อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย (5): สู้เรื่องความชอบธรรม ถึงมีปืนก็ยิงไม่ได้

ซีรีส์งานเสวนา ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย’ 'เกษียร เตชะพีระ' ชี้รัฐคือผู้ผูกขาดความรุนแรง การสู้กับรัฐต้องสู้เรื่องความชอบธรรม ทำให้ราคาทางการเมืองในการใช้ความรุนแรงของรัฐแพงที่สุด ต่อให้มีปืนก็ยิงไม่ได้

  • รัฐธรรมนูญคือเครื่องมือของชนชั้นกลางในการจำกัดอำนาจสมบูรณายาสิทธิราชย์ให้นิ่ง
  • ความคิดเรื่องรัฐธรรมนูญในเมืองไทยปะทะกับสมมติฐานเรื่องอำนาจในวัฒนธรรมไทยคือปัจเจกอยู่เพื่อรัฐเปลี่ยนเป็นรัฐอยู่เพื่อปัจเจก และอำนาจมาจากบนลงล่างเปลี่ยนเป็นอำนาจจากล่างขึ้นบน
  • รัฐธรรมนูญคือบทสนทนาไม่รู้จบระหว่างผู้ผลัดกันขึ้นมานิยามว่าตนเองเป็นประชาชน ผู้ผลัดกันขึ้นมานิยามว่าตนเองเป็นเจ้าของอธิปไตยกับผู้กุมอำนาจอธิปไตยตัวจริง
  • การสู้กับรัฐในประเด็นความชอบธรรมเพื่อทำให้ราคาทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจต้องจ่ายให้กับทุกความรุนแรงที่ตนเองทำแพงที่สุด

งานเสวนา ‘อดีต ปัจจุบัน และอนาคตรัฐธรรมนูญไทย’ ซึ่งจัดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ประกอบด้วยธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สิริพรรณ นกสวน สวัสดี จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และวรรณภา ติระสังขะ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมกันบรรยายให้เห็นอดีตที่พ่ายแพ้มากกว่าชัยชนะของประชาธิปไตย ปัจจุบันที่มีแสงสว่างอยู่บ้าง แต่ความมืดหม่นเข้มกว่า และอนาคตอันไม่แน่นอนว่าจะต้องเสียเลือดเนื้ออีกหรือไม่หากชนชั้นนำไทยขาดสติปัญญาที่จะคิดให้ทันความเปลี่ยนแปลง

‘ประชาไท’ ขอนำเสนอคำบรรยายโดยละเอียดของวิทยากรทั้ง 4 พร้อมกับข้อคิดเห็นของเกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในประเด็นการใช้ความชอบธรรมสู้กับรัฐเพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

เกษียร เตชะพีระ (แฟ้มภาพ)

ตอนที่ 5 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายเป็นการแสดงความคิดเห็นของเกษียร เตชะพีระ

5 ข้อสังเกตต่อรัฐธรรมนูญ ประชาชน และการลงท้องถนน

มี 5 เรื่องที่ผมอยากจะพูดคือ อะไรคือรัฐธรรมนูญในประวัติศาสตร์ เรื่องที่ 2 คือเกิดอะไรขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญเข้ามาในเมืองไทย เรื่องที่ 3 คือที่เราเรียกว่าประชาชนคืออะไร เรื่องที่ 4 คือรัฐธรรมนูญในไทยและในโลก และเรื่องที่ 5 การลงท้องถนน

ผมคิดว่ารัฐธรรมนูญในประวัติศาสตร์ของยุโรป อาจจะรวมถึงในเมืองไทยด้วย คือเครื่องมือของชนชั้นกลางในการจำกัดอำนาจรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันเกิดแบบนี้ มันไม่ได้เริ่มต้นจากประชาชนทุกคน มันเริ่มจากคนที่อยู่ใต้ลงมาหน่อยเรียกว่าชนชั้นกลาง คำว่าจำกัดแปลว่าอะไร แปลว่าทำให้นิ่ง ไม่ใช่วิ่งไปตามใจ คาดการณ์ได้เพราะมีตัวหนังสือระบุอยู่ เลยถ่วงดุลควบคุมได้

เรื่องที่ 2 พอมันเข้ามาในเมืองไทยแล้วเป็นอย่างไร เวลาชนชั้นกลางขายไอเดียรัฐธรรมนูญไม่สามารถจะบอกได้ว่ารับไว้เถอะเพราะดีกับกู ต้องบอกว่ารับไว้เถอะเพราะมันดีสำหรับทุกคน ดังนั้น มันจะพูดมากกว่าที่มันให้เสมอและการที่มันพูดมากกว่าที่มันให้คือไม่ได้ให้เฉพาะพวกกู แต่พวกมึงทุกคนได้ มันเป็นความฝันของผู้คนทั้งหลายที่รับเอาสิ่งนี้เข้ามา ดังนั้น พอความคิดในรัฐธรรมนูญเข้ามาในเมืองไทยมันไปชนหรือไปกลับตาลปัตรสมมติฐานเรื่องอำนาจในวัฒนธรรมไทยแต่เดิมใน 2 เรื่องสำคัญด้วยกัน หนึ่ง วิธีคิดเดิมก็คือปัจเจกอยู่เพื่อรัฐวิธีคิดแบบรัฐธรรมนูญคือรัฐอยู่เพื่อปัจเจก สอง วิธีคิดแบบเดิมคืออำนาจจากบนลงล่าง วิธีคิดแบบรัฐธรรมนูญคืออำนาจจากล่างขึ้นบน พอมันเข้ามามันจึงมีปัญหามากที่จะยอมรับว่าทิศทางเดิมของอำนาจอธิปไตยมันเปลี่ยน

เรื่องที่ 3 คือเรื่องประชาชนคำนี้ใช้กันเยอะ แต่ผมเข้าใจแบบนี้กลุ่มสังคมและชนชั้นที่กำลังรุ่งขึ้นจะอ้างตนว่าพูดในนามประชาชนเสมอและนิยามประชาชนว่าหมายถึงตัวเองเสมอ

เรื่องที่ 4 ถ้าคิดถึงรัฐธรรมนูญในไทยกับในโลก ผมคิดว่ามันคือบทสนทนาไม่รู้จักจบระหว่างผู้ผลัดกันขึ้นมานิยามว่าตนเองเป็นประชาชน คือผู้ผลัดกันขึ้นมานิยามว่าตนเองเป็นเจ้าของอธิปไตยกับผู้กุมอำนาจอธิปไตยตัวจริง ในที่สุดไม่ว่าบทสนทนานั้นจะคุยด้วยถ้อยคำ ตัวเขียน ระเบิดขวด ก้อนอิฐ หรือกระสุน มันคือบทสนทนาเรื่องอำนาจอธิปไตย

สุดท้ายเรื่องการลงท้องถนน ผมคิดว่าประเด็นที่น่าสนใจก็คือว่า การลงท้องถนนที่จะเปลี่ยนสิ่งสำคัญอย่างรัฐธรรมนูญ มันต้องลงด้วยความรุนแรงเสมอ ผมพูดอย่างนี้ผมนึกถึงอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เพราะหนแรกที่ผมยอมรับเรื่องสันติวิธีกับอาจารย์ชัยวัฒน์ ผมออกจากป่า คำถามของผมเวลาที่เรียนกับแกก็คือว่าการเปลี่ยนวิธีการต่อสู้เป็นการเปลี่ยนจุดยืนด้วยหรือเปล่า เพราะวิธีคิดแบบเดิมอำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน ดังนั้น วิธีการต่อสู้ที่ถูกต้องก็ต้องสู้ด้วยความรุนแรงหรือด้วยปืน ถ้าคุณเปลี่ยนวิธีการต่อสู้เป็นการสู้ด้วยสันติวิธี คุณเปลี่ยนจุดยืนด้วยหรือไม่ แกสอนให้ผมเข้าใจว่า ไม่ คุณไม่ต้องเปลี่ยนจุดยืน คุณสู้ต่อได้โดยสันติวิธีและมันไม่ได้แปลว่ายอมจำนน

ยิ่งไปกว่านั้นฐานของวิธีคิดสันติวิธีเคารพในคุณค่าของชีวิตมนุษย์มากกว่าซะอีก เพราะไม่คิดว่าจะสามารถสละชีวิตผู้คนเพื่อเป้าหมายนามธรรมอะไรได้เลย สุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือชีวิตผู้คน

ภาพที่ถูกถ่ายจากดาดฟ้า สตช. เย็นวันที่ 19 พ.ค.53 โดยทหารในภาพมองไปยังหน้าวัดปทุมฯ ซึ่งเป็นที่หลบภัยของผู้ชุมนุม นปช. หลังแกนนำประกาศสลายการชุมนุม

ทำให้ต้นทุนความรุนแรงที่รัฐต้องจ่าย แพงที่สุด

กลับมาเรื่องเดิม การลงท้องถนนเพื่อเปลี่ยนอำนาจรัฐต้องเป็นความรุนแรงทุกครั้งหรือเปล่า ถ้าคุณปฏิเสธความรุนแรงแล้วคุณยอมรับว่าการลงท้องถนนเพื่อเปลี่ยนอำนาจรัฐต้องประสบความรุนแรง คุณไม่มีทางเลือกอื่น คุณยอมจำนน ก็คุณไม่ยอมรับความรุนแรงตั้งแต่ต้น ถ้าการลงท้องถนนเพื่อต่อสู้ให้เปลี่ยนรัฐธรรมนูญหรือเปลี่ยนอำนาจรัฐทุกครั้งต้องเกิดความรุนแรง คุณก็ยอมจำนนเท่านั้นเอง มันรับไม่ได้

แน่นอนนะครับ โอกาสจะเกิดมันเยอะ เพราะว่าเดิมพันสูง มันเป็นเรื่องอำนาจรัฐ ไม่มีใครยอมคายง่ายๆ เครื่องมือความรุนแรงอยู่ในมือรัฐมากกว่าเสมอ อาวุธปืนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอยู่ในมือรัฐไม่ได้อยู่ในมือประชาชน ดังนั้น โอกาสเกิดความรุนแรงจึงมีได้เยอะ

แต่จะสู้กับรัฐต้องเข้าใจว่ารัฐคืออะไร แม็กซ์ เว็บเบอร์ ให้นิยามคำว่ารัฐว่าคือองค์กรที่ผูกขาดเครื่องมือความรุนแรงในพื้นที่อาณาบริเวณหนึ่งโดยชอบด้วยกฎหมายหรือโดยชอบธรรม  ดังนั้น ถ้าคุณจะสู้กับรัฐ คุณสู้ได้ 3 แบบ คุณสู้ตรงการผูกขาดความรุนแรง เช่น พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) สู้ด้วยการตั้งกองทัพปลดแอก คือไม่ให้รัฐผูกขาดความรุนแรงคนเดียว สอง คุณสู้ตรงอาณาบริเวณ คุณสร้างเขตปลดปล่อยตั้งแต่ระดับภูมิภาคในป่าหรือกระทั่งเขตปลดปล่อยในกรุงเทพฯ คือราชดำเนินหรือราชประสงค์ เป็นต้น คือเขตปลอดอำนาจรัฐ

อันที่ 3 คุณสู้เรื่องความชอบธรรมเพื่อทำให้ถึงมีปืนก็ยิงไม่ได้ นั่นแปลว่าต้องทำให้ราคาทางการเมืองที่ผู้มีอำนาจต้องจ่ายให้กับทุกความรุนแรงที่ตนเองทำแพงที่สุด เราไม่สามารถไปบอกเขาได้ว่าอย่ายิง ที่คุณทำได้ในฐานะนักรัฐศาสตร์หรือนักการเมืองคือทำให้ราคาที่เขาต้องจ่ายกับความรุนแรงทุกครั้งที่เขาทำ แพงที่สุด ถ้าคุณทำตรงนี้ได้ โอกาสที่จะใช้ความชอบธรรมเป็นประเด็นในการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนอำนาจรัฐโดยลดความรุนแรงลงให้เหลือน้อยเป็นไปได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท