อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย (3): ระบอบทหารอำพรางด้วยเลือกตั้ง ดูดบังคับการสนับสนุน

ซีรีส์งานเสวนา ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย’ เมื่อชนชั้นนำสร้างรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกุมอำนาจ ท่ามกลางความหวาดกลัวความเปลี่ยนแปลงที่ซุกซ่อนอยู่ในใจ ผ่านมุมมอง 'สิริพรรณ นกสวน สวัสดี'

  • การร่างรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำไทยมุ่งไปที่การยึดกุมโครงสร้างสถาบันการเมืองมากกว่าการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน
  • รัฐธรรมนูญ 2560 ได้สร้างระบอบทหารที่อำพรางด้วยการเลือกตั้งโดยการดูดบังคับการสนับสนุนและมีการเลือกตั้งที่ไม่ตรงไปตรงมา
  • รัฐธรรมนูญ 2560 สร้างระบบเลือกตั้งที่ต้องการกำจัดอิทธิพลของพรรคการเมืองขนาดใหญ่และให้โอกาสพรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นระบบเลือกตั้งที่ทำลายความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของพรรคการเมือง
  • ระบบเลือกตั้งที่ดำรงอยู่จะเป็นภัยคุกคามต่อระบอบที่ชนชั้นนำสร้างขึ้น ซึ่งประเด็นนี้อาจนำไปสู่ฉันทามติร่วมกันในระดับหนึ่งในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

งานเสวนา ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย’ ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ประกอบด้วยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวรรณภา ติระสังขะ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันบรรยายให้เห็นอดีตที่พ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะของประชาธิปไตย ปัจจุบันที่มีแสงสว่างอยู่บ้าง แต่ความมืดหม่นเข้มกว่า และอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะต้องเสียเลือดเนื้ออีกหรือไม่หากชนชั้นนำไทยขาดสติปัญญาที่จะคิดให้ทันความเปลี่ยนแปลง

‘ประชาไท’ ขอนำเสนอคำบรรยายโดยละเอียดของวิทยากรทั้ง 4 พร้อมกับข้อคิดเห็นของเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นการใช้ความชอบธรรมสู้กับรัฐเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี (แฟ้มภาพ)

ตอนที่ 3 เป็นการบรรยายของสิริพรรณ นกสวน สวัสดี

สิทธิเสรีภาพที่ไม่มีอยู่จริง

วันนี้จะขอเริ่มการสนทนาด้วยคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพกับความมั่นคง ตนเองเห็นด้วยมากกับอาจารย์ประจักษ์ที่ว่าสิทธิพื้นฐานของประชาชนเป็นสิทธิที่ระบอบประชาธิปไตยต้องรับรอง ส่วนเหตุผลด้านความมั่นคงจะนำมาใช้ละเมิดสิทธิได้ก็ต่อเมื่อมีภาวะวิกฤติ เช่น สงครามหรือภัยพิบัติ

พอมาดูประเด็นนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในหมวดที่ 3 ซึ่งว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยตั้งแต่มาตรา 25 จนถึงมาตรา 70 หลายประโยคเมื่อพูดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะลงท้ายด้วยประโยคว่าตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ มันแปลว่าความมั่นคงของรัฐมีความสำคัญเหนือสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

เมื่อวานนี้ได้ฟังข่าวว่ามีโรงเรียนประกาศอย่างเป็นทางการห้ามนักเรียนหญิงตัดผมม้า ถ้าตัดผมม้า ผู้ปกครองจะต้องมาเซ็นสัญญาว่าถ้าทําผิดกฎ 3 ครั้งต้องลาออก อันนี้ก็คือการใช้อำนาจของโรงเรียนออกกฎของโรงเรียนเองเหนือสิทธิของประชาชน เราจะเห็นบรรยากาศแบบนี้บ่อยครั้งมากในสังคมไทย ก็คือสิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกละเมิดโดยองค์กรและสถาบันทางการเมืองประหนึ่งว่า สิทธิที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีอยู่จริง ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ไม่มีอยู่จริง

ที่พูดประเด็นนี้เพื่อจะบอกว่าเนื่องจากสิทธิของประชาชนไม่มีอยู่จริง เราก็เลยโหยหามันมาก เวลาเรามองรัฐธรรมนูญเราจะประเมินดูว่ารัฐธรรมนูญแต่ละฉบับให้สิทธิเสรีภาพมากน้อยแค่ไหน แต่จริงๆ แล้วชนชั้นนำทางการเมืองไทยไม่ได้สนใจประเด็นนี้เท่าไหร่หรอก สิ่งที่เขาสนใจก็คือเขาจะยึดกุมโครงสร้างสถาบันทางการเมืองได้อย่างไร เพราะโครงสร้างของสถาบันทางการเมืองนั้นเป็นที่มาของอำนาจรัฐและการใช้อำนาจรัฐ นี่ต่างหากคือประเด็นสำคัญและเป็นประเด็นที่เราจะพูดกันในวันนี้ ซึ่งมันจะโยงกับโครงสร้างอำนาจและระบบเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งมีความสำคัญเพราะเป็นที่มาว่าใครจะเป็นคนได้อำนาจรัฐและจะใช้มันอย่างไร

ระบอบทหารที่อำพรางด้วยการเลือกตั้งโดยการดูดบังคับ

ประเด็นที่จะพูดในวันนี้ได้มาจากคลิปของอาจารย์เกษียรที่พูดไว้เมื่อปี 2559 ที่อาจารย์ให้เอฟรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเด็นหลักที่อาจารย์เกษียรได้พูดไว้ก็คือว่ารัฐธรรมนูญอ่านเฉพาะตัวบทไม่พอจะต้องเชื่อมโยงกับระบบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อาจารย์ยังพูดถึงประชาธิปไตยแบบไทยๆ ด้วย และที่สำคัญต้องไปดูว่ามันเชื่อมโยงกับการจัดระเบียบอำนาจของ คสช. อย่างไร แล้วก็ไปโยงกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิมๆ

เวลาเรามองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราเห็นอะไร เราเห็นว่า คสช. และคนร่างรัฐธรรมนูญต้องการสร้างระบอบการเมืองแบบไหน อาจารย์ประจักษ์ได้พูดไว้แล้วว่ามันไม่มีเป้าหมายของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย อาจารย์ธำรงศักดิ์เรียกมันว่าระบบทหารอำพราง ดิฉันก็มองไม่ต่างไปจากอาจารย์ประจักษ์และอาจารย์ธำรงศักดิ์นัก ดิฉันคิดว่าสิ่งที่เราเห็นเวลาเรามองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือมันเปิดโอกาสให้ใครยึดกุมสถาบันทางการเมือง ถามทุกท่านที่อยู่ในห้องนี้ว่าเวลาเราเห็นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราเห็นตัวแสดงที่เป็นใครบ้าง ทหาร ส.ว. ดิฉันเรียกระบอบนี้ว่าระบอบทหารที่อำพรางด้วยการเลือกตั้งโดยการดูดบังคับการสนับสนุนและอาจต้องเน้นด้วยว่าระบอบนี้เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ตรงไปตรงมา

เราลองมาดูตัวแสดงที่เราเห็นในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราเห็นการยึดกุมอำนาจของชนชั้นนำ เราเห็นทหารตั้งแต่ตัวนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีหลายท่าน เห็นทหารใน ส.ว. จำนวนมาก เห็นทหารในกรรมการยุทธศาสตร์ นี่คือทหารในรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากทหาร ดิฉันเห็นกลุ่มทุนผูกขาดในรัฐธรรมนูญ เราเห็นอยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ อยู่ในนักการเมืองที่แฝงเข้ามาผ่านการเลือกตั้งที่ไม่ตรงไปตรงมา เราเห็นระบบราชการในองค์กรอิสระ นี่คือกลไกในรัฐธรรมนูญที่สร้างระบอบใหม่ขึ้นมา ดิฉันเชื่อจริงๆ ว่าเวลาที่คณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขามีตัวระบอบที่เขาอาจจะไม่ได้เอ่ยนาม แต่เป็นระบอบที่มีอยู่ในมโนคติของเขา

ในระบอบนี้ทั้งหมด เราจะมีรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้หรือไม่ แต่เราก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าเรากำลังต่อสู้กับกลุ่มชนชั้นนำที่ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือสร้างระบอบใหม่ที่เขาต้องการ จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญถูกใช้โดยชนชั้นนำทางการเมืองไม่ว่าจะเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยหรือย้อนกลับไปสู่อดีต หรือการสร้างระบอบใหม่ที่อำพรางไปกว่าเดิม ซึ่งดิฉันคิดว่าประเด็นนี้น่ากลัวเพราะว่ามันกลายเป็นรัฐธรรมนูญที่อาบยาพิษได้

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดช่องให้ตัวแสดงมีการกระทำบางอย่างที่แตกต่างไปจากในอดีตได้ ที่อยากจะยกตัวอย่างให้เข้ากับเหตุการณ์ เช่น การที่ ส.ส. จำนวนหนึ่งสามารถโหวตสวนมติพรรคได้ ถ้าย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญฉบับ 2514 และ 2534 ซึ่งร่างโดยคนเดียวกันก็คืออาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างในบรรยากาศที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของพรรคการเมืองให้มากขึ้น ก็เลยมีมาตราที่บอกว่าถ้า ส.ส. โหวตสวนมติพรรค พรรคสามารถขับออกได้ จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญถูกใช้ในการแก้ปัญหาสังคมในขณะนั้น พอมารัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็ยังเขียนว่าพรรคสามารถขับออกได้ แต่ ส.ส. สามารถไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นเป็นอย่างไรก็ยังถือเป็นมติของพรรคอยู่ดี

แต่พอมาเป็นรัฐธรรมนูญ 2560 ปรากฏว่าตัดข้อความเหล่านั้นออกไปทั้งหมด จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญเปิดช่องให้มีการกระทำบางอย่างที่ต่างไปจากเดิม เราจะเห็นนัยของการใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือเพื่อเปิดให้มีการดูดบังคับตัวแสดงทางการเมืองในระบบการเมืองได้อย่างคล่องตัวขึ้น นัยอาจจะเป็นว่าต้องการลดการครอบงำของพรรคการเมืองเพราะปัญหาหนึ่งที่ผ่านมาคนก็จะบอกว่าพรรคการเมืองครอบงำนักการเมืองมากเกินไป แต่ถ้าไม่ต้องการให้พรรคการเมืองครอบงำ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับหน้าอาจต้องพิจารณาเรื่องการให้มี ส.ส. อิสระไปเลยจะได้ไม่ต้องมากังวลเรื่องการครอบงำของพรรค และถ้า ส.ส. รู้สึกว่าการตัดสินใจเข้าร่วมแล้วจุดยืนเปลี่ยนไป ไม่ว่าพรรคเปลี่ยนไปหรือเราเปลี่ยนไปเองก็สามารถลาออกมาเป็น ส.ส. อิสระได้ อันนี้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือความย้อนแย้งของระบบเลือกตั้ง คือถ้าคุณไม่อยากให้พรรคการเมืองครอบงำ การที่คุณมีบัตรใบเดียวที่เลือกทั้งคนและพรรคในใบเดียวกันมันขัดแย้งกับการให้ ส.ส. สวนมติพรรคได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อที่มาในนามพรรค ท่านมาเพราะพรรคการเมือง แต่ถึงเวลาท่านโหวตสวนมติพรรคการเมืองที่ทำให้ท่านได้เลือกมา ประเด็นที่ต่อไปจากนี้ก็คือถ้ามีการยุบพรรคขึ้นมา ส.ส. พวกนี้ย้ายพรรคอีก หรือแม้แต่ ส.ส. ที่ย้ายไปแล้วอย่างคุณไพบูลย์ นิติตะวัน ท่านไม่ได้มาเพราะตัวท่าน แต่ท่านมาเพราะเสียงของพรรคการเมืองของท่าน อันนี้คือการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องโหว่ให้มีการดูดบังคับได้ง่ายๆ จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป้าหมายในการสร้างระบอบการเมืองใหม่

ที่น่าสนใจต่อมาก็คือว่าระบบเลือกตั้งมีความสําคัญเพราะเป็นที่มาของคนที่จะคุมอำนาจรัฐ ปัญหาของระบบเลือกตั้งเป็นปัญหาที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้ใส่เอาไว้ตั้งแต่แรกแล้ว มันเป็นระบบเลือกตั้งที่ต้องการกำจัดอิทธิพลของพรรคการเมืองใหญ่และให้โอกาสพรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดเล็กมากขึ้น แต่ระบบเลือกตั้งนี้ทำให้เกิดพรรคการเมืองหลายพรรคมากในสภาและนั่นเป็นปัญหาที่ทำให้ไม่สามารถมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ อันนี้คือโจทย์หลักของระบอบนี้คือไม่ต้องการให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง เป็นระบบเลือกตั้งที่ทำลายความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของพรรคการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้มีการดูดบังคับตัวแสดงทางการเมืองได้ง่าย จะเห็นว่าเป้าหมายเหล่านี้ถูกสร้างมาตั้งแต่แรกแล้ว มันมาเป็นองคาพยพเดียวกัน

4 ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญ 2560

โดยส่วนตัวจะประเมินว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้มเหลวใน 4 ประการ ประการแรกล้มเหลวเพราะไม่อาจสร้างรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ที่มีประสิทธิภาพ ที่มีความเข้มแข็ง ท่านอาจจะถามว่าแล้วจำเป็นหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องมีเสถียรภาพ ดิฉันคิดว่าต้องมีเสถียรภาพในระดับหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเสถียรภาพของรัฐบาลกับเสถียรภาพของระบอบการเมืองก็ไม่เหมือนกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูเหมือนว่าไม่ต้องการเห็นรัฐบาลที่มีอำนาจผูกขาด เราจะเห็นว่าการที่เป็นรัฐบาลผสม ถ้าคราวหน้าใช้ระบบเลือกตั้งแบบนี้อีกก็จะเป็นรัฐบาลผสมอีก อาจจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ

ความล้มเหลวประการที่ 2 คือปัญหาเรื่องการตรวจสอบ ถ่วงดุล การควบคุมความรับผิดชอบการใช้อำนาจรัฐ เราจะเห็นความอ่อนแอในการตรวจสอบรัฐบาล ความล้มเหลวของ ส.ว. ในการทำหน้าที่เพราะไม่ได้มาจากประชาชน

ความล้มเหลวประการที่ 3 ก็คือไม่สามารถสร้างความเสมอภาคและบรรเทาความเหลื่อมล้ำของประชาชนในระบบการเมืองได้ เพราะว่าตัวรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้กลุ่มทุนผูกขาดฉกฉวยการครอบงำทางธุรกิจ ที่สำคัญก็คือเปิดช่องให้ทุนต่างชาติอย่างทุนจีนเข้ามาค้าขาย

ความล้มเหลวประการสุดท้ายของรัฐธรรมนูญก็คือไม่สามารถสร้างฉันทามติหรือเอกภาพทางการเมืองได้ ในขณะเดียวกันกลับกลายเป็นชนวนของความขัดแย้ง อย่างตัวระบบเลือกตั้ง ดิฉันเชื่อว่าพอใช้ไปนานๆ พรรคการเมืองจะทะเลาะกันเอง อย่างกรณีพรรคอนาคตใหม่ถ้ายังไม่ถูกยุบ คราวหน้าก็จะไม่มีใครอยากลง ส.ส.เขต ทุกคนก็อยากจะลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในขณะที่ถ้าอยู่พรรคเพื่อไทยทุกคนอยากลง ส.ส.เขต ไม่มีใครอยากลง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ระบบแบบนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้เกิดความอ่อนแอในระบบพรรคการเมืองและทำให้คนทะเลาะกันเอง

ต้องมีประชาชนเป็นหัวใจหลักของรัฐธรรมนูญ

ประเด็นสุดท้าย เรื่องการสถาปนารัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวดิฉันคิดว่ามันไม่สำคัญนักว่าใครเป็นคนมีอำนาจในการสถาปนา แต่มันสำคัญมากกว่าว่าตัวรัฐธรรมนูญนั้นต้องมีประชาชนอยู่ในหัวใจ ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าอำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชนไม่สำคัญ แต่หากเราย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศอื่นๆ อย่างเช่นรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาก็ถูกร่างขึ้นมาโดยคนกลุ่มเดียวซึ่งเป็นชนชั้นนำด้วย แต่มันก็เป็นรัฐธรรมนูญที่อยู่ได้อย่างยาวนานที่สุดในโลกและมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะยอมรับความแตกต่างและสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือในหลายประเทศกษัตริย์เป็นผู้หยิบยื่นรัฐธรรมนูญให้ด้วยซ้ำ เช่น ในสวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ ก็เป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวนานไม่แพ้กันและเป็นรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ต่างกัน

ดังนั้น ลักษณะร่วมกันของรัฐธรรมนูญที่ดีไม่ใช่อยู่ที่ว่าใครเป็นคนร่าง แต่มันอยู่ที่ว่าในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญนั้นมีประชาชนเป็นหัวใจหลักหรือไม่ ถ้าเราดูที่อาจารย์ประจักษ์พูดว่ารัฐธรรมนูญ 2489 2417 และ 2540 ที่เรามองว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย มันถูกสร้างขึ้นมาในบรรยากาศของการมีฉันทามติและการประนีประนอมรอมชอมบางอย่าง ดิฉันก็คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่บางทีมันอาจไม่จำเป็นต้องฉีกใหม่ทั้งฉบับได้หรือไม่ หรือมันอาจจะไม่จำเป็นต้องแก้แล้วมีความเป็นประชาธิปไตยแบบที่แข็งขืนจนชนชั้นนำบางกลุ่มรับไม่ได้หรือเปล่า ดิฉันพยายามจะพูดในแง่ที่ว่าเราอยู่ในบรรยากาศที่แตกต่างไปจากปี 2540 ซึ่งไม่มีการแบ่งขั้วความคิดทางการเมืองมากขนาดนี้ ดังนั้น การมีฉันทามติและการรอมชอมทางการเมืองในปัจจุบัน ดิฉันคิดว่าถ้าไม่มองในแง่อุดมคติแล้วมันเกิดขึ้นได้ยากมาก

ดิฉันฟังนักการเมืองท่านหนึ่งพูดว่าถ้าไม่ได้มาด้วยเลือดก็ต้องมาด้วยความยินยอม ดิฉันคิดว่ามันเป็น 2 ขั้วที่อันตราย บางทีเราอาจจะต้องมองว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้ แต่อาจจะไม่ดีที่สุดเท่าที่เราอยากได้ แต่มันสร้างการยอมรับในระดับหนึ่งแล้วค่อยๆ แก้ ดิฉันขอยกตัวอย่างอินโดนีเซียที่ใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างมาตั้งแต่ปี 1945 ใช้มาตั้งแต่ซูการ์โน ซูฮาร์โตที่เป็นเผด็จการมากกว่าไทย ยาวนานกว่าไทย สิ่งที่เขาทำคือเขาค่อยๆ แก้ แก้ 4 ครั้งจนได้รัฐธรรมนูญที่เอื้อให้อินโดนีเซียเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้ โจทย์นี้ดิฉันไม่มีคำตอบ ดิฉันคิดว่าสถานการณ์ภายในปีนี้และปีต่อไปจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ได้อย่างไร โดยที่ดิฉันไม่อยากเห็นการเสียเลือดเสียเนื้อ

โจทย์ 2 ข้อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีบ้างหรือไม่ ดิฉันอยากจะตอบว่าการที่ดิฉันมองไม่เห็นมันเลยอาจจะไม่ได้แปลว่ามันไม่ดี แต่ดิฉันไม่เห็นเลยจริงๆ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกร่างขึ้นมาโดยความเชื่อมั่นของชนชั้นนำว่า ถ้าสามารถสร้างระบบการเมืองอะไรก็ตามที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง โดยอาจจะมียุคสมัยของพลเอกเปรมเป็นโมเดลหลักก็คือไม่จำเป็นต้องเป็นประชาธิปไตย แอบซ่อนอำพรางเอาไว้ หวังว่าชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ จะสามารถนำมาซึ่งการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้ประชาชนได้ และตรงนั้นจะทำให้ประชาชนพอใจ แล้วระบบนี้ก็จะมั่นคงไปในระดับหนึ่งในช่วงเวลาที่ชนชั้นนำกำลังหวาดกลัวกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเรียกว่าเข้มข้นและรุนแรงเกินกว่าจะรับได้ อันนี้เป็นสิ่งที่เขามีอยู่ในใจ

แต่ในความเป็นจริงมันปรากฏว่าความมั่นคงตรงนี้ไม่ได้นำมาซึ่งการพัฒนา ความอยู่ดีกินดี หรือความสงบสุขของประชาชนอย่างที่เขามีจินตภาพเอาไว้ อาจจะด้วยเศรษฐกิจโลกในช่วงขาลง ความไร้ความสามารถ จึงทำให้สภาพสังคมตอนนี้เกิดแรงกระเพื่อมที่รุนแรง เกิดการตั้งคำถามว่าทั้งหมดที่เป็นปัญหาอยู่ในสังคมตอนนี้เป็นผลจากรัฐธรรมนูญหรือเปล่า บางคนก็บอกว่าใช่ บางคนก็บอกว่าไม่ใช่ แต่คนที่บอกว่าใช่มันชัดเจนที่โยงไปว่าใครเป็นคนบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้นำมาซึ่งกลุ่มคนที่บริหารประเทศหน้าตาแบบนี้ ซึ่งไม่ได้มาจากเราเสียทีเดียว จำนวนหนึ่งมาจาก ส.ว. 250 คน ซึ่งในที่สุดเปิดมาเห็นกรรมการสรรหา กรรมการสรรหาก็สรรหาตัวเองด้วย มันจึงทำให้ความมั่นคงที่คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างขึ้นมาได้ไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งที่อยู่ในใจ และผลพวงที่ตามมาอย่างที่เราใช้คำว่าดุลยภาพ มันได้สร้างอารมณ์บางอย่างในกลุ่มคนจำนวนหนึ่งแล้ว

ก็ต้องถามต่อไปว่าอารมณ์ที่คุกรุ่นอยู่ตอนนี้ มันจะพัฒนาไปสู่อะไร โดยส่วนตัวก็คิดว่าปีนี้ ความต้องการและแรงกดดันต่อความเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้นที่เป็นไปได้ก็มีตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาที่บอกว่าใครจะขึ้นมาบริหารประเทศมันจึงสำคัญ มันก็เลยย้อนกลับมาสู่ 2 ประเด็นที่พูดเอาไว้คือมันต้องตอบว่าโครงสร้างอำนาจรัฐตอนนี้ใครคุมอยู่ ถ้าคุณคุมอยู่แล้วไม่มีปัญญาในการบริหารประเทศให้ประชาชนอยู่สุขสบายในระดับหนึ่งได้ แล้วอ้างแต่ความมั่นคง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มันอยู่ไปไม่รอด

ถ้าจะต้องแก้รัฐธรรมนูญอะไรที่เป็นโจทย์หลักเบื้องต้นดิฉันคิดว่ามี 2 ประเด็น หนึ่งก็คือที่มาของผู้ใช้อำนาจรัฐนั่นก็คือตัวระบบเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งนี้เขียนขึ้นมาโดยมีเพื่อไทยเป็นโจทย์หลักก็คือต้องการลดอิทธิพลของพรรคใหญ่และสามารถจัดการพรรคเพื่อไทยได้ในระดับที่เขาพอใจ แต่โจทย์นี้มันได้เกิดผลข้างเคียงซึ่งก็คืออนาคตใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในสมการของการออกแบบระบบเลือกตั้งแต่เดิม ในที่สุดแล้วตัวระบบที่คิดว่าจะมีความมั่นคงเลยเจอกับภัยคุกคามที่ไม่ใช่แค่เพื่อไทยที่จัดการไปได้แล้ว กลับเกิดอีกพรรคหนึ่งขึ้นมาที่มีฐานสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ ซึ่งคนเหล่านี้คาดการณ์ไม่ได้ ไม่ได้อยู่ภายใต้ความขัดแย้งเดิมๆ และไม่ได้อยู่ภายใต้ความคาดหวังเดิมด้วย นี่คือความสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้น

ถ้าเราไปดูระบบเลือกตั้งจะพบว่า จริงๆ แล้วพรรคหลักๆ ที่ได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งนี้คือพรรคอนาคตใหม่ พรรคพลังประชารัฐถ้าใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 40 หรือปี 50 พรรคพลังประชารัฐจะได้ที่นั่งมากกว่านี้และถ้าการเลือกตั้งครั้งหน้าใช้ระบบเลือกตั้งนี้อีก สิ่งที่ชนชั้นนำกลุ่มนี้จะต้องเผชิญก็คือต้นทุนที่สูงมากในการที่จะดูดบังคับคนมาสนับสนุน อย่าลืมว่าตอนนี้รัฐบาลเป็นเสียงปริ่มน้ำ ดังนั้น ตัวระบบเลือกตั้งนี้เองมันจึงเป็นภัยคุกคามต่อระบบที่เขาพยายามจะสร้าง ในแง่นี้ตัวระบบเลือกตั้งอาจจะเป็นฉันทามติเบื้องต้นที่จะทำให้ทุกฝ่ายอยากจะแก้ร่วมกัน

อีกตัวหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าเป็นตัวสร้างอารมณ์ร่วมได้มากที่สุดก็คือ ส.ว. เพราะบทบาทของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีจะอยู่กับเราไปถึง 8 ปี คำถามคือว่าแรงกดทับที่มีต่อสังคมจะรับได้หรือเปล่า ยิ่งมีการพูดถึงที่มาอันไม่ชอบธรรมของ ส.ว. มากขึ้นก็อาจจะเป็นอีกมิติหนึ่งในการขอให้มีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ประเด็นเรื่อง ส.ว. ขอยกตัวอย่างย้อนหลังว่ารัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับใช้ ส.ว. เป็นเครื่องมือในการถ่วงดุลกับอำนาจของประชาชนทั้งสิ้น ดิฉันเรียกมันว่ากลไกในการคัดง้างกับอำนาจของประชาชนโดยชนชั้นนำ ดังนั้น ส.ว. จึงเป็นกลไกอัตโนมัติที่มีอยู่ในทุกรัฐธรรมนูญ ยกเว้นรัฐธรรมนูญ 40 ที่ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แรงกดดันให้เปลี่ยนที่มาของ ส.ว. อาจจะยาก แต่ดิฉันคิดว่านี่จะเป็นจุดพลิกผันที่ทำให้เรามีระบอบการเมืองใหม่ที่หน้าตาถูกใจเรามากขึ้น

ดิฉันเป็นกลุ่มที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปและมีดุลยภาพของการสร้างฉันทามติในระดับหนึ่ง แต่อย่างที่อาจารย์ประจักษ์พูด โจทย์ในสังคมไทยตอนนี้ยากกว่าในอดีต ดังนั้น การสื่อสารไปยังชนชั้นนำทางการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญ การสร้างอารมณ์ร่วมในระดับที่พอเหมาะที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นแบบรอมชอมได้น่าจะเป็นโจทย์ที่สำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท