Skip to main content
sharethis

11 ม.ค. 2563 กลุ่ม มวล.เสรี ออกแถลงการณ์ เรื่อง 'เราจะวิ่ง' ระบุว่าตามที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ออกแถลงการณ์ไม่อนุญาตให้ “วิ่ง ไล่ ลุง” ในวันที่ 12 ม.ค. 2563 ด้วยเหตุผลว่าเป็น “กิจกรรมทางการเมือง” และ “มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานของรัฐ อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐ” จึงไม่อนุญาตและสนับสนุนให้กลุ่มองค์กรใดก็ตามจัดกิจกรรมเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง

พวกเราในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยผู้รักสุขภาพที่มีความปราถนาจะวิ่ง และในฐานะนักศึกษา ประชาชนที่จ่ายค่าเทอมและจ่ายภาษีเพื่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ขอประกาศจุดยืนและความเห็นต่อมหาวิทยาลัยดังต่อไปนี้

1. พวกเรายืนยันว่าเราจะวิ่งกันต่อไป “การวิ่ง” เป็นสิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย ตั้งแต่เติบโตจากวัยเด็กจนเข้าสู่วัยหนุ่มสาว มีโอกาสได้เรียนหนังสือมาระดับหนึ่ง ยังไม่พบว่าการวิ่งเป็นกิจกรรมที่ผิดกฎหมายหรือถูกห้ามแต่อย่างใด

2. การ “ห้ามวิ่ง” โดยอ้างว่าเป็น “กิจกรรมทางการเมือง” นั้นหาใช่เหตุผลที่แท้จริง แต่เป็นเพราะขัดกับความเห็นหรือจุดยืนทางการเมืองที่ผู้บริหารสนับสนุนมากกว่า และแม้การวิ่งจะทำให้เหนื่อยก็ตามแต่ไม่กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของผู้อื่นแต่อย่างใด

มีหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันได้ว่า ผู้บริหารระดับสูง อธิการบดี รองอธิการบดี ส่วนกิจการนักศึกษา พนักงาน อาจารย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จำนวนมากเคยมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหว “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” มีการจัดปราศรัยในมหาวิทยาลัย นำนักศึกษาออกไปเคลื่อนไหวภายนอก ใช้รถบัสมหาวิทยาลัย “ขนคน” ไปชุมนุม เหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางการเมือง และได้นำพาประเทศชาติมาถึงจุดนี้ที่ต้องเป็นภาระให้พวกเราต้องออกมาวิ่งกัน

3. การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญรับรอง และกฎหมายอื่นไม่ได้ห้ามไว้ ดังนั้น เสรีภาพในการแสดงออกและการเคารพความแตกต่างทางการเมืองจึงเป็นเรื่องจำเป็น หากคำนึกถึงความเป็นกลางทางการเมืองที่มักถูกอ้างอย่างขาดความเข้าใจนั้น บทบาทหน้าที่ของมหาวิทยาลัยอันเป็นสมบัติของประชาชน ไม่ใช่การกดทับความเห็นหรือการแสดงออกของนักศึกษา แต่คือการเป็นพื้นที่กลาง เปิดโอกาสหรือเอื้ออำนวยให้ทุกกลุ่มทุกความคิดเห็นได้แสดงออกอย่างเปิดเผยภายใต้กรอบกฎหมายอย่างสันติ

เพื่อเห็นแก่อนาคตของนักศึกษาและลูกหลานของท่านในอนาคต ขอให้ผู้บริหาร อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ทั้งหลาย อดทนและเรียนรู้ที่จะเคารพเสรีภาพ ความแตกต่างทางความคิด และหยุดปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษา

โดยท้ายแถลงการณ์กลุ่ม มวล.เสรี ย้ำว่า "เราจะวิ่ง เจอกันวันอาทิตย์"

ม.วลัยลักษณ์ เบรค ‘วิ่งไล่ลุง’ ชี้เป็นกิจกรรมการเมือง ด้าน นศ.ยัน 'เราจะวิ่ง'
แอมเนสตี้ฯ เปิดรับอาสาสมัครสังเกตการณ์ #วิ่งไล่ลุง ผ่านมุมมองด้านสิทธิฯ
ศูนย์ทนายฯ ชี้ ตร.อุบลฯ ไม่อนุญาตจัด 'วิ่งไล่ลุง' ไม่ชอบด้วยกฎหมายแถมขัด รธน.

เผยเจ้าหน้าที่ ม.วลัยลักษณ์ เรียกนักศึกษาพูดคุยกรณีกิจกรรม 'วิ่งไล่ลุง' ร่วมกับตำรวจ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2563 iLaw แจ้งว่าที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เรียกนักศึกษาพูดคุยกรณีวิ่งไล่ลุงร่วมกับตำรวจ 

‘นนท์’ ซึ่งเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่สอง ที่ผ่านมาเขาเคยทำกิจกรรมเรื่องการถอดถอน กกต. และจัดเวทีดีเบทพรรคการเมือง กรณีกิจกรรมวิ่งไล่ลุง ‘นนท์’ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรม เมื่อเห็นว่ามีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมจึงได้ทำการแชร์โพสต์ดังกล่าวและชักชวนเพื่อนของเขาไปร่วมกิจกรรม

วันที่ 9 มกราคม 2563 เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ขอเบอร์โทรศัพท์ของ ‘นนท์’ จากเจ้าหน้าที่หอพักของเขาและโทรมาหาเขาในเวลาประมาณ 16.00 น. ให้ไปพบที่อาคารไทยบุรี ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย ก่อนหน้าที่จะไป ‘นนท์’ได้ปรึกษาอาจารย์ที่ปรึกษาว่า จะทำอย่างไร อาจารย์แนะนำว่า เรามีสิทธิเลือกว่า จะไปหรือไม่ไปก็ได้ แต่‘นนท์’เลือกที่จะไป  โดยเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยขับรถยนต์ส่วนตัวมารับและพาขึ้นไปพูดคุยที่ห้องทำงานส่วนตัวของเขา

เมื่อไปถึงพบเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่งอยู่ประมาณสี่ห้านาย แต่งกายทั้งในและนอกเครื่องแบบ ตำรวจสอบถามเกี่ยวกับรายละเอียดกิจกรรม ‘นนท์’ตอบไปตามรายละเอียดที่ปรากฏอยู่บนหน้าเพจ  และพยายามถามคาดคั้นอยู่หลายครั้งมากว่า  ‘นนท์’เป็นเจ้าของเพจหรือไม่ เป็นคนจัดกิจกรรมหรือไม่ แต่เขาปฏิเสธ จากนั้นจึงถามว่า คิดอย่างไรกับการออกแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยและยังจะไปอีกไหม  ‘นนท์’ก็ยืนยันว่า จะไปร่วมกิจกรรม ตำรวจถามว่า ‘นนท์’ จะไปกับใคร เขาบอกว่า ไปกับเพื่อนสามสี่คน ตำรวจถามว่า ได้ชวนอาจารย์ไปไหม ไม่ได้เอ่ยชื่ออาจารย์คนใดเป็นพิเศษแต่บอกทำนองว่า อาจารย์อาจจะใช้พวกคุณเป็นเครื่องมือ 

ด้านเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยก็บอกว่า ทำแบบนี้ไม่รักมหาวิทยาลัยหรือ ‘นนท์’ ตอบว่า ตนก็รักมหาวิทยาลัยนะ แต่อยากให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ และบอกว่า เป็นกังวลว่า กิจกรรมจะมีมือที่สาม (คนที่คิดเห็นทางการเมืองต่างกัน) หรือมีเหตุอันตรายหรือความขัดแย้งในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังบอกว่า เหตุที่เรียก ‘นนท์’ ไปคุยเพราะว่า ‘นนท์’ เป็นคนที่แชร์กิจกรรมเป็นคนแรก

การพูดคุยใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง ส่วนมากก็คุยปกติ ทุกคนพยายามถามคำถามเดิม ตำรวจได้เอาชื่อกับเบอร์โทรศัพท์ของเขาไปด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net