Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ป้าย FUCK U Dictatorship ที่ถูกชูขึ้นขณะการชุมนุมแฟลชม็อบที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมา (14 ธ.ค. 62)  ถูกพูดถึงในวงกว้าง เนื่องจากมุมกล้องทำให้ป้ายไปปรากฏตรงหน้าภาพวาดรูปในหลวง ร.9 ขนาดใหญ่บนหอศิลป์ฯ 

สื่อออนไลน์อย่างทีนิวส์ เป็นแนวหน้าในการเปิดเผยหน้าตา ชื่อ-นามสกุล หน้าที่การงานของผู้โพสท์รูปดังกล่าวดังกล่าวทางอินเทอร์เน็ต ทั้งๆ ที่ข้อมูลส่วนบุคคลเป็นเรื่องที่ถูกปกป้องตามกฎหมาย นอกจากทีนิวส์แล้วยังมีบุคคลสาธารณะอย่างพลเอก หม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล หัวหมู่ทะลวงฟันของฝั่งนิยมเจ้าในโซเชียลมีเดียก็เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวด้วย 

พิมพ์ชนก พุกสุข ผู้เป็นผู้ถ่าย ผู้โพสท์ภาพลงเฟสบุ๊คส่วนตัวที่ตั้งค่าให้เห็นได้เฉพาะเพื่อน แต่ได้กลายเป็นเหยื่อการถูกเสียบประจานดังกล่าว ต้องตกงาน โดยเอกที่สารจากบริษัท โมโน เจนเนอเรชั่น จำกัด ต้นสังกัดระบุว่า อดีตพนักงานคนดังกล่าวได้ขอลาออกจากการเป็นพนักงานด้วยความสมัครใจเพื่อเป็นการรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น นอกจากผลกระทบทางหน้าที่การงานแล้ว ยังมีกระแสข่าวว่าเธอจะถูกจับกุม แจ้งความดำเนินคดีต่อด้วย โดยมีพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต กปปส. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) 

อย่าว่าแต่ประเทศสารขัณฑ์เลย ในสหรัฐฯ ประเทศที่โปรโมทเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตยมายาวนานก็ยังมีคนที่ต้องตกงานเพราะไป ‘ฟัคยู’ ใส่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผมกำลังพูดถึงกรณีของจูลี่ บริสค์แมน อดีตพนักงานฝ่ายบริหารการตลาดที่บริษัท Akima LLC

เหตุการณ์ลือลั่นเกิดขึ้นเมื่อ ต.ค. 2560 จูลี่ปั่นจักรยานตามแจกนิ้วกลางให้ขบวนรถของท่านประธานาธิบดี ที่กำลังเดินทางจากสนามกอล์ฟทรัมป์ เนชั่นแนล กอล์ฟคลับ ในเวอร์จิเนีย กลับไปยังทำเนียบขาว (ที่มา:CNN)

“(กฎหมาย) ประกันสุขภาพไม่ผ่าน แต่คุณยังพยายามจะยกเลิกมันจากข้างใน คน 500 คนถูกยิงที่ลาสเวกัส (แต่คุณ) ไม่ทำอะไรเลย คุณรู้ไหม พวกแนวคิดคนขาวเป็นใหญ่มีการเดินขบวนใหญ่และไปทำร้ายผู้คนมากมายที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ และคุณยังไปเรียกพวกเขาว่าเป็นคนดี”

“นิ้วของฉันพูดในสิ่งที่ฉันรู้สึก...ฉันโมโหและก็ไม่พอใจ” คือสิ่งที่จูลี่กล่าวต่อสื่อ CNN 

ว่องไวพอๆ กับเมืองไทย จูลี่ต้องตกงานในอีก 3 วันถัดมา หลังจากภาพแจกฟักของเธอกลายเป็นไวรัล ทนายความของเธอระบุว่าเธอถูกบีบบังคับให้เลิกจ้าง ส่วนตัวจูลี่นั้นบอกว่าคงเป็นเพราะบริษัท Akima LLC เป็นบริษัทที่รับเหมางานจากรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่าสิทธิในการพูด การแสดงออกจะได้รับการประกันตามกฎหมายในบทบัญญัติเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฉบับที่ 1 (the first amendment) แต่ทางบริษัทอาจจะกลัวว่าจะถูกทรัมป์เล่นงานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

จูลี่ฟ้องศาลในคดีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่ศาลยกฟ้อง อย่างไรก็ดี การฟ้องร้องดังกล่าวทำให้เธอได้เงินชดเชยจากทางบริษัท จนในปีนี้ เมื่อเดือน พ.ย. 2562 เธอชนะเลือกตั้งท้องถิ่นในฐานะตัวแทนเขตลูดูน เคาน์ตี้ ในสังกัดพรรคเดโมแครต ภาพการปั่นจักรยานครั้งนั้นทำให้เธอเป็นที่รู้จัก และเป็นส่วนสำคัญที่เธอใช้ในการหาเสียงครั้งนี้

“ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่ารูปๆ นั้น การถูกไล่ออกจากตำแหน่งงานของฉันอย่างไม่เป็นธรรมได้กระตุุ้นแรงขับและความปรารถนาของฉันในการออกมาแอคทีฟในทางการเมือง” จูลี่กล่าวกับ CNN 

ย้อนกลับมาดูที่เมืองไทย กรณีของพิมพ์ชนกที่ต้องเสียงานไปนั้นบอกอะไรเราได้บ้าง

เรื่องหนึ่งคือความลักลั่นของบริษัทเอกชนที่ต้องมีชีวิตรอดในทางธุรกิจ โดยเฉพาะเอกชนที่ต้องพึ่งพารัฐบาลมาก ช่องโมโน 29 รายได้ไตรมาส 2  ปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 95.21 ล้านบาท โดยในไตรมาสที่ 1 ก็ขาดทุน 112.36 ล้านบาท ในขณะที่มูลค่าโฆษณาทีวีดิจิทัลในกลุ่ม SD ที่ช่อง 29 เป็น ก็ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 10.93 จึงอาจทำให้แบกรับความไม่แน่นอนที่จะเกิดจากการถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างช่องวอยซ์ ทีวี ถูกกระทำมาตลอดช่วงเวลา คสช. ครองเมือง

TV Digital Watch: มูลค่าตลาดโฆษณาทีวีดิจิทัล เดือนตุลา 62 กว่า 6 พันล้านบาท

Market Online: MONO เหตุเกิดที่ “มือถือ” ขาดทุนไปโผล่ที่หน้าจอ

ในภาพใหญ่ แม้โมโนไม่ได้ยื่นขอพักชำระหนี้กับทางรัฐ แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 ที่ให้ 13 ช่องทีวีดิจิทัลพักชำระหนี้ได้ไม่เกิน 3 ปี อุดหนุนค่าเช่าใช้โครงข่ายดิจิตอลทีวี (MUX) เป็นเวลา 24 เดือน โดยให้ กสทช. เป็นผู้พิจารณายกเลิกการพักชำระหนี้ได้ ถ้าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทำผิดเงื่อนไข ผลิตรายการที่ขัดต่อ “กฎหมายและศีลธรรมอันดีของประชาชน” ก็ทำให้สื่อทีวีกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ผูกพันกันมาจนถึงทุกวันนี้

สุภิญญา กลางณรงค์: ม.44 อุ้มทีวีดิจิตอล ยิ่งคลายยิ่งรัด ทหาร-คสช. ได้ประโยชน์

ถ้าถามว่า ความหวาดหวั่นเช่นว่าจะลามมาถึงเรื่องการแสดงออกทางการเมืองของพนักงานหรือไม่ ก็ไม่แปลกใจเลยที่จะเป็นเช่นนั้น เดิมที ในช่วงรัฐบาล คสช. ก็เคยมีคนทำงานสื่อถูกให้ออกด้วยเหตุผลส่วนหนึ่งว่าไปร่วมแสดงออกทางการเมืองมาก่อนอยู่แล้ว ยิ่งถ้าเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ก็ยิ่งอ่อนไหวกันไปใหญ่

จูลี่เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เดอะวอชิงตันโพสท์ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอนั้นเหมือนกับสิ่งที่เกิดในอียิปต์ ฮังการี ไทย ตุรกี และรัสเซีย ที่โอกาสในการทำธุรกิจจะมีมากขึ้นถ้ามีความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาล บริษัทในประเทศเหล่านั้นก็จะไม่จ้างงานคนที่ต่อต้านระบอบ แรงกดดันแบบนั้นยิ่งทำให้พลเมืองต้องเลือกเอาสักอย่างระหว่างหลักการหรือปากท้อง เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับระบอบเผด็จการได้ยึดครองพื้นที่ภายในระบอบประชาธิปไตยแล้วอย่างแนบเนียน

สำหรับกรณีของพิมพ์ชนกไม่เพียงสะท้อนความหวาดกลัวของสื่อที่ต้องพึ่งพารัฐ แต่ยังกลายเป็นประโยคคำถามตัวใหญ่ว่า “เผด็จการ” ซ่อนรูปภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแนบเนียนแล้วใช่หรือไม่ อนาคตของเธอคงจะเป็นมาตรวัดที่ดี เหมือนที่จูลี่เป็นมาตรวัดระดับเสรีภาพการแสดงออกในสหรัฐฯ ในแง่ที่การเมืองยังคงเปิดกว้างให้กับผู้เห็นต่าง

ประชาธิปไตยบิดเบี้ยวแบบไหนที่ทำให้การแสดงออกทางการเมือง ต้องแลกด้วยหน้าที่การงาน อนาคตทางการเมืองและสวัสดิภาพในชีวิต 

อุตสาหกรรมสื่อ และผู้ชมที่บิดเบี้ยวแบบไหนกัน ที่ทำให้สำนักข่าวที่เผยแพร่ความเกลียดชังแบบถึงลูกถึงคนแบบไร้เหตุผล ยังคงลอยหน้าลอยตา มีสถิติผู้ชมเยอะที่สุดเมื่อเทียบกับสื่อออนไลน์อื่นๆ

Line Today: เปิดอันดับ 22 เว็บข่าว ยอดคนอ่านลดหลังเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมโจทย์ใหญ่ว่าคำสั่งหัวหน้า คสช. จำเป็นต้องได้รับการทบทวนจริงๆ การควบคุมสื่อด้วยพระเดชและพระคุณจากยุค คสช. เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง ยังมีอีกหลายเรื่องที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วยมาตรา 44 สร้างผลกระทบมหันต์ให้กับประชาชน เช่นประเด็นระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก การจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมง ที่ทั้งสองเรื่องมีข้อครหาเรื่องการขาดการมีส่วนร่วมมาตลอด

เช่นนี้กระมัง ญัตติการมีคณะกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากคำสั่ง คสช. ถึงทำให้ฟาก ‘รัฐบาลเชียงกง’ ดิ้นอย่างกับถูกน้ำร้อน แพ้ไม่ได้ พ่ายไม่เป็น

โจทย์ที่ใหญ่กว่านั้นคือ ประชาชน พรรคการเมืองพูด หรือสื่อสารทางการเมืองอะไรเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ได้บ้าง 

นี่คือคำถามใจกลางของสังคมไทยมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว​​​​​​​

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net