ปฏิรูปกองทัพ: สำรวจการยกเลิกทหารเกณฑ์ และกลุ่มก๊วน(ใหม่) ในกองทัพ

เกือบ 88 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตย ค่าเฉลี่ยของประเทศไทยคือ เกิดการรัฐประหารทุกๆ 6 ปีและเปลี่ยนรัฐธรรมนูญแทบทุก 4 ปี

ผู้คนจำนวนมากรู้ดีว่า หากจะให้ประชาธิปไตยหยั่งรากมั่นคงจำเป็นต้องนำทหารออกจากการเมือง การปฏิรูปกองทัพจึงถูกพูดถึงด้วยความมุ่งหวังให้กองทัพไทยเป็นมืออาชีพ และอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลพลเรือน อาจกล่าวได้ว่าเรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างมากหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แต่หลังจากนั้นไม่นานนักก็เงียบหายไป ไม่ได้มีการสานต่อหรือทำอะไรอย่างเป็นรูปธรรม ในเวลานั้นถนนทุกสายดูจะมุ่งไปยังการปฏิรูปการเมืองจนผลักดันรัฐธรรมนูญ 2540 ออกมาได้สำเร็จ

สุชาติ บำรุงสุข เป็นอดีตผู้นำนักศึกษายุค 14 ตุลาคม 2516 กล่าวได้ว่าเขามีจุดเริ่มต้นเป็น ‘คู่ขัดแย้ง’ กับกองทัพโดยตรง หลังไปเรียนต่อต่างประเทศหลายปีแล้วกลับมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เขากลายเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องความมั่นคงยาวนานที่สุดคนหนึ่งของไทยและมักให้คำอธิบายสถานการณ์ของประเทศไทยท่ามกลางบริบทของสังคมโลก จากการสัมภาษณ์สุรชาติถึงแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นจุดกำเนิดของกองทัพสมัยใหม่ของไทยที่เริ่มต้นในรัชกาลที่ 5 โดยได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงระดับโลก เมื่อโลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 หรือสงครามใดๆ กองทัพไทยก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองและมุ่งพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ พัฒนากำลังพลรองรับสถานการณ์เหล่านั้น และเป็นเช่นนั้นตลอดมาโดยไม่มีใครปรับเปลี่ยนสิ่งใดได้ แม้แต่อำนาจในการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็แทบไม่เคยอยู่ในมือของรัฐบาลพลเรือน

-สำรวจกลุ่มก๊วนในกองทัพ-

แม้ผู้นำกองทัพจะกล่าวเสมอว่าพร้อมทำงานสนับสนุนรัฐบาล (โดยเฉพาะรัฐบาลทหาร) ในทุกด้าน แต่ในขณะเดียวกันเราก็ได้ยินชื่อกลุ่มก๊วนต่างๆ มากมายภายในกองทัพตั้งแต่อดีต หลายกลุ่มมีบทบาทในทางการเมืองอย่างยิ่ง เช่น

กลุ่มยังเติร์ก ‘จปร.7’ หรือกลุ่มนายทหารที่ผ่านโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 7 ที่ใช้หลักสูตร West Point ตามแบบสหรัฐอเมริกา มีสมาชิก เช่น พล.ต.มนูญกฤต รูปขจร พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี  พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กลุ่มนี้มีบทบาทในการพยายามทำรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.เปรม  ติณสูลานนท์ แต่ไม่สำเร็จในเดือน เม.ย.2524 จึงเรียกกันว่า กบฏเมษาฮาวาย และอีกครั้งในนามกบฏ 9 กันยา 2528 ทำให้ต่อมาถูกโยกย้ายและลดบทบาทลง

กลุ่ม จปร.5 มีสมาชิก เช่น พล.ท.สุจินดา คราประยูร พล.ท.อิสระพงศ์ หนุนภักดี พล.อ.ท.เกษตร โรจนนิล และ พล.ร.ท ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ มีส่วนร่วมในการปราบกบฏทหารนอกราชการปี 2528 ของกลุ่ม จปร.7 ต่อมากลุ่มนี้เป็นแกนนำสำคัญในการรัฐประหารรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ปี 2534 ในนามคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ต่อมา พล.อ.สุจินดา ผบ.ทบ.ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ จนเกิดการประท้วงและเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

กลุ่มเตรียมทหาร 10 อดีตนักศึกษาเตรียมทหาร ปี 2510 ร่วมรุ่นและได้รับการสนับสนุนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ปี 2544-49 แต่ถูกลดอำนาจลงและโยกย้ายหลังรัฐประหารปี 2549 กระทั่งมาถึงช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เริ่มมีชื่อกลุ่มอย่างวงศ์เทวัญและบูรพาพยัคฆ์ปรากฏ

วันวิชิต บุญโปร่ง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เคยอธิบายว่า การแบ่งกลุ่มพรรคพวกนายทหารในกองทัพไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งสองสายนี้ที่ปรากฏชื่อนี้ก็มีไว้เพื่อ 1) สนับสนุนเพื่อนร่วมรุ่นเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพ 2) สนับสนุนนายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาที่ใกล้ชิดให้มีตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น ตำแหน่งคุมกำลังรบ 3) สร้างระบบอุปถัมภ์กับนายทหารระดับนายพันให้คุมตำแหน่งระดับผู้บังคับกองพันและผู้บังคับการกรม

บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ

วงศ์เทวัญ คือ นายทหารที่เติบโตมาจากกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็ก รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ จากกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เป็นหน่วยทหารที่อยู่ในกรุงเทพฯ จึงมีบทบาทเรื่องความมั่นคงอย่างมาก ในอดีตตำแหน่ง ผบ.ทบ. ผูกขาดอยูในตระกูลใหญ่ไม่กี่ตระกูล นายทหารที่ถูกระบุว่าอยู่ในกลุ่มนี้ อาทิ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์  พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์  บุตรชาย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์

บูรพาพยัคฆ์ คือ นายทหารที่เติบโตจากกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 รอ.) ในอดีตก่อนหน้านี้มีบทบาทน้อย แต่เริ่มมีอำนาจและชื่อเสียงมากขึ้นจากการเป็นกำลังหลักในการรัฐประหารปี 2549 และ 2557  หน่วยทหารที่ถูกมองว่าอยู่ในความดูแลก็คือ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ทหารเสือราชินี)  ซึ่งมีบทบาทในภาคตะวันออก และยังรวมไปถึงกองพลทหารราบที่ 9 (พล.ร.9)  

แกนนำหลักคือ 3 ป.“ประยุทธ์ – ป้อม – ป๊อก” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ และ พล.อนุพงษ์ เผ่าจินดา โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” ที่ถือเป็นพี่ใหญ่ ว่ากันว่าทหารในกลุ่มนี้มีอาทิ  พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ พล.อ.วลิต โรจนภักดี พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร พล.อ.ธีระชัย นาควานิช พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ หรือแม้แต่ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตจากวิกฤตการเมืองเมื่อปี 2553 ก็เป็นหนึ่งในทายาท บูรพาพยัคฆ์ หากไม่เสียชีวิตไปเสียก่อน

หลังรัฐประหาร 2557 ว่ากันว่า 3 พี่น้องบูรพาพยัคฆ์พยายามสลายความเป็นกลุ่มก้อนนี้ โดยเรียกใช้งานนายทหารที่มาจากทั้งสองสาย จนมีการขนานนามใหม่ว่า “บูรพาเทวัญ”

ในวิทยานิพนธ์ ‘กลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์ในฐานะกลุ่มทางการเมือง ศึกษาระหว่างปี พ.ศ. 2544 จนถึงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557’ ของ ปิยะภพ มะหะมัด อธิบายว่า สื่อมวลชนสายทหารที่มีบทบาทสำคัญในการนำเสนอคำว่า “บูรพาพยัคฆ์” และ  “วงศ์เทวัญ” ให้แพร่หลายสู่สาธารณะ คือ วาสนา นาน่วม

ที่มาภาพ ยูทูบช่อง BTR Studio

ปัจจัยที่บูรพาพยัคฆ์ผงาดทางการเมือง

งานของวันวิชิตซึ่งประมวลข้อมูลจากงานของ Duncan McCargo กับ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ปี 2548, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ปี 2550, สุรชาติ บำรุงสุข ปี 2551, Paul Chambers ปี 2553 และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปี 2554 ชี้ว่ามี 3 ปัจจัยที่ทำให้บูรพาพยัคฑ์ผงาดในการเมือง นั่นคือ การเปลี่ยนดุลอำนาจภายในกองทัพภาคที่ 1 การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และด้านความมั่นคงชายแดน

ปัจจัยในกองทัพบก คือ การรับราชการอยู่หน่วยทหารเดียวกันใน ร.2 รอ.มาเป็นเวลานานของ พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งการได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญภายในกองทัพบก ทำให้กลุ่มทหารบูรพาพยัคฆ์สามารถวางฐานกำลังระยะยาวภายในกองทัพบกด้วยการสนับสนุนเพื่อนร่วมรุ่นเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพบก และการสนับสนุนนายทหารผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีความใกล้ชิดให้มีตำแหน่งสำคัญทางยุทธศาสตร์ของกองทัพบก

4 แกนนำ คือ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.ท.อุดมเดช ล้วนเติบโตในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งภารกิจกองทัพภาคที่ 1 ถือว่าสำคัญและท้าทายมากที่สุด นอกจากต้องเผชิญปัญหาการเมืองในประเทศแล้วยังมีพรมแดนที่เป็นประเด็นพิพาททั้งด้านตะวันออกที่ติดกับกัมพูชา และด้านตะวันตกที่ติดกับพม่า

ปัจจัยทางการเมือง การใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นการนำทหารกลับสู่การเมืองครั้งสำคัญ เขาแต่งตั้งเพื่อนร่วมรุ่นที่ใกล้ชิดกับตัวเอง ได้แก่ กลุ่มทหารเตรียมทหารรุ่น 10 จปร.21 ให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและคุมกำลังในกองทัพบก แต่งตั้งให้เครือญาติดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร นี่เป็นโอกาสทำให้การรวมกลุ่มทหารโดยอาศัยรุ่นเดียวกันกลับมามีความสำคัญอีกครั้ง และทำให้ พล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์ และพล.อ.ประยุทธ์ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญและมีบทบาทจัดวางฐานกำลังระยะยาวภายในกองทัพบกตั้งแต่ปี 2544 จนถึงรัฐประหาร 22 พ.ค.2557

บทบาทการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สำคัญของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ คือ ทำรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.2549, การออกแถลงการณ์ กดดันให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในปี 2551, การสนับสนุนให้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในปี 2551, การเข้าสลายการชุมนุมทางการเมืองของ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี 2553 และการทำรัฐประหาร รัฐประหาร 22 พ.ค.2557

รัฐประหารปี 2549 พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผบ.ทบ.นำกำลังเข้ายึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ โดยมีกำลังหลักในการเข้าปฏิบัติการมาจาก พล.ร. 2 รอ. เข้าทำการปิดล้อมกองบัญชาการ พล.1 รอ. และควบคุมตัว ผบ.พล.1 รอ. ไว้ เป็นการปิดโอกาสพลิกสถานการณ์ของฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทักษิณ เมื่ออำนาจได้ กองทัพได้ป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการเปลี่ยนตัวผู้บัญชาการทหารระดับสูงของกองทัพด้วยการปรับปรุง พ.ร.บ.กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้เคยเขียนบทวิเคราะห์ไว้ว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการดึงอำนาจการควบคุมกองทัพไปที่สภากลาโหมซึ่งให้อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพลอยู่ในมือข้าราชการประจำฝ่ายทหารแทบทั้งสิ้น  มีเพียงรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเท่านั้นที่มาจากฝ่ายการเมือง

ปัจจัยทางเศรษฐกิจความมั่นคงชายแดน หน้าที่ของ พล.ร. 2 รอ. คือการป้องกันชายแดนไทยที่มีพรมแดนติดกัมพูชา การจัดตั้งกองกำลังบูรพาในเขตปราจีนบุรีมีบทบาทตั้งแต่ในอดีตที่ทำหน้าที่รักษาอธิปไตยของชาติจากภัยคุกคามด้านตะวันออกในยุคการล่าเมืองอาณานิคม กรณีพิพาทอินโดจีน ปัญหากลุ่มเขมรแดง การดูแลปัญหาศูนย์อพยพ รวมถึงประเด็นพื้นที่ตามชายแดน จนกระทั่งเมื่อกระแสการค้าเสรีไร้พรมแดนเติบโตขึ้นก็มีบทบาทใหม่คือ เป็นผู้สนับสนุนทางเศรษฐกิจการค้าชายแดน

แม้จะมีการระบุถึงทักษิณว่าเป็นผู้นำทหารกลับมาสู่การเมืองคนสำคัญ แต่ วิลาวัณย์ ยี่ทอง ระบุไว้ในวิทยานิพนธ์เมื่อปี 2556 ว่า พบความพยายามของรัฐบาลพลเรือนในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารอยู่ก่อนบ้างแล้ว เช่น สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ได้โยกย้ายนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ไปจากตําแหน่งที่เป็นหน่วยใช้กําลังต่างๆ หรือรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา สามารถปรับเปลี่ยนโผรายชื่อโยกย้ายนายทหารประจําปีรวมถึงตําแหน่ง ผบ.ทบ. ภายใต้เหตุผลในการลดกระแสต่อต้านนายทหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากภาคประชาชน เช่น มูลนิธิญาติวีรชนพฤษา35 สมาพันธ์ประชาธิปไตย ฯลฯ ที่คัดค้านการเสนอชื่อ พล.อ.ชัยณรงค์ หนุนภักดี เสธ.ทหาร เป็น ผบ.ทบ. เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภา 35 ขณะที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผบ.ทบ.ต้องการเสนอชื่อ พล.อ.สําเภา ชูศรี รอง ผบ.ทบ. เป็น ผบ.ทบ. ตรงกันข้ามกับความประสงค์ของรมว.กลาโหมที่ต้องการเสนอชื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทบ. (ไม่ใช่ 5 เสือ ทบ.) เป็น ผบ.ทบ. ความต้องการที่ไม่ตรงกันนี้ทําให้ พล.อ.เชษฐาเลื่อนการส่งบัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารออกไป แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือ รัฐบาลสามารถแต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ ขึ้นดํารงตําแหน่ง ผบ.ทบ. โดยมีเบื้องลึกคือ การสนับสนุนจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี

หลอมละลายวงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์ เป็น ‘ทหารคอแดง’

ทหารกลุ่มบูรพาพยัคฆ์มีบทบาทสำคัญในการทำรัฐประหารปี 2557 และสามารถส่งมอบตำแหน่ง ผบ.ทบ.ให้กับทหารในกลุ่มอีก 2 คนเป็นอย่างน้อยคือ พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร และพล.อ.ธีรชัย นาควานิช

แม้หลังจาก พล.อ.ธีรชัย พ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ.ในปี 2559 แล้วตำแหน่งนี้จะว่างเว้นจากสายบูรพาพยัคฆ์ แต่ พล.ท.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ แม่ทัพภาคที่ 1 ก็ถูกจับตาอย่างยิ่งว่ารอจ่อคิวเป็น ผบ.ทบ.ในปี 2563 สื่อมวลชนเรียกขานเขาว่าเป็น ‘ลูกผสมวงเทวัญ-บูรพาพยัคฆ์' เพราะเริ่มรับราชการครั้งแรกที่ ร.2 รอ. หรือสายบูรพาพยัคฆ์ เคยเป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ร.2 พัน 2 รอ.) เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ด้วยเช่นกัน

ที่มา : วาสนา นาน่วม    

ถึงกระนั้น วาสนา นาน่วม ก็ได้โพต์เฟสบุ๊ค 'Wassana Nanuam'เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2562 ถึงคำใหม่อย่าง “ทหารคอแดง” โดยระบุว่า "หลอมละลาย “วงศ์เทวัญ-ทหารเสือฯ-บูรพาพยัคฆ์” กลายเป็น ทหารคอแดง... ทหารของพระราชา" นำทีมโดย ผบ.ทบ.คนปัจจุบัน พล.อ.อภิรัชต์ ที่เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) และเป็น ผบ.หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904)

วาสนา อธิบายว่า “ทหารคอแดง”  ในยุคปัจจุบันเป็นคำเรียกสำหรับนายทหารที่ผ่านการฝึกหลักสูตรนายทหารรักษาพระองค์ ตามแบบการฝึกของหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904(ฉก.ทม.รอ.904 ) อันเป็นหลักสูตรที่สร้างความแข็งแกร่งทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งรับการอบรมความรู้เรื่องทหารรักษาพระองค์ การปฏิบัติต่างๆ ในวัง และแบบธรรมเนียมทหารตามพระราโชบาย เป็นหลักสูตรที่ฝึกอบรมยาวนานถึง 3 เดือน แต่มีช่วงเวลาพักรวมเดือนละ 7 วัน นายทหารทุกคนที่ฝึกหลักสูตร ฉก.มม.รอ.904 นี้จะมีบทท่องต่างๆ โดยเฉพาะบทราชสวัสดิ์ สมัย ร.6 เมื่อจบออกมาจะมีความเป๊ะหัวจรดเท้า มีระเบียบวินัย และการที่เรียกว่า “คอแดง” เพราะจะสวมเสื้อยึดคอกลมสีขาว คอขลิปสีแดงไว้ภายใน เมื่อสวมเครื่องแบบทหาร เสื้อคอกลมคลิปสีแดงจะโผล่ออกมาเล็กน้อย จึงเรียกว่า ทหารคอแดง ส่วนใหญ่มาจากทหารรักษาพระองค์ และเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อ ฉก.ทม.รอ.904 นายทหารที่ผ่านการฝึกหลักสูตรนี้ถือว่าคัดมาแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ.ที่มีพลังอำนาจมากกว่า ผบ.ทบ.ในยุคใด เพราะเป็นทั้งนายทหารพิเศษประจำ ทม.รอ. และเป็น ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 และคณะกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านกองทัพไปสู่การเป็นหน่วยในพระองค์ เริ่มจาก ร.1 รอ. และ ร.11 รอ. อย่างค่อยเป็นค่อยไป สู่การเป็น ทม.รอ.1 และ ทม.รอ.11การปรับโครงการกองทัพบกรองรับการถ่ายโอน ด้วยการขยับชั้น พล.ร.11 รอ. ขึ้นมาเป็นกำลังทหารราบ กำลังรบหลักของกองทัพภาคที่ 1 แทนกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.1 รอ.)

รายงานพิเศษในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 ต.ค. 2562  ชี้ว่า การบริหารจัดการใน ฉก.ทม.รอ.904 นั้นเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกนายทหารและการฝึกหลักสูตร ทม.รอ.เป็นเวลา 3 เดือน ก่อนที่จะเป็น “นายทหารคอแดง” ที่นอกจากมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สมาร์ท ยังมีความจงรักภักดีและปฏิบัติตนตามบท “ราชสวัสดิ์” ในสมัยรัชกาลที่ 6 จนวันนี้กองทัพจึงมีนายทหารคอแดงที่เป็นระดับคีย์แมนสำคัญรวม 14 นายที่ถือเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนตามพระบรมราโชบาย การฝึกหลักสูตร ทม.รอ.กำลังจะเริ่มทำให้มีนายทหารในกองทัพบกกลายเป็นนายทหารคอแดง และจ่อเข้ามาช่วยงานใน ฉก.ทม.รอ.904 รวมทั้งเป็นนายทหารที่จะได้เติบโตในกองทัพบกในอนาคตอีกด้วย

บูรพาพยัคฆ์ โตใน ส.ว. แต่พื้นที่หดหายใน ทบ.

เมื่อกล่าวถึงอนาคตทางการเมืองของ 3 ป. (ประยุทธ์ ประวิตร และ (ป๊อก) อนุพงษ์) และสายบูรพาพยัคฆ์

ปิยะภพกล่าวว่า นอกเหนือจากเพื่อนร่วมรุ่นที่นั่งในวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยแล้ว ยังมีบางคนที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นลูกน้องของทั้ง พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ คนที่ 1 คือ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ (ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม) ซึ่งเป็นส.ว.โดยตำแหน่งอยู่แล้ว คนที่ 2 คือ พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ เป็นทหารสายบูรพาพยัคฆ์ คนที่ 3 คือ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร และคนที่ 4 พล.อ.วลิต โรจนภักดี ที่เป็นน้องรักทั้ง พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร  เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ทำให้นายทหารฝ่ายบูรพาพยัคฑ์บางคนไม่ได้อยู่ในวุฒิสภาน่าจะเป็นเพราะยังรับราชการอยู่ ยังไม่เกษียณ

สำหรับเส้นทางของทหารสายบูรพาพยัคฆ์ที่จะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.ในอนาคตนั้น ปิยะภพกล่าวว่า ไม่มีอนาคตเอาเสียเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้เขาเองเคยคาดการณ์ไว้ว่าหลัง พล.อ.ธีรชัย เกษียณในปี 2559 จะมีผบ.ทบ.ที่มาจากบูรพาพยัคฆ์ 4 คน แต่ 2 คนแรกก็เกษียณไปแล้วคือ พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร กับ พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ โดยไม่ได้เป็นผบ.ทบ.ทั้งคู่ คนที่ 3 พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ก็เป็นไม่ได้เพราะเกษียณอายุราชการพร้อม พล.อ.อภิรัชต์ ปี 2563 นอกเหนือจากนี้ก็มี พล.ท.ธรรมนูญ วิถี ซึ่งเป็นแม่ทัพน้อย ในความเป็นจริงแล้วเป็นไม่ได้ เพราะก่อนจะเป็น ผบ.ทบ.ได้ต้องขึ้นแม่ทัพภาคหรือต้องขึ้นเป็น 5 เสือ ทบ.ก่อน

“ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นช่วงแรกของสายบูรพาพยัคฆ์ที่เติบโตไม่ทันในกองทัพบก” ปิยะภพกล่าว

หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโยกย้ายนายทหารเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2562  พล.ท.ณรงค์พันธ์ ขึ้นจากแม่ทัพภาคที่ 1 เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. กับ พล.ท.ธรรมนูญ จากแม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นแม่ทัพภาคที่ 1

ปิยะภพ มองว่า เป็นที่ชัดเจนว่านี่เป็นยุคที่บูรพาพยัคฆ์เริ่มถดถอยจากตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพบก เพราะชัดเจนว่า พล.ท.ณรงค์พันธ์ ได้เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ. ย่อมจะได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แน่นอน

ปัจจัยส่วนหนึ่งที่สายสายบูรพาพยัคฆ์ไม่สามารถขึ้นมาครองอำนาจในกองทัพได้ต่อเนื่อง เนื่องจาการโตไม่ทันกัน บางครั้งเกษียณก่อนหรือหรือเกษียณพร้อมกัน ดังนั้น ผบ.ทบ.ที่รับช่วงต่อจาก พล.ท.ณรงค์พันธ์ ช่วงปี 2563-2566 นั้นก็น่าจะเป็นคนของวงศ์เทวัญ

แม้บางสื่อมองว่า พล.ท.ณรงค์พันธ์ เป็นลูกผสมระหว่างวงศ์เทวัญกับบูรพาพยัคฆ์ แต่ปิยะภพเห็นว่า หากนับจริงๆ ก็ไม่ใช่ลูกหม้อวงศ์เทวัญของแท้ เพราะส่วนใหญ่โตจากกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) ที่จังหวัดลพบุรี หน่วยเคลื่อนที่เร็วของกองทัพบก ซึ่งนั่นไม่ใช่วงศ์เทวัญที่เป็นวงในอย่าง ราบ 1 กับ ราบ 11 ส่วนกรณีที่เคยไปอยู่ในหน่วยของบูรพาพยัคฆ์ หรือเป็น ผบ.พัน ร.2 พัน 2 ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น

กรณีที่วาสนาตั้งข้อสังเกตเรื่อง ‘ทหารคอแดง’ เป็นการสลายสายวงศ์เทวัญกับบูรพาพยัคฆ์นั้น ปิยะภพมองว่าดูจากรายชื่อปรากฏนายทหารของ ทบ.ถึง 11 คนที่ผ่านหลักสูตรนี้ เป็นหลักสูตรนายทหารรักษาพระองค์ โดยมีทั้งที่โตจากสายวงศ์เทวัญและบูรพาพยัคฆ์ รวมทั้งทหารม้าที่ถูกเลือกเข้ามาด้วย นัยสำคัญคงหนีไม่พ้นความพยายามหลอมรวมให้เป็นหน่วยเฉพาะกิจ ฉก.ทม.รอ.904 อย่างไรก็ตาม แม้หลอมได้แต่ความเป็นหน่วยหรือความเป็นสายที่เขารับราชการมาอย่างยาวนานเชื่อว่ายังคงอยู่ อาจหลอมรวมเป็นเฉพาะกิจ แต่ไม่ถึงกับสลายสายไปได้เลยในทีเดียว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่คือ การฝึก ฉก.ทม.รอ.904 เป็นเครื่องการันตีว่า ใครจะอยู่ในตำแหน่งหลักหรือตำแหน่งระดับสูงของ ทบ.จะต้องผ่านหลักสูตรนี้  เทียบได้กับที่ครั้งหนึ่งหลักสูตรทหารเสือราชินีเคยเป็นหลักสูตรสำคัญของนายทหารที่โตจาก พล.ร.2

ปัจจุบันนี้ชัดเจนว่า พล.ท.ณรงค์พันธ์ ผ่านหลักสูตร ฉก.ทม.รอ.904 ดังกล่าวแล้วและยังได้เป็นนายทหารพิเศษของหน่วยรักษาความปลอดภัยด้วย

-ยกเลิกทหารเกณฑ์ ยกที่ 1 ปฏิรูปกองทัพ–

ขณะที่ผู้นำ คสช.เก่ายังคงเป็นแกนหลักในการควบคุมการเมือง โครงสร้างกองทัพมีการปรับเปลี่ยนให้ต้องใกล้ชิดกับอำนาจของสถาบันกษัตริย์มากขึ้น อีกด้านหนึ่งพรรคการเมืองหน้าใหม่อย่าง ‘อนาคตใหม่’ ก็นำเสนอ 4 ข้อเสนอในการปฏิรูปกองทัพ ประกอบด้วย

1.สถาปนาอำนาจของรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ
สร้างระบบ คณะเสนาธิการร่วม ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้บังคับบัญชาของทุกเหล่าทัพ เลิก กอ.รมน. ปรับเปลี่ยนหลักนิยมและแบบธรรมเนียมทหารใหม่

2.ปฏิรูปโครงสร้างกองทัพหลัก
กำลังพลลดจาก 330,000 นาย เหลือ 170,000 นาย
นายพลลดลงจาก 1,600 นาย เหลือ 400 นาย

3.การสนับสนุนภายในกองทัพ
ดูแลกำลังพลให้มีความพร้อม มีการฝึกอบรมเข้มข้น  ส่วนการส่งกำลังบำรุงนำมาไว้ที่กระทรวงกลาโหมให้เป็นระบบเดียวกัน

4.ยกเลิกทหารเกณฑ์

รายงานพิเศษชุดยกเลิกเกณฑ์ทหารที่นำเสนอรวม 4 ตอน ได้ระบุในตอนแรกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว มีคนเคยผลักดันมาบ้างแล้ว เช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเสนอให้รัฐธรรมนูญ 2517 มาตรา 29 ว่า “บุคคลมีเสรีภาพในความคิดและความเชื่อถือ” แทนคำว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา” เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิในการไม่ต้องเกณฑ์ทหารได้บนฐานของมโนธรรมสำนึก ไม่ใช่แค่พระหรือนักบวชของศาสนาต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่ความพยายามดังกล่าวของป๋วยไม่ประสบความสำเร็จ หลังเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2535 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เคยแถลงนโยบายต่อสภา ว่าจะต้องมีการ “ปรับปรุงระบบการคัดเลือกทหารให้เป็นไป ด้วยความสมัครใจ” แต่ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งใน ปี 2540 เสียก่อน หลังการรัฐประหารปี 2557 เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ก็ประกาศตนเป็นผู้คัดค้านการเกณฑ์ทหารด้วยเหตุผลมโนธรรมสำนึกในเดือนกันยายนของปีเดียวกัน เป็นต้น

ส่วนภาพรวมในระดับโลก ข้อมูลจาก Pew Research Center ของสหรัฐอเมริการายงานในเดือนเมษายน 2562 ว่า ปัจจุบัน 191 ประเทศทั่วโลกเท่าที่หาข้อมูลได้ มีประเทศที่ยังบังคับเกณฑ์ทหารในบางรูปแบบอยู่ประมาณ 60 ประเทศ ถือว่าน้อยกว่า 1 ใน 3 ของประเทศทั่วโลก ส่วนประเทศที่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแล้ว แบ่งเป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารอีกต่อไปแล้ว 85 ประเทศ ประเทศที่ไม่มีกองทัพประจำการ 23 ประเทศ และมีกฎหมายเกณฑ์ทหารแต่ไม่มีการบังคับใช้ 23 ประเทศ 

หากเห็นว่า “การยกเลิก” การเกณฑ์ทหารดูจะรุนแรงเกินไปและผลักดันให้เป็นไปได้ยากในสังคมไทย ตัวอย่างรูปแบบการเกณฑ์ทหารในต่างประเทศก็อาจช่วยให้เราจินตนาการถึงหนทางที่ดีกว่าในปัจจุบันได้เช่นกัน เช่น

สหรัฐอเมริกา ระบบของสหรัฐฯ เป็นระบบสมัครใจ เรียกว่า “กองทัพอาสาสมัครล้วน (all volunteer forces)” แนวคิดนี้เกิดขึ้นทั้งที่อยู่ในระหว่างสงครามเวียดนาม สมัยประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน เหตุที่ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหาร เนื่องจากเกิดกระแสต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างสูงในหมู่วัยรุ่นและเยาวชน เขาหวังว่าหากไม่มีการบังคับเกณฑ์ทหาร คนรุ่นใหม่อาจหยุดประท้วง หลังจากคณะกรรมาธิการศึกษาแล้วว่าสามารถยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารได้โดยไม่ส่งผลต่อแสนยานุภาพทางการทหารของประเทศ สหรัฐอเมริกาจึงเปลี่ยนไปใช้ระบบสมัครใจในปี 1973 ยุทธ์ศาสตร์สำคัญในการดึงดูดคนให้เข้าสมัครทหาร คือ การประกันรายได้แก่ผู้สมัครเป็นทหาร โดยทหารยศต่ำสุดรายได้อยู่ที่เดือนละ 1,638 เหรียญ หรือเดือนละกว่า 50,000 บาท (ข้อมูลปี 2561) เมื่อประจำการนานขึ้นก็จะได้รับการเพิ่มเงินเดือนตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้รับสวัสดิการต่าง ๆ มากมาย จนหลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็น "รัฐสวัสดิการกองทัพ"  

ออสเตรีย ระบบบำเพ็ญประโยชน์ทดแทน เรียกว่า Zivildienst แนวคิดนี้ถูกเสนอในปี 1975 นอกจากการตัดสินใจของผู้นำทางการเมืองแล้ว การผลักดันจากกลุ่มผู้ต่อต้านสงคราม (pacifist) ก็นับเป็นปัจจัยสำคัญ สาเหตุที่กองทัพรับหลักการของกฎหมายนี้เพราะไม่ต้องการให้ผู้ต่อต้านสงครามเข้าไปขัดขวางการทำงานของกองทัพระหว่างที่ถูกบังคับให้เกณฑ์ทหาร หลักเกณฑ์คือ ผู้ชายที่ไม่ต้องการเกณฑ์ทหารจะต้องทำงานบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะในหน่วยงานที่รัฐบาลอนุญาติเป็นเวลา 9 เดือน ไม่ว่าจะเป็นองค์การสภากาชาดออสเตรีย รวมไปถึงโรงพยาบาล โรงเรียนอนุบาล สถานีดับเพลิง หน่วยกู้ภัย อาสาสมัครจราจร หน่วยงานดูแลผู้พิการและผู้ลี้ภัย ฯลฯ

คอสตาริกา ประเทศนี้ยกเลิกกองทัพประจำการไปตั้งแต่ปี 1949 หลังเกิดสงครามกลางเมืองยาวนาน 44 วันในปี 1948 มีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,000 คน แม้การเมืองคอสตาริกาในช่วงนั้นจะมีความซับซ้อน แต่หนึ่งในผลผลิตของสงครามกลางเมืองคือ การยกเลิกทหารประจำการ ประธานาธิบดี José Figueres ตัดสินใจยกเลิกกองทัพตามข้อเสนอของ Edgar Cardona รัฐมนตรีกลาโหม เพราะเขาไม่ต้องการถูกรัฐประหาร หลังจากที่ได้เป็นผู้ชนะสงครามกลางเมือง นอกจากนี้ หนึ่งในเหตุผลของการยกเลิกกองทัพประจำการยังเป็นไปเพื่อการนำงบประมาณไปใช้กับการพัฒนาสวัสดิการประชาชนแทน ทั้งในรูปของการพัฒนาสวัสดิการการศึกษา ประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคุณภาพชีวิตของประชาชน คอสตาริกาประกาศยกเลิกกองทัพประจำการในวันที่ 1 ธันวาคม 1949  เนื้อหาของการยกเลิกกองทัพประจำการถูกบรรจุเข้าไปในมาตราที่ 12 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 1949 และบังคับใช้เรื่อยมาถึงปัจจุบันด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท