Skip to main content
sharethis

สภาฯ งบกองทัพ 1.2 แสนล้าน ยืนตามกมธ.ข้างมาก ขณะที่ อภิปราย พ.ร.บ.งบฯ ปี 63 วงเงิน 3.2 ล้านล้าน ประธาน กมธ. ย้ำยึดหลักจัดสรรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูประเทศ 'อนาคตใหม่' ชี้ 2 หลักการพิจารณาหั่นงบฯ แนะ 'เซ็ตซีโร่' หน่วยงานไม่จำเป็น 'เพื่อไทย' ขอปรับลด 15% ชี้ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนที่แท้จริง  

8 ม.ค.2563 การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ในวาระสองและวาระสามตามที่ กมธ. วิสามัญฯ ที่มี อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานได้พิจารณาเสร็จแล้ว 

เมื่อการประชุมเข้าสู่การพิจารณาในมาตรา 8 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงกลาโหม และหน่วยงานในกำกับ จำนวน 1.2 แสนล้านบาท เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของการปฏิบัติภารกิจทหาร เช่น การแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 16 ปีแต่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้คลี่คลายได้ 

โดยก่อนลงมติ มีการอภิปรายขอปรับลดงบประมาณ กระทั่งเวลา 23.10 น. ที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติ 247 ต่อ 195 งดออกเสียง 11 เห็นชอบมาตรา 8 ที่กมธ.เสียงข้างมากได้มีการแก้ไขจากร่างเดิม

สำหรับประเด็นที่มีการอภิปรายก่อนลงมตินั้น ซูการ์โน่ มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ อภิปรายว่า ตนขอปรับลดงบประมาณของกระทรวงกลาโหม 30% เพราะความล้มเหลวในการแก้ปัญหาไฟใต้ โดยตลอด 16 ปี พบการสูญเสียของตำรวจและทหาร เป็นจำนวนมาก อีกทั้งตนคิดว่าประเทศอยู่ในภาวะปกติ ไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม ดังนั้นต้องมีการตั้งงบประมาณกองทัพให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

“5 ปีที่ผ่านมากองทัพตั้งงบประมาณโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการตั้งตอบโจทย์ผิด ควรนำงบในส่วนนี้มาพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เช่น การศึกษา สำคัญกว่าการจัดซื้ออาวุธ ซึ่งที่ผ่านมาการจัดซื้ออาวุธทั้งการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200 รวมทั้งเรือเหาะ และตามมาด้วยเรือดำน้ำ ถือเป็นการล้มเหลวของการจัดซื้ออาวุธ ซึ่งตนมองว่าไม่เกิดประโยชน์” ซูการ์โน่ กล่าว

วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอลดงบประมาณกระทรวงกลาโหม 10 % พร้อมตั้งคำถามถึงการจัดสรรงบลับในกระทรวงให้กับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ดูแลงานด้านกฎหมายและนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ดูแลงานด้านเศรษฐกิจเดือนละ 1 ล้านบาท ซึ่งขอให้กมธ. ชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวว่าทราบและตรวจสอบหรือไม่ ว่าจัดสรรงบลับให้รองนายกฯ​ ที่ไม่เกี่ยวกับงานทหารเพื่ออะไร หากงบประมาณใช้ไม่หมดควรส่งคืนคลัง

ประธาน กมธ. ย้ำยึดหลักจัดสรรงบฯ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูประเทศ

โดยก่อนหน้านั้น อุตตม ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2563 ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ว่า กรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณารายละเอียดของหน่วยรับงบประมาณรวม 523หน่วย และรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้รับงบประมาณรวม 6 หน่วยงาน โดยได้ปรับลดงบประมาณลงทั้งสิ้น 16,231,217,700บาท จัดสรรเพื่อให้ส่วนราชการตามที่คณะรัฐมนตรีเสนอตามความเหมาะสมและจำเป็น 13,177,466,400 บาท และจัดสรรให้หน่วยงานของรัฐสภาศาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรอัยการ 3,053,751,300 บาท  

อุตตม ยืนยันว่า ในการพิจารณางบประมาณปี 2563 กรรมาธิการวิสามัญฯให้ความสำคัญระหว่างความสอดคล้องของยุทธศาสตร์ชาติ กับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่12 แผนการปฏิรูปประเทศ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่งคงแห่งชาติและนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายระดับชาติและเป้าหมายระดับกระทรวงหน่วยงาน  ตลอดจนการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการ เพื่อให้การดำเนินงานของกระทรวงและหน่วยงาน ส่งผลต่อการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม บรรลุเป้าหมายแต่ละด้าน 

อนาคตใหม่ ชี้ 2 หลักการพิจารณาหั่นงบฯ 3.2 ล้านล้าน แนะ 'เซ็ตซีโร่' หน่วยงานไม่จำเป็น

นอกจากนี้ในการอภิปรายประเด็นอื่นๆ ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ อภิปรายในการสงวนคำแปรญัตติ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยระบุว่า สำหรับมาตรา 4 เรื่องของบประมาณรายจ่ายในภาพรวม 3.2 ล้านล้านบาทนั้น ยืนยันว่า ยังสามารถรีดไขมันออกได้มากกว่านี้ โดยหลักการของวิธีการงบประมาณที่เรายึดถืออยู่ 2 เรื่อง  

หลักการข้อที่ 1  คือ zero-based budgeting วิธีการพิจารณางบประมาณแบบล้มกระดาน ล้างไพ่ใหม่ทุกปี โดยพิจารณาเป็นรายโครงการ ดูว่าโครงการไหนดี ไม่ว่างบหมื่นล้าน แสนล้านก็ต้องอนุมัติ ส่วนโครงการไหนไม่เหมาะสม สลึงเดียวก็ไม่ให้ ดังนั้น วิธีการที่กรรมาธิการหรือว่าอนุกรรมาธิการหรือแม้กระทั่งผู้แปรญัตติทำกันอยู่ทุกวันนี้ ที่ตัดกันเป็นเปอร์เซ็นต์นั้น มันไม่เวิร์ค เพราะการพิจารณาตัดให้เป็นเปอร์เซ็นต์ สุดท้ายก็คือให้อิสระกับหน่วยงานไปพิจารณาว่าโครงการใดควรจะอยู่ โครงการใดควรจะไปใน บางครั้งเราก็พบว่าโครงการดีงบไม่ได้ แต่ว่าโครงการร้ายยังคงอยู่ 

หลักการข้อที่ 2  Strategic Performance Budgeting  หรือ วิธีการงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานตามยุทธศาสตร์ ต้องมุ่งเน้นไปที่ผลงานมากกว่าพิจารณาเป็นรายการว่าค่าใช้จ่ายอะไรมากเกินไปไหม ซึ่งตัวชี้วัดที่ปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณนั้น เราก็พบว่าใช้การไม่ได้จริง เพราะปัญหาหนึ่งที่เราเห็นได้ชัดคือ ประเทศไทยเราผลิตตัวชี้วัดเยอะมากถ้ากับประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารงานราชการ โดยพบว่ามีเกิน 3,000 ตัว ขณะที่สหราชอาณาจักรนั้นมีไม่ถึง 200 ตัว เนเธอร์แลนด์มีไม่ถึง 500 ตัว นั่นเพราะมีหลายหน่วยงานเหลือเกิน ที่ทำหน้าที่ในการประเมินผลด้วยตัวชี้วัด 

ศิริกัญญา บอกว่า อีกประเด็นที่บอกได้ว่าเราสามารถรีดไขมันออกจาก 3.2 ล้านล้านบาทนี้ได้แน่นอน คือ จำนวนหน่วยงานรัฐที่เพิ่มขึ้น ในที่นี้หมายถึงส่วนราชการระดับกรมกับองค์การมหาชน จากปีงบประมาณ 2547 ซึ่งเป็นปีแรก ของปีงบประมาณหลังจากที่ได้มีการปฏิรูประบบราชการ พบว่าหน่วยงานราชการเพิ่มขึ้นถึง 64 หน่วยงาน ทำให้รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น 3 เท่า ส่วนงบประมาณนั้นเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 3 เท่า ก็เท่ากับว่า งบลงทุนนั้นเพิ่มขึ้นน้อยกว่ารายจ่ายประจำ นอกจากนี้ องค์การมหาชนเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์การมหาชน พ.ศ 2542  ในปี 2543 ก็มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จนถึงปี 2562 เพิ่มขึ้นเป็น 58 หน่วย 

ศิริกัญญา กล่าวว่า นอกจากนี้หน่วยงานราชการยังมีความซ้ำซ้อน มีภารกิจที่ซ้ำกันไปซ้ำกันมา และหลายๆ หน่วยงานที่ทำภารกิจที่อาจจะไม่ได้จำเป็นแล้ว ยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดๆ  เช่น สนามบิน เรามีทั้งกรมท่าอากาศยานที่ดูแลสนามบินพาณิชย์ แล้วก็มีบริษัทท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จริงอยู่ว่าจะแบ่งหน้าที่กันชัดเจน ว่าสนามบินไหนใครดู แต่ภารกิจเหมือนกัน ทำไมถึงต้องมี 2 หน่วยงานเพื่อมาดูแลภารกิจเดียวกัน การมี 2 หน่วยงาน หรือเรื่องถนน เรามีทั้งกรมทางหลวง กับกรมทางหลวงชนบท เรื่องทางด่วนก็แข่งกันตัดเพิ่ม ทั้งกรมทางหลวงก็มีมอเตอร์เวย์ การทางพิเศษก็ตัดทางด่วน หรือเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ก็มีทั้งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ภารกิจทั้ง 3 กรมก็คือ การส่งเสริมให้เกิดการค้า และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทำไมเราถึงต้องมีถึง 3 กรม เพื่อทำหน้าที่นี้ การมีหน่วยงานที่ซ้ำซ้อนก็เท่ากับว่าจะต้องมีทั้งสำนักงาน ทั้งผู้บริหาร รวมไปถึงเรื่องของแหล่งที่มาของเงินลงทุน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจากภาครัฐทั้งสิ้น  

ดังนั้นจึงขอวิงวอน เรามีกรณีของหน่วยงานราชการที่มีสปิริต ยื่นร้องศาลปกครองให้ยุบหน่วยงานตัวเอง เพราะรู้สึกว่าทำงานไม่คุ้มเงิน ในครั้งนี้อาจจะทำอะไรไม่ทันแล้ว แต่ว่าดิฉันคิดว่าไหนๆการปฏิรูประบบราชการที่อยู่ในยุทธศาสตร์ 20 ปี และก.พ.ร.ก็ยังไม่มีผลงานอะไรเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการปฏิรูประบบราชการ ดิฉันก็ขอแนะนำว่า เราอาจจะเริ่มการทำ Zero based budgeting จากการพิจารณารายหน่วยงาน ว่าควรจะมีอยู่ต่อไปหรือไม่

ศิริกัญญา กล่าวว่า ในส่วนงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาทนั้น ยังไม่ใช่ทั้งหมดที่เราได้พิจารณา ยังมีหลายท่านพูดในเรื่องของเงินนอกงบ เงินกองทุน เงินในอนาคต ภาระผูกพันสัมปทานต่างๆ ที่สุดท้ายแล้วสภาแห่งนี้จะไม่มีโอกาสได้พิจารณาเลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งนี้ ขอเน้นไปที่งบในอนาคต ซึ่งงบประมาปี 2564 ถูกใช้ไปแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท ในวันที่ร่างพระราชบัญญัติปี 2563 ยังไม่ออก จากโครงการที่ก่อหนี้ผูกพันกับ ธ.ก.ส. นั่นเท่ากับว่ารัฐบาลก็มีวิธีการที่จะหางบประมาณในด้านต่างๆมาใช้ที่นอกเหนือไปจาก 3.2 ล้านบาท จึงเห็นว่าเรายังสามารถรีดไขมันตัดงบออกได้ 15% จากงบประมาณภาพรวม 3.2 ล้านล้านบาท

'เพื่อไทย' ขอปรับลด 15% ชี้ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชนที่แท้จริง  

ชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดน่านพรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยขอสงวนความเห็นในมาตรา 4 ขอตัดงบประมาณที่ตั้งไว้วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ปรับลดลง ร้อยละ 15 เนื่องจากเห็นว่าเหตุผลของการตั้งงบประมาณของรัฐบาลบนสมมติฐานที่ว่าอัตราเจริญการเติบโตด้านเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ร้อยละ 3 – 4 แต่ข้อเท็จจริงจากการคาดการณ์ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ระบุไว้ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ร้อยละ2.6 ขณะที่ TMB Analytics ได้ปรับลดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือร้อยละ 2.5 เท่านั้น ซึ่งจากภาวการณ์ดังกล่าวจึงเห็นว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ2563 ไม่น่าจะจัดเก็บได้เพียงพอตามเป้าหมายที่วางไว้ประกอบกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งตัว ทำให้ภาษีที่เก็บจากการนำเข้าและส่งออกลดลงรายได้เข้าประเทศก็ลดลง ขณะเดียวกันงบประมาณที่ตั้งไว้ในส่วนเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น 96,000 ล้านบาท และงบประมาณกรณีทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจำนวน 3,000 ล้านบาท รวมทั้ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 45 ที่เปิดช่องให้มีเงินทุนสำรองจ่ายอีก จำนวน 50,000 ล้านบาท จึงเห็นว่าหากมีการปรับลดงบประมาณก็ไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินและประชาชน และที่สำคัญที่สุด คือ การบริหารงบประมาณที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาประชาชนจากการตั้งงบประมาณดังกล่าวไม่ได้ตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง เป็นเพียงวิธีการที่บริหารจัดการตามปกติเท่านั้น ดังนั้นตนจึงขอปรับลดงบประมาณลงเพื่อประโยชน์ของแผ่นดินและนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

 

ที่มา : วิทยุรัฐสภา, ข่าวสดออนไลน์และทีมสื่อพรรคอนาคตใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net