มติ ครม. ไฟเขียว แคท - TOT ประมูล 5จี ควบรวม 2 วิสาหกิจ ให้คลังถือหุ้นทั้งหมด

มติ ครม. เห็นด้วยกับข้อเสนอกระทรวงดีอี ควบรวม กสท โทรคมนาคม (แคท) และทีโอที เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด ปิดตำนานความพยายามตั้งแต่ปี 2545 และยังมีมติให้ทีโอที และแคท ลงประมูลคลื่น 5จี กับเอกชนรายอื่นด้วย

15 ม.ค. 2563 นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอให้ควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ให้เป็นบริษัทเดียวตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ภายใต้ชื่อใหม่ว่า "บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom: NT Co.)" หรือ NT 

NT จะมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด นฤมลกล่าวว่า การควบรวมกิจการนั้นเพื่อทำให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่งไม่ต้องแข่งขันกันเอง และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ มติ ครม. ยังมอบหมายให้กระทรวงดีอี ดำเนินการควบรวม 2 บริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

นอกจากนั้น การควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจนี้ ได้รับการยกเว้นตามมติ ครม. ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบปฏิบัติ และมติ ครม. ที่บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจเป็นการทั่วไป ให้คงสิทธิสภาพในฐานะที่แปลงเป็นบริษัทมหาชนแล้ว หลังจากได้แปลงสภาพไปเมื่อปี 2542 โดยเงินเดือนค่าจ้าง สวัสดิการ และการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ขณะเดียวกันได้มีมติยกเลิก มติ ครม. เมื่อ  13 มิ.ย. 2560 ที่เห็นชอบให้ตั้งเป็น 2 บริษัทย่อย ได้แก่ NBN โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ กับ บริษัท NGDC บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต และให้รับพนักงานที่ลาออกไปทำงานใน NBN และ NGDC กลับเข้าทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดเดิม โดยให้ได้รับตำแหน่งและสวัสดิการเดิมในวันที่ลาออก และให้นับอายุงานต่อเนื่องได้

ในวันเดียวกันนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้ตามดีอี ให้แคท และทีโอที เข้าร่วมประมูล 5G ในคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ที่สำนักงาน กสทช. นำออกประมูล ทั้งนี้ การประมูลของ 2 รัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขประกาศของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ มีเอกชน 3 รายที่ยื่นซองประมูลแล้ว ได้แก่ค่ายดีแทค ทรู และเอไอเอส

กระทรวงดีอียังได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาความเหมาะสมในประเด็นให้ NT เป็นผู้สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคง รวมถึงให้บริการสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม  โดยให้รัฐสนับสนุนคลื่นความถี่ที่เหมาะสมเพื่อภารกิจดังกล่าว

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) ดีอี ระบุว่า การควบรวมจะช่วยให้เกิดการผสานศักยภาพ สร้างความพร้อมให้รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของไทยเพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง เป็นการสร้างโอกาสของการไปสู่ธุรกิจในอนาคตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงธุรกิจ 5G ซึ่ง กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ในราวกลางเดือน ก.พ. นี้

ส่วนขั้นตอนหลังจากผ่านมติ ครม. จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ด้าน เพื่อศึกษาและจัดทำแผน 3 ด้านหลัก ได้แก่ด้านกฎหมาย การควบรวมกิจการ และทรัพยากรบุคคล โดยจะทำการศึกษาและกำหนดทิศทางในการดำเนินงานหลังการควบรวมกิจการ คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือน

ไทยรัฐรายงานว่า การควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจนี้มีจุดเริ่มต้นในปี 2545 สมัยที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลีเป็น รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เห็นควรให้ 2 หน่วยงานควบรวมเพื่อความอยู่รอด ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลพยายามสานต่อแต่ไม่สำเร็จ เพราะสหภาพแรงงานของทั้ง 2 แห่งคัดค้านอย่างหนัก

ในด้านสินทรัพย์ ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า ทีโอที มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด มีพนักงานทั้งหมด 13,026 คน (ข้อมูลสิ้นสุด ธ.ค.62) มีสินทรัพย์ที่สำคัญ ได้แก่ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง : 1.5 ล้านคอลต่อกิโลเมตร โครงการเคเบิลใต้น้ำ 2 ระบบ ท่อร้อยสายใต้ดิน 32,173 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร คลี่นความถี่ 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เสาโทรคมนาคม 13,445 ต้น ศูนย์ข้อมูล 4 แห่ง  ธุรกิจที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล โครงการตามนโยบายรัฐบาล และธุรกิจอื่นๆ

ส่วนแคทนั้น กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด มีพนักงาน 5,117 คน (ข้อมูลสิ้นสุด ธ.ค.62) มีสินทรัพย์ที่สำคัญได้แก่ โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำ 6 ระบบ อยู่ระหว่างสร้าง 1 ระบบ โครงการเคเบิลใยแแก้วนำแสง 0.7 ล้านคอลต่อกิโลเมตร คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ เสาโทรคมนาคม 18,159 ต้น ท่อร้อยสาย 5,677 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร และศูนย์ข้อมูล 9 แห่ง  ส่วนธุรกิจที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจบรอดแบนด์ ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจอื่นๆ 

ที่มาข่าว: ฐานเศรษฐกิจ RYT9

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท