฆ์เองก็มีส่วนผสมของพราหมณ์กับพุทธอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น รากฐานของวัฒนธรรมไทยก็น่าจะมีหลากหลาย คือมีทั้งพุทธ พราหมณ์ ผี คริสต์ อิสลาม และความคิดความเชื่อนอกศาสนาในแบบอื่นๆ ที่มีอยู่เดิม และมาจากสังคมอื่นๆ

การยึดทัศนะแบบพุทธเป็นมาตรฐานตัดสินทุกสิ่ง สะท้อนปัญหาว่าปัญญาชนพุทธไม่สามารถเข้าใจโลกจากมุมมองอื่นหรือไม่? นี่เป็นคำถามสำคัญ

เช่น ความคิดเห็น งานวิชาการ งานวิจัยของปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาส ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ระบบสมณศักดิ์ไม่ดีไม่ชั่วในตัวมันเอง เหมือนยศทางโลก ถ้าคนใช้ในทางที่ผิดมันก็ไม่ดี ถ้าใช้ในทางที่ถูกมันก็ดี พระที่ได้สมณศักดิ์ถ้าไม่ยึดติด ก็ไม่เป็นปัญหาอะไร” นี่คือตัวอย่างที่ใช้ทัศนะแบบพุทธเป็นมาตรฐานตัดสินเพียงด้านเดียว

แต่ถ้ามองจากหลักการเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย ระบบสมณศักดิ์ย่อมเป็นปัญหาสำคัญระดับพื้นฐานเลย เพราะทำให้ไม่สามารถแยกเรื่อง “ส่วนตัว” กับ “สาธารณะ” เกี่ยวกับเรื่องทางศาสนาได้ เนื่องจากสมณศักดิ์แต่งตั้งโดยรัฐ ต้องใช้กฎหมายซึ่งเป็นอำนาจสาธารณะ และยังเกี่ยวข้องกับภาษี หน่วยงานราชการและทรัพยากรสาธารณะอื่นๆ ที่ต้องนำมาใช้เพื่อจรรโลงระบบดังกล่าว

อีกอย่าง สมณศักดิ์ก็เปรียบเทียบกับยศทางโลกไม่ได้ เพราะยศทางโลกเป็นเรื่องสาธารณะที่อยู่บนหลักการโลกวิสัย ไม่ผูกกับความเชื่อเฉพาะทางศาสนาใดๆ บทบาทหน้าที่ของคนที่มียศทางโลกก็เป็นบทบาทหน้าที่ตอบสนองในเรื่องสาธารณะแก่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนา แต่สมณศักดิ์ (หรือยศตำแหน่งทางศาสนาใดๆ ที่รัฐแต่งตั้ง) ผูกกับความเชื่อเฉพาะของศาสนาหนึ่งๆ เกี่ยวของกับอำนาจและผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่มศาสนาหนึ่งๆ อันเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคลหรือกลุ่มศาสนานั้นๆ

ดังนั้น เมื่อมองจากหลักการเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย ยศศักดิ์ทางพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ ที่เป็นการใช้อำนาจสาธารณะและทรัพยากรสาธารณะตอบสนองอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มศาสนาหนึ่งๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม หากจะมีการตั้งตำแหน่งหรืออวยยศกันในแบบใดๆ ก็ควรเป็นเรื่องของชุมชนผู้ศรัทธาในศาสนานั้นๆ กระทำกันเองในรูปแบบเอกชน ไม่ใช่เรื่องของรัฐ

น่าสังเกตว่า ความพยายามเน้นความสำคัญของพุทธศาสนาต่อทุกเรื่อง ทั้งเรื่องการเมือง สังคม เศรษฐกิจ โดยปัญญาชนพุทธทั้งพระและฆราวาส นอกจากจะสะท้อนให้เห็นความย้อนแย้งในวิถีคิดและความไม่สามารถเข้าใจโลกจากมุมมองอื่น ดังที่ยกตัวอย่าง อีกแง่หนึ่งอาจจะมาจากสาเหตุดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์เคยวิเคราะห์ว่า เป็นเพราะชาวพุทธระดับที่มีบทบาททางสังคมสูญเสียความมั่นใจในสถานะการเป็นผู้นำทางปัญญาและอื่นๆ จึงแสดงออกโดยการเน้น “ภัยพุทธศาสนา” จากศาสนาอื่นๆ บ้าง และเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐออกกฎหมายให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพุทธศาสนามากขึ้นบ้าง

หรือลึกๆ แล้ว สาเหตุสำคัญที่สุดอาจมาจากพุทธศาสนาไม่อาจเป็นพลังทางปัญญาของสังคมได้อีกแล้ว กว่าทศวรรษมานี้ความคิดทางการเมืองแบบพุทธไทยได้ถูกนำมาใช้สนับสนุนเผด็จการอำนาจนิยมจนเลอะเทอะ คนที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตยล้วนเอือมระอา ขณะเดียวกันเมื่อปัจเจกบุคคลมีทุกข์ทางใจ หันหน้าเข้าวัดก็มีแต่คำตอบเชิงพิธีกรรม แม้แต่การปฏิบัติภาวนาก็ทำกันในเชิงพิธีกรรมมากกว่าที่จะเป็นมืออาชีพ

สังเกตง่ายๆ เวลาเราอ่าน “ธรรมะแนวไลฟ์โคช” ของพระเซเลบที่เห็นกันดาษดื่น จะต่างอย่างสิ้นเชิงกับการอ่านพุทธธรรมจาก “การย่อย” ของติช นัท ฮันห์, ทะไล ลามะ หรือพระและฆราวาสอื่นๆ ในพุทธศาสนานิกายเซน, วัชรยาน ที่เป็นการย่อยหรือกลั่นพุทธธรรมออกมาจากประสบการณ์ของการใช้ชีวิตฝึกฝนตนเองทั้งในแง่การศึกษาพุทธธรรมแบบวิชาการ, การภาวนารู้ประสบการณ์ด้านในหรือการจัดการความทุกข์เฉพาะตัว, การมีปฏิสัมพันธ์และประยุกต์พุทธธรรมกับศาสตร์สมัยใหม่อื่นๆ ตลอดทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมและการเมืองอย่างเคารพคุณค่าสมัยใหม่และหลักการโลกวิสัย

แต่ธรรมะแนวไลฟ์โคชของพระเซเลบบ้านเรานั้นเลื่อนลอย ไร้รากลึกจากแก่นแกนพุทธธรรม ขาดปฏิสัมพันธ์อย่างมีเหตุผลกับศาสตร์และคุณค่าสมัยใหม่ ทั้งไม่เดียงสาต่อโลก แต่ทะลึ่งสอนชาวโลกแบบ “คุณพ่อรู้ดี” ไปเสียทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องชีวิต ความรัก การงาน สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ บางทีเราอ่านคำคมตามผนังห้องน้ำยังไม่ “ทื่อ” เท่าธรรมะแนวไลฟ์โคชที่มีอยู่ดาษดื่น

สุดท้ายแล้ว ทั้งหมดก็เป็นปรากฏการณ์และผลผลิตของพุทธศาสนาแบบรัฐ ที่อธิบายทุกสิ่งจากมุมมองของตนเอง ยืนยันมุมมองของตนเองว่าถูกที่สุด ดีที่สุด พุทธศาสนาเป็นหลักประกันความมั่นคงของของทุกสิ่ง ตั้งแต่เรื่องชีวิตส่วนตัว ไปจนถึงความมั่นคงของการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ประเทศชาติ

โดยไม่ตระหนักว่าข้อยืนยันนั้นๆ ของตนเองขัดหลักการเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย ไม่ตระหนักถึงความผิดที่ผิดทางของสถานะ อำนาจ บทบาทของนักบวชและพุทธศาสนา ทำให้คุณค่าของพุทธธรรมที่ควรมีต่อปัจเจกบุคคลก็ไม่มี หรือไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร ส่วนที่อ้างว่าเป็นประโยชน์แก่สังคม ก็ดูจะกลายเป็นภาระของสังคมเสียมากกว่า

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท