Skip to main content
sharethis

นักวิชาการด้านความมั่นคง-สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ อิหร่านจะโต้ตอบสหรัฐฯ ที่สังหารกอเซ็ม สุไลมานี นายทหารอิหร่านคนสำคัญในภูมิภาคอย่างไรบ้าง คาด จะใช้ขีปนาวุธตัวเองโจมตีเป้าหมาย อาศัยกลุ่มติดอาวุธ ไปจนถึงสังหารคนระดับเดียวกันในแผ่นดินสหรัฐฯ แนะ ทรัมป์ควรป้องกันการโจมตีเป้าหมาย ประกาศความสำเร็จและหยุดปฏิบัติการทหาร แต่ด้วยอุปนิสัย ก็อาจยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลง

กองทัพสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเดินขบวนในงานพาเหรด ภาพเมื่อปี 2554 (ที่มา:วิกิพีเดีย)

อิลาน โกลเดนเบิร์ก ผู้อำนวยการโครงการความมั่นคงตะวันออกกลางของศูนย์เพื่อความมั่นคงอเมริกันใหม่ วิเคราะห์ถึงกรณีเหตุโจมตีกอเซ็ม สุไลมานี ผู้บัญชาการกองกำลังคุดส์ของอิหร่าน ผู้มีบทบาทสำคัญในการประสานงานและสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในตะวันออกกลาง และเป็นคนที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของสหรัฐฯ

‘สุไลมานี’ สำคัญอย่างไร

โกลเดนเบิร์กเขียนประวัติการเคลื่อนไหวของสุไลมานีว่า เขาเป็นคนที่นำการติดอาวุธและฝึกการรบให้กับกองกำลังนิกายชีอะฮ์ในอิรักซึ่งเป็นกองกำลังที่ทำให้กองทัพอเมริกันเสียชีวิตราว 600 นายในช่วงสงครามอิรักปี 2546-2554 เขายังเป็นคนที่คอยทำให้อิหร่านมีอิทธิพลต่ออิรักหลังจากนั้น รวมถึงการพยายามต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอซิส) นอกจากนี้ยังทำให้อิหร่านออกนโยบายติดอาวุธและสนับสนุนประธานาธิบดีเผด็จการบาชาร์ อัล อัสซาด ของซีเรีย และวางกำลังกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ไว้ในซีเรีย 50,000 นายด้วย

สุไลมานียังเป็นผู้เชื่อมสัมพันธ์กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ องค์กรทางการเมืองที่ติดอาวุธในเลบานอน โดยคอยจัดหาขีปนาวุธและจรวดนำวิถีไปให้ฮิซบอลเลาะห์ใช้ข่มขู่อิสราเอล นอกจากนี้ยังดำเนินยุทธศาสตร์ในการติดอาวุธให้กับกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนด้วย จากเรื่องราวเหล่านี้ทำให้สุไลมานีอยู่ในสถานะเปรียบเสมือนวีรบุรุษที่มีคนชื่นชมในพื้นที่ตะวันอออกกลาง การสังหารสุไลมานีโดยสหรัฐฯ จึงเปรียบเสมือนการสังหารคนที่มีความสำคัญและทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในตะวันออกกลาง

โกลเดนเบิร์กวิจารณ์ว่าคำกล่าวอ้างของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่าสุไลมานีเป็น "ผู้ก่อการร้าย" และการลอบสังหารเขาถือเป็นปฏิบัติการในเชิงปกป้องไม่ให้เกิดเหตุโจมตี ซึ่งถึงแม้ว่าเรื่องนี้อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่การโจมตีลอบสังหารผู้นำทหารคนนี้ก็ถือเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยง เพราะในช่วงที่ผ่านมาหลังจากที่สหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2561 ก็เปิดทางให้ความขัดแย้งขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ

แม้ในช่วงแรกๆ ที่สหรัฐฯ ถอนตัวอิหร่านจะดำเนินการแบบอดกลั้นเพื่อหวังว่าจะทำให้สหรัฐฯ โดดเดี่ยวในทางการทูตและได้รับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจจากกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าร่วมข้อตกลงปลดอาวุธนิวเคลียร์ แต่พอถึงช่วงเดือน พ.ค. 2562 อิหร่านก็กลับฝ่าฝืนข้อตกลงเสียเองและยกระดับความตึงเครียดทั่วภูมิภาค เช่น ก่อเหตุโจมตีเรือบรรทุกสินค้านานาชาติในเดือน พ.ค.-มิ.ย. จากนั้นก็ยิงโดรนของสหรัฐฯ ตกจนแทบจะกลายเป็นการประกาศความเป็นปฏิปักษ์อย่างเปิดเผยกับสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. ก็มีเหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ยังมีกลุ่มติดอาวุธชีอะฮ์ที่ยิงขีปนาวุธใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ในอิรักเมื่อราวสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ทำให้มีชาวอเมริกันเสียชีวิต จึงมองได้ว่าการโจมตีสุไลมานีในครั้งนี้เป็นการโต้ตอบจากสหรัฐฯ 

เปิดความเป็นไปได้ของการตอบโต้: ขีปนาวุธ สงครามตัวแทน โจมตีในแผ่นดินสหรัฐฯ

คำถามที่สำคัญหลังจากการเสียชีวิตของสุไลมานีก็คือ อิหร่านจะตอบโต้หรือไม่ และอย่างไร หลังจากปฏิกิริยาเชิงสัญลักษณ์ทั้งการสาปแช่งทรัมป์ในสภาผู้แทนราษฎร และชักธงสีเลือดขึ้นบนยอดมัสยิดจามคาราน มัสยิดศักดิ์สิทธิ์ของนิกายชีอะฮ์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์ความมุ่งหมายจะล้างแค้นด้วยเลือด เมื่อคืนวันที่ 7 ม.ค. อิหร่านก็ได้ยิงขีปนาวุธจำนวน 15 ลูก (ตามที่สื่อของทางการอิหร่านระบุ) ใส่ฐานทัพอากาศอิน อัล-อาซาด ทางตะวันตกของประเทศอิรัก 

การโจมตีด้วยขีปนาวุธใส่ฐานทัพสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง และโรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่ประเทศอ่าวเปอร์เซีย เป็นหนึ่งในความเป็นไปได้ในการตอบโต้ของอิหร่าน กรณีการโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในเดือน ก.ย. 2562 ในซาอุดิอาระเบีย ที่หลายประเทศเชื่อว่าอิหร่านอยู่เบื้องหลัง ส่งผลกระทับกับสถานการณ์น้ำมันโลกมาก โกลเดนเบิร์กระบุอีกว่าถึงแม้ที่ผ่านมาอิหร่านจะโจมตีในวงแคบ และเน้นให้เป็นการโจมตีเชิงสัญลักษณ์ แต่หลังจากเหตุการณ์สังหารสุไลมานีก็อาจจะทำให้พวกเขาก่อเหตุแบบรุกหนักขึ้น โดยประเมินจากปฏิบัติการโจมตีด้วยขีปนาวุธในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ

โกลเดนเบิร์กวิเคราะห์ว่า อิหร่านอาจจะไม่โจมตีโต้ตอบกลับอย่างเร่งด่วน แต่จะคอยหาวิธีการได้ผลที่สุดในการโจมตีโต้ตอบ แต่ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงการทำสงครามกับสหรัฐฯ อย่างเต็มรูปแบบ หากไปให้ถึงที่สุด การตอบโต้ที่ถือว่า 'ได้สัดส่วน' สำหรับอิหร่านนั้นคงเป็นการโจมตีเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่มีสถานะเทียบเท่ากับสุไลมานีในดินแดนสหรัฐฯ แต่ในกรณีนี้ สหรัฐฯ คงจะจัดการการโจมตีได้ง่ายกว่าในพื้นที่นอกประเทศ ดังที่เคยทำลายแผนการก่อการร้ายจากอิหร่านเมื่อปี 2554 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอิหร่านปฏิบัติการในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ดีกว่านอกภูมิภาค

อีกกลุ่มหนึ่งที่ควรเฝ้าระวังคือกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอนที่มีสายสัมพันธ์กับอิหร่าน อาจจะเป็นไปได้ที่กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่โจมตีเป้าหมายอเมริกันในเลบานอน อย่างไรเสีย เมื่อ 5 ม.ค. ที่ผ่านมา ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ ก็ประกาศให้มีการโจมตีโต้ตอบเฉพาะเป้าหมายที่เป็นของกองทัพสหรัฐฯ เท่านั้นและให้อย่าโจมตีพลเรือนสหรัฐฯ ไม่เช่นนั้นจะไปเข้าทางนโยบายของทรัมป์ 

สื่อ Axios ก็ตั้งข้อสังเกตว่าในคำแถลงของนาสรัลเลาะห์มีการตีตัวออกห่างจากอิหร่านด้วยโดยระบุว่า "พวกเราไม่ใช่เครื่องมือที่จะถูกชี้นำจากอิหร่าน" ทั้งนี้ก็ควรระวังความเป็นไปได้ที่ฮิซบอลเลาะห์จะโจมตีเป้าหมายอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางอย่างอิสราเอลถึงแม้จะมีโอกาสน้อยมากเพราะฮิซบอลเลาะห์เองก็ไม่อยากเปิดฉากทำสงครามเต็มรูปแบบกับอิสราเอลเช่นกัน

การเสริมแสนยานุภาพทางอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่าน หนึ่งในปัญหาใจกลางสำคัญระหว่างอิหร่าน-สหรัฐฯ และนานาชาติ ก็เป็นประเด็นที่ถูกจับตามอง เพราะตอนนี้อิหร่านได้ใช้โอกาสจากความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมา ประกาศเร่งเสริมสมรรถนะยูเรเนียมอย่างไม่มีขีดจำกัด ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงนิวเคลียร์ แต่จะยังคงร่วมมือกับสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) ต่อไป

ในปี 2562 อิหร่านเริ่มขยับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมทุกๆ 60 วัน และอาจจะเร่งเสริมสมรรถนะมากขึ้นอีกจนถึงร้อยละ 19.75 คือระดับที่สามารถพัฒนาเป็นอาวุธได้ และด้วยสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ก็ยิ่งทำให้แนวโน้มของการหยุดยั้งการเสริมสมรรถนะยูเรเนียมลดลง

โกลเดนเบิร์กเสนอแนะว่า สหรัฐฯ ควรเตรียมรับมือการโจมตีจากกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์ในอิรักที่มีโอกาสจะโจมตีกองกำลังสหรัฐฯ นักการทูต และพลเรือนสหรัฐฯ โดยที่กลุ่มติดอาวุธเองก็ได้ยกระดับการก่อเหตุในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา รวมถึงเป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อคำสั่งของอิหร่านมากที่สุดในฐานะการใช้อิรักเป็นพื้นที่สงครามตัวแทน ความสัมพันธ์เช่นว่า ประเมินจากการที่อาบู มาห์ดี อัล-มูฮานดิส นายพลระดับสูงของกลุ่มกองกำลังดังกล่าวก็ถูกสังหารในเหตุโจมตีสุไลมานีด้วย

โกลเดนเบิร์กระบุอีกว่านอกเหนือจากเรื่องการรับมือการก่อเหตุแล้ว รัฐบาลทรัมป์ควรจะดำเนินการทางการทูตเพื่อลกความตีงเครียดกับอิหร่านด้วยการเข้าหาประเทศคู่สัมพันธ์กับสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอิหร่านด้วยอย่างโอมาน และขีดเส้นบางอย่างที่จะไม่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจากทางอิหร่านอีก เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว ทรัมป์ควรจะพอใจที่จะประกาศชัยชนะจากการสังหารสุไลมานีสำเร็จและไม่ควรมีปฏิบัติการทางทหารมากไปกว่านี้ แต่โกลเดนเบิร์กแสดงความเป็นห่วงว่าการพอใจกับเป้าหมายและอดกลั้นแบบนี้ไม่เป็นไปตามตัวตนของทรัมป์ เมื่อประเมินจากความคับแค้นที่มีอยู่ในอิหร่าน ทรัมป์อาจจะทำอะไรผลีผลามที่จะดึงอิหร่านกับสหรัฐฯ เข้าสู่ความขัดแย้งที่ใหญ่กว่านี้ได้

มีข้อสังเกตว่าการโจมตีสุไลมานีนั้นถือเป็นการล่วงล้ำพื้นที่อธิปไตยของอิรักและอาจจะทำให้สหรัฐฯ ถูกกดดันให้ถอนกองทัพออกจากอิรัก ซึ่งสอดคล้องกับมติในรัฐสภาอิรักที่ต้องการให้รัฐบาลอิรักยุติการคงทหารสหรัฐฯ จำนวนทั้งสิ้นราว 5,200 นายออกจากอิรัก ซึ่งโกลเดนเบิร์กมองว่าประชาชนอิรักไม่ชอบให้มีทั้งกองกำลังของสหรัฐฯ หรืออิหร่าน และก็กลัวว่าอิรักอาจจะกลายเป็นสนามรบระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่านซึ่งจะส่งผลร้ายต่อประชาชนชาวอิรักเอง อย่างไรก็ตามสหรัฐฯ คงไม่ยอมถอนทัพออกจากพื้นที่ง่ายๆ เพราะจะกระทบกับปฏิบัติการสู้รบกับไอซิสที่อาจฉวยโอกาสจากความขัดแย้งครั้งนี้เพิ่มอิทธิพลให้ตัวเอง

เรียบเรียงจาก

Will Iran’s Response to the Soleimani Strike Lead to War?, Foreign Affairs, Jan. 3,2020

Hezbollah leader says only U.S. military should be targeted in retaliatory attacks, Axios, Jan. 6, 2020

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Abu_Mahdi_al-Muhandis

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net