นิธิ เอียวศรีวงศ์: หนังสงคราม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมไม่ทราบหรอกว่า ทหารเขาดูอะไรในหนังสารคดีที่เกี่ยวกับสงคราม แต่ผมชอบดูมานานแล้ว โดยเฉพาะเกี่ยวกับสงครามซึ่งจบไปแล้ว เพราะมันจะไม่ถูกเจือปนด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ ถึงจะปนอยู่ก็เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ ทั้งนี้ยังไม่นับข้อมูลหลักฐานใหม่ๆ บางอย่างซึ่งถูกเปิดเผยขึ้นในภายหลัง และด้วยเหตุดังนั้นผมจึงกวาดดูสารคดีสงครามในเน็ตฟลิกซ์แทบจะหมดแล้ว

“อะไร” ที่ผมหรือพลเรือนคนอื่นควรจ้องมองในหนังสงครามที่สร้างขึ้นเป็นสารคดีอย่างดี

สงครามสมัยใหม่ (มักจะนับกันจากสงครามกลางเมืองอเมริกันเป็นต้นมา) ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่างกองทัพของคู่อริ แต่เป็นการระดมสรรพทรัพยากรทุกชนิดในสังคมออกมาใช้ในสงครามจนหมด ทั้งกำลังทางการทูต, การเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, วัฒนธรรม ระดมอะไรได้ก็ใช้หมด ศัพท์ที่เขาใช้เรียกสงครามประเภทนี้คือ total war ภาษาไทยเมื่อผมเป็นเด็กแปลว่า “สงครามเบ็ดเสร็จ” มันกว้างใหญ่ไพศาลเสียจน “สงครามลูกผสม” หรือ hybrid war เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ออกจะเชยๆ ด้วยซ้ำ หากพูดเหมือนเป็นของใหม่

ดังนั้น การดูหนังสงครามคือได้ดูสรรพกำลังต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมหนึ่งในสมัยหนึ่ง ว่าถูกนำมาใช้อย่างไร และบางอย่างมีข้อจำกัดที่ไม่อาจใช้ได้อย่างเต็มที่เพราะอะไร จะต้องจัดการอย่างไรจึงจะทำให้กำลังอันหลากหลายนั้นถูกใช้อย่างมีพลังและมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งหมดนี้สำคัญเสียยิ่งกว่ากำลังทางทหารเสียอีก ต้องอาศัยกลไกทางการเมืองและวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อนกว่า “แม่ทัพ” จึงจะสามารถเผชิญกับสงครามในความหมายนี้ได้

นโยบายสงครามจึงเป็นนโยบายที่ตัดสินใจและดำเนินงานกันโดยพลเรือนหลากหลายจำพวกนอกกองทัพ เพราะกองทัพเป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งของการทำสงครามเท่านั้น

การโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ล ฮาร์เบอร์เป็นตัวอย่างอันดี นายพลเรือยามาโมโตซึ่งเป็นผู้วางแผนหลักและเป็นผู้นำกองเรือญี่ปุ่นเข้าโจมตีนั้น คือนายทหารชาญฉลาดที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายทำสงครามกับสหรัฐเลย ในฐานะนักเรียนอเมริกันที่รู้จักสังคมอเมริกันอย่างดี (นักเรียนฮาร์วาร์ดครับ ไม่ใช่โรงเรียนนายเรือสหรัฐที่แอนนาโพลิส แมรี่แลนด์, และในฐานะทูตทหาร) เขาตระหนักว่าฐานะทางทหารที่เหนือกว่าของกองทัพญี่ปุ่นใน ค.ศ.1941 ไม่เพียงพอจะเอาชนะสงครามกับสหรัฐได้ เพราะสหรัฐมีกำลังอื่นๆ ซึ่งอาจระดมได้มากกว่าญี่ปุ่นเหลือคณา จนทำให้ในที่สุดกองทัพญี่ปุ่นก็ต้องตกเป็นรองทางทหาร ไม่ช้าก็เร็ว แต่เมื่อรัฐบาลตัดสินใจทำสงครามกับสหรัฐ เขาก็วางแผนและช่วยให้การโจมตีประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

หากมองด้วยใจเป็นธรรม การวางแผนและดำเนินงานของยามาโมโต ต้องนับเป็นความสำเร็จอย่างสูงในประวัติศาสตร์การทหาร เพราะสามารถรวบรวมและเคลื่อนย้ายกองเรือขนาดใหญ่ข้ามมหาสมุทรหลายพันไมล์เข้าสู่เป้าหมาย โดยฝ่ายสหรัฐแทบไม่ระแคะระคาย ฉะนั้น กองเรือญี่ปุ่นจึงรักษาข้อได้เปรียบคือ surprised attack หรือโจมตีโดยอีกฝ่ายไม่ทันระวังตัวไว้ได้ ทำให้เกิดความสูญเสียแก่กองทัพญี่ปุ่นน้อยมาก ขณะที่กำลังทางเรือของสหรัฐในแปซิฟิคง่อยเปลี้ยเสียขาไปช่วงหนึ่ง เป็นผลให้ไม่มีกองกำลังของศัตรูใดๆ จะสามารถตอบโต้การรุกลงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

ในเวลาอีกไม่ถึง 1 เดือน จักรวรรดิญี่ปุ่นก็ได้ครอบครองอู่ข้าวอู่น้ำ, อู่น้ำมันดิบ, อู่กำลังคน, อู่เหมืองแร่หลายชนิดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไว้เป็นยุทธปัจจัยหมด

แม้กระนั้นก็เป็นชัยชนะของคนสายตาสั้น อย่างที่ยามาโมโตได้ท้วงไว้แต่แรก เพราะสงครามมันมีอะไรมากกว่ากำลังทหาร

มีคำกล่าวอันหนึ่งซึ่งใช้กันมากในหมู่ผู้ประท้วงสงครามเวียดนาม นั่นก็คือ “ผู้บาดเจ็บรายแรกของสงครามคือความจริง” มักเชื่อกันว่า สงครามคือข้อยกเว้นใหญ่สุดทาง “ศีลธรรม” (ทั้งศีลธรรมทางศาสนาและศีลธรรมของประชาธิปไตย) ดังนั้น สงครามจึงมักนำความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมมาให้แก่สังคมอย่างหนัก ยิ่งเป็นสังคมที่ไม่เข้มแข็งในหลักการทางศาสนาและประชาธิปไตย ก็แทบล้มละลายลงทีเดียว

และคนที่ถูกรัฐหลอกมากที่สุดในสงครามคือพลเมือง เพราะฝ่ายข้าศึกย่อม “กรอง” ข่าวอย่างละเอียดจนหลอกได้ยาก ที่จริงแล้วในสงคราม “เบ็ดเสร็จ” แยกพลเมืองฝ่ายตนเองออกจากข้าศึกได้ยากมาก เพราะเป็นพลเมืองนั่นแหละที่ทำให้น่าระแวงสงสัยว่าเป็นแนวที่ห้าหรือสายลับ จึงต้องกันไว้ภายนอก

อย่าลืมว่าป้าย “เขตทหารห้ามเข้า” เขียนเป็นภาษาไทยนะครับ

ตอนหนึ่งในหนังสารคดีเรื่องสงครามเวียดนาม เล่าถึงกองพันน้อยของสหรัฐกองหนึ่ง ถูกฝ่ายเวียดกงและเวียดนามเหนือหลอกเข้าบดขยี้แทบจะเรียบ ทหารสองร้อยกว่านายเสียชีวิต แต่กองบัญชาการใหญ่รายงานว่าฝ่ายข้าศึกถูกกวาดล้างไปในการปะทะครั้งนั้นเกือบหมด นายทหารคนหนึ่งที่เหลือรอดจากการรบครั้งนั้น รายงานความจริงด้วยวาจาแก่นายพลเวสต์มอร์แลนด์ ผบ.ใหญ่ของกองทัพสหรัฐ เวสต์มอร์แลนด์ฟังด้วยสีหน้าเรียบเฉย แล้วบอกว่ามันสายไปแล้ว (เพราะกองบัญชาการได้ประกาศไปแล้วว่าเราชนะเด็ดขาด)

ความจริงเป็นเพียงสายลมที่ทำให้ใบไม้ไหวเท่านั้น วอชิงตันก็ต้องการให้เป็นเพียงใบไม้ไหวด้วย เพื่อรักษาแรงสนับสนุนการทำสงครามจากประชาชนและสภาต่อไป

กองทัพสหรัฐต้องการเสนอผลของชัยชนะของตนในเชิงปริมาณเพื่อให้น่าเชื่อถือ นักการเมืองในวอชิงตันก็ชอบ จึงวัดผลสำเร็จด้วยการนับศพเวียดกง แต่ทหารในสมรภูมิทุกคนรู้ดีว่า ศพที่ถูกนับนั้น (บางครั้งขนมานับที่ค่ายไม่ไหวก็ใช้วิธีตัดหูแทน) ไม่มีใครรู้ว่าเป็นเวียดกงหรือชาวบ้าน เวียดกงในบันทึกของอเมริกันจึงตายลงเป็นแสน แต่ก็ยังมีเวียดกงให้ต้องรบต่อไปไม่สิ้นสุด

เอกสารลับที่ถูกลักลอบนำออกมาเผยแพร่ในนามของ Pentagon Papers ชี้ให้เห็นว่า ประธานาธิบดีทุกคนจากทุกพรรค คือนับตั้งแต่ไอเซนฮาวเวอร์เป็นอย่างน้อย (หรืออาจรวมทรูแมนด้วย) จนถึงลินดอน จอห์นสัน ต่างก็รู้ดีจากการวิเคราะห์ของทางการเองว่า ไม่มีทางเอาชนะในสงครามเวียดนามได้ แต่ก็ไม่มีใครหาทางเลือกอื่นในปัญหาเวียดนาม ต่างก็ขยับสถานะความขัดแย้งให้สูงขึ้นตามลำดับ จนในที่สุด อเมริกันต้องคงทหารที่ทำการสู้รบในเวียดนามถึงกว่าครึ่งล้านคน เกณฑ์ผู้คนทั้งชายและหญิงไปตายในเวียดนามกว่า 5 หมื่น (ไม่นับการเข่นฆ่าประชาชนเวียดนามใต้, เวียดนามเหนือ, กัมพูชา และลาวเข้าไปอีกร่วม 3 ล้านคน) ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางเอาชนะด้วยสงครามได้

ความเท็จหรือความจริงที่บาดเจ็บอย่างหนักนี้ก่อให้เกิดอะไรในสังคมอเมริกัน คำตอบก็คือพื้นที่สำหรับการเจรจาถกเถียงพินิจพิเคราะห์กันอย่างจริงจังในสังคม เพื่อร่วมกันยุติการสู้รบ และหันไปหาทางเลือกที่อาจเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายทางการเมืองของอเมริกันเองมากกว่า ไม่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาเกือบ 30 ปี ความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้น เป็นราคาที่สูญเปล่าโดยแท้

การข่าวทางทหารอาจจำเป็นสำหรับกองทัพในการทำสงคราม แต่ดังที่กล่าวแล้วว่าสงครามสมัยใหม่ไม่ได้ทำกันด้วยกองทัพเพียงอย่างเดียว ฉะนั้น การข่าวที่ตั้งอยู่บนการปิดบังความจริงและการกล่าวเท็จ จึงทำลายสติปัญญาของสังคม ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการเอาชนะในสงครามเสียยิ่งกว่ากองทัพ

ฉะนั้น เมื่อไรที่คิดว่าบ้านเมืองจะต้องต่อสู้กับอะไรให้ชาติอยู่รอด เมื่อนั้นต้องระวังอย่าให้กองทัพยึดอำนาจเป็นอันขาด เพราะนั่นคือหนทางไปสู่หายนะโดยแท้ เพราะกองทัพอย่างเดียว ต่อสู้กับอริราชศัตรูภายนอกไม่ได้ หากไม่สามารถระดมสรรพกำลังทั้งหมดของสังคมออกมาสู้รบด้วย เมื่อกองทัพยึดอำนาจ ก็เท่ากับได้แต่อำนาจทางการเมืองที่เป็นทางการเท่านั้น จะเหลือกำลังอะไรไปรบกับใครได้

ใครๆ ก็รู้ว่าสงครามเวียดนามเป็น proxy war เพราะปราศจากความช่วยเหลือจากจีนและโซเวียต เวียดนามเหนือจะไม่มีทางหยัดยืนในสงครามได้นานเช่นนั้น แต่ความรู้ว่าอะไรเป็นสงครามตัวแทนไม่มีประโยชน์อะไรนัก เพราะทั้งจีนและโซเวียตก็ไม่ได้ “ลักลอบ” ให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนาม อเมริกันเองต่างหาก ไม่พร้อมจะขยับความขัดแย้งถึงระดับทำสงครามกับสองมหาอำนาจโดยตรง

Proxy war จึงเป็นเพียง descriptive term ไม่มีความหมายให้เอาไปวิเคราะห์อะไรได้ ซ้ำยังอาจทำให้หลงผิดเหมือนชื่อนายสมชายที่อยากมีเพศสภาพเป็นหญิง หรือ น.ส.สมหญิง ที่อยากมีเพศสภาพเป็นชายด้วย

ความหลงผิดที่น่าเศร้าที่สุดของการมองความขัดแย้งในรูปของตัวแทนก็คือ ตัวแทนหรือ proxy หายไปในการวิเคราะห์ เช่น เวียดนามหายไปในการวิเคราะห์สงครามเวียดนามของอเมริกัน ทหารอเมริกันจึงฆ่าคนเวียดนามใต้ได้เป็นล้าน เพื่อ “ช่วย” ปกป้องพวกเขาจากคอมมิวนิสต์ ฆ่าคนเวียดนามเหนือได้อีกเป็นล้านเพื่อไม่ให้เขาลงมาทำให้คนเวียดนามใต้เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่มีใครสนใจจะทำความเข้าใจอย่างแท้จริงว่า แล้วคนเวียดนามคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เลือกอย่างไร และทำไม

ทำไมจึงมีคนเวียดนามใต้จำนวนมาก เข้ารับการฝึกและปฏิบัติการในฐานะเวียดกง ซึ่งต้องใช้ชีวิตที่ไม่สบายและเสี่ยงอันตรายตลอดเวลา ทำไมจึงมีหนุ่มสาวเวียดนามเหนืออีกเป็นล้านที่อาสาสมัครเดินทางลงมาสู้รบในภาคใต้ ทำไมพวกเขาจึงอดทนต่อการทิ้งระเบิดอย่างหนัก (ตามสำนวนว่าทิ้งระเบิดเวียดนามให้กลับไปสู่ยุคหิน) โดยไม่ยอมจำนน

ทำไม ทำไม ทำไม อีกมากมายหลายเรื่อง โดยสรุปก็คือเวียดนามและชาตินิยมเวียดนามไม่เป็นปัจจัยในการวิเคราะห์สงครามของฝ่ายอเมริกันเอาเสียเลย นอกจากในฐานะ “ยุทธภูมิ” อันที่จริงใน proxy war ทุกชนิด ตัว proxy ปฏิบัติการได้ด้วยเหตุปัจจัยที่เป็นของเขาเอง ไม่ใช่ปฏิบัติการได้เพราะความช่วยเหลือจากภายนอก มีเหตุปัจจัยภายในต่างหากที่ทำให้ต้องแสวงหาความช่วยเหลือจากภายนอก

เพราะวิธีคิดแบบ proxy เช่นนี้แหละครับ ที่ทหารไทยสามารถยิงพลเรือนปราศจากอาวุธได้เกือบ 100 ศพในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพราะคิดว่าคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวเพื่อเงิน สู้เอาหน้าอกตนเองรับกระสุนแทนทักษิณ เสื้อแดงไม่เป็นคนเต็มคน เพราะเป็นเพียงอวัยวะบางชิ้นบางอันของทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น เป็นมุมมอง proxy อย่างเดียวกับรัฐบาลทหารและกองทัพใช้ในการปราบคอมมิวนิสต์ในเมืองไทยมาแล้ว

“สงครามตัวแทน” คือวิธีคิดที่ทำให้ไม่สนใจจะรู้จักกับศัตรูของตน รบร้อยครั้งก็แพ้ร้อยครั้ง

ในหนังสารคดีเรื่อง The War นำเอาชีวิตของชาวอเมริกันในสี่เมืองของสี่รัฐมาให้ดูว่า ประชาชนต้องเผชิญกับอะไรบ้างเมื่อลูกผัวต้องไปรบในสมรภูมิต่างแดน

หนังเปิดฉากมาในวันที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ การประกาศสงคราม และการเตรียมการเข้าสู่สงคราม หนึ่งในการเตรียมการนั้นทำให้ผมแปลกใจมาก คือรัฐบาลสหรัฐประกาศขายพันธบัตรเป็นเงินหลายล้านเหรียญแก่ประชาชน เพื่อนำไปใช้ในการสงคราม

สหรัฐใน 1941 เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในโลกอยู่แล้ว ในระหว่างสงครามโลกสองครั้ง สหรัฐเปลี่ยนตัวเองจากลูกหนี้ยุโรป กลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ แม้กระนั้นเมื่อต้องเข้าสงครามที่รู้อยู่แล้วว่าต้องกินเวลาเป็นปี อเมริกาก็ไม่มีเงินจะทำสงครามที่ยาวนานขนาดนั้นได้

นี่ก็แปลว่า ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กเช่นไทยและเกือบทุกประเทศของภูมิภาคนี้ ไม่อาจทำสงครามที่กินเวลายาวนานได้ ยกเว้นแต่สงคราม “ประชาชน” (คือไม่แยกระหว่างการรบและการดำเนินชีวิตปรกติของประชาชน ทำนาไปด้วย วางระเบิดไปด้วย)

นับตั้งแต่มีสงครามสมัยใหม่ ไทยเคยประกาศสงครามครั้งเดียวคือกับฝรั่งเศส ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่อาจส่งกำลังมาเสริมกองทัพอินโดจีนของตนได้ แม้กระนั้น การแทรกแซงของโตเกียวเพื่อยุติสงครามก็ช่วยให้ไทยหลุดจากภาระของการทำสงครามลงได้

แม้ว่าเวียดนามสามารถยึดครองกัมพูชาได้ทั้งประเทศในเวลาเพียงประมาณสองสัปดาห์ใน ค.ศ.1978 แต่การ “กบฏ” ภายในและการกดดันของนานาชาติทำให้เวียดนามสูญเสียอย่างมาก จาก 1978 ถึง 1989 โดยประมาณ โซเวียตต้องให้ความช่วยเหลือเวียดนามด้วยมูลค่าถึงปีละ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเวียดนามเองเสียกำลังคนไป 5 หมื่นคน เท่าๆ กับทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในสงครามเวียดนาม

เศรษฐกิจระดับนี้ไม่อาจทำสงครามเบ็ดเสร็จได้นานเกิน 1 เดือนหรอกครับ ดังนั้น หากเราประสบความสำเร็จในการปฏิรูปกองทัพในอนาคต เราจำเป็นต้องกำหนดภารกิจของกองทัพไทยให้ชัด และ realistic คือตรงตามศักยภาพที่เป็นจริงของพลังด้านอื่นๆ ของประเทศไทยด้วย

สงครามเบ็ดเสร็จเป็นความขัดแย้งขั้นสูงสุด จนทำให้สังคมที่เข้าสู่สงครามประเภทนั้น ต้องเปลือยสิ่งปกปิดร่างกายออกไปเกือบหมด จึงเป็นโอกาสให้เราได้เห็นความเป็นมนุษย์ที่วัฒนธรรมสร้างขึ้นในสังคมหนึ่งๆ เท่าๆ กับได้เห็นโครงกระดูกที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายของสังคมหนึ่งๆ ไปพร้อมกัน

หนังสารคดีที่ทำขึ้นอย่างดีเกี่ยวกับสงครามซึ่งได้จบไปนานแล้วจึงน่าดูเพราะเหตุนี้

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_262836

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท