Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ก่อนที่พรรคการเมือง 2 พรรคของอเมริกัน จะมีการชิงชัยประธานาธิบดีในช่วงปลายปีนี้ มีคนถามผมว่า ระหว่างพรรครีพับลิกันกับเดโมแครต ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของอเมริกันนั้น พรรคใดเป็นอนุรักษ์นิยม (conservative) พรรคใดเป็นเสรีนิยม (Liberal) นับเป็นคำถามที่ชวนท้าทายให้คิด เพราะคนไทยส่วนใหญ่ อาจเข้าใจไปว่า พรรคเดโมแครต เป็นตัวแทนของฝ่ายเสรีนิยมก้าวหน้า ขณะที่รีพับลิกันซึ่งอีกชื่อหนึ่งคือ GOP หรือ Grand Old Party นั้นเป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษ์นิยม

ความเข้าใจดังกล่าวไม่น่าผิด แต่ก็ไม่น่าถูกเสียทั้งหมด เพราะแท้ที่จริงแล้วนั้น พรรคฝ่ายเสรีนิยมนั้นถูกอ้างโดยพรรครีพับลิกันเช่นเดียวกัน จากฐานนโยบายเปิดกว้างหรือเปิดเสรีระบบเศรษฐกิจ กล่าวคือรัฐทำหน้าที่ควบคุมระบบเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด ขนาดของรัฐต้องเล็กที่สุด ถ้าไม่เก็บภาษีได้เป็นดี ซึ่งก็ตรงกับปรัชญาการบริหารรัฐกิจแบบเดิมของอเมริกัน คือ มุ่งตลาดเสรีเป็นหลัก สังเกตว่าพรรครีพับลิกันใช้ชื่อว่า GOP มายาวนาน

ขณะที่พรรคเดโมแครตนั้น มีปรัชญาหรือนโยบายโดยรวมเกี่ยวกับการบริหารรัฐกิจหรือปรัชญาการบริหารจัดการเศรษฐกิจการเมืองตรงกันข้ามกับรีพับลิกัน พรรคนี้ต้องการขยายวงความรับผิดชอบของรัฐไปออกไปสู่สังคมให้มากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่า ขนาดของรัฐต้องใหญ่ขึ้น เพื่อรับผิดชอบด้านความอยุติธรรมของพลเมืองในด้านเศรษฐกิจด้วย สิ่งนั้น ได้แก่ สวัสดิการของรัฐ ซึ่งเดโมแครตมองว่า รัฐควรจัดการและสนับสนุนให้เกิดรัฐสวัสดิการแก่ประชาชน รวมถึงการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นภาษีหรือการออกกฎหมายบังคับให้พลเมืองต้องมีหน้าที่ทำโน่นนี่ เพื่อบีบให้สังคมเกิดความสมดุล เช่น ไม่เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากเกินไป

 รีพับลิกันนั้น เห็นไปในทางตรงกันข้ามกับเดโมแครต โดยมองว่าการที่รัฐเข้ามาจัดการเรื่องสวัสดิการของสังคม เป็นแนวทางของระบบสังคมนิยม ที่ปิดกั้นการพัฒนาประเทศมากกว่าการปล่อยเสรีที่ขับเคลื่อนโดยทุน และมองว่า ทุนนั้นต้องปล่อยให้เดินไปตามกลไกการตลาดลูกเดียว หมายถึงระบบตลาดที่เปิดให้มีการแข่งขันแบบเสรีรัฐไปบังคับควบคุมหรือแทรกแซงไม่ได้ ระบบดีมานด์ซัพพลายจะทำงานของมันเองซึ่งก็คือกลไกการตลาดนั่นเอง ทั้งหมดที่ผมยกมากล่าวนี้อยู่ในโหมดเศรษฐกิจการเมือง

ประเด็นที่คนไทยหรือแม้แต่คนอเมริกันมองว่า เดโมแครตเป็นพรรคเสรีนิยมก้าวหน้า รีพับลิกันเป็นอนุรักษ์นิยม คงเป็นประเด็นทางด้านสังคม  (Socialize) อย่างเช่น การที่เดโมแครตถูกเรียกว่า pro-choice party ขณะที่รีพับลิกันถูกเรียกว่า pro-life party หมายความว่าเดโมแครต มองเรื่องสิทธิต่างๆ ของพลเมืองก้าวหน้ามากกว่าที่รีพับลิกันมอง เช่น ความเท่าเทียมทางเพศ และทางวัย เป็นต้น ที่เห็นชัดและเป็นประเด็นถกกันยาวนานได้แก่ ประเด็นการทำแท้งซึ่งเดโมแครตเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ประเด็นสิทธิของคนรักร่วมเพศ หรือความหลากหลายทางเพศที่รีพับลิกันไม่เห็นด้วยโดยมองว่า คนกลุ่มนี้ฝ่าฝืนจารีต ธรรมชาติ และไม่ต้องด้วยระบบศีลธรรมของคริสตศาสนา

 ว่าไปแล้วถ้าพูดในแง่ศีลธรรม รีพับลิกันจะเหนียวหนึบแก่ศีลธรรมกว่าเดโมแครตเยอะ แหละนี่คือความหมายของ pro-life ของรีพับลิกัน พวกเขามักอิงจารีตทางสังคมอเมริกันในอดีต ขณะที่ในแง่ทุนแล้วพวกเขาต้องการให้เป็นแนวเดิมๆ ในแบบที่บิดาแห่งทุนนิยม อดัม สมิท เคยกล่าวไว้ในหนังสือ the Capitalism ของเขาเมื่อหลายปีมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพรรคก็เห็นร่วมกันว่าอเมริกันต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยทุนเท่านั้น (ทุนนิยมเสรี) ไม่มีทางอื่นใดนอกจากนี้อีกแล้ว นอกจากนั้น รีพับลิกันยังมีท่าทีเชิงอุดมการณ์ชาตินิยมสูงกว่าเดโมแครต ดูได้จากการพยายามสกัดกั้นการไหลบ่าของแรงงานต่างด้าวจากเม็กซิโก ละตินอเมริกาและจากส่วนต่างๆ ทั่วโลก ขณะที่เดโมแครตมีท่าทีของการผ่อนปรนมากกว่า ตอนผมไปสัมภาษณ์ แนนซี่ เปลอสซี่ คองเกรสวูแมน จากแคลิฟอร์เนีย (เมืองซานฟรานซิสโก) ผู้นำพรรคเดโมเครต ที่แคปปิตอลฮิลล์ เธอบอกในเวลานั้นว่า “อเมริกาปฏิเสธแรงงานต่างด้าวไม่ได้ หากต้องการให้เศรษฐกิจเกิดการขับเคลื่อน คองเกรสต้องวางระบบจัดการแรงงานต่างด้าวให้ถูกต้องเหมาะสม” รีพับลิกันนั้นแม้จะเห็นความสำคัญของแรงงานต่างด้าว แต่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งรีพับลิกัน กลับเสนอให้เข้มงวดกวดขันแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น รวมถึงรูปธรรมของนโยบายที่เห็นชัดเจนคือ การสร้างกำแพงกั้นประเทศเพื่อนบ้านบนพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในคองเกรส และอเมริกันชนโดยทั่วไปเชิงการผลาญงบประมาณโดยใช่เหตุ

ระหว่างเดโมแครตกับรีพับลิกัน เสรีนิยมหรืออนุรักษ์นิยม จึงไม่ควรตีขลุมประเมิน หากแต่ควรวิภัช (แยกแยะ) ออกเป็นข้อๆ บนฐานของพฤติกรรมการบริการรัฐกิจ สวัสดิการของรัฐ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เป็นที่ตั้ง

มิเช่นนั้น จะพากันหลงทิศหลงทางจากการวิเคราะห์การเมืองอเมริกันแบบซั่วๆ เหมือนที่สื่อเมืองไทยบางส่วนกำลังเป็นอยู่ ณ เวลานี้…!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net