Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาบทความโลกหมุนเร็วของเพ็ญศรี เผ่าเหลืองทองได้สร้างข้อถกเถียงมากมายบนโลกโซเชียล ซึ่งส่วนใหญ่มักไปในทางวิพากษ์วิจารณ์อคติทางชาติพันธุ์และภูมิภาคที่ผู้เขียนซึ่งเป็นชนชั้นกลางในเมืองมีต่อคนอีสาน ล่าสุดหลังจากทางมติชนสุดสัปดาห์มีแถลงการณ์ขอโทษและถอดคอลัมน์ของคุณเพ็ญศรีออกแล้ว ยังมีกรณีที่ผู้ใช้เฟสบุ๊คนาม Jessica Difford ออกมาระบุว่าตนคือผู้หญิงในภาพประกอบบทความเจ้าปัญหาดังกล่าว พร้อมแสดงความไม่พอใจความเห็นของเพ็ญศรี เป็นเหตุให้มติชนฯ ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงและขออภัยต่อสาธารณะอีกครั้ง

สิ่งหนึ่งที่พึงสังเกตจากเหตุการณ์นี้คือ ในบรรดาวิวาทะต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลและหน้าสื่อจากประเด็นดังกล่าว การถกเถียงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในหมู่ปัญญาชนปัญญาชนและชนชั้นกลางในเมืองเป็นส่วนใหญ่ ความเห็นของคุณ Jessica ดูจะเป็นความเห็นแรกที่มาจากปากของผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับฝรั่งจริงๆ ผู้เขียนไม่รู้จักกับคุณ Jessica จึงไม่มีโอกาสได้พูดคุยเจาะลึกถึงความคิดของเธอ แต่โชคดีที่ผู้เขียนเจอกับ “ยายดำ” ผู้หญิงอีสานอีกท่านหนึ่ง ซึ่งแต่งงานกับชาวเยอรมัน และมาอยู่เยอรมันีได้ 22 ปีแล้ว จึงอยากชวนเธอมาแลกเปลี่ยนว่าคิดเห็นอย่างไรกับบทความดังกล่าว พร้อมเพิ่มเติมเกร็ดความรู้ด้านจิตวิทยากับการเหยียดเล็กน้อยให้กับผู้อ่าน

ยายดำเป็นใคร?

ยายดำเป็นคนอำเภอโนนแดง จังหวัดโคราช อายุ 63 ปี มีพี่น้องหกคนเป็นชายสามหญิงสาม โดยยายดำเป็นพี่คนโต พ่อแม่ทำงานรับจ้างหาเช้ากินค่ำ ไม่มีหนี้มีสินแต่ก็ไม่ร่ำรวย ลูกแต่ละคนจึงได้เรียนสูงสุดแค่ชั้น ป.4 หลังเรียนจบ ในฐานะพี่คนโต ยายดำจึงกลายเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของบ้านแทบจะในทันที เธอเริ่มทำงานตั้งแต่อายุสิบหก แต่งงานครั้งแรกกับสามีคนไทยตอนอายุ 19 มีลูกด้วยกันสามคน แต่ลูกชายคนโตด่วนจากไปตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ จึงเหลือลูกสาวสองคน 

ยายดำเล่าว่าเธอได้ทุ่มเทกับความสัมพันธ์ในครั้งนี้มาก ด้วยความที่ตอนนั้นก็ยังเด็ก เธอก็ไม่รู้หรอกว่าความรักคืออะไร คิดแค่ว่าถ้าเจออุปสรรคอะไรก็พร้อมจะฝ่าฟันมันไปด้วยกัน ทั้งสองคนไปทำงานรับจ้างที่ไร่ข้าวโพดในจังหวัดชัยภูมิจนเก็บเงินได้มากพอจะซื้อบ้านหลังเล็กๆ ที่นั้นได้ แต่ทุกอย่างก็มาสะดุดเพราะการพนัน สามีของยายดำติดการพนันหนักมาก เธอกล่าวว่า “เงินทั้งปีที่หามา เล่นไฮโลวันเดียวเสียหมด ต้องมาหากันใหม่” ทำให้เธอต้องขายบ้านเพื่อใช้หนี้พนัน แต่ก็ยังเหลือหนี้ค้างอีกห้าพันบาท เลยตัดสินใจหนีหนี้กลับมาอยู่ที่โคราช รับจ้างทำงานก่อสร้างกับสามี แต่ก็เกิดปัญหาใหม่อีกคือสามีเธอดันไปติดเหล้า กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ให้เธอตัดสินใจเลิกกับสามี หลังร่วมทางกันมา 19 ปี

หลังจากนั้นยายดำก็เดินสายทำงานรับจ้างตามต่างจังหวัดทั้ง กทม. และชลบุรี จนได้มาทำงานที่บาร์แห่งหนึ่งในพัทยา ที่ที่ทำให้เธอเจอกับสามีชาวเยอรมันคนปัจจุบัน เธอเล่าว่าทางร้านรู้จักกับน้องสาวของสามีเธอก่อนซึ่งมาเที่ยวไทยเป็นประจำ เมื่อเจอกับยายดำก็รู้สึกถูกใจเพราะเป็นคนคุยเก่งอัธยาศัยดีจึงอยากให้รู้จักกับพี่ชาย เธอเล่าว่าคืนแรกที่พบกัน เธอต้องไปเจอสามีที่โรงแรมจึงพกถุงยางอนามัยไปด้วยเผื่อสถานการณ์จำเป็น ทุกวันนี้เธอยังเก็บมันไว้ที่บ้าน ไม่ใช่เพราะสามีเธอไม่มีน้ำยา เพราะหลังจากนั้น ทั้งสองคนมีลูกชายอายุ 21 ปีเป็นเครื่องยืนยัน แต่เพื่อเป็นที่ระลึกถึงวันแรกที่พบกัน

หลังจากนั้นประมาณ 7 เดือน ยายดำก็ย้ายมาพำนักอยู่เยอรมันเป็นการถาวร อาจจะมีกลับบ้านไปเยี่ยมเยียนเพื่อนฝูงบ้างเป็นครั้งคราว แต่บ้าน ครอบครัว และหน้าที่การงานของเธอทั้งหมดอยู่ที่เยอรมัน เธอกล่าวว่าตอนอยู่ที่ไทยทำงานรับจ้างครั้งแรกได้ค่าจ้างวันละสิบบาท หากโชคดีได้มาทำงานที่กรุงเทพฯ ก็อาจจะได้วันละเกือบสองร้อยบาท ทุกวันนี้เธอก็ทำงานรับจ้างเหมือนเดิม ที่ไม่เหมือนเดิมคือเธอมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ ุ600 ยูโร (คิดเป็นเงินประมาณสองหมื่นบาท) ซึ่งมากพอให้ยายดำส่งกลับไปจุนเจือที่บ้าน และซื้อที่ดินในกรุงเทพและต่างจังหวัดเพื่อการลงทุน โดยเธอทำงานในร้านอาหารอาทิตย์ละห้าวัน และรับจ้างทำความสะอาดบ้านอีกสองวัน กล่าวสั้นๆ คือ เธอทำงานหนักเท่าเดิม แต่เงินเยอะขึ้นหลายเท่าตัว

หลังลงหลักปักฐานในเยอรมันได้ ยายดำก็ตัดสินใจพาลูกสาวคนสุดท้องพร้อมหลานสาวอายุแปดขวบบินมาอยู่เยอรมันด้วย โดยเธอและสามีเป็นคนช่วยจัดแจงกระบวนการทุกอย่างตั้งแต่เอกสารไปจนถึงหาคนแต่งงาน เธอเล่าว่าขั้นตอนการหาคนแต่งงานเป็นส่วนที่ยากที่สุด จนถึงจุดหนึ่งสามีของเธอมีข้อเสนอว่า หากสุดท้ายแล้วหาใครไม่ได้จริงๆ ให้หย่ากัน แล้วเขาจะไปแต่งงานกับลูกยายดำ เพราะตอนนั้นยายดำก็ได้วีซ่าตลอดชีวิตแล้ว พอลูกสาวเธอได้วีซ่าถาวร เราค่อยกลับมาแต่งกันใหม่ พร้อมบอกเธอว่า “พวกตุรกีก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น” โชคดีที่สุดท้ายสามารถคนแต่งด้วยหาได้ ทุกอย่างจึงลงตัว

รักหรือเปล่า? เป็นคำถามที่ผู้เขียนสงสัย เพราะเท่าที่ยายดำเล่ามา ดูเหมือนว่าการแต่งงานที่เกิดขึ้นทั้งของยายดำและลูกสาวของเธอมีเป้าหมายเพื่อการมาถึงเยอรมัน มากกว่าเหตุผลเรื่องความรัก และนี่คือคำตอบ

“ตอนแรกเราก็ไม่ได้รักเขาหรอก เราก็แต่งเพราะความจำเป็น แต่สุดท้ายก็มาแพ้ความดีของเขานี่แหละ วันแรกที่เราบินมาลงที่แฟรงค์เฟิร์ท เขากับน้องสาวขับรถไปรับเรา น้องเป็นคนขับ แล้วให้เรากับแฟนนั่งเบาะหลัง พอเดินเข้าบ้านมาก็เจอกลีบกุหลาบโรยอยู่ตามทางเดินจากประตูจนถึงห้องนอน ตั้งแต่มาอยู่นี่ เชื่อไหม ยายดำไม่เคยต้องซักผ้าเองเลย เขาทำให้เราหมด ยิ่งช่วงเราท้องนี่เขาดูแลเราดีมาก ขึ้นรถเมล์แล้วใครมาชนเรานิดหน่อยเขาหันไปด่าเลย ระวังหน่อย! ไม่เห็นหรอว่าเมียกูท้อง”

รู้จักกับยายดำมาก็พอสมควร ถัดไปเราจะให้ยายดำแสดงความเห็นต่อบทความของคุณเพ็ญศรี อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำว่านี่คือข้อถกเถียงระหว่างคนเรียนจบ ป.4 กับ ผู้จบปริญญาโทจาก Florida State University สหรัฐอเมริกา 

เพ็ญศรี: ทำไมหญิงอีสานจึงเลือกการไต่สถานะทางสังคมให้ตนเองและลูกด้วยการแต่งงานกับชาวต่างชาติและย้ายประเทศ มีชื่อเรียกเทรนด์นี้ว่า marriage migration ทำไมหญิงอีสานจึงไม่เลือกเอาตัวรอดด้วยการศึกษา เป็นเรื่องของ “โอกาส” หรือว่า “อุปนิสัย”?

ยายดำ: คนเฒ่าคนแก่เขาพูดกันว่าลูกผู้หญิงไม่ต้องเรียนหรอก โตไปแต่งงานก็ต้องอยู่กับผัว ผัวเป็นหัวหน้าครอบครัว คนมีหน้าที่เรียนและหาเลี้ยงครอบครัวจึงต้องเป็นผู้ชาย คนอีสานเขาเลยจะส่งแต่ลูกชายเรียน มันไม่ใช่ว่าผู้หญิงไม่อยากเรียนแต่ครอบครัวไม่ส่ง คนบางคนก็อยากเรียนแต่พ่อแม่เขาให้เหตุผลแบบนั้นเพราะคนอีสานให้ความสำคัญกับลูกชาย สมัยก่อนนะ แต่สมัยนี้เขาเรียนกันหมดแล้ว นอกจากบางคนเขาไม่อยากเรียนเท่านั้นเอง บางคนมองว่าทำงานเลยดีกว่าเรียน มันเป็นความคิดเห็นของแต่ละบุคคล ไม่ควรจะเหมารวมความคิดแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน เกิดมาก็ไม่เท่าเทียมกัน แล้วว่าคนอีสานมีแต่ผัวฝรั่ง ในร้านอาหารที่ยายดำทำอยู่ ในร้านที่ทำมีทั้งชลบุรี กทม. สุโขทัย กำแพงเพชร นนทบุรี แล้วทั้งหมดทั้งมวลเนี่ยที่รู้จักกันมาเนี่ย คนอีสานมีอยู่คนเดียวก็คือยายดำ เพราะทุกคนก็ต้องขวนขวายหาโหากาสในชีวิตกันทุกคน เราแค่เกิดมาความเป็นอยู่ไม่เท่ากัน โอกาสไม่เท่ากัน ใครเกิดมาก็อยากรวยอยากสบายทุกคนไม่ว่าจะภาคไหน แต่ที่คนอีสานเยอะ เพราะอีสานมันครึ่งหนึ่งของประเทศไทย ไปที่ไหนก็เลยเจอแต่คนอีสาน สามจังหวัดภาคกลางยังใหญ่ไม่เท่าโคราชจังหวัดเดียวเลย

เพ็ญศรี: สาวอีสานพอใจที่จะมีชีวิตง่ายๆ เป็นผู้รับคำสั่ง ไม่ต้องคิดมาก ทำงานง่ายๆ เก่งที่จะบริการ อุปนิสัยเช่นนี้คือสิ่งที่ชี้ชะตากรรมชีวิตของพวกเธอ

ยายดำ: มันก็ไม่จริงทั้งหมด คือพ่อแม่เขาสอนเรามาให้เราอยู่อย่างเรียบง่ายคือ อย่าทำตัวยุ่งยาก เราเข้าได้ทุกสถานที่ งานขอให้ได้เงินเราทำหมด เราไม่เลือกงาน งานบริการ งานทำความสะอาดอะไร เราก็ทำ เพราะเจ้านายเขาจะชอบคนหนักเอาเบาสู้ 

เพ็ญศรี: ทำไมสาวอีสานจึงนิยมหาทางออกด้วยการแต่งงานกับฝรั่งกันมาก หนึ่งในนั้นเพราะวัฒนธรรมพึ่งพาคนอื่นมากกว่าการพึ่งพาตนเองใช่หรือไม่ หนึ่งในนั้นคือการเลือกทางรอดมาก่อนศักดิ์ศรีใช่หรือไม่ และอีกหนึ่งในนั้นคือการทำตามอย่างกัน ใช่หรือไม่

ยายดำ: ไม่ใช่เลย สำหรับยายดำ คนเราก็ไม่ได้เป็นอย่างนี้กันทุกคนหรอก มันก็ห้าสิบห้าสิบแหละ คนเราเกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ทุกคนก็อยากรวยไม่ใช่แค่คนอีสานที่อยากรวย แต่จะมาหาว่าเราพึ่งพาคนอื่นอันนี้ไม่ใช่ ตั้งแต่มาอยู่ที่นี่ นอกจากค่าเครื่องบินแล้ว เราไม่เคยเอาเงินผัวเลยแม้แต่บาทเดียว เราสร้างเองหมด เราเลี้ยงลูกสองมาคนตัวคนเดียวไม่เคยพึ่งพาใครเลย แล้วเราก็ยังช่วยเหลือเพื่อนเราตลอด เราไม่เคยทิ้งเพื่อนทิ้งฝูง เราไม่เคยเป็นหนี้ใคร มีแต่คนมาติดหนี้เราเป็นหมื่นเป็นแสน เราไม่ทวงด้วยก็คนมันไม่มีจะให้เขาทำไง 

ผู้เขียน: จะบอกว่านี่คือศักดิ์ศรีของเรา?

ยายดำ: ใช่ นี่แหละ ศักดิ์ศรีของเรา


ร่วมวงวิวาทะ

ในส่วนสุดท้ายนี้ผู้เขียนจะขอร่วมวงถกเถียงกับบทความของคุณเพ็ญศรี ถามว่าคิดอย่างไรกับบทความดังกล่าว คิดว่าคงไม่ต้องพูดถึงเพราะคำพูดของยายดำ บวกความเห็นอื่นๆ บนโลกโซเชียลคงได้พูดแทนไปหมดแล้ว แต่อย่างจะแบ่งปันมุมมองและงานวิจัยด้านจิตวิทยาเล็กๆ น้อยๆ 

ประการแรก 

การเหยียดไม่ใช่เรื่องผิดบาป อันที่จริงการเหยียดเป็นธรรมชาติของมนุษย์ สมองของมนุษย์จำเป็นต้องทำให้ทุกอย่างเรียบง่าย (keep it simple) หนึ่งเพื่อประหยัดพลังงานและสองเพื่อให้เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมมติ หากเราเห็นรถยนต์กับจักรยานวิ่งมามาจะชนเรา เราจะกระโดดหลบไปทางเลนจักรยานทันที สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่เกิดจากสัญชาติญานและความคิดง่ายๆว่า “โดนจักรยานชนปลอดภัยกว่าโดนรถชน” เช่นเดียวกัน หากเราขึ้นรถเมล์แล้วมีที่ว่างสองที่ ที่หนึ่งนั่งติดกับคนผิวดำ อีกที่หนึ่งนั่งติดกับคนไทย เราจะเดินไปนั่งกับคนไทยโดยอัตโนมัติ เพราะสมองเราคิดง่ายๆแค่ว่า “นั่งกับคนไทยเหมือนกันน่าจะปลอดภัยกว่าคนดำ”

การเหยียดอาจเกิดจากหลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะด้านการรับรู้ (cognitive ability) ที่ทำให้มนุษย์ต่างจากสัตว์อื่นๆ เราเปรียบเทียบมนุษย์ด้วยกันเอง กลุ่มคน หรือแม้กระทั่งเปรียบเทียบอดีต ปัจจุบัน กับอนาคตของเรา และเมื่อเราพยายามหาคำอธิบายให้กับการเปรียบเทียบเหล่านั้น การเหยียดมักจะตามมา ขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งเหตุการณ์สมมติ ลองจินตนาการว่าคุณเป็นสาวชนชั้นกลางกรุงเทพฯ โปรไฟล์การศึกษาดี จบนอก มีหน้าที่การงานมั่นคง อยากมีแฟนเป็นฝรั่งตาน้ำข้าวสักคนแต่ก็ยังหาไม่ได้ซักที วันหนึ่งคุณกำลังอ่านเฟสบุ๊ค จนไปสะดุดกับบทความชิ้นหนึ่ง ซึ่งพูดถึงผู้หญิงอีสานที่หนังสือก็แทบไม่ได้เรียน แต่กลับมีสามีฝรั่งเป็นฝั่งเป็นฝา ใช้ชีวิตสุขสบายในเมืองนอกเมืองนา สมองของคุณเริ่มเปรียบเทียบ และตั้งคำถาม “ทำไมฉันผู้ซึ่งมีทุกสิ่ง กลับไม่มีผัวกับเขาสักที กับนังผู้หญิงบ้านนอกคนนี้ที่เรียนแค่ชั้น ป.6 แต่ได้ผัวฝรั่งหน้าตาดีเป็นตัวเป็นตน” 

สมองเราสามารถคิดหาคำอธิบายได้หลายรูปแบบอันนำไปสู่ผลลัพท์ที่ต่างกัน หากคุณคิดว่าเพราะความผิดอยู่ที่ตัวคุณ เช่นเพราะคุณสวยไม่พอ คุณอาจจะเศร้าหรือทำใจรับชีวิตโสด หรือคุณอาจจะมีแรงผลักดันในการทำงานเก็บเงินเพื่อบินไปทำหน้าที่เกาหลี หากคุณคิดว่าความผิดไม่ได้อยู่ที่ตัวคุณ แต่เป็นเพราะผู้หญิงอีสานเหล่านี้ติดนิสัยรักสบายจึงเลือกแต่งงานกับฝรั่งเพื่อเอาตัวรอด คุณอาจจะโกรธ (Anger) หรือรู้สึกไม่พึงใจ (resentment) และกลายเป็นทัศนคติเชิงเหยียดในท้ายที่สุด ปรากฏการณ์นี้มีชื่อเรียกทางจิตวิทยาว่า relative deprivation หรือ ความรู้สึกถูกลิดรอนโดยเปรียบเทียบ

ที่กล่าวมาเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เรายอมรับการเหยียดว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบความคิดมนุษย์ แต่เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การป้องกันความคิดตัวเองไม่ให้เหยียดผู้อื่น ไม่ใช่ปกติวิสัยของมนุษย์ มันจึงจำเป็นต้องได้รับการใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะการเหยียดโดยมีพื้นฐานจากชาติพันธุ์ สีผิว ศาสนา มักจะกลบเกลื่อนรากฐานของปัญหาที่แท้จริงเอาไว้เสมอ เช่นปัญหาปากท้อง สวัสดิการของรัฐ และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ แต่ปัญหาคือสมองเราไม่ชอบข้อมูลที่ซับซ้อน คำอธิบายว่า “คนอีสานจนเพราะขี้เกียจ” จึงเข้าใจมันง่ายกว่าเมื่อเทียบกับคำอธิบาย “คนอีสานจนเพราะนโยบายการกระจายรายได้ที่ไม่ทั่วถึงซึ่งเกิดจากอคติระหว่างเมืองกับชนบท” 

แต่โจทย์ไม่ใช่การทำอย่างไรให้คนที่เหยียดเลิกเหยียด เพราะในแง่หนึ่งทั้งคนที่เหยียดและผู้ที่ถูกเหยียด ต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางวัฒนธรรม การห้ามคนไม่ให้เหยียดนั้นทำไม่ได้ หรือต่อให้ทำได้ก็เป็นเผด็จการทางความคิด โจทย์ที่แท้จริงคือ จะทำอย่างไรให้เกิดการยอมรับทางสังคม (social acceptance) ในสังคมที่เราก็ต่างเหยียดกันเอง กล่าวคือ “รักไม่ต้องรักกัน แต่เราก็อยู่ด้วยกันได้” ทำอย่างไรเราถึงจะกดข่มความเหยียดนั้นไว้ ไม่ให้มากระทบกับหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่นในชีวิตประจำวันของเราซึ่งล้วนมาจากร้อยพ่อพันแม่ นั่นโจทย์สำคัญของแนวคิดสังคมพหุวัฒนธรรม หนึ่งในอุดมคติทางสังคมของสำนักคิดเสรีนิยมใหม่

ประการที่ 2 

แต่การยอมรับความแตกต่างหลากหลายก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีการเหยียด และความคิดที่เหยียดก็ไม่ได้นำเป็นสู่พฤติกรรมที่เหยียดเสมอไป ในทางจิตวิทยา อารมรณ์ความรู้สึก (internal states) ทัศนคติ (attitude) และพฤติกรรม (behavior) แม้ทั้งสามสิ่งจะสัมพันธ์กัน แต่มันอาจจะสวนทางกันในบางที คุณอาจจะมีทัศนคติเหยียดคนอีสาน แต่คุณก็ไม่ได้รู้สึกขยะแขยงหรือรังเกียจเวลาต้องร่วมโต๊ะอาหารเดียวกับคนอีสาน คุณอาจจะรู้สึกปรกติเมื่อต้องเผชิญหน้ากับคนอีสานในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยหรือเชื่อใจคนอีสานทุกคนที่อยู่รอบตัวคุณ

ในปี 2009 เจมส์ ลอว์เรนซ์ได้ตีพิมพ์งานวิจัยลงในวารสาร European Sociological Review ลอว์เรนซ์ต้องการจะหาคำตอบให้กับข้อถกเถียงทางทฤษฎีระหว่างสองสำนักคิดใหญ่ด้านพหุวัฒนธรรมทางการเมือง โดยสำนักแรกเชื่อว่าความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติ จะยิ่งทำให้สังคมแน่นแฟ้น (social cohesion) กันมากขึ้น เพราะเมื่อคนมีปฏิสัมพันธ์กับคนจากต่างวัฒนธรรม ก็จะยิ่งเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน เข้าอกเข้าใจกัน เกิดเป็นความอดทนอดกลั้นทางสังคม (social telorance) ส่วนอีกสำนักคิดหนึ่งมองว่า ความหลากหลายนำไปสู่ความขัดแย้ง เพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะเหยียดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งอยู่กับคนต่างวัฒนธรรมโอกาสที่จะเกิดปรากฏการณ์ “เหยียดในเหยียด” จึงยิ่งสูงขึ้น

คำตอบที่รอว์เรนซ์ได้คือ “ถูกทั้งคู่” โดยเขาได้ทำการศึกษาชุมชนในประเทศอังกฤษ ทั้งในกลุ่มตัวอย่างที่จนและร่ำรวย โดยแต่ละชุมชนจะมีระดับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน ประกอบด้วยคนผิวขาวชาวอังกฤษ ชาวยุโรปตะวันออก อินเดีย ปากีสถาน แอฟริกัน เอเชียน เป็นต้น เขาใช้แบบสอบถามเพื่อวัดระดับความเชื่อใจที่กลุ่มตัวอย่างมีต่อเพื่อนบ้านในชุมชนของเขา และทัศนคติด้านความอดทนอดกลั้นต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผลปรากฏว่าคนที่อยู่ในชุมชนที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรมสูง จะมีความอดทันอดกลั้นทางวัฒนธรรมสูง แต่ความไว้ใจต่อผู้ร่วมชุมชนกลับไม่ได้สูงตาม กล่าวอย่างง่ายๆ คือ พวกเขาอาจจะไม่รู้สึกตะขิดตะขวงที่ต้องอยู่บ้านติดกับคนดำ แต่ก็ไม่ได้เปิดใจมากพอที่จะชวนพวกเขามาปาร์ตี้ที่บ้านทุกคืนวันศุกร์

เช่นเดียวกับกรณีสังคมไทย เราอาจจะอยู่ท่ามกลางคนอีสานหรือคนต่างด้าวมากมาย เราเหมือนจะยอมรับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเดียวกันกับเรา แต่ลึกแล้วๆ เขาก็ยังคงไม่ใช่พวกเรา อาจจะเพราะเขาจนกว่าเรา พูดสำเนียงไม่เหมือนเรา ทำงานต่างจากเรา หากเราตกลงไปในหลุมพรางทางจิตวิทยาที่ชื่อว่า relative deprivation เราจะคิดง่ายๆ แค่ว่าเพราะพวกเขาขี้เกียจกว่าเรา มาจากคนละภูมิภาคจากเรา เรียนต่ำกว่าเรา ไม่มีศีกดิ์ศรีเท่าเรา 

เป็นไปได้ไหมที่เราจะเลิกเปรียบเทียบ? คนที่ทำงานในออฟฟิสวันละแปดชัวร์โมง ก็ไม่ได้ขยันมากหรือน้อยไปกว่า คนที่ทำงานในไซต์ก่อสร้างวันละสิบชั่วโมงและตกเย็นมายังต้องรับจ้างทำความสะอาดต่ออีกสามชั่วโมง พนักงานเงินเดือนที่ต้องหาเงินผ่อนคอนโด จ่ายหนี้บัตรเครดิต อัพรูปตามร้านอาหารหรูลงไอจี ก็ไม่ได้มีศักดิ์ศรีมากน้อยไปกว่า สาวโรงงานที่ต้องเลี้ยงลูกสามคนตัวคนเดียวและใช้เวลาว่างช่วงวันหยุดกับในวงดัมมี่แถวบ้าน 

สุดท้ายแล้วมันจึงไม่ใช่ “อุปนิสัยที่ชี้ชะตา” แต่คือ “โอกาสและความเหลื่อมล้ำ” ต่างหากที่ชี้ชะตาเราทุกคน

 


เอกสารอ้างอิง

- Laurence, J. (2011). The Effect of Ethnic Diversity and Community Disadvantage on Social Cohesion: A Multi-Level Analysis of Social Capital and Interethnic Relations in UK Communities. European Sociological Review 27(1), 70-89.
- Smith, H. J., & Pettigrew, T. F. (2014). The subjective interpretation of inequality: A model of the relative deprivation experience. Social and Personality Psychology Compass, 8(12), 755-765.

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: กรกฤช สมจิตรานุกิจ อดีตผู้สื่อข่าว ประชาไทอิงลิช ปัจจุบันศึกษาในระดับปริญญาโทอยู่ประเทศเยอรมนี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net