มองนักการเมืองรุ่นใหม่ในไต้หวัน ก้าวล้ำการเมืองแบบเดิมๆ


ที่มาภาพประกอบ: matthew Fang (CC BY-NC-ND 2.0)

ไต้หวันกำลังมีการเลือกตั้งในวันที่ 11 ม.ค. 2563 นี้ เดอะการ์เดียนนำเสนอเรื่องราวบรรยากาศการหาเสียงและบริบททางการเมืองในไต้หวันที่นอกจากจะเป็นการส่งผลต่อเรื่องความเป็นอิสระจากจีนแล้ว กลุ่มคนรุ่นใหม่ในไต้หวันยังแสดงให้เห็นถึงมิติการเมืองในรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการคำนึงเรื่องเพศสภาพ คุณภาพอากาศในเมือง การปฏิรูปกองทัพ จนได้รับฉายาแบบเดียวกับคณะผู้แทนฯ 4 ส.ส. หญิงสายก้าวหน้าในสหรัฐฯ

ล่ายผิ่นหยู หญิงคนรุ่นใหม่อายุ 27 ปี ทำการหาเสียงเลือกตั้งครั้งในพื้นที่รอบนอกของกรุงไทเป มีการแสดงคอนเสิร์ทวงร็อคบนเวทีที่เต็มไปด้วยแสงสีและมีภาพของล่ายที่แต่งกายคอสเพลย์เป็นตัวละครจากการ์ตูนอนิเมะ ในขณะที่ผู้ชมพากันโบกธงและกระโดดโลดเต้นตามเสียงเพลง จากนั้นล่ายก็ขึ้นมาบนเวทีแล้วกล่าวว่า "การเมืองควรจะนำความหวังมาสู่ผู้คน พวกเราต้องการความฝันและเรื่องราวที่กุมหัวใจผู้คนได้มากกว่านี้"

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของไต้หวันครั้งนี้ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันคือ ไช่อิงเหวิน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) จะต้องขับเคี่ยวกับ หานกว๋อหวี จากพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) โดยที่ล่ายผิ่นหยูเป็นหนึ่งใน 5 กลุ่มคนรุ่นเยาว์ที่รับฉายาว่าเป็น "คณะไต้หวัน" ซึ่งเป็นฉายาแบบเดียวกับที่คณะ ส.ส. หญิงสายก้าวหน้าของสหรัฐฯ 4 คน เคยได้รับก่อนหน้านี้

ล่ายอยู่ในกลุ่มคนรุ่นเยาว์มีชื่อว่า "เฉียนเจี้ยน" หรือ "ทัพหน้า" พวกเขาเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่มีความแหวกแนวจากการเมืองแบบดั้งเดิม ในกลุ่มนี้มีทั้งนักดนตรีเดธเมทัล, คนทำภาพยนตร์, อดีตหน่วยรบพิเศษที่ฝันตัวมาเป็นคนทำงานธนาคาร และหนึ่งในนั้นคือ หงสือยง เป็นคนที่ผันตัวมาเล่นการเมืองหลังจากที่น้องชายของเธอเสียชีวิตจากการข่มเหงรังแกในกองทัพจนนำมาซึ่งการประท้วง

ในการหาเสียงล่ายกล่าวปราศรัยไว้ว่า "ฉันต้องการพิสูจน์ว่าผู้หญิงชาวไต้หวันที่มีความฝัน ผู้หญิงคนรุ่นเยาว์ผู้ที่ไม่ใช่นักการเมืองแบบประเพณีนิยมทั่วไป หรือที่เป็นกลุ่มชนชั้นนำ ก็สามารถเป็นผู้แทนฯ ได้ และสามารถเข้าสู่สภาฯ ได้เหมือนกัน"

ทั้งนี้ ล่ายยังเป็นนักกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมขบวนการดอกทานตะวันในปี 2557 ที่มีการประท้วงต่อต้านการเป็นหนึ่งในคนที่เคยถูกจับกุมพร้อมกับนักกิจกรรมคนอื่นๆ นอกจากล่ายที่เป็นที่รู้จักในวงการคอสเพลย์แล้วคนในกลุ่มเฉียบเจี้ยนนี้ยังได้รับความนิยมจากการปรากฏเป็นมีมหรือไวรัลวิดีโอต่างๆ ที่มีการทำกิจกรรมและมีแนวนิคแบบเสรีนิยมในทางสังคม

เลฟ แนคมัน นักศึกษาปริญญาเอกที่เน้นเรื่องประเด็นไต้หวันจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย-เออร์ไวน์ กล่าวว่ากลุ่มๆ นี้ดูเป็นกลุ่มที่มีความก้าวหน้าในแบบที่แตกต่างจากสิ่งที่คนจินตนาการถึงนักการเมืองไต้หวัน พวกเขาเป็นคนในแบบที่คนรุ่นใหม่ในไต้หวันต้องการ

เดอะการ์เดียนระบุว่าการเลือกตั้งในไต้หวันครั้งนี้จะกลายเป็นจุดสำคัญต่อนโยบายความมั่นคงในภูมิภาคและความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน จีน และสหรัฐฯ รวมถึงความเป็นอิสระของไต้หวันจากจีน ในขณะที่จีนพยายามเรียกไต้หวันว่าเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่ถูกทำให้โดดเดี่ยวออกไป แต่ไต้หวันก็ไม่เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเลย

กลุ่มทัพหน้าทั้ง 5 คนนี้ต่างก็มีทั้งคนที่ลงสมัครแบบอิสระ คนที่เป็นสมาชิกของพรรค DPP กับคนของพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ทั้งหมดนี้ล้วนมีแนวคิดปกป้องอิสรภาพของไต้หวันและต่อต้านการถูกผนวกรวมเป็นส่วนหนึ่งของจีน ต่างจากพรรคก๊กมินตั๋งที่มีความต้องการใกล้ชิดกับจีนมากกว่า โดยที่ปีที่แล้ว จีนเคยแสดงท่าทีว่าต้องการผนวกรวมไต้หวันให้ได้แม้ว่าจะต้องใช้กำลังก็ตาม

แต่ศึกในครั้งนี้ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าก็ถือว่าหนักหน่วงเพราะต้องเผชิญหน้ากับ หานกว๋อหวี นายกเทศมนตรีแห่งเกาสงที่ได้รับความนิยม รวมถึงพรรค DPP เคยเสียคะแนนไปในช่วงเลือกตั้งกลางเทอมในปี 2561 พวกเขาจึงต้องอาศัยนักการเมืองคนรุ่นใหม่ในการเรียกคะแนนเสียงจากคนรุ่นเยาว์

หวู่เจี๋ยหมิน นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยอะเคเดเมียซินิกาในไทเปกล่าวว่าบทบาทของคนรุ่นเยาว์ในการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญมาก เพราะหานมีฐานเสียงจากคนสูงอายุที่มีจำนวนผู้ใช้สิทธิมากกว่า

ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดหลังปี 2523 เป็นต้นมาเป็นกลุ่มคนในยุคที่ไต้หวันเริ่มมีประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว เมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้านี้ที่ต้องอาศัยอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกของพรรคก๊กมินตั๋งเป็นเวลาเกือบ 40 ปี ในทางประวัติศาสตร์แล้วไต้หวันตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นอยู่จนถึงปี 2488 จนกระทั่งพรรคก๊กมินตั๋งเป็นกลุ่มที่หนีจากจีนมายังไต้หวันหลังจากแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2492 หลังจากที่มีการยกเลิกกฎอัยการศึกในปี 2530 ไต้หวันก็กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชาธิปไตยที่แข่งขันกันสูงที่สุดในภูมิภาค

เดอะการ์เดียนระบุว่าสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่จากพรรค DPP นั้น พวกเขายังเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ในไต้หวันที่ต้องการก้าวข้ามปัญหาการเมืองแบบเดิมๆ ไปสู่ประเด็นอื่นๆ ในทางสังคม เช่น เควิน โจว คนทำงานในไทเปอายุ 27 ปี บอกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของเขาเติบโตมาภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่บับคั้นแต่ในยุคของเขามีเสถียรภาพมากกว่าทำให้พวกเขามีความสนใจในเรื่องอื่นๆ นอกจากเศรษฐกิจเช่นเรื่องสิ่งแวดล้อมและเรื่องเพศสภาพ

กลุ่มคนรุ่นเยาว์ที่เป็นตัวแทนลงสมัครเลือกตั้งต่างก็เคยมีประวัติการเคลื่อนไหวเรียกร้องสนับสนุนการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน สิทธิชนพื้นเมือง และการปฏิรูปขอให้ลดเกณฑ์อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 20 ปี เหลือ 18 ปี รวมถึงขอให้มีการสืบสวนเรื่องการละเมิดสิทธิฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงยุคประกาศกฏอัยการศึกมากขึ้น

หงสือยง ผู้ลงสมัครผู้แทนฯ ในเขตไถจงก็หาเสียงด้วยนโยบายปรับปรุงเรื่องคุณภาพชีวิต อย่างคุณภาพอากาศของเมืองและสวัสดิการสำหรับเด็ก ผู้สมัครคนรุ่นใหม่อีกรายหนึ่งคืออีนอค หวู่ ก็ให้สัญญาว่าจะมีการปฏิรูปกองทัพ

อย่างไรก็ตามเดอะการ์เดียนตั้งข้อสังเกตว่าพรรคการเมืองใหญ่สองพรรคในไต้หวันไม่ได้แบ่งแยกทางนโยบายชัดเจนว่าพรรคใดเป็นอนุรักษ์นิยม พรรคใดเป็นเสรีนิยม แต่มีข้อแตกต่างชัดเจนในเรื่องจุดยืนความสัมพันธ์กับจีนและเรื่องความเป็นรัฐของไต้หวันมากกว่า

เรียบเรียงจาก

'We need more dreams': Taiwan's 'Squad' rallies youth ahead of election, The Guardian, 10-01-2020
https://www.theguardian.com/world/2020/jan/10/taiwan-election-squad-youth-china-tsai-ing-wen

Lai Pin-yu: From Sunflower Activist to DPP Legislative Candidate, Eye On Taiwan, 03-01-2020
https://www.eyeontaiwan.com/lai-pin-yu-from-sunflower-activist-to-dpp-legislative-candidate
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท