Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ถอดคำอภิปรายของ “ชำนาญ จันทร์เรือง”ในญัตติขอตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ปี 60

ท่านประธานที่เคารพครับ ผม ชำนาญ จันทร์เรืองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ผมจะปฏิบัติตามที่ท่านรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัยไว้นะครับ จะไม่พยายามพูดในประเด็นที่หลายท่านพูดหรือคิดว่าน่าจะพูดไปแล้วนะครับ และกระผมก็ไม่แน่ใจว่าการอภิปรายของผมครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายก็ได้นะครับ เพราะพรรคผมอาจจะถูกยุบด้วยเหตุผลพวงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้นะครับ จึงสามารถกล่าวได้ว่าเราจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างยิ่งนะครับ แน่นอนครับ เรื่องรัฐธรรมนูญมีทั้งคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย อยากให้แก้ ไม่อยากให้แก้ และอยากให้แก้แตกต่างประเด็นกันไปนะครับ แต่ผมเชื่อว่าในประเด็นที่ผมจะพูดต่อไปนี้จะเป็นประเด็นที่หลาย ๆ ฝ่ายเห็นตรงกัน 6 ท่านหรือ 7 ท่านแรกที่พูดไปแล้วนี่นะครับ 

ประเด็นแรกก็คือว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพเลย ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญที่เราเคยมีผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้โยกย้ายสิทธิหลายประการ เช่น สิทธิในการศึกษาฟรี 12 ปี สิทธิของผู้บริโภค สิทธิในการรับบริการสาธารณสุขโดยเสมอกันออกจากหมวดสิทธิเสรีภาพไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ หลายคนอาจคิดว่ามันก็เหมือนกันไม่ใช่หรือ ไม่นะครับ การที่ไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์พึงมีโดยธรรมชาติถูกทำให้มันเจือจางลง กลายเป็นรัฐเป็นคนกำหนดสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังเพิ่มเงื่อนไขในการจำกัดเสรีภาพไว้อีก 2 ข้อ ก็คือการกระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นคำที่ตีความได้กว้างขวางมากและถึงมากที่สุด แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะกำหนดให้กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่สร้างภาระหรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินสมควร แต่รัฐธรรมนูญก็ยังรับรองบรรดาประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนตามกติกาสากลอยู่นะครับ ที่ผ่านมาภาคประชาชนพยายามอ้างรัฐธรรมนูญเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพแต่ไม่ประสบความสำเร็จเลย เช่น ภาคประชาชนยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบคำสั่งของหัวหน้าคสชที่ 3/2555 ข้อ 12 เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกับอ้างว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเพราะมีผลบังคับใช้ตามรัฐธรรมนูญ และล่าสุดคำพิพากษาฎีกาก็ออกมารับรองอีกว่าไม่กระทบต่อสิ่งที่ทำไปแล้ว หรือในกรณีภาคประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ตรวจสอบคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองและกฎหมายผังเมืองซึ่งขัดต่อหลักสิทธิชุมชน แต่ศาลปกครองกับยกฟ้องเนื่องจากรัฐธรรมนูญให้การคุ้มครองคำสั่งดังกล่าว

อันนี้ก็ยังไม่เท่าไรในคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาล หรือคำสั่งที่ให้เหตุผลว่ารัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่ที่มันน่าเกลียดที่สุดก็คือว่าในคำพิพากษาซึ่งในอดีตเราทราบกันอยู่แล้วตั้งแต่ ปี 2496 ปี 2505 ที่มักจะอ้างว่าคำสั่งของคณะรัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์ แต่ช่วงหลังมา ไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองก็หลีกเลี่ยงพยายามไม่ให้มีการใช้อันนี้ ก็เลยไปใช้คำว่าเมื่อรัฐธรรมนูญรับรองไว้ แต่เมื่อปีที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์กับใช้อีกว่าคำสั่งรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และที่สำคัญก็คือว่าสมาชิก คสช. ทั้งหัวหน้า ทั้งรอง คสช. มีหลายครั้งที่พูดว่าเราเป็นรัฏฐาธิปัตย์ รัฏฐาธิปัตย์แปลว่าใหญ่ที่สุดในแผ่นดิน แน่ใจหรือครับใหญ่ที่สุดในแผ่นแล้วทำไมจะต้องได้รับการแต่งตั้งอีก ไม่ใช่นะครับ รัฐธรรมนูญทุกฉบับจะเขียนไว้ตลอดว่าอำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยหรือบางฉบับเขียนว่ามาจากปวงชนชาวไทย  แม้แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2557 ซึ่งเป็นฉบับของคณะรัฐประหารเองก็ยังบอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เพราะฉะนั้นก็จึงหมายความว่ารัฏฐาธิปัตย์คือประชาชนชาวไทยไม่ใช่คณะรัฐประหาร นี่คือประเด็นที่ 2

ประเด็นที่ 3 บรรดาหลักรัฐศาสตร์สมัยใหม่ไม่มีใครยอมรับรัฏฐาธิปัตย์ที่มาจากการรัฐประหารแล้ว แต่ศาลหรือวงการนิติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยังนำมาใช้คำว่ารัฏฐาธิปัตย์อีกซึ่งมันไม่ถูกต้อง โดยหลักแล้วศาลจะต้องตัดสินตามกฎหมาย คำว่า รัฏฐาธิปัตย์ ไม่มีในกฎหมายฉบับใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ว่านำมาวินิจฉัยในคำสั่งหรือคำพิพากษาว่าคำสั่งรัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์

ประเด็นที่ผมจะกล่าวถึงก็คือว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำไมถึงจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ไข คือรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ไม่ไว้ใจประชาชนถือว่าเป็นความถดถอยขอระบอบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง ฉบับก่อนหน้านี้การจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างปี 2540 ปี 2550 ก็จะกำหนดไว้ด้วยถ้อยคำเฉพาะเจาะจงว่าสภาวะสงครามหรือกฎอัยการศึก แต่รัฐธรรมนูญ ปี 2560 อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ เพื่อความปลอดภัยสาธารณะหรือความสงบเรียบร้อยอันดีอันนี้กว้างขวางมาก และที่สำคัญที่สุดอีกอันหนึ่งในฐานะที่ผมเป็นคนรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องการกระจายอำนาจหรือการจัดการตนเอง เคยมีการเสนอพระราชบัญญัติโดยการรวบรวมรายชื่อ แต่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับนี้ไม่มีนะครับ พ.ร.บ. ที่จะเข้าชื่อโดยประชาชน แต่เดิมจากหมวดสิทธิเสรีภาพกับหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไปหมวดสิทธิเสรีภาพและหมวดหน้าที่ของรัฐไม่มี และที่สำคัญที่สุด รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ฉบับนี้ทั้งฉบับ  รวมถึงหมวดการปฏิรูปประเทศ ไม่มีคำว่ากระจายอำนาจแม้แต่คำเดียว ไม่เชื่อท่านไปเปิดดูนะครับ และที่สำคัญอีกอันหนึ่งเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นหลายคนยังไม่เคยมีการพูดถึงในนี้ แต่ผมจะพูดอยู่เสมอก็คือว่า มาตรา 252 วรรคหนึ่ง บอกสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง เรื่องปกติครับที่ไหนก็เฉย ๆ ธรรมดา บอกว่าอย่างนี้ถูกแล้วนี่ ใช่  แต่วรรคที่ 2 บอกว่าผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งก็ถูกแล้วนี่ แต่ว่ามันมีคำว่า หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น สมัยก่อนเราเลือก ส.ท. ส.ท. ก็ไปเลือกนายกฯ เลือกเทศมนตรี ไม่ถูกหรือ ไม่ถูกนะครับ หรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่นก็หมายความว่าใครก็ได้ถ้าสภาท้องถิ่นเห็นชอบท่านองค์กรปกครองท้องถิ่นแล้วระวังไว้ให้ดีนะครับ และที่สำคัญที่สุด ร้ายที่สุดก็คือว่า หรือในกรณีองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจะให้มาโดยวิธีอื่นใดก็ได้ อันนี้หนักเลยนะครับ จะเหาะมาเหินมาหรือไม่มีสภา หรืออะไร ทำอะไรได้ทั้งนั้น

และประเด็นที่ผมจะพูดถึงอีกก็คือว่ามีหลายท่านพูดไปแล้ว แต่ผมจะพูดนิดเดียวก็คือเรื่องเลือกตั้ง เมื่อสักครู่นี้ท่านก่อนหน้าผมก็พูดเรื่องระบบจัดสรรปันส่วนผสม บอกว่าไปเอามาจากประเทศเยอรมันมา ประเทศเยอรมันใช้บัตรใบเดียวไม่เถียงครับ ประเทศเยอรมันเขาใช้คำว่า มิกซ์ เมมเบอร์ พรอพโพรชั่นนอล (Mixed member proprotional) ก็คือแบบอัตราส่วน ของเราใช้ มิกซ์ เมมเบอร์ แอพพอร์ชันเมนต์ ซิสเต็ม (Mixed member apportionment system) เอ็มเอ็มเอ (MMA) เยอรมัน เอ็มเอ็มพี (MMP) นะครับ จัดสรรปันส่วนผสม ประเทศเยอรมันใช้บัตรใบเดียวก็จริง แต่เขามี 2 ข้าง ข้างหนึ่งเลือกคน ข้างหนึ่งเลือกพรรคเพื่อสะดวกในการคำนวณดูแนวโน้ม ดูวิจัยว่าคนเลือกพรรคกับเลือกคนตรงกันหรือไม่อะไรทำนองนั้น ไม่ใช่แบบเรานะครับ ไม่ใช่แบบเราใบเดียวกาครั้งเดียว ไม่ใช่นะครับ แล้วระบบเลือกตั้งแบบนี้ไม่เคยมีในที่ไหนในโลกบอกไว้เลยนะครับไม่เคยมีเลย แม้แต่ในทวีปแอฟริกาก็ยังไม่มี

สุดท้ายอีกอันหนึ่งก็คือว่าหลาย ๆ คนมีการพูดถึงเรื่องหน้าที่และอำนาจ เพื่อนสมาชิกเราหลายคนตอนยกร่างข้อบังคับก็เช่นเดียวกัน เราคุ้นชินกันมาตลอด เราเรียนรัฐประศาสนศาสตร์มาตลอด อำนาจหน้าที่คือ ออทอริดี (Authority) หน้าที่และอำนาจคือ ดิวตี แอนด์ เพาเวอร์ (Duty and Power) เขาบอกว่าต้องเอาหน้าที่ขึ้นมาก่อน ถ้าหน้าที่แล้วมันถึงจะมีอำนาจ ไม่ใช่ศัพท์ทางรัฐศาสตร์ ผมไม่รู้ว่านักวิชาการรัฐศาสตร์ที่อยู่ในคณะกรรมการร่างมี 2-3 คน ไม่รู้ท้วงหรือเปล่า หรือว่าทวงแล้วไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นถ้อยคำธรรมดาที่ไม่ใช่ถ้อยคำที่จะต้องเขียนทางวิชาการตามกฎหมาย ผมจะใช้คำว่า อำนาจหน้าที่ตลอด และผมยืนยันว่าคำว่า หน้าที่และอำนาจ ไม่ถูกต้อง ขอบคุณครับ


หมายเหตุ อภิปรายเมื่อ 11 ธันวาคม 2562

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net