สมชาย ปรีชาศิลปกุล : ตุลาการธิปไตย ชนชั้นนำจะใช้ศาล ก็ต่อเมื่อไม่สามารถควบคุมสภาได้  

สมชาย ปรีชาศิลปกุล ชี้เมื่อระบบการเมืองเปลี่ยนแปลงไปจนชนชั้นนำดั้งเดิมไม่สามารถควบคุมได้ องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการจะกลายเป็น 'เครื่องมือ' เผยเป้าหมายหลักเคยอยู่ที่พรรคการเมืองเสียงข้างมาก แต่ปัจจุบันเป้าหมายใหม่คือ พรรคที่เป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นนำ เชื่อแม้อนาคตใหม่ถูกยุบก็ไม่สามารถจัดการปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองได้

20 ม.ค. 2563 เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2563 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ พรรคการเมืองกับอนาคตประชาธิปไตย โดยมีรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในวิทยากร

สมชาย เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในเวลานี้คือ คำถามว่า เราจะจัดการความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นใจกลางของปัญหาการเมืองมาอย่างน้อย 5 ปี  และพรรคการเมืองก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันทางการเมืองเช่นกัน

สมชายระบุต่อว่า การมองปรากฎการณ์ทางการเมืองจำเป็นต้องมองเป็นระลอกของความเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถมองเป็นปรากฎการณ์โดดๆ ได้ เพราะมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน เช่น การเกิดขึ้นของงูเห่า การให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจพ้นจากการเป็น ส.ส. รวมทั้งคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ทั้งหมดนี้เป็นระลอกคลื่นที่เกี่ยวข้องกัน

เขากล่าวต่อไปถึงสถาบันที่ดูเหมือนอยู่ตรงกันข้ามกับสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย เช่น องค์กรอิสระ เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่างน้อยนับตั้งแต่ 2549 เป็นต้นมา เราได้เห็นสถาบันทางการเมืองที่ทำหน้าที่เป็นปฏิปักษ์กับสถาบันประชาธิปไตยค่อนข้างเยอะ และอำนาจต่างๆ สถาบันต่างๆ ที่ดูเป็นอิสระ แท้จริงแล้วไม่ได้ตั้งอยู่เฉยๆ แต่เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ

เขากล่าวต่อไปถึงงานศึกษาเรื่องอำนาจตุลาการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย โดยชี้ว่า อำนาจตุลาการในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ศาล แต่หมายรวมถึงองค์กรต่างๆ ที่ใช้อำนาจตุลาการด้วย เช่น องค์กรอิสระ เขาเล่าว่า งานที่ศึกษาเรื่องนี้ทั้งในโลกตะวันตก และเอเชีย มีจำนวนเยอะมาก แต่ในสังคมไทยมีการศึกษาในเรื่องนี้อยู่น้อย เพราะสถาบันตุลาการในประเทศไทยมีลักษณะพิเศษคือ “ความศักดิ์สิทธิ์”

สมชายกล่าวถึงงานศึกษาของ Ran Hirschl เรื่อง Towards Juristocracy หรือแปลเป็นไทยคือ มุ่งหน้าสู่ตุลาการธิปไตย คือการมุ่งหน้าสู่สังคมที่ตุลาการมีอำนาจมากขึ้น โดย Ran Hirschl เสนอว่า ในสังคมที่ชนชั้นนำยังสามารถคุมระบบเลือกตั้ง หรือควบคุมสภาได้ อำนาจตุลาการจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ถ้าชนชั้นนำไม่สามารถยึดกุมระบบการเลือกตั้งได้ สถาบันตุลาการจะกลายเป็นเครื่องมือของชั้นชนนำ เช่นในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งให้คนผิวดำมีสิทธิเลือกตั้ง ผลปรากฎว่าพรรคการเมืองซึ่งนำโดยคนผิวขาวที่เป็นชนชั้นนำทางการเมืองพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ชนชั้นนำไม่สามารถมาควบคุมรัฐสภาได้ และสถาบันตุลาการกลายเป็นสถาบันที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองในการตัดสินประเด็นปัญหาต่างๆ เมื่อสภาผ่านกฎหมายออกมา จะมาสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญแอฟริกาใต้จะเข้ามามีอำนาจในการตีความ และคล้ายๆ กับหลายประเทศที่อำนาจตุลาการมักจะเป็นอำนาจที่เชื่อมโยงกับชนชั้นนำ

“กรอบการมองแบบนี้น่าสนใจ Ran Hirschl เรียกสิ่งนี้ว่า Hegemonic Preservation ผมแปลเป็นไทยว่า ผู้ธำรงอำนาจนำดั้งเดิม หมายความว่า เป็นผู้ที่ต้องการให้โลกมันหมุ่นไปแบบเดิม เมื่อชนชั้นพ่ายแพ้การเลือกตั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมแอฟริกาใต้ มีการพูดถึงกฎหมายที่พยายามสร้างความเท่าเทียมระหว่างคนผิวขาว และคนผิวดำ มีการพูดถึงปฏิรูประบบภาษี มีการพูดถึงการถือครองที่ดิน เมื่อชนชั้นนำยึดกุมสภาไม่ได้ คนที่เป็นปราการด่านสำคัญของการทำให้กฎหมายพวกนี้ต้องหยุดชะงักคือ ศาล”

เขากล่าวต่อถึงประเทศไทยว่า อำนาจตุลาการในสังคมไทยได้เข้ามาข้องเกี่ยวกับสถาบันทางการเมืองคือ พรรคการเมือง อย่างมีนัยสำคัญมาตั้งแต่ 2549 หากจำกันได้ก่อนหน้านั้นเราไม่ได้รู้สึกว่าพรรคการเมือง และการเลือกตั้งจะมีความสำคัญ หรือสามารถที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จนกระทั่งมีพรรคไทยรักไทยเกิดขึ้น และได้เปลี่ยนสิ่งเรียกว่า ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นพรรคที่เสนอนโยบาย ผลักดันนโยบายได้ จนทำให้พรรคไทยรักไทยขยายตัวกลายเป็นพรรคใหญ่ที่ชนชั้นนำดั้งเดิมเริ่มคุมไม่ได้ จากนั้นเราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของอำนาจตุลาการ

สมชายกล่าวต่อว่า หากนำสิ่งที่ Ran Hirschl เสนอมาใช้กับสังคมไทยโดยพิจารณาจากช่วงเวลาจะเห็นว่า บทบาท และการเข้ามาของอำนาจตุลาการในสังคมการเมืองไทยจะเห็นชัดหลังปี 2549 แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะถูกตั้งมาตามรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ในช่วงแรกศาลรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่บทบาทที่ยังไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยศาลรัฐธรรมนูญในยุคนั้นยังจำกัดอำนาจของตนเองไม่เข้าไปวินิจฉัยประเด็นปัญหาทางการเมือง ทั้งนี้การจัดการปัญหาของชนชั้นนำเมื่อคุมสภาไม่ได้ก่อนหน้าปี 2540 จะใช้การยุบสภา และการรัฐประหาร กล่าวคือเป็นการทำลายสนาม หรือพื้นที่ของพรรคการเมืองลง แต่หลังปี 2549 เป็นต้นมาชนชั้นนำไม่ได้ทำลายสนามการเมือง แต่เลือกที่จะทำลายพรรคการเมืองแทน

“กรณียุบพรรคไทยรักไทย ยุบพลังประชาชน คดีสมัคร สุนทรเวช คดีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเข้าใจว่าชนชั้นนำในเวลานั้นอาจจะมองว่า ถ้าพรรคมันใหญ่นักก็ยุบไปเลย แต่กลับไม่ได้คิดว่าเมื่อยุบแล้ว มันก็เกิดใหม่ได้ และหลังๆ เวลามีคนมาถามผมว่าคดีนี้ศาลจะวินิจฉัยอย่างไร สารภาพเลยว่า ผมไม่ใช้หลักการทางกฎหมาย เพราะผมเคยทำนายผิดมาแล้วหลายครั้ง อย่างกรณีคุณสมัคร มีนักข่าวโทรมาถามผมว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินว่าคุณสมัครหมดสิทธิ์ในการเป็นนายยกรัฐมนตรีจากการไปรับจ้างทำกับข้าวหรือเปล่า ผมบอกเลย บ้าหรือเปล่า รัฐธรรมนูญเขียนว่าห้ามเป็นลูกจ้าง ส่วนกรณีคุณสมัครผมมองว่าเป็นการจ้างทำของไม่ใช่ลูกจ้างรายวันที่ไปทำทุกวัน ผมก็บอกไป ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแบบนี้ก็บ้าแล้ว อันนี้ผมพูดด้วยความเขลาของนักกฎหมายคนหนึ่ง เพราะผมไปพูดตามหลักกฎหมาย แต่เวลาศาลตัดสินท่านว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ จะต้องยึดถือความหมายโดยทั่วไป โดยการเปิดพจนานุกรม” สมชายกล่าว

เขากล่าวต่อว่า สิ่งที่เราเห็นหลังปี 2549 เป็นต้นมา พรรคการเมืองตกเป็นเป้าหมาย แต่ต้องเป็นพรรคการเมืองเสียงข้างมาก โดยหลังปี 2549-2557 พรรคการเมืองเสียงข้างมากมีแนวโน้มที่องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการจะจัดการ หรือมีความเข้มข้นกับพรรคการเมืองลักษณะนี้ เมื่อไล่ดูคดีต่างๆ ก็จะเห็นว่าเป็นคดีที่เกิดขึ้นกับพรรคเสียงข้างมากแทบทั้งสิ้น ฉะนั้นจะเห็นว่าเป้าหมายขององค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการ หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันประชาธิปไตย ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมือง แต่เป็นปฏิปักษ์ต่อพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก เพราะกรณีที่มีผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีที่มีการใช้เงินอุดหนุนพรรคการเมืองผิดประเภท ซึ่งเวลานั้นพยาน และหลักฐานทำให้คนคิดกันว่า น่าจะไม่รอด แต่เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2552 กกต. รับเรื่อง 17 ธ.ค. 2552 กกต.มติว่ากระทำความผิด แต่กลับมีการประชุมกันใหม่อีกครั้งในวันที่ 12 เม.ย. 2553  กกต. มีมติใหม่โดยเห็นว่าควรส่งฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมา 21 เม.ย. 2553 กกต. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาทั้งหมด 1 ปีกว่าจะยื่นยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้ เมื่อเรื่องมาถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ได้คำตอบว่า เรื่องที่ กกต. ยื่นมานั้นเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ ทั้งนี้นัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ปี 2552-2553 เป็นปีที่มีการสลับขั้วทางการเมือง

สมชายอธิบายต่อว่า เป้าหมายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 มีสิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ชนชั้นนำเริ่มที่จะยึดกุมการเลือกตั้งบางส่วนได้ ผลจากการเลือกตั้งปี 2562 ชนชั้นนำไม่ได้พ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งอย่างหมดรูป อย่างน้อยก็ยังพอคุมรัฐสภาได้ ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่คืออะไร ในเมื่อไม่ได้เป็นพรรคเสียงข้างมาก ทำไมจึงมีการดำเนินคดี และมีการดำเนินการอย่างรวดเร็ว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเวลานี้องค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการต่างๆ มีเป้าหมายอยู่ที่พรรคการเมืองที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชนชั้นนำ สิ่งที่เห็นคือ ข้อเสนอของพรรคอนาคตใหม่เป็น ข้อเสนอที่เข้าไปกระทบถึงประโยชน์ และกระทบถึงอำนาจของชนชั้นนำ เช่น การเสนอยกเลิกการเกณฑ์ทหาร หรือการลดทอนงบประมาณกองทัพ นี่คือสิ่งที่กลายเป็นหัวใจสำคัญ จนทำให้ชนชั้นนำเลือกใช้องค์กรที่มีอำนาจตุลการมาทำหน้าที่ 

“ประเด็นสุดท้ายคือ อนาคตใหม่จะถูกยุบหรือไม่ ผมไม่รู้แต่ผมคิดว่า เงื่อนไขของปี 2562-2563 ถ้าเทียบกับตอนยุบพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ผมคิดว่าต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตอนยุบไทยรักไทย กับพรรคพลังประชาชน ถ้าเราจำได้คือจุดตั้งต้นอยู่ที่ปี 2549 และปรากฎการณ์ตุลการภิวัฒน์ปี 2549 ผมเรียกว่าเป็น Royal Judicial Activism แปลว่า ตุลการภิวัฒน์ที่เกิดขึ้น และดำเนินไปทิศทางเดียวกันได้เพราะมีอำนาจนำที่มีบารมีอย่างสำคัญ แต่ว่าในตอนนี้ผมคิดว่าอำนาจนำใหญ่ในสังคมไทยมันแตกต่างไป” สมชาย กล่าว

เขากล่าวต่อว่า โจทย์อันหนึ่งที่ทำให้ตั้งข้อสงสัยคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่หมดวาระไป 5 คนแล้วต้องพ้นจากตำแหน่งทำไมจึงไม่ตั้งใหม่ ทั้งๆ ที่รายชื่อเสนอมามาจากศาลฎีกา 3 คน มาจากศาลปกครอง 1 คน และมาจากการข้าราชการระดับสูงอีก 1 คน  ทำไมจึงไม่ตั้งคนใหม่ ทำไมจึงให้คนเก่ายังอยู่ โดยใช้วุฒิสภาขยายเวลาสอบความประพฤติออกไปเรื่อยๆ ดูเหมือนว่าจะรอให้การพิจารณาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ผ่านไปก่อน

“หากเขามั่นใจในเครือข่ายที่เป็นอยู่ ก็แค่ตั้งชุดใหม่มาแล้วก็ตัดสิน แต่อันนี้อาจจะเป็นเหตุผลว่าอำนาจนำมีบารมีที่มันแตกต่างไป ฉะนั้นการจะแต่งตั้งคนใหม่มาก็ไม่สู้ว่าจะไว้วางใจได้ เพราะสถานการณ์ตอนนี้มันแตกต่างไปจากตอน 2549 หรือหลังรัฐประหาร 2557 ใหม่ๆ ความชอบธรรมของผู้มีอำนาจในตอนนี้มันต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาก ถ้าถามใจผมเรื่องยุบพรรคอนาคตใหม่ ยุบไปเลยครับ ถ้าเห็นว่าว่าการกระทำที่เกิดขึ้นในข้อกล่าวหาพวกนั้นเป็นปัญหาต้องจัดการเลย อย่าปล่อยให้เกิดการแพร่กระจายการกระทำแบบนี้เกิดขึ้น ยุบไปเลยแล้วจะได้รู้ว่าการยุบพรรคการเมือง มันไม่สามารถทำให้ปมปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มต่างๆ ในสังคมจบไปด้วย ถ้าอยากยุบก็ยุบครับ เพราะเรื่องนี้ผมไม่คิดว่าจะใช้หลักการทางกฎหมายมากเท่าไหร่” สมชาย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท