Skip to main content
sharethis

“คำว่าลุงเนี่ย เอาจริงๆ นะ คิดถึงนายกฯ ประยุทธ์อย่างเดียวเลย ‘ลุง’ นิยามอาจจะมองไปอีกคือ เป็นกลุ่มคนเจเนอเรชั่นที่อาจจะไม่ทันโลก เมื่อไม่ทันโลก การเป็นลุงที่จะเข้ามาพัฒนาประเทศก็อาจจะล้าหลังไปบ้าง นี่คือความเป็น ‘ลุง’ นอกจากนี้ก็มีลุงป้อม ลุงป๊อก ลุงวิษณุ สำหรับผมลุงมันเหมือนหลายๆ ลุง ที่ทำให้บ้านเมืองอยู่ในยุคที่ไม่ค่อยเจริญเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เรามีความพร้อมหลายๆ ด้าน มันอาจจะติดที่ลุงนี่แหละ มันเลยยังรั้งความเจริญของประเทศ”

iLaw สัมภาษณ์บัณฑิตนิติศาสตร์ เพิ่งจบหมาดๆ ออกมาวิ่งไล่ลุง คำพูดของเขาน่าจะเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ตั้งแต่นักศึกษาไปถึงวัยทำงาน อายุ 20-30 กว่า ที่มีสัดส่วนเกินครึ่ง ของคนออกมาวิ่งไล่

ภาพสวนรถไฟเมื่อวันอาทิตย์ ถ้าไปดูเว็บข่าวที่ไม่ใช่เว็บการเมือง จะเห็นพาดหัวไปอีกเรื่อง “เก็บตกภาพสาวสวย วิ่งไล่ลุง แต่ละคนแจ่มๆ ทั้งนั้น” “เห็นแล้วยิ้มตาม! สาว สวย ใส ร่วมวิ่งไล่ลุงเพียบ! งามทั้งกายและใจ” หรือ “บรรยากาศ วิ่งไล่ลุง สาวสวยเพียบ ทำเอาหนุ่มๆ หลายคนเสียดาย”

คอการเมืองบางราย จึงอดไม่ได้ เอาไปเปรียบเทียบขำๆ สมัยม็อบเสื้อเหลืองนกหวีด ตอนนั้นก็ตีข่าวสาวสวย แต่ตัดภาพมาม็อบเสื้อแดง ส่วนใหญ่เป็นลุงป้าน้าอา มาจาก ตจว. เลยถูกหาว่า “ควายแดง” ที่ไหนได้ 6 ปีผ่านไป ภาพพลิกกลับกัน

เปรียบเทียบอย่างนั้นที่จริงไม่ถูกหรอก เพราะจะกลายเป็นเห็นคนไม่เท่ากัน ในฐานะคนรุ่นลุงและ “ควายแดง” ก็ยืนยันว่าลุงป้า ตจว. ตระหนักในสิทธิเสรีภาพมากกว่าสาวสวยนกหวีดด้วยซ้ำ

กระนั้นก็น่าคิดว่า ทำไมคนรุ่นใหม่ออกมาเยอะมาก ทั้งที่บางคนไม่เคยออกมาร่วมกิจกรรม รายหนึ่งให้สัมภาษณ์อย่างภูมิใจว่า วันนี้เธอมีตัวตนแล้วนะ ไม่ใช่แค่นั่งอยู่หลังคีย์บอร์ด

จะบอกว่า “สองนคราประชาธิปไตย” กลับมาก็ไม่ใช่ เพราะคนรุ่นใหม่วิ่งไล่ลุงไม่ได้เกลียดนักการเมืองที่คนชนบทเลือก แต่เบื่อลุงที่ไม่ได้เลือก และคร่ำครึล้าหลัง

มิตรสหายหลายรายวิเคราะห์ตรงกันว่า พลังคนรุ่นใหม่วิ่งไล่ลุง ต่างจากเสื้อแดงหลังรัฐประหาร 49 ยุบพรรค 50 ซึ่งเป็นความโกรธแค้นของมวลชน ที่อุตส่าห์เลือกรัฐบาลของตนเข้ามา เลือกพรรคที่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ “ประชาธิปไตยกินได้” แต่กลับถูกโค่นโดยรัฐประหารตุลาการภิวัตน์

คนรุ่นใหม่ยังไม่มีรัฐบาลของตัวเอง แม้อาจมีพรรคของตัวเอง แต่มองว่ารัฐบาลนี้พาประเทศถอยหลัง จะพากันตายหมด ยิ่งกว่า “หนูดี” ทวีตเมื่อเกือบสิบปีก่อน และพวกเขาคือผู้ที่ต้องรับกรรม

คนรุ่นใหม่โตมาท่ามกลางความขัดแย้ง คนอายุ 24-25 วันนี้ คือเด็ก ป.6 เมื่อปี 49 พวกที่เป็นนักศึกษาตอนนั้น วันนี้ก็กำลังสร้างฐานะสร้างครอบครัว ในโลกยุค disruption ที่อยู่ยากขึ้นทุกวัน ต้องรับผิดชอบตัวเองสูง ต้องปรับตัวตลอดเวลา ไม่มีความมั่นคงในอาชีพการงานเหมือนอดีต ซ้ำยังต้องแบกสังคมสูงวัย

คนรุ่นใหม่เติบโตในค่านิยมใหม่ โต้เถียงกันในสื่อสังคมออนไลน์ ที่วัดกันด้วยเหตุผล ไม่ต้องเกรงใจไม่ต้องเห็นแก่หน้า ไม่สามารถข่มกันด้วยอาวุโสหรือยศถาบรรดาศักดิ์ พวกเขามีความเป็นตัวของตัวเองสูง จนบางครั้งอาจหัวร้อน เพื่อปกป้องสิทธิของตัวเอง ไม่ยอมให้ใครแซงคิวหรือปิดกั้น

อันนี้ก็มาจากวิถีชีวิต ที่ต้องพึ่งตนเอง โลกสมัยนี้จะอยู่รอดได้ต้องทำงานหนัก รู้จักทำงานเป็นทีม และใช้สมองตลอดเวลา จึงรังเกียจพวกดีแต่พูด พวกจู้จี้จุกจิก หรืออ้างตัวเป็นผู้ใหญ่ แต่สำแดงความโง่ให้หัวเราะเยาะได้รายวัน หรืออ้างศีลธรรมจรรยา แต่เป็นบิดาแห่งความย้อนแย้ง ตีความเข้าข้างพวกตัว

ปัจจัยหลายๆ อย่าง ทำให้คนรุ่นใหม่เหลืออด เมื่อพบว่าพวกเขาเติบโตขึ้นมา “รับกรรม” วิกฤตการเมืองที่เกิดตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น ทิ้งซากไว้เป็นรัฐล้าหลัง อำนาจคร่ำครึ ผู้นำที่ตามสติปัญญาพวกเขาไม่ทัน ยังย่ำอยู่กับโลกยุคขุดบ่อบาดาล เอารถทหารมาฉีดน้ำลด PM2.5 แวดล้อมไปด้วยบริวารสะพานจันทร์โอชา

พูดอีกอย่างว่า คนรุ่นใหม่ไม่ใช่แค่ต้องการรัฐบาลประชาธิปไตย หากยังต้องการผู้นำฉลาด ทันโลกทันยุคสมัย มีวิธีคิดใหม่ๆ นำประเทศฝ่าวิกฤต แล้วก็ยังต้องการรัฐที่เล็กลง รัฐบริการที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ “รัฐเป็นบิดา” จารีตคร่ำครึเทอะทะเป็นภาระภาษีประชาชน

พูดให้ถึงที่สุดก็จะเห็นว่า คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคนี้ ไม่มีวันยอมรับรัฐอนุรักษนิยม อำนาจจารีต ไม่ใช่แค่ “มนุษย์ลุง” 2-3 ตนเท่านั้น

วันนี้คนรุ่นใหม่อาจยังไล่ลุงไม่ได้ แต่รัฐอนุรักษนิยมก็ไม่สามารถครอบคนรุ่นใหม่ได้ มีแต่เติบโตขึ้นทุกวัน

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/hot-topics/news_3412267

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net