การวิ่งไล่ลุงกับเดินเชียร์ลุงในสังคมหลังความจริง (Post-Truth society)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เหตุการณ์เมื่อวานคือการระดมมวลชนทั้งสองฝ่ายดังที่เรียกว่าวิ่งไล่ลุงกับวิ่งเชียร์ลุงสะท้อนให้เห็นถึงสังคมแบบ Post- truth นั่นคือสังคมที่เน้นการใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการโหมกิจกรรมของตนเพื่อโน้มน้าวอารมณ์เพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่าการใช้เหตุผลเช่นการอภิปราย หรือตามมุมมองของผม ความจริงในโลกยุคใหม่ถูก fragmentizing หรือถูกทำให้เป็นส่วนๆ หรือนำเสนอเป็นมิติทางภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวในอินเทอร์เน็ต (แน่นอนว่าคนรุ่นใหม่จะสนใจหรือให้เครดิตกว่าสื่อดั้งเดิมอย่างโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และวิทยุซึ่งถูกรัฐคุม) ในการทำให้พลเมืองชาวเน็ตเชื่อต่ออุดมการณ์ที่ตัวเองยึดถือ

สำหรับคนที่ต้องการขับไล่รัฐบาลมีเวทีในการแสดงออกทางการเมืองทางกายภาพน้อยเพราะทั้งถูกรัฐสกัด ดึงบีบ ทั้งที่สิทธิเหล่านี้ได้รับการระบุในรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลประยุทธ์ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลเผด็จการทั่วไปที่ใช้กลยุทธ์ในการจำกัดสิทธิเหล่านั้น อาจด้วยความมึนของมวลชนที่ยังติดอยู่กับวาทกรรมความสามัคคีแบบในยุคประยุทธ์ 5 ปีแรก จึงทำให้เรามองการประท้วงเป็นเรื่องผิดปกติ พวกต่อต้านรัฐบาลจึงเลี่ยงออกมาในเชิงสัญลักษณ์หรือพิธีกรรมอื่นแบบอ้อมๆ เพื่อสะท้อนถึงความไม่พอใจอย่างการวิ่งซึ่งถูกจริตกับคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ใจสุขภาพ แต่สามารถนำไปสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ตรงไปตรงมาอันทรงพลังในอนาคตแม้จะโดนรัฐสกัดอย่างสุดชีวิตดังในพะเยา

ส่วนคนที่สนับสนุนรัฐบาลก็ได้รับการช่วยเหลืออย่างดีจากรัฐ แม้บางทีถูกนำเสนอในด้านลบเช่นเน้นภาพคนชรา หรือจำนวนคนเข้าร่วมไม่มากจากช่องที่สนับสนุนคนวิ่งไล่ลุง แต่ผมคิดว่ารัฐน่าจะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งนั้นคือการทำสงครามเพื่อแย่งชิงความสนใจของพลเมืองชาวเน็ต ไม่ให้ชาววิ่งไล่ลุงมีความโดดเด่นจนทำให้สังคมเกิดความเชื่อว่ามีแต่คนต่อต้านรัฐบาล อันจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวแบบเดิม จนเกิด Thailand Spring (ล้อมาจาก Arab Spring ในปี2011ที่ชาวอาหรับหลายประเทศล้มรัฐบาลเผด็จการโดยได้การช่วยเหลือจากโซเชียลมีเดีย) ขึ้นมา ใยไม่นับสื่อดั้งเดิมที่ถูกคุมโดยรัฐเพื่อนำเสนอว่าการวิ่งของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่จะไม่เป็นภัยต่อเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นอันขาด

ด้วยสังคมแบบ Post- truth ที่เอาความจริงมาซอยเป็นส่วนๆ และยำเสียจนคนสับสนว่าเหตุการณ์เมื่อวานสะท้อนว่าคนเกลียดรัฐบาลมีมากหรือน้อยกว่าคนชอบรัฐบาล อันไหนเป็น fake news หรือ misinformation กันแน่ การตีความต่อเหตุการณ์เมื่อวานผ่านคอมเมนท์ในเฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ ยูทูบก็ยังดูก้ำกึ่งคือ ถึงแม้วิ่งไล่ลุงจะได้รับเสียงทางบวกเยอะกว่า แต่คนเชียร์รัฐบาลก็มักหันมาบริโภคช่องที่ตัวเองชอบเสียมากกว่าคือด่าคนไล่ลุง ผลคือความคลุมเครือ เข้าทำนองฝุ่นตลบที่ใครก็ตัดสินอะไรไม่ได้อย่างเป็นเอกฉันท์

นอกจากนี้กลุ่มไล่ลุงยังปล่อยทีเด็ดคือการโชว์ภาพนักวิ่งของตนที่เป็นสาวๆ หน้าตาแฉล้ม ชวนหลงไหล ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผมไม่ค่อยเห็นชัดเจนในกลุ่มที่อยู่ตรงกันข้ามกับฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยม สำหรับความสวยน่ารักของผู้ประท้วงนี่ผมเคยเห็นจากการนำเสนอของกลุ่มพันธมิตรและกปปส.ผ่านสื่อดั้งเดิมคือนิตยสารซึ่งเป็นของฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมเมื่อหลายปีก่อน ถึงแม้ความสวยน่ารักไม่น่าเกี่ยวอะไรกับการเมือง แต่ก็กลายเป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวมวลชนให้เข้าข้างตนได้อย่างอัศจรรย์ใจ เหมือนโฆษณาสินค้าที่เน้นพรีเซนเตอร์เป็นดาราหรือคนดัง บุคลิกดี หน้าตาดี ซึ่งไม่ได้บอกคุณภาพสินค้าเลย เข้าทำนอง postmodernism คือ Presentation is more real than the real. หรือภาพปรากฏเป็นจริงยิ่งกว่าจริง ในขณะเดียวกันนิตยสารของพวกขวาก็จะเสนอภาพของกลุ่มเสื้อแดงเป็นคนสูงวัย ชาวบ้าน ป่าเถื่อน ตรงนี้ผมเห็นกับตาจากนิตยสารชีวจิตซึ่งมีบทความหนึ่งใส่ภาพของคนประท้วงเสื้อเหลืองเป็นสาวสวยยิ้มแย้มชูสองนิ้ว คู่กับอีกภาพคือคนประท้วงเสื้อแดงเป็นชายวัยกลางคนหน้าตาบูดบึ้งกำลังอ้าปากตะโกนอันเป็นการโน้มน้าวมวลชนแบบลักไก่ (implicit) ทั้งที่บทความพูดถึงเรื่องสุขภาพจิตที่ได้รับผลกระทบจากการประท้วง

ปัจจุบันนิตยสารสำหรับผู้หญิงของพวกขวาอนุรักษ์นิยมกำลังล้มหายตายจากเพราะโซเชียลมีเดีย จึงเปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลซึ่งสลัดคราบของเสื้อแดงรุ่นโบราณสามารถทำ Self -Presentation ที่ทรงพลัง(แม้ไม่สอดคล้องความจริง) แข่งกับพวกขวาอนุรักษ์นิยมได้ ผมไม่คิดว่าในปัจจุบันฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมจะสามารถเกณฑ์ดาราคนดังมาประชันได้อย่างทรงพลังอีกต่อไป (สาเหตุที่กปปส.สามารถเอาคนชนิดนั้นมาร่วมม็อบพันธมิตรและกปปสได้มากมายเพราะเจ้าของค่ายดาราและสื่อล้วนอยู่ในเครือข่ายอำนาจของพวกขวาอนุรักษ์นิยม) เพราะพวกเขาขาดความน่าเชื่อถือทางการเมืองด้วยไปสนับสนุนให้ทหารทำรัฐประหารแล้วก็ได้รัฐบาลไดโนเสาร์ที่บริหารประเทศเฮงซวยอย่างที่เห็น

และที่สำคัญการออกมาชนกับพรรคอนาคตใหม่และการเชียร์ลุงอาจทำให้ดาราสูญเสียคะแนนความนิยมจากคนรุ่นใหม่ไปมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ค่ายหนังละครเพลงไม่อาจทนได้เหมือนช่วงประท้วงทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ที่กำลังแรงในชนชั้นกลาง ดังนั้นดาราที่ออกมาชนกับธนาธรกับปิยะบุตรจึงมักเป็นดารา นักร้องอายุสี่สิบอัพที่ไม่ค่อยมีอะไรต้องเสียอย่างอุ๊ แวนโก๊ะ โจ นูโว หรือเสรี วงศ์มณฑา หรือนก สินจัยซึ่งเสี่ยงเอาว่าการประจบลุงจะมีผลต่อเร็ตติ้งละครของเธอไหม (แลกกับคอนเน็คชั่น) ถ้าเธอไม่ดังเปรี้ยงปร้างเท่า BNK 48 ที่ทำกิจกรรมร่วมกับลุงตู่อย่างอบอุ่น (แต่ความนิยมของพวกเธอก็สะดุดไปพอควร) ดังนั้นดาราที่เคยเข้ากลุ่มกปปส.ส่วนใหญ่จึงมักปลดเกียร์ว่าง แถมยังภาวนาว่าจะตัวเองโดนรื้อฟื้นอดีตเมื่อไรผ่านโซเชียลมีเดีย

สรุปง่าย ๆ ไม่ว่าเหตุการณ์ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรเรากำลังอยู่ในสงครามแบบ Self -Presentation ที่เหนือจริงอยู่ในสังคมแบบ Post -Truth อยู่ครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท