อีอีซี (2): การแย่งยึดที่ดินของรัฐ-ทุน สร้างอาณานิคมยุคใหม่?

สำรวจการแย่งยึดที่ดินอย่างเป็นระบบผ่านคำสั่งของ คสช. และกฎหมายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประชาชนในหลายพื้นที่กำลังเผชิญการไล่รื้อ ขณะที่ราคที่ดินพุ่งทะยาน และผังเมืองอีอีซีที่ออกมาก็ดูจะกำหนดขอบเขตกว้างขวางเอื้อต่อพื้นที่อุตสาหกรรม

  • โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีคืออีสเทิร์น ซีบอร์ดเฟส 2 ที่รัฐบาลทหารต่อเนื่องถึงปัจจุบันต้องการใช้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
  • คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งรื้อผังเมืองในฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และให้คณะกรรมการอีอีซีสามารถจัดผังเมืองใหม่โดยได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ประชาชนในหลายพื้นที่กำลังถูกไร่ลื้อออกจากที่ดินทำกิน เนื่องจากคณะกรรมการอีอีซีต้องการพื้นที่ไปใช้ในโครงการอีอีซี ดูเหมือนบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการอีอีซีมากที่สุด
  • ราคาที่ดินใน 3 จังหวัดถีบตัวสูงขึ้น เกิดกักตุนที่ดิน ขณะที่ประชาชนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินเป็นของตนเองกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคง
  • 10 ธันวาคม 2562 ผังอีอีซีมีผลบังคับใช้ เป็นผังที่กำหนดขอบเขตกว้าง ทั้งยังกำหนดให้ผังจังหวัดและผังอำเภอต้องเดินตาม ไม่สามารถวางผังเมืองนอกกรอบผังอีอีซีได้
  • การใช้อำนาจพิเศษของ คสช.และคณะกรรมการอีอีซีทำให้เกิดการยกเว้นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ที่ดินของนักลงทุน เกิดการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดินจำนวนมาก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมขนานใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก

30 กว่าปีก่อน พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผลักดันโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ดได้เป็นผลสำเร็จ ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่น่าจับตาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านเศรษฐกิจ เกิดการตั้งนิคมอุตสาหกรรม 32 แห่ง โรงงานเกือบ 5,000 แห่ง พร้อมเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 5 หมื่นล้านดอลล่าร์ มันคือก้าวแรกๆ ของความใฝ่ฝันที่ไทยจะกลายเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย แต่มันก็แลกมาด้วยต้นทุนหลายอย่าง เป็นต้นทุนที่ในห้วงเวลานั้นยังไม่ได้รับความสนใจ-สิทธิชุมชน ปัญหาสิ่งแวดล้อม การแย่งชิงทรัพยากร หรือการแย่งยึดที่ดิน

ล่วงเลยมากว่า 3 ทศวรรษ แรงส่งจากโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ดแผ่วจางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย เป็นเหตุผลให้รัฐบาลจากการรัฐประหารคิดถึงการสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ให้ตัวเลขจีดีพีเติบโตอีกครั้ง

ผลลัพธ์คือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) รอบนี้รัฐบาลทหารได้ใช้อำนาจของตนรวบอำนาจและบทบาทหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอย่างล้นเหลือ เมื่อรัฐกับทุนผสานเข้าด้วยกัน การแย่งยึดที่ดินจากประชาชนก็เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นระบบ

อีอีซี (1): ไม่มีรัฐประหาร ไม่มีทางทำได้

การแย่งยึดที่ดิน

“ที่พวกเราโดนประมาณ 3,200 ไร่ โดน 4 หมู่บ้าน หมู่ 11 โดนทั้งหมู่ หายจากสำมะโนประชากรเลย รุ่นพ่อ รุ่นแม่เขาอยู่กันมาก่อน เราเป็นรุ่นที่สามหรือสี่ มีชาวบ้านอยู่ 166 ครัวเรือน 635 คน” สายทอง เก่งกานา ชาวบ้านหมู่ 11 ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา เล่าสถานการณ์ที่ชาวบ้านกำลังประสบ


ชาวบ้านโยธะกาที่ได้รับความเดือดร้อนจากการไล่ที่ของกองทัพเรือ

31 กรกฎาคม 2557 ชาวบ้านตำบลโยธะกาได้รับหนังสือจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ฉะเชิงเทราว่าต้องการยกเลิกสัญญาเช่าและการเก็บค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุ เพื่อส่งมอบที่ดินคืนให้แก่กองทัพเรือ โดยกองทัพเรืออ้างว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในราชการทหาร แต่ชาวบ้านก็ยังอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ กระทั่งกันยายนปี 2560 หนังสือจากกองทัพเรือมาถึงอีกครั้ง ระบุให้ส่งมอบที่ดินคืนภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะดำเนินคดี  นำไปสู่การยื่นหนังสือชี้แจงและร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ มากมายของชาวบ้าน

ต้นปี 2561 อธิบดีกรมธนารักษ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า ได้จัดหาที่ราชพัสดุเพื่อสนับสนุนโครงการอีอีซีในจังหวัดชลบุรี ฉะเชิงเทรา และระยอง กว่า 11,000 ไร่ โดยในส่วนของฉะเชิงเทราเป็นที่ของกองทัพเรือที่ส่งคืนให้กรมธนารักษ์ประมาณ 4,000 ไร่บริเวณศูนย์เกษตรกรรมทหารเรือ ต.โยธะกา อ.บางน้ำเปรี้ยว และทางกรมธนารักษ์ได้ส่งมอบให้อีอีซีเรียบร้อยแล้ว

คำถามคือ จากที่บอกว่าต้องการพื้นที่คืนเพื่อใช้ประโยชน์ในราชการทหาร เปลี่ยนเป็น การจัดหาพื้นที่ให้อีอีซี ได้อย่างไร?

กลางเดือนกันยายน 2561 มีข่าวว่ากรมธนารักษ์ได้ให้เครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีเช่าพื้นที่ 4,000 ไร่แห่งนี้ ทำให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) นั่งไม่ติด ต้องออกมาชี้แจงว่า ทางสำนักงานไม่มีแผนจะใช้ประโยชน์พื้นที่และไม่เคยขอโอนพื้นที่จากกรมธนารักษ์ ขณะที่กรมธนารักษ์ชี้แจงว่าพื้นที่ 4,000 ไร่นี้ยังไม่ได้ถูกกำหนดเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แต่ถ้าทาง สกพอ. เห็นว่าต้องใช้พื้นที่ดังกล่าวเพื่อจัดตั้งเมืองใหม่ตามโครงการอีอีซี สกพอ. ต้องได้รับความยินยอมจากกองทัพเรือผู้ครอบครองใช้ประโยชน์เดิมก่อน แล้วเสนอคณะกรรมการอีอีซีให้กำหนดเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ทางกรมธนารักษ์จึงจะส่งมอบพื้นที่ให้

คสช. ใช้อำนาจจัดการผังเมืองเอง

คสช.ออกคำสั่งตามมาตรา 44 ฉบับที่ 72/2557 วันที่ 19 มิถุนายน เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) หลังจากนั้นเดือนกว่าๆ ชาวบ้านโยธะกาก็ได้รับหนังสือให้ส่งมอบที่ดินคืนแก่กองทัพเรือ เป็นไปได้ว่านี่คือความบังเอิญ แต่ถ้าไม่ใช่ความบังเอิญ ก็แสดงว่าโครงการอีอีซีเริ่มตั้งไข่ในทางความคิดตั้งแต่ปี 2557

ปี 2559 คสช.ออกคำสั่งที่ 3/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท

17 มกราคม 2560 คสช.ออกคำสั่งที่ 2/2560 เรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งต่อมาคำสั่งดังกล่าวถูกทำให้ถาวรด้วยการแปลงสถานะเป็น พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 แต่ก่อนที่กฎหมายนี้จะบังคับใช้ คสช. ก็ได้ออกคำสั่งอีกฉบับหนึ่งที่ 47/2560 เรื่องข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ส่งผลให้เกิดการยกเว้นการใช้ผังเมืองในการทำแผนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกและให้มีการจัดแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่ โดยไม่ต้องนำกฎหมายผังเมืองมาบังคับใช้

รวบอำนาจจัดการที่ดินให้คณะกรรมการอีอีซี

“เริ่มรู้ข่าวไอซีดี (โครงการจัดตั้งสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์) วันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 แล้ว สนข. (สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม) กับตัวแทนเรียกประชุมครั้งแรกวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เขาแจ้งเป็นหนังสือมาว่าจะทำประชาพิจารณ์ แต่โผล่มาพรวดเดียว เป็นประชาพิจารณ์ครั้งที่ 3 แล้ว ครั้งที่ 1 กับ 2 เขาบอกว่าทำผ่านแล้ว พวกเราไม่มีใครรู้เรื่องเลย ไปประชุมกันที่อนามัยหนองตีนนก พวกเราก็ตั้งตัวไม่ติด ยังไม่รู้ว่าไอซีดีคืออะไร พอเซ็นชื่อ พอรู้ปุ๊บว่าเป็นโครงการที่จะเอาตู้คอนเทนเนอร์มาตั้งทับพื้นที่ พวกเราก็ยกมือคัดค้าน อธิบายเหตุผลว่าไม่ควรเอาพื้นที่ตรงนี้ไป สุดท้าย เขาไปแจ้งกับสำนักงานอีอีซีว่า 80 เปอร์เซ็นต์ประชาชนเห็นด้วยกับโครงการ มีรูป มีลายเซ็น เป็นอันจบ”

“24 ธันวาคม 2561 เราขึ้นไปแจ้งกับศูนย์ดำรงธรรมที่อำเภอบ้านโพธิ์ ทำหนังสือรวมรายชื่อ นายอำเภอก็รับเรื่อง เราขอคุยกับ สนข.ก่อนจะทำประชาพิจารณ์ครั้งต่อไป เราบอกเจ้าหน้าที่ สนข.ว่าตรงนี้เป็นพื้นที่เก็บน้ำยามวิกฤต เป็นพื้นที่รองรับน้ำ รอระบายออกแม่น้ำบางปะกง แต่พอน้ำลด เราก็ทำกินต่อ มันเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร มีคลองธรรมชาติคือ คลองหัวไผ่ คลองหนองกระทุ่ง เป็นที่รอรับน้ำจากพนัสนิคมพานทอง เวลาน้ำท่วม ตรงนี้เป็นแก้มลิง” แน่งน้อย เรืองเกิด ชาวบ้านหนองตีนนก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เล่า

เนื้อหาใน พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ยังให้อำนาจคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งที่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกหรือล่าช้า หรือมีกฎหมายขึ้นใหม่ การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนต่างด้าวในเขตส่งเสริมพิเศษ สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการดำเนินการนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรได้ โดยไม่ต้องเพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดิน

นอกจากนี้ ยังให้อำนาจจัดทำแผนการใช้ที่ดินภาพรวม แผนโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค และจัดทำผังเมืองใหม่ เพื่อรองรับการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ระบบโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค คณะกรรมการอีอีซียังสามารถให้ผู้ประกอบกิจการที่เป็นชาวต่างประเทศมีสิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นสำหรับประกอบกิจการและพักอาศัยภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่ต้องไม่เกินที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และในเรื่องการเช่า เช่าช่วง ให้เช่า หรือให้เช่าช่วงที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษก็ไม่ต้องนำมาตรา 540 ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และมาตรา 5 ใน พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ.2542 มาใช้บังคับ ทำให้ชาวต่างชาติสามารถเช่าที่ดินได้ถึง 99 ปี

คณะกรรมการอีอีซียังสามารถใช้ที่ดินในที่ราชพัสดุได้ โดยการเช่า เช่าช่วง ให้อำนาจของกรมธนารักษ์เป็นของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ แต่หากที่ราชพัสดุอยู่ในความครอบครองใช้ประโยชน์ของหน่วยงานรัฐอื่นก็ต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานนั้นก่อน โดยต้องแบ่งสัดส่วนรายได้ให้หน่วยงานนั้นหรือกรมธนารักษ์ และไม่ต้องนำกฎเกณฑ์ วิธีการ หรือเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุมาบังคับใช้

จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการอีอีซีมีอำนาจยกเว้นกฎหมายหลายฉบับเพื่อจัดผังเมืองและการใช้ที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัดได้ด้วยตัวเอง

ยกเลิกผังเมืองเดิม

“เขา (กองทัพเรือ) มองว่าตัวบทกฎหมายเขาได้เปรียบ เขาไม่ลดราวาศอก ที่ตรงนี้มีคนครอบครองมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แล้วก็มีการขยับบ้างเมื่อเขาเอาเกาะแสมสารหรือเอาที่ดินที่เขาอ้างว่าต้องใช้ไป เขาก็ให้ชาวบ้านไปอยู่อีกที่หนึ่ง แต่พอมายุคนี้เขาอ้างว่าเราบุกรุกที่ ทั้งที่เขาจัดสรรให้ เราโดนรุกมาตลอด ขอเกาะคืน ขอที่ตรงหาดยาว หาดน้ำใสคืน จากแปดหมื่นกว่าไร่เหลือสองหมื่นกว่าไร ที่อยู่จริงสองพันกว่าไร่ เพราะที่เหลือเป็นภูเขา เขาจะให้เราเช่าทั้งตำบล แล้วถ้าชาวบ้านจะเช่า ให้เช่าสามสิบปีบวกสามสิบปีได้ไหม ก็ไม่ยอมอีก แต่ให้ต่างชาติเช่าได้ 99 ปี แล้วต้องเช่าเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น ไม่ให้ประกอบการใดๆ ทั้งสิ้น เจตนาเขาไม่อยากให้เช่า ต้องการเอาคืนเฉยๆ โดยไม่ต้องจ่ายอะไรเลย”

“พอเขาตั้งธงแล้ว มาจากยุทธศาสตร์ชาติ มาจากอีอีซี ทางกองทัพเรือก็เลยตั้งเป็นยุทธศาสตร์กองทัพเรือเมื่อปี 2560 มี 13 ด้าน การจัดระเบียบที่ดินแสมสารอยู่ในนั้น มีเรื่องระยะยาวกับเรื่องเร่งด่วน เขามองว่าที่ดินตรงนี้อยู่ระหว่างสนามบินอู่ตะเภากับท่าเรือจุกเสม็ด ท่าเรือเฟอร์รีสร้างแล้ว งบลงมาแล้ว ทำถนน พอแสมสารอยู่ตรงกลาง มันเหมือนไปขวาง ถ้าเขาจะเอาจริงๆ เขาเอาได้ ถ้าเยียวยา จ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหาย ค่าขาดโอกาสให้เรา เราก็ไป แต่เขาไม่ต้องการเสียอะไรเลย กดดัน ตีทีละกลุ่ม” นภดล พรบริบูรณ์ ชาวบ้านแสมสารเล่า

จากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 47/2560 และ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้มีการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ทำให้มีการยกเลิกผังเมืองเดิมที่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาแล้ว จากนั้นการทำผังเมืองอีอีซีก็ดำเนินไปโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยทาง สกพอ. กล่าวว่ามีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกภาคส่วนไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง

ขณะที่ภาคประชาชนกล่าวตรงข้ามว่าพวกเขาไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำผังเมืองแต่อย่างใด ซ้ำยังกลับมีการเปลี่ยนสีผังเมืองในพื้นที่เกษตรกรรมให้กับกลุ่มทุนเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่โดยละเลยหลักการของการจัดทำผังเมือง กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือกลุ่ม EEC Watch ออกมาเรียกร้องให้คณะกรรมการอีอีซียุติการประกาศใช้ผังเมืองอีอีซีและรัฐบาลต้องสั่งให้มีการทบทวนการจัดทำเมืองอีอีซีใหม่ตั้งแต่ต้นโดยให้ประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย

ผังเมืองที่ประชาชนไม่มีส่วนรับรู้

ในส่วนของผังเมืองอีอีซีทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้เห็นชอบร่างแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินและร่างแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่อีอีซี เป็นการวางแผนรองรับการพัฒนาพื้นที่ในระยะ 20 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2580 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด พื้นที่ 8,291,250 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่พัฒนาออกเป็น 4 กลุ่ม 11 ประเภท ร่างผังเมืองใหม่นี้ยังได้เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมจากเดิม 259,769 ไร่ เป็น 424,854 ไร่ มีการชี้แจงว่าการทำผังเมืองอีอีซีจะกระทบภาคเกษตรไม่มาก เพราะพื้นที่เกษตรจะลดลงประมาณร้อยละ 8.12 แต่จะเพิ่มเป็นพื้นที่เมืองร้อยละ 3.37 ขณะที่พื้นที่อีกร้อยละ 2.93 จะถูกกันเป็นพื้นที่รักษาสภาพสิ่งแวดล้อม มันใช้เวลาจัดทำเพียง 1 ปี ครบกำหนดเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 แต่ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ทัน

นิคมอุตสาหกรรมเตรียมฟันกำไรจากอีอีซี

“พอเขามาทำท่าเรือเฟส 1 เราก็เขยิบมา แบ่งกันได้ระหว่างรัฐกับประชาชน ปี 2540 เขาก็มาสร้างท่าเรือเฟสที่ 2 อีก คราวนี้กินพื้นที่ไปครึ่งอ่าวบางละมุง พวกเรายังยอมรับได้ มีพื้นที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง ที่เคยเลี้ยงหอยก็ขยับหนีมา แล้วหาทางออกกันเองในชุมชน เราต้องมาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและสัตว์น้ำกลับขึ้นมา พอปี 52 มีการรื้อฟื้นท่าเรือเฟสที่ 3 ขึ้นมาอีก คราวนี้ผมก็ไม่ยอมแล้ว กว่าจะฟื้นฟูทะเลใช้เวลากว่า 5 ปี ลงทุนไปไม่น้อย แล้วมาเจอท่าเรือเฟส 3 อีก พื้นที่จะถูกปิดหมด ชาวบ้านต้องอ้อมหลายกิโลเมตรซึ่งมันไม่คุ้มทุนเลย”

“ท่าเรือเฟส 3 มาแย่งชิงพื้นที่ ฐานทรัพยากร ถนนทุกเส้นจะวิ่งตรงมาที่ท่าเรือเฟส 3 เฟส 4 มันก็เป็นโครงการเมกะโปรเจกต์ของอีอีซี ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมอีอีซีต้องเอื้อให้กับกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศขนาดนี้ เหมือนเป็นการพัฒนาที่กดขี่ชาวบ้านมากเกินไปแล้ว สิ่งที่คนบ้านบางละมุงกลัวคือ เวลานี้ที่มีกฎหมายระบุว่ากลุ่มทุนและรัฐต้องการที่ตรงไหน ประชาชนต้องตามใจ ถ้าวันหนึ่งเขาชี้ว่าต้องการบ้านบางละมุง พวกเราต้องยอมอย่างนั้นเหรอ”

พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ที่บ้านบางละมุง


คลองบางละมุงที่กลุ่มประมงพื้นบ้านใช้เป็นที่จอดเรือ

“เขาใช้คำว่าเวนคืน มันเป็นการเวนคืนที่ไม่เป็นธรรมเลยสำหรับชาวบ้านที่อยู่อาศัย การพัฒนาเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่ไม่ดี แต่ควรพัฒนาแบบเป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่พัฒนาแบบสะเปะสะปะ อย่างถนนที่ควรจะตัดมาตรงๆ ก็กลับอ้อมหลบที่นายทุน ไปเอาที่ชาวบ้าน อ้อมหน่วยราชการมาเอาที่ชาวบ้าน ชาวบ้านบางคนเขาไม่มีที่มากมายอะไร บางคนไม่มีที่ไป รัฐก็เวนคืนในราคาที่ต่ำกว่าราคาประเมิน” รังสรรค์ สมบูรณ์ ประธานกลุ่มประมงต้นแบบบ้านบางละมุงและอุปนายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรีเล่า

ขณะที่ชีวิตประชาชนในหลายพื้นที่เกิดความไม่มั่นคงในด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ทางภาคอุตสาหกรรมต้องการให้อีอีซีเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม อรพินท์ เสริมประภาศิลป์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เคยกล่าวกับสื่อว่า ผังเมืองอีอีซีควรเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะในจังหวัดฉะเชิงเทราที่พื้นที่เกือบทั้งจังหวัดเป็นพื้นที่สีเขียว โดย 11 อำเภอของฉะเชิงเทราควรมี 3-4 อำเภอเป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม

เมื่อย้อนดูตัวเลขในช่วงเดือนตุลาคม 2561-มีนาคม 2562 พบว่า มียอดขายและเช่าพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 1,339 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 8,593 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีถึง 1,328 ไร่ ขณะเดียวกันก็มีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 3 แห่ง คือนิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 843 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมซีพีจีซี จังหวัดระยอง พื้นที่ 3,068 ไร่ และนิคมอุตสาหกรรมคอสมิก จังหวัดระยอง พื้นที่ 1,524 ไร่

ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิมต่างได้รับอานิสงค์จากอีอีซี เช่น พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จังหวัดระยอง (โครงการ 2) เนื้อที่ 6,000 ไร่ ปรับผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วงสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งทาง สกพอ. กล่าวว่าเป็นการคืนสิทธิเดิมให้เพราะก่อนจะมีการกำหนดผังเมืองเดิม อมตะได้รับอนุญาตตั้งนิคมอุตสาหกรรมในส่วนนี้แล้ว แต่เพราะข้อผิดพลาดจึงได้ประกาศเป็นพื้นที่สีเขียว ขณะเดียวกันทางนิคมอมตะซิตี้ ชลบุรี ยังได้ปรับราคาที่ดินจาก 8.5 ล้านบาทต่อไร่ เป็น 11 ล้านบาทต่อไร่

หรือการเปิดตัวของนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 3 (WHA ESIE3) นิคมแห่งที่ 10 ขนาด 2,198 ไร่ ในจังหวัดชลบุรี และถูกประกาศเป็นเขตส่งเสริมพิเศษในอีอีซีแล้ว โดยปัจจุบันดับบลิวเอชเอมีที่ดินพัฒนาแล้วเตรียมขาย 10,000 ไร่ โดยปี 2562 ตั้งเป้ายอดขายที่ดินในไทย 1,400 ไร่

ฝ่ายวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด คาดกำไรปี 2562 ของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับบปี 2561 เป็นผลจากการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเพิ่มขึ้นร้อยละ 33

นอกจากนี้ ยังมีการขอตั้งนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้ พื้นที่ 2,000 ไร่ ในอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งคาดว่าจะไม่ปรับผังเมืองจากสีเขียวเป็นสีม่วง แต่จะปรับประกาศแนบท้ายยกเว้นให้อุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษสามารถตั้งได้ โดยกำหนดมาตรการข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากและต้องมีระยะห่างจากลำน้ำตามที่กำหนด โดยอุตสาหกรรมที่จะเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบลูเทค ซิตี้จะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมไม่มีมลพิษและทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทาง สกพอ. ชี้แจงสถานะของโครงการบลูเทค ซิตี้ว่า ยังไม่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 แต่อย่างใด

กักตุนที่ดิน

อีอีซีไม่ได้เพียงทำให้ผังเมืองและการใช้ที่ดินเปลี่ยนไปเท่านั้น ผลกระทบสำคัญอีกประการหนึ่งคือเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินใน 3 จังหวัด ไม่ใช่เฉพาะความต้องการที่ดินของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเพียงอย่าง แต่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นที่รอตักตวงผลจากอีอีซี รวมถึงการซื้อที่ดินเพื่อรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูง คาดว่าในอีก 1-2 ปีจากนี้จะมีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่เข้ามาในพื้นที่มากขึ้น เพราะมีการกว้านซื้อสะสมที่ดินรอการพัฒนาไปเป็นจำนวนมาก

ข้อมูลจากบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พบว่าราคาที่ดินในอีอีซีปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉลี่ยกว่าร้อยละ 30-50 ในจังหวัดชลบุรีราคาที่ดินมีการปรับตัวตั้งไปก่อนประกาศอีอีซีแล้ว โดยเฉพาะในอำเภอศรีราชา ราคาที่ดินติดถนนปรับสูงถึงประมาณ 80-100 ล้านบาทต่อไร่ ที่ดินติดทะเลราคาอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาทต่อไร่ ขณะที่ที่ดินไม่ติดถนนแถบนสวนเสือศรีราชาเพิ่มจาก 2-3 ล้านต่อไร่ เป็น 5 ล้านบาทในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนที่ดินในอำเภอสัตหีบก็ขยับตัวสูงเช่นกัน อันเป็นผลจากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3

การสำรวจของคอลลิเออร์ยังพบว่า การพัฒนาพื้นที่ในอำเภอศรีราชาส่วนใหญ่จะเป็นการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมเป็นหลัก ตามด้วยการพัฒนาโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ขณะที่พื้นที่ตำบลบ่อวิน ตำบลเขาคันทรง จนถึงบ้านท่าจาม ตำบลหนองเสือช้าง อำเภอหนองใหญ่ จะเป็นพื้นที่สำหรับลงทุนอุตสาหกรรม เพราะยังมีพื้นที่รองรับอีกหลายหมื่นไร่และราคาที่ดินยังไม่สูงมาก

ด้านจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดินบริเวณถนนบางปะกง-ฉะเชิงเทรา แปลงไม่เกิน 10 ไร่ ราคาเพิ่มเป็นไร่ละ 13-15 ล้าน จากเดิมอยู่ไร่ละไม่เกิน 10 ล้านบาท

ในส่วนจังหวัดระยอง อีอีซีทำให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้นจาก 5 ล้านบาทต่อไร่ ตั้งแต่ช่วงก่อนประกาศเขตอีอีซีเป็น 20 ล้านบาทต่อไร่ ในบริเวณทำเลทางหลวงหมายเลข 36 ขณะที่ที่ดินติดถนนสุขุมวิทราคาขายอยู่ที่ประมาณไร่ละ 40 ล้านบาท จากเดิมที่ไร่ละประมาณ 15 ล้านบาท

และเมื่อใดก็ตามที่ไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบินแล้วเสร็จ จะเป็นการเปิดพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟอีกเป็นจำนวนมาก แนวโน้มราคาที่ดินก็จะปรับสูงขึ้นอีกมากนับจากนี้

การถีบตัวของราคาที่ดินทำให้เกิดการเปลี่ยนมืออย่างขนานใหญ่ ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อีกด้านหนึ่ง ประชาชนที่เป็นผู้เช่าอาศัยก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนว่าเมื่อไรเจ้าของที่ดินจะขึ้นค่าเช่าหรือขายที่ดินออกไป ซึ่งบางครอบครัวก็เผชิญการขึ้นค่าเช่าที่ดินจากเดิมหลายเท่าตัวไปแล้ว

เมื่อผังเมืองอีอีซีมีผลบังคับใช้

วันที่ 9 ธันวาคม 2562 มีประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพราะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินในภาพรวมจนถึงปี 2680 กินพื้นที่รวมกว่า 8.291 ล้านไร่ หรือ 13,266 ตร.กม. แบ่งเป็นฉะเชิงเทรา 5,331 ตร.กม. ชลบุรี 4,363 ตร.กม. และระยอง 3,552 ตร.กม. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 4 กลุ่มหลัก 11 ประเภท ประกอบด้วย

1.พื้นที่พัฒนาเมือง พื้นที่ส่งเสริมพิเศษสนับสนุนการพัฒนาเมืองใหม่และเมืองเดิมที่กระจายตัวอยู่บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ขนานไปตามชายฝั่งทะเล ตลอดแนวสองข้างของถนนสุขุมวิทและบริเวณที่เป็นย่านศูนย์กลางหลักของอำเภอ ประกอบด้วยการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทศูนย์กลางเมืองจะเป็นพื้นที่สีแดงหรือพาณิชยกรรม สีส้มหรือชุมชนเมือง สีส้มอ่อนมีจุดสีขาวหรือพื้นที่รองรับการพัฒนาเมือง และสีน้ำตาลหรือเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ

2.พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม พื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการเกษตร เพื่อรักษาแหล่งผลิตอาหารและผลไม้เมืองร้อนของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทราต่อเนื่องมาทางด้านตะวันออกของจังหวัดชลบุรี และชายฝั่งทะเลตอนล่างของจังหวัดระยอง ประกอบด้วยสีเหลืองอ่อนหรือชุมชนชนบท สีเขียวอ่อนหรือพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรม และสีเหลืองทแยงสีเขียวหรือเขตปฏิรูปที่ดิน

3.พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมบริเวณที่เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมเดิมและบริเวณพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างเหมาะสม โดยจะกระจายตัวบริเวณชลบุรีและระยอง ซึ่งถูกกำหนดเป็นสีม่วงหรือเขต ส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม และสีม่วงอ่อนมีจุดสีขาวหรือพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม

4.พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ แหล่งน้ำ ชายฝั่งทะเล การใช้ประโยชน์ที่ดินกำหนดเป็นสีเขียวมีเส้นทแยงสีฟ้าหรือที่โล่งเพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสีเขียวอ่อนมีเส้นทแยงสีขาวหรือพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้

นอกจากนี้ ยังมีแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค 5 แผนผัง 1 มาตรการ ได้แก่ แผนผังระบบสาธารณูปโภค ระบบเทคโนโลยีและการสื่อสาร และระบบการควบคุมและขจัดมลพิษ แผนผังระบบคมนาคมและขนส่ง แผนผังระบบการตั้งถิ่นฐานและภูมิสังคม แผนผังระบบบริหารจัดการน้ำ แผนผังระบบป้องกันอุบัติภัย และ 1 มาตรการคือมาตรการระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย อุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ และการประกอบกิจการ

ทว่า ตั้งแต่ยังไม่มีประกาศฉบับนี้ เพียงแค่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติร่างประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 อีก 5 วันต่อมาก็มีข่าวว่า บริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนลหรือ JCK ที่ดินนอกนิคมอุตสาหกรร ทีเอฟดีที่ทาง JCK ถือครองอยู่ ซึ่งจะเปลี่ยนสีจากสีเขียวหรือเขตพื้นที่เกษตรกรรมเป็นพื้นที่สีม่วงหรือเขตพื้นที่อุตสาหกรรม ทำให้ JCK สามารถนำที่ดินในส่วนนี้มาใช้ประโยชน์และพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมในเฟสต่อไปได้ทันที จากผังเมืองเดิมที่มีพื้นที่อุตสาหกรรม 2,500 ไร่ แต่ประกาศผังเมืองอีอีซีได้เพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมเป็นกว่า 5,000 ไร่

ผังเมืองอีอีซี บังคับผังจังหวัด-อำเภอเดินตาม

โสภณ พรโชคชัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์และการผังเมืองได้เขียนบทความ ‘วิพากษ์ผังใช้ประโยชน์ที่ดินเขตอีอีซี’ ว่า

1.ผังตามประกาศนี้เป็นผังภาคไม่ใช่ผังเมือง การกำหนดขอบเขตที่กว้างย่อมไม่สามารถลงในรายละเอียดได้ ความหละหลวม ช่องโหว่จึงน่าจะมีมากมาย ยิ่งกว่านั้นประเทศไทยก็ยังไม่เคยมีผังเมืองเฉพาะเพราะต้องผ่านสภา ด้วยข้ออ้างว่าผู้แทนของประชาชนต้องเห็นชอบ แต่ผู้แทนเหล่านั้นเป็นผู้แทนของประเทศโดยรวมจะไปรู้เรื่องผังเฉพาะแต่ละบริเวณได้อย่างไร กระบวนการนี้จึงทำให้ออกผังเฉพาะไม่ได้ สิ่งที่ควรทำจึงเป็นการไปฟังเสียงของประชาชนมากกว่าเสียงของผู้อื่น อย่างไรก็ตามผังเมืองนี้ฟังเสียงของประชาชนจริงหรือไม่ เป็นเรื่องที่สังคมสงสัยอยู่

2.การใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซี ทำให้ผังเมืองเดิมที่มีอยู่เลิกใช้ไปทั้งหมด 19 ฉบับ บางฉบับหมดอายุไปตั้งแต่ปี 2531 ก็ “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” ไม่ทำการปรับปรุงแก้ไข ส่วนฉบับที่เคยบอกว่า “ไม่มีวันหมดอายุ” เพราะ “ไม่มีเวลาแก้ไข” ก็ถูกยกเลิกไปด้วย ผังเมืองเดิมเหล่านี้ บางฉบับก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและล้าหลังไปแล้ว แต่ก็มีการวางผังในรายละเอียดมากมายกว่าแผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินอีอีซีมากนัก การยกเลิกและทำให้เกิดสุญญากาศ ทำให้เกิดผลเสียในการพัฒนาเมือง เกิดความสะเปะสะปะในการพัฒนา

3.ในแผนผังระบบคมนาคมและขนส่งที่ขีดเส้นการก่อสร้างถนนใหม่ๆ ไว้มากมายนั้น ในความเป็นจริงมีงบประมาณในการก่อสร้างหรือไม่ มีกำหนดเวลาเสร็จเมื่อไหร่ ปกติการวางผังเมืองของกรมโยธาธิการและผังเมืองที่จัดทำผังใช้ประโยชน์ที่ดินเขตอีอีซีนี้ มักขีดเขียนเส้นถนนไว้ บ้างก็ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง บ้างก็เป็นแค่แนวคิด ไม่เคยมีกรอบเวลาและงบประมาณในการก่อสร้างที่แน่นอน ที่ผ่านมาในผังเมืองต่างๆ ที่กรมฯ ดำเนินการ มักขีดเส้นถนนโครงการไปในผังเมืองใหม่ๆ แต่ละฉบับโดยไม่มีการดำเนินการ และบางครั้งก็เปลี่ยนแนวถนนเสียใหม่ในผังใหม่ แต่ก็ยังไม่มีการก่อสร้างเช่นเดิม

4.ตัวอย่างความไม่เหมาะสมเช่นบริเวณรอบนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ได้กันพื้นที่ไว้กว้างขวางมาก เป็นการเอื้อประโยชน์แก่นิคมฯ แห่งเดียวหรือไม่ ในกรณีการกันพื้นที่เพื่อกิจการอุตสาหกรรม ควรเวนคืนและจัดระเบียบใหม่ ไม่ใช่ให้นักพัฒนาที่ดินเอกชนไปกว้านซื้อที่ดินเอง

5.รถไฟความเร็วสูงสถานีฉะเชิงเทราไม่มีความจำเป็นต้องเวนคืนที่เพิ่ม การอ้างว่าเป็นรถไฟความเร็วสูง ก็สามารถวิ่งช้าลงในเวลาจอดในเมืองอยู่แล้ว ไม่มีปัญหาเรื่องการ “หักศอก” แต่อย่างใด การเวนคืนเพิ่มเป็นการเพิ่มภาระแก่โครงการและเป็นการสร้างปัญหาแก่ประชาชน

6.ไม่มีการกำหนดพื้นที่สร้างเมืองใหม่ที่ชัดเจนตามแนวคิดการวางผังที่เคยนำเสนอไว้  คงอาจปล่อยให้ภาคเอกชนไปกว้านซื้อที่ดินในราคาถูกมาทำโครงการโดยไม่ต้องผ่านการประมูล

ทั้งนี้ผังอีอีซีมี 3 เป้าหมายหลักคือเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมที่เป็นพื้นที่สีม่วงเข้มกับสีม่วงอ่อนอีกร้อยละ 2 ขยายพื้นที่เมืองใหม่เพิ่มอีกร้อยละ 3 และลดพื้นที่เกษตรกรรมลงร้อยละ 8 การเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมเมื่อดูจากตัวเลขร้อยละ 2 อาจรู้สึกว่าไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก แต่ความเป็นจริงคือพื้นที่ 3 จังหวัดที่มีอยู่ 8.29 ล้านไร่ หากเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมอีกร้อยละ 2 ย่อมเท่ากับ 1.6 แสนไร่และเมื่อรวมกับพื้นที่อุตสาหกรรมเดิมอีกประมาณ 2.6 แสนไร่ เท่ากับว่าทั้ง 3 จังหวัดจะมีพื้นที่อุตสาหกรรมรวมกันกว่า 4.2 แสนไร่ หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 64 จากผังเมืองเดิม

ด้านสมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อมที่เกาะติดประเด็นอีอีซี กล่าวว่า ตัวผังนี้เป็นผังภาคที่หยาบมาก เมื่อนำผังนี้ไปกำหนดโซนจึงเป็นอันตรายต่อพื้นที่ต่างๆ

“เขาจะให้อำนาจจังหวัดไปทำผังจังหวัดและผังอำเภอ แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผังอำเภอหรือผังจังหวัดหลุดไปจากกรอบของอีอีซีได้เพราะผังอีอีซีบังคับไว้ ยกตัวอย่างบลูเทค ซิตี้เข้าไปถมที่ดินที่บางปะกง ซึ่งที่ดินตรงนั้นตอนนี้ไม่ใช่สีม่วง แต่เป็นสีเขียว แต่เขาบอกว่าเขาสามารถทำได้เพราะเดี๋ยวผังอีอีซีก็ประกาศ สุดท้ายพอผังอีอีซีประกาศ เขาก็เริ่มถูกต้องแล้ว ต่อไปก็ต้องไปทำผังเฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งผังตรงนี้จะเป็นสีม่วงได้เพราะผังอีอีซีกำหนดให้เป็นสีม่วงแล้ว นี่คือการที่รัฐข้ามขั้นตอนโดยส่งเสริมผ่านกระบวนการผังเมืองอีอีซี”

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ของสำนักงานอีอีซีที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 ระบุว่า กรณีผิดกฎหมายที่ดินบริเวณพื้นที่โครงการบลูเทค ซิตี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ผ่าน EIA (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) สถานะของโครงการบลูเทค ซิตี้ ปัจจุบัน ยังไม่ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษตามพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 สำนักงานจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนอย่างเคร่งรัดทุกประการ

อาณานิคมยุคใหม่?

รายงานศึกษา ‘ธรรมาภิบาลด้านที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก’ จัดทำโดยกลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch Thai) สรุปว่าการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. จนถึงคณะกรรมการอีอีซีทำให้เกิดการยกเว้นกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ที่ดินของนักลงทุน เกิดการเปลี่ยนมือการถือครองที่ดินจำนวนมาก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่เหมาะสมขนานใหญ่ในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น ที่ดินเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ในลุ่มน้ำบางปะกงของจังหวัดฉะเชิงเทรา

ไม่เพียงเท่านั้น กฎหมายอีอีซียังเอื้อให้รัฐเข้าถึงที่ดินเพื่อตอบสนองโครงการต่างๆ ในอีอีซี ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ราชพัสดุหรือที่ดิน ส.ป.ก. เพราะกฎหมายเกี่ยวกับพื้นที่ทั้งสองถูกยกเว้นไว้ให้คณะกรรมการอีอีซีนำที่ดินไปใช้ได้

นอกจากนี้ อีอีซียังทำให้ราคาที่ดินพุ่งขึ้น ขณะที่บริษัทนิคมอุตสาหกรรมที่สะสมที่ดินเอาไว้จำนวนมากคือผู้ได้รับประโยชน์จากการขายและให้เช่าที่ดินกับนักลงทุนจากต่างประเทศ หลายพื้นที่มีการซื้อที่ดินสะสมไว้ก่อนหน้า แต่ไม่สามารถขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมได้เพราะผังเมืองกำหนดเป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่อีอีซีเข้ามาปลดล๊อกและสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับนิคมอุตสาหกรรม อีกทั้งผลที่ตามมาจากการให้เอกสิทธิ์การถือกรรมสิทธิ์ที่ดินและเช่าใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นพิเศษยังส่งผลให้เกิดการขับไล่เกษตรกรเช่าที่ดิน ทั้งจากการที่เจ้าของที่ดินขายที่ให้กับบริษัทที่เข้ามากว้านซื้อเพื่อจะยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษหรือจากการเวนคืนที่ดินจากการขยายระบบโครงสร้างพื้นฐาน

อาจกล่าวได้ว่าการใช้อำนาจพิเศษของ คสช. ที่ต่อเนื่องถึงรัฐบาลปัจจุบันในการพัฒนาอีอีซี เปรียบเสมือนการจับมือระหว่างรัฐกับทุนเข้าแย่งยึดที่ดินอย่างเป็นระบบและถูกกฎหมาย มันจะเปลี่ยนรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินใน 3 จังหวัดโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยอำนาจที่ถูกรวบไปไว้ในมือคณะกรรมการอีอีซี คำถามที่ดังขึ้นในตอนนี้คือ มันได้กลายสภาพเป็นรัฐซ้อนรัฐและสร้างอาณานิคมยุคใหม่ที่เปิดให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถเช่าที่ดินได้ยาวนานถึง 99 ปีแล้วใช่หรือไม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท