อีอีซี (3): อิทธิพลแนวคิดจีนในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย

อีอีซี (1): ไม่มีรัฐประหาร ไม่มีทางทำได้
อีอีซี (2): การแย่งยึดที่ดินของรัฐ-ทุน สร้างอาณานิคมยุคใหม่?

จากญี่ปุ่นสู่ยุคของทุนจีน

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 สมัยที่รัฐบาลไทยบรรจุโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกเข้าไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 เป็นครั้งแรกเพื่อพัฒนาการส่งออก อุตสาหกรรมจากก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและการกระจายความเจริญไปนอกกรุงเทพฯ เว็บไซต์นิเคอิ เอเชียน รีวิว ให้ข้อมูลว่ารัฐบาลไทยพยายามขอกู้เงินจากธนาคารโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะโครงการฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผลในแง่ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ โชคดีที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือด้วยการให้กู้เงินกว่า 178.8 พันล้านเยน (นับเป็น 1 พันล้านเยนในปัจจุบัน) ทยอยจ่ายเป็นเวลา 12 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 1982 เพื่อนำไปใช้ในการสร้างถนน ท่าเรือ ระบบชลประทาน และนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ กว่า 16 โครงการ

ใครจะคาดคิดว่าเงินกู้ที่ญี่ปุ่นอนุมัติให้ไทยในช่วงนั้นจะกลับมาช่วยญี่ปุ่นเองในภายหลัง ตั้งแต่ ค.ศ. 1980-1985 สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นอย่างมหาศาล เพราะสินค้าญี่ปุ่นราคาถูกมากจากอานิสงค์ของค่าเงินเยน เพื่อลดภาวะขาดดุลทางการค้า สหรัฐอเมริกาจึงบังคับให้ญี่ปุ่นเพิ่มค่าเงินของตัวเองจนนำไปสู่ข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985 สินค้าของญี่ปุ่นแพงขึ้นอย่างฉับพลันทั่วโลก พร้อมๆ กับที่สินค้าอเมริกันราคาถูกลง เพื่อปรับตัวให้อยู่รอดญี่ปุ่นจึงต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าและขนส่งได้สะดวก หนึ่งในเป้าหมายดังกล่าวคือ ประเทศไทย

เนื่องจากเห็นโอกาสในการเพิ่มเงินลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงประกาศลดค่าเงินบาทเพื่อดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่น รากฐานที่วางไว้ก่อนหน้านี้ถูกประกาศเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเป็นทางการในปี 1987 ข้อมูลโดยโซจิ ซาไค ประธานหอการค้าญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่าจำนวนบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทุนญี่ปุ่นเข้ามาเปลี่ยนอะไรหลายอย่างในภาคตะวันออก เช่น การที่จังหวัดอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีอัตราจีดีพีต่อหัวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย การเกิดขึ้นของชุมชนลิตเติลโอซาก้าในศรีราชา ไปจนถึงวิกฤติการณ์มลพิษในมาบตาพุด

ในวันนี้ รากฐานที่ทุนญี่ปุ่นวางไว้กำลังจะถูกต่อยอดครั้งใหญ่ หลังการรัฐประหารในพ.ศ. 2557 รัฐบาลไทยประกาศว่าจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เรียกว่าโครงการระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) รัฐบาลจะใช้งบประมาณกว่า 1.5 ล้านล้านบาทภายในปี 2021 เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี และอาจรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม ความสนใจของหลายคนไม่ได้อยู่ที่ทุนญี่ปุ่น แต่เป็นทุนจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ข้อมูลในปี 2019 พบว่าจีนเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ทั้งที่ในปี 2018 ยังเป็นเพียงอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นและสิงคโปร์

สาธารณชนกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของทุนจีนว่าจะเข้ามาบั่นทอนอำนาจอธิปไตยของไทยหรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากที่ พ.ร.บ. อีอีซี อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาเช่าที่ดินได้ถึง 99 ปี สำนักงานอีอีซีออกมาตอบโต้โดยยกข้อกฎหมายว่าหากไม่ได้มีการลงทุน บริษัทต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนต้องคืนที่ดินภายใน 1 ปี ส่วนบริษัทที่ไม่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจะต้องคืนที่ดินภายใน 3 ปี และการให้ต่างชาติเข้ามาเช่าที่ประกอบกิจการไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อย่างที่เข้าใจผิดกัน

 นอกจากประเด็นเรื่องการเช่าที่ 99 ปีแล้ว ก็ยังมีความกังวลอื่นๆ เกี่ยวกับบทบาทของทุนจีนที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในภาพรวม เช่น การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีน การเข้ามาของทุนจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ การกว้านซื้อที่ดินโดยนักลงทุนจีน การนำเข้าขยะจากจีน การซื้อมหาวิทยาลัยในไทยของทุนจีน การเข้ามาของอาลีบาบา การเข้ามาประมูลโครงการคมนาคมของทุนจีน การนำโมเดลสนามบินของจีนมาใช้ การนำโมเดลจีนมาใช้กับธุรกิจ SME ของไทย ในประเด็นทั้งหมดนี้ ส่วนใหญ่คาดการณ์กันว่าสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา และโครงการ One Belt One Road เป็นปัจจัยหนุน โดยการลงทุนระลอกนี้มีทั้งคนประเมินผลกระทบทั้งในเชิงลบและเชิงบวก 

รายงานชิ้นนี้อาจไม่ได้พูดถึงการลงทุนในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเป็นการเฉพาะ และไม่ได้นำเสนอการประเมินผลดีหรือผลเสียของทุนจีนออกมาเป็นตัวเลข แต่มุ่งเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของอิทธิพลทางความคิดการพัฒนาแบบจีนที่เข้ามาในอีอีซีด้วย 3 ปัจจัย ได้แก่ บทบาทชนชั้นนำของไทย (โดยเฉพาะสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองและเศรษฐกิจภาพใหญ่ในไทยและจีน และประวัติศาสตร์การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างไทยและจีนในยุคสมัยใหม่  

เจิ้งโจวโมเดล: ยอดภูเขาน้ำแข็ง

แม้โครงการอีอีซีจะเป็นแผนแม่บทขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่และเม็ดเงินมหาศาล แต่หากสรุปง่ายๆ จะพบว่าแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่าน 5 โครงการใหญ่ และการพัฒนา 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตภาคตะวันออก จากการรวบรวมข่าวสารต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าในโครงการเหล่านี้มีจีนร่วมทุนอยู่ด้วย หรือไม่ก็เกี่ยวข้องกับจีนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำหรับในส่วนของ 5 โครงการใหญ่ จะพบว่าบางโครงการมีเกี่ยวข้องกับทุนจีนอยู่ไม่มากก็น้อย โดยสำนักข่าวอิศราตั้งข้อสังเกตว่านี่อาจเป็นปรากฏการณ์ที่ “ทุนจีนยึดกระดูกสันหลังอีอีซี”

ตัวอย่างเช่น โครงการสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งนับว่ามีความเชื่อมโยงกับจีนอยู่ในระดับภาครัฐ คีย์เวิร์ดสำคัญของโครงการนี้คือคำว่า “เจิ้งโจวโมเดล”

ในเดือนสิงหาคม 2562 สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว และระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย สาระสำคัญของความร่วมมือคือ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากสนามบินเจิ้งโจวเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสนามบินอู่ตะเภา และการจัดทำระบบความร่วมมือทางการค้าร่วมกันระหว่างสองสนามบินเพื่อขยายตลาดการส่งออกสินค้าไทย (เช่น ผลไม้ สินค้าเภสัชกรรม ฯลฯ)

ภายใต้ความร่วมมือนี้ คาดกันว่าในอนาคตกลุ่มอุตสาหกรรมของเจิ้งโจวบางส่วนอาจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ปัจจุบัน ผู้ลงทุนในสนามบินเจิ้งโจวประกอบด้วยบริษัทด้าน IT และ Smart phone กว่า 60 ราย มีบริษัทเกี่ยวข้องกับการขนส่งทางอากาศ 36 บริษัท บริษัทที่ธุรกิจด้าน E- Commerce 431 บริษัท บริษัทซ่อมเครื่องบิน 5 บริษัท ทั้งนี้ หม่า เจี้ยน ผู้อำนวยการเขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจว​ระบุว่า เขตเศรษฐกิจพิเศษอากาศยานเจิ้งโจวที่เพิ่งเปิดใช้งานมาได้เพียงแค่ 3 ปี ปัจจุบัน​มีผู้โดยสารใช้บริการแล้วกว่า 27 ล้านคน มีการใช้สนามบินเพื่อขนส่งสินค้าคิดเป็นร้อยละ 60 ของประเทศ มีสินค้าที่ขนส่งมากกว่า 515,000 ตัน

“เจิ้งโจวโมเดล” เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เพราะรองนายกฯ สมคิดเดินทางไปยังเมืองต่างๆ ของจีนเพื่อชักชวนให้นักธุรกิจแดนมังกรเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย ความพยายามในการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างไทยกับจีนเกิดขึ้นภายใต้สภาพที่การเมืองและเศรษฐกิจของไทยและจีนในภาพใหญ่เหมือนกันมากขึ้นทุกที ทั้งในแง่ปรากฏการณ์ “เลี้ยวขวา” ที่เกิดขึ้นในการเมืองภาพใหญ่ และในแง่เศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมาที่ไทยให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวและการใช้แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นหัวใจของยุทธศาสตร์การพัฒนามากขึ้น ไม่ต่างจากจีนซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการใช้แนวคิดดังกล่าว 

เขตเศรษฐกิจพิเศษ: อิทธิพลความคิดจากประเทศจีน

โมเดลการพัฒนาของเราได้รับอิทธิพลทางความคิดจากจีนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาบทความของDavid Dodwell ผู้อำนวยการฝ่ายบริการของ Hong Kong-APEC Trade Policy Study Group ที่ระบุว่าจีนเป็นประเทศที่ใช้แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนามากที่สุดในช่วงหลังนี้ แม้ว่าผลสัมฤทธิ์จะยังถูกตั้งคำถามอยู่มากก็ตาม หากนิยามกว้างๆ ว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษคือ การกำหนดพื้นที่บางส่วนให้มีระเบียบข้อบังคับ (เช่น ในเรื่องการเก็บภาษี ฯลฯ) เกี่ยวกับเศรษฐกิจต่างไปจากพื้นที่อื่นๆ เพื่อเพิ่มยอดการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ จะพบว่าจีนมีโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษมากถึง 2,543 แห่ง นับเป็นจำนวนกว่าครึ่งหนึ่งของโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมดทั่วโลกใน 147 ประเทศ

แม้ว่าแนวคิดการทำเขตเศรษฐกิจพิเศษดูเหมือนจะเริ่มต้นในไอร์แลนด์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในศตวรรษที่ 21 จีนเป็นหัวหอกสำคัญในการแนวคิดดังกล่าวเป็นจักรกลในการพัฒนาเศรษฐกิจ David Dodwell วิเคราะห์ไว้ใน South China Morning Post ว่าสาเหตุที่รัฐบาลจีนชอบยุทธศาสตร์นี้อย่างมาก เป็นเพราะต้องการลดความเสี่ยงด้วยการทดลองโมเดลการพัฒนาในเขตพื้นที่หนึ่งๆ เป็นการเฉพาะก่อน หากล้มเหลวก็ล้มเหลวเพียงที่เดียว ไม่ล้มเหลวทั้งประเทศเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับการใช้นโยบายก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในช่วงระหว่างปี 1958-1962 ซึ่งทำให้คนอดตายหลายล้านคน จีนใช้แนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษครั้งแรกในสมัยประธานาธิบดีเติ้งเสี่ยวผิง โดยเริ่มที่เสิ่นเจิ้น จูไห่ ชานโถว และเสี้ยเหมิน

หลังจากนั้นจีนก็ใช้แนวคิดดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนามากขึ้นต่อเนื่อง และใช้ในการลงทุนในต่างประเทศด้วย เริ่มจากการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษของคลองสุเอซในปี 1999 และล่าสุดคือการพยายามลงทุนกว่า 3.5 พันล้านในเขตการค้าเสรีจีบูติ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง รวันดา ซูดาน โซมาเลีย และเอธิโอเปีย ภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road

ดูเหมือนไทยจะเริ่มเดินตามเส้นทางการพัฒนาของจีนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้เราจะเคยรู้จักเขตเศรษฐกิจพิเศษมาบ้างแล้วในสมัยของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด แต่เราไม่ได้นำแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษมาใช้อีกเลย แม้รัฐบาลทักษิณจะเคยพยายามผลักดันเรื่องนี้ก็ตาม เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะการถอดบทเรียนว่าด้วยผลกระทบทางมลพิษที่เกิดขึ้นกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด แต่หลังเกิดรัฐประหาร 2557 แนวคิดเศรษฐกิจพิเศษจึงถูกนำมาใช้เป็นโมเดลการพัฒนาอีกครั้ง มีการออกคำสั่ง คสช.ที่ 3/2559 เพื่อประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 10 จังหวัด

ต่อมารัฐบาล คสช.ก็ประกาศต่อยอดการพัฒนาจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด โดยออกคำสั่ง คสช. นำร่อง 3 ฉบับ ตามด้วยการผ่าน พ.ร.บ. การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จนกลายเป็นอีอีซีอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน หลังจากนี้ รัฐบาลยังวางแผนว่าจะสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคใต้ในลักษณะเดียวกัน เรียกว่า SEC หรือ Southern Economic Corridor ด้วย โดยรัฐบาลเห็นชอบหลักการไปแล้ว 116 โครงการครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1 แสนล้านบาท

สม(คบ)คิด(จีน)?

 คนที่นำเข้าแนวคิดเขตเศรษฐกิจพิเศษเข้ามาใช้ในไทยอีกครั้งไม่ใช่ใครอื่น เขาคือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน การเป็นคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจที่ว่านี้หรือไม่ไม่มีใครทราบ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสมคิดนิยมชมชอบโมเดลการพัฒนาของจีนอยู่ไม่น้อย สังเกตได้จากคำปราศรัยต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา แม้เขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีหลากหลายประเภท และมีอยู่ทั้งในประเทศตะวันตกและประเทศอื่นๆ แต่ดูเหมือนว่าเขาจะให้ความสนใจกับโมเดลเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีนเป็นพิเศษ

ในสมัยที่สมคิดยังเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แนวคิดเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเคยถูกเสนอเพื่อนำมาใช้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก็ต้องตกไปเพราะเสียงคัดค้านจากกลุ่มต่างๆ แนวคิดนี้กลับมาอีกครั้งหลังจากที่สมคิดเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล คสช. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 สมคิดให้ความเห็นเชิงบวกต่อจีนเป็นระยะๆ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 สมคิดเคยกล่าวชื่นชมจีนในงาน Smart SME โดยมติชนออนไลน์สรุปความระบุว่า

“จีนจะเป็นประเทศแรกที่ฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากไม่ได้อาศัยเศรษฐกิจรูปแบบเดิมเช่นเดียวกับกลุ่มประเทศตะวันตก แต่จีนให้ความสำคัญกับเอสเอ็มอี หรือเรียกว่า Mass Entrepreneur โดยบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเทคโนโลยีและวิทยาการ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เปลี่ยนความคิดเป็นสินค้าบริการออกไปแข่งกับตลาดโลก รวมถึงฝึกอบรมผู้ประกอบการเกี่ยวกับการค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซ และใช้โลจิสติกส์ในการส่งสินค้า ซึ่งไทยต้องมองและยึดเป็นบทเรียนว่าจะสร้างการเติบโตรูปแบบนี้ได้อย่างไร”

เมื่อเดินทางไปกวางตุ้งในช่วงตุลาคม 2562 สมคิดกล่าวชัดเจนขึ้นว่าต้องการใช้โมเดลของจีนมาพัฒนา SME ในไทย “เราจะใช้โมเดลคล้ายกับจีนในการสร้างสตาร์ตอัพของไทย เพื่อเปลี่ยนให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจบนฐานผู้ประกอบการ และการเชื่อมโยง GBA ทำให้ไทยเข้าถึงจุดแข็งของจีนได้เหนือทุกประเทศ เพราะมณฑลกวางตุ้งและเมืองเสิ่นเจิ้นคือผู้นำของโลกด้านนี้” หากย้อนเวลากลับไปจะเห็นว่าเมืองเสิ่นเจิ้นในมณฑลกว้างตุ้ง เป็นเมืองนำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่บุกเบิกโดยเติ้งเสี่ยวผิงในปี 1980

การให้ความสำคัญกับโมเดลของจีนอย่างมากอาจต้องแลกมาด้วยอะไรหลายอย่าง จะเห็นได้ชัดขึ้นหากพิจารณาว่าในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาได้ทำการตัดสิทธิ GSP ของไทย แต่สมคิดไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับประเด็นนี้มากไปกว่าการบอกว่าประเทศเราพัฒนามาเกินกว่าที่จะได้รับสิทธิ GSP แล้ว ทั้งที่ข้อเท็จจริงชี้ว่าสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ GSP ไทย เนื่องจากไทยมีปัญหาเรื่องการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการไม่ได้รับสิทธิ GSP จะส่งผลกระทบต่อภาษีการส่งออกสินค้าไทยถึง 573 รายการ คิดเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าไทยที่ได้รับสิทธิพิเศษ คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.3 พันล้านบาท 

 การนำความคิดของต่างชาติอย่างจีนเข้ามาใช้ รวมไปถึงการให้ความสำคัญกับจีนเป็นพิเศษไม่ได้เป็นปัญหาด้วยตัวมันเอง แต่คำถามคือการใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นโมเดลการพัฒนายังได้ผลอยู่หรือไม่

จากรายงานของ UNCTAD ระบุว่าจากเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 5,400 แห่ง ร้อยละ 22 จัดอยู่ในประเภท “ถูกใช้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรอย่างมากและส่วนใหญ่รกร้างว่างเปล่า” ส่วนอีกร้อยละ 25 จัดอยู่ในประเภท “ค่อนข้างถูกใช้ประโยชน์น้อยกว่าที่ควรและค่อนข้างรกร้างว่างเปล่า” มีเพียงร้อยละ 13 เท่านั้นที่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ข้อกังวลของ UNCTAD อาจจะสอดคล้องกับรายงานเกี่ยวกับอีอีซีในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งระบุว่าแม้จะมีจำนวนโครงการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าปี 2561 ถึงร้อยละ 37 แต่มูลค่าการลงทุนลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 23 อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอนาคตจะเข้ามามากมายเพียงใดยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป

แต่ต่อให้อีอีซีเป็นกรณี “ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่” รายงานของ UNCTAD ก็ระบุเช่นกันว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษอาจไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างที่กล่าวอ้างกัน เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้แยกส่วนกับพื้นที่อื่นๆ ไม่ได้เชื่อมโยงและกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่อื่นของประเทศ รายงานของ Nikei Review นำเสนอไปในทิศทางเดียวกันว่าโครงการอีอีซีไม่เหมือนกับอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะไม่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นในภาพรวมต่อให้โครงการประสบความสำเร็จก็ตาม

ในสมัยที่ยังเป็นอีสเทิร์นซีบอร์ด ประชาชนในพื้น 3 จังหวัดภาคตะวันออกยังได้ประโยชน์จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เพราะยอดการเติบโตของประชากรในพื้นที่ในช่วงดังกล่าว (ร้อยละ 2.5 ในปี 1986-1991) ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (ร้อยละ1.5) คนที่เกิดในช่วงดังกล่าวได้มีโอกาสทำงานในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้น ส่งผลให้คนภาคตะวันออกนำรายได้ไปใช้จ่ายกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม ปัจจุบันอัตราการเกิดของเด็กต่อผู้หญิง 1 คนในปี 2560 อยู่ที่ 1.53 คนเท่านั้น Nikei Review จึงวิเคราะห์ว่าตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นในโครงการอีอีซีไม่น่าตกอยู่กับคนไทย แต่กลายเป็นของชาวต่างชาติเสียมากกว่า

การที่ไทยกำลังก้าวสู่สังคมสูงวัยนั้น นอกจากจะส่งผลให้คนทำงานไม่ใช่คนไทยและคนใช้เงินจับจ่ายในระบบเศรษฐกิจไม่ใช่คนไทยแล้ว ยังหมายความด้วยว่าองค์ความรู้นวัตกรรมที่คาดหวังว่าจะได้เรียนรู้จากต่างชาติก็จะไม่ได้รับการถ่ายทอดมาสู่คนไทย คำถามคือ เพราะเหตุใดสมคิดจึงยังดึงดันใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นโมเดลการพัฒนา

โลกเลี้ยวขวา: ความเปลี่ยนแปลงในระดับภาพใหญ่

เมื่อมองในภาพใหญ่ แนวโน้มทางการเมืองของไทยและจีนสอดคล้องกันอย่างน่าใจหาย ไทยมีการรัฐประหารใน 2557 นำไปสู่การใช้คำสั่ง คสช. และมาตรา 44 (ก่อให้เกิดโครงการอีอีซีขึ้นมา) จนไปถึงการแก้ไขกติกาหลักใหญ่ในสังคมดังเห็นได้จากรัฐธรรมนูญ 2560 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ. ความมั่นคงไซเบอร์ และ พ.ร.บ. การชุมนุม เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

จีนก็มีแนวโน้มไปในทิศทางดังกล่าวเช่นกัน 1 ปีหลังจากไทยบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จีนได้แก้ไขรัฐธรรมนูญโดยยกเลิกมาตราที่ระบุให้ประธานาธิบดีจีนอยู่ได้ไม่เกิน 2 สมัย หมายความว่า สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนจะอยู่ในอำนาจได้ตราบนานเท่านานไม่ต่างจากเหมาเจ๋อตุง โดยจะดำรงตำแหน่งได้ต่อไปแม้ครบสมัยที่ 2 ในปี 2023 การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้นับเป็นการแก้ไขกติกาทางการเมืองที่อยู่มากว่า 32 ปีหลังจากที่ เติ้งเสี่ยวผิง อดีตประธานาธิบดีกำหนดกติกาดังกล่าวขึ้นในปี 1982 เพื่อสร้างข้อจำกัดไม่ให้ใครมีอำนาจล้นฟ้าและคร่าชีวิตคนไปมากมายดังที่เคยเกิดขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมได้อีก ขณะเดียวกันจีนในศตวรรษที่ 21 ก็พยายามปราบปรามคนเห็นต่างรุนแรงขึ้น ดังจะเห็นได้จากการใช้มาตรการหักคะแนนพฤติกรรมออนไลน์หากประพฤติตัวไม่เหมาะสม และการปราบปรามผู้ชุมนุมในฮ่องกง

ความเปลี่ยนแปลงของการเมืองภาพใหญ่และการจำกัดเสรีภาพการแสดงออกส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์การพัฒนาไม่มากก็น้อย กล่าวคือ เมื่อแหล่งความชอบธรรมของรัฐบาลไม่ได้มาจากระบอบการเมืองที่เปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วม ผู้นำจึงต้องพึ่งพาผลงานการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้น ในประเด็นนี้ 2 นักวิชาการดูเหมือนจะเห็นตรงกัน ในส่วนของไทย ภาณุวัฒน์ พันธุ์ประเสริฐ  อาจารย์วิทยาลัยการเมืองและการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า ระบอบประยุทธ์ต้องอาศัยแหล่งความชอบธรรม 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ความชอบธรรมจากผลงาน ความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ และความชอบธรรมจากการปฏิรูป ในส่วนของจีน วาสนา วงสุรวัฒน์ เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้เช่นกันว่า ปัญหาเรื่องปากท้องยังเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้จีนต้องแก้ให้ได้เพื่อประกันความอยู่รอดของตนเอง

ซีพี ฮ่องกง และเพื่อนยามยาก

การเปลี่ยนแปลงภาพใหญ่นี้ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ส่งผลให้ชนชั้นนำไทยมีแนวโน้มรับแนวคิดการพัฒนาของจีนมาใช้ได้ง่ายกว่า แต่ยังเป็นเพราะการเกื้อกูลกันของไทยและจีนในยามยากมาโดยตลอดด้วย ทั้งในระดับภาครัฐและเอกชน ความเกื้อกูลกันเช่นนี้น่าจะเห็นได้ชัดที่สุดผ่านกรณีของซีพี

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เจ้าของบริษัทซีพี อายุ 80 ปี ปัจจุบันเป็นผู้ที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กเห็นว่าเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจคนสำคัญของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เขาเป็นบุตรของนายเจีย เอ็ก ชอ ผู้หนีภัยพิบัติใต้ฝุ่นจากบ้านเกิดทางตอนใต้ของจีนเข้ามาขายเมล็ดผักในไทยเมื่อ 99 ปีที่แล้ว ใครจะไปคิดว่าชีวิตของครอบครัวหนึ่งจะพลิกผันได้มากถึงเพียงนี้ในช่วงเกือบ 1 ศตวรรษต่อมา ซีพีหรือเครือเจริญโภคภัณฑ์บริษัทที่ทุกคนรู้จักกันดี เป็นหนึ่งในเอกชนรายใหญ่ที่สุดของไทย นอกจากจะทำกิจการหลากหลายไล่ตั้งแต่ธุรกิจอาหารไปจนถึงงานโทรคมนาคม ซีพียังจัดเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในระดับโลกด้วยเพราะมีบทบาทสำคัญอยู่หลายอย่าง

แต่บทบาทของซีพีที่หลายคนอาจลืมไปแล้ว คือการเข้าไปช่วยเหลือเศรษฐกิจจีนในยามคับขัน ในสมัยวิกฤติการณ์เทียนอันเหมิน เพราะความโหดร้ายของรัฐบาลจีนในการเข่นฆ่าผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในปี 1989 เวทีประชาคมโลกจึงคว่ำบาตรเศรษฐกิจจีนอย่างหนัก แต่ซีพียังคงลงทุนธุรกิจกับจีนต่อไปแม้เผชิญกับวิกฤติการณ์ทางการเมือง ทุกวันนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศอย่างภาคภูมิใจว่าตนเองเป็นบริษัทข้ามชาติแห่งแรกในจีน และมีหมายเลข 0001 อยู่ในทะเบียนการค้า เอกสารของทางการสหรัฐอเมริกาในปี 1996 ระบุว่าซีพีเข้าไปลงทุนในจีนครั้งแรกในปี 1979

เอกสารดังกล่าวระบุด้วยว่า ธุรกิจที่ซีพีทำในประเทศจีนมีตั้งแต่เนื้อไก่ มอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สาเหตุที่สหรัฐอเมริกามีบันทึกในเรื่องนี้เป็นเพราะซีพีเคยเข้าไปพัวพันในการเมืองของสหรัฐอเมริกาในช่วงดังกล่าวด้วย ข่าวดังในขณะนั้นคือการที่พรพิมล กาญจนลักษณ์ บริจาคเงินให้กับคณะกรรมการพรรคเดโมแครตด้วยวิธีไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และการบริจาคดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนัดดื่มกาแฟระหว่างประธานาธิบดีคลินตันและนักธุรกิจ 4 คน และพูดคุยกันเกี่ยวกับนโยบายการค้าที่สหรัฐอเมริกามีต่อจีน หนึ่งในนักธุรกิจ 4 คนดังกล่าวคือเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ซึ่งเป็นคนที่สนทนาพาทีในวันดังกล่าวมากที่สุด และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาความสัมพันธ์อันดีทางการค้ากับจีนต่อไป

หลังบิล คลินตัน ลงจากตำแหน่งและจอร์จ ดับเบิลยู บุช ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อ รายงานข่าวสืบสวนออกมาเปิดเผยว่าเจ้าสัวธนินท์มีความสัมพันธ์กับพรรครีพับบลิกันและตระกูลบุชเช่นกัน โดยเคยเชิญอดีตประธานาธิบดีบุชผู้พ่อมาร่วมงานเปิดโรงงานผลิตภาพสีในประเทศไทย เพื่อใช้เส้นสายของตระกูลบุชนำไปสู่การขอสิทธิการขายภาพ Dutch Boy ในประเทศจีน ต่อมาบุชยังได้ตั้งบริษัทโทรคมนาคมร่วมกับซีพี โดยอาศัยเส้นสายที่ซีพีมีในประเทศจีนเพื่อเปิดประตูให้บริษัทต่างๆ ในอเมริกาเข้าไปลงทุนในจีนด้วย

จะเห็นได้ว่าเจ้าสัวธนินท์พยายามรักษาผลประโยชน์การลงทุนของซีพีที่มีอยู่ในจีนมาโดยตลอด และเมื่อรัฐบาล คสช. เปิดโครงการอีอีซี ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่สู้ดีภายใต้การจำกัดการแสดงความเห็นทางการเมืองต่างๆ  ซีพีก็เป็นหัวหอกสำคัญอีกครั้งในการชักชวนแนวร่วมในจีนให้เข้ามาลงทุนในโครงการอีอีซีของไทย โดยร่วมทุนกับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ป และเป็นผู้ชนะประมูลโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ปัจจุบันมีการลงนามข้อตกลงแล้ว โดยมีกำหนดเปิดให้บริการในปี 2566

กลุ่มทุนจีน-ซีพียังเข้าร่วมประมูลสร้างสนามบินด้วย และไม่แน่ว่าจะชนะประมูลหรือไม่ เรื่องราวยังคาราคาซังอยู่จนวันนี้ ในแง่นี้คงพอกล่าวได้ไม่มากก็น้อยว่าความสัมพันธ์ไทย-จีนเรียกได้ว่าเป็น “เพื่อนยามยาก” ในยุคที่มีการปราบปรามคนเห็นต่าง แบบแผนดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้งหลังจากที่เกิดวิกฤติการทางการเมืองในฮ่องกง ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแครี่ ลัมเดินทางมาเยือนไทยและลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 6 ฉบับ คาดการณ์กันว่านักธุรกิจฮ่องกงกว่า 50 รายอาจเข้าลงทุนในอีอีซีประมาณ 9,000 ล้านบาทภายใน 9 เดือนนับจากช่วงดังกล่าว

เรายังมีอธิปไตย

การเข้ามาของทุนจีนในรอบนี้เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายอย่าง แม้หลายคนจะให้น้ำหนักกับเรื่องโครงการ One Belt One Road และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา แต่เอาเข้าจริงแล้วการเข้ามาของทุนจีนในอีอีซีและเศรษฐกิจไทยในภาพรวมอาจเกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญอื่นเช่นกัน เช่น การที่ชนชั้นนำไทยรับอิทธิพลแนวคิดโมเดลการพัฒนาของจีนเข้ามาใช้ในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงการเมืองและสังคมในภาพใหญ่ที่ทำให้โมเดลการพัฒนาของจีนทำได้ง่ายในประเทศไทย รวมไปถึงความสัมพันธ์การค้าไทย-จีนที่เกื้อกูลกันมายาวนานในยามที่การเมืองคับขันและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเผด็จการ

ถึงที่สุดแล้วทุนจีนอาจก็ไม่ได้ต่างจากทุนชาติอื่นๆ ซึ่งเป้าหมายสูงสุดคือการแสวงหากำไร และอิทธิพลของทุนจีนอาจไม่ได้อยู่ที่ตัวทุนด้วยตัวมันเอง แต่อิทธิพลของจีนน่าจะอยู่ที่อิทธิพลทางความคิดที่มีต่อชนชั้นนำไทย สายสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำไทย-จีน และสภาพสังคมที่คล้ายกันเข้าไปทุกทีเสียมากกว่า สำนักงานอีอีซีเคยเน้นย้ำเอาไว้แล้ว โดยระบุว่าเราไม่ได้สูญเสียอธิปไตย ในแง่หนึ่งแล้วก็เป็นเรื่องจริง เพราะการรับมือกับอิทธิพลของทุนจีนถึงที่สุดแล้วอยู่ในมือของคนไทย โดยเริ่มจากการตั้งคำถามกับการตัดสินใจของชนชั้นนำของเราเองและแนวคิดโมเดลการพัฒนาที่ใช้อยู่ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท