Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่ออ่านหนังสือ “สิทธิมนุษยชนสร้างสันติสุขหรือสลายสังคม” ของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์” (ต่อไปนี้จะเรียก “ท่าน ป.อ.”) ทำให้เกิดคำถามสำคัญหลายประการ

แน่นอนว่าการตั้งคำถามและวิจารณ์ “เสรีภาพ” หรือ “สิทธิมนุษยชน” ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ หรือควรจะทำเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าทางความคิด แต่ที่น่าคิดคือ ขณะที่ปราชญ์พุทธบ้านเรา ตั้งคำถามว่า “สิทธิมนุษยชนสร้างสันติสุขหรือสลายสังคม?” บนจุดยืนพุทธธรรม กลับไม่พบการตั้งคำถามบนจุดยืนเดียวกันว่า “เผด็จการสร้างสันติสุขหรือสลายสังคม?”

หรือเมื่อตั้งคำถามว่า “เสรีประชาธิปไตยเป็นระบบที่สร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่?” กลับไม่พบการตั้งคำถามว่า “ประชาธิปไตยแบบไทยสร้างประโยชน์สุขแก่ประชาชนส่วนใหญ่หรือไม่?” บนจุดยืนพุทธธรรม

ยิ่งกว่านั้น เมื่อใช้ (apply) จุดยืน “พุทธธรรม” กับ “เผด็จการ” ปราชญ์พุทธบ้านเรากลับยืนยัน “เผด็จการโดยธรรม” ว่าเป็นระบบการเมืองเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ ที่สอดคล้องประชาธิปไตยแบบไทยหรือระบบพ่อปกครองลูกที่มีมาแต่สมัยสุโขทัย ดังเห็นได้ในแนวคิด “ธัมมิกสังคมนิยมเผด็จการโดยธรรม” ของพุทธทาสภิกขุ เป็นต้น

น่าสังเกตว่า ความคิดทางสังคมและการเมืองบนจุดยืนพุทธธรรมแพร่หลายมากเป็นพิเศษในช่วงกว่าสอง-สามทศวรรษที่ผ่านมา เฉพาะหนังสือ “สิทธิมนุษยชนสร้างสันติสุขหรือสลายสังคม” ที่ตีพิมพ์ครั้งที่ 7 ในปี 2546 โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ตีพิมพ์จำนวนมากถึง 4,500 เล่ม นึกไม่ออกว่าจะมีงานวิชาการแนวเสรีนิยมที่สนับสนุนเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเล่มใดๆ เคยได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้งและจำนวนมากเทียบเท่ากับงานวิพากษ์สิทธิมนุษยชนและเสรีประชาธิปไตยบนจุดยืนพุทธธรรม ในบรรณพิภพทางวิชาการของสยามประเทศนี้

สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้ของท่าน ป.อ. คือการวิเคราะห์ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของสิทธิมนุษยชนเป็นประวัติศาสตร์ของตะวันตก, เป็นประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้พ้นจากการกดขี่ในทางศาสนาและการเมือง, หลักสิทธิมนุษยชนเน้นสิทธิและเสรีภาพในเชิงลบ คือเน้นการป้องกันคนอื่นไม่ให้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของตนเอง, เมื่อเน้นการปกป้องสิทธิและเสรีภาพเชิงลบ ปัญหาที่ตามมาคือความขัดแย้ง ความแตกสลายทางสังคม เช่น ตัวอย่างสังคมอเมริกันที่เต็มไปด้วยปัญหาการฟ้องร้องเกี่ยวกับการถูกละเมิดสิทธิ การปกป้องสิทธิของปัจเจกบุคคล กระทั่งลูกฟ้องพ่อแม่ตัวเองเป็นต้น

ท่าน ป.อ.ใช้กรอบคิดเรื่อง “ทางสายกลาง” ชี้ให้เห็น “ความสุดโต่ง” ของสังคมสองแบบ (หน้า 13) ว่า

ในสังคมใดมนุษย์ไม่คำนึงถึงสิทธิของกันและกัน ปล่อยให้มีการละเมิดต่อชีวิต ต่อทรัพย์สิน มีการกีดกันแบ่งแยก ทำให้สังคมขาดอิสรเสรีภาพ สังคมนั้นยังเข้าไม่ถึงความมีอารยธรรม

ส่วนในสังคมใด มนุษย์บีบรัดตัวเองให้แคบลงด้วยการคอยระแวงในการที่จะปกป้องพิทักษ์สิทธิของตน จนกระทั่งแม้แต่พ่อแม่กับลูกก็อยู่กันด้วยท่าทีของการปกป้องและเรียกร้องสิทธิ สังคมนั้นชื่อว่าใกล้ถึงจุดอวสานของอารยธรรรม

คำถามคือ สังคมสุดโต่งสองแบบนี้ มีอยู่จริง หรือเป็น “การมองอย่างสุดโต่ง” เสียเอง การยกตัวอย่างสังคมตะวันตก โดยเฉพาะสังคมอเมริกันทำนองว่าสอดคล้องกับสังคมที่สุดโต่งแบบที่สอง เป็นการมองอย่างสุดโต่งหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า “สายกลาง” ในทัศนะท่าน ป.อ. เราอาจเห็นได้จากมุมมองที่ว่า (หน้า 18-19)

สำหรับชาวพุทธนั้น สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่เราจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นหลักการและข้อปฏิบัติที่ดี อย่างน้อยก็นำมาเปรียบเทียบกับศีล 5 จะถือว่าศีล 5 นั้น เป็นหลักประกันทางสังคมที่สำคัญ ถ้าหมู่มนุษย์ประพฤติอยู่ในศีล 5 ก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน และถ้ามองให้ละเอียดลงไปก็จะเห็นว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่แยกย่อยกระจายไปละเอียดเป็นข้อย่อยมากกมายนั้น ก็อยู่ในขอบเขตของศีล 5 นี่เอง... 

ผมเน้นตัวหนาเพื่อให้เห็นชัดเจนว่า “ความสุดโต่ง” ไม่ได้อยู่ที่ข้อเท็จจริงว่ามีสังคมสุดโต่งอยู่จริงตามนิยามของท่าน ป.อ. และไม่ได้อยู่ที่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวหลักสิทธิมนุษยชนและหลักศีล 5 แต่อยู่ที่ “ทัศนะ” หรือ “มุมมอง” ของท่าน ป.อ.นั่นเองที่เป็น “ทัศนะสุดโต่ง” หรือ “มุมมองสุดโต่ง” เสียเอง

เหตุผลแรก สังคมที่เน้นการปกป้องสิทธิ ไม่ใช่สังคมที่แต่ละคนเห็นแก่ตัวมุ่งแต่จะได้จะเอาแต่ประโยชน์ของตนเอง โดยไร้น้ำใจต่อคนอื่น หรือไม่คำนึงถึงสังคมเอาเสียเลย เพราะหลักการ “สิทธิ” อยู่บนพื้นฐานของการยืนยัน “ความเป็นคนเท่ากัน” ของตัวเราเองและทุกคน การปกป้องและเรียกร้องสิทธิใดๆ ของตนเองต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของคนอื่นด้วยเสมอไป เราไม่อาจเรียกร้องสิทธิของตนเองโดยไม่เคารพหรือละเมิดสิทธิคนอื่นได้

การที่กฎหมายรับรองสิทธิในการฟ้องพ่อแม่ของตนเองได้ ก็ไม่ใช่การกำหนดให้พ่อแม่ลูกอยู่กันด้วยการเรียกร้องสิทธิจากกันและกันเท่านั้น แต่คือการวางหลักประกันว่าหากเกิดการละเมิดสิทธิกันขึ้น ก็ต้องมีทางแก้ไข คือมีกฎหมายเป็นทางออกของปัญหา

การมีกฎหมายเป็นทางออกของปัญหากรณีที่พ่อแม่ละเมิดสิทธิของลูก ไม่ใช่เงื่อนไขให้เราอยู่กันอย่างปราศจากความรักระหว่างพ่อแม่ลูก เพราะมนุษย์เรามารถที่จะมีทั้งความรักต่อกันและเคารพสิทธิกันและกันได้ ไม่ใช่ว่าการให้ความสำคัญกับสิทธิจะทำให้มนุษย์ไร้หัวใจ ตรงกันข้ามหากมองให้ลึก การคำนึงถึงสิทธิของกันและกันต่างหากที่แสดงถึงการมีหัวใจเคารพในความเป็นคนของกันและกันอย่างลึกซึ้ง และเป็นรากฐานของความรัก ความเอาใจใส่กันและกันในสัมพันธภาพแบบต่างๆ ของมนุษย์ อย่างที่พูดกันว่า พ่อแม่รักลูกก็ต้องเคารพเหตุผล ความต้องการ ความฝัน และความเป็นตัวของตัวเองของลูกด้วย หรือเมื่อเรารักใครสักคนก็ควรยอมรับตัวตนของอีกฝ่าย เคารพสิทธิ และอิสรภาพของกันและกัน เป็นต้น

โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงหลักการพื้นฐานของสังคมเสรีประชาธิปไตยที่ถือว่า รัฐต้องรักษาสิทธิและเสรีภาพเป็น “กติกากลาง” ให้ปัจเจกบุคคลแต่ละคนสามารถเลือกคุณค่า ความเชื่อ ศาสนา ศีลธรรม ปรัชญาเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีหรือความสุขในความหมายใดๆ ด้วยตนเอง ก็ไม่ได้แปลว่าหลักการพื้นฐานนี้จะสลายสังคมที่ดีงาม และสันติสุขแต่อย่างใด ยิ่งจะเป็นการดีด้วยซ้ำที่สังคมจะมีคุณค่า ความดีที่แตกต่างหลากหลายให้เลือกและแต่ละคนที่เลือกสิ่งแตกต่าง ก็อยู่ร่วมกันบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน หลักการที่ฟรีและแฟร์เช่นนี้ต่างหากที่จะลดความขัดแย้ง หรือเป็นแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้ดีกว่า

ทัศนะสุดโต่ง “ทางหลักการ” ที่เห็นได้ชัดของท่าน ป.อ.คือทัศนะที่ว่า ถ้าหมู่มนุษย์ประพฤติอยู่ในศีล 5 ก็ไม่จำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่าสิทธิมนุษยชน และถ้ามองให้ละเอียดลงไปก็จะเห็นว่า ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่แยกย่อยกระจายไปละเอียดเป็นข้อย่อยมากมายนั้น ก็อยู่ในขอบเขตของศีล 5 นี่เอง...”  นี่คือการพยายาม “ตักมหาสมุทรใส่ถ้วยชา” เพราะหลักสิทธิมนุษยชนครอบคลุมกว้างขวางมาก ทั้งสิทธิการเลือกตั้ง สิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง ความเท่าเทียมทางเพศ เสรีภาพทางศาสนา ฯลฯ ที่กรอบคิดของศีล 5 ไม่เคยครอบคลุมถึงทั้งในแง่ตัวหลักการและการใช้ศีล 5 จริงในทางประวัติศาสตร์ และแม้จะพยายามตีความศีล 5 ให้ “ขยายขอบเขต” อย่างไร ก็ไม่มีทางครอบคลุมหลักสิทธิมนุษยชนสากลได้ครบถ้วนเลย (ยกเว้นจะว่าเอาเอง) ท่าน ป.อ.ยังเสนอต่ออีกว่า (หน้า 19)

เป็นการดีที่ว่าถ้าศีล 5 และหลักธรรมเหล่านี้ (เช่นทิศ 6) ยังเป็นเพียงคำสอน การมีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนก็มาหนุนโดย

1. เป็นการนำเอาคำสอนนั้นมากำหนดวางเป็นกติกาทางสังคมให้ชัดเจนลงไป ที่จะต้องปฏิบัติให้จริงจัง โดยมีมาตรฐานในการที่จะควบคุมดูแล จึงยิ่งดีใหญ่ เป็นการสนับสนุนให้ศีล 5 มีผลจริงขึ้นมาในสังคม นอกจากวางเป็นกฎเกณฑ์ให้มีผลจริงจังชัดเจนแล้ว

2. ยังมีการแยกแยะรายละเอียดลงไปให้เห็นชัดในรายละเอียดมากยิ่งขึ้น เช่น ศีลข้อที่ 1 ในเรื่องการไม่ละเมิดต่อชีวิตและร่างกาย หรือข้อที่ 2 ในเรื่องไม่ละเมิดในด้านทรัพย์สิน ก็กำหนดลงไปว่าจะเอาอย่างไร จึงมีข้อย่อย ซึ่งอาจจะแยกจากศีลข้อเดียวกระจายออกไปเป็น 4-5 ข้อ และพูดให้ชัด ให้เหมาะแก่การปฏิบัติในยุคสมัย

เป็นอันว่า เมื่อตักมหาสมุดใส่ถ้วยชาคือ สรุปรวบยอดว่าหลักสิทธิมนุษยชนสากลอยู่ใน “ขอบเขตของศีล 5” ก็นำมาสู่ข้อเสนอให้นำศีล 5 มากำหนดวางเป็นกติกาของสังคม ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลแล้ว ไม่อาจนำหลักความเชื่อของศาสนาใดๆ มาอ้างอิงบัญญัติกฎหมายให้คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนาปฏิบัติตามได้ เพราะไม่ยุติธรรมกับคนศาสนาอื่นๆ และคนไม่มีศาสนา

หรือถ้าอ้างว่าควรตีความหลักศีลห้าให้สอดคล้องและส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน ก็ย่อมแปลว่าศีล 5 เป็นเพียงสิ่งที่จะสามารถนำมาใช้เป็นกติกาทางสังคมได้ ก็ต่อเมื่อถูกตีความหรือปรับให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้สิทธิมนุษยชนจึงไม่ได้อยู่ขอบเขตของศีล 5 แต่ศีล 5 ต่างหากที่ถูกปรับให้เข้ากันได้ หรือให้อยู่ในขอบเขตของสิทธิมนุษยชน

ยิ่งกว่านั้น ขณะที่ท่าน ป.อ.เน้นว่า “สิทธิมนุษยชนเป็นจริยธรรมเชิงลบ” พร้อมๆ กับบอกว่าสิทธิมนุษยชนอยู่ในขอบเขตของศีล 5 ถ้าปฏิบัติอยู่ในศีล 5 สิทธิมนุษยชนสากลก็ไม่จำเป็น แต่อันที่จริงแล้ว ศีล 5 ต่างหากที่เป็นจริยธรรมเชิงลบ เพราะศีล 5 คือการ “ไม่ทำ” ในทางละเมิด 5 เรื่องหลักๆ ดังที่เราท่องกันขึ้นใจ

ขณะที่หลักสิทธิมนุษยชนครอบคลุมทั้งสิทธิเสรีภาพเชิงลบ และสิทธิเสรีภาพเชิงบวก เช่น สิทธิเลือกตั้ง สิทธิพลเมือง เสรีภาพทางการเมืองส่วนที่รองรับการริเริ่มและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเลือกตัวแทน นโยบาย และเสนอความคิดเห็น ความรู้ แนวทางต่างๆ ในการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงระบบสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ให้ดีขึ้น ยุติธรรมขึ้น หรือก้าวหน้าขึ้นเป็นต้น ซึ่งหลักศีล 5 ทิศ 6 ที่ท่าน ป.อ.อ้างถึง หรือแม้แต่พุทธธรรมทั้งระบบก็ไม่อาจครอบคลุมถึง

 

 

ที่มาภาพ: www.matichon.co.th

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net