Skip to main content
sharethis

มหาวิทยาลัยแห่งโตเกียวซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลญี่ปุ่นแถลงว่าพวกเขาได้ไล่ออกผู้ช่วยศาสตราจารย์ โชเฮย์ โอซาวะ นักวิจัยด้านระบบปัญญาประดิษฐ์อายุ 32 ปี จากที่เขาโพสต์ความคิดเห็นในเชิงกีดกันเลือกปฏิบัติต่อชาวจีนผ่านทางทวิตเตอร์


ที่มาภาพประกอบ: Andreas Eldh (CC BY 2.0)

แถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยแห่งโตเกียวออกมาเมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า โชเฮย์ โอซาวะ นักวิจัยด้านระบบปัญญาประดิษฐ์ได้ "สร้างความเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและเกียรติยศ" ของมหาวิทยาลัยจากการที่เขาแสดงความคิดเห็นในเชิงกีดกันเลือกปฏิบัติต่อชาวจีน

โอซาวะ ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่อายุน้อยที่สุด" เคยโพสต์ไว้เมื่อเดือน พ.ค.-ธ.ค. 2562 ว่าบริษัทเดซีซึ่งเป็นริษัทเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่เขาดำเนินการอยู๋นั้น "จะไม่จ้างชาวจีน" โดยอ้างว่า "คนทำงานที่มีระดับสมรรถภาพต่ำสมควรจะถูกกีดกันเลือกปฏิบัติภายใต้บริบทของทุนนิยม" โอซาวะบอกอีกว่าเขาจะไม่สัมภาษณ์งานใดๆ ทั้งนั้นทันทีที่เขาเห็นในใบรับสมัครงานว่าเป็นคนจีนเขาจะคัดทิ้งทันที

หลังมีการประกาศไล่ออกโอซาวะ เขาก็โต้ตอบด้วยการโพสต์ทางทวิตเตอร์ว่าเป็นการตัดสินที่ "ไม่เป็นธรรม" และวิจารณ์มหาวิทยาลัยว่าตัดสินใจผิดพลาดที่ "ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของญี่ปุ่นดูเป็นเรื่องไม่จริงจัง" แต่กลับไปให้คุณค่ากับความหลากหลายของชาวเอเชีย นอกจากนี้โอซาวะยังกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัย "ถูกควบคุมโดยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน"

ถึงแม้ โอซาวะ จะขอโทษเกี่ยวกับความคิดเห็นก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติการจ้างงานคนจีน เขาก็อธิบายว่านโยบายการจ้างงานของเดซีนั้นเป็นผลมาจากระบบปัญญาประดิษฐ์ที่ "เรียนรู้อะไรซ้ำๆ มากเกินไป" จนทำให้ตัวมันเองมีข้อมูลที่จำกัด

นอกจากบริษัทปัญญาประดิษฐ์แล้ว ในเดือน เม.ย. 2562 โอซาวะยังได้รับการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษให้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ของ หน่วยงานริเริ่มด้านสารสนเทศศึกษาเชื่อมโยงหลายคณะ (IIIS) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยภายในบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยโตเกียว

โนโบรุ โคชิซุกะ หัวหน้าหน่วยงาน IIIS แถลงว่าในการที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก พวกเขาจะตั้งมาตรการใหม่ในการให้มีการหารือกันระหว่างคณะกับนักศึกษาอย่างลึกซึ้งขึ้น และมีการร่างประมวลจรรยาบรรณขึ้นในการนี้

เรื่องของการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติบนฐานของเชื้อชาติสีผิว (Racial discrimination) นั้น หมายถึงการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติใดๆ ก็ตาม ที่อยู่บนฐานเหตุของเชื้อชาติ สีผิว หรือพื้นเพเชิงชาติพันธุ์ ซึ่งการกีดกันที่ว่านี้รวมถึงการปฏิเสธจะทำธุรกิจด้วย ปฏิเสธจะปฏิสัมพันธ์ทางสังคม หรือใช้ทรัพยากรร่วมกับคนบางกลุ่มด้วยสาเหตุเรื่องเชื้อชาติสีผิว นอกจากนี้ยังรวมถึงการกีดกันเลือกปฏิบัติในเชิงการจ้างงานด้วย


เรียบเรียงจาก
University of Tokyo fires associate professor over anti-Chinese Twitter posts, The Japan Times, 15-01-2020
https://www.japantimes.co.jp/news/2020/01/15/national/university-tokyo-fires-associate-professor-anti-chinese-twitter-posts/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net