Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ

ปีใหม่เริ่มขึ้นได้ไม่นาน ความตึงเครียดก็แผ่ซ่านไปทั่วภูมิภาคของโลกเมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาตัดสินใจสั่งโจมตีขบวนรถของนายพลกาซเซ็ม โซไลมานีผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ สังกัดกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard Corps) ที่บริเวณสนามบิน กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก การโจมตีครั้งนี้เกิดคำถามขึ้นว่า การโจมตีด้วย โดรน ที่เรียกว่า 9 รีปเปอร์” (MQ-9 Reaper) เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมาชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติหรือไม่ ข้อเขียนสั้นๆนี้จะนำเสนอประเด็นข้อกฎหมายและข้ออ้างของสหรัฐในประเด็นเรื่องการใช้สิทธิป้องกันตนเอง (self-defense) ตามข้อ 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติว่าฟังขึ้นหรือไม่อย่างไร


1. การสังหารนายพลกาซเซ็ม โซไลมานี ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า หลังจากที่กฎบัตรสหประชาชาติมีผลใช้บังคับ มีหลักกฎหมายที่สำคัญสองประการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ หลักห้ามการใช้กำลังทางหทาร (Non-use of force) และรัฐต้องระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี (Pacific Settlement of Disputes)  สำหรับข้อยกเว้นของการใช้กำลังนั้น ตามกฎบัตรสหประชาชาติมีอยู่สองกรณีเท่านั้นที่รัฐสามารถเริ่มใช้กำลังทางทหารได้ (jus ad bellum) กรณีแรกคือ การใช้สิทธิป้องกันตนเอง (self-defense) ตามข้อ 51 และกรณีที่สอง คือกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงใช้อำนาจออกข้อมติตามหมวด 7 ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับการคุกคามต่อสันติภาพ การละเมิดสันติภาพและการกระทำการรุกราน สำหรับกรณีเป็นที่เห็นได้ชัดว่าการใช้กำลังของสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแต่อย่างใด ยิ่งกว่านั้น สหรัฐอเมริกาอ้างการป้องกันตนเองในการโจมตีครั้งนี้ ประเด็นที่จะต้องวิเคราะห์ต่อไปคือ การป้องกันตนเองตามข้อ 51 มีองค์ประกอบอย่างไร

การป้องกันตนเองตามข้อ 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาตินั้นจะกระทำได้ “ก็ต่อเมื่อมีการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดขึ้น” ตัวบทใช้คำว่า “if an armed attack occurs” เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐที่ใช้กำลังโจมตีก่อนหรือขู่ว่าจะใช้กำลังนั้นมักจะอ้างว่า “มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง” (Imminent threat) แต่หากพิจารณาจากตัวบทของกฎบัตรสหประชาชาติทั้งข้อ 51 ไม่ปรากฎว่ามีการใช้คำว่า Imminent threat แต่อย่างใด นอกจากนี้ ความยุ่งยากของการใช้สิทธิป้องกันตนเองตามข้อ 51 อยู่ตรงที่ว่า ไม่มีที่ใดในกฎบัตรสหประชาชาติที่ให้ความหมายของคำว่า “การโจมตีด้วยกำลังอาวุธ” (armed attack) ว่าหมายความว่าอย่างไร คำนี้มีความสำคัญมากเพราะเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนที่รัฐจะใช้สิทธิป้องกันตนเอง ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ) หรือศาลโลกในคดีนิคคารากัว ศาลโลกไม่ได้อธิบายความหมายของคำว่า armed attack ตรงๆกล่าวแต่เพียงว่า ในกรณีของการป้องกันตนเองของรัฐนั้น การใช้สิทธิป้องกันตนเองตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่ารัฐนั้นเป็นผู้เสียหายหรือเหยื่อของการโจมตีด้วยอาวุธ[1] ศาลโลกกล่าวต่อไปอีกว่า armed attack จะต้องเข้าใจว่ามิได้หมายถึงแค่การส่งกองกำลังทหารประจำการ (regular armed forces) ข้ามพรมแดนแต่หมายความรวมถึง การส่งกองกำลัง กลุ่มบุคคล ที่ไม่ประจำการหรือทหารรับจ้าง (mercenaries) เข้าไปในดินแดนของรัฐอื่นด้วย แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาขนาดและผลกระทบ (scale and effects) ของการปฎิบัติการด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่ง การโจมตีและผลกระทบต้องมากมิใช่เพียงแค่การปะทะกันตามแนวพรมแดน (frontier incident) นอกจากนี้ การส่งอาวุธหรือความช่วยเหลืออื่นๆยังไม่ถือว่าเข้าข่าย armed attack เป็นเพียงการขู่หรือการใช้กำลังหรือการแทรกแซงกิจการภายในเท่านั้น จากตัวบทข้อ 51 และคำพิพากษาศาลโลกคดีนิคคารากัว พอสรุปได้ว่า ยังไม่มีการให้คำนิยามหรือคำอธิบายที่ชัดเจนว่า armed attack คืออะไร ทราบแต่เพียงว่า การโจมตีด้วยอาวุธหรือ armed attack จะต้องมีลักษณะขนาดความรุนแรงและผลกระทบมากกว่าการขู่ (threat) หรือการใช้กำลัง (use of force)

คำถามก็คือ การยิงจรวดทางโดรนนั้นถือว่าเป็น “การโจมตีด้วยอาวุธ” หรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่า หากพิจารณาจากความร้ายแรงของอาวุธและผลกระทบแล้ว การใช้กำลังทางทหารต่อผู้นำระดับสูงครั้งนี้เข้าข่ายเป็นการใช้กำลังทางทหารตามข้อ 2 (4) และ armed attack ในความหมายช้อ 51 แล้ว

ประเด็นต่อไปมีว่า การกระทำของสหรัฐอเมริกาละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 (4) ที่ห้ามการใช้กำลังหรือไม่ เป็นที่เห็นได้ชัดว่า การโจมตีครั้งนี้เกิดขึ้นบริเวณสนามบินกรุงแบกแดดในประเทศอิรัก แม้ว่าทหารสหรัฐอเมริกาจำนวนมากได้ประจำอยู่ที่อิรักตามสนธิสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายได้ทำไว้ แต่การใช้กำลังทางทหารถือว่าเป็นการผิดข้อตกลง และเป็นการละเมิดหลักห้ามการใช้กำลังตามกฎบัตรสหประชาชาติ เนื่องจากการใช้กำลังดังกล่าวมีผลกระทบต่อบูรณภาพแห่งอาณาเขตของอิรัก


2. การกระทำของสหรัฐอเมริกาเข้าข่ายการป้องกันตามข้อ 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติหรือไม่

ดังที่กล่าวมาข้างต้น ตามข้อ 51 รัฐจะอ้างการป้องกันตนเองได้ก็ต่อเมื่อ “มีการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดขึ้น” เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ผ่านมา ไม่ปรากฎว่าสหรัฐอเมริกาถูกอิหร่านโจมตีด้วยกำลังอาวุธ (ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน) แต่อย่างใด อิหร่านไม่ได้ใช้กำลังทางทหารไม่ว่าทางบก น้ำหรืออากาศโจมตีประเทศสหรัฐอเมริกาก่อน แต่ประธานาธิบดีทรัมป์อ้างว่านายพลกาซเซ็ม โซไลมานี วางแผนเตรียมการที่จะโจมตีนักการทูตและครอบครัวของสหรัฐอเมริกาที่ประจำอยู่ในอิรักตลอดจนที่ประจำในภูมิภาคนี้ ข้ออ้างนี้ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะใช้อ้างเพื่อป้องกันตนเอง เนื่องจากว่า สหรัฐอเมริกายังมีหนทางเลือกที่หลงเหลืออยู่ตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 ก่อนที่จะใช้กำลังทางทหาร เช่น กำชับให้อิรักและประเทศอื่นๆในตะวันออกกลางในฐานะที่เป็นรัฐผู้รับ (receiving state) คุมเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัยต่อสถานทูต ตัวแทนทางการทูตและสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961 รับรองว่าสถานทูต ตัวแทนทางการทูตและสมาชิกในครอบครัวจะถูกละเมิดมิได้  หรือสหรัฐอเมริกาอาจเรียกทูตกลับประเทศก็ได้หากสถานการณ์มีความตึงเครียดมากขึ้น

ข้ออ้างเรื่องการใช้สิทธิป้องกันตนเองของสหรัฐอย่างเป็นทางการปรากฏอยู่ในหนังสือที่ลงนามโดยเอกอัครราชทูต Kelly  Craft ของสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติมีไปยังเอกอัครราชทูต Dang Dihn Quy ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ[2] โดยหนังสือที่แจ้งรายงานไปยังคณะมนตรีความมั่นคงฉบับนี้อ้างว่า การกระทำของสหรัฐอเมริกาเป็นการใช้สิทธิป้องกันตนเองตามข้อ 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ในหนังสือยังได้กล่าวอีกว่าการปฎิบัติการทางทหารของสหรัฐซึ่งกระทำหลายครั้งรวมถึงการสังหารผู้นำทางทหารเมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา เป็นการโต้ตอบการโจมตีด้วยกำลังอาวุธของอิหร่านที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่เดือนมานี้ (recent months) โดยมีวัตถุประสงค์สองประการ คือ เพื่อ ยับยั้งขัดขวาง (deter) การปฎิบัติการหรือการสนับสนุนการโจมตีของอิหร่านและเพื่อทำให้เสื่อมเสีย (degrade) รัฐบาลของอิหร่านและ Islamic Revolutionary Guard Corps Qods Force ที่จะสนับสนุนขีดความสามารถในการโจมตีของกองกำลังติดอาวุธ

จากข้อความข้างต้น เป็นที่น่าสงสัยมากว่า การโจมตีสังหารนายพลกาซเซ็ม โซไลมานี จะอ้างการป้องกันตนเองได้หรือไม่เนื่องจากว่า ประการแรก การโจมตีของอิหร่านตามที่สหรัฐกล่าวหานั้นเกิดขึ้นมาเป็นเดือนแล้วแต่ทำไมสหรัฐเพิ่งมาใช้สิทธิป้องกันตนเองหลังจากที่การโจมตีของอิหร่านสิ้นสุดลงเป็นเวลาหลายเดือน ประการที่สอง ในจดหมายใช้คำว่า “in order to deter …and to degrade” แสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าการใช้กำลังโต้ตอบของสหรัฐอเมริกานั้นต้องการตอบโต้กับการกระทำในอนาคตแต่ในจดหมายไม่ปรากฎใช้คำว่า ภยันตรายที่ใกล้จะถึง (imminent threat) แต่อย่างใด ฉะนั้น การอ้างป้องกันตนเองตามข้อ 51 จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

นอกจากนี้แล้ว ในตอนท้ายของจดหมายสหรัฐอ้างว่า Kata'ib Hizballah  และกองกำลังของ Qods Force-backed militias มีส่วนร่วมในการโจมตีทำลายสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงแบกแดด เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่สถานทูต อย่างไรก็ดี การจุดไฟเผากำแพงสถานทูต การทุบโทรทัศน์วงจรปิดและใช้ก้อนหินขว้างปาเข้าไปในสถานทูตยังไม่ถือว่าเป็น “การโจมตีด้วยกำลังอาวุธ” (armed attack) ตามความหมายของข้อ 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ ในประเด็นนี้ ศาลโลกในคดีนิคคารากัวกล่าวว่า “…it will be necessary to distinguish the most grave forms of the use of force (those constituting an armed attack) from other less grave forms.”[3] พูดง่ายๆก็คือ armed attack ซึ่งเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการใช้สิทธิป้องกันตนเองเป็นการใช้กำลังทางทหาร (use of force) อย่างหนึ่ง แต่มิใช่การใช้กำลังทางทหารทุกครั้งจะเป็น armed attack เสมอไป เห็นได้ชัดว่า การบุกทำลายสถานทูต (บางส่วน) โดยประชาชนที่โกรธแค้นยังห่างไกลจากคำว่า armed attack มาก เพราะฉะนั้น สหรัฐอเมริกาไม่สามารถอ้างได้ว่า การการโจมตีสังหารนายพลกาซเซ็ม โซไลมานี เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563 เป็นการป้องกันตนเองอันเป็นผลมาจากการบุกทำลายสถานทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงแบกแดดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562

กล่าวโดยสรุปแล้ว การโจมตีของสหรัฐอเมริกาไม่เข้าข่ายป้องกันตนเองตามข้อ 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ


3. การกระทำของสหรัฐอเมริกาเข้าข่ายการป้องกันล่วงหน้า (anticipatory self -defense) หรือหน้าไม่

ประเด็นต่อไปมีว่า การโจมตีครั้งนี้จะเข้าข่ายการป้องกันล่วงหน้า (anticipatory self-defense) หรือไม่ อย่างที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอ้างว่าเป็นการกระทำที่จะหยุดสงคราม เรื่องการป้องกันล่วงหน้านั้นจัดว่าเป็นปัญหาที่สร้างข้อถกเถียงมากที่สุดปัญหาหนึ่งของวงการกฎหมายระหว่างประเทศ จนถึงทุกวันนี้ ปัญหานี้ก็ยังไม่เป็นยุติเด็ดขาดว่าการป้องกันล่วงหน้าตามกฎหมายระหว่างประเทศทำได้หรือไม่ โดยนักกฎหมายมีความเห็นในเรื่องนี้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มที่เห็นว่า การป้องกันล่วงหน้าไม่สามารถกระทำได้เนื่องจาก ตัวบทข้อ 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติกำหนดเป็นเงื่อนไขว่า รัฐจะใช้สิทธิป้องกันตนเองได้ก็ต่อเมื่อการโจมตีด้วยกำลังอาวุธบังเกิดขึ้น ในขณะที่อีกกลุ่มหนี่งเห็นว่า การป้องกันล่วงหน้ากระทำได้เนื่องจาก ข้อ 51 ไม่ได้ห้ามการป้องกันล่วงหน้าแต่อย่างใด โดยกลุ่มนี้อ้างว่า ข้อ 51 ใช้คำว่า “inherent right” ซึ่งหมายความว่า สิทธิในป้องกันตนเองเป็นสิทธิที่ติดตัวมากับรัฐมาตั้งแต่แรกก่อนที่กฎบัตรสหประชาชาติจะมีผลใช้บังคับ นอกจากนี้กลุ่มนี้มักจะอ้างกรณี Caloline[4] test ว่า การป้องกันล่วงหน้าสามารถกระทำได้หากว่าผ่านเงื่อนไขคือ “instant, overwhelming, and leaving no choice of means, and no moment for deliberation”[5] ข้อความดังกล่าวมักจะถูกหยิบยกในกรณีที่รัฐอ้างการป้องกันตนเองล่วงหน้าตามกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ

สำหรับกรณีการสังหารผู้นำทางทหารระดับสูงของอิหร่านครั้งนี้ สหรัฐอเมริกาจะต้องแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าสหรัฐจะถูกโจมตีจากภยันตรายที่ใกล้จะถึง อย่างไรก็ดี การอ้างป้องกันล่วงหน้าไม่ใช่กระทำกันง่ายๆ ขนาดป้องกันตนเองตามข้อ 51 ก็มีเงื่อนไของค์ประกอบที่เคร่งครัดมากเนื่องจากเป็นข้อยกเว้นของหลักการห้ามใช้กำลังทางทหาร ดังนั้น หากปล่อยให้มีการตีความอย่างกว้างตามใจชอบฝ่ายเดียว ก็จะนำไปสู่การบิดเบือนสิทธิในการป้องกันตนเองได้ ยิ่งกว่านั้น หากปล่อยให้มีการอ้างการป้องกันล่วงหน้าได้ง่ายๆ รัฐก็อาจใช้ข้ออ้างนี้อย่างพร่ำเพรื่อแต่แท้จริงแล้วเป็นการรุกรานอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ที่ผ่านมาในอดีต สหรัฐอเมริกาเคยโจมตีแท่นน้ำมันของอิหร่านสองแห่ง เป็นเหตุให้อิหร่านฟ้องต่อศาลโลก ในคดี Oil Platforms ค.ศ. 2003 สหรัฐอเมริกาอ้างการป้องกันตนเอง แต่ศาลโลกไม่เห็นด้วยกับข้อแก้ตัวนี้ โดยศาลโลกเห็นว่า ข้อมูลและหลักฐานที่สหรัฐแสดงนั้นไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่าบริเวณแทนขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวจะมีกองกำลังทหารของอิหร่านประจำอยู่และมีการปฎิบัติการทางทหารบริเวณดังกล่าว[6] ในท้ายที่สุด ศาลโลกเห็นว่า การโจมตีของสหรัฐอเมริกาไม่เข้าข่ายการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ


4. การประกาศสงครามทำได้หรือไม่ตามกฎหมายระหว่างประเทศและตามกฎบัตรสหประชาชาติ

ไม่นานหลังจากที่สหรัฐอเมริกาสังหารนายพลกาซเซ็ม โซไลมานี อิหร่านได้ชักธงแดงเหนือ ยอดสุเหร่าศักดิ์สิทธิ์จามคาราน ( Jamkaran Mosque) ประหนึ่งว่าเป็นการประกาศสงคราม (declaration of war) นั้น ผู้เขียนเห็นว่า หากพิจารณาตามกฎหมายระหว่างประเทศปัจจุบัน หลังจากที่กฎบัตรสหประชาชาติมีผลใช้บังคับ สงครามไม่สามารถกระทำได้อีกต่อไป สงครามเป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีข้อความตอนใดในกฎบัตรสหประชาชาติที่ใช้คำว่า “สงคราม” (war) เลย แต่ใช้คำว่า “ขู่ว่าจะใช้กำลังหรือใช้กำลัง”  เนื่องจากว่าผู้ร่างจงใจที่จะหลีกเลี่ยงคำนี้ นอกจากนี้แล้ว เมื่อมีการใช้กำลังทางทหารขึ้นก็อาจเข้าข่าย “การขัดกันด้วยอาวุธ” (armed conflict)[7] ซึ่งตกอยู่ภายใต้กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law: IHL) ฉะนั้น หากพูดในเชิงกฎหมายแล้ว การชักธงแดงจึงเป็นเพียงการส่งสัญญาณอะไรบางอย่างในเชิงสัญลักษณ์แต่ไม่ใช่เป็นการประกาศสงคราม เนื่องจากการทำสงครามเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 (4) ที่ห้ามการใช้กำลังทางทหารและขู่ว่าจะใช้กำลังอย่างชัดเจน ยิ่งกว่านั้น ศาลโลกยืนยันว่า หลักห้ามการใช้กำลังทางทหารมีสถานะเป็นกฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ (customary international law) ด้วย[8] และเป็นกฎหมาบบังคับเด็ดขาด (jus cogens) ขณะที่เขียนบทความนี้อิหร่านได้ยิงจรวดเพื่อเป็นการโต้ตอบการโจมตีของสหรัฐไปแล้ว      โดยอิหร่านได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังประธานคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติโดยอ้างสิทธิในการป้องกันตนเองตามข้อ 51[9]


5. การขู่ว่าจะโจมตีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของอิหร่าน 52 แห่งทำได้หรือไม่

นอกจากการสังหารผู้นำทางทหารระดับสูงของอิหร่านแล้ว ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาได้ทวิตโดยขู่ว่าจะโจมตีสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของอิหร่าน 52 แห่งอีกด้วย[10] หลังจากทรัมป์ทวิตข้อความดังกล่าวแล้ว ก็เกิดคำถามว่า การโจมตีทำลายสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์นั้นละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่

หากพิจารณาจากกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว โดยหลักแล้ว การโจมตีทำลายทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (cultural property)  เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 2 (4) และกฎหมายระหว่างประเทศอย่างอื่นด้วย ในเรื่องนี้มีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องคือ 1907 IV Hague Convention (CONVENTION RESPECTING THE LAWS AND CUSTOMS OF WAR ON LAND) ข้อ 56 บัญญัติว่า “The property of municipalities, that of institutions dedicated to religion, charity and education, the arts and sciences, even when State property, shall be treated as private property. All seizure of, destruction or willful damage done to institutions of this character, historic monuments, works of art and science, is forbidden, and should be made the subject of legal proceedings.” อนุสัญญาอีกฉบับหนึ่งคือ Convention for the Protection of Cultural Property in the Event of Armed Conflict with Regulations for the Execution of the Convention 1954

โดยอนุสัญญาได้กำหนดพันธกรณีแก่รัฐภาคีว่าจะต้องงดเว้นการการะทำอันเป็นปฎิปักษ์ที่มุ่งโดยตรงต่อทรัพย์สินทางวัฒนธรรม[11] อย่างไรก็ดีมีข้อยกเว้นว่าหากมี “ความจำเป็นทางทหาร” (military necessity)[12] พันธกรณีดังกล่าวก็สามารถยกเว้นได้ นอกจากนี้แล้ว ธรรมนูญกรุงโรมก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ  (International Criminal Court: ICC) ข้อ 8 (2) (b) (ix) ยังกำหนดให้การสั่งโจมตีสิ่งก่อสร้างเพื่อการศาสนา (buildings dedicated to religion) ศิลปะ (art) อนุสาวรีย์ทางประวัติศาสตร์ (historic monuments)  เป็นความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม (war criminal) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกามิได้เป็นภาคีธรรมนูญกรุงโรม

 

บทส่งท้าย

ผู้เขียนคิดว่า การโจมตีของสหรัฐอเมริกาและการตอบโต้ของอิหร่านในครั้งนี้จะไม่เป็นการจุดฉนวนความรุนแรงจนเหตุการณ์บานปลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบและดึงประเทศต่างๆเข้ามาในความขัดแย้งครั้งนี้จนลุกลามบานปลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 อย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกัน หากพิจารณาจากตอนท้ายของหนังสือทูต Kelly  Craft แล้ว ได้กล่าวว่าสหรัฐอเมริกายังยึดมั่นกับช่องทาง ทางการทูตอยู่ ดูประหนึ่งว่า  “ประตูเจรจา” ยังมิได้ปิดตายเสียทีเดียว นอกจากนี้แล้ว ทั้งสองประเทศทำหนังสือชี้แจงการใช้สิทธิป้องกันตนเองไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแล้ว จากนี้ไป คงต้องดูท่าทีบทบาทของคณะมนตรีความมั่นคงว่าจะมีปฎิกิริยาอย่างไร และไม่แน่ว่าหลังจากนี้ อิหร่านจะนำข้อพิพาทขึ้นต่อศาลโลกเป็นครั้งที่ 3 หรือไม่ หลังจากที่คู่นี้เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมาเป็นคู่ความในศาลโลกมาแล้ว 2 ครั้ง คือ Hostage case (1986) และ Oil Platforms case (2003)

 ในอดีต สหรัฐอเมริกาเคยเป็นตัวตั้งตัวตีก่อตั้งองค์การระหว่างประเทศระดับสากลที่ทำหน้าที่ดูแลสันติภาพอย่างสันนิบาตชาติ (ในสมัยประธานาธิบดี วู๊ดโร วิลสัน) และสหประชาชาติ (ในสมัยอดีตประธานาธิบดีแฟรงกลิน เดลาโน โรสเวลต์) หวังว่า องค์การสหประชาชาติคงไม่พังทลายไปในสมัยโดนัลด์ ทรัมป์เป็นแน่

 

 

อ้างอิง

[1] Military and Paramilitary Activities in und against Nicaragua (Nicaragua v. United States of America). Merits, Judgment. I.C.J. Reports 1986, para.195

[2] หนังสือนี้ลงวันที่  8 มกราคม ค.ศ. 2020

[3] Military and Paramilitary Activities in und against Nicaragua (Nicaragua v. United States of America). Merits, Judgment. I.C.J. Reports 1986, para.191

[4] เป็นชื่อเรือที่ใช้โดยฝ่ายกบฏชาวแคนาดาที่สหรัฐให้การสนับสนุน เรือลำนี้ถูกอังกฤษยิงจมลงช่วงค.ศ. 1937

[5] ข้อความนี้ปรากฏในหนังสือโต้ตอบทางการทูตของนาย Daniel Webster รมต. ว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาที่มีไปยังรัฐบาลอังกฤษ

[6] Oil Platforms (Islamic Republic of Iran v. United States of America), Judgment, I. C. J. Reports 2003,  para 76

[7] เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีสนธิสัญญาที่ให้คำจำกัดความคำว่า armed conflict ไว้ ความหมายนี้จึงต้องอาศัยแนวคำพิพากษา (เช่นThe International Criminal Tribunal for the former Yugoslavia (ICTY) ในคดี The Prosecutor v. Dusko Tadic, Decision on the Defense Motion for Interlocutory Appeal on Jurisdiction, IT-94-1-A, 2 October 1995, para. 70. เคยให้ความหมายสั้นๆ ว่า การขัดกันด้วยอาวุธดำรงอยู่เมื่อใดก็ตามที่รัฐใชกำลังทางทหารต่อกัน: “an armed conflict exists whenever there is a resort to armed force between States") นอกจากแนวคำพิพากษาของศาลแล้ว งานเขียนของนักนิติศาสตร์ก็มีส่วนช่วยในการอธิบายความหมายของคำว่า armed conflict อย่างไรก็ดี การประท้วงก็ดี การจลาจลก็ดี ไม่ถือว่าเป็นการขัดกันด้วยอาวุธ การขัดกันด้วยอาวุธมีอยู่สองประเภทคือ international armed conflict and non-international armed conflict

[8] Military and Paramilitary Activities in und against Nicaragua (Nicaragua v. United States of America). Merits, Judgment. I.C.J. Reports 1986, para 292 (4)

[9] จดหมายลงวันที่ 8 มกราคม 2020 ลงนามโดยเอกอัครราชทูต Majid Takht Ravanchi

[10] https://www.bbc.com/news/world-middle-east-50996602 ที่น่าสงสัยคือ ทำไมต้อง 52 แห่ง เป็นไปได้ที่ทรัมป์ต้องการสื่อถึงเหตุการณ์ที่อิหร่านจับนักการทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่านจำนวน 52 คนเป็นเวลาปีเศษ เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาฟ้องต่อศาลโลก ค.ศ. 1980 เป็นที่รู้จักกันดีในคดีตัวประกัน (Hostage case) คดีนี้ศาลโลกตัดสินว่าอิหร่านละเมิดอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ. 1961

[11] ข้อ  4 (1)

[12] ปัญหาคือ ในอนุสัญญาไม่มีการให้คำนิยามว่าความจำเป็นทางทหารคืออะไร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net