Skip to main content
sharethis

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยื่นข้อเสนอต่อกมธ.กฎหมาย ห่วงกังวลการฟ้องคดีปิดปากต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ

16 ม.ค.2563 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) รายงานผ่านเฟสบุ๊ค 'Human Rights Lawyers Association' ว่า วันนี้ (16 ม.ค.63) ที่สภา ทาง สนส. เข้ายื่นข้อเสนอประเด็นเรื่องการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือ SLAPPs ต่อประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนซึ่งใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เพื่อเรียกร้องการปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น ต้องเผชิญกับการถูกฟ้องคดีทั้งคดีแพ่งและอาญาต่อศาล

สนส. ระบุว่า การฟ้องประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญในการเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะเช่นนี้เรียกว่า “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” (Strategic Lawsuits Against Public Participation: SLAPPs) หรือการฟ้องคดีปิดปาก เป็นปรากฏการณ์ที่รัฐหรือเจ้าหน้าที่รัฐ หรือบริษัทเอกชน ฟ้องคดีต่อประชาชนที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น การรายงานข่าว การร้องเรียน การชุมนุมหรือการมีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการฟ้องคดีดังกล่าวไม่เพียงทำให้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการแก้ไข ยังเป็นการสร้างอุปสรรคในการการใช้สิทธิและเสรีภาพในการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ความวิตกกังวลสร้างภาระในการต่อสู้คดี อันเป็นการลดทอนทรัพยากรทั้งค่าใช้จ่ายและเวลา การฟ้องคดีเช่นนี้เป็นการจงใจจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแล้วยังเป็นการสร้างต้นทุนให้แก่ภาครัฐและกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

ทั้งนี้ สนส. ได้รวบรวมข้อมูล “การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ” (Strategic Lawsuits Against Public Participation: SLAPPs) ในประเทศไทย ไว้ใน SLAPP Data Center : ฐานข้อมูลคดีฟ้องปิดปากในประเทศไทย  ซึ่ง พบว่ามีการดำเนินคดีผ่าน 2 ช่องทางคือแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน หรือยื่นฟ้องคดี โดยในจำนวน 212 กรณี ผู้ที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องคดี ได้แก่ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง (27.06%) รองลงมาคือกลุ่มชุมชนหรือประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านโครงการพัฒนาที่ก่อผลกระทบต่อชุมชน (22.93%) กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน/นักพัฒนาเอกชน (ด้านสิทธิสตรี แรงงาน การตรวจสอบทุจริต พลังงาน สิ่งแวดล้อม ชาติพันธุ์) (15.59%) กลุ่มประชาชนที่สนใจการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง แต่ไม่ถึงขั้นเป็นแกนนำ (11.92%) สื่อมวลชน (8.25%) กลุ่มอื่นๆ (โฆษกวัด ทนายความ แอดมินเพจ) (5.50%) กลุ่มผู้ถูกละเมิดหรือญาติที่เรียกร้องความเป็นธรรม (5.04%) และนักวิชาการ/อาจารย์มหาวิทยาลัย (3.66%) ตามลำดับ

การกระทำที่ตกเป็นเป้าหมายของการถูกฟ้องมากที่สุดคือ การเผยแพร่ข้อมูลหรือแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์ (25.47%) รองลงมาคือการชุมนุมสาธารณะ (15.09%) การจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ (กิจกรรมล้อเลียน ดนตรี ละคร ชูป้าย เดิน เป็นต้น) (12.73%) การทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ (8.01%) การให้สัมภาษณ์หรือเขียนบทความเผยแพร่ผ่านสื่อ (5.66%) การชุมนุมหรือจัดกิจกรรมในพื้นที่โครงการ (5.66%) การเผยแพร่ข่าวหรือบทความในสำนักข่าวออนไลน์ (3.77%) การแจกเอกสาร (3.77%) การแถลงข่าวหรือออกแถลงการณ์ (3.30%) การเข้าไปในพื้นที่ดำเนินโครงการเพื่อตรวจสอบ (3.30%) การสนับสนุนการจัดกิจกรรม (มอบดอกไม้ให้กำลังใจ ให้ที่พัก ช่วยเหลือทางกฎหมาย สังเกตการณ์การจัดกิจกรรม ฯลฯ) (2.83%) การทำหน้าที่สื่อมวลชน (2.35%) การดำเนินการอื่นๆ (การนำหลักหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าหน้าที่และสาธารณะ การไม่บรรจุวาระประชุม) (1.88%) การพูดในเวทีสัมมนา (1.41%) และการเผยแพร่ผลการวิจัยหรือรายงานการละเมิดสิทธิ (0.94%) ตามลำดับ

ประเด็นที่มีการฟ้องร้องมากที่สุดคือประเด็นเกี่ยวกับการปกครอง (ความชอบธรรมของรัฐบาล การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญและการออกกฎหมาย) (39.13 %) รองลงมาคือประเด็นสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (เหมืองแร่, โรงงานอุตสาหกรรม, โรงไฟฟ้า) (32.07 %) ประเด็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กระบวนการยุติธรรมและการตัดสินคดีของศาล (12.26%) ประเด็นการทุจริต (5.66%) ประเด็นแรงงาน (5.18%) ประเด็นสาธารณสุข และการแพทย์ (2.35%) ประเด็นพลังงาน (2.35%) ตามลำดับ

  • อ่านรายงานข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะจากการถูกฟ้องคดี : http://naksit.net/2019/06/report_slapps-public-participation/
  • และ อ่านรายละเอียดการยื่นข้อเสนอเพิ่มเติม http://naksit.net/2020/01/16012020/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net