อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย (4): ดุลอำนาจที่เอนเอียงในรัฐธรรมนูญ 2560

ซีรีส์งานเสวนา ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย’ 'นักรัฐศาสตร์ มธ.' มองรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อให้เกิดดุลอำนาจทางการเมืองที่เอนเอียงเข้าข้างคนกลุ่มหนึ่ง โดยละเลยดุลอำนาจของประชาชน

  • รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่ทำสร้างประชาชนกลายเป็นพลเมืองที่มีความเท่าเทียมกันทางการเมือง
  • รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของไทยและยังทำให้ดุลยภาพทางอำนาจเอนเอียงไปอยู่กับคนเพียงกลุ่มเดียว
  • รัฐธรรมนูญในฐานะเครื่องมือสร้างประชาธิปไตยอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ
  • การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสร้างดุลยภาพของอำนาจให้ได้ดุลโดยไม่ละเลยดุลยภาพทางอำนาจของประชาชน
  • กระบวนการมีส่วนร่วมเรียนรู้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

งานเสวนา ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย’ ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ประกอบด้วยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวรรณภา ติระสังขะ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันบรรยายให้เห็นอดีตที่พ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะของประชาธิปไตย ปัจจุบันที่มีแสงสว่างอยู่บ้าง แต่ความมืดหม่นเข้มกว่า และอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะต้องเสียเลือดเนื้ออีกหรือไม่หากชนชั้นนำไทยขาดสติปัญญาที่จะคิดให้ทันความเปลี่ยนแปลง

‘ประชาไท’ ขอนำเสนอคำบรรยายโดยละเอียดของวิทยากรทั้ง 4 พร้อมกับข้อคิดเห็นของเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นการใช้ความชอบธรรมสู้กับรัฐเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

วรรณภา ติระสังขะ

ตอนที่ 4 เป็นการบรรยายของวรรณภา ติระสังขะ

รัฐธรรมนูญคือฉันทามติของสังคมในช่วงเวลาหนึ่งๆ

อยากเล่าก่อนว่าทำไมเราจึงต้องมาพูดเรื่องรัฐธรรมนูญ เวลาเรามีปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองหลังการทำรัฐประหารหรือหลังจากใครสักคนบอกว่าอยากจะปฏิรูปประเทศ จุดเริ่มต้นก็กลับไปอยู่ที่รัฐธรรมนูญ จริงๆ แล้วในทางวิชาการ รัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างมากเพราะเป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ แต่ว่ากฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ มันเป็นกฎหมายที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยผ่านบทบัญญัตินั้นเองด้วย

เมื่อสักครู่อาจารย์ประจักษ์พูดว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตย การมีรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า มันต้องไปดูเนื้อหาด้วย การมีรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บอกว่าประเทศนั้นอยู่ภายใต้กฎหมายเป็นใหญ่หรือนิติรัฐ บางประเทศมีรัฐธรรมนูญก็คนเป็นใหญ่ได้ ทหารเป็นใหญ่ได้ กลุ่มคนเป็นใหญ่ได้ การมีรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นตัวบอกเสียทีเดียวว่าประเทศนั้นจะดำเนินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้หรือไม่ แต่ควรจะต้องดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วย

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญมันแสดงออกซึ่งการก่อร่างสร้างความเป็นรัฐ ถ้าเราอยากรู้ว่าประเทศนั้นก่อรูปแบบไหน ปกครองแบบไหน เราเปิดอ่านรัฐธรรมนูญ เราก็จะเข้าใจว่าประเทศนั้นอยู่ภายใต้รูปแบบการปกครองอย่างไร ดิฉันคิดอีกอย่างหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญเป็นฉันทามติของคนในสังคม แม้ว่ากระบวนการร่าง กระบวนการได้มาของรัฐธรรมนูญอาจจะแตกต่างหลากหลายกันในแต่ละประเทศ แต่สุดท้ายแล้วกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ มันคือข้อตกลงร่วมกันของคนในสังคมที่บางส่วนอาจจะยินยอมหรือบางส่วนอาจจะไม่ยินยอมพร้อมใจ แต่ถ้าเราอ่านรัฐธรรมนูญ เราจะเห็นฉันทามติบางอย่างที่ปรากฏขึ้นในรัฐธรรมนูญ ณ ช่วงเวลานั้นที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ

เราเป็นพลเมืองเพราะรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการสร้างความเป็นพลเมืองให้เกิดความเท่าเทียมในการรับรองการใช้สิทธิเสรีภาพ มันเป็นเรื่องตลกร้ายมากที่บางประเทศไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญเลยอย่างเช่นฝรั่งเศส แต่ว่าเป็นประเทศที่มีการรับรองสิทธิเสรีภาพเยอะมากโดยผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญที่มีความยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้มีการอธิบายหรือเพิ่มสิทธิเสรีภาพใหม่ๆ ได้ มีนักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งบอกว่า จริงๆ เราไม่ได้เกิดมาเป็นพลเมือง แต่เรากลายเป็นพลเมืองเพราะรัฐธรรมนูญให้เราเป็นพลเมือง แปลว่ารัฐธรรมนูญมันได้รับรองสิทธิเสรีภาพความเป็นพลเมืองให้กับคนในสังคมนั้นๆ รัฐธรรมนูญจึงทำให้คนเท่ากันได้ในทางการเมือง แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ ชาติกำเนิด จะยากลำบากมากที่จะเท่าเทียมกันแบบนั้น แต่รัฐธรรมนูญจะทำให้ความเท่าเทียมทางการเมืองเกิดขึ้นได้จริง

รัฐธรรมนูญยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ทำให้หลุดพ้นจากสภาวะความไม่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะผ่านโครงสร้างทางการเมือง ผ่านบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมากมาย การเลือกตั้ง การออกเสียงประชามติ หรือการกำหนดนโยบายประเทศต่างๆ ได้ ทุกครั้งของการเปลี่ยนผ่าน ทุกครั้งของการมีรัฐบาล ทุกครั้งของการได้มาซึ่งอำนาจ นักการเมือง ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจก็มักจะคิดถึงรัฐธรรมนูญเป็นอันดับแรกว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อให้สอดคล้อง

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่สอดคล้องกับภูมิสังคมของไทย

แต่ถ้าเรามาดูรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเรา จะพบว่ามันยังไม่สอดคล้องกับภูมิสังคมของประเทศ มันไม่ปรับตัว มันไม่ยืดหยุ่น และวางอยู่บนพื้นฐานความไม่ไว้วางใจ ถ้าเราอ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะเห็นว่ามันไม่ไว้วางใจคนอยู่กลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญที่สุดคือนักการเมือง เราอาจจะมีประวัติศาสตร์ที่เลวร้ายกับนักการเมือง เราจึงรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญต้องถูกใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่กำจัดนักการเมืองที่โกง นักการเมืองที่ทำให้ประเทศชาติทะเลาะเบาะแว้ง

และรวมถึงรัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะอธิบายตีความมันอย่างไร กลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญถูกเขียนออกมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจหรือองค์กรทางการเมืองสามารถตีความและอธิบายมันได้ อำนาจในการตีความหรืออธิบายจึงตกอยู่กับนักกฎหมายบางกลุ่มองค์กรทางการเมืองบางกลุ่มโดยที่คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจมากนัก มันก็เลยส่งผลให้เกิดการขาดความเชื่อมั่นในตัวรัฐธรรมนูญเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มีการรับรองสิทธิเสรีภาพมากมาย แต่เราก็อาจไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพอย่างนั้นจริงๆ

นอกจากนี้ ก็ยังมีมายาคติอีกมากมายเต็มไปหมดที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ไม่ว่ามีรัฐธรรมนูญแล้วประเทศก็ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยแล้ว มีการเลือกตั้งแล้ว ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว ถ้าเราไปดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้เท่ากับประชาธิปไตยและก็ไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยจริงๆ รวมถึงภายใต้หลักนิติรัฐก็ตาม ถ้าดูมาตราสุดท้ายก็จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้อยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ นี่ยังไม่นับรวมถึง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ออกเสียงประชามติแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มันก็ไม่ได้อยู่ภายใต้หลักนิติรัฐจริงๆ

ดุลอำนาจที่เอนเอียง

ดุลอำนาจที่ไม่ได้ดุลในรัฐธรรมนูญ 2560 จะเห็นว่าดุลอำนาจที่อาจารย์สิริพรรณพูดไป คือดุลอำนาจมันตกอยู่ที่คนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น สว. องค์กรทางการเมืองต่างๆ จริงๆ แล้ว สว. ได้มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งไม่น่าจะมีปัญหาอะไรมากเท่ากับที่เขามีอำนาจมากกว่าคนที่มาจากประชาชน ดิฉันเชื่ออยู่ตลอดว่าในหลายๆ ประเทศก็อาจไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เขาไม่ได้มีอำนาจมากไปกว่าคนที่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน หมายความว่าอำนาจมักจะแปรผันไปตามที่มา ตราบใดที่คุณมีอำนาจได้มาก เข้ามาบริหารจัดการอะไรบางอย่างได้มาก คุณควรจะมีที่มาที่ถูกต้อง ชอบธรรม และมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ตราบใดที่คุณไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนสูง คุณก็ไม่ควรมีอำนาจมากไปกว่าคนอื่นที่มาจากประชาชน เพียงแต่ว่าความสมดุลของอำนาจทางการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมันเทไปอีกข้างหนึ่งจึงทำให้ดุลอำนาจโครงสร้างทางการเมืองไม่ได้ดุล

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือยุทธศาสตร์ชาติ หมายความว่าเราอาจคิดว่าเมื่อแก้รัฐธรรมนูญแล้วปัญหาจะจบ แต่อย่าลืมว่ายุทธศาสตร์ชาติจะอยู่กับเราไปอีกนาน อยู่ไปจนถึงปี 2580 แปลว่าแม้เราจะแก้รัฐธรรมนูญแล้ว เราก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อคยุทธศาสตร์ชาติด้วย ยุทธศาสตร์ชาติสิ่งที่น่ากลัวก็คือเราจะอยู่กับมันไป หากคณะรัฐมนตรี หน่วยงานของรัฐไม่ทำตาม มีบทลงโทษถึงติดคุกได้ด้วย หมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมันมีกับดักบางอย่างซ่อนเร้นไว้อยู่ แม้ว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญแต่ถ้าเราไม่ปลดล็อคอะไรบางอย่าง มันก็อาจจะไปไม่ได้สุด

รัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมืออย่างเป็นทางการ

มองอนาคตอย่างไร พยายามมองโลกในแง่ดีและอยู่ได้ด้วยความหวัง สิ่งหนึ่งที่สำคัญดิฉันอยากเห็นรัฐธรรมนูญเป็น 2 เครื่องมือ เครื่องมือแรกคือมีรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออย่างเป็นทางการกับมีรัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมืออย่างไม่เป็นทางการ รัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมืออย่างเป็นทางการ เรื่องที่สำคัญที่สุดคือทำให้ดุลยภาพของอำนาจทางการเมืองมันได้ดุล เวลาเราพูดถึงดุลยภาพของอำนาจทางการเมือง เรามักจะนึกถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ แต่เมื่อสักครู่นี้อาจารย์สิริพรรณก็พูดถึงประชาชน ดุลยภาพของอำนาจทางการเมืองต้องไม่ละเลยอำนาจของประชาชนด้วย หมายความว่าถ้าในอนาคตเราจะออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทย์การปฏิรูปประเทศการออกแบบรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่และที่มาของการออกแบบก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

การออกแบบรัฐธรรมนูญควรจะมีเนื้อหาเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือรัฐธรรมนูญจะไม่เป็นวิกฤตหรือเงื่อนไขของความขัดแย้งอย่างเช่นทุกวันนี้ ทุกวันนี้เราคิดตลอดว่ารัฐธรรมนูญเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง แก้รัฐธรรมนูญจะแก้วิกฤตได้ แต่อาจจะไม่ใช่เสมอไป เพราะรัฐธรรมนูญต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตได้ด้วย ไม่ใช่แค่แก้รัฐธรรมนูญแล้วมันจะปลดวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ แต่รัฐธรรมนูญต้องแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระบบการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ ที่มีปัญหา และกระบวนการยุติธรรมในสังคมที่เกิดขึ้นที่เราตั้งข้อสงสัยกันมากมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางสังคม

รวมถึงในรัฐธรรมนูญควรมีกลไกการจัดการปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เพราะเราไม่ทราบว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น แต่รัฐธรรมนูญที่ดีหรือรัฐธรรมนูญที่ควรจะเป็น มันควรจะมีบทบัญญัติบางเรื่องที่เปิดช่องให้ปรับตัว เปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาในอนาคตได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นบทบัญญัติว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมายความว่ารัฐธรรมนูญที่มีความยืดหยุ่นพอสมควร ไม่แข็งชื่อเหมือนป้อมปราการแบบนี้ คือปล่อยให้มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในช่วงนั้นๆได้ รวมถึงวิธีการหนึ่งที่หลายๆประเทศชอบใช้ก็คือการออกเสียงประชามติ

การออกเสียงประชามติเป็นเครื่องมือกลไกหนึ่งที่น่าสนใจมากในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ถ้าเราเคารพต่อการทำประชามติ หมายความว่าเราก็กลับไปถามแต่ละเสียงที่เท่ากันของประชาชนว่า เขาอยากเห็นประเทศนี้มีฉันทามติหรือมีอนาคตอย่างไร มันยังมีอีกหลายเครื่องมือเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายสาธารณะอย่างเป็นทางการ ตอนทำรัฐธรรมนูญ 2540 เราก็ทำเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง รวมถึงแนวคิดประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ พูดแบบนี้ท่านอาจจะนึกถึงมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บอกว่าการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสามารถฟ้องต่ออัยการได้ จริงๆ มาตรานี้เป็นมาตราที่น่าสนใจ แต่บังเอิญช่วงที่ผ่านมาเราถูกหลายๆ คนเอามาตรานี้ไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง

รัฐธรรมนูญที่เป็นเครื่องมืออย่างไม่เป็นทางการ

นอกจากนี้ ดิฉันคิดว่าเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คือรัฐธรรมนูญควรจะเป็นเครื่องมืออย่างไม่เป็นทางการที่ทำให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญเวลาเราฟังนักการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมายพูด เรามักจะพูดถึงว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญควรจะแก้ไขอย่างไร แต่ดิฉันคิดว่าในบริบทรายล้อมของรัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐธรรมนูญแบบลายลักษณ์อักษรยังมีเงื่อนไขอีกเต็มไปหมดที่ไม่เป็นทางการ

ในตัวบทรัฐธรรมนูญควรจะออกแบบเพื่อให้เกิดสิทธิพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองต่างๆ ประเทศเรามักจะคิดว่าคนเห็นต่างเป็นผู้ที่ก่อความเดือดร้อน ความวุ่นวาย แต่ในขณะเดียวกันคนที่เชื่อมั่นว่าตนเองคิดในสิ่งที่ถูกต้องกลับไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นพูดในสิ่งที่เขาคิดด้วยเช่นเดียวกัน หมายความว่าจริงๆ แม้แต่ฝ่ายที่บอกว่าตนเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่ฟังคนอื่นที่บอกว่าตนเองไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน พูดง่ายๆ ถึงที่สุดคุณก็เป็นเผด็จการโดยตัวเองในคราบของความเป็นประชาธิปไตยเพราะคุณก็ไม่ได้ฟังคนอื่นที่แสดงความคิดเห็นเหมือนกัน

การเคารพต่อความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเหมือนกันและสังคมไทยเราไม่ค่อยนิยมคนเห็นต่างเพราะคิดว่ามันดูไม่ค่อยถูกลำดับชั้นในสังคม วัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นได้มากมายผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่นเสรีภาพในการแสดงออก เราเปิดพื้นที่มากน้อยขนาดไหนในการแสดงความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในทางวิชาการ โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือว่าในสังคม ในบ้าน เสรีภาพในการชุมนุม

อีกวัฒนธรรมทางการเมืองหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าทำได้ภายใต้การออกแบบรัฐธรรมนูญคือการกระจายอำนาจ ดิฉันคิดว่าการปกครองท้องถิ่นเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญมาก เป็นการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยผ่านเรื่องเหล่านี้ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ จัดทำบริการสาธารณะได้ โดยที่ไม่ต้องมีใครมาบอกว่าทำได้หรือไม่ได้ มันจึงทำให้วิถีวัฒนธรรมของประชาธิปไตยหรือแม้กระทั่งคนในชุมชนท้องถิ่นเองไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ดิฉันคิดว่าวัฒนธรรมการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เราสามารถออกแบบได้แล้วทำให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมืออย่างไม่เป็นทางการได้

กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญก็อาจเป็นคำตอบได้ ดิฉันเชื่อว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ใช่คำตอบเดียวที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้อย่างเดียว กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากคนที่หลากหลาย สร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ท่านไปออกเสียงลงประชามติใช่หรือไม่ บางท่านอาจจะไม่รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ คำถามคือทำไม เพราะท่านไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่าง

ดิฉันเชื่อว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ใครที่เป็นคนร่างก็อยากจะร่างเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเราก็ให้คนที่มีความหลากหลายแตกต่างกันมาร่วมร่าง เพื่อที่จะให้เขาร่างและมีจุดยืนในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่วมกัน อาจจะทะเลาะกันบ้าง อาจจะถกเถียงกันบ้าง แต่สุดท้ายแล้วเขาจะรู้สึกว่าเขามีความเป็นเจ้าของ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ คุณจะรู้สึกถึงคุณค่าของรัฐธรรมนูญนั้น แล้วมันไม่แปลกที่คนร่างจะร่างเพื่อตัวเอง เขาคิดจากจุดยืนของตัวเองทั้งสิ้น ดังนั้น ปล่อยโอกาสให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายและมีจุดยืนเรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง แต่เป็นผลประโยชน์ของตัวเองที่มันหลากหลายร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญให้เกิดขึ้นได้

รัฐธรรมนูญคือการสร้างดุลยภาพของอำนาจ

ดุลยภาพของอำนาจก็เกิดขึ้นได้ ถ้าทุกฝ่ายมีที่ยืนผ่านการออกแบบรัฐธรรมนูญ วันนี้เราผลักอีกกลุ่มหนึ่งให้ไม่มีที่ยืนเพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เขาไม่มีที่ยืนในสังคมปัญหาก็จะเกิดขึ้น รวมถึงฉันทามติทั้งหลาย จริงๆ แล้วเราไม่ค่อยได้พูดถึงเรื่องนี้มากนัก เวลาเราพูดเราก็จะพูดถึงฉันทามติของความเป็นประชาธิปไตย ฉันทามติของการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่เรายังไม่ได้พูดถึงฉันทามติภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแบบไทยว่าเราจะมีฉันทามติในการปกครองแบบนี้ หน้าตาเป็นอย่างไร รูปแบบเป็นอย่างไร ตำแหน่งแห่งที่เป็นอย่างไร กรอบเป็นอย่างไร ใครทำหน้าที่อะไร เรามักจะไม่ค่อยพูดถึงเรื่องนี้มากนักเพื่อให้มันสอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมทางการเมืองไทย

ดิฉันคิดว่าการออกแบบรัฐธรรมนูญเหมือนกันชักกะเย่อ คือทำอย่างไรก็ได้ให้มันได้ดุล การชักกะเย่อถ้าเกิดเรานับคนเท่ากันมันเกือบจะชนะสูสีกัน พอมันดึงไปถึงจุดหนึ่งมันจะสมดุล แต่อย่างไรก็ดี เราลืมนึกไปว่าในการชักกะเย่อแต่ละครั้งมีปัจจัยอื่นในการแพ้ชนะให้ได้สมดุลมันแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงเสียดทานคือน้ำหนักของคน ถ้ากลุ่ม A มีน้ำหนักตัวมากกว่ากลุ่ม B แรงดึงก็จะต่างกัน แม้ว่าจำนวนคนจะเท่ากัน พื้นรองเท้าที่ใช้ก็แตกต่างกัน แปลว่าหาจุดสมดุลยากมากในประเทศ

การออกแบบรัฐธรรมนูญอาจไม่ใช่การหารัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์แบบ แต่ทำอย่างไรให้การออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่สามารถดึงไปดึงมาได้โดยที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้ชนะเป็นที่สิ้นสุด หมายความว่ามันขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่เราต้องคำนึงถึงด้วย รวมถึงทำอย่างไรให้การดึงเชือกนี้มันดึงกันไปดึงกันมา ดิฉันไม่เชื่อว่ามีรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งแล้วจะใช้อยู่รอดโดยที่ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง การที่เชือกถูกดึงไปดึงมาเป็นธรรมชาติของการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นพูดให้ถึงที่สุด อย่าหมดหวังกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แฟ้มภาพ

สร้างการมีส่วนร่วม

ดิฉันอยากเห็นการทำ 2 อย่างพร้อมกัน อันแรกคือรัฐธรรมนูญนี้ได้ลองใช้แล้วมันจะเป็นกับดักในตัวมันเอง พอลองใช้ไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะเห็นว่าหลายบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมันไปไม่ได้จริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการออกกฎหมายที่เสียงปริ่มน้ำแบบนี้ออกพระราชบัญญัติแทบจะไม่ได้เลย ได้ลอง ได้ใช้ แล้วคนในสังคมจะรู้ว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหาอะไร

อันที่ 2 ในขณะเดียวกันเราก็อยากเปิดพื้นที่ให้เสียงส่วนน้อย กระบวนการในการแก้ไขจึงสำคัญ อย่าใจร้อนว่าเราต้องแก้วันนี้ พรุ่งนี้ ดิฉันคิดว่ากระบวนการเรียนรู้ในการแก้รัฐธรรมนูญสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป้าหมายการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญมันทำให้คนได้เรียนรู้ เราจะได้เรียนรู้ว่ามันมีโมเดลอื่นๆ มากมายเต็มไปหมด มีเงื่อนไข มีปัจจัย หรือมีแรงเสียดทานอะไรบ้าง ภาพเหล่านี้จะค่อยๆ ลอยขึ้นมาให้เราเห็นเป็นประจักษ์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญคงทำไม่ได้โดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดิฉันเชื่อมั่นว่าต้องเรียนรู้และการเรียนรู้นั้นจะทำให้เขารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญนี้เขาเป็นเจ้าของ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราไม่สามารถกำจัดหรือไล่ชนชั้นนำหรือทหารออกจากประเทศนี้ได้ ดิฉันคิดว่าหน้าที่สำคัญที่สุดของพวกเราที่เห็นต่างคือทำให้คนเหล่านั้นเห็นว่าเขาอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะคนส่วนใหญ่ คนรุ่นใหม่ คนที่กำลังเติบโตในประเทศนี้ไม่เห็นด้วยกับระบอบแบบเดิมๆ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท