Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย 21 คน เข้าชื่อเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ. ...” มีประเด็นพื้นฐานที่ควรตั้งคำถามและวิจารณ์หลายประการ

ประการแรก ชื่อร่างฯ ดังกล่าวสอดรับกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560  

“มาตรา 67 รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น 

ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย”

ประเด็นคือ พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า รธน. 2560 ไม่เป็นประชาธิปไตย ต้องแก้ไข เหตุใดจึงรับเสนอร่าง พ.ร.บ.ที่นำบทบัญญัติใน รธน.ฉบับดังกล่าวมาแปลงเป็นกฎหมายลูก? ถ้าแก้รัฐธรรมนูญได้ เพื่อไทยจะแก้มาตรา 67 หรือไม่?

หรือถามตอนนี้เลยว่า พรรคเพื่อไทยที่อยู่ “ฝ่ายประชาธิปไตย” ยืนยันว่ามาตรา 67 สอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยที่ถือว่า “รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา” หรือไม่? 

อย่างไรก็ตาม การเสนอร่างฯ ดังกล่าว แสดงว่าเพื่อไทย (21 ส.ส.) ยอมรับว่า มาตรา 67 เป็นประชาธิปไตย ทำให้เขาเข้าใจได้ว่า ประชาธิปไตยในประเด็นทางศาสนาตามความเข้าใจของเพื่อไทยคือ “ประชาธิปไตยแบบไทย” ไม่ต่างอะไรกับประชาธิปไตยตามความเข้าใจของ คสช.

ประการที่สอง เมื่อมองอย่างเปรียบเทียบ ประชาธิปไตยที่พรรคอนาคตใหม่ยืนยันคือ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” (liberal democracy) อันเป็นการผสมผสานระหว่างหลักการเสรีนิยม (liberalism) ที่ยืนยันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ กับประชาธิปไตย (democracy) ที่ยืนยันอำนาจอธิปไตยของประชาชนและความเสมอภาค 

หลักการเสรีนิยมยืนยันสิทธิเสรีภาพทางความคิดเห็น, การพูด, การแสดงออก, เสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางศาสนาและอื่นๆ ถือว่า “รัฐต้องเป็นกลางทางศาสนา” มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคในการนับถือและการไม่นับถือศาสนา รัฐเสรีประชาธิปไตยจึงห้ามบัญญัติศาสนาประจำชาติ ไม่อุปถัมภ์หรือส่งเสริมศาสนาใดๆ ถือว่าเรื่องศาสนา ความเชื่อ หรือปรัชญาเกี่ยวกับการมีชีวิตที่ดีแบบใดๆ เป็น “เรื่องส่วนตัว” หรือเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล ไม่ใช่ “เรื่องสาธารณะ” รัฐจึงไม่ก้าวก่ายแทรกแซงทั้งในทางสนับสนุนหรือขัดขวาง ตราบที่ไม่มีการใช้ศาสนาหรือความเชื่อใดๆ ในทางละเมิดสิทธิและเสรีภาพบุคคลอื่น

ดังนั้น หากยึดหลักเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ก็ต้องแยกศาสนาจากรัฐ เป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) รัฐจึงจะสามารถเป็นกลางทางศาสนาได้อย่างแท้จริง ผมไม่แน่ใจว่าพรรคอนาคตใหม่จะเสนอนโยบายแยกศาสนาจากรัฐ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดกล้าเสนอนโยบายนี้ 

แต่การที่เพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ สะท้อนว่าในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาเพื่อไทยยืนยัน “ประชาธิปไตยแบบไทย” ที่รัฐกับศาสนาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ประชาธิปไตยแบบเพื่อไทยกับแบบ คสช.จึงไม่ต่างกันในสาระสำคัญ

ประการที่สาม ประชาธิปไตยแบบไทยไม่มีเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนาได้แบบเสรีนิยมประชาธิปไตย เพราะขณะที่เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนาในระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยกำหนดขึ้นจากการยืนยันความเป็นปัจเจกบุคคล (individuality) ของประชาชนในฐานะที่ทุกคนเป็น “คนเท่ากัน” และเป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพเท่าเทียมกัน แต่เสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนาในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยกำหนดขึ้นจากสถานะ อำนาจ และอภิสิทธิ์ของชนชั้นปกครอง ดังนั้น คนไทยจะมีเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนาได้ในขอบเขตแค่ไหน เพียงใด จึงขึ้นอยู่กับชนชั้นปกครองยินยอมหรืออนุญาตให้มีได้เท่านั้น 

ดังเห็นได้จาก ประชาชนในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยไม่มีเสรีภาพทางการเมืองในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบชนชั้นปกครองแบบที่ประชาชนในระบอบเสรีประชาธิปไตยเขามีกัน และในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ประชาชนก็ไม่มีเสรีภาพทางศาสนาแบบที่ประชาชนในระบอบเสรีประชาธิปไตยเขามีกัน เพราะรัฐไทยไม่เป็นกลางทางศาสนาจริง ยังก้าวก่ายแทรกแซงเสรีภาพทางศาสนาโดยตรงบ้าง ผ่านอำนาจทางกฎหมายปกครองสงฆ์บ้าง เลือกปฏิบัติต่อชาวพุทธกลุ่มต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียมบ้าง เป็นต้น

ประการที่สี่ การเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะทำให้ศาสนากับรัฐและการเมืองเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น การเมืองเป็นเรื่องของ “ความสัมพันธ์ทางอำนาจ” (power relation) ระบบปกครองสงฆ์หรือ “มหาเถรสมาคม” มีความสัมพันธ์ทางอำนาจกับสถาบันกษัตริย์ เพราะเป็นระบบที่ถูกกำหนดขึ้นโดยกฎหมายสงฆ์ที่อ้างอิง “พระราชอำนาจตามโบราณราชประเพณี” และเป็นระบบที่สร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจแนวดิ่งภายในวงการสงฆ์ พระมีทั้งสมณศักดิ์ฐานันดร อำนาจทางกฎหมาย และงบประมาณจากรัฐ ขณะเดียวกันระบบมหาเถรสมาคมก็เป็นกลไกสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และตอบสนองนโยบายรัฐ ดังนั้น ระบบสงฆ์จึงเป็นการเมืองในตัวเอง ไม่ใช่ระบบที่เป็นอิสระหรือเป็นเอกเทศจากการเมืองแต่อย่างใด

ประการสุดท้าย พัฒนาการของรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยทั้งในตะวันตกและเอเชีย(บางประเทศ) ล้วนแต่เป็นไปในทิศทางที่ทำให้ “สถาบันอนุรักษ์นิยม” ต่างๆ ลดอิทธิพลในรัฐลงเรื่อยๆ จนไม่มีอิทธิพลชี้นำหรือครอบงำในเชิงอุดมการณ์ทางการเมือง แนวทางของเพื่อไทยกลับยิ่งทำให้สถาบันอนุรักษ์นิยมมีอิทธิพลในรัฐและการเมืองมากขึ้น ส่งผลให้เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลงสู่เสรีนิยมประชาธิปไตย 

ประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธเถรวาท เช่น ศรีลังกา พม่า ไทย ที่ศาสนาผูกติดกับรัฐเป็น “พุทธชาตินิยม” ยากที่จะพัฒนาสู่เสรีนิยมประชาธิปไตย เช่นเดียวกับประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม รัฐก็มักจะให้ความสำคัญกับศาสนาอิสลามมากกว่า แต่ยังดีกว่าตรงที่ไม่เกิดรัฐประหารบ่อยเท่าไทย แต่อย่างไรเสียประเทศที่สถาบันอนุรักษ์นิยม เช่น สถาบันกษัตริย์ กองทัพ สถาบันศาสนายังมีอิทธิพลสูงในรัฐ ไม่มีทางที่จะเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศได้

ในที่สุด ก็กลับมาที่คำถามพื้นฐานเดิมคือ ประชาธิปไตยตามที่เพื่อไทยยืนยันคือประชาธิปไตยแบบไทย หรือเสรีนิยมประชาธิปไตย หากเป็นอย่างแรก ก็ถูกแล้วที่ ส.ส.เพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพราะเป็นการทำหน้าที่ ส.ส.ในการสนับสนุนมาตรา 67 ในรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ทำให้การต่อต้านเผด็จการ คสช. ของเพื่อไทยไปไม่สุดในทางความคิด หลักการ และอุดมการณ์ประชาธิปไตย

เท่ากับว่าการเมืองเรื่องศาสนาของเพื่อไทย ไม่ใช่การมองไปที่อนาคต ไม่ใช่การเมืองที่จะเพิ่มเสียงสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ แต่เป็นการเมืองย้อนยุคตามรอย คสช. และเพื่อรักษาฐานเสียงจากคนรุ่นเก่าบางกลุ่มเท่านั้นเอง 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net