ตามเสด็จสมเด็จพระนเรศวรไปในวงล้อมของข้าศึก: “วันยุทธหัตถี” กับการผลิตซ้ำภายใต้กรอบโครงการประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

18 วันให้หลังการเข้าสู่ศักราชใหม่ กองทัพไทยมีพิธีกรรมสำคัญที่ยึดถือปฏิบัติมาเป็นเวลากว่า 60 ปีมาแล้ว นั่นคือ พิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณของทหาร-ตำรวจเนื่องใน “วันกองทัพไทย” ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นวันที่ทุกเหล่าทัพมารวมตัวกันเพื่อแสดงแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ และกระทำการปฏิญาณตนต่อหน้าธงชัยเฉลิมพลอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เป็นสัญลักษณ์ของสามสถาบันสูงสุด อันได้แก่ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์

ภาพของพิธีกรรมอันโอ่อ่าที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณะในทุกวันที่ 18 มกราคมของทุกปีนั้น เมื่อย้อนรอยสืบค้นความเป็นมาของพิธีกรรมนี้พบว่า มีกระบวนการยึดโยงกับประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม อันเป็นการเขียนประวัติศาสตร์ที่เน้นเรื่องราวการกอบกู้เอกราชของกษัตริย์ไทย (ธงชัย วินิจจะกูล, 2559) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการนำ plot  ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กษัตริย์ไทยที่ได้รับการผลิตซ้ำมากที่สุดผ่านประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรม (cultural construct) หลากหลายรูปแบบ เช่น หนังสือประวัติศาสตร์ ตำราเรียน อนุสาวรีย์ สื่อบันเทิง ธนบัตร พระเครื่อง ฯลฯ จนอาจกล่าวได้ว่า เรื่องเล่าของมหาราชพระองค์นี้แทรกซึมอยู่ในทุกขณะจิตของผู้ที่ชอบเสพประวัติศาสตร์ฉบับรัฐ และไหลเวียนแวดล้อมอยู่ในชีวิตของคนไทยโดยทั่วไป ไม่ว่าจะตั้งใจเสพหรือไม่ก็ตาม

ความมุ่งหมายของบทความนี้ คือ การพาผู้อ่านย้อนกลับเข้าไปในบริบททางประวัติศาสตร์ของช่วงเริ่มต้นวันกองทัพไทย ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องเล่าของสมเด็จพระนเรศวรอย่างมีนัยสำคัญ โดยประเด็นที่ชวนให้ผู้อ่านพิจารณาร่วมกัน มีดังนี้

แรกเริ่มปักหมุดหมายของอภิมหาเรื่องเล่า

ก่อนจะอธิบายถึงประเด็นการนำเรื่องเล่าของสมเด็จพระนเรศวรมาผูกโยงกับกองทัพไทยนั้น ต้องขอพาผู้อ่านย้อนกลับไปในบริบททางประวัติศาสตร์ก่อนว่า เรื่องเล่าของพระองค์หยั่งรากลึกลงในสังคมไทยได้อย่างไร ในงานศึกษาบางชิ้นที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นว่าเรื่องเล่าของสมเด็จพระนเรศวรในพระราชพงศาวดารหรือพระนิพนธ์ของชนชั้นนำสยามมีการแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลานับจากต้นรัตนโกสินทร์จนถึงภายหลัง 2475  (วริศรา ตั้งค้าวานิช, 2552) โดยประกาศกคนสำคัญที่เป็นผู้สถาปนาเรื่องเล่าสมเด็จพระนเรศวรให้เป็นอภิมหาเรื่องเล่า (metanarrative) จนแทบจะกลายเป็นเรื่องเล่าชุดเดียวที่ผูกขาดโดยรัฐจนถึงปัจจุบัน คือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

จากการสืบค้นเบื้องต้นของผู้เขียนระหว่างที่ทำวิทยานิพนธ์อยู่พบว่า มีพระนิพนธ์ของพระองค์ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ทั้งขนาดสั้นและขนาดยาว เกือบ 20 เรื่องด้วยกันที่กล่าวถึงสมเด็จพระนเรศวร โดยพระนิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรโดยตรง คือ “พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่ทรงพระนิพนธ์เป็นเรื่องสุดท้ายก่อนที่จะสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2486 จากนั้นหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2488 แต่ “…ทรงโปรดเกล้าฯให้เก็บรักษาต้นฉบับไว้สำหรับพิมพ์ในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง…” ในท้ายที่สุดพระนิพนธ์เรื่องนี้ได้รับการจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระบรมศพของพระองค์เองเมื่อ พ.ศ. 2493 (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, 2555)

เมื่อพิจารณาตัวบทกับบริบทอย่างสัมพันธ์กันพบว่า ในส่วนของตัวบท นับเป็นครั้งแรกที่มีพระนิพนธ์ของชนชั้นนำเล่าถึงสมเด็จพระนเรศวรอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดตั้งแต่ทรงพระเยาว์จนถึงเสด็จสวรรคตให้จบในเล่มเดียว ก่อนหน้านี้นับตั้งแต่มีการชำระพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 1 ไม่เคยมีการเขียนเรื่องราวของพระองค์เช่นนี้มาก่อน

ในส่วนของบริบทนั้น พระนิพนธ์เรื่องนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความเสื่อมคลายในอำนาจทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ภายหลัง พ.ศ. 2475 พระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ไม่มีความเบ็ดเสร็จเด็ดขาดดังเช่นในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น ด้วยความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ระหว่างกรมดำรงฯ กับรัชกาลที่ 8 อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทรงห่วงใยต่อสถานะอันสั่นคลอนของสถาบันกษัตริย์ จนทำให้พระองค์ต้องรวบรวมตะกอนความคิดเขียนพระนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมาในขณะที่ทรงลี้ภัยทางการเมืองอยู่ปีนัง (วศิน ปัญญาวุธตระกูล, 2540)

นอกจากนั้นบริบททางการเมืองตรงจุดตัดทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของการเมืองไทย คือ การเสด็จสวรรคตอย่างเป็นปริศนาของรัชกาลที่ 8 ใน พ.ศ. 2489 เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ขั้วการเมืองของฝ่ายคณะราษฎรในปีกของปรีดี พนมยงค์ ต้องยุติบทบาทลง นำไปสู่การรัฐประหารใน พ.ศ. 2490 ณ ห้วงขณะนี้เองที่ขั้วการเมืองฝ่ายกษัตริย์-อนุรักษ์นิยมได้ขึ้นมามีบทบาทในเวทีการเมืองไทย พร้อมกันกับที่พระราชอำนาจสถาบันกษัตริย์ได้ค่อยๆ รื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งผ่านรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 (ณัฐพล ใจจริง, 2556, น. 162-163.)

ดูเหมือนว่าบริบทต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะเดียวกันกับที่พระนิพนธ์เรื่องนี้ปรากฏตัวจะเข้ากันได้อย่างลงตัว ด้วยกำลังทางความคิดของกรมดำรงฯ ผนวกกับบริบททางการเมืองที่เกื้อหนุน มีส่วนประสานซึ่งกันและกันจนทำให้พระนิพนธ์เรื่องนี้มีสถานะเป็นอภิมหาเรื่องเล่าของสมเด็จพระนเรศวรที่ยากจะล่วงละเมิดได้

กว่าจะเป็นวันกองทัพไทยในปัจจุบัน

การเมืองไทยในทศวรรษ 2490 อยู่ภายใต้รัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่หวนคืนสู่เวทีทางการเมืองอีกครั้งเป็นรอบที่สอง ซึ่งรัฐบาล ป.2 นี้ ต่างจากรัฐบาล ป.1 ในทศวรรษก่อนหน้าตรงที่ว่า ค่อนข้างมีการประนีประนอมกับกลุ่มกษัตริย์-อนุรักษ์นิยมพอสมควร แม้จะมีความขัดแย้งกับสถาบันกษัตริย์อยู่บ้าง แต่ ป.2 ก็ไม่ได้ควบรวมอำนาจไว้ที่ตัวเองให้เป็นผู้นำสูงสุดเหมือน ป.1 (แถมสุข นุ่มนนท์, 2521, น. 102–105)

แต่กลิ่นอายที่ ป.2 ยังคงไว้อยู่เฉกเช่น ป.1 คือ การส่งเสริมบทบาทของกองทัพ โดยเฉพาะการสถาปนาวันกองทัพบกขึ้นมา โดยสมัย ป.1 ได้มีการกำหนดที่ระลึกของ 3 เหล่าทัพเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2486 โดยให้วันที่ 28 กรกฎาคม เป็นวันกองทัพบก วันที่ 20 พฤศจิกายน เป็นวันกองทัพเรือ และวันที่ 10 มกราคม เป็นวันกองทัพอากาศ (ราชกิจจานุเบกสา, 2486) มีจุดที่น่าสนใจตรงที่กองทัพบก อันเป็นเหล่าทัพที่จอมพล ป. สังกัดมาแต่แรกเริ่มรับราชการทหาร เลือกใช้วันกองทัพไทยฉลองชัยชนะกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2484

ส่วนในสมัย ป.2 กระบวนการยึดโยงกองทัพบกเข้ากับสมเด็จพระนเรศวรได้เริ่มขึ้นใน พ.ศ. 2494 กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเปลี่ยนแปลงวันที่ระลึกของกองทัพบกมาเป็นวันที่ 25 มกราคม อันเป็นวันยุทธหัตถีตามที่เชื่อกันในขณะนั้น และกองทัพอากาศ เป็นวันที่ 27 มีนาคม ส่วนวันที่ระลึกกองทัพเรือยังคงใช้ตามเดิม (ราชกิจจานุเบกษา, 2494) ซึ่งเฉลิมพล แซ่กิ้นได้ตั้งข้อสังเกตต่อประเด็นนี้ว่า เมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของวันดังกล่าวประกอบกับผลของความปราชัยของกองทัพเรือในเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ทำให้กองทัพบกขึ้นมามีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือทุกเหล่าทัพนับแต่นั้นเป็นต้นมา (เฉลิมพล แซ่กิ้น,2550, น. 106)

เรียกได้ว่าเหนือกว่าทั้งอำนาจทางการเมืองและอำนาจเชิงสัญลักษณ์ที่ผูกโยงกับมหาราชชาตินักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย

ต่อมาในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเชิงอำนาจทางการเมืองกองทัพบกยังคงเป็นเหล่าทัพที่มีความสำคัญมากที่สุด แต่ในเชิงสัญลักษณ์ เหล่าทัพทั้ง 3 ถูกผูกโยงเข้าด้วยกันใน พ.ศ. 2502 ผ่านการกำหนดให้วันที่ 8 เมษายน อันเป็นวันก่อตั้งกระทรวงกลาโหมเป็น “วันกองทัพไทย” (นิสิต จันทร์สมวงศ์, 2550, น. 82)

สาเหตุที่มีการควบรวมวันของ 3 เหล่าทัพให้เข้ามาอยู่ในวันเดียวกัน สะท้อนให้เห็นถึงการพยายามเชื่อมโยงสถาบันทหารให้เป็นปึกแผ่นภายใต้กระทรวงที่ทำหน้าที่กำกับดูแลโดยตรง ตามคติของระบบราชการสมัยใหม่ แต่ใช่ว่าความสำคัญของวันยุทธหัตถีจะเจือจางลงไป เพราะว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่และหยั่งรากลึกของเรื่องเล่าสมเด็จพระนเรศวรในอีกระดับ ซึ่งผู้เขียนจะอธิบายในหัวข้อสุดท้าย

การรื้อฟื้นวันกองทัพไทยให้กลับมายึดโยงกับสมเด็จพระนเรศวรเริ่มอีกครั้งใน พ.ศ. 2523 สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มีการพิจารณาเลือกวันที่ 25 มกราคม เป็นวันกองทัพไทย ส่วนวันที่ 8 เมษายน ให้ถือเป็นวันสถาปนากระทรวงกลาโหม การบังคับใช้มีผลตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นต้นไป (ราชกิจจานุเบกษา, 2523) นับเป็นจังหวะสำคัญที่เรื่องเล่าสมเด็จพระนเรศวรได้ร้อยรัดเข้าในปฏิทินของรัฐไทยอย่างสมบูรณ์

ความรู้ความเข้าใจต่อวันยุทธหัตถีในสังคมไทยถูกรื้อใหม่ใน พ.ศ. 2548 จากข้อเสนอของประเสริฐ ณ นคร ต่อวิษณุ เครืองาม ประธานกรรมการเอกลักษณ์ของชาติขณะนั้น ซึ่งได้คำนวณวันยุทธหัตถีใหม่ว่า แท้จริงแล้วคือวันที่ 18 มกราคม ไม่ใช่ 25 มกราคมตามความเข้าใจเดิม ทำให้เมื่อเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี จึงลงมติเห็นพ้องยอมรับข้อเสนอดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ใน พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน (นิสิต จันทร์สมวงศ์, 2550, น. 83-86) เป็นที่แน่นอนว่า ทางกองทัพไทยต้องปรับเปลี่ยนวันกองทัพให้เป็นไปในทิศทางตามที่มีมติครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

จากที่ไล่เรียงประวัติศาสตร์ของวันกองทัพไทยอย่างสังเขปนั้น จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงวันกองทัพไทย ไม่ว่าจะเปลี่ยนไปเป็นวันใดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วก็ยังคงวนเวียนเกี่ยวพันอยู่กับวันยุทธหัตถี

ว่าด้วยความสำคัญของ plot “ยุทธหัตถี” :

หลังจากที่ไล่เรียงประวัติศาสตร์ของวันกองทัพไทยกันแล้ว ผู้อ่านบางคนอาจเกิดข้อสงสัยว่า ทำไมกองทัพไทยจึงต้องเลือก “วันยุทธหัตถี” มาเป็นวันที่แสดงอำนาจเชิงสัญลักษณ์ของตน

การชนช้างของกษัตริย์ไทยกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่านั้นสำคัญอย่างไร?

ทำไมไม่เลือกวันพระราชสมภพตามธรรมเนียมที่ปฏิทินราชการไทยจดจำกัน?

ทำไมไม่เลือกวันประกาศอิสรภาพ ปลดแอกชาติไทยจากการเป็นเมืองขึ้นของพม่า?

ทำไมไม่เลือกวันขึ้นครองราชย์ อันแสดงถึงการขึ้นสู่สถานะของกษัตริย์อย่างสมบูรณ์?

คำถามว่า “ทำไม” อาจจะเกิดขึ้นในหัวของผู้อ่านหรือของผู้เขียนในช่วงที่เริ่มศึกษาประเด็นช่วงแรกๆ อยู่เหมือนกัน

ครั้นเมื่อลองนำการวิเคราะห์ plot ทางประวัติศาสตร์ที่ธงชัย วินิจจะกูล เคยเสนอไว้มาปรับใช้ดู (ธงชัย วินิจจะกูล, 2562) ก็ทำให้เข้าใจเหตุการณ์ฉากนี้ในฐานะเรื่องเล่าหลักชุดหนึ่งได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งธงชัยนำวิธีการดังกล่าวมาจากเฮเดน ไวท์ นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ล่วงลับไปเมื่อไม่นานมานี้ ที่ได้เสนอว่า ประวัติศาสตร์ คือ เรื่องเล่าที่มีองค์ประกอบไม่ต่างจากงานวรรณกรรม โดยหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญ คือ โครงเรื่อง (plot)

เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ เป็นนักวิชาการอีกคนที่นำการศึกษาแบบเฮเดน ไวท์มาใช้มอง plot ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเสนอว่า พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการวางโครงเรื่องแบบสุขนาฏกรรม (comedy) ที่จะเริ่มเรื่องด้วยการท้าทายจากศัตรู การตอบโต้ของตัวเอก และจบลงด้วยการแก้ปัญหาที่ลุล่วงของตัวเอก (เรย์โนลด์ส, เคร็ก เจ, 2533) เมื่อนำ plot แบบนี้มองมาในพระนิพนธ์ชิ้นเอกของพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย จะพบว่า เรื่องเล่าของสมเด็จพระนเรศวรมีความลงตัวกับ plot นี้ยิ่งนัก โดยช่วงของสงครามยุทธหัตถีใน พ.ศ. 2135 แสดงถึงการแก้ปัญหาที่สะสมค้างคามาตั้งแต่ต้นเรื่องที่พระองค์โดนจับไปเป็นองค์ประกัน จนพระองค์ได้ต่อสู้บนหลังช้างกับพระมหาอุปราชา จนสามารถฟันผู้นำทัพของอริราชศัตรูขาดคอช้างได้ และเนื้อเรื่องหลังจากนี้ เป็นการดำเนินเรื่องราวการขยายอำนาจของอยุธยาเรื่อยไปจนกระทั่งเสด็จสวรรคตใน พ.ศ. 2148

นาฏกรรมในจินตนาการของผู้ที่เสพ plot นี้ สามารถนึกภาพตามได้ไม่ยาก ประกอบกับมีการผลิตซ้ำผ่านสื่อรูปแบบอื่นๆ เช่น ภาพวาดยุทธหัตถีอันลือชื่อเบื้องหน้าพระประธานในพระวิหารวัดสุวรรณดารารามที่จัดทำเมื่อ พ.ศ. 2474 โดยกรมดำรงฯ เองเป็นผู้มีส่วนช่วยเลือกเรื่องที่จะนำมาวาดด้วย (ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา, 2555, น. 225) ที่ช่วยให้การจินตนาการนั้นง่ายขึ้น

คนธรรมดาสามัญเมื่อเสพถึงฉากนี้แล้วก็จินตนาการได้ถึงความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยวของมหาราชที่สามารถเด็ดหัวอริราชศัตรูได้ บุคลิกภาพเช่นนี้ของพระองค์ สร้างจินตนาการไปสู่ผู้นำเหล่าทัพที่ต้องการอุปมาว่าตนเป็นทหารเอกของพระนเรศวรที่มีความกล้าหาญและเด็ดเดี่ยว ไม่แพ้บรรพบุรุษของตน

ภาพการต่อสู้บนหลังช้างผู้นำเหล่าทัพคงนึกอุปมาไปได้ราวกับว่า เสมือนตนกำลังอยู่บนรถถังยานเกราะขับเคี่ยวกับศัตรูของตนอยู่ก็ได้กระมัง

“กรอบโครงการประวัติศาสตร์ราชาชาติไทย” (บททดลองเสนอ)

ต่อจากประเด็นที่ผู้เขียนทิ้งไว้ในหัวข้อที่ 2 สมัยจอมพลสฤษดิ์ได้เกิดปฏิบัติการสำคัญของรัฐไทยที่ผู้เขียนขอทดลองนำเสนอว่าเป็น “กรอบโครงการประวัติศาสตร์ราชาชาติไทย” มีกลไกการทำงานที่สำคัญคือ นำโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์แบบราชาชาตินิยมตามข้อเสนอของธงชัย วินิจจะกูล ไปสถาปนาในพื้นที่ต่างๆ ผ่านประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการสร้างอนุสาวรีย์ของวีรบุรุษ-วีรสตรีในหน้าประวัติศาสตร์ของรัฐให้ปรากฏออกมาสู่สาธารณะอย่างเป็นรูปธรรม

กลไกสำคัญของกรอบโครงการฯ นี้ คือ การดำเนินงานควบคู่ไปกันกับนโยบายทางการเมืองหรือวัฒนธรรมของรัฐในแต่ละยุคสมัย รวมถึงมีกระบวนการทำงานประสานกับโครงการต่างๆ ของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เมื่ออนุสาวรีย์หรือประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมรูปแบบอื่นลงหลักปักฐานในพื้นที่เป้าหมายแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้แทนพระองค์ จะทำหน้าที่เป็นองค์ประธานในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับอนุสาวรีย์นั้นอยู่เสมอเมื่อถึงวันสำคัญ

ในกรณีของการสถาปนาเรื่องเล่าสมเด็จพระนเรศวรภายใต้กรอบโครงการฯนี้ ภายหลังจากที่ชุดอภิมหาเรื่องเล่าของพระองค์ได้เริ่มปักหมุดหมายในทศวรรษ 2490 ผ่านพระนิพนธ์ของกรมดำรงฯ และการเริ่มนำวันยุทธหัตถีมาใช้เป็นวันกองทัพบก ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ได้เริ่มปรากฏอนุสาวรีย์แห่งแรกขึ้นนั่นคือ พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี ที่สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2502 การเกิดขึ้นของอนุสาวรีย์แห่งนี้ มีผลให้รัฐไทยเกิดรัฐพิธีที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรขึ้นมาเป็นประจำทุกปี ในช่วงปีแรกๆ หลังจากสร้างเสร็จ รัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จไปเป็นประธานในพิธีบวงสรวงด้วยพระองค์ ในช่วงเวลาต่อมาก็ให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือผู้แทนพระองค์เสด็จไปแทน (ดูตัวอย่างหลักฐานชั้นต้นชิ้นสำคัญ หจช. (4) ศธ 2.4.1/27)

โดยวันที่เลือกใช้เป็นรัฐพิธีตั้งแต่แรกเริ่ม คือ วันที่ 25 มกราคม ภายหลัง พ.ศ. 2548 ก็เปลี่ยนไปใช้วันที่ 18 มกราคม ตามฉันทามติที่รัฐบาลขณะนั้นมีร่วมกันกับผู้คำนวณ

อนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรไม่ได้มีเพียงแค่แห่งเดียว จากการรวบรวมในเบื้องต้นระหว่างทำวิทยานิพนธ์ ผู้เขียนพบว่า มีการสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรกว่า 30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเหตุผลในการเลือกที่จะสร้างเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของกรอบโครงการฯ เพราะพื้นที่ที่จะได้รับการสร้างต้องมี plot เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์รัฐ อย่างกรณีของพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับสงครามยุทธหัตถี หรืออนุสาวรีย์แห่งที่ 2 คือ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก ที่สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2505 เป็นสถานที่เสด็จพระราชสมภพของพระองค์

สถานที่ 2 แห่งข้างต้น ล้วนแต่เป็น plot ที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ของรัฐทั้งสิ้น

แต่จะมีบางแห่งที่ในแง่ของ plot นั้น อาจไม่ค่อยสำคัญนัก ทว่าเมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่และบริบทของนโยบายทางการเมืองของรัฐไทยในยุคสงครามเย็น กลับพบว่า มีความต้องการที่จะสร้างอย่างเห็นได้ชัด เช่น กรณีของศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.หนองบัวลำภู ที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2511 ซึ่ง plot ของสมเด็จพระนเรศวรที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นี้มีเพียงแค่ว่า พระองค์เสด็จยกทัพไปตามบัญชาของพระเจ้าหงสาวดีเพื่อไปสมทบเข้าตีเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2117 แต่เมื่อเสด็จไปถึงหนองบัวลำภู อันเป็นเมืองหน้าด่านของเวียงจันทน์ขณะนั้น พระองค์กลับประชวรเป็นไข้ทรพิษและเสด็จยกทัพกลับ

เมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่ หนองบัวลำภูในขณะนั้น เป็นพื้นที่สีแดงตามการให้ความหมายของรัฐ อันสื่อถึงเป็นพื้นที่ที่กลุ่มภูช่อฟ้า สังกัดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกบดานอยู่ ครั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มภูช่อฟ้าโจมตีสถานีตำรวจหนองบัวลำภูใน พ.ศ. 2509 เป็นเหตุให้ทางฝ่ายรัฐต้องทำการแย่งชิงมวลชน โดยใช้เรื่องเล่าสมเด็จพระนเรศวรเป็นสื่อกลางให้ผู้คนในท้องที่มีความทรงจำร่วม (collective memory) ต่อประวัติศาสตร์ชุดเดียวกัน (ปิยวัฒน์ สีแตงสุก; และชาติชาย มุกสง, 2562)

กล่าวคือว่า รัฐใช้วีรบุรุษในประวัติศาสตร์มากำราบอิทธิพลความคิดของศัตรูทางการเมืองในยุคสงครามเย็น

นี่เป็นเพียงบางตัวอย่างที่เป็นผลมาจากกรอบโครงการประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยม และสมเด็จพระนเรศวรก็เป็นเพียงกรณีหนึ่งที่สำคัญ ซึ่งช่วยฉายภาพให้เห็นถึงสภาวะการถือครองอำนาจนำ (hegemony) ของเรื่องเล่าที่ถูกผูกขาดโดยรัฐไทย ถ้าลองนำกรอบการวิเคราะห์แบบนี้ไปใช้มองการสร้างอนุสาวรีย์วีรบุรุษ-วีรสตรีคนอื่นในที่ต่างๆ อาจจะพบความเหมือนหรือความต่างในแง่เหตุผลในการเลือกสร้างก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี กรอบโครงการประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมที่แผ่แสนยานุภาพจากศูนย์กลางของรัฐกระจายสู่ท้องถิ่น ส่งผลให้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในหลายพื้นที่จึงมีสถานะเป็นเพียง “ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (แห่งชาติ)” ที่ไม่อนุญาตให้คนในพื้นที่ต่างๆ เขียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนโดยปราศจากศูนย์กลางนับแต่โบราณกาลไปได้ ความทรงจำร่วมที่ผู้คนที่มีต่ออดีตในพื้นที่ซึ่งตนได้อยู่อาศัย ต้องเป็นสำนึกเดียวกันกับของรัฐอย่างยากที่จะหลุดพ้น

ฉะนั้น วันยุทธหัตถี หรือในปัจจุบันคือวันที่ 18 มกราคม จึงไม่ใช่แค่วันที่กองทัพไทยออกมาแสดงแสนยานุภาพต่อหน้าสื่อเท่านั้น นัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างเรื่องเล่าสมเด็จพระนเรศวรกับองคาพยพต่างๆ ที่เป็นผู้ผลิตและถ่ายทอดซ้ำไปมาอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ตลอดจนบุคคลหรือหน่วยงานต่างๆ

Plot ที่ฉายภาพการต่อสู้บนหลังช้างของผู้นำทั้ง 2 กองทัพ ก็ยังจะทำงานเชื่อมโยงความรู้สึกนึกคิดของผู้คนกับกองทัพไทยได้อยู่เสมอ ตราบเท่าที่ประวัติศาสตร์ราชาชาตินิยมยังผูกขาดความรู้อยู่ในพื้นที่ประวัติศาสตร์กระแสหลักในสังคมไทย

อันเป็นชุดเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ดำรงราชานุภาพมิเสื่อมคลาย…

 

อ้างอิง

ณัฐพล ใจจริง. (2556). ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม   (พ.ศ. 2475-2500). นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2550). พระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ: มติชน.

แถมสุข นุ่มนนท์. (2521). เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ: ดวงกมล.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2559). โฉมหน้าราชาชาตินิยม. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

_______. (2562). ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย : ว่าด้วยประวัติศาสตร์นอกขนบและวิธีวิทยาทางเลือก. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.

ประกาสสำนักนายกรัถมนตรี เรื่องวันที่ระลึกกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาส. (2486, 23        พฤศจิกายน). ราชกิจจานุเบกสา (เล่ม 60 ตอนที่ 62, น. 3587-3588).

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องวันที่ระลึกกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ. (2494, 18          กันยายน). ราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 68 ตอนที่ 58, น. 3828).

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันกองทัพไทย และวันสถาปนากระทรวงกลาโหม. (2523, 13     มิถุนายน). ราชกิจจานุเบกษา (เล่ม 97 ตอนที่ 94, น. 1)

ปิยวัฒน์ สีแตงสุก; และชาติชาย มุกสง. (2562). การประกอบสร้างเรื่องเล่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชให้     เป็นความทรงจำร่วมใหม่ของท้องถิ่นหนองบัวลำภูภายใต้กรอบโครงการประวัติศาสตร์ราชาชาติ ไทยทศวรรษ 2500-2510. ใน โครงการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย          ครั้งที่ 13 “ภูมิภาคนิยมและท้องถิ่นนิยมสมัยใหม่ในโลกไร้พรมแดน”. หน้า 170-187. มหาสารคาม: คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

เรย์โนลด์ส, เคร็ก เจ. (2533). โครงเรื่องของประวัติศาสตร์ไทย: ทฤษฎีและการปฏิบัติ. ใน ไทยศึกษา รวม        บทความทางวิชาการเพื่อแสดงมุทิตาจิตแก่อาจารย์ พันเอกหญิงคุณนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา.         หน้า 103-122. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊พ.

วริศรา ตั้งค้าวานิช. (2552, กรกฎาคม-กันยายน). ภาพลักษณ์สมเด็จพระนเรศวรของราชสำนักไทยสมัย    รัตนโกสินทร์ถึงทศวรรษ 2480. ฟ้าเดียวกัน, 7(3), 94-132.

วศิน ปัญญาวุธตระกูล. (2540, มกราคม-มิถุนายน). สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพกับสถาบัน   กษัตริย์ ศึกษากรณีพระนิพนธ์เรื่อง ประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช. มนุษยศาสตร์และ        สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, 5(1), 1-25.

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารจดหมายเหตุลายลักษณ์ กระทรวงศึกษาธิการ (4) ศธ 2.4.1/27     เรื่องสถานที่สำคัญเกี่ยวกับการพระราชสงคราม และเรื่องทรงบำเพ็ญพระราชกุศลบวงสรวงสมเด็จ       พระนเรศวรมหาราช [ 13 ม.ค. 2512 - 26 ก.พ. 2514 ]

 

ที่มาภาพประกอบ: wikimedia.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท