นักปรัชญาชายขอบ: ไชยันต์ ไชยพร กับประเด็น ‘ศรีธนญชัยทางการเมือง’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย “ยกคำร้องให้ยุบพรรคอนาคตใหม่” ในข้อกล่าวหาอันแปลกประหลาดเรื่องใช้โลก้พรรคคล้าย “อิลลูมินาติ” แต่เมื่อย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของไชยันต์ ไชยพร “คดียุบพรรค อคน.กับผลที่จะตามมา” (ดู https://www.thaipost.net/main/detail/54914) ก็มีอะไรที่ชวนให้ประหลาดใจไม่แพ้กัน เพราะไชยันต์มองว่าข้อกล่าวหาดังกล่าว “มันก็มีมูลพออยู่ระดับหนึ่ง” ดังที่เขาให้เหตุผลว่า 

คำร้องของคุณณฐพร โตประยูร เรื่องสัญลักษณ์พรรคคล้ายกับของ "อิลลูมินาติ" คงไม่เกี่ยว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องอิลลูมินาติเลย มันก็มีมูลพออยู่ระดับหนึ่ง ผมคิดว่าเขาชัดเจนตรงที่ว่า เขาอาจจะต้องการให้อย่างน้อยๆ ที่สุด ก็คือลดทอนพระราชอำนาจหรือทำให้ สถาบันอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างจริงจัง ตามความเข้าใจของเขา นั่นคืออย่างน้อย อย่างมากก็คือว่า ให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่เขาจะใช้วิถีทางรัฐสภาในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ไม่ใช่ไปใช้วิธีการแบบปฏิวัติอะไรแบบนั้น เขาถึงเข้ามา เขาถึงตั้งพรรค เข้ามาเล่นการเมือง แล้วก็ต่อสู้ในสภาฯ เพราะว่ามันมีตัวอย่างของบางประเทศที่เขาเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ มาเป็นระบอบสาธารณรัฐที่ไม่มีกษัตริย์ เช่น ที่เนปาล ที่ไปเปลี่ยนแปลงในสภาฯ เลย คำว่าล้มล้าง ก็ต้องไปตีความว่าคุณใช้วิถีทางนอกสภาฯ หรือไม่ หรือว่าการที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยเปลี่ยนด้วยวิถีทางของรัฐสภา อันนั้นต้องตีความ

ความเห็นข้างบนนี้เป็นการมองแบบ “ขยายข้อกล่าวหา” ให้ดูเป็นเหตุเป็นผลขึ้น ผ่านวาทกรรม “เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองด้วยวิถีทางรัฐสภา” โดยยกตัวอย่างเนปาล ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เตลิดเปิดเปิงไปไกลจากอุดมการณ์และแนวทางของอนาคตใหม่มาก อีกอย่างในระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นเรื่องปกติที่จะมีพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาต่อสู้กันในทางอุดมการณ์ แนวคิด นโยบายทางการเมืองและเศรษฐกิจผ่านระบบรัฐสภาอยู่แล้ว บ้านเราเองก็เคยมี “พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย” ตามรัฐธรรมนูญ 2517 มาแล้วด้วย 

แต่อนาคตใหม่ ไม่นิยามตนเองเป็น “พรรคฝ่ายซ้าย” เลยด้วยซ้ำ ไชยันต์กลับตีความขยายไปถึงความเป็นไปได้ในอนาคตที่พรรคอนาคตใหม่อาจจะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองผ่านวิถีทางรัฐสภา ทำนองเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการวินิจฉัยว่าควรยุบอนาคตใหม่หรือไม่ แทนที่จะยืนยันหลักการประชาธิปไตยตรงไปตรงมาว่า การมีพรรคฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวาเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย

แต่ในภาวะที่สังคมอยู่ในระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย หรือ “ไม่ปกติ” ไชยันต์กลับชี้ช่องทางให้กับการตีความและการบังคับใช้กฎหมายภายใต้ระบบที่ไม่ปกติ เช่นว่า 

-คิดว่าคำร้องนี้มีน้ำหนักหรือไม่?

ก็มี ขึ้นอยู่กับว่าคุณจะตีความคำว่า "ล้มล้าง" อย่างไร อย่างสมมุติว่าเขาไม่ได้เข้ามาในการเมือง เขาเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่การสอนหนังสือก็มีเสรีภาพทางวิชาการที่จะอธิบายว่าระบอบนี้ดีอย่างไร ระบอบนั้นมีข้อเสียอย่างไร แต่เมื่อพอคุณเข้ามาเล่นการเมือง คุณก็ต้องอยู่ภายใต้กติกาเยอะขึ้น ก่อนหน้านี้ ทั้งคุณธนาธร ปิยบุตร และคุณช่อ พรรณิการ์ เขาไม่ได้เป็นนักการเมือง อาจเป็นนักเคลื่อนไหว สื่อมวลชน เขาก็มีเสรีภาพที่จะคิด จะพูด แต่เมื่อเข้ามาเป็นนักการเมือง ก็มีกติกาคือเล่นการเมืองภายใต้กติกานี้ แต่ผมสันนิษฐานว่าเขาจะใช้รัฐสภาค่อยๆ เปลี่ยนแปลง ค่อยๆ เปลี่ยน จะเรียกว่าล้มล้างหรือไม่? อันนี้ก็ไม่รู้ แต่ก็ดีกว่าจะไปซ่องสุมกำลังอาวุธหรือไม่

ประเด็นคือ “เสรีภาพทางวิชาการ” กับ “เสรีภาพทางการเมือง” ในระบอบประชาธิปไตย แม้ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเสียทีเดียว แต่ก็มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและสนับสนุนส่งเสริมกัน ถ้าในทางวิชาการเรามีเสรีภาพที่จะพูดถึงปัญหาของระบบการปกครองแบบหนึ่งๆ ในทางการเมืองเราก็ย่อมมีเสรีภาพที่จะเสนอแนวทาง และนโยบายขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองที่เป็นปัญหานั้นๆ ได้ ไม่เช่นนั้นในระบอบประชาธิปไตยก็คงมีพรรคฝ่ายซ้ายทางการเมืองไม่ได้ ไชยันต์ให้ความเห็นอีกว่า 

...อย่างในเยอรมัน หากพวกนาซี จะตั้งพรรคการเมืองไม่ได้เลย คือหากตั้งพรรคมาแล้วจะมีแนวโน้มเป็นแบบพวกนาซี เขาก็ต้องยุบพรรค คือแต่ละประเทศ เขาก็จะมีเงื่อนไขของการที่จะล้มล้างการปกครอง มันมีประเด็นของแต่ละประเทศแตกต่างกัน เยอรมันเขาชัดเจนว่าพวกแบบนาซี เขารับไม่ได้ หากจะมาตั้งพรรคการเมืองอะไรแบบนี้อีก ก็ต้องถูกยุบ แต่ของเรา ประเด็นของเราคือ พรรคอะไรที่จะเป็นปฏิปักษ์กับสถาบัน แต่ละประเทศก็จะมีเรื่อง "ต้องห้าม" บางอย่างที่จะไม่เหมือนกัน

ประเด็นในการอ้างเหตุผลเปรียบเทียบนี้คือ ข้อห้ามของเยอรมนีนั้นห้ามตั้งพรรคที่มีอุดมการณ์และแนวทางแบบเผด็จการนาซีที่มุ่งทำลายหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยชัดเจน แต่ข้อห้ามของไทยคือห้ามตั้งพรรคที่มีแนวทางเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตยและสังคมนิยมประชาธิปไตยเช่นนั้นหรือ “ข้อแตกต่าง” นี้ นักวิชาการควรตั้งคำถามกับการตั้งพรรคการเมืองแนวเสรีนิยมประชาธิปไตย, สังคมนิยมประชาธิปไตย หรือควรตั้งคำถามกับการอ้าง “สถาบัน” อย่างคลุมเครือเพื่อกีดกันการตั้งพรรคดังกล่าว

เราอาจเห็นคำตอบของคำถามดังกล่าวชัดเจนขึ้นจากที่ไชยันต์กล่าวว่า 

...ผมเห็นว่า หลังการเลือกตั้ง ฝ่ายไหนเข็นคนออกมาบนท้องถนนก่อน ฝ่ายนั้นจะเสียทันที เพราะผู้คนส่วนใหญ่ยังคงเซ็งเบื่อกับการเมืองบนท้องถนนอยู่ ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครจะเอาคนลงท้องถนนจริงๆ เพราะแม้แต่อนาคตใหม่ก็ยังนัดแบบเบาๆ ที่สกายวอล์ก และมีการเลี่ยงบาลีใช้การวิ่งเป็นการขับเคลื่อนทางการเมือง ซึ่งตอนนี้ก็ดูเหมือนจะซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา นั่นคือถ้าฝ่ายหนึ่งทำได้ อีกฝ่ายก็ต้องทำได้ ดังนั้น เมื่อฝ่ายหนึ่งศรีธนญชัยอ้างว่าเป็นการวิ่ง แต่วิ่งไล่ลุง อีกฝ่ายหนึ่งก็เอาบ้าง เป็นวิ่งเชียร์ลุง  และถ้าเดือนหน้ามีกิจกรรมวิ่งไล่ลุงที่เชียงใหม่อีก ก็เชื่อว่าจะมีกิจกรรมวิ่งเชียร์ลุงในต่างจังหวัดด้วย                     

ตัวหนาผมเน้นให้เห็น “คำตอบ” ของคำถามชัดเจนขึ้นว่า ที่ไชยันต์พยายามแสดงความเห็นที่ “เป็นกลาง” โดยวิจารณ์ทุกฝ่ายนั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียง “กลางแบบศรีธนญชัย” เพราะการมองศิลปะการเคลื่อนไหวทางการเมืองในการต่อสู้กับเผด็จการว่าเป็นเรื่องศรีธนญชัย โดยคุณทนได้และไม่ตั้งคำถามกับเผด็จการที่ศรีธนญชัยด้วยและใช้อำนาจกดขี่สิทธิและเสรีภาพประชาชนมากว่าทศวรรษด้วยนั้น เป็นอะไรที่สะท้อนความเป็นศรีธนญชัยของไชยันต์เสียเองหรือไม่

อย่างเช่น ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้องการเลือกตั้ง แต่คุณ “ฉีกบัตรเลือกตั้ง” ด้วยเหตุผลว่าเพื่อประท้วงต่อต้านนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” แต่กลับไม่เคยประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่ “ล้มระบอบประชาธิปไตย” อย่างที่คุณเคยต่อต้านนักการเมืองและพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือก แถมยังบอกว่า “หลังการเลือกตั้ง ฝ่ายไหนเข็นคนออกมาบนท้องถนนก่อน ฝ่ายนั้นจะเสียทันที” ทั้งๆ ที่คุณก็รู้ๆ ว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมามันแย่กว่าตอนที่คุณฉีกบัตร เพราะมันคือการเลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการผ่านกติกาการเลือกตั้ง ส.ส. และการแต่งตั้ง สว.ตามรัฐธรรมนูญ และการวางยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสืบทอดอำนาจ 

ที่โจมตีกันว่า ประชาธิปไตยสมัยทักษิณ, ยิ่งลักษณ์ เป็น “ประชาธิปไตยแค่การเลือกตั้ง” แล้วคุณเห็นว่าการลือกตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจเผด็จการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่? มัน “ไม่เป็นประชาธิปไตยตั้งแต่เลือกตั้งแล้ว” จริงไหมครับ หรือนี่แหละที่เรียกว่า “แค่เลือกตั้งพอเป็นพิธี” ของจริง เพราะจนวันนี้ประชาชนยังไม่มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองเท่ากับยุคทักษิณ, ยิ่งลักษณ์เลย ไม่ต้องพูดถึงการตรวจสอบรัฐบาลที่พวกคุณอ้างเอาเป็นเอาตายตอนไล่ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ พอถึงยุค คสช.ก็ไม่พูดถึงความโปร่งใส และสิทธิตรวจสอบของประชาชนอีกเลย นี่ยิ่งกว่าศรีธนญชัยไหมครับ

ขณะที่ไชยันต์ปกป้องเสียงของประชาชนที่เลือกพลังประชารัฐ ก็สะท้อนถึงการที่คุณไม่เคยเห็นหัวประชาชนส่วนใหญ่ที่เลือกเพื่อไทย และยิ่งบอกว่าหากมีประชาชนลงถนนจะกลายเป็นปัญหาแบบเดิมๆ โดยไม่ตั้งคำถามถึงสาเหตุ เช่น ความไม่เป็นประชาธิปไตย ความอยุติธรรม สองมาตรฐาน เรียกร้องให้ฝ่ายตรงข้ามเคารพกฎหมาย แต่พวกตนฉีกกฎหมาย ฝ่ายหนึ่งวิ่งไล่ลุงผิด เดินเชียร์ลุงไม่ผิด ฯลฯ ที่ทำให้ประชาชนอาจต้องลงถนนอีก 

ที่สำคัญการชุมนุมทางการเมืองอย่างสันติ ย่อมเป็นสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนที่อย่าว่าแต่ “ศาสตราจารย์ที่สอนด้านปรัชญาการเมือง” ต้องยืนยันเลย ทุกคนต้องยืนยันร่วมกัน และต้องตั้งคำถามว่ากฎหมายที่เผด็จการเรียกร้องให้เคารพนั้นเป็นกฎหมายที่น่าเคารพไหม ทั้งกระบวนการบัญญัติกฎหมาย เนื้อหาตัวบทกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายในยุคนี้ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยไหม และให้ความยุติธรรมในมาตรฐานเดียวกันแก่ทุกฝ่ายไหม หรือเป็นเพียงกฎหมายที่ “หมายกด” ประชาชนฝ่ายที่เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นด้านหลัก 

 

 

ที่มาภาพ: https://www.tlhr2014.com/?p=5272

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท