Skip to main content
sharethis

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน (SHRF) เผยแพร่วิดีโอย้ำเตือนความรุนแรงของยุทธการ 'ตัดสี่' ยุทธวิธีที่ทหารพม่ามักใช้ปราบปรามกลุ่มชาติพันธุ์ สืบเนื่องจากคำให้การของอองซานซูจีต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อ ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่บอกปฏิบัติการกวาดล้างเหล่านั้นใช้กับแค่ผู้ก่อการร้าย สถิติระบุ มีประชาชนมากกว่า 4 แสนต้องพลัดถิ่น มีหลายคนถูกกักขัง ทรมาน เป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ

หนึ่งในผู้ให้สัมภาษณ์ในวิดีโอ (ที่มา:Youtube/ SHAN)

22 ม.ค. 2563 เมื่อวานนี้ (21 ม.ค.) มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งรัฐฉาน (SHRF) กลุ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในรัฐฉาน ประเทศพม่า เผยแพร่วิดีโอหัวข้อ “ตัดสี่ (The 4 Cuts)” อธิบายความทารุณของปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่า (ทัตมาดอว์) ในพื้นที่ตอนกลางและตอนเหนือของรัฐฉานในช่วงปี 2539-2541

วิดีโอดังกล่าวมีขึ้น สืบเนื่องจากคำให้การเมื่อ 11 ธ.ค. 2562 ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ของอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ หรือผู้นำรัฐที่ให้นิยามคำว่า “ปฏิบัติการกวาดล้าง (Clearance Operation)” ว่าเป็นชื่อเรียกของปฏิบัติการในการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายและกลุ่มก่อความไม่สงบ 

เนื้อหาในวิดีโอนั้นเป็นการเปิดเผยข้อมูลอีกด้านหนึ่งโดยการไปตามสัมภาษณ์บุคคลที่อ้างว่าเป็นประชาชนผู้รอดชีวิตจากปฏิบัติการดังกล่าวทั้งชายและหญิงที่บอกเล่าเรื่องราวการตกเป็นเหยื่อทหารพม่าที่ขับไล่พวกเขาออกจากถิ่นฐาน ถูกกระทำทารุณเพียงเพราะเชื่อว่าเกี่ยวโยงหรือสนับสนุนกลุ่มกองทัพรัฐฉาน และเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมานและคุกคามทางเพศ ปัจจุบันยังไม่มีผู้บังคับบัญชาคนใดได้รับโทษจากการกระทำเหล่านั้น

กองทัพพม่ามักใช้ยุทธการตัดสี่ (่ตัดข่าวสาร เสบียง คน และเงินทุน) เพื่อตัดการสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อย ยุทธการตัดสี่ของทหารพม่าส่งผลให้มีประชาชน 4 แสนคนต้องพลัดถิ่นฐานจากราว 1,800 หมู่บ้าน ในตอนกลางและตอนใต้ของรัฐฉาน และชาวบ้านมากกว่า 1,000 คนต้องเสียชีวิต มีผู้หญิง และเด็กหญิงอย่างน้อย 625 คนตกเป็นเหยื่อการข่มขืนและความรุนแรงทางเพศรูปแบบอื่น และร้อยละ 25 ของผู้หญิงเหล่านั้นเสียชีวิต

ผู้ลี้ภัยใน 2 ทศวรรษก่อนนั้นยังไม่กล้าเดินทางกลับถิ่นฐาน และยังคงดิ้นรนเอาตัวรอดในฐานะแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย 

Sai Khom Khai ผู้ทำวิดีโอกล่าวว่า เขาอยากย้ำเตือนกับโลกถึงทารุณกรรมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบในรัฐฉาน และยังกล่าวด้วยว่า ถ้าหากกองทัพพม่ายังไม่ถูกนำตัวมารับผิดชอบกับสิ่งที่ทำไป อาชญากรรมเช่นว่านั้นก็จะดำเนินต่อไป

ICJ จะอ่านคำวินิจฉัยตามคำร้องของแกมเบีย ประเทศมุสลิมในทวีปแอฟริกา ที่ให้มีมาตรการเฉพาะกาลในกรณีปฏิบัติการของกองทัพพม่าต่อชาวโรฮิงญาที่อาจเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เนื่องจากความรุนแรงสารพัดรูปแบบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ ส.ค. 2560 ทำให้ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 740,000 คนต้องลี้ภัยจากถิ่นฐาน ส่วนมากอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยที่บังกลาเทศ

คกก.กรณีโรฮิงญาในพม่า มีท่าทีสังเวยทหารบางคนเลี่ยงข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ภาวะกลับไม่ได้ ไปไม่ถึง: ประชากรย้ายถิ่นจากรัฐฉานและนโยบายสัญชาติ

ในปี 2552 เคยมีข่าวกองทัพพม่าบังคับโยกย้าย 30 กว่าชุมชนในลายค่า อำเภอหนึ่งในรัฐฉาน ให้ไปอยู่ที่ตำบลท่าหมาก-ลาง เพื่อตัดการสนับสนุนกองกำลังชนกลุ่มน้อยด้วย

ผลการสำรวจแรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทย เมื่อปี 2558 โดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ชี้ว่าในภาพกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุลำดับแรกที่ทำให้เดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทย ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 7 ที่ระบุว่าเข้ามาประเทศไทยเพราะหนีจากการถูกกดขี่ทางการเมืองและความขัดแย้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net