Skip to main content
sharethis

มติ ครม. เห็นด้วยกับข้อเสนอกระทรวงดีอี ควบรวม กสท โทรคมนาคม (แคท) และทีโอที เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด ปิดตำนานความพยายามตั้งแต่ปี 2545 และยังมีมติให้ทีโอที และแคท ลงประมูลคลื่น 5จี กับเอกชนรายอื่นด้วย

15 ม.ค. 2563 นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอให้ควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท ให้เป็นบริษัทเดียวตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 ภายใต้ชื่อใหม่ว่า "บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (National Telecom: NT Co.)" หรือ NT 

NT จะมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด นฤมลกล่าวว่า การควบรวมกิจการนั้นเพื่อทำให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่งไม่ต้องแข่งขันกันเอง และเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ มติ ครม. ยังมอบหมายให้กระทรวงดีอี ดำเนินการควบรวม 2 บริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

นอกจากนั้น การควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจนี้ ได้รับการยกเว้นตามมติ ครม. ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบปฏิบัติ และมติ ครม. ที่บังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจเป็นการทั่วไป ให้คงสิทธิสภาพในฐานะที่แปลงเป็นบริษัทมหาชนแล้ว หลังจากได้แปลงสภาพไปเมื่อปี 2542 โดยเงินเดือนค่าจ้าง สวัสดิการ และการจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

ขณะเดียวกันได้มีมติยกเลิก มติ ครม. เมื่อ  13 มิ.ย. 2560 ที่เห็นชอบให้ตั้งเป็น 2 บริษัทย่อย ได้แก่ NBN โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ กับ บริษัท NGDC บริษัทโครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต และให้รับพนักงานที่ลาออกไปทำงานใน NBN และ NGDC กลับเข้าทำงานในหน่วยงานต้นสังกัดเดิม โดยให้ได้รับตำแหน่งและสวัสดิการเดิมในวันที่ลาออก และให้นับอายุงานต่อเนื่องได้

ในวันเดียวกันนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้ตามดีอี ให้แคท และทีโอที เข้าร่วมประมูล 5G ในคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ที่สำนักงาน กสทช. นำออกประมูล ทั้งนี้ การประมูลของ 2 รัฐวิสาหกิจ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขประกาศของ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ มีเอกชน 3 รายที่ยื่นซองประมูลแล้ว ได้แก่ค่ายดีแทค ทรู และเอไอเอส

กระทรวงดีอียังได้เสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาความเหมาะสมในประเด็นให้ NT เป็นผู้สนับสนุนนโยบายของรัฐในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและความมั่นคง รวมถึงให้บริการสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม  โดยให้รัฐสนับสนุนคลื่นความถี่ที่เหมาะสมเพื่อภารกิจดังกล่าว

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) ดีอี ระบุว่า การควบรวมจะช่วยให้เกิดการผสานศักยภาพ สร้างความพร้อมให้รัฐวิสาหกิจด้านการสื่อสารของไทยเพื่อรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีกทั้ง เป็นการสร้างโอกาสของการไปสู่ธุรกิจในอนาคตร่วมกัน ซึ่งรวมถึงธุรกิจ 5G ซึ่ง กสทช. เตรียมเปิดประมูลคลื่นความถี่ในราวกลางเดือน ก.พ. นี้

ส่วนขั้นตอนหลังจากผ่านมติ ครม. จะมีการว่าจ้างที่ปรึกษา 3 ด้าน เพื่อศึกษาและจัดทำแผน 3 ด้านหลัก ได้แก่ด้านกฎหมาย การควบรวมกิจการ และทรัพยากรบุคคล โดยจะทำการศึกษาและกำหนดทิศทางในการดำเนินงานหลังการควบรวมกิจการ คาดว่าจะใช้เวลาอีกราว 6 เดือน

ไทยรัฐรายงานว่า การควบรวม 2 รัฐวิสาหกิจนี้มีจุดเริ่มต้นในปี 2545 สมัยที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลีเป็น รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่เห็นควรให้ 2 หน่วยงานควบรวมเพื่อความอยู่รอด ตลอด 18 ปีที่ผ่านมา หลายรัฐบาลพยายามสานต่อแต่ไม่สำเร็จ เพราะสหภาพแรงงานของทั้ง 2 แห่งคัดค้านอย่างหนัก

ในด้านสินทรัพย์ ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า ทีโอที มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด มีพนักงานทั้งหมด 13,026 คน (ข้อมูลสิ้นสุด ธ.ค.62) มีสินทรัพย์ที่สำคัญ ได้แก่ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง : 1.5 ล้านคอลต่อกิโลเมตร โครงการเคเบิลใต้น้ำ 2 ระบบ ท่อร้อยสายใต้ดิน 32,173 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร คลี่นความถี่ 2100 และ 2300 เมกะเฮิรตซ์ เสาโทรคมนาคม 13,445 ต้น ศูนย์ข้อมูล 4 แห่ง  ธุรกิจที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจคมนาคม ธุรกิจดิจิทัล โครงการตามนโยบายรัฐบาล และธุรกิจอื่นๆ

ส่วนแคทนั้น กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด มีพนักงาน 5,117 คน (ข้อมูลสิ้นสุด ธ.ค.62) มีสินทรัพย์ที่สำคัญได้แก่ โครงการเคเบิ้ลใต้น้ำ 6 ระบบ อยู่ระหว่างสร้าง 1 ระบบ โครงการเคเบิลใยแแก้วนำแสง 0.7 ล้านคอลต่อกิโลเมตร คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ เสาโทรคมนาคม 18,159 ต้น ท่อร้อยสาย 5,677 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร และศูนย์ข้อมูล 9 แห่ง  ส่วนธุรกิจที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจบรอดแบนด์ ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจดิจิทัล และธุรกิจอื่นๆ 

ที่มาข่าว: ฐานเศรษฐกิจ RYT9

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net