Skip to main content
sharethis

วงเสวนาเปิดตัวหนังสือทหารกับพัฒนาการเมืองไทยชวนดูเส้นทางการเมือง และประชาธิปไตยไทยที่มีทหารอยู่ ตั้งโจทย์สำหรับทหารและอนุรักษ์นิยมไทยสมัยใหม่ ทั้งเรื่องความชอบธรรมและพัฒนาการที่ดีกว่าเดิม ต้องเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย 3 ระยะ เปิดประเด็น วัฒนธรรม สถาบันการเมืองแบบไหนที่ยังทำให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ

ซ้ายไปขวา: สุรชาติ บำรุงสุข สุจิต บุญบงการ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

10 ม.ค. 2563 เมื่อวานนี้ (9 ม.ค.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาวิชาการและเปิดตัวหนังสือ “ทหารกับการพัฒนาการเมืองไทย?: การพัฒนาความมั่นคงและประชาธิปไตย” เขียนโดยสุจิต บุญบงการ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมเสวนากับผู้เขียนโดย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ศ.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินรายการโดยพงศ์พิสุทธฺ์ บุษบารัตน์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ 

เส้นทางการเมือง-ประชาธิปไตยไทยที่มีทหารอยู่

สุจิตกล่าวว่า ทหารในประเทศแบบไทยและทหารในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยนั้นมีทั้งความเหมือนและความต่าง ในเรื่องการยอมรับการควบคุมทหารโดยพลเรือน หรือในภาษาอันหนึ่งคือการรับผิดชอบร่วมกันระหว่างทหารกับพลเรือน อย่างในสหรัฐฯ ที่กองทัพต้องอยู่ใต้การบังคับบัญชาผู้นำพลเรือน มีประธานาธิบดีเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่การควบคุมก็ยังอยู่ที่สภาคองเกรสที่จะถ่วงดุลประธานาธิบดี เพียงแต่หลังๆ สงครามก็ไม่ค่อยถูกประกาศ คองเกรสก็พยายามหาทางควบคุมไม่ให้ประธานาธิบดีสั่งการแบบพลการ

ส่วนไทย ในทางปฏิบัติไม่เป็นตามนั้น ตอนยึดอำนาจการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญและรัฐบาลที่มาจากรัฐธรรมนูญเป็นผู้มีความชอบธรรมและควบคุมกำลังทหาร แต่เป็นการควบคุมในลักษณะหุ้นส่วน (partnership) ในขณะที่หลายคนยังไม่มีความมั่นคงแน่นอน ก็ขอให้ทหารเป็นผู้นำประเทศไปก่อนได้หรือไม่ โดยให้เวลาให้มีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญใหม่ 

อีกสิ่งที่เหมือนกันคือภารกิจ ได้แก่การป้องกันการรุกรานจากภายนอก และต้องไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด ใช้จ่ายใต้งบประมาณของรัฐและได้รับความเชื่อถือจากประชาชน หน้าที่อื่นๆ ก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น ต่อต้านการก่อการร้าย ช่วยเหลือมนุษยธรรม ส่วนภารกิจภายในนั้นทำได้เท่าที่กฎหมายกำหนด แต่ในไทย แม้ว่าโดยหลักการจะยอมรับความเหนือกว่าของฝ่ายพลเรือน ความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ในไทยก็มีข้อยกเว้น 

จากการศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างทหาร-พลเรือนนั้น หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ความสัมพันธ์เป็นในลักษณะทหารเป็นผู้ครอบงำการเมือง หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ต้องการจะเอาประชาธิปไตยเข้ามาแทน แล้วให้พลเรือนควบคุมทหาร ในช่วงปี 2475 ทหารเข้ามามีบทบาทเพราะว่าเรื่องอุดมการณ์ที่ต้องการปรับปรุงการเมืองไทยให้เป็นสมัยใหม่ ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นประชาธิปไตย แต่เป็นการปกครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกระแสต้องการมาตั้งแต่สมัย ร.5 เรื่อยมา เป็นเรื่องรัฐธรรมนูญ และการมีสภาที่มาจากประชาชน แต่แนวความคิดประชาธิปไตยยังไม่ตกผลึก การมีนายกฯ แทนเสนาบดีก็ยังไม่ตกผลึก แต่ทุกคนยอมรับว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง 

แต่กลุ่มผู้นำในขณะนั้นทั้งทหารและพลเรือน ไม่มีความพยายามสร้างมวลชนเพื่อยึดอำนาจจากกษัตริย์ เพราะมองว่าอาจไม่สำเร็จ เพราะมวลชนไม่มีความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญหรือการเลือกตั้ง ฝ่ายที่มีความคิดเป็นคนหนุ่มสาวที่ไปศึกษามาจากต่างประเทศ ทหารที่มีก็ไปเอาคนที่มีความสัมพันธ์ด้วยมาก่อน ทหารที่เข้ามายึดอำนาจก็เป็นทหารกรุงเทพฯ จำนวนไม่มากนัก การใช้ทหารก็ยังต้องปิดเป็นความลับ ใช้กำลังน้อย จู่โจมฉับพลัน

เมื่อยึดอำนาจก็รู้ว่าตัวเองไม่มีอำนาจปกครองประเทศในแบบที่ควรเป็น ก็ต้องอาศัยฐานอำนาจกำลังทางทหาร แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแสประชาธิปไตยพัดแรง ทหารก็ต้องปฏิรูป แต่การยึดอำนาจของคณะทหาร โดยการนำของจอมพลผิน ชุนหะวัณ ในปี 2490 ตอนยึดอำนาจไม่น่าคิดอะไรมาก เพียงเพราะทหารถูกตบหน้า ถูกปลดประจำการอย่างฉับพลัน โดนเรียกเอาข้าวแทนค่าปฏิกรรมสงครามเพื่อไม่ให้เป็นผู้แพ้สงคราม แถมเสรีไทยยังเป็นพระเอกแทนทหาร ทหารจึงรู้สึกเสียอะไรหลายอย่าง ทำให้เกิดความต้องการรักษาเกียรติภูมิและอำนาจที่ตนเองเคยมี แต่หลังจากรัฐประหารครั้งนั้นก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ของผู้นำทหารด้วยกันเอง ทั้ง ป. พิบูลสงคราม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือเผ่า ศรียานนท์

สุจิตมองว่าอีกการเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยมีพลังทางอุดมการณ์ทางการเมืองเกี่ยวข้อง คือการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์ ในฐานะอุดมการณ์การแก้ไขปัญหาประเทศในแบบที่ตัวเองเห็นเหมาะสม คือเผด็จการ สฤษดิ์พูดชัดว่าประชาธิปไตยรอไปก่อน เอาการเมืองแบบไทย พอคนถามว่าคืออะไร ก็ย้อนไปถึงสมัยรามคำแหง พ่อปกครองลูก แต่หลังสฤษดิ์ตาย การต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ทหารนิยม-ประชาธิปไตย ก็แข็งกล้าขึ้น ผู้นำทหารหลังจากนั้นก็ไปพะวงกับการรักษาอำนาจตัวเองเกินไปก็ทำให้เกิด 14 ตุลาฯ 2516 

สุจิตยังกล่าวว่า ตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เป็นการออมชอมกันระหว่างประชาธิปไตยกับคนที่ยังรู้สึกว่าทหารยังมีความจำเป็น จากการศึกษา พบว่าทหารเปลี่ยนเยอะ เปรมเคยบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจของยังเติร์ก ก็สู้กับยังเติร์กจนชนะ หลังยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อปี 2534 ก็พบว่าไม่เวิร์ค อยู่ได้ปีเดียว กระแสประชาธิปไตยกำลังมีมาก ทำให้การเคลื่อนไหวของฝ่ายทหารนิยมถดถอยไปยาวจนกระทั่งยึดอำนาจปี 2549 แล้วก็ออกไป และกลับมาอีกครั้งในปี 2557 คำถามก็คือ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น 

กระแสประชาธิปไตยและโลกาภิวัฒน์ที่มีมากขึ้นตั้งแต่สมัยเปรม การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคม การมีชนชั้นกลางที่ไม่เอาทหารและต้องการมีเสรีภาพเป็นจุดสำคัญ แต่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยก็ไม่สามารถรักษาสิ่งที่ตนเองต่อสู้และมีอยู่ตั้งแต่หลัง 2535 ทำให้ฝ่ายนิยมทหารที่เชื่อว่าต้องเอาทหารมารักษาความมั่นคง ใช้ตัวนี้เป็นจุดสำคัญในการยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง พอมีการเลือกตั้ง มีประชาธิปไตยเข้ามาอีกก็มีการขัดแย้งกัน ก็มีฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เห็นว่าไม่มีความมั่นคง ทำให้เกิดยึดอำนาจ 2557 

สุจิตสรุปว่า การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยยังมีความขัดแย้งทางค่านิยมระหว่างกลุ่มประชาชนที่มีค่านิยมของชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม ซึ่งมองว่าเป็นค่านิยมส่วนใหญ่ของคนไทยที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและรุนแรง กับกลุ่มเสรีนิยมที่ต้องการประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร อุดมการณ์ไหน คนไทยมีลักษณะปฏิบัตินิยม นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมอนุรักษ์นิยมไม่มั่นใจการเมืองประชาธิปไตย เพราะการเมืองเช่นนั้น เมื่อให้ลองปฏิบัติแล้วกลับทำได้ไม่ดี ไม่มั่นคง ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยม ถ้าเป็นสุดโต่งก็มองว่าอย่างไรเสียก็ต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าระดับรองลงมา เช่นชนชั้นกลางหรือนักธุรกิจก็มองว่า เอาประชาธิปไตยถ้ามั่นคงและบ้านเมืองไม่เสียหาย ถ้าทหารจะเข้ามาก็อย่าอยู่นาน มีการชักเข้าชักออกระหว่างทหารกับเลือกตั้ง 

ถ้าอยากให้เลือกตั้งอยู่นาน ต้องขอร้องนักการเมืองให้ลดวิวาทะลงเสียบ้าง ใครผิดก็ว่าตามกฎหมายผิด ใครไม่ผิดก็โทษกันไม่ได้ อย่าให้เกิดความเบื่อหน่ายว่าเอาอีกแล้ว มีอำนาจขึ้นมาหน่อยก็เอาอีกแล้ว ทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ทหารนิยมเข้ามา จากการศึกษาพบว่าทหารก็ไม่อยากเข้ายึดอำนาจ เพราะไม่คุ้มกับการถูกด่า ถูกประจาน แต่การเมืองปัจจุบันจำเป็นต้องให้เขามีบทบาทในระดับหนึ่ง แต่ไม่ถึงกับการยึดอำนาจ คือการเสริมรัฐบาลที่พอจะพูดกันรู้เรื่อง และอยู่ในกรอบประชาธิปไตย ซึ่งตามหน้าที่ของข้าราชการทหารแล้วอย่างไรก็ต้องอยู่ภายใต้รัฐบาล แต่ว่าทางปฏิบัติ ก็ยังมีความเชื่อว่าเป็นผู้พิทักษ์ความมั่นคง

โลกหมุนไป ไทยไม่หมุนตาม: โจทย์สมัยใหม่ของทหาร-อนุรักษ์นิยม และการเปลี่ยนผ่าน

สุรชาติกล่าวว่า เมื่อเวลาผ่านมา โลกเห็นระบอบอำนาจนิยมที่ไม่ใช่ทหารมากขึ้น แต่เป็นระบอบพันทาง (Hybrid Regime) ทหารแปลงรูป แปลว่าการเปลี่ยนผ่านไม่ได้เดินไปสู่ประชาธิปไตย แต่หยุดนิ่งกลางทางแล้วไม่เดินต่อ เมื่อหยุดนิ่งในพื้นที่สีเทาก็ทำให้ระบอบการปกครองเป็นกึ่งประชาธิปไตย กึ่งเผด็จการ ขึ้นอยู่กับการอธิบายทางทฤษฎีว่าค่อนไปทางไหน ตัวแบบอำนาจนิยมในศตวรรษที่ 21 ก็ทำให้กลับมาที่คำถามต่อ 2 คำหลักในงาน Political Order in Changing Society ของแซมมูเอล ฮันติงตัน ที่ว่า ทหารต้องเป็นทหารอาชีพ และต้องยอมรับหลักการควบคุมโดยพลเรือนซึ่งไม่มีทหารที่ไหนชอบ แต่ 2 คำนี้เป็นเสาหลักในระบอบประชาธิปไตย

หากการเป็นทหารอาชีพมากๆ จะยิ่งทำให้รัฐประหารเก่ง นั่นคือทหารในละตินอเมริกาหลัง 1964 กระแสทหารในเวทีโลกที่ใหญ่ที่สุดหลังยุคปลดปล่อยเอกราช คือหลังรัฐประหารบราซิลในปีนั้น ที่เปลี่ยนวิธีคิดของทหารในละตินอเมริกา และตัวแบบการศึกษา เขาเรียกตัวพวกเขาว่าเป็น new professionalism หรือทหารอาชีพใหม่ คำๆ นี้เป็นศัพท์ทางเทคนิคทางรัฐศาสตร์ที่เคยได้ยินทหารไทยใช้ คำๆ นี้แปลว่ายึดอำนาจ แต่ยึดด้วยชุดความคิดอีกแบบหนึ่ง

คำถามที่ถูกทิ้งค้างไว้ว่าเปลี่ยนผ่านแล้วจะก้าวเข้าสู่การเป็นทหารอาชีพ และถูกควบคุมโดยพลเรือนหรือไม่นั้น ในละตินอเมริกาไม่เป็นปัญหา ภูมิภาคที่รัฐประหารมากที่สุด และมีรัฐประหารที่ค่อนข้างเข้มแข็งและโหดร้าย แต่วันนี้ละตินอเมริกาไม่มีรัฐประหาร แปลว่าการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยนั้นทำได้สำเร็จ แปลว่าเบื้องต้นทหารยอมรับหลักการ 2 หลักดังกล่าว แล้วสังคมไทยที่เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกนั้นเปลี่ยนแต่ไม่ผ่านใช่หรือไม่

สุรชาติเสนอว่า ทหารไทยเป็น non-professionalism โดยไม่แปลเป็นภาษาไทย ทหารไทยรุ่นใหม่ไม่สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง ถ้าสร้างก็พองาม (ฟรุ้งๆฟริ้งๆ) ชุดคำอธิบายไม่รองรับบทบาทตัวเอง ซึ่งเป็นคนละอย่างกับละตินอเมริกา ทหารไทยช่วงสงครามอินโดจีนนั้นคิดเยอะว่าจะทำอย่างไรให้รัฐไทยไม่ล้ม จึงเปลี่ยนกระแสความคิดใหญ่ที่สุด คือยอมรับประชาธิปไตย นั่นคือสิ่งที่เชาวลิต (ยงใจยุทธ) พูด ที่ว่าเผด็จการแพ้ประชาธิปไตย 

ผู้นำทหารรุ่นเก่าคิดเยอะ แต่พอปัจจุบัน การเมืองไทยเหมือนจะซอยเท้าอยู่ที่เดิม การเลือกตั้งเมื่อ 24 มี.ค. 2562 ไม่ใช่การเปลี่ยนผ่าน เป็นการเปลี่ยนผ่านที่อยู่ในพื้นที่สีเทา การจัดตั้งรัฐบาลก็คือระบอบทหารแบบเลือกตั้ง คือระบอบพันทางอีกแบบหนึ่งที่ทหารมีอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง บุคคลหลักของการรัฐประหาร 3 คนอยู่ครบ นโยบายอยู่ครบ แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยน มีตัวละครเปลี่ยนนิดเดียวคือมีนักการเมืองมาแทรก 

สุรชาติกล่าวว่า แต่เงื่อนไขที่เปลี่ยนใหญ่ที่สุดปัจจุบันคือการพัฒนาของระบบทุนนิยม ทุนนิยมครอบเสนานิยมเป็นแรงขับเคลื่อนใหญ่ในยุคนี้ เมื่อทุนนิยมผนวกกับทหารนิยม โจทย์ชุดนี้ใหญ่ และกลายเป็นปรากฎการณ์ใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การเปลี่ยนผ่านในอนาคตอาจต้องการมากกว่า 1 จังหวะ จังหวะแรกอาจเป็นการรื้อโครงสร้างอำนาจของระบบทหารเดิมที่มาจากการรัฐประหาร 2557 เพื่อปล่อยให้การเปลี่ยนผ่านเดินไปสู่อนาคตได้ สอง เพื่อเปลี่ยนผ่านก้าวไปสู่ประชาธิปไตย และสาม ที่ยังไม่เคยเกิดในไทยคือการสร้างความเข้มแข็งของประชาธิปไตย ที่ผ่านมาเราเดินผ่านได้จังหวะเดียว คือเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยแล้วก็ล้ม

“แล้วสมมติวันนี้ถ้าเราทำแบบสอบถามในสังคมไทย จริงๆ ผมไม่กล้าขอ ถ้าขอจะขอคำถามพ่วงท้ายรัฐธรรมนูญตอนประชามติ (ว่า) ตกลงท่านเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ทหารอยู่ในการเมืองไทย”

“คำถามอย่างนี้ผมต้องการฟังว่า พี่น้องที่เป็นเจ้าของสังคมไทยคิดอย่างไรกับบ้านของตัวเอง เราไม่เคยตอบคำถามนี้เพราะเราถูกบังคับให้ต้องอยู่ แล้วถ้าเราคิดว่าต้องตอบล่ะ เราจะคิดอย่างไรกับโจทย์ที่ทหารควรจะมีบทบาทอย่างไร ผมปิดท้ายไม่ใช่ด้วยความหดหู่ แต่โจทย์ชุดนี้ยังเป็นโจทย์ใหญ่ ตั้งแต่ 2490 ถึงปัจจุบัน” สุรชาติกล่าว

สุรชาติ กล่าวเพิ่มเติมในช่วงตอบคำถามว่า  ชุดความคิดประชานิยมขวายุโรป ต่างจาก กทม. ตรงที่ยอมรับการมีเสียงในสภาและทำงานกับชนชั้นล่าง อะไรคือแกนกลางความคิดของฝ่ายขวาไทย คำตอบสมัยก่อนคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทุกวันนี้คำสามคำดังกล่าวยังใช้ได้ไหม ในขณะที่ตะวันตกไม่มีชุดความคิดแบบนั้นแล้ว ถ้ามีวิกฤติทางความคิด ปีกขวาไทยใครจะเป็นผู้นำ เท่าที่เปิดตัวกันออกมานั้น มีเครดิต คุณค่าพอที่สังคมส่วนใหญ่จะยอมรับไหม คิดว่าไม่ 

กระแสขวาในไทย เหลือคำตอบเดียวคืออำนาจมาด้วยรัฐประหาร ไม่ใช่เลือกตั้ง ก็แย้งกับความเห็นทางรัฐศาสตร์ว่า ถ้าทหารจะไม่ยึดอำนาจ ก็ต้องสร้างพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน แต่โอกาสที่เกิดขึ้นก็ลำบาก เพราะอนุรักษ์นิยมไทยไม่ยอมรับ อนุรักษ์นิยมไทยเหมือนกับละตินอเมริกายุคหลัง 1964 ที่นอกจากคอมมิวนิสต์ ก็กลัวพรรคการเมือง กลัวการเลือกตั้ง รังเกียจนักการเมือง เราอยู่ในกระแสความคิดในละตินหลัง 1964 เท่านั้น แต่ว่าหลังจากนั้น กระแสทหารในละตินอเมริกาก็จบลง แต่กระแสโลกที่เปลี่ยนไป ประหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลงกระแสของปีกอนุรักษ์นิยมไทย อนุรักษ์นิยมไทยมีเพียงนาฬิกาที่หยุดนิ่งและเดินไปข้างหลัง ถ้าเปิดร้านนาฬิกาก็ไม่มีคนซื้อ ไม่ได้เรียกร้องให้ตัดขวาทั้งหมดทิ้ง แต่อยากเห็นขวาไทยที่มีพัฒนาการมากกว่านี้

เสถียรภาพการเมืองไทย คำถามที่ยังไม่ได้คำตอบ

พิชญ์กล่าวว่า คำถามปลายเปิดที่มีมาตั้งแต่สมัยเริ่มเรียนรัฐศาสตร์จนถึงวันนี้คือ จะหาเสถียรภาพทางการเมืองได้อย่างไร เสถียรภาพทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้นหาได้ถ้าทุกคนเคารพกติกาเดียวกัน แต่ตอนนี้ยังไม่เกิด คำถามในทางวิชาการคือประชาธิปไตยจะอยู่รอดอย่างไร สิ่งที่สุจิตตั้งคำถามในอดีตยังไม่หายไป ทุกวันนี้ยังเรียนในชั้นเรียน แต่ที่ไปไกลกว่าการมีพรรคการเมืองที่ทำงานได้ ก็คือสถาบันใดบ้างจะทำให้เกิดเสถียรภาพทางการเมือง ภายใต้การออกแบบสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญอย่างไร 

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า ทหารในช่วงหลังเปรมถึงปี 2535 กับทหารปัจจุบันนั้นส่วนตัวเห็นว่าต่างกันเยอะ โดยเฉพาะเอกภาพของกองทัพ ก่อนหน้านั้นกลุ่มทหารมีหลายกลุ่มมาก แต่คำถามก็คือ การมีหลายกลุ่มนั้นทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าได้หรือยิ่งทำให้มีการยึดอำนาจ อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องคุยกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีกรณีศึกษาระหว่างบทบาทของเปรมในการเชื่อมทหารกับสถาบันกษัตริย์ ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมการที่ทหารไปหาเปรมที่บ้านปีละ 2 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันไปเสียแล้ว

แซมมูเอล ฮันติงตัน นักวิชาการชื่อดังชาวสหรัฐฯ เชื่อว่าทหารจะไม่รัฐประหารถ้าทหารเป็นมืออาชีพ แต่ว่ามืออาชีพนั้นหมายความว่าอะไร คือจะเป็นมืออาชีพในการรัฐประหารด้วยหรือเปล่า ก็ต้องย้อนกลับไปถามเรื่องความชอบธรรม ซึ่งก็อาจเกิดมาจากปฏิบัติการทางจิตวิทยา ซึ่งเปลี่ยนแปลงตัวเองมาตลอด หลังสงครามเย็น ทหารไทยก็ยังพัฒนาการเข้าถึงมวลชน กลไกของทหารในการเข้าถึงมวลชนน่าจะพอๆ กับกระทรวงมหาดไทยทีเดียว ในขณะที่พรรคการเมืองก็มีไทยรักไทยเป็นพรรคแรกที่ไปถึงรากหญ้าได้ขนาดนั้น

เมื่ออ่านงานของสุจิตแล้วก็มีคำถามว่า ทำไมการปฏิรูปทหารไม่เกิดเป็นคำถามในหมู่นักวิชาการอย่างต่อเนื่องเทียบเท่ากับการปฏิรูประบบราชการ อีกคำถามหนึ่งที่สำคัญก็คือ นักวิชาการรุ่นเก่าจะไม่เขียนแบบสนับสนุนทหาร นักวิชาการพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับทหารเป็นเรื่องปกติ ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นที่เมื่อนักวิชาการเห็นอะไรก็พูดแบบนั้น ไม่มีอคติ

จึงย้อนกลับไปว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองสถาบันมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก่อนสมัยเปรม เรายังไม่เห็นความสัมพันธ์อย่างเป็นสถาบันของสองสถาบันนี้ แต่งานวิชาการปัจจุบันมักให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ของสองสถาบันจนแทบจะเป็นเรื่องเดียวกันเลย จึงไม่รู้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางจุดยืนหรือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะในยุคหลังเปรม ไม่ใช่เรื่องว่าพูดหรือไม่พูด แต่เป็นร่องรอยรูปแบบการเป็นสถาบันการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่หรือเปล่า

เวลาทหารบอกว่าเป็นมืออาชีพ ไม่แทรกแซงการเมือง ไม่เท่ากับทหารเป็นประชาธิปไตย หมายความว่าจุดมุ่งหมายของทหารไม่ใช่การแทรกแซงทางการเมืองถ้ายังได้ผลประโยชน์ เพราะเปลืองตัว ส่วนเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง ในระยะยาวทหารต้องถอย เพราะยิ่งแทรกแซงการเมืองก็ยิ่งเสียความเป็นเอกภาพภายใน เป็นแรงกดดันภายใน แต่ของไทยทำไมไม่ถอยเสียที เพราะขาดแรงกดดันทางการเมือง หรือว่าทหารเป็นองค์กรที่เรียนรู้ พัฒนาตลอดเวลา ปรับตัวได้แล้ว

พิชญ์ตั้งคำถามว่า สามารถเปรียบเทียบการขึ้นสู่อำนาจของประยุทธ์กับการยึดอำนาจของสฤษดิ์ ถนอม ประภาส ได้หรือไม่ การยึดอำนาจของ คสช. สะท้อนการสร้างระบอบทหารที่การตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับองค์คณะ ไม่ได้ขึ้นกับคนๆ เดียว ส่วนตัวมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างประยุทธ์ ประวิตร อนุพงษ์ มีความเป็นกลุ่มก้อนระดับหนึ่งซึ่งยังแกะไม่ออก แต่การทำงานของทั้ง 3 ไปไกลกว่าถนอม ประภาส ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าถาม 

สุดท้าย วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่หรือไม่ หรือว่าวัฒนธรรมเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ทางการเมือง ตกลงเวลาศึกษาเรื่องทหาร สิ่งที่ยังไม่ได้เห็นคืองานทางวัฒนธรรมของทหารและบรรดากองเชียร์ของทหาร 

การรัฐประหาร 2 ครั้งหลัง ไม่ใช่คำถามว่าทหารมีความจำเป็นต้องรัฐประหารหรือไม่ แต่กลายเป็นว่ามีคนที่แสวงหาหนทางว่า ถ้าผลักดันสถานการณ์ถึงจุดนี้แล้วทหารจะลงมือ เหมือนมีประชาชนบางกลุ่มที่ใช้ทหารเป็นเครื่องมือ เหมือนมีคำอ้างของบรรดานกหวีดบ่อยๆ ว่าที่ยอมให้ทหารเข้ามาปกครองคือ ถ้าไม่พอใจก็ไล่ได้ ซึ่งไม่เชื่อว่าวิธีคิดแบบนี้จะมีในอดีต แต่ความเชื่อแบบนี้มีเสมอว่า ทหารเป็นเพียงเครื่องมือที่เราใช้ ถ้าไม่พอใจก็ไล่ได้ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่อยากไล่เพราะยังมีอะไรที่น่ากลัวกว่า 

สิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมก็คือ คนที่พยายามให้ความชอบธรรมกับทหารเพิ่มขึ้น และทหารก็สร้างความเป็นสถาบันขึ้นเรื่อยๆ รัฐประหาร 2549-2557 การสร้างแม่น้ำหลายๆ สาย การดึงคนไปอยู่ในสถาบันการเมืองใหม่ๆ จะพบว่าทหารไม่ปกครองแบบเดิม คือยึดอำนาจแล้วมอบอำนาจให้คนกลาง แต่จะเชื่อมโยงมวลชน สร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ไม่ได้ประโยชน์เต็มที่ในระบอบประชาธิปไตย ทหารที่ยึดอำนาจในปี 2549-2557 เป็นข้อยกเว้นว่าด้วยการยึดอำนาจของทหารไทยหรือไม่ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net