Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางสังคมไทยปัจจุบัน ประเด็นสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้รับความสนใจและถูกปรับใช้กับทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสาธารณะ แต่ความสนใจหลักดูจะจำกัดเพียงแค่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับปัจเจกบุคคลเท่านั้น

บทความแปลชิ้นนี้ (เผยแพร่ต้นฉบับในเว็บไซต์นิตยสาร Jacobin ในชื่อ “Against Recycling”) แม้จะดำเนินเรื่องในประเทศสหรัฐอเมริกาและวางอยู่บนประเด็น “การรีไซเคิล” แต่ผู้แปลเห็นว่าข้อโต้แย้งสำคัญที่ผู้เขียนอยากจะสื่อคือการผลักความสนใจของประเด็นสิ่งแวดล้อมออกไปนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวบุคคล และกวาดสายตามองให้เห็นระบบที่ควบคุมวิถีชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน

ผู้แปลได้ปรับเปลี่ยนถ้อยคำบางจุดเพื่อคงความไหลลื่นและช่วยนำเสนอข้อมูลให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ช่วงต้นเดือนธันวาคม 2019 สำนักข่าว The New York Times เผยแพร่วิดีโอแสดงความคิดหนึ่ง (Op-ed)[1] ชิ้นหนึ่งซึ่งหักล้าง “คำลวงของการรีไซเคิลอันยิ่งใหญ่” (“The Great Recycling Con”) ได้อย่างถูกต้อง วิดีโอชิ้นนี้กล่าวว่า อุตสาหกรรมพลาสติกได้โกหกผู้บริโภคหลายต่อหลายรุ่นว่าปริมาณขยะที่พวกเขาผลิตจะสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ เพื่อสร้างวิสัยที่ผิดเพี้ยนของการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดจากความรู้สึกผิด

วิดีโอชิ้นดังกล่าวเข้าใกล้ประเด็นอย่างน่าใจหาย เพราะไม่ได้กล่าวถึงเรื่องราวทั้งหมด แท้จริงแล้ว “คำลวงของการรีไซเคิลอันยิ่งใหญ่” หยั่งรากลึกมากกว่าคำโกหกที่ว่าสินค้าชิ้นไหนรีไซเคิลได้หรือไม่ได้ แต่มันคือการต่อสู้ทางการเมืองที่ดำเนินมาตลอดระหว่างกลุ่มบริษัทที่เป็นตัวสร้างขยะกับภาคสาธารณะ เพื่อหลีกเลี่ยงกฎระเบียบควบคุม ผลักภาระความรับผิดชอบต่อการทำลายสภาพแวดล้อมไปให้ผู้บริโภค และปกป้องโมเดลธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแต่ทำกำไรสูง อันเป็นแกนหลักของทุนนิยมอุตสาหกรรม

ความมั่งคั่งแบบใช้แล้วทิ้ง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวอเมริกันตั้งใจทิ้งสภาพความยากลำบากของสงครามไว้ข้างหลังและโอบรับการบริโภคอย่างมหาศาล (mass consumption) อย่างใจจดใจจ่อ พวกเราหมกมุ่นกับอาหารแช่แข็ง น้ำอัดลมบรรจุขวด รถยนต์คันใหม่เอี่ยมอ่อง และสิ่งของ[2] อื่น ๆ อีกมากมาย

นี่คือการขีดเส้นที่แบ่งแยกสหรัฐอเมริกาออกจากภาพชั้นวางสินค้าสีอมเทาและว่างเปล่าที่พวกเราเชื่อมโยงเข้ากับสหภาพโซเวียต การบริโภคอย่างมหาศาลคือตัวเลือกที่เราเลือก มันคือเสรีภาพ

ในปี 1959 ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) บินไปที่กรุงมอสโกเพื่อคุยโวโอ้อวดลัทธิบริโภคนิยมอเมริกันเป็นการส่วนตัวกับนิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) ในวิวาทะห้องครัวอันฉาวโฉ่[3] (Kitchen Debate – เป็นการโต้เถียงกันเกี่ยวกับอุดมการณ์ของผู้นำสองค่ายซึ่งถูกจัดฉากที่ห้องครัวจำลองในการจัดแสดงวัฒนธรรมของสหรัฐอเมริกาที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ในวันที่ 24 กรกฎาคม 1959 – ผู้แปล)

เมื่อการบริโภคสินค้าเริ่มผูกโยงเข้ากับความฝันแบบอเมริกัน (American Dream) มากยิ่งขึ้น ภาคอุตสาหกรรมจึงได้ฉกชิงแนวปฏิบัติร่วมของสังคมที่จะผลิตส่วนเกิน (excess) เพื่อขายสิ่งของในปริมาณที่มากขึ้นและมากขึ้น เพื่อผลกำไรที่มากขึ้นและมากขึ้น แวนซ์ แพกการ์ด (Vance Packard) สื่อมวลชนและนักสังคมวิทยาสายพยากรณ์วิพากษ์วิจารณ์การโฆษณาว่าเป็นดั่งอุตสาหกรรมและกลยุทธ์ที่ชักจูงโดย “ผู้โน้มน้าว” ซึ่งตีกินความเปราะบางของผู้บริโภคเพื่อขายสินค้าของพวกเขาให้มากขึ้นและมากขึ้น พร้อมกับสัญญาว่าจะให้สถานะทางสังคมและการได้รับการเติมเต็ม

ในปี 1960 แพกการ์ดเขียนหนังสือ The Waste Makers[4] เรียกร้องให้สนใจต่อแนวปฏิบัติที่สร้างขยะโดยกลุ่มบรรษัทใหญ่ สิ่งที่น่าจะโดดเด่นที่สุดคือแนวคิดเรื่องการหมดอายุที่ถูกวางแผนไว้แล้ว (planned obsolescence)[5] ดังที่แพกการ์ดกล่าว ผู้ผลิตตั้งใจ “กำหนดอัตราการตายให้กับตัวสินค้า” ซึ่งก่อให้เกิดขยะของเสียตามระเบิดเวลานับถอยหลัง เพื่อให้ผู้บริโภคไม่มีตัวเลือกนอกเหนือจากซื้อมากขึ้นและซื้ออีกครั้ง

ผลกำไรของกลุ่มบรรษัทพุ่งทะยาน และอุตสาหกรรมโฉมใหม่ของผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง ซึ่งต้องแลกมาด้วยขยะของเสียอย่างสลักสำคัญ ได้แปรเปลี่ยนชีวิตของอเมริกันชนและเศรษฐกิจของกลุ่มบรรษัทอย่างถึงรากถึงแก่น

ตัดภาพไปปี 1967 และอนาคตที่รออยู่ก็คือ “พลาสติก”[6]

“Keep America Beautiful”

แต่ท่ามกลางยุคทองของลัทธิบริโภคนิยม กลุ่มบรรษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกาพัลวันกับการหยุดยั้งภัยคุกคามนานาประเภท ช่วงทศวรรษ 1960 การเคลื่อนไหวต่อต้านวัฒนธรรมกระแสหลัก (counterculture movement) ได้ท้าทายปทัสถานทางสังคมนานาชนิดที่เป็นอยู่ รวมไปถึงสัญลักษณ์แสดงฐานะของการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของสิ่งของมากมาย

หากแต่เพิ่มเติมจากการต่อสู้ทางวัฒนธรรมที่กว้างขวางกว่า เหล่าผู้บริหารของกลุ่มบรรษัทก็ได้ประลองต่อสู้ในสนามการเมืองและเศรษฐกิจกับขบวนการเคลื่อนไหวแรงงานและสิ่งแวดล้อมในยุคแรก ๆ ที่ข่มขู่ว่าจะเสาะสำรวจเข้าไปข้างหลังม่านของโมเดลบริโภคนิยมหลังสงครามที่ทำกำไรให้บรรษัท และอาจเข้ากำกับควบคุมแนวปฏิบัติที่ทำลายระบบนิเวศแต่กลุ่มบรรษัทยึดถือเป็นสรณะ

เราเห็นตั้งแต่ปี 1953 ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบ 20 ปีก่อนจะมีวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ครั้งแรก (วันที่ 22 เมษายน 1970 – ผู้แปล) ดังที่ฮีเธอร์ โรเจอร์สชี้ให้เห็นในหนังสือ Gone Tomorrow: The Hidden Life of Garbage ว่า ผู้ทำฟาร์มวัวในมลรัฐเวอร์มอนต์ (Vermont) ได้พบเจอวัวของพวกเขาชักและสิ้นลมจากเบียร์ขวดแก้วที่ถูกทิ้งขว้างไว้ที่ทุ่งหญ้าของพวกเขา เป็นดังนั้น พวกเขาจึงลุกขึ้นร่างและออกกฎหมายระดับรัฐซึ่งไม่เพียงแค่ประกาศห้ามการทิ้งขว้างขวด แต่รวมไปถึงการขายขวดดังกล่าวโดยภาคธุรกิจการค้าด้วย

เป็นไปได้ว่ากลุ่มบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายน่าจะคาดการณ์ล่วงหน้าถึงการควบคุมที่คล้ายคลึงกันนี้ทั่วทั้งประเทศและหวาดระแวงต่อการรวมกลุ่มกันของแรงงานและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ท้าทายวิถีปฏิบัติของพวกเขาด้านการผลิตและขายผลิตภัณฑ์ที่จะกลายเป็นขยะอย่างรวดเร็ว บรรษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งตกอยู่ภายใต้ภัยคุกคามข้อดังกล่าว ก็ตอบสนองด้วยแคมเปญ “ฟอกเขียว” เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เคลื่อนไหวแรงงานและสิ่งแวดล้อมประสบความสำเร็จ

ในปีเดียวกัน และในฐานะหนึ่งในแคมเปญทั้งหลายนั้น ดังที่โรเจอร์สอธิบาย บริษัท American Can และ บริษัท the Owens-Illinois Glass ได้เกณฑ์เอาบริษัทอื่น ๆ จำนวนหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง ซึ่งรวมไปถึง บริษัท Coca-Cola บริษัท Richfield Oil Corporation และบริษัท Dixie Cup เข้ามาเพื่อจัดตั้งกลุ่ม Keep America Beautiful ซึ่งเป็นกลุ่มไม่แสวงหาผลกำไรเพื่อสิ่งแวดล้อมจอมปลอม ที่ผลักดันแนวคิดการจัดการบริหารสิ่งแวดล้อม (environmental stewardship) ให้เป็นมาตรฐานที่ดีงามของสังคม

จากการใช้แนวคิด “พลเมืองดี” และการผลิตสร้างแนวคิดของการทิ้งขยะเกลื่อนกลาดให้กลายเป็นการทำบาปขนานแท้ต่อโลกธรรมชาติ กลุ่มดังกล่าวใช้สัญลักษณ์ของคุณค่าชาวผิวขาวกระฎุมพี ตัวละครที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Susan Spotless และยังดึงเอาภาพแทนของอินเดียนใจธรรม (Noble Indian) ที่มีฉากเรียกน้ำตา[7] เพื่อสื่อให้เห็นความต่อเนื่องของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยอันมีสาเหตุจากผู้บริโภค เพื่อผลักภาระรับผิดชอบของการจัดการขยะของเสียจากบรรษัทใหญ่ไปสู่ผู้บริโภค หาก “เราเองที่สร้างมลพิษ (People start pollution)” กลุ่ม Keep America Beautiful อาจบอกชาวอเมริกันว่า “เราหยุดมันได้ (People can stop it)”

ภาพประชาสัมพันธ์ “ชาวอินเดียนร่ำไห้ (Crying Indian) ของกลุ่ม Keep America Beautiful
ที่มา:
www.nytimes.com/2013/07/17/business/media/
decades-after-a-memorable-campaign-keep-america-beautiful-returns.html

และเรื่องราวชวนเชื่อของกลุ่มก็ได้ผล 6 ปีนับจากการร่วมมือด้านโฆษณาครั้งใหญ่กับคณะกรรมการโฆษณา (Ad Council) อัตราส่วนของเครื่องดื่มโซดาที่ขายพร้อมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งเพิ่มขึ้น 4 เท่า จาก 3 เปอร์เซ็นต์เป็น 12 เปอร์เซ็นต์ และ 10 ปีหลังจากนั้นอยู่ที่เกือบ 70 เปอร์เซ็นต์[8]

แทนที่กลุ่มบรรษัทจะจำกัดการผลิตวัตถุดิบที่ใช้แล้วทิ้งและยอมกลืนกำไรตัวเอง ผู้บริโภคชาวอเมริกา ณ ตอนนี้อาจกล่าวโทษกันไปมาจนละอายและต้องมาบริหารจัดการขยะจากสินค้าราคาถูกของอุตสาหกรรมกันเอง มันคือภัยเงียบของการปิดปังความจริงที่ตีกรอบปัญหาขยะของเสียที่เติบโตขึ้นของอเมริกา แทนที่จะเป็นผลจากการผลิตอันเกินจำเป็นของธุรกิจเพื่อผลกำไร แต่กลายเป็นการตัดสินใจที่ไร้ความรับผิดชอบของผู้บริโภคและวิถีชีวิตส่วนตัวของปัจเจกบุคคล

16 ปีให้หลัง หลังจากล้มการต่ออายุกฎหมายในรัฐเวอร์มอนต์ที่ออกในปี 1957 และผ่านกฎระเบียบห้ามการทิ้งขยะกลาดเกลื่อนทั่วทั้งประเทศ[9] กลุ่ม Keep America Beautiful สร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมาเป็นทายาทเพื่อผลักดันการบริหารจัดการขยะของเสียขนานใหญ่รูปแบบใหม่ที่มีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือ “การรีไซเคิล” (recycling) เพื่อเป็นทางเลือกแทน “การลดการใช้” (reducing) หรือ “การใช้ซ้ำ” (reusing) กลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่รีบเร่งนำแนวทางนี้ไปใช้ ซึ่งยังคงทำให้ผู้บริโภคซื้อได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีความรู้สึกผิดตามมาแล้วด้วย นอกจากนี้แนวทางดังกล่าวยังทำให้ให้กลุ่มบรรษัทหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากผู้ควบคุมหรือคำวิจารณ์ของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป กลุ่มดังกล่าวทุ่มเทเงินทุนจากบรรษัทไปที่การวิจัยและพัฒนาการรีไซเคิล รวมทั้งเปิดสถานฝึกอบรมทั่วประเทศเพื่อแนะนำให้เทศบาลในสหรัฐอเมริกาและผู้บริโภคชาวอเมริกันรู้จักกับรูปแบบใหม่ของการจัดการขยะที่เป็นมิตรต่อบริษัทหวังผลกำไร

กลุ่ม Keep America Beautiful ยังคงดำรงอยู่ รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอื่น ๆ ที่ต่อต้านการทิ้งขยะกลาดเกลื่อนและที่สนับสนุนการรีไซเคิล ซึ่งมีท่อน้ำเลี้ยงเป็นบริษัทอุตสาหกรรม พวกเขายังคงบงการความสนใจของสาธารณะให้ออกห่างจากการควบคุมกลุ่มบรรษัทและเอนเอียงไปสู่แนวทางปฏิบัติของการรีไซเคิลในระดับปัจเจกบุคคล จากการรายงานของสำนักข่าวออนไลน์ The Intercept[10] องค์กรการกุศลของบริษัท Coca Cola ได้บริจาคเงินเป็นจำนวน 600,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถูกจัดว่าเป็นการบริจาคเชิงการกุศลที่หักภาษีได้ ให้กับกลุ่มองค์กรหนึ่งคือ the Recycling Partnership (ภาคีความร่วมมือเพื่อการรีไซเคิล) ในปี 2017 กลุ่มดังกล่าวนี้ไม่เพียงนำเสนอภาพลักษณ์ความนิยม[11] ของการรีไซเคิลอย่างเกินเลย แต่จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ยังให้ภาพคุณประโยชน์และความเป็นไปได้ของการรีไซเคิลในตัวมันเองอย่างเกินความเป็นจริงด้วย

โศกนาฏกรรมของ “คำลวงของการรีไซเคิลอันยิ่งใหญ่” ไม่ใช่เพียงแค่ที่ว่า กลุ่มบรรษัทใหญ่สามารถหลบเลี่ยงการถูกตีตราว่าเป็นฆาตรกรทำร้ายโลก และผลักภาระการเก็บกวาดสภาวะรกรุงรังของพวกเขาให้แก่กลุ่มผู้บริโภค ณ จุดนี้ โจทย์ไม่ได้อยู่ที่การจัดสรรภาระอย่างเท่าเทียม แต่มันคือโจทย์ของการอยู่รอด

การรีไซเคิลในระดับปัจเจกบุคคลเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอจะช่วยโลกได้ แม้กระทั่งนักรีไซเคิลผู้ขยันขันแข็งและมีสำนึกความเป็นพลเมือง หรือคนอย่าง Susan Spotless ในยุคปัจจุบัน ก็ยังต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคเชิงโครงสร้าง[12] ต่อการลดรอยเท้าขยะ (waste footprint) แม้พวกเราทุกคนจะเป็นแบบ Susan Spotless และมีระบบการรีไซเคิลที่ทำงานได้อย่างไร้ที่ติ วิถีการผลิตของทุนนิยมอุตสาหกรรมในสหรัฐอเมริกาก็จะยังคงสร้างอุปทานอันไม่จบสิ้นของสิ่งที่จะกลายเป็นขยะในอนาคต

เราไม่เหลือทางเลือกใดอีกแล้วนอกเสียจากท้าชนกับผู้ผลิตขยะของเสีย

Susan Spotless (ขวา) ในวิดีโอสนับสนุนการทิ้งขยะลงถังของกลุ่ม Keep America Beautiful
ที่มา:
https://www.youtube.com/watch?v=-BCnGP-ktrQ

ใครกันแน่ที่ทำร้ายโลก?

วันที่ 3 ธันวาคม 2019 กรมราชทัณฑ์เมืองนิวยอร์กประกาศ[13] ว่าพวกเขาจะเริ่มบังคับใช้โครงการ Meatless Mondays (วันจันทร์ปลอดเนื้อ) ในที่คุมขังและเรือนจำ ส่วนหนึ่งเพื่อลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ขององค์กร แทนที่จะท้าทายกลุ่มบรรษัทภาคเกษตรกรรมที่ปล่อยก๊าซมีเทนในระดับที่ทำลายระบบนิเวศ ภาครัฐกลับเลือกจัดวางความรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซมีเทนไว้กับผู้ถูกคุมขังที่ไม่สามารถเลือกได้อยู่แล้วว่าจะรับประทานอาหารชนิดใด

ด้วยการดึงกลยุทธ์การเปรียบเทียบการทิ้งขยะกลาดเกลื่อนให้เป็นความผิดบาป ดังที่กลุ่ม Keep America Beautiful ใช้ แม้กระทั่งโฆษกของกรมราชทัณฑ์ยังตีกรอบโครงการดังกล่าวว่าเป็นวิธีหนึ่งที่ผู้ถูกคุมขังชาวนิวยอร์กจะสามารถ “ริเริ่มสำนึกผิดบาปในสิ่งที่ [พวกเขา] เคยทำมาในชีวิตได้”

เมื่อเราเข้าสู่ยุคภูมิอากาศแบบใหม่และวิถีทางการเมืองของเราก็ปรับตัวไปตามกัน กลุ่มบรรษัทใหญ่และรัฐทุนนิยมที่พวกเขาควบคุมก็จะสาดคำตำหนิติเตียนและวางเดิมพันการอยู่รอดของดาวโลกไว้กับกลุ่มที่เปราะบางที่สุดในหมู่พวกเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้ถูกคุมขังหรือผู้บริโภคชนชั้นแรงงาน เป็นใครก็ได้ขอให้ไม่ใช่พวกเขาเสียเอง หากแต่ภาคสาธารณะไม่ได้นำพวกเราเข้าสู่ความยุ่งเหยิงนี้ และชัดเจนว่าต้องไม่ใช่ผู้ที่เปราะบางที่สุดในหมู่พวกเราแน่นอน และโชคร้ายเสียทีเดียวที่การลงมือปฏิบัติของพลเมืองสันโดษหัวเดียวกระเทียมลีบไม่อาจพาพวกเราออกไปจากตรงนี้ได้

พวกเรามีภาระผูกพันที่จะมุ่งความสนใจไปที่ผู้กุมวิถีการผลิตที่สร้างขยะ – ไปที่กลุ่มซึ่งสามารถถูกบีบบังคับโดยกฏระเบียบในระดับรัฐ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในภาพใหญ่อันจำเป็นต่อการบรรเทาวิกฤตสภาพอากาศให้ได้

 

อ้างอิง

[1] Tala Schlossberg and Nayeema Raza, “The Great Recycling Con,” New York Times, December 9, 2019, https://www.nytimes.com/2019/12/09/opinion/recycling-myths.html?action=click&module=Opinion&pgtype=Homepage.

[3] William Safire, “The Cold War’s Hot Kitchen,” New York Times, July 23, 2009, https://www.nytimes.com/2009/07/24/opinion/24safire.html.

[5] Michael Rozworski, “Apple Isn’t Your Friend,Jacobin, November 3, 2016, https://www.jacobinmag.com/2016/03/apple-fbi-spying-privacy-sweatshops.

[8] Ginger Strand, “The Crying Indian,” Orion Magazine, November 20, 2008, https://orionmagazine.org/article/the-crying-indian.

[9] Bradford Plumer, “The Origins of Anti-Litter Campaigns,” Mother Jones, May 22, 2006, https://www.motherjones.com/politics/2006/05/origins-anti-litter-campaigns/.

[10] Sharon Lerner, “Waste Only,” The Intercept, July 20, 2019, https://theintercept.com/2019/07/20/plastics-industry-plastic-recycling/

[12] Livia Albeck-Ripka, “Your Recycling Gets Recycled, Right? Maybe, or Maybe Not,” New York Times, May 29, 2018, https://www.nytimes.com/2018/05/29/climate/recycling-landfills-plastic-papers.html.

[13] Sam Bloch, “New York Just Introduced Meatless Monday in City Jails,” New Food Economy, December 3, 2019, https://newfoodeconomy.org/new-york-city-jails-meatless-monday/.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net