อิสระ ชูศรี: ศัพท์ร่วมสมัยของอนุรักษ์นิยมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีโพสต์สั้นๆ บนเฟสบุ๊คของอาจารย์สาขาวิชาเคมีท่านหนึ่งของมหาวิทยาลัยนเรศวร เกี่ยวกับการเสนอประมวลรายวิชาเพื่อขอเปิดสอนวิชานั้นเป็นวิชาศึกษาทั่วไปสำหรับนักศึกษาชั้นปริญญาตรีชื่อ รายวิชารักชาติยิ่งชีพ (My Beloved Country) และได้เผยแพร่เอกสารระบุรายละเอียดเกี่ยวกับรายวิชานั้นอย่างเปิดเผยให้สาธารณชนได้ศึกษาด้วย

โพสต์นี้ได้รับความสนใจเพียงเล็กน้อยทั้งๆ ที่มีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงจุดยืนของรายวิชาอย่างชัดเจนว่าจะเน้นผู้บรรยาย “สายอนุรักษ์นิยม” และมีประเด็นการบรรยายที่เน้นอุดมการณ์รักชาติในแนวทางอนุรักษ์นิยมอย่างชัดเจน

เนื้อหาของรายวิชานี้จะมีความเป็นวิชาการหรือไร้สาระในสายตาของผู้เชี่ยวชาญทางสังคมศาสตร์นั้นสุดวิสัยที่ผมจะประเมินได้ เพราะผมเองก็ไม่เชี่ยวชาญเหมือนกัน แต่หวังว่าจะมีนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ท่านใดท่านหนึ่งสละเวลามาประเมินเนื้อหาของรายวิชานี้ ถ้าหากมันถูกอนุมัติให้ใช้ในการเรียนการสอนได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมได้อ่านคำอธิบายรายวิชานี้ในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ผมพบว่ามันเป็นการนำเอาคำศัพท์ร่วมสมัยที่นิยมใช้กันในหมู่คนไทยผู้มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม คำศัพท์แต่ละคำไม่ได้ใหม่มากชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่เมื่อเห็นมันปรากฏพร้อมๆ กันเป็นกลุ่ม ผมกลับรู้สึกว่าลักษณะการปรากฏร่วมกันของมันมีความน่าสนใจในระดับหนึ่งเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่น ‘ชาติและความรักชาติ’ (nation and patriotism) ซึ่งผมรู้สึกคุ้นน้อยกว่า ‘ชาติและชาตินิยม’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาอังกฤษ เราแทบจะไม่พบว่า nation และ patriotism ปรากฏร่วมกันเลย แต่มักจะพบ nations and nationalism มากกว่า (ตรวจสอบการปรากฏร่วมของคำในภาษาอังกฤษได้จากคลังข้อมูลภาษาออนไลน์)

ผมก็เลยลองเอาคำอธิบายรายวิชาภาษาไทยและภาษาอังกฤษของรายวิชา ‘รักชาติยิ่งชีพ’ ที่มีความหมายขนานกันมาประกบคู่กันแบบวลีต่อวลี (Parallel Text Alignment) ซึ่งในชั้นแรกก็จะทำให้เราเห็นการขนานกันของความหมายที่ไม่พอดีกัน ซึ่งก็เป็นปกติของการแปลข้ามภาษา แต่เราก็อาจจะพบว่าแม้มีคำที่พอดีกันมากกว่าแต่ก็อาจไม่ถูกนำมาใช้ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอีกเหมือนกันในการแปล แม้จะพบน้อยกว่ามากในการเขียนคำอธิบายรายวิชาเป็นภาษาไทย-อังกฤษที่มีขนบบังคับให้เลือกใช้คำและโครงสร้างไวยากรณ์ที่ตรงกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เช่น ชาติ – nation / ประเทศ – country / รัฐ – state / รัฐบาล – government เป็นต้น

การใช้คำภาษาไทย-อังกฤษไม่ตรงกันยังไม่ใช่ประเด็นที่ผมสนใจมากนัก แม้มันจะสะท้อนว่าผู้ร่างประมวลรายวิชานี้คงไม่เชี่ยวชาญในสาขาวิชาสังคมศาสตร์เท่าที่ควร

รักชาติยิ่งชีพ

My Beloved Country

ชาติและความรักชาติ

Nation and patriotism

บทบาทและความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์

roles and significance of monarchy

ศาสนาประจำชาติและความเสี่ยงจากผู้บ่อนทำลาย

national religion and the risks

เผด็จการประชาธิปไตยและทางรอดของชาติ

authoritarian democracy and survival of the nation

ความสำคัญของการเกณฑ์ทหารและแสงยานุภาพกองทัพ

significance of military conscription and the power of armed force

ความสำคัญของการรัฐประหารต่อการปราบปรามคอรัปชั่นและปกป้องสถาบัน

coup d’état anti corruption and protection of the monarch

ภัยคุกคามจากแนวคิดเชิงสังคมนิยมซ้ายจัด

threat from the leftist and socialist

สื่อสังคมออนไลน์และอันตรายจากข่าวลวง

fake news and the danger of social media

ระบอบการศึกษาและความจำเป็นของระบอบอำนาจนิยม

education and necessity of authoritarianism

การแบ่งแยกดินแดนและบ่อนทำลายโดยคนชายขอบ

threat from separatists and minority

ลัทธิชังชาติและกลยุทธ์การรับมือ

anti-patriotism and how to fight it

วุฒิสมาชิกแต่งตั้งเหมาะกับประเทศไทยอย่างไร

why Thailand needs military-appointed senate

องค์กรอิสระและตุลาการวิวัฒน์ผู้ปิดทองหลังพระ

constitutional court election commission

ทุนนิยมสามานย์

evil capitalism

คนรุ่นใหม่กับการพิทักษ์ความเป็นไทย

next generation patriotism

สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าก็คือคำศัพท์ทางการเมืองของอนุรักษ์นิยมไทยนั้นมีลักษณะจำเพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาในบริบทของภาษาวิชาการที่ยึดโยงกับภาษาอังกฤษ กล่าวคือเป็นการใช้ศัพท์ทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในโลกวิชาการภาษาอังกฤษในความหมายที่แตกต่างออกไป วิธีตรวจสอบง่ายๆ ก็คือเราแทบจะไม่พบว่าคำศัพท์ต้นฉบับนั้นแทบจะไม่มีการนำมาใช้ร่วมกันในบริบทของภาษาอังกฤษดั้งเดิม แต่เป็นแบบที่คนไทยประกอบศัพท์กันขึ้นมาเอง

ตัวอย่างชัดๆ ก็เช่น ‘เผด็จการประชาธิปไตย’ (authoritarian democracy) หรือ ‘ทุนนิยมสามานย์’ (evil capitalism) ซึ่งกรณีแรกเป็นการเอาคำที่มีความหมายตรงข้ามกันมาประกอบเข้าด้วยกันทำให้เกิดความหมายที่เป็นไปไม่ได้ (คล้ายๆ กับการเอาคำว่าสี่เหลี่ยมมาขยายคำว่าวงกลมเป็น square circle ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถมีได้) และกรณีที่สองเป็นการใช้คำขยายที่แปลกประหลาด เพราะในภาษาอังกฤษเรามักจะเจอการขยาย คำแบบ ‘ทุนนิยมเสรี’ (laissez-faire capitalism) หรือ ‘ทุนนิยมโดยรัฐ’ (state capitalism) แต่ไม่ค่อยพบว่ามีทุนนิยมชนิดที่สามานย์หรือไม่สามานย์แบบที่ใช้กันในภาษาไทย ที่ใกล้เคียงแต่ความหมายแตกต่างออกไปก็คือวลี the evils of capitalism ซึ่งหมายถึงความชั่วร้ายของระบบทุนนิยมโดยทั่วไป ไม่ได้แปลว่ามีทุนนิยมชนิดสามานย์และชนิดไม่สามานย์

ตัวอย่างที่ชัดเจนน้อยกว่าแต่ก็น่าสนใจไม่น้อยเลย คือมุมมองของอนุรักษ์นิยมที่มีต่อสถาบันทางสังคมต่างๆ ซึ่งจะเห็นได้ได้ว่าขัดแย้งกับกับอุดมการณ์เสรีนิยมแบบตรงไปตรงมาก เช่น แนวคิดศาสนาประจำชาติ (national religion) เพราะนักเสรีนิยมย่อมเห็นว่าศาสนาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลรัฐไม่ต้องยุ่ง ระบอบการศึกษาและระบอบอำนาจนิยม (education and authoritarianism) เพราะนักเสรีนิยมย่อมมองว่าการศึกษาคือการปลดมนุษย์ออกจาพันธนาการของอำนาจ

ยังไม่ต้องกล่าวถึงการใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษแบบตามใจตัวเองเพื่อแปลคำศัพท์ใหม่ในภาษาไทยที่นักอนุรักษ์นิยมสร้างขึ้น เช่น anti-patriotism (นักอนุรักษ์นิยมไทยแปลเสียใหม่ว่า ‘ลัทธิชังชาติ’) ซึ่งในความหมายดั้งเดิมหมายถึงแนวคิดของการเป็นพลเมืองโลก หรือการมองว่าโลกเป็นชุมชนหนึ่งเดียวที่มีมนุษย์เป็นสมาชิกของชุมชน ผู้มีสมาทานแนวคิดนี้มองว่าการรักประเทศชาติแบบไม่มีเงื่อนไขนั้นเป็นสิ่งที่ผิด ยกตัวอย่างเช่น การร่วมทำสงครามในนามของประเทศชาติแม้ว่าเหตุผลของการทำสงครามจะปราศจากความถูกต้องเป็นสิ่งที่ปัจเจกบุคคลผู้มีสำนึกทางคุณธรรมไม่สมควรที่จะกระทำ

ดังนั้น เราจึงพบว่าในอดีตและปัจจุบันมีผู้ประท้วงคัดค้านสงครามหรือปฏิเสธที่จะถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารเพื่อทำการรบ แม้ว่าตนเองจะต้องถูกลงโทษจำคุกเนื่องจากการปฏิเสธการเกณฑ์ทหารที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ตาม เช่น นักมวยแชมป์โลกชาวอเมริกัน มูฮัมหมัด อาลี (=แคสเซียส เคลย์) ปฏิเสธการเกณฑ์ทหารเพื่อไปรบในสงครามเวียดนามเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (conscientious objector) การปฏิเสธการกระทำตามการบังคับของรัฐในนามของความรักชาติในกรณีนี้จึงไม่ได้เกิดจากความเกลียดชังประเทศต้นกำเนิด แต่มาจากสำนึกทางศีลธรรมที่แตกต่างออกไป

คำศัพท์พิลึกกึกกือของอนุรักษ์นิยมไทยที่พบในคำอธิบายรายวิชาข้างต้นยังมีอีกหลายคำเช่น การรัฐประหารเพื่อปราบปรามคอรัปชั่นและปกป้องสถาบัน การแบ่งแยกดินแดนและบ่อนทำลายโดยคนชายขอบ เป็นต้น ซึ่งที่เหลือผมคิดว่าคงอยู่ในวิสัยที่วิญญูชนจะพิจารณาจากข้อมูลได้เอง

โดยสรุปก็คือ อนุรักษ์นิยมไทยพยายามนำเสนอว่าระบอบการเมืองการปกครองของไทยจะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่ต้องตามก้นประเทศต้นกำเนิดของแนวคิดทางการเมืองการปกครองที่คนไทยจะเลือกหยิบเอามาใช้ จะใช้ยังไงก็ได้ขอให้เราคงความเป็นไทยเอาไว้

For our beloved country

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท