Skip to main content
sharethis

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) จะอ่านคำวินิจฉัยว่าจะมีมาตรการฉุกเฉินใดต่อคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาในพม่าหรือไม่ในวันที่ 23 ม.ค. 63 ตามคำร้องของแกมเบีย โดยทางการพม่านั้นได้ระบุว่า เป็นไปได้ที่ทหารบางส่วนได้ก่ออาชญากรรมสงครามต่อชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญา แต่ก็อ้างว่า "ไม่ได้ทำผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

21 ม.ค. 2563 จากที่ก่อนหน้านี้ ประเทศแกมเบีย ซึ่งเป็นประเทศมุสลิมในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเคยยื่นแจ้งต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) กล่าวหาว่าพม่า "ยังคงก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างต่อเนื่อง" ต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ทาง ICJ ก็ประกาศเมื่อไม่นานนี้ว่าพวกเขาจะแถลงว่าจะมีมาตรกาฉุกเฉินในเรื่องนี้หรือไม่ภายในวันที่ 23 ม.ค. ที่จะถึงนี้

ในวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระด้านการไต่สวน (ICOE) ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลพม่าแถลงข้อสรุปของพวกเขาว่า "เป็นไปได้ที่ทหารบางส่วนได้ก่ออาชญากรรมสงครามต่อชุมชนชาวมุสลิมโรฮิงญา" แต่ก็อ้างว่ากองทัพพม่า "ไม่มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์"

ICOE แถลงว่า มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบางส่วนใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และก่ออาชญากรรมสงคราม ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงการสังหารชาวบ้านผู้ไม่มีความผิดและทำลายบ้านเรือนของพวกเขา อย่างไรก็ตาม "ไม่มีหลักฐานมากพอที่จะโต้แย้งหรือแม้กระทั่งจะสรุปได้ว่าอาชญากรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีความจงใจทำลายกลุ่มสัญชาติ ชาติพันธุ์ สัญชาติ หรือศาสนา ไม่ว่าจะส่วนเดียวหรือทั้งหมด"

กรณีการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นในเดือน ส.ค. 2560 กองทัพพม่าที่เรียกว่า "ทัตมาดอว์" ก่อเหตุสังหาร ข่มขืน และเผาบ้านเรือนประชาชนบีบให้ชาวโรฮิงญาราว 740,000 รายต้องลี้ภัยที่ยังแถบชายแดนบังกลาเทศ กองทัพพม่าอ้างว่าทำไปเพื่อโต้ตอบเหตุการณ์ที่กลุ่มกองกำลังกบฏโรฮิงญาโจมตีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงก่อนหน้านี้

กระบวนการนำชาวโรฮิงญากลับถิ่นฐานในพม่า ซึ่งเป็นกระบวนการที่พม่าและบังกลาเทศร่วมมือกันก็ล้มเหลวมาโดยตลอดจากสาเหตุเรื่องความหวาดกลัวของชาวโรฮิงญาที่ยังไม่ได้รับประกันเรื่องความปลอดภัย และข้อครหาเรื่องความไม่เอาจริงเอาจังของรัฐบาลพม่า ล่าสุดยังมีข่าวว่าบังกลาเทศได้สร้างสิ่งปลูกสร้างในเกาะแห่งหนึ่งในอ่าวเบงกอลให้ชาวโรฮิงญาจำนวนราว 1 แสนคนไปอาศัยที่นั่น ซึ่งเป็นแนวทางที่องค์กรระหว่างประเทศไม่เห็นด้วยอย่างมาก

ถึงแม้จะมีรายงานการไต่สวนจาก ICOE ออกมาแต่ก็มีคนสงสัยว่าเป็นการไต่สวนหาข้อเท็จจริงนี้มีความโปร่งใสจริงหรือไม่ โดยที่องค์กรชาวโรฮิงญาพม่าในอังกฤษ (Burmese Rohingya Organisation UK หรือ BROUK) ปฏิเสธไม่ยอมรับการไต่สวนชิ้นนี้ของรัฐบาลโดยมองว่ามันเป็นการสร้างภาพเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากการตัดสินของ ICJ ที่กำลังจะมีขึ้น

ฟิล โรเบิร์ตสัน จากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ยังวิจารณ์คำแถลงของ ICOE อีกว่าเป็นการพยายามโยนความรับผิดชอบให้กับแพะรับบาปเป็นทหารไม่กี่คนในกองทัพแทนที่กองทัพในระดับผู้บัญชาการจะรับผิดชอบในเรื่องนี้

สำหรับคำตัดสินของ ICJ นั้นเกี่ยวกับเรื่องที่ว่าพวกเขาจะมี "มาตรการเฉพาะกาล" ตามที่แกมเบียร้องขอมาก่อนหน้านี้หรือไม่ โดยที่มาตรการฉุกเฉินดังกล่าว เป็นไปเพื่อให้ ICJ ห้ามไม่ให้มีการก่อเหตุร้ายแรงต่อชาวโรฮิงญาเพิ่มเติมอีก ทางแกมเบียกล่าวหาด้วยว่าพม่าละเมิดอนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากเหตุการณ์เมื่อ ส.ค. 2560

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทางการพม่าพยายามปัดป้องมาตลอด ไม่เพียงแค่จากรายงานล่าสุดของคณะกรรมการ ICOE เท่านั้น แต่ก่อนหน้านี้อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ผู้นำประเทศในทางปฏิบัติ ก็เคยเดินทางไปเยือนศาลโลกที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อบอกว่ารัฐบาลของเธอทำการสืบสวนเกี่ยวกับกรณีนี้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อีกทั้งยังบอกอีกว่าศาลโลกไม่มีอำนาจในการตัดสินเรื่องนี้

การแจ้งร้องเรียนต่อศาลโลกของแกมเบียนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่พวกเขาได้รับการสนับสนุนจาก องค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่มีสมาชิก 57 ประเทศ สาเหตุที่แกมเบียเป็นตัวแทนฟ้องร้องเพราะสำหรับศาล ICJ แล้วมีแต่รัฐเท่านั้นที่จะฟ้องร้องรัฐอื่นได้

นอกจากนี้แกมเบียยังแถลงอีกว่าพวกเขาไม่สามารถเชื่อใจให้พม่าเป็นผู้ดำเนินกระบวนการยุติธรรมในเรื่องนี้ด้วยตัวเองได้ พวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่กองทัพพม่าเคยก่อไว้นับเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้แกมเบียยังขอให้พม่ารักษาหลักฐานการก่อเหตุของพวกเขาไว้เพื่อรอตรวจสอบด้วย

สำหรับกระบวนการศาล ICJ นั้น คำตัดสินของ ICJ จะถือว่ามีผลผูกมัดและไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ทว่าศาล ICJ ก็ไม่ได้มีหน้าที่บังคับใช้คำสั่งของพวกเขาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อ 27 ส.ค. 61 องค์การสหประชาชาติ (UN) ออกแถลงการณ์สืบเนื่องจากรายงานของคณะทำงานอิสระค้นหาความจริงกรณีพม่าขององค์การสหประชาชาติ (IIFFMM) เรียกร้องให้มีการนำตัวผู้นำของกองทัพพม่าขึ้นไต่สวนที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในความผิด 3 ข้อหา ได้แก่อาชญากรสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

รายงานระบุว่าปฏิบัติการของกองทัพพม่า รวมถึงกองกำลังรักษาความมั่นคงอื่นๆ ที่กระทำในพื้นที่รัฐยะไข่ ฉาน และคะฉิ่น หนักหนาสาหัสเทียบเท่ากับอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดที่บัญญัติไว้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยปฏิบัติการที่ใช้การฆ่า กักขัง อุ้มหาย ซ้อมทรมาน ข่มขืน การบังคับให้ร่วมเพศแบบทาส (Sexual slavery) ความรุนแรงทางเพศแบบอื่นๆ รวมถึงบังคับให้เป็นแรงงานทาสอย่างเป็นระบบ

รายงานยังระบุว่าอาชญากรรมในรัฐยะไข่มีลักษณะของการสังหารหมู่และการเนรเทศ ซึ่งคล้ายคลึงกับการเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจงใจให้เกิดการสร้างและแผ่ขยายเรื่องราวที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เกิดบริบทที่มีความกดขี่ข่มเหงจากคำพูดของผู้ก่อการและนโยบายแบบกีดกันคนกลุ่มหนึ่ง รวมถึงความพยายามในการแก้ไของค์ประกอบเชิงประชากรในรัฐยะไข่ที่วางแผนและกระทำขึ้นอย่างเป็นระบบ

แปลและเรียบเรียงจาก

Army Committed War Crimes, Not Genocide Against Rohingya: Myanmar Probe, NDTV, Jan. 21, 2020

ICJ to rule on emergency measures in Myanmar genocide case, Aljazeera, Jan. 15, 2020

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net