วิจัยต่างชาติชี้ มลภาวะอากาศเป็นปัญหาฉุกเฉิน แต่จะกระทบคนชายขอบมากกว่า

องค์กรเกี่ยวกับโรคหัวใจในอังกฤษ ชี้ว่ามลภาวะทางอากาศเป็น "ปัญหาใหญ่ในระดับฉุกเฉินทางสาธารณสุข" ที่อาจคร่าชีวิตคนได้หลักแสนในทศวรรษนี้ และมีหลักฐานในยุโรปว่าคนชายขอบทางสังคม-เศรษฐกิจ มีผลกระทบกับมลพิษมากกว่า นักประวัติศาสตร์ด้านมลภาวะทางอากาศชี้ รัฐบาลมักมองปัญหาไฟป่าในฐานะเหตุการณ์ธรรมชาติ ทั้งที่เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

ประชาชนกวาดขี้เถ้าฝุ่นภูเขาไฟในอินโดนีเซียเมื่อปี 2557 (ที่มา:วิกิพีเดีย)

15 ม.ค. 2563 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ม.ค. 63) มูลนิธิหัวใจอังกฤษ (BHF) นำเสนอรายงานว่ามลภาวะทางอากาศถือเป็น "ปัญหาใหญ่ในระดับฉุกเฉินทางสาธารณสุข" และเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษมีการนำคู่มือแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายอังกฤษ และทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ภายในปี 2573

รายงานของ BHF ยังระบุว่าปัญหาฝุ่นควัน มลภาวะในเมืองต่างๆ อาจคร่าชีวิตผู้คนได้ราว 160,000 คนภายในอีกสิบปีข้างหน้า เพราะมลภาวะเหล่านี้ส่งผลให้เกิดโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับการไหลเวียนของโลหิต โดยที่ผู้คนในอังกฤษจะเสียชีวิตจากกรณีเหล่านี้ราว 40 รายต่อวันถ้าหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหามลภาวะ

BHF ระบุอีกว่าฝุ่นละอองขนาด PM2.5 ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพได้จากการที่เพิ่มความเสี่ยงหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และคนที่มีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วอาการแย่ลง

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันก็มีบทความจาก จอน แฟร์เบิร์น ศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยสแตฟเฟอร์ดไชร์ ที่ระบุว่าถึงแม้ว่าปัญหาฝุ่นควันมลภาวะจะส่งผลกระทบคร่าชีวิตคนทุกปี แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบเท่ากัน พวกเขาสำรวจพบว่าชนชั้นทางสังคม เชื้อชาติ เพศสภาพ เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนได้รับผลกระทบเหล่านี้แตกต่างกัน ชนชั้นล่างและคนชายขอบมักจะได้รับผลกระทบมากกว่า จากการที่พวกเขาอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เผชิญกับฝุ่นควันมากกว่า

จากการตรวจสอบงานวิจัยต่างๆ แฟร์เบิร์นระบุว่าคนยากจนและกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนขาวในอังกฤษและเนเธอร์แลนด์มักจะเผชิญกับสภาพอากาศเป็นพิษมากกว่า ในอิตาลีมีงานสำรวจระบุว่าคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวมักจะต้องเผชิญกับมลภาวะทางอากาศมากกว่า ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ชาวเอเชียและละตินอเมริกามักจะต้องเผชิญกับมลภาวะเหล่านี้มากกว่า ในสวีเดนทางตอนใต้ คนเป็นแม่ที่ไม่ใช่คนเชื้อสายนอร์ดิกมักจะต้องเผชิญกับสารพิษไนโตรเจนอ็อกไซด์มากกว่า ในสวิตเซอร์แลนด์ คนที่เป็นชาวต่างชาติและคนว่างงานมักจะต้องอาศัยอยู่ใกล้ถนนใหญ่มากกว่าจึงทำให้ต้องเผชิญกับอากาศเป็นพิษมากกว่า

สหภาพยุโรปทำการกดดันให้รัฐบาลประเทศต่างๆ จัดการกับปัญหามลภาวะทางอากาศแต่ก็ยังคงมี 19 ประเทศที่มีไนโตรเจนไดอ็อกไซด์เกินค่าที่กำหนดไว้ และมี 14 ประเทศที่มีฝุ่นละอองที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ไมครอน

รายงานของแฟร์เบิร์นระบุอีกว่าเด็กที่ร่างกายกำลังเติบโตเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอากาศเป็นพิษมากกว่าในระดับสภาพอากาศเป็นพิษปริมาตรเดียวกัน อีกกลุ่มหนึ่งคือคนจนที่มักจะต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ๆ ใกล้กับที่มียานพาหนะสัญจรไปมามากกว่าทำให้ได้รับผลกระทบจากอากาศเป็นพิษ เขาจึงเสนอแนะให้เมืองต่างๆ จัดการระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและราคาถูก นอกจากนี้ยังควรจัดผังเมืองที่เอื้อต่อคนใช้จักรยานและคนเดินเท้ามากขึ้นด้วย

นอกจากนี้ยังมีบทความของ แนนซี คุชชิง นักประวัติศาสตร์ด้านมลภาวะทางอากาศจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลระบุว่า หนึ่งในกรณีที่ส่งผลต่อมลภาวะทางอากาศที่คนคำนึงถึงน้อยคือกรณีไฟป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งใหญ่ในออสเตรเลีย คุชชิงระบุว่ารัฐบาลต่างๆ มักจะมองข้ามการควบคุมดูแลเรื่องไฟป่านี้เพราะมองว่าเป็น "เหตุจากธรรมชาติ" ทั้งที่จริงแล้วปัญหาไฟป่ามีส่วนเชื่อมโยงกับปัญหาโลกร้อนซึ่งมาจากการกระทำของมนุษย์

"ฝุ่นควันจากไฟป่าส่งผลกระทบต่อการสัญจร การค้าขาย สุขภาวะ และความรื่นรมย์ในสภาพแวดล้อมของเมือง" คุชชิงระบุในบทความ

เรียบเรียงจาก

Heart attack and stroke deaths related to air pollution could exceed 160,000 by 2030, BHF, Jan. 13, 2020

Air pollution could kill 160,000 in next decade – report, The Guardian, Jan. 13, 2020

Air pollution: your exposure and health risk could depend on your class, ethnicity or gender, The Conversation, Jan. 11, 2020

Even for an air pollution historian like me, these past weeks have been a shock, The Conversation, Jan. 13, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท