Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้เกิดขึ้นจากรับชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Shepherds (牧者)[i] ที่ได้เล่าถึงกลุ่มการเคลื่อนทางสังคมในประเด็นความหลากหลายทางเพศ[ii]ในไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้นำศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสเตนท์ คณะเพรสไบทีเรียน (Presbyterianism) ภาพยนตร์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของคน 4 คน ที่อยู่ในคริสตจักร Tong-Kwang Light House Presbyterian ซึ่งที่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดในภาพยนตร์ ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่ม LGBT ชาวไต้หวันที่นับถือศาสนาคริสต์ เพราะเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าทั้งตัวบทและตัวบุคคลในกระแสหลักของศาสนานี้ไม่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ดังที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลภาคพันธสัญญาเดิม เลวีนิติบทที่ 20 ข้อที่ 13 มีเนื้อความว่า “ผู้ใดสมสู่รักร่วมเพศ พวกเขาทำสิ่งที่น่ารังเกียจเดียดฉันท์” ดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นทัศนะของโมเสสต่อความบาปจากการรักร่วมเพศที่ผู้นั้นต้องถึงแก่ความตาย เพราะเป็นบาปที่น่ารังเกียจในสายตาของพระเจ้า[iii]

จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถามต่อว่ายังมีกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวประเด็น LGBT ในกลุ่มผู้นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศอื่น ๆ แถบภูมิภาคเอเชียอีกหรือไม่ โดยค้นหาจากบทความ ข่าว และสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นในช่วงระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา พบว่าในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมในศาสนาคริสต์ที่สนับสนุน LGBT แต่จะขอกล่าวถึงเพียงประเทศไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เท่านั้น เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงการเรียกร้องและการต่อรองของกลุ่ม LGBT ที่ยังคงต้องการยืนหยัดอยู่ภายใต้ความเชื่อในบริบทศาสนาคริสต์ต่อไป ทั้งยังเป็นที่น่าสนใจว่าในบางประเทศชนชั้นนำได้กลายเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขกฎหมายร่วมกับภาคประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวกับ LGBT ในขณะที่บางประเทศยังคงมีการขัดขวางการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว โดยยังยึดกฎหมายที่เป็นมรดกจากอาณานิคม ในบทความนี้ผู้เขียนเริ่มจากเรื่องราวในภาพยนตร์ The Shepherds ในไต้หวันและตามมาด้วยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในฮ่องกง และสิงคโปร์

“เรา (พระเยซู) เป็นคนเลี้ยงที่ดี เรารู้จักแกะของเรา และแกะของเรารู้จักเรา เช่นเดียวกับที่พระบิดาทรงรู้จักเราและเรารู้จักพระบิดา และเราพลีชีวิตของเราเพื่อแกะนั้น เรามีแกะอื่นซึ่งไม่ใช่ของคอกนี้ เราต้องพามาด้วย แกะเหล่านั้นจะฟังเสียงของเราเช่นกันและจะรวมกันเป็นฝูงเดียว มีคนเลี้ยงคนเดียว”[iv]   

ยอห์น 10 : 14-16

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Shepherds หรือหากแปลเป็นไทยหมายถึง “ผู้เลี้ยงแกะที่ดี” เป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำทางจิตวิญญาณ ที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาใหม่ ในพระธรรมยอห์นบทที่ 10 ข้อที่ 14-16 ตามที่ได้ยกมากล่าวในข้างต้นนั้น ผู้เขียนต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจถึงบริบทและมุมมองทั่วไปของการตั้งชื่อภาพยนตร์ ทว่าพระคัมภีร์ไบเบิลนั้นได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้เลี้ยงแกะเอาไว้หลายที่ ผู้เขียนจึงขอเลือกหยิบยกในประเด็นที่เกี่ยวข้องมาเพียงเท่านี้

ในภาษาอังกฤษคำเรียกตำแหน่งทางศาสนาในที่นี้คือผู้เลี้ยงแกะจะเรียกว่า “Pastor” แทนคำว่า “Shepherd” ทั้งสองคำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาฝรั่งเศสและลาติน ซึ่งคำหลังมีลักษณะเปรียบเปรยมากกว่าจะเป็นคำเรียกโดยทั่วไป[v] ในภาษาไทยกลุ่มนิกายโปรแตสเตนท์จะใช้คำเรียกว่า “ศิษยาภิบาล” จากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าเป็นเรื่องราวของนิกายโปรแตสเตนท์ เนื่องจากผู้เลี้ยงแกะที่เป็นตัวละครสำคัญในภาพยนตร์สามารถแต่งงานและมีบุตรได้ ทั้งยังได้กล่าวถึงคณะเพรสไบทีเรียน ซึ่งเป็นคณะหนึ่งในนิกายนี้ด้วย

ในไต้หวันมีกลุ่มคริสเตียนที่สนับสนุน LGBT ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์ โดยเลือกเล่าเรื่องผ่านตัวละคร 4 คน พวกเขามีวัตถุประสงค์เดียวกันคือการเปิดพื้นที่ให้กับ LGBT ในคริสตจักรหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ความพิเศษของคริสตจักร Tong-Kwang Light House Presbyterian ที่ไม่เหมือนคริสตจักรกระแสหลักทั่วไป คือคริสตจักรแห่งนี้เปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่ม LGBT ที่ยังคงศรัทธาในศาสนาคริสต์ โดยมีกลุ่มผู้เลี้ยงแกะทำหน้าที่ยืนหยัดต่อรองกับอำนาจของตัวอักษรที่มีมาหลายพันปี เพื่อให้กลุ่ม LGBT ได้มีที่ยืนในชุมชนทางศาสนานี้ได้อย่างมั่นคง แม้ว่าพวกเขามีสิทธิที่จะเดินหันหลังให้กับความเชื่อที่ดูเหมือนว่าไม่ต้อนรับพวกเขาเท่าไรนัก แต่พระเจ้าก็ได้ให้อำนาจแก่มนุษย์ในการชี้ขาดตัดสิน ตีความตัวบทของศาสนา ด้วยเหตุนี้ผู้เลี้ยงแกะที่ดีในภาพยนตร์เรื่องนี้จึงมีราคาที่ต้องจ่าย ดังเรื่องราวพอสังเขปต่อไปนี้

x

https://www.youtube.com/watch?v=7kPXm4dD0QA

Ya-Hui Yang (1963-2008) เธอเป็นศิษยาภิบาลหญิงแห่งคริสตจักร Tong-Kwang Light House Presbyterian เป็นตัวละครแรกที่ถูกนำมาเปิดเรื่องและยังคงปรากฏบ่อยครั้งระหว่างการเปลี่ยนฉากของตัวละครต่าง ๆ เธอมักปรากฏผ่านเสียงและตัวแสดงแทนของเธอในลักษณะที่ไม่พูดแต่มีการพากย์เสียงทับ (voice-overs) ที่มาจากข้อความในหนังสือหนังสืออัตชีวประวัติของเธอชื่อ“ศิษยาภิบาลหญิงผู้แบกกางเขน” (The Female Pastor who Carries the Cross) ผู้กำกับเลือกถ้อยความที่สื่อถึงความความทุกข์ใจของเธอ จากการที่ถูกกดดันโดยศาสนจักรในไต้หวัน เนื่องจากการเปิดรับกลุ่ม LGBT เข้ามาในคริสตจักรอย่างเปิดเผย และนำมาสู่การคว่ำบาตรจนต้องลาออกจากตำแหน่งศิษยาภิบาล ช่วงเวลานั้นเธออาจจะมาก่อนกาล เพราะไม่มีใครสนใจหรือให้ความช่วยเหลือเธอเลย จนนำไปสู่การเลือกจบชีวิตตนเองในรถพร้อมกับถังถ่านที่นำรมควันจนเสียชีวิต ในตอนท้ายผู้กำกับได้เปิดเผยว่าภาพยนตร์นี้ผลิตขึ้นเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญของเธอ ที่ได้แรงบัลดาลใจมาจากหนังสืออัตชีวประวัติ

Hwang-Kao Yao เป็นตัวละครที่สองที่ปรากฏในภาพยนตร์ เขาเป็นศิษยาภิบาลชาวฮ่องกงที่เข้ามารับช่วงต่อในการดูแลคริสตจักร Tong-Kwang Light House Presbyterian หลังจากถูกขับไล่จากคริสตจักรในฮ่องกงเนื่องจากเขาสนับสนุนกลุ่ม LGBT เขาต้องการให้คริสตจักรยืนอยู่เคียงข้างชุมชน LGBT เพื่อต้านมายาคติทางความเชื่อบางอย่างที่ทำให้คนเหล่านี้ถูกกีดกั้นออกจากคริสตจักร เนื่องจากเขามองเรื่องเพศวิถีหรือความพึงพอใจในเรื่องเพศ (sexual orientation) ว่าเป็นสิทธิพื้นฐานส่วนบุคคล และในหลายครั้ง LGBT ก็ถูกกีดกั้นตัดสินไม่ให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางศาสนา ทั้งที่แกนแก่นของศาสนานี้ที่มุ่งเน้นไปสู่ความเมตตาต่อคนบาปและให้ความรักอย่างไม่เงื่อนไข Yao มองว่าเป็นหน้าที่ของศิษยาภิบาลที่จะต้องดูแลคนบาปให้มีที่ทางเพื่อไปสู่สวรรค์ได้ แต่ Yao ต้องแลกกับการที่ลูกชายซึ่งเคยเชื่อฟังกลับต่อต้าน เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่พ่อและแม่ของเขาทำอยู่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอภาพของความเสียสละ และราคาที่เขาต้องจ่ายในฐานะศิษยาภิบาลคริสตจักรที่สนับสนุน LGBT

Shu-Ming Tseng ตัวละครคนที่สามผู้เป็นศิษยาภิบาลคนแรกในไต้หวันที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ ในภาพยนตร์ได้นำเสนอชีวิตอันน่าหดหู่ของเขาในห้องเช่าเก่า ๆ จากการที่เขาเปิดตัวว่าตนเองเป็นเกย์ส่งผลต่อที่ทางในการประกอบวิชาชีพทางศาสนาดูจะแคบลง แม้ว่าพอที่จะมีคู่รัก LGBT มาขอให้เขาไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาให้ แต่นั้นก็ไม่ได้ทำให้เขามีรายได้เลี้ยงตัวเองได้อย่างเพียงพอ เขาต้องประหยัดทุกวิถีทางเพื่อให้เงินเก็บที่มีอยู่พอใช้ ทั้งยังจำเป็นต้องออกหางานรับจ้างที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานดูแลจิตวิญญาณทางศาสนา ภาพยนตร์ได้ฉายให้เห็นถึงราคาที่เขาต้องจ่ายจากการเป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่ประกาศว่าตนเองเป็นเกย์ แม้ว่าชีวิตเขาดูเหมือนว่าจะไม่มีทางออกแต่เขาก็ยังศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างมั่นคง

Xiao-En Chen เป็นตัวละครสุดท้ายในเรื่อง เธอเป็นผู้ศรัทธาในศาสนาคริสต์ถึงขั้นมุ่งมั่นอุทิศตนเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ชื่อดังในไต้หวัน เพื่อเตรียมตนให้เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี แต่ความปรารถนาของเธอจบสิ้น เมื่อเธอถูกปฏิเสธการรับเข้าศึกษา เนื่องจากจดหมายรับรองเธอเขียนขึ้นโดยศิษยาภิบาลแห่งคริสตจักร Tong-Kwang ซึ่งถูกคว่ำบาตรโดยศาสนจักรกระแสหลักทั่วทั้งไต้หวัน แต่เธอยังคงทำงานให้กับคริสตจักรแห่งนี้ต่อไปแม้จะไม่ได้เป็นศิษยาภิบาลอย่างที่เธอตั้งใจก็ตาม เธอเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ Shu-Ming Tseng โดยนำอาหารมาให้เพื่อช่วยประทังชีวิต และยังได้ช่วยดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุนกลุ่ม LGBT ด้วยการให้ความรู้แก่ทั้งคนที่อยู่ในและนอกชุมชนศาสนาคริสต์ให้เข้าใจและเคารพในสิทธิของ LGBT

ภาพยนตร์เรื่องนี้จบลงด้วยภาพการชุมนุมในวันที่ 24 พฤษภาคม 2017 ที่กลุ่มผู้สนับสนุน LGBT ออกมาชุมนุมเพื่อรอฟังผลการวินิจฉัยของศาลสูงสุดเกี่ยวกับกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ตัวละครส่วนหนึ่งในฉากนี้เป็นกลุ่มคนจากคริสตจักร Tong-Kwang Light House ที่ได้ออกมาปราศรัย และเดินแจกจ่ายแผ่นผับเพื่อร่วมรณรงค์ในการชุมนุมครั้งนี้ด้วย เหตุการณ์ในวันนั้นจบลงด้วยการที่ศาลสูงสุดได้พิจารณาให้มีการดำเนินการร่างกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันภายในระยะเวลาไม่เกินสองปี

ต่อมาในวันที่ 24 พฤษภาคม 2019 ในไต้หวันได้มีการประกาศให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ออกกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้สำเร็จ ดังกล่าวนี้ไม่เพียงแต่เป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวตามที่ภาพยนตร์ได้นำเสนอเท่านั้น แต่ยังมาจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนและผู้นำรัฐบาลที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2003 จะเห็นได้ว่าในปีนั้นได้มีการเดินขบวนพาเหรดของกลุ่ม LGBT เป็นครั้งแรก โดยมีผู้เข้าร่วมมากกว่าพันคน ในเวลานั้นผู้คนต่างออกมาแสดงสัญลักษณ์สีรุ่ง เพื่อที่จะร่วมรณรงค์ให้มีกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน[vi] และในปีเดียวกันนั้นสภาบริหาร (Executive Yuan)[vii] ได้เริ่มตั้งข้อเสนอเกี่ยวกับร่างกฎหมายการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

หากย้อนกลับไปสำรวจปัจจัยความสำเร็จของการขับเคลื่อนประเด็น LGBT ในสังคมไต้หวันนอกเหนือจากมุมมองที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ The Shepherds ยังมีมุมมองที่ปรากฏผ่านงานวิจัยเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงต่อทัศนะคติที่มีต่อกลุ่มคนรักร่วมเพศในไต้หวัน ตั้งแต่ปี 1995-2012”[viii] ชี้ให้เห็นว่าตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1980 หลังจากที่ไต้หวันได้ยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้สังคมไต้หวันโหยหาเสรีภาพ และมุ่งไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย อีกทั้งความก้าวหน้าทางการศึกษาของผู้คนในสังคมยังก่อให้เกิดค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องครอบครัว เพศวิถี และบทบาททางเพศ ที่ต้องการให้มีเสรีภาพมากยิ่งขึ้น สาธารณะชนในวงกว้างเริ่มตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของ LGBT โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวัยรุ่นยุคใหม่ และคนที่ได้รับการศึกษาเป็นกลุ่มคนหลักที่นำเอาค่านิยมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนเข้ามา ดังนั้นต้นเหตุที่สังคมไต้หวันกล้าออกมาถกเถียงจนนำมาสู่การเกิดกฎหมายรองรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ไม่ได้เกิดขึ้นมาในระยะเวลาอันสั้น หรือจากคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นความเข้าใจร่วมกันทั้งองคาพยพ ทว่างานวิจัยดังกล่าวกลับพบว่ากลุ่มที่มีปัญหาและขัดขวางแนวคิดสิทธิและเสรีภาพเรื่องเพศกลับเป็นกลุ่มคริสเตียน ในจุดนี้อาจจะย้อนแย้งกับภาพกับนำเสนอในภาพยนตร์ที่ทำให้กลุ่มคริสเตียนดูมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนครั้งนี้ งานวิจัยอ้างว่าเหตุที่เสรีภาพของประเด็น LGBT ในศาสนาคริสต์มีอยู่น้อยนิดหรือดูเหมือนจะไม่มีที่ยืนให้เลยนั้น เป็นผลมาจากพระคัมภีร์ไบเบิลที่มีการระบุชัดเจนว่าความหลายทางเพศนั้นเป็นปัญหา และผู้นำทางศาสนามักจะใช้หยิบยกขึ้นมาอ้างถึง ในขณะที่ศาสนาพุทธหรือเต๋ากลับไม่มีปัญหาในประเด็นนี้ เพราะทั้งสองศาสนาไม่ได้มีการขับเน้นจนเป็นกฎข้อห้ามในประเด็น LGBT อย่างชัดเจน หรืออย่างศาสนาที่นับถือพระหลายองค์ (polytheistic) ก็ไม่มีปัญหากับประเด็นความหลากหลายทางเพศ เหมือนดังศาสนาที่มีพระเจ้าองค์เดียวอย่างคริสต์หรืออิสลามมี ดังนั้นในไต้หวันศาสนาพุทธและเต๋าถือเป็นศีลธรรมหลักที่ถูกนำมาขับเคลื่อนในสังคมทั่วไป และมีส่วนทางความคิดที่สนับสนุนกลุ่ม LGBT โดยอ้อม ตรงกันข้ามกับประเทศที่นำคำสอนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมของศาสนาคริสต์มาใช้เป็นศีลธรรมหลักในการปกครองอย่างสิงคโปร์หรือฮ่องกง[ix]

เหตุผลอีกประการที่ทำให้ไต้หวันประสบความสำเร็จนั้น Po-Han Lee ได้อธิบายไว้ในบทความวิจัยของเขาเรื่อง “สิทธิของ LGBT เปรียบเทียบกับคุณค่าแบบเอเชีย : การรื้อสร้างความเป็นสากลนิยมในสิทธิมนุษยชน”

โดยเสนอว่าไต้หวันหลังปี 1987 เป็นช่วงที่ประชาธิปไตยเริ่มแบ่งบาน จนกระทั่ง Chen Shui-Bian ได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีในระหว่างปี 2000-2008 ในนามสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่ง Chen เป็นคนแรกที่ไม่ได้มาจากพรรคก๊กมินตั๋ง และเขาก็ได้ประกาศสนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรมให้เป็นแก่นสำคัญของนโยบาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันและตระหนักถึงการกดขี่กดทับอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับเสียงต่าง ๆ ในสังคมได้ดังขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่องเพศวิถีหรือรสนิยมทางเพศ และเพศสถานะ ที่แต่เดิมไม่เคยได้รับความสนใจ ดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่ม Togzhi Hotline เป็นองค์กรสิทธิ LGBT กลุ่มแรกที่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และนอกจากนี้ในเดือนมีนาคมปี 2010 กระทรวงศึกษาธิการของไต้หวันยังได้เพิ่มประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ LGBT เข้าไว้ในบทเรียนของนักเรียนชั้นประถม โดยเริ่มใช้ตำราที่มีเนื้อหาดังกล่าวตั้งแต่ปี 2011[x] เพื่อหวังว่าจะลดและทลายความคิดการเหยียดหยามกดขี่ในประเด็นต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเพศออกไป และเพื่อให้เด็กโตไปอย่างมีความสุขท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่มีการเคารพและมีจิตใจกว้างขว้างยอมรับความแตกต่างได้

ในบริบทของฮ่องกงนั้น จะเห็นได้ว่ากว่า 30 ปี ที่ปัญหาการกดขี่ความหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นภายใต้ภาพที่แสดงออกไปสู่สายตาโลกภายนอกที่ดูราวกับว่าฮ่องกงคงไม่น่าจะมีปัญหาในเรื่องนี้ ผ่านการเคลื่อนไหวของกลุ่มเกย์จากการออกมาเดินขบวน LGBT เป็นประจำ หากแต่ในสภาพความเป็นจริงนั้นปัญหาสำคัญที่กลุ่มเกย์ในครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์มักจะพบเจอ คือการอธิษฐานขอพระเจ้าเผื่อให้ผู้ที่เป็น LGBT นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ และต้องเผชิญแรงกดดันจากครอบครัวที่อยากให้แต่งงานและมีบุตร ดังกล่าวนี้เป็นนัยที่อาจบ่งบอกได้ว่าสำหรับกลุ่มคริสเตียนอนุรักษ์นิยมการพัฒนากฎหมายการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน จากในกรณีของ Hong Kwai-wah ที่เคยเข้าไปรับคำปรึกษาจากองค์กร New Creation Association (องค์กรคริสเตียนที่จัดตั้งขึ้นในปี 2004 ที่สนับสนุนให้คนกลับไปเพศตามเพศกำเนิด) โดยมีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ว่ารสนิยมทางเพศเป็นสิ่งที่ลื่นไหลและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ในท้ายที่สุดแล้ว Hong กลับปฏิเสธวิธีบำบัดขององค์กรนี้ เนื่องจากมองว่าขัดต่อจริยธรรมและถือว่าเป็นความรุนแรงในมิติสิทธิมนุษยชนต่อกลุ่มรักร่วมเพศ[xi]

แม้ว่าการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งจะเป็นภาพสะท้อนที่สำคัญของกลุ่มคริสเตียนอนุรักษ์นิยมในฮ่องกง ถึงอย่างไรก็ตามก็ยังไม่สามารถปิดกั้นหรือขัดขวางการเคลื่อนไหวของกลุ่มคริสเตียน ที่ต้องการเปิดพื้นที่ให้กับกลุ่ม LGBT ได้ เห็นได้จากในกรณีของคริสตจักร Blessed Minority Christian Fellowship (คริสตจักรนี้ได้ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1992 เพื่อเป็นพื้นที่ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนไบเบิลสำหรับสหาย (tongzhi) ที่มีอุดมการณ์ร่วมกันกันหรือหมายถึงคริสเตียนที่เป็น LGBT) ส่วนสำคัญที่ทำให้คริสตจักรแห่งนี้เกิดขึ้นได้ ก็ด้วยข้อถกเถียงในสังคมฮ่องกงตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 ในช่วงที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ


Joe Pang

ทำให้เกิดความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่กดทับความหลากหลายทางเพศ โดยมีกลุ่มคริสเตียนหัวก้าวหน้าบางกลุ่มออกมาร่วมรณรงค์ด้วย ด้วยการเคลื่อนไหวภายใต้แนวคิด tongzhi ซึ่งหมายถึงสหายหรือเพื่อนร่วมอุดมการณ์มาใช้ เพื่อช่วยเหลือหนุนใจให้กลุ่ม LGBT ได้ยืนหยัดในอัตลักษณ์ทางเพศอย่างภาคภูมิ ปัจจุบันคริสตจักรแห่งนี้มีผู้นำทางจิตวิญญาณในตำแหน่งศิษยาภิบาลคือ Joe Pang ที่โด่งดังในฮ่องกงเมื่อปี 2018 ในฐานะผู้นำคริสตจักรคนแรกที่จัดพิธีนมัสการพระเจ้าในการเดินขบวนของชาว LGBT[xii]

สำหรับ Joe Pang นั้น ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งศิษยาภิบาลแห่งคริสตจักร LGBT ที่ฮ่องกง เขามีพื้นเพเป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนที่เข้ารับเชื่อพระเจ้าในศาสนาคริสต์ตั้งแต่อายุ 16 ปี และสิ่งที่สร้างความสับสนใจให้กับตัวเขาตลอดในช่วงแรก ๆ ของการเป็นคริสเตียนคือการที่ตัวเขาเองมีรสนิยมรักร่วมเพศ เพราะความเชื่อใหม่ ณ​ เวลานั้นของเขาถือว่าเป็นความผิดบาป เขาจึงปกปิดและไม่อนุญาตให้ตัวเองเป็นเกย์ จนกระทั่งเขาอายุ 20 ปี เขาก็ยังพยายามอยู่หลายวิธี ในช่วงเวลานั้นมีกระแสที่เชื่อว่าเกย์รักษาได้ ส่งผลให้เขาค้นคว้าหาวิธีที่จะเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของตนเอง สิ่งหนึ่งที่เขาทำคือใส่สายยางรัดข้อมือเพื่อที่ทุกครั้งที่เขาฝันถึงผู้ชายเขาจะดึงแล้วให้สายดีดที่ข้อมือจนเจ็บเพื่อเตือนว่ากำลังทำผิดบาปอยู่ อีกทั้งการไปหาคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญก็ไม่ได้ทำให้เขาสามารถเปลี่ยนแปลงเพศวิถีของเขาได้ จนเขาตระหนักได้ว่าพระเจ้าน่าจะรักตัวตนอย่างที่ตัวเขาเป็น ตอนอายุ 24 เขาศึกษาอยู่ในโรงเรียนสอนศาสนาคริสต์ปีสุดท้าย เขาถามตนเองว่าเขาเป็นเกย์คนเดียวที่ในสังคมเขาอยู่ใช่หรือไม่เพราะเขารู้สึกไม่มีใคร ทว่าเขามีเพื่อนจากโลกอินเตอร์เน็ต เป็นช่วงเวลาที่เขาได้เรียนรู้เรื่องรักร่วมเพศจนมีสังคมและเรียนรู้วิถีชาวเกย์จากจุดนั้น จนกระทั่งปี 2007 เขาพบกับศิษยาภิบาล O. Young (Ouyang Wen Feng)[xiii] เป็นคนที่หนุนใจเขาว่าพระเจ้าในไบเบิลนั้น สามารถยอมรับเพศวิถีของเราโดยที่เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวตน เพราะสิ่งสำคัญคือการกล้าที่จะออกมายอมรับตัวเองให้ได้ก่อนในจุดแรก ไม่มีใครสามารถบังคับหรือเอาปืนจ่อให้ใครเป็นเกย์ได้[xiv] พระเจ้าในความคิดของ Pang จึงไม่ใช่พระเจ้าที่ขับไล่คนบาปออกจากชุมคนรักพระเจ้า หากแต่เป็นพระเจ้าที่รักคนบาปได้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ในบริบทของสิงคโปร์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBT ในศาสนาคริสต์ มีมาตั้งแต่ปี 2005 โดย Yap Kim Hao (1929-2007) อดีตศิษยาภิบาลแห่งคริสตจักร Methodist (เขาเคยปฏิบัติหน้าที่ในสิงคโปร์และมาเลเซียตั้งแต่ปี 1968-1973) ในวัย 50 ปี Yap ได้ออกมาสนับสนุนกลุ่ม LGBT ที่มีชื่อว่า Pink Dot ที่ออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 377A ที่มีมาตั้งแต่ปี 1938 โดยกำหนดให้การรักร่วมเพศเป็นความผิดทางอาญา[xv] คำถามสำคัญที่ Yap มีตลอดมาในชีวิตการเป็นผู้รับใช้พระเจ้าของเขาคือ ศาสนาคริสต์สอนคนในครอบครัวให้มีความรักแบบไม่มีเงื่อนไข แต่ด้วยเหตุใดจึงกลับขับไล่เด็กที่เป็นเกย์ออกจากบ้าน หรือตบหน้าพวกเขาด้วยคำสอนในนามของพระเจ้า จากจุดนี้ Yap ยืนยันว่าเขายังคงติดสนิทอยู่กับความเชื่อศาสนาคริสต์ แต่เขามีพันธกิจใหม่คือ การบอกกับชุมชน LGBT ว่าไม่ใช่คริสเตียนทุกคนที่จะรังเกียจพวกเขา การที่ Yap ได้เข้ามาดูแลคริสตจักร Free Community (FCC) ได้กลายเป็นบทพิสูจน์ความเชื่อของเขาที่มีมาแต่ต้น ทำให้เห็นว่ายังมีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับ LGBT ผู้ศรัทธาในพระเจ้า ซึ่งคริสตจักรแห่งนี้ได้ทำกิจกรรมสำคัญทางศาสนาอย่างพิธีศีลมหาสนิท (Holy Communion) ทุกอาทิตย์[xvi] ทั้งยังเป็นที่น่าสนใจว่าคริสตจักรในสิงคโปร์ที่เปิดรับ LGBT ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคริสเตียนต่างอายุและพื้นเพ ในนามกลุ่ม Safehaven ที่ดำเนินกิจกรรมทางศาสนามาตั้งแต่ปี 1998 เป็นกลุ่มที่เปิดรับข้อถกเถียงและต้องการให้ความแตกต่างหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นในคริสตจักรของสิงคโปร์[xvii] ปัจจุบันคริสตจักร Free Community ยังคงยืนหยัดในการต่อสู้ในประเด็นดังกล่าวอยู่ โดยมี Miak Siew เป็นศิษยาภิบาลประจำคริสตจักร ในปี 2017 Miak ได้จัดประชุมใหญ่ผู้นำคริสตจักรกว่า 50 แห่งได้มารวมตัวกันเพื่อรับฟังแลกเปลี่ยนปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็น LGBT[xviii]


https://www.youtube.com/watch?v=ovga3sHZ9ew

แม้ว่าในฮ่องกงและสิงคโปร์จะมีคริสตจักรที่เปิดพื้นที่ให้กับ LGBT แต่สาเหตุที่รัฐบาลสิงคโปร์และฮ่องกงไม่สามารถออกมาสนับสนุนประเด็น LGBT ได้อย่างเต็มที่เหมือนอย่างไต้หวัน เพราะว่าทั้งสองประเทศนี้มีรากฐานทางความคิดจากตะวันตกในยุคอาณานิคม ในเวลานั้นเจ้าอาณานิคมก็ได้วาดภาพชายในแบบเอเชีย ที่มีลักษณะอรชรอ้อนแอ้นและมีความเป็นชายน้อยกว่าผู้ชายผิวขาวในแบบเจ้าอาณานิคม เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการใช้เรื่องเพศเป็นเครื่องมือในการประกอบสร้างจักรวรรดิและกดทับชนพื้นเมืองด้วยเรื่องเล่าแบบเจ้าอาณานิคม[xix] อีกทั้งการร่วมเพศทางทวารหนัก (sodomy) ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ที่มีรสนิยมทางเพศดังเช่นที่ว่านี้ต้องหลบหลีกไม่กล้าเปิดเผยตัว ในทางกลับกันญี่ปุ่นซึ่งเคยมีอำนาจเหนือไต้หวัน กลับไม่เคยมีค่านิยมเรื่องเพศในแบบตะวันตก เช่น ซามูไร พระ รวมถึงสามัญชน สามารถมีความสัมพันธ์ทางเพศได้ทั้งเพศเดียวกันและเพศตรงกันข้ามตามเพศกำเนิดได้ ในเวลาต่อมาไต้หวันก็รับอิทธิพลจากอเมริกันในเรื่องสิทธิของสตรี[xx]ดังกล่าวนี้อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไต้หวันมีความพร้อมที่จะเปิดรับการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเด็นเรื่อง LGBT ได้มากกว่าฮ่องกงหรือสิงคโปร์ และจากพื้นฐานวัฒนธรรมเอเชียดั้งเดิมที่ไม่ได้นิยามเรื่องความหลากหลายทางเพศไปในลักษณะทางลบ เหมือนอย่างในวัฒนธรรมตะวันตกที่เคลือบฉาบด้วยความเชื่อแบบยิว-คริสเตียน (Judeo-Christian) ความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกันในเอเชียจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และสามารถพบได้ทั่วไปในวรรณกรรมหรือบันทึกทางประวัติศาสตร์ ตัวอย่างในจีนความสัมพันธ์ระหว่างเพศเดียวกันเป็นที่ยอมรับได้ทั้งชายและหญิงแต่ต้องไม่เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ก้าวล้ำลำดับชั้นทางสังคม ความคิดเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเมื่อผู้ประกาศศาสนา (missionaries) จากโลกตะวันตกเข้ามาทำงานในดินแดนแถบเอเชียพบว่ามีวิถีเรื่องเพศแปลกและแตกต่างจากความเชื่อที่พวกเขามี ด้วยเหตุนี้เองกิจกรรมทางเพศบางประการที่ขัดต่อแนวคิดตะวันตกเป็นบ่อเกิดแห่งความป่วยไข้ของชนพื้นเมือง[xxi]

ดังนั้นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์และฮ่องกง ไม่ปรากฏว่ามีการบัญญัติหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนกลุ่ม LGBT อย่างชัดเจนเหมือนอย่างไต้หวัน ส่วนหนึ่งอาจเกิดขึ้นจากค่านิยมตะวันตกที่ฝังแน่นในกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยม ซึ่งแตกต่างจากไต้หวันที่เป็นกลุ่มหัวก้าวหน้า ที่รัฐบาลของประเทศนี้มีพันธกิจสำคัญในการแสดงแสนยานุภาพแห่งความก้าวหน้าทางความคิดที่ให้ล้ำหน้าไปกว่ารัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ในการนี้แนวคิดหรือประเด็นทางสังคมในด้านสิทธิมนุษยชนได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ นอกเหนือไปจากใช้อาวุธ และกำลังทางทหาร ทว่าในสังคมเอเชียก่อนการเข้ามาของมโนทัศน์แบบโลกตะวันตก ความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติในสังคมดั้งเดิม ประเด็นที่ออกมาแสดงความเรื่องความก้าวหน้าทางสิทธิมนุษยชนนั้น ก็เป็นสิ่งเกิดขึ้นหลังจากโลกตะวันตกแพร่กระจายความคิดแบบยิว­-คริสเตียน เช่นกัน

กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในศาสนาคริสต์ ดังที่ปรากฏในประเทศไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นผลมาจากพัฒนาการแนวคิดการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ในโลกตะวันตก จนกระทั่งขยายตัวมายังโลกตะวันออกหลังปี 2000 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับรองกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2015 ที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่ประเทศในโลกตะวันออกต่างน้อมรับและนำมาเป็นแบบอย่าง ส่งผลต่อรูปแบบการต่อรองระหว่างกลุ่ม LGBT กับศาสนาคริสต์ที่แต่เดิมแทบมองไม่เห็นหนทางที่จะมีพื้นที่ให้พวกเขาได้ยืนเสียด้วยซ้ำ แต่ด้วยกาลเทศะที่เปลี่ยนไปบนความย้อนแย้งระหว่างคำสอนในไบเบิลกับการตีความท่ามกลางบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงทำให้พื้นที่ของคริสต์ศาสนิกชน LGBT ในเอเชียเริ่มเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น แก่นแกนของศาสนาทุกศาสนานอกเหนือจากคำสอนและพิธีกรรม ยังประกอบไปด้วยศาสนิกชนที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต่อลมหายใจให้กับศาสนา เมื่อศาสนิกชนยังต้องการศาสนาจะทอดทิ้งศาสนิกชนได้อย่างไร ศิษยาภิบาลหรือผู้เลี้ยงแกะในคริสตจักร Tong-Kwang Light House Presbyterian, Blessed Minority Christian, และ Fellowship Free Community หากพูดด้วยภาษาการตลาดอาจกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มที่จับตลาดแบบที่เรียกว่า Niche Market เป็นการบริการให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีรสนิยมเจาะจงกว่าตลาดทั่วไปที่เรียกว่า Mass Market[xxii] โดยพวกเขาได้ทำหน้าที่ผู้เลี้ยงแกะที่ดีตามพระประสงค์ของพระเจ้า และยังเป็นผู้นำในการต่อรองกับความเชื่อทางศาสนาคริสต์กระแสหลักเพื่อเปิดพื้นที่ให้กลุ่ม LGBT ที่ยังอยากอยู่ในศาสนาที่เขายังเชื่อว่าพระเจ้ารักทุกคนอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

อ้างอิง

[i] เข้าฉายในไทยเมื่อวันพฤหัสที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ เทศกาลภาพยนตร์ไต้หวัน กรุงเทพฯ จัดขึ้นโดยกลุ่ม Documentary Club

[ii] ในบทความนี้ผู้เขียนอาจใช้ตัวย่อ LGBT แทนกลุ่มความหลากหลายทางเพศ

[iii]  “เลวีนิติ 20: 13 พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย (TNCV),” last modified January 5, 2020, https://www.bible.com/th/bible/179/LEV.20.TNCV

[iv] “ยอห์น 10: 14-16 พระคริสตธรรมคัมภีร์ไทย ฉบับอมตธรรมร่วมสมัย (TNCV),” last modified January 5, 2020, https://www.bible.com/th/bible/179/JHN.10.TNCV

[v] “Oxford learner’s dictionaries,” last modified January 5, 2020, https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/english/pastor?q=pastor

[vi], Kwok Pui-Lan, “Asian and Asian American Churches,” in Homosexuality and Religion: an encyclopedia, ed. Jeffrey S. Siker (Westport, CT: Greenwood Press, 2007), 60.

[vii] Po-Han Lee, “LGBT rights versus Asian values: de/reconstructing the universality of human rights,” The International Journal of Human Rights  (2016): 4, accessed January 5, 2020, doi.org/10.1080/13642987.2016.1192537

[viii] Yen-hsin Alice Cheng, Fen-Chieh Felice Wu, and Amy Adamczyk, “Changing Attitudes Toward Homosexuality in Taiwan, 1995-2012,” Chinese Sociological Review 48/4 (2016): 337, accessed January 5, 2020, doi.org/10.1080/21620555.2016.1199257 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวัน

[ix] Cheng, Wu, and Adamczyk, Changing Attitudes Toward Homosexuality, 323.

[x] Lee, LGBT rights versus Asian values, 3-4.

[xi] “In HK, gay people prescribed prayers and no sex as a ‘cure’,” last modified January 5, 2020, https://www.chinadailyhk.com/articles/169/2/14/1527751367951.html?fbclid=IwAR1l5PgTpuxSJ2T--RtBcBV12ST4OG71RBzIADp5ZFhKboDwruugZgEIuJM

[xii] Simone McCarthy, “Christian and gay: LGBT church group first to worship at Hong Kong Pride Parade,” last modified January 5, 2020, https://www.scmp.com/news/hong-kong/society/article/2173262/it-ok-be-christian-and-gay-lgbt-church-group-first-be-part

[xiii] Ouyang Wen Feng เป็นผู้ก่อตั้งคริสตจักรเพื่อนเกย์ในมาเลเซียเมื่อปี 2007 และเป็นศิษยาภิบาลมาเลเซียคนแรกที่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.reuters.com/article/us-malaysia-gay-pastor/malaysias-first-openly-gay-pastor-says-to-wed-idUSTRE77F1SG20110816

[xiv] Joe Pang ออกมาหนุนใจชาว LGBT ที่อยู่ในศาสนาคริสต์ให้กล้าแสดงตัวตน ผ่านคลิปการรณรงค์จากกลุ่ม Seksualiti Merdeka เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ขับเคลื่อนประเด็นเพศวิถี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของ LGBT ในมาเลเซีย https://youtu.be/qxQIjntpGe4

[xv] Ng Jun Sen, “Section 377a doesn’t criminalise gay sex and its purpose no longer exists, argues former chief justice,” last modified January 5, 2020, https://www.todayonline.com/singapore/section-377A-does-not-criminalise-gay-sex-purpose-no-longer-exists-argues-former-chief-justice

[xvi] Charis Vera N., “Free Community Church: The Freedom to be Yourself Evan in The Christian Community In Singapore,” last modified January 5, 2020, https://www.hypeandstuff.com/free-community-church-singapore/

[xvii] Pui-Lan, Asian and Asian American Churches, 60.

[xviii] Yuen Sin, “Churches building bridges with LGBT Christians,” last modified January 5, 2020, https://www.straitstimes.com/singapore/churches-building-bridges-with-lgbt-christians

[xix] Pui-Lan, Asian and Asian American Churches, 59.

[xx] Lee, LGBT rights versus Asian values, 3.

[xxi] Pui-Lan, Asian and Asian American Churches, 59.

[xxii] “Creative Knowledge: Find your Niche, Dare to Risk,” last modified January 5, 2020, http://www.tcdc.or.th/articles/others/28168/#Find-your-Niche-Dare-to-Risk

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net