Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เท่าที่เสพการเสนอข่าวและการวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์งานศพของนายพลคาเซม สุไลมานี (ชื่อแปลงเป็นไทยไม่เหมือนกันสักสำนักข่าว) ผมรู้สึกว่าทุกคนที่ออกสื่อกำลังตกหลุมพรางของรัฐบาลอิหร่าน ตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงเกาหลีเหนือเมื่อครั้งที่คิม จองอิลเสียชีวิตในปี 2011 เราก็จะเห็นภาพของคนเกาหลีเหนือร้องห่มร้องไห้จะเป็นจะตาย ซึ่งทำให้ส่วนใหญ่ (รวมถึงสุทธิชัย หยุ่นด้วย) คิดว่าคนเกาหลีเหนือทั้งประเทศเคารพรักท่านผู้นำผมตั้งคนนี้เหลือเกิน แต่ต่อมาก็มีการตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วคนเกาหลีเหนือเสียอกเสียใจให้กับผู้นำคนนี้ทั้งหมดหรือ หรือว่าเป็นแค่บางส่วน เพราะรัฐเกาหลีเหนือเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จที่เข้าควบคุมชีวิตประชาชนอย่างเด็ดขาด นอกจากจะมีตำรวจลับแล้ว รัฐยังส่งเสริมให้คนเกาหลีเหนือจับตาดูซึ่งกันและกัน ดังนั้นจึงเป็นได้ว่าจะมีทั้งคนเสียใจเพราะการล้างสมองของรัฐบาล (ทั้งที่คิม จองอิลเป็นผู้นำที่ไม่น่ารักเลย ใช้ชีวิตเสเพล ปล่อยให้ประชาชนอดตายเป็นล้านๆ ) และคนที่แสร้งว่าเสียใจเพราะหวาดกลัวว่าจะถูกจับไปเข้าค่ายกักกันซึ่งมีสภาพเหมือนกับนรกบนดินในข้อหาไม่รักท่านผู้นำ คนเหล่านี้จะมีจำนวนเท่าไรก็ไม่สามารถวัดได้เพราะประเทศไม่มีโพลวัดความนิยม

แต่ไม่ว่าอย่างไรผมคิดว่าการล้างสมองหรือการโฆษณาชวนเชื่อถึงแม้จะประสิทธิภาพแต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิดของมนุษย์ทั้งหมดได้ ดังประวัติศาสตร์ของรัฐเผด็จการแบบฟาสซิสต์อย่างเยอรมัน อิตาลี ญี่ปุ่น หรือคอมมิวนิสต์อย่างโซเวียต หรือรัฐแบบฟรังโกอย่างสเปน ที่มีหลักฐานว่ามีคนต่อต้านท่านผู้นำอยู่และถูกกำจัดไป ดังนั้นจึงน่าจะมีคนรู้สึกเช่นนี้อีกเป็นจำนวนมากและเก็บเป็นความลับไว้ด้วยความกลัว

นอกจากนี้รัฐเผด็จการยังมีลักษณะเด่นคือการครอบงำสื่อที่จะสามารถบังคับให้สื่อนำเสนอภาพข่าวไปในทางเดียวกัน ภาพของคนเกาหลีเหนือ (ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้) ระเบิดน้ำตา ดิ้นไปดิ้นมาเหมือนบุพการีเสียจึงถูกนำเสนอซ้ำไปซ้ำมาอยู่มุมเดียวโดยไม่มีคนวิจารณ์หรือนำเสนอความจริงอีกด้าน ตรงกันข้ามกับผู้นำที่อยู่ในชาติประชาธิปไตยที่สื่อมีเสรีภาพ ประเทศจึงดูเหมือนขาดความสามัคคีเพราะทุกคนมีเสรีในการแสดงออกความคิดหรือความรู้สึกที่แท้จริงของตนและการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐมีอย่างจำกัดอย่างเช่นอังกฤษที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศคือมาร์กาเร็ต แทชเชอร์เสียชีวิตในปี 2013 แม้จะมีรัฐพิธีงานศพเธออย่างสมเกียรติ แต่ก็มีข่าวพวกสังคมนิยมบางกลุ่มออกมาแสดงความยินดีพร้อมกับร้องเพลงว่า "แม่มดตายแล้ว" (The Witch is dead) เพราะแทชเชอร์มีนโยบายอันเป็นที่เกลียดชังของคนอังกฤษอยู่หลายอย่างในทศวรรษที่ 80

อิหร่านในตอนนี้ก็เหมือนกัน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐเผด็จการที่เข้มข้นเหมือนเกาหลีเหนือ แต่ก็มีการใช้กลยุทธ์แบบเดียวกันโดยการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสนั่นคือการใช้การสูญเสียของสุไลมานีในฐานะนักรบในตำนานเป็นการรวบอำนาจของผู้นำสูงสุดซึ่งกำลังต่อสู้กับประชาชนส่วนหนึ่งที่ทำการประท้วงอย่างต่อเนื่องมาเป็นปี การใช้พิธีกรรมและสัญลักษณ์โบราณอย่างเช่นการชักธงสีแดงเป็นการเร้าอารมณ์ของประชาชนให้เกิดความรู้สึกยำเกรง (เหมือนกับการตอกย้ำประวัติศาสตร์หมู่บ้านบางระจันให้คนไทยรู้สึกอิน) และต้องปฏิบัติตามรัฐที่กำลังจะโรมรันกับซาตานตัวพ่ออย่างสหรัฐฯ จนกลายเป็นกระแสความเชื่อว่าอิหร่านเป็นรัฐโบราณที่ยิ่งใหญ่ (ทั้งที่รัฐอิสลามในปัจจุบันเพิ่งเริ่มต้นตั้งแต่ปี 1979) ที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม มีความถูกต้องชอบธรรมและพร้อมจะโต้ตอบศัตรูอย่างอาจหาญ ภายใต้การนำของผู้นำสูงสุดอย่างคาไมนาอิ ส่วนบทบาทของประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานีถูกเบียดบังไปเสียสิ้น

แต่ความจริงผมมองว่าคนอิหร่านมีความคิดและความรู้สึกที่หลากหลายเกี่ยวกับสุไลมานีรวมไปถึงรัฐบาล แม้งานศพจะมีการอ้างว่ามีผู้เข้าร่วมแสดงความเสียใจเป็นล้านๆ แต่อย่าลืมว่าคนอิหร่านจริงๆ มี 80 กว่าล้านคน จำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้รู้สึกผูกพันหรือศรัทธาอะไรกับรัฐบาลเช่นเดียวกับอุดมการณ์อิสลามแบบสุดขั้ว เป็นไปได้ว่าคนอิหร่านจำนวนมากยังไม่รู้ว่านายพลสุไลมานีเป็นใคร หรือมีความสำคัญอย่างไรเสียด้วยซ้ำ จำนวนมากอาจรู้จักแต่ไม่ได้รู้สึกผูกพันอะไรหรืออาจเกลียดชังด้วยซ้ำเพราะผู้วายชนม์เป็นตัวแทนของรัฐบาลซึ่งกดขี่ ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน นายเลอพงษ์ ซาร์ยิดนายกสมาคมนักเรียนเก่าไทย-อิหร่านคนให้สัมภาษณ์ในคลิป อ้างว่ามีแค่ส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ซึ่งเป็นการโกหกเพื่อทำให้รัฐบาลดูดี เพราะมีคนอิหร่านหลายแสนแล้วออกมาประท้วงจนถูกปราบปรามและเสียชีวิตไป 1,500 ศพ ซึ่งเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจในไทยค่อนข้างน้อยและสุทธิชัยไม่เคยเจาะลึกตรงนี้เท่าไร เพราะเขาไม่ค่อยมีความรู้ในการเมืองภายในของอิหร่านเช่นเดียวกับจีนหรือเกาหลีเหนือ

นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างอื่นเช่นมีข่าวว่าผู้หญิงอิหร่านคนหนึ่งซึ่งถูกจับว่าปลอมเป็นผู้ชายเข้าไปดูบอลที่สนามฟุตบอลถึงกลับฆ่าตัวตายเพราะถูกดำเนินคดีและอาจติดคุกเพราะประเทศนี้ห้ามผู้หญิงเข้าสนามฟุตบอล จึงเป็นเรื่องน่ากังขาว่าหญิงส่วนใหญ่จะชอบรัฐอิสลามไหม (ตอนปฏิวัติอิหร่านปี 1979 เสร็จใหม่ๆ ผู้หญิงซึ่งได้รับเสรีภาพในการแต่งกายแบบตะวันตกในยุคพระเจ้าชาห์ถึงกลับเดินขบวนประท้วงเพราะถูกบังคับให้แต่งกายตามแบบอิสลาม) แต่ด้วยความสามารถในการควบคุมสื่อดังที่ได้กล่าวมาและการระดมคนซึ่งน่าจะทั้งชอบสุไลมานีจริงๆ หรือว่าถูกเกณฑ์มา จึงทำให้คนต่างประเทศหรือแม้แต่คนในประเทศอิหร่านเองคิดว่าสุไลมานีเป็นที่รักของคนทั้งประเทศ ดังนั้นรัฐบาลของอิหร่านจึงต้องขอบคุณโดนัลด์ ทรัมป์ซึ่งช่วยเหลืออีกอีกครั้ึ่งหนึ่งในการทำให้พวกขวาจัดอย่างผู้นำสูงสุดสามารถ consolidate อำนาจได้

จากการให้สัมภาษณ์ส่วนหนึ่งของนายเลอพงษ์ และนายสุทธิชัยเอง บอกได้ว่าตกเป็นเหยื่อของกลยุทธ์รัฐบาลอิหร่านจริงๆ แต่พอฟังไปนานๆ แล้ว รู้สึกว่าทั้งคู่จะสมัครใจเป็นกระบอกเสียงเสียมากกว่า

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: สายตรงจากอิหร่าน กับ ดร.เลอพงษ์ : Suthichai live 06/01/2563

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net