ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 6 (จบ): พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 1: กำเนิดพระพุทธรูป
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 2: พระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 3: การเมืองและความเป็นไทยในพระปฏิมา
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 4: พระพุทธรูปกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 5: องค์จำลองพระมนุษยพุทธะหรือสื่อสารถึงพุทธภาวะที่เป็นสากล ?

ปิดท้ายของเรื่อง “ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา” ที่ดำเนินมาทั้งหมด โดยจะเชิญชวนให้พิจารณามุมมองของผู้ที่รณรงค์เกี่ยวกับการใช้สัญลักษณ์ของพุทธศาสนาในงานศิลปะ กับข้อเสนอเกี่ยวกับการกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปของพุทธทาสภิกขุ
คำถามคือ พระพุทธรูปเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ คำตอบมีสองอย่าง คือคำตอบจากชาวพุทธที่ให้ความสำคัญต่อรูปสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าชนิดที่ดูเหมือนจะไม่ต่างจากพระพุทธเจ้า กับคำตอบจากท่านพุทธทาสภิกขุที่เห็นว่า “รูปเคารพของพระพุทธเจ้า” เป็นตัวปัญหาขัดขวางการเข้าถึงศาสนธรรม ถ้าสองแนวคิดนี้ขัดแย้งกัน ในฐานะพุทธศาสนิกชน เราจะไปทางไหน?

พระพุทธรูปปางแมคโดนัลด์และพระอุลตร้าแมน

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2555 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์พาดหัวข้อ “สับเละ พระพุทธรูปปางแมคโดนัลด์ว่อนเน็ต จี้หาต้นตอ” (ดู https://www.dailynews.co.th/regional/119469) หนังสือพิมพ์ให้รายละเอียดว่า มีคนนำพระพุทธรูปปางแมคโดนัลด์นี้ไปโพสต์ในเพจของ McDonald เพื่อถามหาความรับผิดชอบด้วยเข้าใจว่าเป็นการกระทำของคนของบริษัท แต่หนังสือพิมพ์ได้ให้รายละเอียดต่อไปว่าคนที่สร้างพระพุทธรูปปางนี้ขึ้นน่าจะเป็นศิลปินชาวเกาหลี อันที่จริง พระปางแมคโดนัลด์นี้เป็นพระพุทธรูปไม้สลักทาด้วยสีอะคีลิค เป็นหนึ่งในคอเลคชั่นงานศิลปะของ Jani Leinonen ที่จัดแสดง ณ แกลารี Gmurzynska เมืองซูริค ศิลปินคนนี้ต้องการนำเสนอนิทรรศการ “การลักพาตัวและการประหารชีวิตโรนัล แมคโดนัลด์” เนื่องจากเขามองเห็นว่า รูปปั้นที่ใช้โปรโมทแมคโดนัลด์นั้นเป็นทั้งสัญลักษณ์ของทุนนิยมและตัวตลกเขาจึงให้ความสนใจที่จะนำมาจัดแสดง แต่เมื่อเขาขอซื้อรูปปั้นแมคโดนัลด์ไม่สำเร็จจึงแสดงเรื่องนี้ออกมาผ่านรูปปั้นบุคคลสำคัญและสัญลัษณ์ทางพุทธศาสนาคือพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้ทาด้วยสีอะคีลิค (ดู https://www.sandrascloset.com/jani-leinonen-and-a-fashionable-tombstone/) เรื่องนี้มีผลกระทบต่อชาวพุทธในประเทศไทยพอสมควรถึงกับมีการร้องเรียนไปยังกระทรวงต่างประเทศให้ติดตามเรื่องนี้

ชาวพุทธจำนวนมากมองว่านี่คือการกระทำที่ไม่สมควรเป็นการดูหมิ่นศรัทธาของชาวพุทธ ดูหมิ่นพุทธศาสนาด้วยการนำสัญลักษณ์ทางศาสนามานำเสนอในลักษณะที่ไม่ให้เกียรติและทำให้เสื่อมเสีย ในเว็บไชต์พลังจิต (Palungjit.org) มีชาวพุทธจำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วย ตัวอย่างเช่น “พระพุทธรูปเป็น "อนุสาวรีย์" ของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาที่สั่งสอนธรรมอันประเสริฐที่สุด...การมากระทำเช่นนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการเหยียบย่ำพระพุทธศาสนา และ จิตใจของพุทธศาสนิกชน ขอประณามคนทำและหวังว่าสิ่งที่มันทำคงส่งผลแห่ง "อกุศลกรรม" ให้ชีวิตมันมีค่าแค่ "ตัวตลก" บ้าง.....” 

มีข้อน่าสังเกตว่า เมื่อมีการกระทำต่อรูปเคารพในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ชาวพุทธไม่สามารถจะเปิดรับสารที่เป็นหัวใจสำคัญของการกระทำนั้นๆ ได้ ตัวอย่างที่เกิดกับพระพุทธรูปปางแมคโดนัลด์ไม่ต่างจากกรณี “พระอุลตร้าแมน” แม้นักศึกษาที่วาดภาพดังกล่าวขึ้นจะพยายามสื่อสารให้เห็นแนวคิดเบื้องหลังที่เธอรังสรรค์ภาพวาดดังกล่าวขึ้นมาว่าต้องการแสดงให้เห็นพระมหากรุณาที่มีต่อโลกของพระพุทธเจ้า ชาวพุทธที่มองเรื่องนี้ด้วยทัศนคติของจารีตประเพณีดั้งเดิมก็ไม่อาจเข้าใจหรือยอมรับความหมายใหม่ที่นักศึกษาเขียนให้กับพระพุทธรูปในภาพวาดดังกล่าวได้ ซ้ำยังกล่าวหาว่าดูหมิ่นศาสนา ขาดความเข้าใจมิติที่อ่อนไหวทางศาสนาและบังคับให้ขอขมาต่อชาวพุทธในประเทศไทย

McBuddha, Acrylic on wodden sculpture, 2011
ภาพจาก https://www.sandrascloset.com/jani-leinonen-and-a-fashionable-tombstone/
เข้าถึงเมื่อ 31 ธันวาคม 2562

ความสามารถที่จะเปิดรับพฤติกรรมหรือความคิดใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับโลกสมัยใหม่เป็นปัญหาสำหรับชาวพุทธในประเทศไทยจำนวนมาก มีข้อสังเกตว่าการกระทำต่อรูปเคารพทางศาสนา เช่นพระพุทธรูปดังที่ยกตัวอย่างมานี้ ได้รับความสนใจจากชาวพุทธเป็นพิเศษ งานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการใช้พระพุทธรูปเป็นเครื่องมือสื่อสารจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของชาวพุทธมากเป็นพิเศษเสมอ แต่การกระทำต่อพระธรรม เช่น การทำให้เรื่องราวในชาดกเปลี่ยนความหมายจากคัมภีร์นั้นกลับไม่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงต่อต้านแต่ประการใด แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับ “มหาชนกชาดก” อาจนำมาเปรียบเทียบกับกรณีที่กระทำต่อพระพุทธรูปไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อกรณีที่กระทำต่อชาดกนั้นมีคำอธิบายทิ่ยิ่งใหญ่ทำให้เห็นว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตพลเมืองอย่างไร ทั้งเมื่อเกิดจากผู้มีอำนาจในสังคมก็ยิ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับได้โดยง่าย สิ่งที่กระทำนั้นยังมีนัยสำคัญตรงที่จะช่วยให้พุทธศาสนาเป็นประโยชน์ต่อประเทศและมีความมั่นคง ส่วนกรณีพระพุทธรูปปางแมคโดนัลด์และพระอุลตร้าแมนถูกมองไปในทางตรงกันข้าม ที่สำคัญคือดูมองว่าเป็นการกระทำของคนที่โง่เขลาไม่เข้าใจพระพุทธศาสนาและมีเจตจำนงเชิงลบอีกด้วย       

 

พุทธทาสภิกขุ : การกราบไว้พระพุทธรูปคือความอ่อนด้อยทางจิตวิญญาณ

กรณีนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมาวาดภาพพระรูปอุลตร้าแมนจนถูกชาวพุทธจำนวนหนึ่งออกมาวิพากษ์วิจารณ์และให้อาจารย์พานักศึกษาเจ้าของผลงานไปขอขมาเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมาสะท้อนให้เห็นว่า พระพุทธรูปไม่ว่าจะอยู่รูปประติมากรรม จิตรกรรม หรือภาพวาด ในสายตาของชาวพุทธผู้มากด้วยศรัทธาล้วนมีสถานะเหมือนกันคือเป็นรูปปฏิมาแทนพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดา จึงควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพอย่างสูง เมื่อภาพ “พระอุลตร้าแมน” ถูกตีความหมายไปในเชิงการลบหลู่ศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ถูกตีความหมายให้เป็นไปในทางที่จะเกิดความเสื่อมแก่ศาสนา เมื่อศรัทธาถูกดูหมิ่น เมื่อศาสนามีแนวโน้มว่าจะถูกทำลายโดยผู้อื่นหรือโดยคนที่ไม่มีความเข้าใจต่อพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง ชาวพุทธก็จะถูกเรียกร้องให้ออกมาทำหน้าที่ปกป้องศาสนาของตน พวกเขาถือว่าเป็นหน้าที่ของชาวพุทธที่ดี

ชาวพุทธที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์จะได้รับการปลูกฝังให้ทำหน้าที่ปกป้องศาสนาของตนตามคำสอนในพระไตรปิฎก แต่ความคิดที่แสดงออกอย่างเป็นสาธารณะในช่วงหลังนี้ถูกปลุกเร้าขึ้นในสังคมไทยเมื่อหลายปีที่ผ่านมาโดยองค์กรโนอิ้ง บุดด้า (Knowing Buddha Organization) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยอัจฉราวดี วงศ์สกล และฆราวาสยุคใหม่ที่ประกาศว่าตนเองเป็น “ผู้มีจิตกตัญญูหมายตอบแทนพระบรมศาสดา ที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่่างจริงจัง ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยับยั้งความเห็นผิดและการกระทำอันเป็นการลบหลู่ต่อพระพุทธเจ้า เราหมายที่จะนำธรรมแท้ของพระพุทธองค์กลับคืนมาเพื่อความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา เพื่อความเป็น "ศาสนาแห่งการตื่นรู้" 

องค์กรนี้ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า “เรายืนหยัดทำหน้าที่ปกป้องพระพุทธศาสนา ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปและพระสัญลักษณ์ เนื่องจากในปัจจุบัน มีการนำพระพุทธรูปและพระสัญลักษณ์มาลดทอนคุณค่าให้เป็นเพียง "งานพุทธศิลป์" เพื่อการประดับตกแต่งหรือเป็นเฟอร์นิเจอร์ บดบังคุณค่าที่แท้จริงที่มีไว้เป็นเครื่องรำลึกถึงพระพุทธคุณด้วยความกตัญญูและความเคารพ”  (ดู https://www.knowingbuddha.org/about-kbo-th)  

กระนั้น เมื่อพิจารณาจากบริบททางสังคมการเมืองและศาสนาในช่วงปลายทศวรรษ 2540 เป็นต้นมาปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการปกป้องพุทธศาสนาที่แสดงออกอย่างเปิดเผยอย่างน้อยมีส่วนสัมพันธ์กับความรู้สึกไม่มั่นคงของพุทธศาสนิกชนไทย ความรู้สึกว่าดินแดนศาสนาอันร่มเย็นถูกคุกคามด้วยภัยทั้งไกลและใกล้ กรณีการปกป้องสัญลักษณ์ทางศาสนาตามที่รณรงค์กันโดยองค์กร Knowing Buddha นั้นมีข้อที่น่าสนใจว่าผู้นำที่รณรงค์เรื่องนี้ประกาศว่าพวกเขาดำเนินการเรื่องนี้โดยอาศัยการรู้แจ้งอันเนื่องมาจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน กล่าวให้ชัดเจนคือ การรณรงค์เพื่อให้ปฏิบัติต่อรูปเคารพของพุทธศาสนาอย่างถูกต้องและด้วยความเคารพนั้นมาจากความเชื่อศรัทธาที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งการภาวนาตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา

เมื่อมองจากมุมที่ต่างออกไปดังเช่น มุมมองของท่านพุทธทาสภิกขุ  การกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปด้วยถือว่ารูปปฏิมานั้นเป็นตัวแทนของพระศาสดา แม้กระทั่งการยึดเอารูปกายพระศาสดาที่มีพระชนม์ชีพอยู่ในอินเดียสมัยโบราณมาเป็นเครื่องรำลึกหรือยึดเหนี่ยวก็ดี เป็นการถอยหลังเข้าคลองทางจิตวิญญาณทั้งสิ้น

ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม” ณ พุทธสมาคม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2490 พุทธทาสภิกขุได้กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงพุทธธรรมของพุทธศาสนิกชนไทยโดยทั่วไป ความตอนหนึ่งแสดงทัศนะเกี่ยวกับพระพุทธรูป ซึ่งขอคัดมาแสดงดังนี้

“ถ้าเกิดตั้งปัญหาถามขึ้นว่าอะไรเป็นเครื่องปิดบังพระนิพพานอันเป็นตัวพุทธธรรมที่เราประสงค์จะเข้าถึงแล้ว เราจะพบคำตอบว่า “พระพุทธเจ้า” นั่นเองกลับมาเป็นภูเขามหึมาบังพระนิพพาน สภาพการณ์เช่นนี้กำลังมีอยู่ในจิตใจของพุทธบริษัททั่วๆ ไปซึ่งถ้ากล่าวให้สั้นๆ ตรงๆ ที่สุดก็จะกล่าวว่า ท่านทั้งหลายไม่เข้าถึงพุทธธรรมก็เพราะว่า “พระพุทธเจ้าตามทัศนะของท่าน” ขวางหน้าท่านอยู่. . .

ตามธรรมดาพุทธบริษัทแต่ละคนต่างก็มี “พระพุทธเจ้า” ของตนเป็นเครื่องยึดถือ. ถ้าเขายังไม่รู้จักพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง เขาก็ย่อมทึกทักเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าเป็นพระพุทธเจ้าไปก่อน ไม่เป็นคนว้าเหว่. . . เพราะฉะนั้น เมื่อเขาเข้าใจว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้า สิ่งนั้นก็เกิดเป็น “พระพุทธเจ้าของเขา” ด้วยเหตุนี้เอง สิ่งที่ถูกขนานนามว่าพระพุทธเจ้า จึงมีอยู่ในลักษณะและขนาดมาตรฐานต่างๆ กันแล้วแต่ความยึดถือของคนเป็นชั้นๆ ไป สำหรับเด็กเล็กๆ ถ้าถามว่าอะไรเป็นพระพุทธเจ้าก็จะมีความรู้สึกในตัววัตถุบางอย่าง เช่น พระพุทธรูปในโบสถ์เป็นต้น ว่าเป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจเป็นตุ๊กตาชนิดหนึ่งก็ได้ทำด้วยอิฐด้วยปูนหรือทองเหลืองทองคำก็ได้. เด็กที่เล็กที่สุดมีความรู้สึกว่านั่นเป็นพระพุทธเจ้าของเขาจะเปลี่ยนแปลงไปจากนี้ไม่ได้ แต่เราก็ยกเว้นเป็นการให้อภัยแก่เด็ก.”[1]

 

“พระพุทธเจ้าของเด็ก” นี้ เป็นอุปลักษณ์ที่พุทธทาสภิกขุหยิบมาแสดงเพื่อจะชี้ให้เห็นการเคารพการไหว้พระพุทธรูปของชาวพุทธที่มีภูมิความรู้และความคิดแบบเด็กๆ มากกว่าจะพูดถึงเด็กจริงๆ การใช้คำว่า “ตุ๊กตา” ชนิดหนึ่งที่ทำด้วยอิฐด้วยปูนด้วยทองเหลืองทองคำเปรียบเทียบพระพุทธรูป บ่งชี้ให้เห็นทัศนะที่ว่าพระพุทธรูปหรือพระพุทธปฏิมาที่ชาวพุทธสักการะกราบไหว้หรือบูชากันอยู่นั้นไม่ต่างอะไรกับตุ๊กตา เป็นของเล่น จะมีคุณค่าหรือมีความหมายก็เฉพาะสำหรับเด็กๆ (คือสร้างความบันเทิงใจ) เท่านั้น การยึดติดในพระพุทธรูปที่ทำด้วยวัตถุต่างๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กที่ไร้เดียงสาเพลิดเพลินกับตุ๊กตาของเขา ในทัศนะของพุทธทาสภิกขุ พระพุทธรูปเมื่อถูกยึดถือให้เป็นเสมือนดังพระพุทธเจ้า ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงสัจธรรมทางศาสนา ยิ่งไปกว่านั้น การที่ศาสนิกชนผู้ยังพัฒนาตนเองไม่สูงในทางจิตและยึดเอาพระพุทธเจ้า “สมัยเมื่อสองพันปีกว่ามาแล้วว่ามีเลือดเนื้อกลุ่มหนึ่ง เดินท่องเที่ยวสั่งสอนประชาชนอยู่ในประเทศอินเดีย และนั่นคือองค์พระพุทธเจ้าแท้ๆ” แม้จะดีกว่าการเห็นทองเหลืองทองคำที่หล่อขึ้นเป็นพระพุทธรูป แต่ถ้าว่ากันตามความจริงในด้านวัตถุแล้ว “สำหรับเลือดเนื้อกลุ่มนั้น จะเป็นพระพุทธเจ้ามากไปกว่าในก้อนทองเหลืองทองแดงไปไม่ได้เลย” เพราะฉะนั้น การยึดเอาพระพุทธเจ้าพระองค์จริงในประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระพุทธเจ้าก็ “เป็นการตะครุบเอาพระพุทธเจ้าผิดเข้าอีกครั้งหนึ่ง” เท่านั้นเอง[2]

ในความคิดของพุทธทาสภิกขุ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นหรือแม้กระทั่งความรู้สึกสำนึกเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์ล้วนแต่เกิดขึ้นจากการยึดพระพุทธเจ้าตามความคิดของเราแต่ละคน พระพุทธเจ้าเป็นภูเขาลูกใหญ่ที่บังธรรมะ ก็เพราะเหตุว่า เราชาวพุทธกลับมาหลงรักภูเขาเสียเอง[3] เมื่อจิตใจของเราหลงรักภูเขาเสียเองโดยเข้าใจว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่แท้จริง สิ่งที่เราปฏิบัติต่อพระพุทธเจ้าทองเหลืองทองแดง (การเคารพบูชาพระปฏิมา) และแม้กระทั่งการยึดถือพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งมีชีวิตอยู่จริงในอดีตแท้ที่จริง ล้วนเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงพุทธธรรมทั้งสิ้น นัยสำคัญที่พุทธทาสภิกขุนำเสนอไว้ในปาฐกถาดังกล่าวก็คือ เราต้องเลิกยึดมั่นในพระพุทธปฏิมา เลิกยึดมั่นในพระพุทธเจ้าในอดีตที่เราแทนพระองค์ด้วย “พระปฏิมา” นั้นด้วย จึงจะสามารถเข้าถึงคำสอนอันแท้จริงของพุทธศาสนาได้[4]

กิจกรรมอย่างหนึ่งของสวนโมกขพลารามที่ดำเนินการโดยพุทธทาสภิกขุคือ การสร้างภาพหินสลักพุทธประวัติที่ไร้ภาพของพระพุทธเจ้าทั้งนี้เพราะพุทธทาสภิกขุมองว่า สิ่งสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าใจธรรมอันแท้จริงของชาวพุทธคือการยึดติดกับพระพุทธเจ้าทั้งในรูปของตัววัตถุที่ปั้นขึ้นมาเป็นพระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า ทั้งในรูปของคติความคิดที่เราสร้างขึ้นเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพื่อจะช่วยให้ผู้คนทะลุภูเขาที่บังพุทธธรรมออกไป ภาพหินสลักพุทธประวัติที่ไร้รูปลักษณ์ของพระพุทธเจ้าจึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาพุทธศักราช 2505 - 2506

พุทธทาสภิกขุมองว่าการทำพระพุทธรูปขึ้นบูชาเป็นการถอยหลังเข้าคลองของตนเองในทางธรรมะหรือจิตวิญญาณ ผลที่ตามมาคือเกิดพิธีรีตองทางวัตถุที่รกรุงรังเกินกว่าจำเป็น คือเกินกว่าที่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ (Symbol) เพื่อการน้อมระลึกถึงในทางธรรมเท่านั้นและพระพุทธรูปได้ทับถมปิดกลบธรรมะที่จะช่วยให้รอดได้จริงยิ่งขึ้นทุกที จนมีผู้กล่าวว่า “พระพุทธรูปบังพระพุทธเจ้า”[5]  พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นมาบูชาแสดงถึงความอ่อนด้อยทางจิตวิญญาณสำหรับผู้ที่อ้างว่าการสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาก็เพื่อมุ่งให้เห็นสัญลักษณ์ไม่ใช่ต้องการให้เป็นรูปเหมือน (Idol) ของพระพุทธเจ้า ดังนั้น แม้จะมีอารมณ์ (Mood) อะไรแสดงอยู่ในหน้าตานั้นบ้างก็ให้ถือเป็นเพียงสัญลักษณ์พอให้รู้ประวัติของพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน พุทธทาสภิกขุได้วิจารณ์แนวคิดทำนองนี้ว่า

“ข้อนี้ยิ่งพูดไปก็ยิ่งเห็นว่าเป็นการหาทางออกอย่างข้างๆ คูๆ เพราะว่าผู้หลุดพ้นแล้วแท้จริง ย่อมพ้นจากการกระตุ้นหรือการปรับแต่งอารมณ์โดยประการทั้งปวง จึงไม่มีรูปแบบหรือรูปของอารมณ์ (Mood) ใดๆ ที่เป็นจริงสำหรับท่าน มีแต่เปลือกนอกดังกล่าวแล้ว การไปแสดงสัญลักษณ์ของสิ่งชั้นเปลือกนอกที่ไม่ใช่พระองค์จริงนั้นไม่มีประโยชน์อะไร มิกลายเป็นการบ้าบอยิ่งขึ้นไปอีกหรือ”[6]

การทำพระพุทธรูปขึ้นมาประกอบเรื่องเล่าในพระพุทธประวัติไม่ใช่การทำสัญลักษณ์ที่แท้จริง เราไม่สามารถแสดงพระพุทธเจ้าผ่านรูปลักษณ์ทางวัตถุและลักษณะของอารมณ์ใดๆ ได้ดังที่พระสงฆ์หรือชาวพุทธทั่วไปนิยมอ้าง พระพุทธรูปที่ปั้นขึ้นนั้นไม่อาจจะเป็นแม้แต่สัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า พุทธทาสภิกขุเห็นว่า พวกที่ทำภาพพุทธประวัติในหินสลักที่สาญจี ภารหุต และอมราวดีของอินเดีย เป็นพวกที่ทำภาพพระพุทธเจ้าในลักษณ์ที่เป็นสัญลักษณ์ที่แท้จริง และเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกต้องถึงที่สุดจริงๆ ด้วย เพราะคนพวกนี้มีความเห็นว่าไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ที่เหมาะสมสำหรับพระองค์นอกจากสัญลักษณ์แห่งความว่าง

“ดังนั้น เราจึงได้เห็นบัลลังก์ที่ว่าเต็มไปหมดในภาพเหล่านั้น โดยไม่มีใครอยู่บนบัลลังก์ กระทั่งบนหลังม้าที่ออกผนวชก็มิได้มีใครนั่งอยู่บนนั้น . . .ผู้ดูจะต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียด้วยว่า ไม่ใช่ตัวบัลลังก์นั้นเป็นสัญลักษณ์ หากแต่ว่าความว่างจากตัวคนบนบัลลังก์นั่นแหละเป็นตัวสัญลักษณ์ เราอาจรู้หรือทายได้ทุกคนว่าบนบัลลังก์นั้นพระพุทธองค์ประทับอยู่ แต่องค์แท้ของพระพุทธองค์นั้นคือความว่างจากบุคคลอันอยู่ในลักษณะซึ่งเราไม่สามารถจะแสดงด้วยภาพหรือแบบหรือรูปใดได้ นอกจากความว่าง ส่วนองค์ไม่แท้หรือเปลือกนอกจนกระทั่งองค์ปลอมนั้น เราอาจจะแสดงด้วยภาพอะไรก็ได้ตามใจผู้ทำนั่นเอง”[7]

 

การปฏิเสธพระพุทธรูปหรือการใช้รูปปฏิมาแทนองค์พระพุทธเจ้าในเรื่องเล่าพุทธประวัติหรือความเป็นพุทธเจ้าของพุทธทาสภิกขุได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมความคิดในอุปนิษัท และอาจมีวัฒนธรรมความคิดแบบเต๋าของเหล่าจื่ออยู่ด้วย ตรงที่ท่านถือว่า “พุทธภาวะ” มีนัยคล้าย “ปรมาตมัน” หรือ “เต๋า” อันมิอาจเรียกขานหรือตั้งชื่อให้ได้ด้วยภาษาหรือแสดงผ่านสัญลักษณ์ใดๆ ที่มนุษย์คิดขึ้นได้ ควรจะกล่าวได้ว่าพุทธทาสภิกขุยกพระพุทธเจ้าตามที่เข้าใจกันทั่วไปขึ้นไปอยู่สภาวะปรมัตถ์ (ความว่าง) อันเป็นมิติทางอภิปรัชญาที่พัฒนาอย่างชัดแจ้งโดยฝ่ายพุทธศาสนามหายาน โดยเฉพาะแนวคิดเรื่อง “ธรรมกาย” แต่ความคิดของพุทธทาสภิกขุที่อาจจะไปไกลกว่าแนวคิดของมหายานทั่วไป คือพุทธศาสนาสายมหายานยังคงให้ความสำคัญต่อการแสดงพุทธภาวะผ่านคติเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่เป็นทั้งนิรมานกายและสัมโภคกาย แม้จะมีคำสอนในบางลักษณะที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าคือสุญญตาก็ตาม แต่มหายานโดยทั่วไปยอมรับการมีพระพุทธรูปเพื่อการสักการบูชา นอกจากนี้ แนวคิดของพุทธทาสภิกขุย่อมมีอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายเซ็นอยู่อย่างแน่นอน ด้วยวิธีคิดที่แฝงด้วยอภิปรัชญาอย่างลึกซึ้งจากระบบปรัชญาศาสนาหลายสำนัก พุทธทาสภิกขุได้ยกระดับแนวคิดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าของท่านขึ้นไปสู่สถานะเดียวกันกับแนวคิดทางปรัชญาเหล่านั้น ข้อนี้ทำให้ท่านสามารถปฏิเสธพระพุทธรูปในฐานะสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้องตามหลักเหตุผล

พระพุทธรูปไม่ใช่ตัวแทนของพระพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าไม่อาจแสดงด้วยรูปลักษณ์ใดๆ เพราะ “พุทธะ” คือ “ความว่าง” เมื่อพระพุทธเจ้าคือความว่าง ภาพหินสลักพุทธประวัติที่เล่าเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏขึ้นครั้งแรกในราวพุทธศตวรรษที่ 3 - 6 จึงเป็นที่ประทับใจพุทธทาสภิกขุและกลายเป็นแบบอย่างของภาพสลักหินพุทธประวัติที่สร้างขึ้นในสวนโมกขพลารามในเวลาต่อมา แนวคิดและวิถีปฏิบัติของพุทธทาสภิกขุในเรื่องดังกล่าวนี้อาจถือเป็นการถอดรื้อความคิดเกี่ยวกับพระพุทธรูปของชาวพุทธในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทยทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ เมื่อเราเดินทางไปยังอุโบสถของวัดสวนโมกขพลาราม เราจึงได้เห็นพระพุทธรูปปูนปั้นวางอยู่บนแท่นอันเปล่าเปลือยไร้การประทับตกแต่งและเครื่องสักการบูชาอันอลังการ เราจะเห็นแท่นพระพุทธรูปบนแท่นเหนือผืนทรายและล้อมรอบด้วยต้นไม้อันเป็นสภาพแวดล้อมธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม พุทธทาสภิกขุยังยอมรับว่า พุทธะและธรรมะยังคงต้องถูกแสดงผ่านวัตถุสัญลักษณ์บางอย่าง เพราะปรมัตถธรรมไม่มีความหมายหากไม่อาจแสดงผ่านสิ่งที่มนุษย์สามารถมีประสบการณ์ได้ พระพุทธเจ้าอาจไม่ปรากฏหรือปรากฏเป็นความว่างในภาพหินจำหลักพุทธประวัติ แต่ภาพดังกล่าวไม่อาจว่างเว้นอย่างสิ้นเชิงจากองค์ประกอบของเรื่องเล่าที่จะนำประสบการณ์ของผู้พบเห็นไปสัมผัสกับพุทธะอันว่างเปล่าได้

เมื่อมองจากแง่มุมของโลกุตรธรรมที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาจิตวิญญาณเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนาหรือแม้กระทั่งศาสนาทั่วไปในโลกนี้แนวคิดของพุทธทาสภิกขุย่อมมีเหตุผลน่าเชื่อถือ นี่เป็นมุมมองแบบ idealism ที่ให้ความสำคัญพิเศษต่อการเข้าถึงธรรม แต่สำหรับคนทั่วไปที่เกิดมาหลังการสร้างรูปเคารพขึ้นมาจนแยกไม่ออกจากจารีตประเพณีทางศาสนานั้นดูจะเข้าใจยากสักหน่อย

โลกุตรธรรมกับโลกียธรรม จะบรรจบกันตรงไหน ?

เอดเวิร์ด คอนซ์ชี้ว่า การที่พุทธศาสนาแผ่ขยายออกจากอินเดียและได้รับการนับถือจากชนชาติเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากนั้นเป็นเพราะว่า พุทธศาสนามีลักษณะนานาชาติที่ไม่ยึดติดกับชาติพันธุ์และพื้นที่ พุทธศาสนาสามารถหลอมรวมตนเองเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นด้วยการประสานความเชื่อพื้นถิ่นไว้เป็นส่วนหนึ่งของตนหรือไม่ก็อาจในทางตรงกันข้ามคือปรับตัวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นที่นับถือแนวความเชื่อหรือลัทธิอื่นอยู่ก่อนแล้ว (อันที่จริงแล้วศาสนาพราหมณ์-ฮินดูก็มีลักษณะเดียวกันนี้คือการหลอมรวมเอาความเขื่อต่างๆ ไว้ภายในระบบความเชื่อของตน) นอกจากนี้ พุทธศาสนายังเป็นที่ยอมรับของชนชั้นปกครองก็ด้วยเหตุที่มันตอบสนองความต้องการที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจเหนือจักรวาล ทุกศาสนาที่ตอบสนองความต้องการชนิดนี้ได้ย่อมจะได้รับการยอมรับนับถือทั้งสิ้น สำหรับคนทั่วไปนั้น พุทธศาสนาได้รับการยอมรับนับถือเพราะสามารถตอบสนองผลประโยชน์ใน 3 มิติของชีวิตด้วย คือ

(1) พุทธศาสนามีคำสอนที่ช่วยให้ผู้คนสามารถกำหนดตำแหน่งที่ของตนในจักรวาลได้ พวกเขาได้รู้ว่าในฐานะสัตว์ที่อยู่ท่ามกลางวัฏสงสาร ภายใต้ระบบจักรวาลวิทยาที่ซับซ้อนมีหลายลำดับชั้น เขาดำรงอยู่ ณ จุดใดของพื้นที่หรือภพภูมิใดในระบบจักรวาลวิทยาดังกล่าวเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น และเมื่อเขาล่วงลับไปแล้ว เขาสามารถจะเดินทางไป ณ จุดใดได้บ้างด้วยวิธีการหรือสาเหตุใด เป้าหมายสุดท้ายของชีวิตที่ควรไปถึงคืออะไร อะไรที่ทรงอำนาจอิทธิพลเหนือชีวิตของพวกเขาและเหล่าสัตว์ทั้งหมดในจักรวาล

(2) พุทธศาสนาให้คำตอบในมิติทางจิตวิญญาณบางประการที่ช่วยอธิบายให้คนที่นับถือได้เห็นว่า ความสุขและความทุกข์ที่เขาประสบนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ในบางกรณี ความทุกข์ของมนุษย์ไม่อาจจะอธิบายได้ด้วยวิทยาการบางอย่างแล้วช่วยให้เขาสามารถคลายความทุกข์ค้างคาในชีวิตได้ คำปลอบประโลมทางศาสนาหรือแนวปฏิบัติทางศาสนาจะช่วยชี้แนะขัดเกลาให้เขาพบแนวทางที่จะสามารถปลอดปล่อยตนเองออกจากความทุกข์ทางใจที่หาทางออกไม่ได้

(3) การตอบสนองความต้องการด้านไสยศาสตร์ จากแง่มุมของชาวพุทธปัญญาชน ไสยศาสตร์อาจดูเป็นเรื่องงมงายออกนอกทางพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ตอบปัญหาความต้องการเฉพาะหน้า เป็นเรื่องโลกย์ๆ อาศัยการอ้อนวอนและศรัทธาอันผิดเพี้ยนจากคำสอนทางศาสนา เช่น การไม่ยอมรับการพึ่งพาตัวเอง ยอมรับการกำหนดชะตากรรมและการอ้อนวอนขอพรจากพระ แต่ในห้วงแห่งความทุกข์อันสาหัส วิธีการแบบไสยศาสตร์ดูจะเป็นทางลัดสั้นที่ช่วยให้ผ่อนคลายจากความทุกข์ได้ ในภาวะที่คนกำลังเหนื่อยล้าด้วยความทุกข์ทรมานใจ การไตร่ตรองด้วยเหตุผลและการอาศัยภูมิปัญญาตามที่ศาสนาแบบปัญญาชนแนะนำนั้นอาจจะแห้งแล้วไร้อารมณ์ความรู้สึก ศาสนาแห่งไสยศาสตร์เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึกและมีพลังที่ช่วยให้ผู้คนผ่อนคลายความทุกข์ทรมานใจได้โดยเร็ว[8]  

ตามแนวคิดของนิธิ เอียวศรีวงศ์ที่กล่าวถึงแล้ว ศาสนามี 2 มิติ คือ มิติของโลกุตรธรรมที่อยู่เหนือวิถีชีวิตปกติของมนุษย์ทั่วไป กับมิติโลกียธรรมที่หันหน้าเข้าหาโลกมนุษย์ ศาสนาดำรงอยู่ได้ส่วนหนึ่งเพราะสามารถตอบโจทย์ชีวิตแบบโลกย์ๆ เมื่อพิจารณาจากแง่มุมแห่งศรัทธา (ไม่ใช่แง่มุมแห่งการเรียนรู้และขัดเกลาอารมณ์ความรู้สึก) ควรจะกล่าวได้ว่า พระพุทธรูปได้รับการเคารพบูชาในฐานะที่สิ่งที่ตอบสนองความต้องการด้านไสยศาสตร์ คือเชื่อว่าพระพุทธรูป (ที่ประกอบขึ้นด้วยวัตถุสารต่างๆ) เมื่อผ่านกระบวนการพุทธาภิเษกหรืออบรมพระเจ้าแล้วก็จะกลายเป็นพระพุทธเจ้าที่มีชีวิต มีพลังศักดิ์สิทธิ์ ที่ผู้คนจะสามารถกราบไหว้บูชา อ้อนวอนขอพลังคุ้มครอง แง่มุมนี้มันเป็นเรื่องของการดำรงชีวิตประจำวัน ชีวิตโลกย์ๆ ไม่ใช่ชีวิตที่มุ่งหมายพ้นโลกดังที่พุทธทาสภิกขุนำเสนอ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีที่มีการโต้แย้งกันเรื่องการใช้พระพุทธรูปในศิลปะสมัยใหม่ ซึ่งฉีกออกนอกแบบแผนของจารีตนิยมในวัฒนธรรมไทย เราอาจจำแนกเป็น 2 ส่วนคือ (1) ปัญหาทางวัฒนธรรม อันเกิดจากการมีพระพุทธรูปในฐานะรูปเคารพและในฐานะรูปแบบทางวัฒนธรรมได้เข้ามามีบทบาทเหนือแก่นของพุทธศาสนา (2) ปัญหาเรื่องการแสดงการต่อต้านการใช้พระพุทธรูปที่ไม่เป็นไปตามแบบแผน สองส่วนนี้สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ถ้าไม่ต้องการมีปัญหาในข้อที่สอง ก็ต้องกลับไปแก้ปัญหาประการแรกก่อน แต่การจะย้อนกลับไปแก้ปัญหาข้อแรกโดยทำให้ไม่มีพระพุทธรูปในโลกนี้หรือทุบทำลายพระพุทธรูปที่มีอยู่ทิ้งเสีย  การถอดรื้อวัฒนธรรมทิ้งอย่างถอนรากถอนโคนคงทำไม่ได้เพราะวัฒนธรรมดังกล่าวนี้สร้างขึ้นบนฐานความคิดและประวัติศาสตร์อันยาวนานจนยากจะทำลายทิ้งไป ชาวพุทธจึงดำรงอยู่ท่ามกลางโลกที่มีพระพุทธรูปกับโลกแห่งอุดมคติที่ทะลุทำลายรูปเคารพของพระพุทธเจ้าให้จงได้ ภายใต้โลกสองแบบ เราอาจบรรสานอารมณ์ความรู้สึกหรือความคิดที่มีต่อพระพุทธรูปในฐานะองค์ประกอบของศรัทธาด้วยการปรับศรัทธาต่อพระพุทธรูปของเราให้อ่อนลงด้วยการเปิดรับทัศนคติหรือท่าทีแบบพุทธทาสภิกขุคู่ขนานการไปกับการให้ความสำคญต่อรูปเคารพของพระพุทธเจ้า การนำแนวความคิดของพุทธทาสภิกขุมาเป็นข้อคิดเตือนใจเพื่อจะวางท่าทีต่อรูปเคารพทางศาสนาของตนได้อย่างมีสัมมาทิฏฐิมากขึ้นและขัดเกลาการยึดมั่นถือมั่นในรูปเคารพให้อ่อนลง อันอาจนำไปสู่แนวทางแสดงออกถึงการต่อต้านการใช้รูปสัญลักษณ์ที่เหมาะสมกว่าการใช้อำนาจเป็นเครื่องมือจัดการ

ลองคิดเล่นๆ ว่า หากเรามีบ้าน อยู่มาวันหนึ่งเราพบว่าในบ้านมีหนูมาทำรังอยู่ที่ซอกมุมของตู้สิ่งของกองกูลหรือกองหนังสือ แน่นอน เมื่อเจอหนู เราโมโหที่มีหนูมาอาศัยในบ้าน แล้วเราก็หาทางกำจัด ซึ่งอาจหมายถึงต้องทำลายชีวิตหนู ถามกลับว่า ทำไมเราต้องโกรธและทำลายชีวิตหนูตัวนั้น ทำไมเราไม่โกรธตัวเองที่รักษาบ้านไม่ดีพอ หรือทำไมเราจึงไม่ทำให้หนูตัวนั้น ไม่ต้องเข้ามาอยู่ในบ้านเสียแต่แรกด้วยวิธีการบางอย่าง เช่น ไม่ปล่อยให้บ้านรกรุงรัง หรือตัดต้นไม้บางต้นที่อาจทำให้หนูสามารถปีนเข้ามาในหลังคาบ้านได้ หรือวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสม ทำนองเดียวกัน ถ้าไม่ต้องการมีปัญหาในเรื่องพระพุทธรูป เราก็ไม่ต้องสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาตั้งแต่แรก แต่เมื่อพระพุทธรูปกลายมาเป็นค่านิยมทางวัฒนธรรมที่พ่วงเอาความศักดิ์สิทธิ์เข้ามาแล้วอย่างมั่นคงในใจของพุทธบริษัทจำนวนมาก ที่เราทำได้ไม่ใช่เรียกร้องทุบทำลายรูปเคารพทั้งหมด หรือเรียกร้องให้ทุกคนเลิกเคารพนับถือ เลิกยึดมั่นในรูปเคารพที่พวกเขาให้ความสำคัญ ด้วยความเคารพในศรัทธาและสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาของพวกเขา เราเรียกร้องให้เขาย้อนกลับไปหาสาระดังเดิมของการมีหรือการไม่มีพระพุทธรูปตั้งแต่แรกเพื่อบรรเทาความโกรธเกรี้ยวที่อาจนำไปสู่การใช้อำนาจไร้ขอบเขตเมื่อเผชิญหน้ากับพฤติการณ์หรือเหตุการณ์ที่ไม่อาจยอมรับได้เกี่ยวกับสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะกรณีงานพุทธศิลป์ที่หมิ่นเหม่ต่อศรัทธา

ที่สำคัญคือ การตระหนักถึงขอบเขตอำนาจของพุทธศาสนาในโลกสมัยใหม่ พุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาที่จะมีอำนาจในทุกพื้นที่ของชีวิตคนหรือในทุกอุณูของสังคมอีกต่อไป ในสังคมที่อนุญาตให้พลเมืองสิทธิเสรีภาพภาพทางศาสนาและกำลังก้าวเข้าสู่สังคมพหุวัฒนธรรม พุทธศาสนิกชนไทยย่อมควรตระหนักถึงขอบเขตของการแสดงออกในเชิงการต่อต้านของตนให้มากขึ้น การต่อต้านเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่ต่อต้านอย่างไรก็ต้องรู้ว่าเส้นแบ่งของสิทธิเสรีภาพในสังคมประชาธิปไตยของพลเมืองไทยอยู่ตรงไหนด้วย           

ส่งท้าย  

ภาพยนตร์สารคดี BBC เรื่อง The Life of Buddha ที่ผลิตออกมาเมื่อราว 10 กว่าปีที่แล้ว เล่าเรื่องราวของเจ้าชายสิทธัตถะตั้งแต่กำเนิดจนกระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าและปรินิพพาน แต่จุดที่เน้นเป็นพิเศษคือช่วงเวลาแห่งการแสวงหาหนทางแห่งการตรัสรู้ การบำเพ็ญทุกรกิริยา การผจญมารและชั่วขณะแห่งการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ที่นำไปสู่การให้ความเคารพต่อโพธิมณฑลอันเป็นสถานตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่พุทธคยาจนปัจจุบัน สารคดีนี้จบลงด้วยประโยคที่น่าสนใจว่า พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งปฏิเสธการสักการบูชารูปเคารพได้กลายเป็นบุคคลที่มีรูปเคารพมากที่สุดในโลก

เมื่อเราเดินทางไปยังท่าพระจันทร์และย่านเสาชิงช้าของกรุงเทพมหานคร เราจะพบความแตกต่างระหว่างสองพื้นที่นี้ ท่าพระจันทร์เต็มไปด้วยพระพิมพ์และรูปเคารพทั้งของพระพุทธเจ้าและเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงในอดีต พระพิมพ์ที่เป็นทั้งรูปของพระพุทธเจ้าและหลวงพ่อทั้งหลาย ครั้งหนึ่งเคยวางเรี่ยอยู่บนผืนผ้าที่ปูลงบนฟุตปาธ ขณะที่รถราสัญจรไปมา ผู้คนขวักไขว่และพระภิกษุสามเณรมุ่งหน้าไปยังสถาบันศึกษาของคณะสงฆ์ บางคนแสวงหาหนังสือธรรม บางคนตั้งใจไปซื้อ CD ธรรม บางคนต้องการสมุนไพรในร้านค้าแถวนั้น จะเห็นรูปเคารพที่เรียกว่า “พระนวโกฏิ” ของโหราจารย์ระดับประเทศที่ขาดสุนทรียภาพอย่างแท้จริงวางขายอยู่บนโต๊ะร้านพระเครื่องริมฟุตปาธ บางครั้งเราจะเห็นรูปเคารพ “ชูชก” ที่ทำขึนเพื่อความร่ำรวยของผู้กราบไหว้ ดูเหมือนว่าในวัฒนธรรมของชาวพุทธไทย รูปเคารพแปลกๆ เกิดขึ้นได้ตลอด ความคิดสร้างสรรค์มีมากล้นในเรื่องสร้างวัตถุแห่งการเคารพบูชา  ตัดไปยังบริเวณย่านเสาชิงช้า พระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่วางเรียงรายในร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ให้ผู้มีศรัทธาเลือกติดต่อซื้อขายเพื่อนำไปประดิษฐานในวัดที่ตนศรัทธา ร้านค้าที่เสาชิงช้าจำนวนมากทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ในร้านจึงมีพระพุทธรูปทองเหลือง ทองคำ และที่ทำด้วยวัสดุอื่นๆ เช่น หินอ่อน เป็นต้น ตั้งอยู่อย่างดาษดื่นในร้าน พระพุทธรูปเหล่านี้แตกต่างจากพระพิมพ์ตรงที่พระพิมพ์อาจถูกเช่าซื้อเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ ราคาซื้อขายอาจแปรผันไปตามความนิยมของตลาด แต่พระพุทธรูปมีราคาเปลี่ยนแปลงตามต้นทุนการผลิต เนื่องจากเป็นรูปเคารพเพื่อการสักการบูชาอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองพื้นที่นี้เหมือนกันตรงที่ต่างทำมาค้าขายกับรูปเคารพทางพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน

พระพุทธรูปเกิดขึ้นในบริบทของอินเดียในฐานะองค์ประธานของเรื่องเล่าที่ตอบสนองต่อความอยากรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าของชนชาติกรีกและชนชาวฮินดูในสมัยหลังพุทธกาล “พุทธะ” ที่ปรากฏอยู่อย่างว่างเปล่าท่ามกลางองค์ประกอบอื่นๆ ของภาพหินสลักพุทธประวัติเพื่อเป็นที่ว่างสำหรับให้ผู้ศึกษาจินตนาการเกี่ยวกับพุทธะด้วยตนเอง ต่อมาถูกแทนที่ด้วยปางพระพุทธรูปที่แสดงอิริยาบถและมุทราต่างๆ พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นถูกแต่งเติมด้วยจินตนาการบนพื้นฐานของแนวคิดเกี่ยวกับลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการและเรื่องราวทางศาสนา ความคิดเชิงสุนทรียะถูกแต่งแต้มเข้าไปในองค์ประธานของเรื่องเล่าที่แยกโดดเดี่ยวออกมาจากองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อเพียงการสื่อสารด้วยท่วงท่าอิริยาบถและมุทราของพระพุทธรูปเพียงอย่างเดียว ส่งอิทธิพลต่อพื้นที่ต่างๆ ในโลกที่พุทธศาสนาเดินทางไปถึงแม้กระทั่งดินแดนที่เรียกว่า “สุวรรณภูมิ” หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงสมัยอารยธรรมทวารวดีของไทยในปัจจุบัน

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสังคมไทยถูกสร้างขึ้นเพื่อสักการบูชา แต่ได้พยายามรักษาคติดั้งเดิมของการสร้างพระพุทธรูปโดยเฉพาะเมื่อนำไปประดิษฐานในอาคารสถานที่ที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น พระอุโบสถและวิหาร พระพุทธรูปที่จัดวางไว้ในสถานที่เช่นนี้ยังมีสถานะเป็นองค์ประธานของเรื่องเล่าที่บรรยายด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนัง จุดมุ่งหมายของผู้สร้างก็เพื่อสื่อธรรมทางพุทธศาสนาให้ผู้คนได้ซึมซับผ่านภาพที่ออกแบบไว้อย่างวิจิตรงดงามตามวิถีไทย พระพุทธรูปไม่เพียงกลายเป็นวัตถุที่มุ่งหวังจะใช้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศาสดาในเรื่องเล่าทางศาสนา หากแต่เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์เมื่อผ่านกระบวนการสร้างองค์พระตามคติที่ยึดถือกันมาในจารีตประเพณีของไทยและการอบรมพระเจ้า (พิธีพุทธาภิเษก) ที่ผู้ประสบทุกข์อาจอ้อนวอนขอพรเพื่อจะได้ประสบสิ่งที่ดีในชีวิต พระพุทธรูปในฐานะองค์ประธานของเรื่องเล่าเมื่อเปลี่ยนมาเป็นองค์ประธานของวัด โบสถ์ วิหาร ได้กลายเป็นหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ที่ดูมีความใกล้ชิดสนิทเชื้อกับผู้ผ่านไปเคารพบูชา รูปแบบทางวัฒนธรรมการเคารพบูชาพระพุทธรูปได้เปลี่ยนจากการบูชาด้วยการสวดมนต์และการเจริญภาวนาเป็นการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของดอกไม้ธูปเทียน พระพุทธรูปองค์สำคัญ เช่น หลวงพ่อวัดไร่ขิง หลวงพ่อพุทธโสธร หรือหลวงพ่ออื่นๆ อีกมากมายได้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของวัดและชุมชนรายล้อม แผ่กระจายไปยังวัดอื่นๆ หรือหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้คนที่ต้องการความอนุเคราะห์จากเจ้าของพื้นที่ที่มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สถิตประดิษฐานเป็นองค์ประธานของวัด พระพุทธรูปในบริบทของวัฒนธรรมไทยส่งอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คนจากระดับล่างจนระดับบนสุดของสังคมไทย ในระดับล่าง พระพุทธรูปเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจยามทุกข์ยาก เป็นทางออกสำหรับผู้คนที่ต้องการมีชีวิตรอดในรัฐที่สวัสดิการไม่ถูกกระจายไปอย่างทั่วถึงและเที่ยงธรรม พระศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นเครื่องมือทำมาหากินของผู้ครอบครอง และอาจเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะเผยแพร่อุดมการณ์ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ไปยังหมู่ประชาชนพลเมืองภายในรัฐ

ขณะที่พระพุทธรูปได้กลายเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุที่เกาะลึกลงไปในจิตวิญญาณของชาวพุทธไทย เป็นแหล่งขับเคลื่อนทางธุรกิจและสร้างรายได้แก่ผู้คนในพื้นที่หรือในชุมชนคนทั่วไป พระพุทธรูปก็อาจเป็นวัตถุที่สะท้อนชีวิตอันมีอารยธรรมด้านศิลปะและโบราณวัตถุที่หาคุณค่ามิได้ ทั้งอาจถูกชนชั้นนำใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครองภายใต้แนวคิดเรื่องการอุปถัมภ์บำรุงพุทธศาสนาและธรรมราชาตามคติคำสอนของพุทธศาสนา หรือก่อให้เกิดงานศิลปะต่างๆ ทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรม สร้างรูปแบบอาชีพที่แนบสนิทอยู่กับการสร้างสรรค์องค์พระเพื่อให้ผู้คนได้สักการบูชา ขับเคลื่อนพลังชีวิตทางศาสนาให้ดำเนินไปตามวิถีศรัทธา มีผู้คนจำนวนมากเห็นพระพุทธรูปเป็นวัตถุที่มีคุณค่าในทางศาสนาที่ไม่อาจดูหมิ่นหรือทำลายได้ มีบ้างบางคนที่เห็นว่าพระพุทธรูปเป็นเครื่องมือกีดขวางการบรรลุธรรม ทั้งได้พยายามชี้นำสังคมพุทธให้หันกลับไปสู่วิธีดั้งเดิมในการศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “พระพุทธเจ้า” อย่างถูกต้อง อันจะมีผลต่อการพัฒนาจิตวิญญาณด้านศาสนาอย่างแท้จริง

ความขัดแย้งและความย้อนแย้งระหว่างการนับถือพระพุทธรูปกับการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ถูกตรงนั้นยังคงดำรงอยู่ในวิถีชีวิตของชาวพุทธ เป็นความตึงแย้งระหว่างชีวิตในโลกความเป็นจริงที่แสดงออกในชีวิตประจำวันกับโลกของคัมภีร์และปรัชญา มีทั้งความรกรุงรังและความสงบนิ่งเจือปนคละเคล้าอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ผ่านองค์พระที่สงบนิ่งมีเมตตาตามแบบแผนของช่างปั้น เราได้เห็นชีวิตหลากหลายของชาวพุทธเคลื่อนผ่านไป ทั้งหมดคือความหลากหลายของพุทธศาสนาในชีวิตคนไทยผ่านแง่มุมของศาสนวัตถุหรือกล่าวให้เฉพาะเจาะจงลงไปคือ พระพุทธรูปหรือพระพุทธปฏิมา หรือรูปพระเจ้า ที่ดำรงอยู่คู่กับสังคมไทยและวัฒนธรรมประเพณีของชาวพุทธตลอดมานับพันปี

 

 

 

อ้างอิง

 [1] พุทธทาสภิกขุ, ชุมนุมปาฐกถา ชุด พุทธธรรม (กรุงเทพฯ: สุขภาพใจ, 2535), หน้า 133 - 134.

 [2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 135.

 [3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 152.

 [4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 153.

 [5] พุทธทาสภิกขุ, พุทธประวัติจากหินสลัก (กรุงเทพฯ: อมรินทร์ธรรมะ, 2552). “คำนำ”.

 [6] เรื่องเดียวกัน.

 [7] เรื่องเดียวกัน.

 [8] เอดเวิร์ด คอนซ์, พุทธศาสนา: สาระและพัฒนาการ,. แปลโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์, แปล พิมพ์ครั้งที่ 3. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2552),.หน้า 71-78

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท