ดูเส้นทางมหา'ลัยฝ่ายซ้ายอินเดีย จาก 'พวกชังชาติ' สู่ผู้นำการสู้เพื่อความเป็นธรรม

หลังเผชิญกับการโจมตีจากอันธพาลฝ่ายขวาและเผชิญกับการข่มเหงจากรัฐบาลและมวลชนชาตินิยมฮินดูมาหลายสิบปี มหาวิทยาลัยชวาหะร์ลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) ที่เป็นฝ่ายซ้ายก็สามารถจุดชนวนให้ผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลได้ ในขณะที่ฝ่ายขวาชาตินิยมฮินดูในอินเดียกำลังฮึกเหิมและก่อเหตุรุนแรงต่อมหาวิทยาลัย

ตัวอาคารในมหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู (ที่มา:gsmeena.jnu@gmail.com)

17 ม.ค. 2563 นิตยสารฝ่ายซ้าย จาโคแบง รายงานว่า เป็นเวลา 2 เดือนครึ่งแล้วที่กลุ่มนักศึกษาในมหาวิทยาลัยชวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru หรือ JNU) มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายซ้ายในอินเดีย ทำการประท้วงค่าเล่าเรียนที่ขึ้นสูงในระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนและนโยบายของรัฐบาลนเรนทรา โมดี แต่การประท้วงดังกล่าวก็ถูกกลุ่มอันธพาลสวมหน้ากากก่อเหตุทำร้ายนักศึกษาและครูอาจารย์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา

นักศึกษา JNU กำลังไม่พอใจเรื่องการขึ้นค่าที่พักอาศัยของมหาวิทยาลัย ที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นสองเท่า เป็นเหตุให้คนส่วนใหญ่ในประเทศที่รายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ ทำให้มีการประท้วงต่อต้าน ฝ่ายรัฐบาลก็โต้ตอบการประท้วงด้วยการใช้กำลังปราบปรามมาตั้งแต่ในช่วงปี 2562 แต่ก็ไม่ได้ทำให้นักศึกษาที่ประท้วงท้อถอย พวกเขากลับได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากสาธารณชน ความขัดแย้งดำเนินมาจนกระทั่งถึงต้นปีนี้ที่มีเหตุการณ์ฝ่ายขวาจัดนำอันธพาลเข้าไปใช้ความรุนแรงกับคนในมหาวิทยาลัยดังที่นำเสนอไปข้างต้น

เหตุโจมตีของกลุ่มขวาจัดเกิดขึ้นเมื่อเย็นวันที่ 5 ม.ค. 2563 ซึ่งแสดงให้เห็นการยกระดับการใช้กำลังข่มเหงปราบปรามจากรัฐบาลและสะเทือนขวัญชาวอินเดีย เมื่อภาพของ ไอเช โกช ประธานสหภาพนักศึกษา JNU ผู้นำฝ่ายซ้ายของสหพันธ์นักศึกษาแห่งอินเดีย (SFI) ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะจนเลือดไหลจนต้องเย็บหลายเข็ม และศาสตราจารย์ สุชาริตา เซน ผู้ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ถูกเผยแพร่ไปทั่วโซเชียลมีเดียจนเป็นไวรัล

นักศึกษาชี้มูลว่าคนร้ายที่ก่อเหตุเป็นกลุ่ม อัคฮิล ภารติยะ วิทยาธิ ปาริชาติ หรือ เอบีวีพี (Akhil Bharatiya Vidyarthi Parishad - ABVP) ปีกนักศึกษาฝ่ายขวาส่วนหนึ่งขององค์กรขวาจัด รัชตรียา สวายัมเสวัค สังข์ หรืออาร์เอสเอส (Rashtriya Swayamsevak Sangh - RSS) หนึ่งในองค์กรฟาสซิสต์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยพรรครัฐบาลปัจจุบันของอินเดียคือพรรคภารตียชนตา (BJP) ถือเป็นฝ่ายการเมืองของกลุ่มฟาสซิสต์กลุ่มนี้

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเป็นหน้าจอแช็ตของแอปพลิเคชั่น WhatsApp ที่ถูกเก็บภาพ (แคปหน้าจอ) ไว้ แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม RSS กับ ABVP หารือกันว่าจะมี "ปฏิบัติการ" ที่กลายเป็นความรุนแรงต่อนักศึกษา JNU โดยที่กลุ่มขวาจัดเหล่านี้วางแผนดำเนินการมาเป็นอย่างดีและมีคนคอยสั่งการอยู่นอกมหาวิทยาลัยว่าจะเข้าไปโจมตีจากประตูไหน

JNU มีประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาฝ่ายซ้ายมาตั้งแต่ปี 2512 เคยเป็นปราการในการต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจฝ่ายขวามาตั้งแต่ในช่วงทศวรรษนั้น และยังเคยต่อต้านการแบ่งแยกทางการเมืองและศาสนาอีกด้วย 

มีผู้คนจำนวนมากจากมหาวิทยาลัย JNU ที่ท้าทายฉันทามติวอชิงตัน (Washington Consensus) ซึ่งถูกมองว่าเป็นนโยบายที่พยายามครอบงำเศรษฐกิจโลก รวมถึงต่อต้านการเมืองแบบกีดกันแบ่งแยกของฝ่ายขวาอย่างกลุ่ม RSS มาโดยตลอด ไม่เพียงแค่นักศึกษา แต่ครูอาจารย์และศิษย์เก่าในมหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็เป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับจักรวรรดินิยม นโยบายเศรษฐกิจแบบกดขี่ และการเมืองแบบชาตินิยมฮินดูเป็นใหญ่ (มีการเรียกกลุ่มนี้ว่า "ฮินดูทวา") ของ RSS และพรรครัฐบาลมาโดยตลอด

JNU ยังมีชื่อเสียงในทางด้านวิชาการ เป็นที่รู้จักทั้งในแง่การมีมาตรฐานสูงและมีความรับผิดชอบต่อสังคม นักศึกษาโดยเฉพาะในสายสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์เองก็เป็นสายก้าวหน้าที่เน้นใช้เหตุผล หลักการโลกวิสัยและประชาธิปไตย ซึ่งล้วนแต่เป็นรากฐานความคิดของอินเดียในฐานะสาธารณรัฐ

กลุ่มชาวมหาวิทยาลัย JNU ยังต่อสู้กับอุดมการณ์หลายอย่างของฝ่ายขวาอินเดียมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเพศสภาพอย่างการจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อินเดียมีองค์กรเช่นนี้ในสถานศึกษามีการต่อต้านกระแสนโยบายของพรรค BJP

ในยุคปี 2542-2547 ที่มีความพยายามสอดแทรกการปิดกั้นความคิดใหม่ๆ และวิทยาศาสตร์เทียมเข้ามาในหลักสูตร นักศึกษาที่นำโดยสหภาพนักศึกษาก็ประท้วงจนมีการยกเลิกความพยายามดังกล่าวไป เคยมีการประท้วงของนักศึกษาจำนวนมากต่อกรณีการสังหารชาวมุสลิมมากกว่า 2,000 รายที่แคว้นคุชราช และได้ส่งทีมนักศึกษา-คณาจารย์ลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่คนในพื้นที่ด้วย

จากการต่อกรกับฝ่ายขวามาโดยตลอด ทำให้ขบวนการสายฮินดูทวาในอินเดียพยายามโจมตี JNU อย่างไม่หยุดยั้ง เคยมีกลุ่มหัวหน้าขบวนการฮินดูทวาเรียกร้องให้มีการปิดมหาวิทยาลัยแห่งนี้และเปลี่ยนให้เป็นสถาบันการบริหารจัดการ เมื่อนเรนทรา โมดี จากพรรค BJP ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เขาก็แต่งตั้งให้ศาตราจารย์ที่มีส่วนเกี่ยวพันกลุ่มชาตินิยมขวาจัดเป็นรองอธิการบดี ซึ่งมีแรงจูงใจชัดเจนว่าต้องการทำลายขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษา เปลี่ยนให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นมหาวิทยาลัยสนับสนุนบรรษัท สนับสนุนฮินดูทวา

รัฐบาลฝ่ายขวาในอินเดียยังพยายามทำลายขบวนการฝ่ายซ้ายของ JNU ด้วยการใช้ข้อมูลเท็จใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ เช่นการทำวิดีโอปลอมกล่าวหาว่าเป็นพวก "ต่อต้านอินเดีย" และเป็นพวก "เข้าข้างปากีสถาน" เผยแพร่ทางช่องโทรทัศน์ที่เข้าข้าง BJP ทั้งยังเคยจับกุมประธานสหภาพนักศึกษาและนักกิจกรรมอื่นๆ อีก 2 ราย โดยอ้างข้อหายุยงปลุกปั่น เพื่อพยายามป้ายสีว่าคนเหล่านี้ "ชังชาติ (anti-nationals)" จากนั้นก็ใช้กลุ่มขวาจัด ABVP เข้าไปยึดกุมมหาวิทยาลัย แต่ก็มีการประท้วงอย่างหนักจากนักศึกษา อาจารย์ และศิษย์เก่าหลายพันคนจนทำให้มีการปล่อยตัวนักกิจกรรมในเวลาต่อมาและ ABVP ก็ถูกปล่อยให้โดดเดี่ยวไม่สามารถแทรกแซงขบวนการนักศึกษาได้

หลังจากนั้นฝ่ายผู้บริหารของ JNU ที่รับใช้รัฐบาลก็เล็งเห็นว่า การที่นักศึกษาของ JNU มีพื้นเพมาจากทุกที่ แล้วมาเรียนรู้และเข้าใจสังคม แล้วจบออกมาเป็นประชาชนที่วิจารณ์ชนชั้นนำ กลายเป็น "ปัญหา" ต่อกลุ่มขวาจัด จึงพยายามกีดกันไม่ให้คนจนสามารถเข้าไปเรียนได้ ตัดงบประมาณโครงการวิจัย ให้คณะทำงานไร้ประสิทธิภาพที่สนับสนุนฝ่ายขวากีดกันคนทำงานที่มีประสิทธิภาพออกไป และแต่งตั้งพวกเดียวกันเองให้ดำรงตำแหน่งได้นาน รวมถึงพยายามเปลี่ยนหลักสูตร กลายเป็นความเสียหายในระยะยาวต่อมาตรฐานการศึกษาของมหาวิทยาลัยและอัตลักษณ์ตัวตนของมหาวิทยาลัยแห่งนี้

ทั้งนี้ในช่วงเดือน ธ.ค. 2562 ยังมีประเด็นเรื่องที่รัฐบาลอินเดียผ่านร่างกฎหมายการให้สัญชาติพลเมือง (CAA) ฉบับใหม่ที่ถูกมองว่ากีดกันชาวมุสลิม ทำให้มีความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวนี้อาจจะเป็นก้าวแรกของกลุ่มชาตินิยมฮินดูในการกีดกันอัตลักษณ์อื่นๆ เช่นชาวคริสต์ หรืออาจจะลามมาถึงการข่มเหงปราบปรามฝ่ายซ้ายในเวลาต่อมาด้วย ทำให้มีการประท้วงกฎหมายนี้ในหลายมหาวิทยาลัยโดยมี JNU เป็นหนึ่งในแนวหน้า และมีการใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงต่อนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลอินเดียเองก็กำลังกังวลว่าเหตุใดกลุ่มนักศึกษายังคงยืนหยัดต่อต้านพวกเขาถึงแม้ว่าจะมีความพยายามทำลายขบวนการนักศึกษามาเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม

ในทางตรงกันข้าม การต่อสู้ของ JNU ส่งเสียงสะท้อนไปสู่สถานศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศ ทำให้มีกลุ่มนักศึกษาในสถานศึกษาอื่นๆ ทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว และในหลายกรณีก็เป็นการประท้วงแสดงความไม่พอใจการขึ้นค่าเล่าเรียนและเรียกร้องให้มีการลดค่าเล่าเรียนลง การประท้วงเหล่านี้สร้างความตระหนกให้กับกลุ่มชนชั้นนำที่ปกครองประเทศอยู่

บทความในสื่อนิตยสารจาโคแบงมองว่าการโจมตีจากฝ่ายขวาซ้ำๆ กลายเป็นสิ่งที่ทำให้นักศึกษาและคนรุ่นเยาว์หันมาต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้น ทำให้มองได้ว่าสถานการณ์ได้สร้างผู้นำเยาวชนและสร้างคำขวัญที่จับจินตนาการของผู้คนได้

เรียบเรียงจาก

India’s Left University Is Fighting Back, Jacobin, Jan. 13, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท