Skip to main content
sharethis

นักศึกษาหญิงข้ามเพศ มช. ถูกเชิญออกจากห้องน้ำหญิง เจ้าตัวเผยใช้ห้องน้ำชายรู้สึกเหมือนถูกล่วงละเมิดทางสายตา

ที่มาของภาพประกอบ : Kirt Dankmyer
 

15 ม.ค. 2563 เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า มีนักศึกษาหญิงข้ามเพศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่าตนเองถูกเชิญออกจากห้องน้ำหญิงที่สระว่ายน้ำของมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุที่ว่าเธอเป็นคนข้ามเพศ ในขณะที่มหาวิทยาลัยยังไม่อนุญาตให้นักศึกษาข้ามเพศแต่งกายตามเพศสภาพเพื่อถ่ายรูปลงในเอกสารคาดว่าจะจบการศึกษา

กรณีดังกล่าวถูกนำมาเล่าในเพจของกลุ่มเยาวชนเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ (Young Pride Club) หลังจากนักศึกษาหญิงข้ามเพศคนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ออกมาโพสผ่านบัญชีเฟสบุ๊คของตนว่าระหว่างเข้าใช้ห้องน้ำหญิงที่สระรุจิรวงศ์ ซึ่งเป็นสระว่ายน้ำภายในมหาวิทยาลัย ได้มีพนักงานของมหาวิทยาลัยเข้ามาถามตนว่าตนเป็นเพศอะไร พร้อมกับเชิญออกจากห้องน้ำหญิง ทำให้เธอต้องไปใช้ห้องน้ำชายแทน

“ยอมรับว่าเสียความรู้สึกมาก ๆ ที่สระรุจิรวงศ์ไม่อนุญาตให้เราใช้ห้องน้ำหญิง” นักศึกษาคนดังกล่าวโพสบนบัญชีเฟสบุ๊คของตน โดยเธอกล่าวว่าการต้องใช้ห้องน้ำชายทำให้เธอรู้สึกเหมือนถูกล่วงละเมิดทางเพศทางสายตา และทำให้เธอต้องยืนรอในห้องอาบน้ำจนกว่าผู้ชายในห้องน้ำจะเหลือน้อยที่สุดถึงออกจากห้องน้ำได้

จากการสอบถามแอดมินเพจ Young Pride Club ทราบว่านักศึกษาคนดังกล่าวยังไม่ได้มีการทำเรื่องร้องเรียนกับมหาวิทยาลัย และทางมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ได้มีปฏิกิริยาใดๆ ต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่กรณีนี้ถือว่าอยู่ในข่ายที่จะร้องเรียนกับคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) กระทรวงการพัฒาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ โดยทางแอดมินเพจคาดว่าเป็นนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้นักศึกษาข้ามเพศใช้ห้องน้ำตามเพศสภาพ เพียงแต่ไม่ทราบว่ามีการออกระเบียบเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพิ่งประกาศอนุญาตให้บัณฑิตแต่งกายตามเพศสภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ แต่นักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาก็ยังไม่สามารถแต่งกายตามเพศสภาพเพื่อถ่ายภาพสำหรับใบคาดว่าจะจบการศึกษาได้ โดยในขั้นตอนการถ่ายภาพดังกล่าว นักศึกษาหญิงข้ามเพศจะต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบของนักศึกษาชาย พร้อมทั้งรวบผมหรือใส่วิก ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อใบจบ ทรานสคริปต์ และเอกสารสำคัญทางการศึกษาอื่น ๆ ที่จะมีผลต่อการสมัครงานในอนาคต

นอกจากนี้ ขั้นตอนการขออนุญาตแต่งกายตามเพศสภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรยังกำหนดให้นักศึกษาต้องขอใบรับรองแพทย์ ในขณะที่บางคณะมีการกำหนดให้มีการเซ็นยินยอมในหนังสือขออนุญาตโดยผู้ปกครองและอาจารย์ที่ปรึกษาของนักศึกษาผู้ทำเรื่องขออนุญาต และบางคณะยังมีการโทรศัพท์แจ้งครอบครัวของนักศึกษาที่ทำเรื่องขออนุญาตอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนเช่นนี้สามารถพบได้ในอีกหลายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้นิสิตนักศึกษาต้องทำเรื่องขออนุญาตเพื่อจะแต่งกายตามเพศสภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร โดยส่วนมากกำหนดให้มีการขอใบรับรองแพทย์ที่ระบุว่าผู้ร้องมีสภาวะ “เพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด” ถึงแม้ว่าที่ประชุมใหญ่องค์กรอนามัยโลกจะมีมติให้นำ “การข้ามเพศ (transgenderism)” ออกจากการเป็นอาการของความบกพร่องทางจิตในคู่มือวินัจฉัยและจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ (International Classification of Diseases) หรือ ICD-11 แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2557 ที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยังได้มีการลงมติว่าการที่มหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่เป็นบุคคลข้ามเพศแต่งกายตามเพศสภาพในการเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการขัดต่อระเบียบและแนวปฏิบัติของมหาวิทยาลัยที่กำหนดเครื่องแต่งกายในงานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรสำหรับบัณฑิตชายและบัณฑิตหญิงทุกระดับโดยให้เป็นไปตามเพศชายหรือเพศหญิงตามที่กฎหมายรับรองนั้น ถือเป็นการปฏิบัติที่ไม่เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน หลังนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเข้ายื่นคำร้องกับ กสม. กรณีมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ปาหนัน ชัญญา นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับกลุ่ม Young Pride Club ได้เข้ายื่นคำร้องต่อสิริวรรณ เย็นตั้ง ผู้อำนวยการกองส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อให้คณะกรรมาธิการ วลพ.พิจารณากรณีข้อบังคับมหาวิทยาลัย ว่าด้วยเครื่องแบบนักศึกษา ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการตอบรับใด ๆ จากทางมหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net