ดูหนังผ่านมานุษยวิทยาว่าด้วย “การคืนของ”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

 

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสดูภาพยนตร์เรื่อง “How to ทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” ที่แสดงนำโดยออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง และซันนี่ สุวรรณเมธานนท์ กำกับโดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ เรื่องราวว่าด้วยตัวละครหลักชื่อจีนที่รับบทโดยออกแบบ หลังจากเรียนจบด้านการออกแบบจากสวีเดน จีนมีภารกิจที่จะปรับบ้านซึ่งเป็นห้องแถวที่เต็มไปด้วยข้าวของเก่าเก็บให้กลายเป็นออฟฟิศสไตล์มินิมอล เธอต้องตัดสินใจทิ้งสิ่งของต่างๆ ทั้งของตัวเอง ของพี่ชายและของแม่เพื่อทำบ้านให้กลายเป็นโฮมออฟฟิศโทนขาวไร้ข้าวของที่ไม่จำเป็นให้ตรงคอนเซปต์ตามที่เธอตั้งใจไว้

ครั้นเมื่อจีนเริ่มต้นคัดเลือกสิ่งของเพื่อทิ้ง ปมขัดแย้งและบาดแผลในความสัมพันธ์ของตัวละครตัวนี้ก็ยิ่งเผยให้คนดูได้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ จีนเปลี่ยนใจไม่ทิ้งของทั้งหมดแต่เลือกคืนของให้กับเจ้าของที่ให้เธอมา เธอคืนเครื่องดนตรี ซีดีเพลง ไฟล์รูปภาพให้กับเพื่อนๆ จุดสำคัญของเรื่องดำเนินมาถึงตอนที่จีนคืนกล้องถ่ายรูปให้กับแฟนเก่าชื่อเอ็มที่รับบทโดยซันนี่ การคืนของครั้งนี้แทนที่จะทำให้จีนได้โล่งอกและจบความสัมพันธ์แบบไม่ติดค้าง แต่กลับกลายเป็นว่าไปทำลายความสัมพันธ์ของเอ็มกับแฟนใหม่ ตัวละครจีนถูกดึงให้จมลงในห้วงอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ท้ายสุดเธอตัดสินใจขายเปียโนซึ่งเป็นตัวแทนของพ่อผู้ทิ้งครอบครัวไป ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับแม่ไปสู่จุดที่ยากจะประสานได้
 

ในฉากเปิดเรื่องซึ่งเป็นเหตุการณ์ปัจจุบัน เราเห็นจีนให้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จในการปรับปรุงโฮมออฟฟิศสไตล์มินิมอล ห้องทำงานสีขาวสวยงาม ข้าวของถูกคัดทิ้งออกไป พื้นที่ถูกจัดการตามความต้องการของจีน แต่ขณะเดียวกันก็กลายเป็นพื้นที่ที่ความสัมพันธ์ของจีนถูกจัดการใหม่ด้วยเช่นกัน เราไม่เห็นตัวละครตัวอื่นปรากฏตัวอยู่ด้วย เห็นเพียงแต่จีนกับใบหน้าเศร้าทั้งๆ ที่ภารกิจของเธอสำเร็จแล้ว จีนจึงเป็นตัวละครที่คนดูอาจรู้สึกผิดหวัง ไม่อยากเข้าข้างและไม่น่าเอาใจช่วย ผู้เขียนอยากเปรียบเทียบตัวละครของนวพลกับผู้กำกับอย่าง Darren Aronofsky เจ้าของภาพยนตร์ The Wrestler หรือ Black Swan ที่ตัวละครเอกมักเดินทางไปสู่จุดหายนะในตอนท้ายของเรื่อง สำหรับ How to ทิ้ง จีนได้เดินทางไปสู่โศกนาฏกรรมของชีวิตสมัยใหม่ นั่นคือความว่างเปล่าของชีวิตที่ไร้สิ่งยึดเหนี่ยว

 

ที่ผ่านมา มีการตีความเนื้อหาและตัวละครพร้อมทั้งเสียงวิจารณ์ต่อภาพยนตร์เรื่องนี้หลากหลายประเด็นด้วยกัน หลังจากที่ผู้เขียนชมภาพยนตร์จบแล้ว ประเด็นหลักที่วนเวียนในหัวของผู้เขียนคือ “การคืนของ” ซึ่งกระตุ้นให้นึกถึงหนังสือเล่มสำคัญของวิชามานุษยวิทยา จึงอยากจะแนะนำแนวคิดบางประการในหนังสือเล่มดังกล่าว พร้อมทั้งชวนทดลองอ่านภาพยนตร์โดยอาศัยแนวคิดในหนังสือ เปิดพื้นที่ให้ตัวละครที่เป็นวัตถุสิ่งของได้แสดงตัวออกมา เพื่อทำความเข้าใจว่า “การคืนของ” มีความสำคัญอย่างไรต่อการเล่าเรื่อง และด้วยการใช้หลักทฤษฎีมานุษยวิทยาจะทำให้เราเข้าใจภาษาและสารของภาพยนตร์ได้มากน้อยแค่ไหน

หนังสือชื่อ The Gift ที่เขียนโดย Marcel Mauss นักสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่นักศึกษาวิชามานุษยวิทยาควรอ่าน เป็นหนังสือที่ศึกษาความหมายของการแลกเปลี่ยนสิ่งของหรือของขวัญในสังคมในอดีตของกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในหมู่เกาะโพลินีเซีย เมลานีเซีย และตอนเหนือของอเมริกา โดยเขาเสนอว่าการแลกเปลี่ยนสิ่งของเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ของมนุษย์และสังคม เขาสนใจปฏิบัติการการให้ การรับ และการส่งกลับคืน สำหรับการให้และการรับนั้นอาจเข้าใจได้ง่ายไม่ซับซ้อนนัก แต่การส่งกลับคืนนี้แหละที่เป็นประเด็นสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ชวนอภิปราย ของขวัญที่มอบให้แก่กันนำไปสู่ภาระผูกพันที่ผู้รับต้องตอบสนองกลับคืนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม อย่างที่มีคนพูดว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” Mauss เขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อถกเถียงกับแนวคิดทางมานุษยวิทยาก่อนหน้าที่เชื่อว่ามีของขวัญบางอย่างถูกมอบไปโดยไม่หวังผลตอบแทน เช่นของที่สามีให้ภรรยา หรือการบริจาคสิ่งของ แต่ Mauss เสนอว่าสิ่งที่ผู้รับต้องตอบแทนไม่ได้ตรงไปตรงมาแต่มีระบบการให้คืนที่ซับซ้อน

ข้อเสนออีกประการที่สำคัญของหนังสือ The Gift ก็คือ สิ่งของที่ส่งมอบให้แก่กันนั้นมีจิตวิญญาณของผู้ให้แฝงฝังอยู่ด้วย สิ่งของที่มอบให้กันจึงไม่ได้เป็นเพียงวัตถุทางกายภาพ แต่บรรจุไว้ซึ่งวิญญาณหรือพลังซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้รับในหลากหลายมิติ และกลายมาเป็นระบบที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อำนาจ เกียรติยศ หรือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมต่างๆ  คำภาษาอังกฤษ “gift” ถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า “ของขวัญ” แสดงความหมายถึงสิ่งของบางอย่างที่เมื่อเกิดการมอบให้กันแล้วจะมี “ขวัญ” แฝงติดไปกับสิ่งของชิ้นนั้นๆ ด้วย ผู้เขียนขอตีความคำว่า “ขวัญ” ในที่นี้ ว่าเป็น อารมณ์ ความรู้สึก และความทรงจำของทั้งผู้ให้ และผู้รับ รวมถึงประสบการณ์ของการแลกเปลี่ยนสิ่งของในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ขวัญได้บังเกิดขึ้นและจับตัวติดอยู่กับของขวัญนั้นๆ ดังนั้นเมื่อตัวละครจีนเริ่มทำการคืนของขวัญต่างๆ กลับไปยังผู้ให้ เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่า จีนกำลังพยายามตัดระบบของการแลกเปลี่ยนเวียนถ่ายความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนรอบข้าง แต่มันจะสามารถทำได้ง่ายๆ ในทำนองปรบมือข้างเดียวให้ดังได้ อย่างนั้นหรือ

 

ยิ่งจีนเริ่มต้นคืนของแต่ละชิ้นออกไป คนดูก็ยิ่งมีโอกาสสำรวจตัวตนและสภาวะจิตใจของตัวละครตัวนี้มากยิ่งขึ้น จริงหรือที่การทิ้งสิ่งของจะทำให้ตัวเธอหลุดพ้นจากพันธนาการของความทรงจำทั้งดีและร้ายในอดีด การทิ้งของแต่ละชิ้นได้ค่อยๆ เผยปมขัดแย้งของความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ มากยิ่งขึ้น จีนตกอยู่ในทำนองที่ว่า ยิ่งทิ้งก็ยิ่งจำและยิ่งดิ่งในความรู้สึกมากขึ้น จีนเป็นตัวละครที่ทวนกระแสสิ่งที่ตัวละครอื่นๆ ในเรื่องเป็น จีนสามารถตัดใจนำของไปคืนเพื่อนๆ พอเพื่อนๆ ได้รับของคืน บ้างก็ดีใจ บ้างก็เสียใจ แต่พวกเขาเหล่านั้นเลือกที่จะเก็บสิ่งของไว้กับตัวเอง เพื่อนบางคนได้รับของชิ้นนั้นแล้วตื้นตันถึงขั้นร้องโฮ เพราะมันมีค่าเสียเหลือเกินในการระลึกถึงความทรงจำที่ไม่คิดว่าจะมีค่ามากมายในเวลาปัจจุบัน สำหรับบางคน สิ่งของยิ่งเป็นตัวย้ำเตือนปมขัดแย้งและประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต แต่ตัวละครเหล่านี้ก็เลือกที่จะเก็บสิ่งของที่ย้ำเตือนความทรงจำทั้งดีและร้ายเอาไว้ รวมทั้งเอ็ม ที่แม้ว่าจะจบความสัมพันธ์กับจีนไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้คืนหรือทิ้งต้นบอนไซที่เคยเป็นของจีน

ตัวละครแม่รับบทโดยอาภาศิริทำหน้าที่เป็น foil หรือตัวละครที่มีคุณลักษณะแบบคู่ตรงข้ามตัวละครจีน แม่ไม่ยอมให้จีนทิ้งของเก่าในบ้าน โดยเฉพาะเปียโนที่เป็นตัวแทนของสามีผู้ทอดทิ้งครอบครัวไป ทุกวัน แม่ต้องร้องคาราโอเกะเพลง กุหลาบแดง ของ ไก่ พรรณนิภาซ้ำๆ ซึ่งสะท้อนการยึดติดอยู่กับอดีตไม่ไปไหน ความทรงจำกับความหวังอาจเป็นเหมือนการปลูกกุหลาบ ทั้งเจ็บเมื่อถูกทิ่มและผิดหวัง แต่สีและกลิ่นก็สวยงามเย้ายวน ถ้าอยากให้คงอยู่ก็ต้องจำใจดูแลและหล่อเลี้ยงไม่ให้มันจางหายไป เราก็อาจจะบอกได้ยากว่า ระหว่างแม่ผู้เก็บสิ่งของในอดีตที่ตอกย้ำความสัมพันธ์อันล้มเหลว กับลูกสาวที่เลือกที่จะทิ้งทุกอย่างเพื่อปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการของความทรงจำ ใครจะมีความทุกข์มากกว่ากัน

ประเด็นการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งของที่เป็นเครื่องเตือนความทรงจำ ชวนให้เราคิดว่า ถ้าเป็นเราเราจะจัดการกับบาดแผลแห่งความทรงจำเหล่านี้อย่างไร เราจะโอบกอดสิ่งของเหล่านี้หรือโยนมันทิ้งไปให้หมด แล้วเราจะลืมมันได้จริงๆ หรือ โจทย์นี้ไม่ได้ไกลตัว เราประสบพบเจออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทั้งความทรงจำอันใกล้และไกล ทั้งความทรงจำระดับปัจเจกหรือความทรงจำร่วมทางสังคม ตัวอย่างเช่นประวัติศาสตร์บาดแผนของสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประวัติศาสตร์บาดแผลของไทย เราจะปฏิเสธและตัดขาดจากความทรงจำร่วมเหล่านี้ได้จริงหรือ

อย่างไรก็ตาม ในระดับปัจเจก เราก็อาจเห็นได้ว่า ความทรงจำที่เป็นคุณค่าอาจถูกแปรผันให้มีระยะห่างขึ้น หรือลดความเข้มข้นทางอารมณ์ความรู้สึกด้วยการทำให้มีมูลค่า ในโลกทุนนิยม การตัดความสัมพันธ์และตัดความทรงจำกับสิ่งของชิ้นหนึ่งอาจมีความเป็นไปได้ ด้วยกระบวนการซื้อขาย การซื้อขายเปลี่ยนสภาพสิ่งของให้กลายเป็นสินค้า และจะเข้าไปอยู่ในระบบของวัตถุแห่งการแลกเปลี่ยนแบบใหม่ที่ถูกตีตราด้วยราคาและการประมูล ตัวละครพ่อค้ารับซื้อของเก่าจึงดูจะเป็นตัวละครตัวเดียวที่อยู่นอกวังวนแห่งความทรงจำร่วมของเรื่อง เขาจ่ายเงินซื้อของเก่าเพื่อจะ spark joy ในระดับที่เขาไม่ต้องไปผูกพันลึกซึ้ง แต่ก็ได้เสพเรื่องราวที่แฝงฝังในวัตถุสิ่งของตามแต่ที่เขาจะจินตนาการเพิ่มเติมเสริมแต่ง

 

กลับไปยังหนังสือ The Gift ของ Marcel Mauss ที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์การแลกเปลี่ยนสิ่งของในหมู่เกาะเมลานีเซีย Mauss กล่าวว่าในสังคมเมารี ความผูกพันและพันธะในระดับปัจเจกและระดับสังคมเกิดขึ้นจากวัตถุสิ่งของที่หมุนเวียนเปลี่ยนถ่าย เพราะวัตถุสิ่งของเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่ตัวแทนของคนให้ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของคนให้ และการมอบสิ่งของบางอย่างก็คือการมอบส่วนหนึ่งของตัวตน (รวมถึงอารมณ์ ความรู้สึก และความทรงจำ) ของคนๆ นั้นไป “…since the thing itself is a person or pertains to a person. Hence it follows that to give something is to give a part of oneself”*

 

เราจึงอาจจะอ่านตอนจบของเรื่องราวในภาพยนตร์ผ่านการนำเสนอโฮมออฟฟิศมินิมอลโทนสีขาว ไร้ข้าวของเครื่องใช้ ที่สะท้อนตัวตนของจีน เธอได้คืนและขายสิ่งของ ไม่เหลือวัตถุที่ย้ำเตือนอารมณ์และอดีตใดๆ ทั้งสิ้น หน้าตาไร้เครื่องสำอางแต่งแต้ม ผมเผ้าธรรมชาติไม่ดัดย้อม เสื้อผ้าสีขาวดำที่เหมือนจะสื่อความหมายแบบ “น้อยแต่มาก” ก็ดูย้อนแย้งในที หรือการยิ่งทิ้งของออกไป ไม่ได้ทำให้เราตัวเบา แต่กลับทำให้เราหนักอึ้งขึ้นไปอีก ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าวิถีมินิมอลแบบนี้จะนำไปสู่ สภาวะเบาสบาย หรือเบาโหวงกันแน่ แต่ที่แน่ๆ เราเห็นความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งของที่มีความซับซ้อน ที่ภาพยนตร์ต้องการตั้งคำถามและชวนค้นหาความหมายของชีวิตและโลกที่ไม่ได้มีบทสรุปง่ายๆ หลังจากดูหนังจบ ใครบางคนที่กำลังรื้อของเก่าที่บ้านเพื่อทิ้งหรือขาย อาจหยุดชะงักแล้วเปลี่ยนใจใหม่ก็ได้ ใครจะรู้

 

 

 

หมายเหตุ: *หน้า 10 ในหนังสือ The Gift: Forms and Functions of Exchange in Archaic Societies (1954 [1925]) โดย Marcel Mauss ฉบับนี้ แปลจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาอังกฤษโดย Ian Cunnison โดยสำนักพิมพ์ The Norton Library 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท