Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อาตมาอยากจะขอแสดงความเห็นบ้างนะ ประเด็นเรื่องที่ครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตีเด็กนักเรียนผู้หญิง จนกลายมาเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ และถึงที่สุดแล้ว ตอนนี้ครูท่านนั้นต้องถูกสั่งย้ายและถูกตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ

เรื่องนี้ที่เกิดขึ้น มีคนอยู่สองกลุ่มใหญ่ใหญ่ คนกลุ่มแรกจำนวนไม่น้อยสงสารและเห็นใจเด็กนักเรียนที่ถูกลงโทษ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของครู ส่วนคนกลุ่มที่สองซึ่งมองต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พวกเขาเห็นว่า ครูมีเจตนาที่ดี และการเฆี่ยนตีลูกศิษย์เช่นนั้น เป็นเพราะต้องการอบรมสั่งสอน

เดี๋ยวนี้มีปัญหาเรื่องนี้บ่อยมาก เรื่องการใช้ความรุนแรงในการลงโทษ เรื่องข้อพิพาทระหว่างครูกับเด็กนักเรียน เรื่องกฎระเบียบที่ล้าสมัย ยิ่งยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนมีสื่ออยู่ในมือเท่าเท่ากัน เสียงของนักเรียนจึงไม่ได้ถูกกลบอยู่แค่ในโรงเรียนอีกต่อไปแล้ว แต่มันสามารถที่ดังข้ามรั้วของโรงเรียนออกมาข้างนอกได้ด้วย

ภายใต้ความเป็นสมัยใหม่เช่นนี้ อาตมาเริ่มสังเกตเห็นความเป็นปฎิปักษ์ระหว่างกันมากขึ้นเรื่อยเรื่อย เห็นความเกลียดชังไม่พอใจระหว่างครูกับเด็กนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น

แม้ว่า อาตมาจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง แต่อาตมาก็ไม่คิดว่า การสร้างความรู้สึกที่เป็นปฎิปักษ์ระหว่างครูอาจารย์กับลูกศิษย์ภายในโรงเรียน เป็นเรื่องที่ดี หรือก่อให้เกิดผลในทางบวกอะไร

ครูใช้ความรุนแรงที่เกินเลย เป็นสิ่งที่ไม่ดีแน่แน่ แต่การที่เด็กนักเรียนในยุคนี้จำนวนไม่น้อย แสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และมองเห็นครูเป็นปฏิบักษ์ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดีเช่นกัน

อาตมาพูดแบบนี้ ด้วยความรู้สึกที่เข้าใจ ทั้งในฐานะที่ตัวเองเคยเป็นนักเรียนมาก่อน และในฐานะที่ตอนนี้ตัวเองเป็นอาจารย์สอนคนอื่นด้วย

ต้องขอพูดตามตรงแหล่ะว่า การเฆี่ยนตีอย่างไม่มีเหตุผล หรือเกินเลยด้วยอารมณ์ การที่ครูใช้คำผรุสวาทด่าทอเด็กนักเรียน นั่นไม่ได้ช่วยส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเหล่านั้นในฐานะของผู้ถูกกระทำ มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนเหล่านั้น มีความรัก หรือความเคารพนับถือ ทั้งต่อตัวของครูคนนั้นเอง หรือทั้งต่อวิชาเรียนที่ครูคนนั้นสอนเลยแม้แต่น้อย

กลับกันการใช้ความรุนแรงของครู ยิ่งส่งผลต่อพฤติกรรมด้านลบของเด็กนักเรียนที่มากขึ้น ทั้งกิริยาอาการและสีหน้าแววตาที่เด็กแสดงออก ยิ่งส่งผลต่อความรู้สึกทั้งที่เป็นปฎิปักษ์และต่อต้านหรือเกลียดชังต่อครูคนนั้นที่ใช้ความรุนแรงมากเข้าไปอีก

อาตมานึกถึงตัวเองสมัยเป็นเด็กนักเรียนนะ และก็จำได้ว่า ครูเกือบทุกคนล้วนใช้ไม้เรียวในการทำโทษนักเรียนด้วยกันทั้งนั้น แต่แม้จะใช้ไม้เรียวเหมือนกัน แต่ความรู้สึกที่มีต่อครูแต่ละคนของอาตมากลับต่างกันโดยสิ้นเชิง เราจะรู้สึกยอมรับได้นะ ถ้าครูตีเราโดยสมควรแก่เหตุและความผิด หรือมีเมตตาว่ากล่าวสั่งสอนเราให้เรามองเห็นและเข้าใจในความผิดที่เราทำนั้นนั้น ก่อนที่จะลงโทษ

กลับกันเราจะรู้สึกไม่พอใจมากต่อครูบางคน ครูที่ตีเราอย่างบ้าคลั่งและรุนแรงเกินความผิด ครูที่ใช้ความรุนแรงต่อเราในรูปแบบที่ไม่ควรใช้ อย่างตบหัว ตบหน้า หรือด่าทอเราด้วยคำพูดเสียดแทงใจต่างต่าง อันนี้ก็เป็นเหตุผลสำคัญนะ ที่ทำให้เรารู้สึกเคารพนับถือครูแต่ละท่านต่างกัน

เอาเข้าจริงจริงแล้ว เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ (นี่มองด้วยความรู้สึกของอาตมาเองนะ) ไม่ได้ต่อต้านเกลียดชังการถูกลงโทษจากครู แต่เด็กนักเรียนส่วนใหญ่ต่อต้านเกลียดชังความไม่มีเหตุผลของครูต่างหาก

ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอน อาตมาเข้าใจดีเลยแหล่ะว่า เด็กนักเรียนบางคนนี่ร้ายมากมาก ดื้อด้านมากมาก กวนโอ๊ยมากมาก ทั้งสีหน้าและกิริยาอาการ เคยคิดโกรธเหมือนกัน เคยเผลอด่าทอด้วยหลายครั้ง ที่เป็นสามเณรก็เคยเฆี่ยนตีด้วย แต่ก็นั่นแหล่ะ การที่เราทำเช่นนั้น มันไม่ได้ช่วยอะไรเลย เราเป็นอาจารย์ เราต้องโตกว่าลูกศิษย์ ต้องใจเย็นกว่า สุขุมกว่า นี่คือสิ่งที่ตอนหลังอาตมาจะบอกตัวเองทุกครั้งเวลาสอนหนังสือ

จริงจริงแล้ว วิธีการลงโทษมีเยอะมากนะ คนเป็นครูอาจารย์ย่อมจะรู้ดี เช่นการตัดคะแนน การแจ้งฝ่ายปกครอง การเรียกผู้ปกครองมาพบ อาตมาก็ใช้วิธีการตัดคะแนนบ่อยมาก สำหรับลงโทษเด็กนักเรียนในวิทยาลัยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการเรียน

ถ้าเธอไม่สนใจในการเรียน คะแนนจิตพิสัยเธอก็หายไป เวลาเรียนไม่พอ เธอก็จะไม่ได้เข้าสอบ นี่เป็นไปตามพฤติกรรมของเธอ แบบนี้ก็เป็นวิธีการสอนแบบหนึ่งนะ เป็นวิธีการลงโทษแบบอารยะ และเด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะเข็ดหลาบกับการลงโทษแบบนี้มากกว่าการถูกเฆี่ยนตีเสียอีก

อาตมาว่าถึงเวลาแล้ว ที่ครูอาจารย์ก็ต้องกลับมาทบทวนตัวเองด้วย ทบทวนรูปแบบของสิ่งที่จะพึงกระทำต่อลูกศิษย์ อย่าเอาแต่อ้างว่า ปรารถนาดีหวังดีอย่างเดียว ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติ ความเสียสละ อาจหมายถึงความมีน้ำอดน้ำทนต่อลูกศิษย์บางคนที่ไม่เอาไหน หรือเข้าใจในตัวของเราที่เป็นครูอาจารย์ในทางที่ผิด บางเรื่องเล็กน้อยอาจต้องปล่อยไปบ้าง เราอบรมสั่งสอนเด็กทุกคนไม่ได้หรอก

ถึงต่อตัวของเด็กนักเรียนเอง ก็ต้องหันกลับมาทบทวนตัวเองเหมือนกัน ในบางเรื่องที่ไม่หนักหนาเกินไป มีอะไรที่เราจะพึงปฏิบัติต่อครูอาจารย์ในทางที่ดีได้บ้าง ทำอย่างไร เราจะเป็นลูกศิษย์ที่ให้ความร่วมมือในการเรียนการสอน ทำอย่างไรเราจะไม่เห็นแก่ตัว ไม่ละเมิดกฎของโรงเรียนและกฎของห้องเรียน ยังแอบกินขนมอยู่ไหม แอบสูบบุหรี่ แอบแต่งหน้าทาปากอย่างเกินงาม หรือยังเสียบหูฟัง ยังเล่นโทรศัพท์ ในคาบเรียนหรือเปล่า ทำอย่างไรเราจะไม่โกรธเคือง ไม่มองครูที่ดุด่าว่ากล่าวด้วยความปรารถนาดีด้วยความรู้สึกว่าเกลียดชังเป็นปฏิปักษ์

โรงเรียนควรเป็นเหมือนบ้านนะ เป็นสถานที่ที่บ่มเพาะความรักและความเข้าใจ เป็นที่ที่ถ้อยทีถ้อยอาศัย โรงเรียนไม่ควรเป็นค่ายทหาร ไม่ควรเป็นที่ใช้ความรุนแรงหรือสร้างความเกลียดชังระหว่างครูกับศิษย์

นี่อาตมาอยากจะฝากให้คิด

 

ที่มา: เฟสบุ๊ค พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net