วัวป่วย-ตาย ไม่ทราบสาเหตุ หวั่นปากเท้าเปื่อยระบาด ที่มวกเหล็ก,เชียงใหม่,ลำพูน

วัวนม อ.มวกเหล็ก ตายกว่า 70 ตัว ป่วยกว่า 1,700 ตัว ใน 108 ฟาร์ม หวั่นโรคปากเท้าเปื่อยระบาด เกษตรกรเข้า กทม. ร้องนายกฯ ช่วย ด้านปศุสัตว์สระบุรี เผย จ.สระบุรี ประกาศพื้นที่คุมโรคระบาด ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างส่งห้องแล็บ ขณะเดียวกันที่เชียงใหม่,ลำพูนก็เกิดโรคปากเท้าเปื่อยระบาดในสัตว์เช่นกัน


แฟ้มภาพ

14 ม.ค. 2563 ไทยพีบีเอสรายงานว่า วันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้รับร้องเรียนจากชาวบ้าน อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ว่า ขณะนี้เกิดสถานการณ์วัวป่วยและตายจำนวนมาก โดยเฉพาะ ต.ลำพญากลาง ซึ่งการตรวจสอบของทีมข่าวพบว่า วัวเริ่มทยอยตายและเจ็บป่วยในพื้นที่ ต.ลำพญากลาง ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.2563 ถึง 12 ม.ค.

ผู้เลี้ยงโคบางคน ระบุว่า รู้สึกเสียใจมากเมื่อต้องเห็นโคที่เลี้ยงไว้ขาดใจตายลงต่อหน้าต่อตา โดยไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าเป็นโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งเคยระบาดหนักในพื้นที่ในช่วง 2-3 ปี และต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบและแก้ปัญหาดังกล่าว รวมถึงให้คำแนะนำกับชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เกษตรกรเข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ พรุ่งนี้

ขณะที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดดังกล่าว เตรียมเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครในวันที่ 13 ม.ค. โดยเดินทางไปยื่นเรื่องต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 09.30 น. จากนั้นเวลา 10.30 น. เดินทางไปยื่นหนังสือต่อเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเวลา 13.00 น.เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือและเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม

เร่งคุมโรคระบาด

เมื่อสอบถามกับ สพ.หญิง ชัชรี นิยโมสถ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สนง.ปศุสัตว์สระบุรี เปิดเผยกับไทยพีบีเอสเกี่ยวกับสถานการณ์ล่าสุดวันนี้ พบว่า ภาพรวมขณะนี้ในช่วงวันที่ 5-11 ม.ค.2563 มีวัวป่วยจำนวน 108 ฟาร์ม จากฟาร์มที่มีใน อ.มวกเหล็ก 2,300 ฟาร์ม, ตายแล้ว 70 ตัว ในจำนพื้นที่ 6 ฟาร์ม ส่วนวัวที่มีอาการป่วยมีประมาณ 1,700-1,800 ตัว ส่วนใหญ่อยู่ใน ต.ลำพญากลาง แต่ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นบ้างแล้ว มีวัวเริ่มหายจากอาการป่วย 60 ตัว อยู่ระหว่างการรักษาจำนวน 40-50 ฟาร์ม เบื้องต้นอยู่ในสภาวะยังควบคุมโรคระบาด

สำหรับข้อมูลเป็นทางการสถานการณ์โรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี มีเกษตรกรแจ้งผลกระทบจำนวน 108 ราย โคนมร่วมฝูง 5,654 ตัว, ป่วย 1,980 ตัว หายป่วยแล้ว 1,083 ตัว เหลือจำนวนป่วย 897 ตัว ประกอบด้วย

ต.ลำพญากลาง มีการระบาดรวม 11 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 18 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1, 2, 3, 5, 7, 9, 12, 13, 15, 16 และ 18 จำนวน 89 ราย โคร่วมฝูง 4,687 ราย, ป่วยสะสม 1,578 ตัว หายป่วย 1,083 ตัว ป่วยคงเหลือ 495 ตัว

ต.ลำสมพุง ระบาด 3 หมู่บ้าน จากทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 ,9, 7 จำนวน 18 ราย โคร่วมฝูง 967 ตัว ป่วยคงเหลือ 402 ตัว

สำหรับจำนวนการตายทั้งหมด 70 ตัว ประกอบด้วย แม่โค 26 ตัว, โคสาวรุ่น 31 ตัว 12 ตัว และโคพ่อพันธุ์ 1 ตัว ภาวะโรค ณ วันที่ 11 ม.ค.2563 มีวัวหายป่วยแล้ว 62 ฟาร์ม จำนวน 1,083 ตัว

ต.ลำพญากลาง ป่วยคงเหลือ 25 ฟาร์ม จำนวน 495 ตัว

ต.ลำสมพุง ป่วยคงเหลือ 18 ฟาร์ม จำนวน 402 ตัว

สพ.หญิง ชัชรี ระบุด้วยว่า สำหรับการตายของวัวปีนี้ อยู่ในข่ายที่พบว่าผิดปกติ เนื่องจากปีที่ผ่านมา เมื่อวัวเจ็บป่วยจะสามารถรักษาได้หายทัน แต่ปีนี้จำนวนการตายมีมากกว่าปีที่แล้ว และเป็นประเภทกลุ่มวัยที่แข็งแรง เบื้องต้นสันนิษฐานการตาย อาจเป็นได้ทั้งโรคปากเท้าเปื้อย หรือเกิดภาวะอ่อนแอของวัว แต่ต้องรอการผ่าซากส่งพิสูจน์ เช่น ตรวจสอบกระเพาะอาหาร, ไวรัส, แบคทีเรีย, การทำงานของตับไต, กลุ่มเลือดและพยาธิของสัตว์ ว่าเป็นอย่างไร มีภาวะโรคปอดอักเสบเฉียบพลันหรือไม่ หรือมีพยาธิในเม็ดเลือดทำให้เลือดจาง นอกจากอาการของโรคแล้ว ยังมีข้อสันนิษฐานการตายว่า ช่วงที่ผ่านมาอากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว หากสัตว์อยู่ในภาวะอ่อนแออยู่แล้วก็จะแสดงอาการอ่อนแอให้เห็น โดยต้องรอผลตรวจสอบที่ชัดเจนจากสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ

ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่าว่า สถานการณ์ระบาดทำให้ เสน่ห์ ประเสริฐ ปศุสัตว์อำเภอมวกเหล็ก ออกประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราว ลงวันที่ 11 ม.ค.2563 เพื่อแจ้งต่อกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ให้แจ้งเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องทราบ และให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามสถานการณ์ของโรค โดยสำนักงานปศุสัตส์จังหวัดจะแจ้งให้ทราบต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและจะติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง

เชียงใหม่-ลำพูน โรคปากเท้าเปื่อยระบาด วัว ควาย หมู แพะ แกะ

ก่อนหน้านี้เชียงใหม่นิวส์รายงานว่า ด้วยระยะนี้ สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้สัตว์เลี้ยงมีสภาพร่างกายที่อ่อนแอ ความต้านทานต่อโรคต่ำ โดยเฉพาะสัตว์ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค จะมีความไวต่อการติดเชื้อโรคระบาด ที่สำคัญ และขณะนี้ได้เกิดการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในพื้นที่จังหวัดลำพูน จำนวน 1 จุด ได้แก่ ในโคเนื้อที่บ้านหนองเหียง หมู่ที่ 15 ตำบลมะเขือแจ้ อำเภอเมืองลำพูน เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561

ล่าสุดสำนักงานปศุสัตว์ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน พบว่าได้มีการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อย เป็นโรคระบาดร้ายแรง ซึ่งอาจติดต่อไปยัง โค กระบือ สุกร แพะ แกะ และสัตว์กีบคู่ได้ ทางปศุสัตว์อำเภอบ้านธิจึงได้ประกาศกำหนดเขตโรคระบาดชั่วคราวขึ้นในพื้นที่ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ปศุสัตว์ประกาศเขตโรคระบาดชั่วคราวในสัตว์ในพื้นที่

-อ.แม่ออนเชียงใหม่ 
-ตำบลมะเขือแจ้ อ.เมือง ลำพูน
-ตำบลทาปลาดุก อ.แม่ทา ลำพูน
-ตำบลอุโมงค์ อ.เมืองลำพูน
-ตำบลห้วยยาบ อ.บ้านธิ ลำพูน 
-ตำบลบ้านธิ อ.บ้านธิ ลำพูน 

โดยประกาศเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวชนิดโรคปากและเท้าเปื่อย ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันที่ 5 ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป

 

โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคติดต่อที่สำคัญ ใน โค กระบือ แพะ แกะและสุกร ซึ่งมีสาเหตุจาก เชื้อไวรัส ที่สามารถติดต่อและแพร่กระจายได้โดยการกินหรือสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง หรือเชื้อที่ปนเปื้อนจากถังนม คน ยานพาหนะ รวมทั้งเชื้อไวรัสยังสามารถล่องลอยไปกับอากาศได้ โดยเชื้อไวรัสจะถูกขับออกมาจากสัตว์ป่วยทางน้ำมูก น้ำลาย น้ำนม มูลสัตว์ ลมหายใจและบาดแผล สัตว์ที่ป่วยจะแสดงอาการซึม มีไข้   เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นที่ริมฝีปาก ช่องปากและไรกีบทำให้น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้   และเดินกะเผลก ในโคนมอาจมีเม็ดตุ่มที่เต้านม ทำให้เต้านมอักเสบได้ เนื่องจากโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสจึงไม่มียาในการรักษาโดยตรง แต่อาจจะใช้ยาปฏิชีวนะ ยาทากีบ ยาม่วง หรือยาลดการอักเสบ เพื่อลดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนและบรรเทาอาการ เท่านั้น

ดังนั้น เพื่อป้องกันความเสียหายกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้เลี้ยงสัตว์กีบคู่ชนิดอื่นๆ ได้ จึงขอความร่วมมือศูนย์รับนม สหกรณ์โคนม และเกษตรกรในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค ดังนี้

1. เป็นเครือข่ายการเฝ้าระวัง ค้นหาโรคปากและเท้าเปื่อยในโคนม โดยทำการตรวจสอบฟาร์ม โคนมของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกการชื้อขายน้ำนมดิบของท่าน จากข้อมูลที่สงสัยว่าจะมีการเกิดโรคปากและเท้าเปื่อย เช่น ปริมาณน้ำนมผลผลิตเฉลี่ยของฟาร์มที่ลดลงอย่างผิดปกติ หรือหากเจ้าหน้าที่ของท่านตรวจพบฟาร์มที่เป็นโรคปากและเท้าเปื่อย ขอให้ท่านแจ้งเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ทราบทันที่ ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ประจำพื้นที่ หรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด “แจ้งการเกิดโรคระบาด” เพื่อเข้าดำเนินการตรวจสอบและ     การควบคุมโรคโดยเร็ว

2. เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น พ่นยาฆ่าเชื้อรถทุกคันที่เข้า-ออกศูนย์รับนมหรือสหกรณ์โคนม ตลอดจนป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคปากและเท้าเปื่อยจากผู้ปฏิบัติงาน

3. ประชาสัมพันธ์ให้เน้นย้ำเกษตรกรที่ยังไม่มีโคนมป่วยด้วยโรคปากและเท้าเปื่อย ป้องกันการ นำโรคเข้าฟาร์ม ดังนี้

งดการซื้อขายและนำเข้าสัตว์มาเลี้ยงใหม่ จากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย อย่างน้อย 1 เดือน   หรือจนกว่าสถานการณ์การระบาดของโรคสงบ ซึ่งสามารถสอบถามหรือตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด       หรือสำนักงานปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ เเละเข้มงวดการจัดการเพื่อป้องกันโรคเข้าฟาร์ม เช่น

   ๑.) ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์มโคนม หากจำเป็นต้องเปลี่ยนรองเท้าที่ใช้เฉพาะ ภายในฟาร์มและเดินผ่านอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าบริเวณรีดนม และที่เลี้ยงโคนม

   ๒.) ห้ามยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถรับซื้อสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์ เข้าภายในฟาร์มโดยเด็ดขาด   หากจำเป็นต้องพ่นยาฆ่าเชื้อโรค และจัดให้ยานพาหนะฯ ดังกล่าว อยู่ไกลจากสถานที่เลี้ยงสัตว์ให้มากที่สุด

   ๓.) ทำความสะอาดและทำลายเชื้อโรคที่ถังส่งนมและอุปกรณ์ต่างๆ ก่อนนำเข้าฟาร์ม

๔.) เลือกซื้อพืชอาหารสัตว์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ว่าไม่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท