Skip to main content
sharethis

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต แนะรัฐบาลเร่งจัดสรรงบแก้ปัญหามลพิษทางอากาศฝุ่นพิษ PM2.5 และเตรียมรับมือผลกระทบภัยแล้งโดยด่วนผ่านมาตรการกึ่งการคลัง

12 ม.ค. 2563 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่าขณะนี้กรุงเทพและปริมณฑลมีมลพิษทางอากาศสูงสุดติดอันดับ โลกต้องเร่งแก้ไขและจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาผลกระทบโดยเร่งด่วนที่สุดเนื่องจากมีผลวิจัยล่าสุดโดยสถาบันเพื่อสุขภาพโลกแห่งบาร์เซโลนาพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ของความเชื่อมโยงระหว่างมลพิษทางอากาศกับโรคทางจิตเวช ภาวะกระดูกพรุน กระดูกเสื่อม ดวงตา พัฒนาการต่างๆของทารกในครรภ์ นอกเหนือจากโรคระบบทางเดินหายใจ ปอดและหัวใจ สถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้นตามลำดับเช่นนี้มีความจำเป็นในการที่ต้องออกกฎหมายอากาศสะอาด หรือ Clean Air Act เพื่อให้สามารถออกมาตรการต่างๆในการแก้ไขปัญหาได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนเพื่อออกมาตรการต่างๆบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนโดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อยและต้องทำงานเสี่ยงภัยต่อมลพิษทางอากาศและมลพิษต่างๆ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่ามีผลการวิจัยล่าสุดในวารสาร "เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการจัดการ" (Journal of Environmental Economics and Management) ระบุว่าระดับความรุนแรงของมลพิษทางอากาศในแต่ละพื้นที่ มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอัตราการก่ออาชญากรรมที่เพิ่มสูงขึ้นในท้องถิ่นนั้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายในเวลาที่ PM 2.5 เพิ่มขึ้นในอากาศ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหตุอาชญากรรมรุนแรงที่เป็นการทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนได้รับอันตรายสาหัส จะมีเพิ่มขึ้นราว 1.4% ในท้องที่ซึ่งมีมลพิษทางอากาศดังกล่าววันไหนที่มีก๊าซพิษโอโซนเพิ่มขึ้น 0.01 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เหตุอาชญากรรมรุนแรงแบบเดียวกันจะเพิ่มสูงขึ้นไปด้วยที่ 0.97% และยังพบว่าเหตุทำร้ายข่มขู่ทั่วไปที่ไม่เข้าขั้นรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 1.15% ข้อค้นพบเหล่านี้ในสหรัฐอเมริกาจากการรายงานของสำนักข่าวบีบีซีจะเป็นจริงในสังคมไทยที่ขณะนี้กำลังเผชิญมลพิษทางอากาศและ PM 2.5 รุนแรงมากขึ้นทุกวันหรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

ทีมนักเศรษฐศาสตร์นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและนักสถิติทีมวิจัยเดียวกันจากมหาวิทยาลัยโคโรราโดสเตทสหรัฐอเมริกายังพบอีกว่าการลดระดับฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ลงได้ราววันละ 10% จะช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐที่ต้องเสียไปกับการจัดการคดีอาชญากรรมได้ถึงปีละ 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 33 ล้านบาท แม้นผลการศึกษาข้างต้นเป็นเพียงความสัมพันธ์ทางสถิติ ซึ่งยังไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนว่า มลพิษทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นมีกลไกทางกายภาพและจิตวิทยาที่ทำให้อารมณ์และพฤติกรรมของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร แต่มีความจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณในการจัดการกับมลพิษทางอากาศและจะทำให้ค่าใช้จ่ายงบประมาณทางด้านสาธารณสุข การบริการสุขภาพ การจัดการอาชญากรรมต่างๆลดลงได้ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างมลพิษทางอากาศกับพฤติกรรมและสภาพทางจิตของประชาชนนั้นจำเป็นต้องมีการศึกษาเพื่อทำเข้าใจกลไกดังกล่าวเพิ่มเติมโดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย 

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีน้ำใช้การได้ 4.17 พันล้าน ลบ. ม. หรือ เพียง 23% เท่านั้น ค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น ผลกระทบของภัยแล้งต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมใน EEC จะมีความรุนแรงจนทำให้อัตราการขยายทางเศรษฐกิจหรืออัตราการเติบโตจีดีพีในไตรมาสสองติดลบได้เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก จีดีพีไตรมาสสองปีนี้ก็จะอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับจีดีพีไตรมาสสองปีที่แล้วที่มีการขยายต่ำสุดรายไตรมาสของปี ปีที่แล้วจีดีพีไตรมาสสองขยายตัวเพียง 2.3% ในปีนี้จีดีพีอาจขยายตัวต่ำกว่า 2% หากทางการไม่รีบดำเนินการเตรียมรับมือผลกระทบภัยแล้ง โดยเฉพาะผลผลิตข้าวนาปรังจะลดลงอย่างน้อย 50-60% มาอยู่ที่ระดับ 3.5 ล้านตัน ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น แต่เกษตรกรจำนวนหนึ่งจะขาดรายได้ในช่วงฤดูร้อน นอกจากนี้จะยังทำให้ราคาอาหาร ราคาเนื้อสุกร ราคาน้ำมันปาล์ม ราคาน้ำดื่มบรรจุ ราคาพืชผักผลไม้ปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน จึงขอเสนอให้รัฐเพิ่มงบประมาณและเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อลงทุนบริหารจัดการน้ำ รองรับผลกระทบภัยแล้ง หากการเบิกจ่ายในระบบราชการล่าช้า ควรเพิ่มการใช้มาตรการกึ่งการคลังผ่านกลไกธนาคารของรัฐในรูปสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และเงินชดเชยช่วยเหลือ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net