Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อุดมคติของอนุรักษนิยมนั้น ในแง่หนึ่งก็เผยแพร่ให้คนยอมรับได้ง่าย เพราะเชิดชูสิ่งที่สังคมเห็นว่าเป็นคุณค่าและเป็นอัตลักษณ์ของตนอยู่แล้ว แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ยากที่จะได้รับการยอมรับหรือบรรลุถึง เพราะคุณค่าทั้งหลายในโลกนี้ย่อมสัมพันธ์เชื่อมโยงกับกาลเวลายุคสมัยเสมอ เมื่อกาลเวลายุคสมัยเปลี่ยนไป คุณค่าเหล่านั้นย่อมด้อยความสำคัญลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยกเว้นแต่ต้องถูกตีความหรือให้ความหมายใหม่ที่สอดคล้องกับกาลเวลายุคสมัย ไม่ใช่ด้วยการประกาศย้ำแล้วย้ำอีก แต่ด้วยการสร้างสรรค์ที่ชาญฉลาด

อนุรักษนิยมที่ปราศจากการสร้างสรรค์ จึงมักถูกบิดเบี้ยวให้กลายเป็นการรักษาสถานะเดิม อันประกอบด้วยโครงสร้างผลประโยชน์, อำนาจ และเกียรติยศของคนบางกลุ่มบางเหล่า ซึ่งล้วนอ้างตัวเป็นสาวกของอนุรักษนิยม

ไม่มีอุดมการณ์อะไรที่ดำรงอยู่ได้ในสังคมสมัยใหม่ ที่ผู้คนได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางเช่นปัจจุบัน หากอุดมการณ์นั้นเปลือยตนเองล่อนจ้อนจนเหลือแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่แสดงคุณค่าเชิงสังคมใดๆ ให้เห็นอีกเลย

สังคมไทยนับจาก พ.ศ.2500 เป็นต้นมา โน้มเอียงไปทางอนุรักษนิยมสูง แต่กาลเวลาและยุคสมัยก็มีส่วนช่วยอยู่ไม่น้อย ในช่วงที่ความเติบโตทางเศรษฐกิจไทยไต่ขึ้นจากปีละ 2% เป็น 3-4-5-6… จนกลายเป็นเลขสองหลักในช่วงรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ แม้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้จะสูงแค่ไหน ผู้คนย่อมทนได้ เพราะคนส่วนใหญ่ยัง “ได้” จากระบบอนุรักษนิยม แต่เมื่อการเติบโตลดลงเหลือเพียง 2-3 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ระบบอนุรักษนิยมย่อมทำให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำนั้น “สุดขั้ว” เหลือจะรับได้

ในสภาวะเช่นนี้ การตอกย้ำคุณค่าของอดีต (ที่ขาดการสร้างสรรค์ใหม่) และ “สถานะเดิม” จะเหลือเสน่ห์อะไรอีก และนั่นคือเหตุผลที่อนุรักษนิยมไทยต้องอิงอาศัยอำนาจรัฐเผด็จการ เพื่อรักษา “สถานะเดิม” ไว้ให้ดำรงอยู่ต่อไป …อย่างไม่มีทางเลือก

อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจไม่ใช่พลังเพียงอย่างเดียวของอุดมการณ์ – ไม่ว่าจะอนุรักษนิยมหรืออุดมการณ์อื่น – สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือระบบคุณค่าบางอย่างที่ให้ความหมายแก่ชีวิต ทำให้สาวกของอุดมการณ์รู้ว่าตนมีชีวิตเพื่ออะไร และทำสิ่งต่างๆ เพื่ออะไร

ในแง่นี้ต่างหากที่ผมคิดว่าอนุรักษนิยมไทยหมดพลังไปมาก เหลือแต่การโจมตีคนเห็นต่างด้วยคำพูดหรือกฎหมายและอำนาจรัฐ เพื่อนของผมคนหนึ่งโพสต์เฟสบุ๊คว่า ปัญญาของอนุรักษนิยมไทยสิ้นสุดลงพร้อมกับมรณกรรมของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งก็คงจริงในแง่ที่หาปัญญาชนอนุรักษนิยมที่ทำงานสานต่อท่านสืบมาไม่ได้ แต่กระบวนการเสื่อมทรุดของอนุรักษนิยมไทยมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น ค่อยๆ เกิดขึ้นโดยไม่มีใครคนเดียวจะฉุดรั้งแปรผันวิถีทางเสื่อมทรุดนั้นได้

ผมคิดว่าการพิจารณากระบวนการนี้น่าสนใจ โดยเฉพาะแก่ผู้ที่อยากเห็นอนุรักษนิยมไทยมีพลังกลับฟื้นคืนมาใหม่ โดยไม่ต้องอาศัยพลังรัฐที่ฉ้อฉลเป็นเครื่องมือ

ผมไม่ทราบว่าอนุรักษนิยมไทยก่อน ร.5 เป็นอย่างไร แต่นับจาก ร.5 ลงมา อุดมการณ์ของอนุรักษนิยมย่อมประกอบขึ้นด้วยการผนวกเอาระบบคุณค่าของตะวันตกมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบคุณค่าไทย แม้คุณค่าตะวันตกบางอย่างอาจกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของชนชั้นนำ คุณค่านั้นก็ไม่ถูกปฏิเสธ เพียงแต่พยายามชี้ว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะรับเอาคุณค่านั้นมาปฏิบัติ

น่าอัศจรรย์ที่จะกล่าวไว้ด้วยว่า ความคิดที่ว่าเมืองไทยมีลักษณะพิเศษของตนเองบางอย่างที่ไม่เหมือนใคร (ลัทธิยกเว้นของไทย – Siamese Exceptionalism) ชนชั้นนำสยามกลับไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มไว้ แต่เป็นลูกจ้างชาวอังกฤษของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สยามต่างหาก ที่ “ยกเว้น” เมืองไทยไว้จากระบบคุณค่าบางอย่างของตะวันตก และจะกลายเป็นทัศนะพื้นฐานทางวิชาการของนักวิชาการตะวันตกสืบมา โดยเฉพาะในหมู่นักวิชาการอเมริกัน ทั้งนี้ รวมทั้ง “ความเป็นไทย” ที่มีมาแต่กำเนิดชนชาติ (primordial) ด้วย

อันที่จริงชนชั้นนำไทยนับตั้งแต่โบราณกาล เป็นสื่อนำระบบคุณค่าจากต่างแดนเข้ามาสู่สังคมเสมอมา ทั้งคุณค่าเชิงนามธรรมเช่นศาสนาฮินดูและพุทธ, พิธีกรรมในราชสำนัก, ศัพท์เขมร, ตลอดจนคุณค่าเชิงวัตถุนับตั้งแต่ปืนไฟ ไปจนถึงรถไฟ และการบริหารสาธารณะแบบแบ่งแยกขอบเขตอำนาจ-หน้าที่ชัดเจน

นอกจากนี้ ภายใต้อำนาจของระบอบจักรวรรดินิยมตะวันตก ระบบคุณค่าของตะวันตกถูกเสนอประหนึ่งเป็นคุณค่าสากล ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ชนชั้นนำสยาม-ไทยนับจาก ร.5 ลงมาพยายามจับจอง (หรือผูกขาด?) การนำเข้าระบบคุณค่าดังกล่าว สถาปัตยกรรมและประติมากรรมนีโอคลาสสิค, เครื่องดนตรีและการประกอบวงแบบตะวันตก, เช็กสเปียร์, ละครพูด, ละครร้อง, เครื่องแต่งกาย, มารยาททางสังคม ฯลฯ

หากเปรียบเทียบกับประเทศเอเชียอื่นๆ จะเห็นความแตกต่างได้ชัด ในประเทศอาณานิคม วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายไปในหมู่คนหลากหลายกว้างขวางกว่าชนชั้นนำ ผู้ที่เป็นสื่อกลางของวัฒนธรรมตะวันตกจึงประกอบขึ้นด้วยคนหลากหลายประเภท จนแม้แต่วิกตอร์ ฮูโก ก็อาจเป็นศาสดาของศาสนาใหม่ที่ดึงดูดความศรัทธาจากชาวบ้านสามัญในเวียดนามตอนใต้ได้

อย่างไรก็ตาม การยอมรับความเป็นสากลของวัฒนธรรมตะวันตกในหมู่ชนชั้นนำสยาม ต้องเผชิญปัญหาที่กระทบต่ออำนาจทางการเมืองของตน เมื่อบางกลุ่มของชนชั้นนำและคนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาแผนใหม่ในเวลาต่อมาผลักดันให้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปในทางที่เปิดให้ประชาชนหลายกลุ่มมากขึ้นเข้ามามีส่วนร่วม

ข้อถกเถียงโต้แย้งของชนชั้นนำว่าไม่ควรจะเปลี่ยนระบบปกครองวนเวียนอยู่กับหลักการสองประการ หนึ่งคือขัดกับประเพณีการปกครองที่คนไทยเคยชิน ถึงนำมาใช้ก็ไม่บังเกิดผล เพราะสภาที่ปรึกษาจะไม่กล้าแสดงความเห็นคัดค้านพระบรมราโชบาย หรือกลายเป็นสภาของกลุ่มพ่อค้าจีนและอิทธิพลท้องถิ่น ซึ่งมุ่งจะรักษาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มมากกว่าของส่วนรวม

ดังนั้น กระบวนการทำให้เป็นตะวันตก (westernization) ในสยามจึงเป็นกระบวนการที่อยู่ในความควบคุมของชนชั้นนำอย่างมากกว่าในอีกหลายประเทศทั่วโลก อย่างน้อยก็จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อกระบวนการโลกาภิวัตน์ทางวัฒนธรรมแพร่ขยายลงมาถึงสามัญชนทั่วไป ด้วยช่องทางการตลาดของสินค้าทางวัฒนธรรม เช่น ภาพยนตร์และนวนิยายแปล และยิ่งแพร่ขยายไปกว้างขวางกว่านั้นอีกนับตั้งแต่เริ่มสงครามเย็นเป็นต้นมา

(ขอพูดนอกเรื่องไว้ด้วยว่า เราควรมองนโยบาย “ปฏิรูปวัฒนธรรม” ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระหว่างปลายทศวรรษ 1930 และ 1940 เช่น ให้สวมหมวก, เลิกกินหมาก, นุ่งกระโปรง, สวมเสื้อ ฯลฯ เกิดขึ้นในบริบทของการที่ได้ปลดปล่อยกระบวนการทำให้เป็นตะวันตกจากการควบคุมของชนชั้นนำตามประเพณีในปี 2475 ด้วย)

ที่ผมพูดทั้งหมดมาถึงตรงนี้ ดูเหมือนเหตุผลเพื่อสนับสนุนอนุรักษนิยมไทยฟังดูง่ายและตื้นมาก แต่ที่จริงแล้วความสำเร็จของอนุรักษนิยมไทยที่ทำให้อุดมการณ์ของตนเป็นที่ยอมรับแม้ในหมู่คนนอกกลุ่มชนชั้นนำ เกิดขึ้นจากปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างมากกว่าเหตุผลที่ฟังดูง่ายและตื้นเหล่านั้น

ผมคิดว่าความสำเร็จอย่างน้อยสามอย่างที่จะพูดต่อไปนี้ต่างหากที่ทำให้อนุรักษนิยมสยาม-ไทยมีพลังครอบงำสูงสืบมาอีกนานหลายสิบปี

ประการแรก อนุรักษนิยมสยาม-ไทยสร้าง “คุณค่า” ใหม่ที่กลายเป็นเนื้อหาหลักของ “ความเป็นไทย” ซึ่งเป็นสำนึกที่จำเป็นต้องมีในรัฐสมัยใหม่ เพื่อให้เทียบเทียมได้กับอัตลักษณ์ของชาติอื่นๆ ในโลกสากล ผมขอยกตัวอย่างเพียงสามด้าน คือ ศิลปะ, วรรณคดี และประวัติศาสตร์ ขอให้สังเกตด้วยว่าทั้งสามคำล้วนเป็นคำที่เพิ่งบัญญัติขึ้นใหม่ หรือได้ความหมายใหม่ (เช่น สิปปะ-ศิลปะ แต่เดิมใช้ในความหมายว่า “ช่าง, การช่าง” เท่านั้น) ยิ่งกว่านั้นยังบัญญัติ “มาตรฐาน” ให้แก่ทั้งสามอย่างนั้น จนกระทั่งถึงจะมีการสร้างสรรค์ใหม่ใดๆ ก็จะต้องสอดคล้องกับ “มาตรฐาน” นั้นในระดับหนึ่งเสมอ จึงจะถือได้ว่าไม่หลุดจาก “ความเป็นไทย”

พูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ปัญญาชนอนุรักษนิยมสยาม-ไทยกำหนดว่า “คนไทย” คืออะไร

ประการต่อมา ทั้งศิลปะ, วรรณคดี, ประวัติศาสตร์ ย่อมไม่อยู่นิ่ง แต่ผันแปรสืบต่อมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญญาชนอนุรักษนิยมสยาม-ไทยประสบความสำเร็จที่จะตีความใหม่ ให้ความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นความสืบเนื่องเสมอ เช่น ประชาธิปไตยกลายเป็นโครงการที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์วางแผนให้เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปอยู่แล้ว

ประการสุดท้ายก็คือ ประเพณีทางปัญญาที่สร้างขึ้นต้องได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปัญญาชนรุ่นหลังอาจไม่ใช่คนในแวดวงของชนชั้นสูงอีกแล้วก็ได้ ปัญหาคือจะผนวกเอาคนรุ่นหลังให้เข้ามาในแวดวงทางปัญญาเช่นนี้ได้อย่างไร ในแง่นี้ต้องถือว่าปัญญาชนอนุรักษนิยมสยาม-ไทยในรุ่นแรกก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยอยู่นั่นเอง เพราะสามารถสืบทอดความรู้กันมาอย่างน้อยก็หนึ่งหรือสองชั่วอายุคน และใช้ความรู้นั้นผดุงหลักการของอนุรักษนิยมไว้ได้

ผมเข้าใจว่า ปัญญาชนอนุรักษนิยมสยาม-ไทยใช้ความสัมพันธ์เชิง “ครู-ศิษย์” เป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอุดมการณ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ครู-ศิษย์โดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ขอให้สังเกตด้วยว่า มีนักวิชาการรุ่นหลังจำนวนไม่น้อยที่ถือว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น “อาจารย์” ตัวท่านเองมีส่วนอยู่มากในการวางหลักสูตร “ยำไทย” หรือ “อารยธรรมไทย” ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในสมัยหนึ่ง ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึง “ลูกศิษย์” ของท่านอีกมากในวงการโขนและนาฏศิลป์ และที่ได้เรียนรู้จากการได้ร่วมงานกับท่าน

ผมไม่ปฏิเสธว่าการถืออำนาจทางการเมืองในสมัยหนึ่งก็มีส่วนทำให้ปัญญาชนอนุรักษนิยมสยามประสบความสำเร็จ แต่อำนาจทางการเมืองเพียงอย่างเดียวไม่พอแน่ หากเพราะสิ่งอื่นที่กล่าวแล้วมีความสำคัญกว่า ดังนั้น แม้เมื่ออำนาจทางการเมืองหลุดจากมือไปแล้ว อุดมการณ์อนุรักษนิยมสยาม-ไทยก็ไม่ได้ล่มสลายลง แต่ยังสามารถสืบทอดต่อมาในวิถีคิดของผู้มีการศึกษาไทยสืบมาอีกนาน

แต่ประเพณีทางปัญญาดังกล่าวนี้ขาดตอนลง คงด้วยปัจจัยหลายอย่างหลายประการ แต่ผมคิดว่าปัจจัยหลักก็คือ ปัญญาชนรุ่นหลังหมดความสามารถที่จะผนวกเอาปัญญาชนรุ่นเล็กที่ตามมาเข้าสู่ประเพณีทางปัญญาอันเดียวกันนี้ จะหมดความสามารถเพราะสถานะทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่อำนวย หรือสติปัญญาของตนเองที่ยืดหยุ่นไม่เพียงพอก็ตาม

(อาจารย์วิลเลียม เก็ตนีย์ เล่าถึงคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ว่า เคยต้องการเข้าเฝ้าและเรียนรู้จากเจ้านายชั้นสูงพระองค์หนึ่งซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย แต่ในที่สุดก็ไม่บังเกิดผลอะไร)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ได้เป็นปัญญาชนอนุรักษนิยมคนสุดท้ายเพราะมีอายุสืบมานาน แต่เพราะเป็นผู้ที่สืบทอดประเพณีทางปัญญาของอนุรักษนิยมรุ่นแรกได้ครบบริบูรณ์ มีลักษณะยืดหยุ่น, พร้อมจะตีความใหม่หรือให้ความหมายใหม่แก่คุณค่าเก่า และสามารถผนวกเอาคนรุ่นหลังเข้ามาในประเพณีทางปัญญาของอนุรักษนิยมได้ต่างหาก

เมื่อประเพณีทางปัญญานั้นขาดตอนลงโดยสิ้นเชิง อนุรักษนิยมไทยที่เหลืออยู่จึงเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมือง ขาด “คุณค่า” เชิงสังคมที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน ขาดพลังชี้นำ จึงต้องอาศัยอำนาจเงิน, อำนาจกฎหมาย และอำนาจทางการเมือง และการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ในการผดุงตนให้ดำรงอยู่เท่านั้น

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_264959

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net